วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553

วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

ตอบกระทู้ ..... การ พยายาม-จงใจ-ตั้งใจ ฝึกเจริญสติ เป็นสภาวะผิดพลาด จริงหรือ ?

การ พยายาม/จงใจ/ตั้งใจ ฝึกเจริญสติ เป็นสภาวะผิดพลาด จริงหรือ ?
http://www.antiwimutti.net/forum/index.php?topic=328.0









Download คลิกที่นี่

วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2553

พระพุทธศาสนาในประเทศไทย ยังได้ชื่อว่าเถรวาทอยู่อีกหรือไม่ ?


วิสัชนา ....

เพียง ๗ วัน หลังจากพุทธปรินิพพาน ความร้าวฉานภายในคณะสงฆ์ก็บังเกิดขึ้นอย่างโจ่งแจ้ง โดยมีสาเหตุมาจาก ภิกษุบวชเมื่อแก่รูปหนึ่งชื่อ สุภัททะ(สุภัททะวุฒบรรพชิต) ซึ่งได้แสดงความดีใจในการปรินิพพานของพระพุทธองค์ กับทั้งยังได้กล่าววาจาจาบจ้วงพระธรรมวินัย ปรากฏความดังนี้ว่า “อย่าเลยอาวุโส พวกท่านอย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไรไปเลย พวกเราพ้นดีแล้ว ด้วยว่าพระมหาสมณะนั้น เบียดเบียนพวกเราอยู่ว่า สิ่งนี้ควรแก่เธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่เธอ ก็บัดนี้ พวกเราปรารถนาสิ่งใด ก็จักกระทำสิ่งนั้น ไม่ปรารถนาสิ่งใด ก็จักไม่กระทำสิ่งนั้น”

พระมหากัสสปเถระเมื่อทราบความนั้นก็เกิดธรรมสังเวช จึงดำริว่า “ท่านทั้งหลาย พวกเราจงสังคายนา พระธรรมและพระวินัยเถิด ในภายหน้าสภาวะมิใช่ธรรมจักรุ่งเรือง ธรรมจักเสื่อมถอย สภาวะมิใช่วินัยจักรุ่งเรือง วินัยจักเสื่อมถอย ภายหน้าอธรรมวาทีบุคคลจะมีกำลัง ธรรมวาทีบุคคลจักเสื่อมกำลัง อวินยวาทีบุคคลจักมีกำลัง วินยวาทีบุคคล จักเสื่อมกำลัง” ก็ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ปฐมสังคายนาจึงได้เกิดขึ้นหลังจากพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน ณ สัตตบรรณคูหา เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมีท่านพระมหากัสสปเถระเป็นประธานและเป็นผู้ซักถามพระธรรมวินัย ท่านพระอุบาลีเป็นผู้ตอบข้อซักถามในส่วนที่เกี่ยวกับพระวินัย และท่านพระอานนท์เป็นผู้ตอบข้อซักถามในส่วนของพระธรรม ทั้งนี้ มีพระอรหันต์ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมประชุมจำนวนทั้งสิ้น ๕๐๐ รูป พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อุปถัมภก กระทำอยู่ ๗ เดือนจึงสำเร็จ

ในปฐมสังคายนาครั้งนั้น ประเด็นปัญหาบางประการได้เกิดขึ้นในที่ประชุมสงฆ์ คือเมื่อท่านพระอานนท์ได้ชี้แจงต่อพระเถระทั้งหลายว่า “ท่านเจ้าข้า เมื่อจวนจะปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะข้าพเจ้าว่า ดูกรอานนท์ เมื่อ เราล่วงไป สงฆ์หวังอยู่จะพึงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียก็ได้” แต่เมื่อพระเถระทั้งหลายถาม ท่านพระอานนท์ ว่าท่านได้ทูลถามพระพุทธองค์หรือไม่ว่า สิกขาบทเหล่าไหน ที่เป็นสิกขาบทเล็กน้อย ท่านพระอานนท์กลับตอบว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ก็สิกขาบทเหล่าไหน เป็นสิกขาบทเล็กน้อย” ในประเด็นพุทธานุญาตให้เพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้นั้น เหล่าพระอรหันตเถระในที่ประชุม มีความเห็นที่แตกต่างกันไปดังต่อไปนี้คือ ….

 พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
 พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
 พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้น อนิยต ๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
 พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้น อนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
 พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้น อนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
 พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้น อนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ เว้นปาฏิเทสนียะ ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย ฯ

