วันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2554

ปุจฉา ข้อที่ ๒ สตรี เป็นสาเหตุที่ทำให้พระศาสนาอายุสั้นลง จริงหรือ ?

วิสัชนา ....

ความเชื่อถือบางอย่างที่มักมีการกล่าวกันโดยทั่วไปในสังคมชาวพุทธ อย่างปราศจากการพิจารณาให้ถี่ถ้วนรอบคอบในทำนองว่า “การที่สตรีออกบวชเป็นสาเหตุทำให้พระพุทธศาสนามีอายุสั้นลง” นั้นเปรียบเสมือนป้อมปราการแห่งอคติ(ทางเพศ)ที่มีต่อสตรีผู้มีฉันทะต่อการอุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์ พร้อมกันนั้น ความคิดอ่านอันเจือไปด้วยอคติอย่างขาดสติสัมปชัญญะนี้ ก็ได้กลายไปเป็นกำแพงที่คอยขวางกั้นหนทางแห่งการปฏิบัติธรรมเพื่อความดับทุกข์ของสตรีทั้งหลายที่ทรงประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่ง นานวันเข้า ก็เกิดการต่อยอดความคิดซึ่งเจือไปด้วยอคติอย่างปราศจากสติสัมปชัญญะ ต่อไปอีกจนถึงขั้นที่ว่า ถ้าหากในปัจจุบันนี้ยังมีสตรีออกบวชเป็นภิกษุณี พระพุทธศาสนาก็คงจะมีอายุไม่ถึงห้าพันปีเป็นแน่ !!!!

แม้ว่า จะไม่น่าแปลกใจสักเท่าใดนัก ที่ถ้อยคำเหล่านั้นมักจะเป็นความคิดความอ่านของบุรุษเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่น่าสงสารปนหดหู่ก็คือ สตรีโดยส่วนมากเมื่อได้ฟังถ้อยคำอันไร้สาระเหล่านั้นแล้ว ก็มักคล้อยตาม และรับเชื่อเอาไว้อย่างปราศจากข้อโต้แย้ง โดยที่มิได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงใดๆเลยแม้แต่น้อย ทั้งที่ความจริงแล้ว ถ้าเราจะมีความเพียรพยายามเพิ่มขึ้นอีกสักนิด บางที เราอาจจะได้พบกับบางสิ่งบางอย่างที่แตกต่างออกไปจากที่เคยรับรู้และเข้าใจ(อย่างผิดๆ)มาแต่เดิมก็เป็นได้

พระพุทธศาสนาจะพึงตั้งอยู่ได้ตลอดพันปี

เมื่อครั้งที่ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์แล้วได้กราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า พระนางมหาปชาบดีโคตมี ยอมรับครุธรรม ๘ ประการแล้ว พระมาตุจฉาของพระผู้มีพระภาค อุปสมบทแล้ว” ครั้งนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ดูกรอานนท์ ก็ถ้าสตรีจักไม่ได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว พรหมจรรย์จักตั้งอยู่ได้นาน สัทธรรมจะพึงตั้งอยู่ได้ตลอดพันปี ก็เพราะสตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว บัดนี้ พรหมจรรย์จักไม่ตั้งอยู่ได้นาน สัทธรรมจักตั้งอยู่ได้เพียง ๕๐๐ ปีเท่านั้น”(อ้างจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๕๑๘) แน่นอนว่า ถ้าหากเราฟังความแต่เพียงเท่าที่ปรากฏอยู่นี้ ก็อาจจะทำให้เกิดอาการเผลอสติ ด่วนสรุปความไปโดยปราศจากความเข้าใจ จนเลยเถิดไปในทำนองว่า เพราะเหตุที่มีสตรีออกบวช จึงเป็นเหตุให้อายุของพระศาสนาสั้นลงไป ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ถ้าหากเราจะค่อยๆพิจารณาข้อความถัดไปจากนี้อย่างถี่ถ้วนรอบคอบขึ้นอีกสักนิด บางทีข้อสรุปอันก่อให้เกิดความเชื่อถือที่ผิดๆนั้น อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปก็เป็นได้