และเมื่อพระอรหันตเถระในที่ประชุม มีมติที่แตกต่างกันเช่นนี้ ท่านพระมหากัสสปะจึงได้ประกาศให้สงฆ์ทราบดังนี้ว่า “แม้พวกคฤหัสถ์ก็รู้ว่า สิ่งนี้ควรแก่พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร สิ่งนี้ไม่ควร ถ้าพวกเราจักถอนสิกขาบทเล็กน้อย เสีย จักมีผู้กล่าวว่า พระสมณโคดมบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลายเป็นกาลชั่วคราว พระศาสดาของพระสมณะเหล่านี้ยังดำรงอยู่ตราบใดสาวกเหล่านี้ยังศึกษาในสิกขาบททั้งหลายตราบนั้น เพราะเหตุที่พระศาสดาของพระสมณะเหล่านี้ปรินิพพานแล้ว พระสมณะเหล่านี้จึงไม่ศึกษาในสิกขาบททั้งหลายในบัดนี้ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์ไม่พึงบัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติไม่พึงถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว พึงสมาทานประพฤติ ในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติแล้ว นี้เป็นญัตติ”
จากนั้นท่านพระมหากัสสปะจึงขอมติจากที่ประชุมความว่า “(หาก)ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง (หาก)ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด” และเมื่อคณะสงฆ์ต่าง “นิ่ง” อยู่ดังนี้ จึงเป็นอันว่ามติ “สงฆ์ไม่พึงบัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่พึงถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว” เป็นมติอันสำคัญของคณะสงฆ์ซึ่งพระอรหันตเถระ ๕๐๐ รูป เมื่อครั้งปฐมสังคายนาให้การรับรองแล้ว และนับแต่นั้นเป็นต้นมา จึงเรียกคณะสงฆ์ผู้ถือตามแนวมติของพระอรหันตเถระเมื่อครั้งปฐมสังคายนานี้อย่างเคร่งครัดว่า พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท

ในสมัยนั้นนั่นเอง ก็ได้เกิดเหตุการณ์อันเป็นเค้าลางสำคัญของความแตกแยกของคณะสงฆ์ ด้วยเหตุแห่งพระธรรมวินัยคือ เมื่อท่านพระปุราณะซึ่งเที่ยวจาริกในชนบททักขิณาคิรี พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ได้เข้าไปหาพระเถระทั้งหลาย ที่พระวิหารเวฬุวัน เขตพระนครราชคฤห์ พระเถระทั้งหลายได้กล่าวกับท่านพระปุราณะว่า พระเถระทั้งหลายได้สังคายนาพระธรรมวินัยแล้ว ท่านจงรับรู้พระธรรมวินัยนั้นที่พระเถระทั้งหลายสังคายนานั้นด้วย แต่ท่านพระปุราณะกล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย พระเถระทั้งหลาย สังคายนา พระธรรมและพระวินัยเรียบร้อยแล้วหรือ แต่ว่า ข้าพเจ้าได้ฟัง ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคด้วยประการใด จักทรงไว้ด้วยประการนั้น ฯ” แปลความได้ว่า กล่าวสำหรับท่านพระปุราณะแล้ว ท่านมิได้ปฏิเสธการสังคายนาครั้งนั้น แต่ท่านก็มิได้กล่าวรับรอง โดยอ้างว่า ตนเคยได้ฟังได้รู้จากพระพุทธองค์มาอย่างไร ก็จะรักษามาอย่างนั้น

กำเนิด สงฆ์หมู่ใหญ่(มหาสังฆิกะ)

หลังพุทธปรินิพพานได้ประมาณ ๑๐๐ ปี ก็ได้เกิดเหตุแห่งความแตกแยกขนานใหญ่ขึ้น เมื่อภิกษุชาวเมืองเวสาลี แคว้นวัชชี แตกกันเป็น ๒ ฝ่าย อันเนื่องมาจากความเห็นขัดแย้งกันเรื่องวัตถุ ๑๐ ประการ โดยพวกหนึ่งเห็นว่า วัตถุ ๑๐ ประการนี้ชอบด้วยพระธรรมวินัย แต่อีกพวกเห็นว่า ไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัย จึงเกิดการโต้เถียงขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ครั้งนั้น ท่านพระยสะกากัณฑกบุตร ซึ่งเดินทางมาจากเมืองโกสัมพี เมื่อได้มารู้เห็นเหตุการณ์ในเมืองเวสาลี จึงได้กล่าวห้ามปราม แต่ภิกษุวัชชีบุตรก็หาได้เชื่อฟังไม่

ต่อมาภิกษุวัชชีบุตรเหล่านั้นได้นำถาดมาใส่น้ำจนเต็มแล้วตั้งไว้ในโรงอุโบสถ ให้ทายกทายิกาใส่เงินลงไปในถาดนั้นเพื่อถวายภิกษุ หลังจากนั้นภิกษุวัชชีบุตรก็ได้นำเงินมาแบ่งกัน พร้อมทั้งแบ่งเงินส่วนหนึ่งให้กับท่านพระยสะด้วย แต่ท่านพระยสะไม่ยอมรับ อีกทั้งยังกล่าวติเตียนภิกษุเหล่านั้นด้วยว่า การกระทำเช่นนี้ขัดต่อพุทธบัญญัติ เป็นความผิดทั้งผู้รับและผู้ถวาย ภิกษุวัชชีบุตรเหล่านั้นนอกจากจะไม่สำนึกผิดใดๆแล้ว พวกเขายังพยายามบีบบังคับให้ท่านพระยสะไปขอขมาโทษต่อทายกทายิกาผู้ถวายเงินเสียอีก(ปฏิสารนียกรรม) ซึ่งท่านพระยสะก็มิได้ขอขมาโทษใดๆ แต่กลับไปอธิบายต่อทายกทายิกาเหล่านั้นโดยเอนกปริยายว่า ตามที่ท่านพระยสะปฏิบัติมานั้น เป็นการชอบด้วยพระธรรมวินัยแล้ว เมื่อเหล่าทายกเข้าใจความทั้งหมดก็เกิดความเลื่อมใสต่อท่านพระยสะเป็นอันมาก เป็นเหตุให้ภิกษุวัชชีบุตรเหล่านั้นโกรธ จึงคิดจะลงโทษท่านพระยสะด้วยการยกออกจากหมู่(อุกเขปนียกรรม) ซึ่งที่จริงแล้ว การลงโทษด้วยการยกออกจากหมู่ จะใช้ก็แต่ในกรณีที่ ภิกษุนั้นไม่เห็นอาบัติ ไม่ทำคืนอาบัติไม่เลิกละความเห็นที่ชั่ว ฯ แต่ภิกษุวัชชีบุตรเหล่านั้น กลับใช้พวกมาก พากันมาล้อมกุฏิของท่านพระยสะเพื่อบังคับลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม เป็นแต่ว่าท่านพระยสะทราบความเสียก่อน จึงหลบหนีออกไปได้

หลังจากนั้น จึงเกิดกระบวนการเพื่อสังคายนาพระธรรมวินัยโดยมีมูลเหตุจาก วัตถุ ๑๐ ประการ ของภิกษุวัชชีบุตร กระทำสังคายนากันที่ วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี มีพระสงฆ์ประชุมกันจำนวน ๗๐๐ รูป ใช้เวลาในการสังคายนา ๘ เดือน จึงสำเร็จ

ส่วนพวกภิกษุวัชชีบุตร ก็ได้เที่ยวชักชวนคณะภิกษุต่างๆที่มีความคิดเห็นอย่างเดียวกัน และที่มีความประสงค์จะดัดแปลงแก้ไขพระธรรมวินัยเข้าเป็นพวกเดียวกัน ซึ่งมีจำนวนมากนับหมื่นเลยทีเดียว จากนั้นจึงพากันประชุมสังคายนาขึ้นใหม่ ณ ปุปผนคร(ปาฏลีบุตร) เรียกว่า “มหาสังคีติ” หมายถึง การสังคายนาของพวกมาก และเรียกพวกของตนเองว่า “มหาสังฆิกะ” แปลว่า สงฆ์หมู่ใหญ่

นับจากนี้ไป พระพุทธศาสนาจึงได้แตกแยกออกเป็นนิกายใหญ่ ๒ นิกายอย่างเป็นทางการแล้วคือ สงฆ์ที่เคารพนับถือมติของพระอรหันตเถระเมื่อครั้งปฐมสังคายนาพวกหนึ่ง เรียกว่าฝ่ายเถรวาท และสงฆ์ที่ถือเอามติของอาจารย์ตนอีกพวกหนึ่ง เรียกว่าฝ่ายอาจาริยวาท หรือก็คือ ต้นกำเนิดของนิกายมหายานในสมัยต่อมานั่นเอง

วัตถุ ๑๐ ประการ ของภิกษุวัชชีบุตร กับ ความเป็น “เถรวาท”

ตามแนวทางปฏิบัติของชาวพุทธเถรวาท ย่อมเห็นว่า “พระธรรมวินัย” ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสเอาไว้ดีแล้วนั้นเป็นสิ่งที่มิอาจล่วงละเมิดได้ ด้วยเหตุที่ “ธรรมและวินัยอันใด เรา(ตถาคต)แสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอโดยกาลล่วงไปแห่งเรา(ตถาคต)” พร้อมกันนั้น พุทธเถรวาทจะต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “สงฆ์ไม่พึงบัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่พึงถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว” ซึ่งเป็นมติของพระอรหันตเถระ ๕๐๐ รูป เมื่อครั้งปฐมสังคายนา

ธรรมเนียมการรักษาพระธรรมวินัยอย่างเข้มงวดกวดขันนี้ นับได้ว่ามีความสำคัญต่อความอยู่รอดของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง พระพุทธองค์เคยตรัสเอาไว้ว่า “ดูกรกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในศาสดา เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในธรรม เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสงฆ์ เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสิกขา เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงกันและกัน ดูกรกิมพิละ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้พระสัทธรรมไม่ดำรงอยู่นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว”

แต่กระนั้น เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบแล้วจะพบว่า วัตถุ ๑๐ ประการของภิกษุวัชชีบุตร ก็ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ไร้เหตุไร้ผลไปเสียทั้งหมด เพราะเอาเข้าจริงแล้ว เหตุผลและหลักฐานของภิกษุวัชชีบุตร ก็พอที่จะรับฟังได้เช่นกัน แม้ว่าจะขัดต่อหลักการของพุทธศาสนานิกายเถรวาทก็ตาม โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