พระพุทธองค์ได้ตรัสอธิบายความต่อไปอีกว่า “ดูกรอานนท์ สตรีได้ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตในธรรมวินัยใด ธรรมวินัยนั้นเป็นพรหมจรรย์ไม่ตั้งอยู่ได้นาน เปรียบเหมือนตระกูลเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่มีหญิงมาก มีชายน้อย ตระกูลเหล่านั้นถูกพวก โจรผู้ลักทรัพย์กำจัดได้ง่าย อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนหนอนขยอกที่ลงใน นาข้าวสาลีที่สมบูรณ์ นาข้าวสาลีนั้นไม่ตั้งอยู่ได้นาน อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือน เพลี้ยที่ลงในไร่อ้อยที่สมบูรณ์ ไร่อ้อยนั้นไม่ตั้งอยู่ได้นาน ดูกรอานนท์ บุรุษกั้นทำนบแห่งสระใหญ่ไว้ก่อน เพื่อไม่ให้น้ำไหลไป แม้ฉันใด เราบัญญัติครุธรรม ๘ ประการแก่ภิกษุณี เพื่อไม่ให้ภิกษุณีละเมิดตลอดชีวิต ฉันนั้นเหมือนกัน” (อ้างจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๕๑๘)

อรรถกถาจารย์ท่านได้ให้คำอธิบายเอาไว้ดังนี้ว่า “เมื่อครุธรรมเหล่านั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้มิได้ทรงบัญญัติ พระสัทธรรมจะพึงตั้งอยู่ได้ห้าร้อยปี เพราะเหตุที่มาตุคามบวช แต่เพราะเหตุที่ทรงบัญญัติครุธรรมเหล่านั้นไว้ก่อนพระสัทธรรมจักตั้งอยู่ได้อีกห้าร้อยปี ข้อนี้ก็ฉันนั้นแล จึงรวมความว่า พระสัทธรรมจักตั้งอยู่ตลอดพันปีที่ตรัสทีแรกนั่นเอง ด้วยประการฉะนี้”

ถ้าหากเราจะพิจารณาข้อความทั้งหมดด้วยความเป็นธรรมแล้วไซร้ ก็จะได้ความดังนี้ว่า หลังจากที่ท่านมหาปชาบดีโคตมี ยอมรับครุธรรม ๘ ประการ ซึ่งก็เท่ากับว่าท่านมหาปชาบดีโคตมี ได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุณีแล้วนั้น สิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสกับท่านพระอานนท์ได้ใจความดังนี้คือ ….
(๑) พระศาสนาซึ่งควรจะมีอายุถึงหนึ่งพันปี แต่จะเหลือแค่ห้าร้อยปี เพราะมีสตรีออกบวช
(๒) ทรงบัญญัติครุธรรม ๘ ประการขึ้นมาสำหรับภิกษุณี เพื่อให้พระศาสนามีอายุถึงพันปีดังเดิม