(๑) ภิกษุสะสมเกลือใส่ในกลักเป็นต้น แล้วนำไปผสมกับอาหารอื่น ฉันได้ไม่อาบัติ
(๒) ภิกษุฉันอาหารในเวลาตะวันบ่ายล่วงไปแล้ว ๒ องคุลีได้ไม่อาบัติ
(๓) ภิกษุฉันอาหารในวัดแล้วเข้าไปในบ้าน เขาถวายอาหารให้ฉันอีกในวันเดียวกันนั้น ภิกษุมิได้ทำวินัยกรรมมาก่อน ก็ฉันได้ไม่อาบัติ
(๔) อาวาสใหญ่ กำหนดสีมาอันเดียวกัน จะทำอุโบสถในที่ต่างๆกัน ถือว่าไม่อาบัติ
(๕) ถ้าภิกษุที่ควรนำฉันทะมามีอยู่ แต่มิได้นำมา จะทำอุโบสถกรรมเสียก่อนก็ควร
(๖) ข้อปฏิบัติใดที่เคยประพฤติตามกันมา แต่พระอุปัชฌาย์อาจารย์แม้จะประพฤติผิด ก็ควรประพฤติตามท่านได้
(๗) ภิกษุฉันอาหารแล้ว ยังมิได้ทำวินัยกรรมก่อน ฉันนมสดที่ยังมิได้แปรเป็นนมส้มก่อนก็ควร
(๘) ภิกษุฉันเหล้าอ่อนๆที่ยังมิได้เป็นน้ำสุราได้ ไม่อาบัติ
(๙) ภิกษุใช้ผ้านีสีทนะที่ไม่มีชายก็ควร
(๑๐) ภิกษุจะรับเงินและทองก็ได้ ไม่อาบัติ

ประเด็นที่สำคัญที่สุดในการพิจารณาเรื่องนี้ก็คือ ความหนักเบาของความผิด และ สภาพข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของคณะสงฆ์เถรวาทในประเทศไทย
จำเพาะในกรณีของวัตถุ ๑๐ ประการของภิกษุวัชชีบุตรนั้น ขอให้ชาวพุทธเถรวาท โดยเฉพาะที่อยู่ในประเทศไทยนั้น ควรที่จะทำความเข้าใจให้ดียิ่งขึ้นว่า แท้ที่จริงแล้ว วัตถุ ๑๐ ประการของภิกษุวัชชีบุตร ก็เป็นเพียงแค่อาบัติเล็กน้อยเท่านั้น คือส่วนใหญ่แล้วก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ดังตัวอย่างเช่น กรณีที่ภิกษุวัชชีบุตร สะสมเกลือเอาไว้ใส่อาหารในภายหลังนั้น ขัดกับสิกขาบทในโภชนวรรค ความว่า “อนึ่ง ภิกษุใด เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี ที่ทำการสั่งสม เป็นปาจิตตีย์”

หรือในกรณี ภิกษุฉันอาหารในเวลาตะวันบ่ายล่วงไปแล้ว ๒ องคุลี ซึ่งขัดกับ พระบัญญัติความว่า “อนึ่ง ภิกษุใด เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี ในเวลาวิกาล เป็นปาจิตตีย์” โดยในสิกขาบทวิภังค์ ได้อธิบายความหมายของคำว่า “เวลาวิกาล” หมายถึง “ตั้งแต่เวลาเที่ยงวันล่วงแล้วไปจนถึงอรุณขึ้น” คำถามที่น่าเกิดขึ้นในใจของชาวพุทธเถรวาทโดยทั่วไปก็คือ ทั้งการสะสมเกลือ และการฉันอาหารหลังเที่ยงของภิกษุวัชชีบุตร ที่มักจะได้รับการดูหมิ่นถิ่นแคลนนักหนา ว่าเป็นความย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัยนั้น มันแตกต่างอะไรกับที่ ภิกษุชาวไทยซึ่งอ้างตนว่าเป็นภิกษุเถรวาทโดยส่วนใหญ่นั้น ก็ล้วนแล้วแต่ ทำการสะสมอาหารต่างๆเอาไว้มากมายในกุฏิ(ของตน) ซึ่งยังไม่นับการปรุงอาหารต่างๆเหล่านั้นฉันกันเองในที่รโหฐานยามวิกาล โดยไม่ว่าภิกษุเหล่านั้นจะอ้างถึงเหตุผลอันจำเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่ก็ตาม แต่คำถามที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ก็คือ ท่านทั้งหลาย ยังจะได้ชื่อว่าเป็นภิกษุเถรวาทอยู่อีกละหรือ เมื่อนำความประพฤติของท่านมาเปรียบเทียบกับภิกษุวัชชีบุตรเหล่านั้น (?)

เรื่องของเงินทอง .... ที่น่าเสียดาย

ส่วนในประเด็นที่ว่า ภิกษุจะสามารถรับเงินทองได้หรือไม่นั้น ก็ได้เคยมีกรณีศึกษามาแล้วในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ของเรานี่เอง ความว่า สมเด็จพระสังฆราช(ชื่น) วัดหงส์ ซึ่งต่อมาถูกลดสมณศักดิ์ลงเป็นพระวันรัตน์ ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ได้เคยถวายพระพร พระเจ้าอยู่หัวว่า การที่ฝ่ายอาณาจักรถวายนิตยภัตเป็นเงินตรา แทนการถวายข้าวปลาอาหารดังแต่เก่าก่อนนั้น ผิดพุทธบัญญัติพระวินัย อันจะเป็นเหตุให้พระภิกษุทั้งหลายต้องอาบัตินิคสัคคีย์ปาจิตตีย์เอาได้ง่ายๆ

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบความดังนั้น จึงมีพระราชศรัทธาถวายนิตยภัตเป็นข้าวปลาอาหารตามเดิม เพื่อสำแดงพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไปว่า นอกจากจะทรงให้การอุปถัมภ์ต่อคณะสงฆ์แล้ว ยังได้ทรงกระทำการต่างๆด้วยความเอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะที่ทรงเป็นพุทธมามกะ แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เมื่อในภายหลัง พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบความว่า พระวันรัตน์(ชื่น) นั้นเองกลับนำข้าวของพระราชทาน ไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินกับจีนพ่อค้า ซึ่งในครานั้น พระเจ้าอยู่หัวกริ้วมาก จึงทรงลดสมณศักดิ์ พระวันรัตน์(ชื่น) ลงเป็นพระธรรมธิราราชมุนี(ชั้นสามัญเทียบเท่าพระครูเมืองระยอง) และหลังจากนั้น พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงถวายนิตยภัตเป็นเงินตามเดิม

ที่กล่าวว่าน่าเสียดายนั้นเป็นเพราะ แท้ที่จริงแล้ว คำถวายพระพรของพระวันรัตน์(ชื่น) ที่กล่าวว่าการถวายนิตยภัตเป็นเงินตราผิดพุทธบัญญัตินั้นเป็นหลักการที่ถูกต้องอย่างแน่นอน ดังปรากฏในพระวินัยปิฎกความว่า “อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์” ซึ่งเมื่อภิกษุต้องอาบัตินี้แล้ว ท่านจะต้องสละ(สิ่งของนั้น)ให้แก่สงฆ์เสียก่อนจึงจะสามารถปลงอาบัติได้
แต่การที่ พระวันรัตน์(ชื่น) กลับนำข้าวของพระราชทาน ไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินกับจีนพ่อค้า จึงเท่ากับว่า ท่านได้ทำผิดพุทธบัญญัติถึง ๓ ประการคือ ….

(๑) โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๘ ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์
(๒) โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๙ ภิกษุใดถึงความซื้อขาย ด้วยรูปิยะมีประการต่างๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์
(๓) โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ ภิกษุใดถึงการแลกเปลี่ยนมีประการต่างๆ เป็นนิสสัคคิปาจิตตีย์
นั่นจึงเท่ากับว่า ด้วยเหตุแห่งความประพฤติส่วนตัวของพระวันรัตน์(ชื่น) เพียงรูปเดียว กลับทำให้สังคมไทย ต้องพลาดไปจากหลักการที่ถูกต้อง อันเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติของฝ่ายอาณาจักรต่อฝ่ายศาสนจักร ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อสภาพของคณะสงฆ์และสังคมไทยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคสมัยแห่งการบริโภคและการสะสมอย่างไม่รู้จักพอ ดังนั้น จึงอาจนับได้ว่า เหตุการณ์สำคัญครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดความสูญเสีย ต่อความบริสุทธิ์ในหลักการอันถูกต้องดีงามอย่างที่ควรจะเป็น อันจะมีผลต่อการดำรงอยู่หรือการดับสูญ ของคณะสงฆ์ไทยฝ่ายเถรวาทในอนาคตอย่างที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้

นรินทร์กลึง รับกรรม

ครั้งหนึ่ง นายนรินทร์กลึง(เกิด พศ.๒๔๑๗) ได้เกิดความคิดเห็นขึ้นมาว่า การสะสมทรัพย์สินของคณะสงฆ์ นั้นสวนทางกับความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งตกทุกข์ได้ยากเนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำ เขายังเห็นอีกว่า การที่ความมั่งคั่งร่ำรวย ไปกระจุกตัวอยู่ในคณะสงฆ์นั้น เป็นผลจากการนับถือศาสนาอย่างงมงายของพุทธศาสนิกชน ดังนั้น นายนรินทร์กลึง จึงได้ทำหนังสือขอให้รัฐบาลเลิกจ่ายเงินนิตยภัตแก่พระสงฆ์ จนในที่สุด เขาก็ได้ทูลขอให้สมเด็จพระสังฆราช(ในขณะนั้น)สละทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ภายในตำหนักของพระองค์ ทั้งนี้เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ภิกษุทั้งหลายในคณะสงฆ์ ผลก็คือ นายนรินทร์กลึง ถูกจับข้อหาหมิ่นสังฆราช และหมิ่นศาล ถูกตัดสินจำคุกนาน 6 เดือน !!!!

กล่าวสำหรับสภาพสังคมยุคทุนนิยมในปัจจุบันนี้ ประเด็นพระสงฆ์กับทรัพย์สินเงินทอง นับได้ว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจาก ลักษณะโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมซึ่งมุ่งเน้นหรือให้ความสำคัญกับทุนเป็นอย่างมากนั้น ย่อมมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ความบริสุทธิ์แห่งศีลของภิกษุทั้งหลายเกิดความมัวหมองได้ง่าย ดังกรณีที่ภิกษุ “ยินดี” ในการรับเงินทองจากทายกทายิกาอยู่เป็นประจำ โดยที่มิได้สละเงินทองเหล่านั้นให้แก่สงฆ์และปลงอาบัตินั้น ย่อมเป็นเหตุให้คณะสงฆ์เกิดความมัวหมองเพราะความย่อหย่อนในพระธรรมวินัย อีกทั้งการต้องอาบัติเป็นอาจิณนั้น ย่อมเป็นเหตุให้ทั้งกายและจิตของภิกษุเหล่านั้น มิอาจเกิดความสงบรำงับลงได้ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงทำให้ปฏิบัติและปฏิเวธขาดความเจริญก้าวหน้าในท้ายที่สุด
ปัญหาที่จะต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วนก็คือ ท่านทั้งหลายในฐานะพุทธศาสนิกชน(เถรวาท) จะมีวิธีการอย่างไร ในการทำนุบำรุงพระศาสนา อันหมายถึง ภิกษุภิกษุณีสามเณรและสามเณรี ได้อย่างสมยุคสมัย(ทุนนิยม) อีกทั้งยังสามารถเอื้อเฟื้อต่อการรักษาพระธรรมวินัย ของคณะสงฆ์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและดีงาม

ความเป็นจริง ที่ต้องหลับตามอง

หากพุทธศาสนิกชน ยังไม่อาจยอมรับกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับคณะสงฆ์ ในความย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัยอันเกิดจาก ความไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย(ทุนนิยม)ได้อย่างรู้เท่าทัน ของคณะสงฆ์โดยรวม ก็ขอให้ท่านทั้งหลายจงหลับตาลง และพิจารณาทุกสิ่งอย่างตามความเป็นจริงดังนี้ว่า โดยเนื้อแท้แล้ว เมื่อนำความประพฤติโดยภาพรวมของภิกษุทั้งหลายในปัจจุบันนี้ ไปเทียบกับ ความประพฤติของภิกษุวัชชีบุตร ในสมัยทุตติยสังคายนา นั้นเกือบจะไม่มีความแตกต่างกัน ที่ใช้คำว่า “เกือบจะ” นั้นมีความหมายว่า ถ้าจะพิจารณากันอย่างจริงจังแล้ว โดยภาพรวมภิกษุในคณะสงฆ์สมัยนี้มีความย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัยมากกว่า ภิกษุวัชชีบุตรในสมัยทุตติยสังคายนานั้นอย่างมิอาจเปรียบได้เลย !!!!

ดังการที่ภิกษุวัชชีบุตรกล่าวว่า “ข้อปฏิบัติใดที่เคยประพฤติตามกันมา แต่พระอุปัชฌาย์อาจารย์แม้จะประพฤติผิด ก็ควรประพฤติตามท่านได้” นั้นแตกต่างกันตรงไหนกับธรรมเนียมการปฏิบัติของภิกษุในคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบันนี้ เพราะดูเหมือนว่า ภิกษุเก้อยากหลายๆตน ก็มักจะแอบอ้าง “ความกตัญญู” ต่อครูบาอาจารย์โดยการรับเชื่อและสืบต่อการปฏิบัติต่างๆของอาจารย์ตน โดยไม่เคยแยแสเลยว่า สิ่งเหล่านั้นจะผิดพุทธบัญญัติหรือไม่ ก็ด้วยการประพฤติปฏิบัติกันเยี่ยงนี้ ซึ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับ วัตถุ ๑๐ ประการ ของภิกษุวัชชีบุตรแล้ว ขอถามว่า มันแตกต่างกันตรงไหน และที่สำคัญก็คือ ด้วยการปฏิบัติเยี่ยงนี้เรายังอาจเรียกตนเองว่า “พุทธเถรวาท” ได้อยู่อีกหรือไม่ (?)

มีข้อเท็จจริงบางอย่าง อันเกี่ยวกับวัตรปฏิบัติขององค์กรการปกครองคณะสงฆ์ไทย ที่ชาวพุทธเถรวาทมิอาจ “ลืมตามอง” ด้วยความเข้าใจได้เลยก็คือ การปล่อยปละละเลยให้คณะสงฆ์เต็มไปด้วย “อลัชชี” ปลอมบวชโดยที่มิอาจจัดการ หรือไม่คิดจัดการใดๆทั้งสิ้น และบางครั้งกลับส่อแสดงให้เห็นด้วยซ้ำไปว่า มีความพยายามที่จะโอบอุ้มคุ้มครองอลัชชีปลอมบวชเหล่านั้นให้สามารถคงสถานะเอาไว้ได้ดังเดิมด้วยเล่ห์เพทุบายนานาประการ ขอให้สังเกตด้วยว่า เหตุการณ์เมื่อครั้งปฐมสังคายนา ที่พระอรหันตเถระมิอาจหาข้อสรุปได้ว่า “สิกขาบทเล็กน้อย” นั้นหมายถึงสิ่งใด ด้วยเกิดความเห็นที่แตกต่างกันถึง ๖ ประการคือ

 พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
 พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
 พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้น อนิยต ๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
 พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้น อนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
 พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้น อนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
 พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้น อนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ เว้นปาฏิเทสนียะ ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้พระอรหันตเถระ จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันถึงเพียงนี้ แต่สิ่งที่พระอรหันตเถระทั้งหลาย มีความเห็นตรงกันทั้งหมดก็คือ “ปาราชิก ๔” มิอาจกล่าวว่าเป็น “สิกขาบทเล็กน้อย” ได้เลย โดยที่ข้อสรุปนี้สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างชัดเจน แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ทั้งๆที่คณะสงฆ์ไทยอ้างตนว่าเป็นพุทธนิกายเถรวาท แล้วเหตุใดจึงละเลย ปล่อยให้ “พระสังฆาธิการ” ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการปกครองของคณะสงฆ์ไทย สามารถต้องอาบัติ “ปาราชิก” ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนดูเหมือนประหนึ่งว่า มิได้เห็นพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์อยู่ในสายตา โดยที่คณะสงฆ์ไทยก็มีความประพฤติย่อหย่อน อีกทั้ง กระบวนการบริหารคณะสงฆ์ไม่อยู่ในสภาพที่จะสามารถใช้การได้เอาเสียเลย

ดังได้เคยปรากฏกรณีของ นาย นรินทร์ ทองหยุด หรือ อดีตพระครูวินัยธรนรินทร์ อคฺควีโร (อดีต)เจ้าอาวาสวัดปากบึง เขตลาดกระบัง ถูกจับ “คาหนังคาเขา” ขณะมั่วสีกาอยู่ภายในกุฏิ เมื่อเดือน พฤษภาคม ๒๕๕๒ แต่แล้ว เรื่องกลับมิได้จบแต่เพียงเท่านี้ เนื่องจากพบว่า แท้ที่จริง นาย นรินทร์ ทองหยุด ได้เคยกระทำความผิดจนต้อง “อาบัติปาราชิก” มาก่อนหน้านี้แล้วถึง ๒ ครั้ง ด้วยข้อหาร่วมกันปลอมแปลงเอกสารแต่งตั้งพระอุปัชฌาย์(พ.ศ. ๒๕๓๒) และข้อหาเสพเมถุน(พ.ศ. ๒๕๔๑) แปลความได้ว่า อลัชชีผู้นี้ ได้กระทำในสิ่งที่เหลือวิสัยของชาวพุทธเถรวาทจะสามารถทำความเข้าใจได้ว่าทำไม คณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม จึงได้ปล่อยปละละเลยจนเขาสามารถต้อง “อาบัติปาราชิก” ได้ถึง ๓ ครั้ง และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ เมื่ออลัชชีผู้นี้ถูกจับสึกไปแล้ว เขาก็ยังสามารถกลับเข้ามาบวชใหม่ และรับตำแหน่งพระสังฆาธิการ(เจ้าอาวาส)ได้อย่างหน้าตาเฉย

แต่ที่น่าตกใจไปมากกว่านั้นก็คือ ยังมีภิกษุปลอมบวชเก้อยากประเภทนี้ แฝงตัวอยู่ในคณะสงฆ์ไทยอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องเหล่านี้ คงต้องอาศัยการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจาก “ชาวบ้าน” เท่านั้น ด้วยเหตุที่ ระบบโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบันนี้ มิได้เอื้ออำนวยต่อการสะสางอลัชชีออกจากคณะสงฆ์ แต่ในทางตรงข้าม โครงสร้างทางอำนาจการปกครองคณะสงฆ์ในบัดนี้ มักเอื้อประโยชน์ในลักษณะของการปกป้องอลัชชี โดยการช่วยกันปกปิดความผิดของกันและกันเสียมากกว่า อีกทั้ง ถ้าหากภิกษุชั้นผู้ใหญ่กระทำผิด ภิกษุชั้นผู้น้อยที่แม้จะรู้อยู่ แต่ก็มิอาจแสดงความกล้าหาญทางคุณธรรมจริยธรรมออกมาได้ เนื่องจากโครงสร้างทางอำนาจการปกครองคณะสงฆ์นั้นเอง ที่คอยบีบบังคับและกดข่ม เสียจนท่านเหล่านั้นมิอาจจะขยับเขยื้อน “ธาตุขันธ์” เพื่อทำการใดๆอันเป็นประโยชน์ต่อพระธรรมวินัย ที่มากไปกว่าการบำเพ็ญ “อุเบกขาบารมี” คือการนั่งชำเลืองมองอลัชชีตาปริบๆ จากนั้นก็ค่อยๆผ่อนลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ฆ่าเวลาให้หมดไปวันๆหนึ่ง ทั้งนี้ ก็เพียงเพื่อที่จะสามารถรักษาตัวตนให้อยู่รอดไปได้ ท่ามกลางความฉ้อฉล ภายใต้โครงสร้างอำนาจการปกครองคณะสงฆ์ ที่อยุติธรรมและฟั่นเฟือน เท่านั้นเอง

ใบไม้เหลือง หล่นจากขั้ว

เชื่อได้ว่า กรณีของ นาย นรินทร์ ทองหยุด หรือ อดีตพระครูวินัยธรนรินทร์ อคฺควีโร (อดีต)เจ้าอาวาสวัดปากบึง ต้องอาบัติปาราชิกซ้ำซาก ตามที่กล่าวมานี้ ย่อมมิใช่กรณีสุดท้ายของคณะสงฆ์เป็นแน่ โดยมีเพียง “เวลา” เท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ที่ไม่ต้องพิสูจน์ใดๆอีกเลยก็คือ กรณีของ เจ้าสำนัก วบกอม(วบกอม หมายถึง วัตถุบินที่กำหนดเอกลักษณ์ไม่ได้ เทียบกับ UFO(Unidentified Flying Object)) ซึ่งต้องอาบัติ “ปาราชิก” เช่นเดียวกัน แต่เขาผู้นี้ก็ยังได้รับการแต่งตั้งจากคณะสงฆ์ไทย(มหาเถรสมาคม) ให้เป็นพระสังฆาธิการ(เจ้าอาวาส) ได้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง ทั้งๆที่ ....

(๑) สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระลิขิตฉบับที่ ๒ ระบุออกมาอย่างชัดเจนว่า “แต่เมื่อถึงอย่างไร ก็ยังไม่ยอมมอบคืนสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัด ก็แสดงชัดแจ้งว่าต้องอาบัติ ปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระปลอมเป็นพระ ด้วยการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครอง ทำความเศร้าหมองเสื่อมเสีย ให้เกิดแก่สงฆ์ในพระพุทธศาสนา”
(๒) ได้ปรากฏหลักฐานการสารภาพความผิดของ เจ้าสำนัก วบกอม อย่างชัดแจ้ง ตามคำแถลงขอถอนฟ้องของอัยการความว่า “สำหรับในด้านทรัพย์สินนั้น ปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ กับพวก ได้มอบทรัพย์สินทั้งหมด ซึ่งมีทั้งที่ดินและเงินจำนวน ๙๕๙,๓๐๐,๐๐๐ บาท คืนให้แก่วัด การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ ๑ กับพวก จึงเป็นการปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ครบถ้วนทุกประการแล้ว” ซึ่งการที่อัยการอ้างว่า เจ้าสำนัก วบกอม ได้มอบทรัพย์คืนแก่วัดไปแล้ว ก็เท่ากับว่า เจ้าสำนัก วบกอม ได้ยอมรับเองโดยมิได้มีผู้ใดบีบบังคับว่า เขาได้ยักยอกทรัพย์ไปจริง !!!!

คณะสงฆ์ไทย ต้องทราบอย่างแน่นอนว่า คดียักยอกทรัพย์นั้นสามารถยอมความกันได้ และย่อมทราบด้วยเช่นกันว่า ในทางพระธรรมวินัยนั้น เมื่อต้องอาบัติ “ปาราชิก” แล้วก็ย่อมขาดจากความเป็นภิกษุโดยอัตโนมัติ ตรงตามที่สมเด็จพระสังฆราชตรัส ดังปรากฏความในพระบาลี ดังนี้ว่า “คำว่า เป็นปาราชิก มีอธิบายว่า ใบไม้เหลืองหล่นจากขั้วแล้ว ไม่อาจจะเป็นของเขียวสดขึ้นได้ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแหละ ถือเอาทรัพย์อันเขาไม่ได้ให้ ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย หนึ่งบาทก็ดี ควรแก่หนึ่งบาทก็ดี เกินกว่าหนึ่งบาทก็ดี แล้วไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่า เป็นปาราชิก”

ดังนั้น คำถามของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ซึ่งอาจปราศจากคำตอบที่ชัดเจนจากคณะสงฆ์ไทยก็คือ เมื่อใด ท่านผู้เป็นพุทธบุตรทั้งหลาย จึงจะสามารถสะสางกรณีอลัชชีปลอมบวชผู้นี้ ให้ถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัย ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ เมื่อก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพานความว่า “ธรรมและวินัยอันใด เรา(ตถาคต)แสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็น ศาสดาของพวกเธอโดยกาลล่วงไปแห่งเรา(ตถาคต)” ได้อย่างหมดจดชัดเจนเสียที (?)