อุปมาของพระพุทธองค์

ประเด็นแรกที่เราควรจะพิจารณาก็คือ สตรีเป็นสาเหตุที่ทำให้พระศาสนาอายุสั้นลงจริงหรือไม่ (?) ซึ่งถ้าเราฟังความโดยผิวเผิน โดยที่มิได้นำเอาบริบทแวดล้อมทางสังคมในยุคสมัยพุทธกาลมาประกอบการพิจารณา ก็อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปได้ว่า พระพุทธองค์ตรัสว่า สตรีเป็นสาเหตุที่ทำให้พระศาสนามีอายุสั้นลงจริงๆ แต่ถ้าหากเราจะพิจารณาคำอธิบายขยายความที่พระพุทธองค์ตรัสในลำดับต่อมานั้น ก็น่าที่จะทำให้สามารถเข้าใจถึงเหตุผลได้อย่างถ่องแท้ก็เป็นได้ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสอุปมาให้ท่านพระอานนท์ฟังดังนี้ว่า การที่สตรีได้ออกบวชเปรียบเหมือน….
(๑) ตระกูลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ที่มีหญิงมากมีชายน้อย ตระกูลเหล่านั้นถูกพวกโจรผู้ลักทรัพย์กำจัดได้ง่าย
(๒) หนอนขยอกที่ลงใน นาข้าวสาลีที่สมบูรณ์ นาข้าวสาลีนั้นไม่ตั้งอยู่ได้นาน
(๓) เพลี้ยที่ลงในไร่อ้อยที่สมบูรณ์ ไร่อ้อยนั้นไม่ตั้งอยู่ได้นาน

ในอุปมาข้อที่หนึ่งนั้น นับเป็นอุปมาข้อต้นที่สำคัญและสามารถแสดงให้เห็นภาพพจน์ได้ดีที่สุดคือ พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบว่า คณะสงฆ์คือตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่ง ซึ่งถ้าหากตระกูลนั้นประกอบไปด้วย หญิง(ภิกษุณี)จำนวนมาก แต่มีชาย(ภิกษุ)จำนวนน้อย ก็จะเป็นเหตุให้พวกโจร(ฝ่ายปฏิกิริยาในสังคมสมัยนั้น)หาหนทางในการกำจัดตระกูล(คณะสงฆ์)ได้ง่าย ดังนั้น หนอนขยอกในอุปมาที่สอง และเพลี้ยในอุปมาที่สาม จึงมิได้หมายถึง สตรีหรือภิกษุณี ตามที่เคยเข้าใจกันโดยทั่วไป แต่จะหมายถึง ฝ่ายปฏิกิริยาในสังคมสมัยนั้น อันได้แก่ กลุ่มเจ้าทาสนายทาสที่ไม่พอใจต่อท่าทีการปฏิเสธ “ชนชั้นวรรณะ” ของพระพุทธองค์ รวมทั้งกลุ่มเจ้าลัทธิฝ่ายพระเวท ซึ่งถือว่าพระพุทธองค์เป็นฝ่ายต่อต้านพระเวท ฯลฯ นั้นต่างหาก !!!!

ดังนั้น การที่พระพุทธองค์ตรัสในลำดับถัดมาว่า “ดูกรอานนท์ บุรุษกั้นทำนบแห่งสระใหญ่ไว้ก่อน เพื่อไม่ให้น้ำไหลไป แม้ฉันใด เราบัญญัติครุธรรม ๘ ประการ แก่ภิกษุณี เพื่อไม่ให้ภิกษุณีละเมิดตลอดชีวิต ฉันนั้นเหมือนกัน” (อ้างจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๕๑๘) จึงควรมีความหมายว่า พระพุทธองค์ทรงบัญญัติ ครุธรรม ๘ ประการ แก่ภิกษุณีนั้น ก็เพื่อปกป้องคณะสงฆ์ซึ่งประกอบไปด้วยภิกษุและภิกษุณี จากการทำลายล้างโดย ศัตรูของพระสัทธรรม(ตัวจริง) อันหมายถึง สภาพข้อจำกัดของสังคมในสมัยพุทธกาล ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงอยู่ของคณะสงฆ์ รวมไปถึงคณะบุคคลผู้สูญเสียผลประโยชน์และเสื่อมจากลาภสักการะ อันเนื่องมาจากการเผยแผ่พุทธธรรมโดยพระพุทธองค์และคณะสงฆ์ ซึ่งคณะบุคคลเหล่านี้ มีความมุ่งมาดปรารถนาอย่างยิ่งยวดในการที่จะกำจัดคณะสงฆ์ให้เสื่อมสูญไปจากแผ่นดิน โดยเล็งเป้าการโจมตีไปที่ “จุดอ่อน” ที่มีความเปราะบางที่สุดของคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่พวกเขาสามารถเอารัดเอาเปรียบได้ง่ายที่สุด และสามารถเบียดเบียนบีฑาได้อย่างช่ำชองที่สุด นั่นก็คือ สตรี(ภิกษุณี) นั่นเอง !!!!

พระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ได้ตลอดพันปี ณ ชมพูทวีป

ประเด็นต่อมาที่ควรพิจารณาให้ชัดเจนก็คือ การที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “สัทธรรมจะพึงตั้งอยู่ได้ตลอดพันปี” นั้นมีความหมายว่าอย่างไร (?)
ในเมื่อประเด็นหลักสำหรับการพิจารณาก็คือ สตรีเป็นสาเหตุที่ทำให้พระศาสนาอายุสั้นลงหรือไม่ ดังนั้น พุทธพจน์นี้จึงมีความสำคัญต่อการพิจารณาอย่างมีนัยสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากอรรถกถาจารย์ ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับประเด็นนี้เอาไว้ว่า เพราะเหตุที่มาตุคามบวช พระศาสนาจึงมีอายุเพียง ๕๐๐ ปี แต่เพราะพระพุทธองค์ ได้ทรงบัญญัติครุธรรมเอาไว้ก่อน พระศาสนาจึงมีอายุครบ ๑,๐๐๐ ปีดังเดิม

ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นก็คือ เราทราบว่าอายุพระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ จะยาวนานถึง ๕,๐๐๐ ปี และในขณะนี้ซึ่งกาลเวลาได้ล่วงเลยมากว่า ๒,๕๐๐ ปีแล้ว นั่นจึงหมายความว่า อายุพระศาสนา ๑,๐๐๐ ปีที่พระพุทธองค์ตรัสถึงกรณีนี้นั้น ย่อมมิได้ทรงหมายถึง อายุพระศาสนาโดยรวมอย่างแน่นอน ดังนั้น ภิกษุณี ครุธรรม ๘ ประการ และอายุพระศาสนา ๑,๐๐๐ ปี จึงย่อมที่จะต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน มากกว่าที่เราเคยเข้าใจกันมาแต่เดิม

เมื่อพิจารณาถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาในชมพูทวีปแล้ว จะพบเหตุบางประการที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีที่เรากำลังพิจารณากันอยู่นี้ อย่างมีนัยสำคัญมากทีเดียว โดยพระพุทธศาสนาในชมพูทวีป ช่วง ๕๐๐ ปีแรก นับได้ว่าเป็นยุคทองของฝ่ายเถรวาท ในช่วงแรกพระพุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์จากพระเจ้าอชาตศัตรู หนึ่งศตวรรษต่อมา ก็ได้รับการอุปถัมภ์จากพระเจ้ากาฬาโศก แห่งนครเวสาลี แคว้นวัชชี และรุ่งเรืองถึงขีดสุด ในยุคสมัยของพระเจ้าอโศก แห่งนครปาฏลีบุตร แคว้นมคธ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๓

ลัทธิมหายานในอินเดียสมัยแรก รุ่งเรืองขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๖ โดยมีพระเจ้ากนิษกะ แห่งราชวงศ์กุษาณะ ให้การอุปถัมภ์ จวบจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๐ โดยมีนิกายมาธยมิกะหรือลัทธิศูนยวาทินของท่านนาคารชุนเป็นสดมภ์หลัก สิ่งที่เราชาวพุทธเถรวาทควรรับทราบไว้ก็คือ โดยเนื้อแท้แล้ว นิกายมาธยมิกะของท่านนาคารชุนนี้ นับได้ว่าเป็นมหายานรุ่นแรกในอินเดียที่รักษาพระธรรมวินัยเอาไว้ได้อย่างครบถ้วนมิได้แตกต่างจากพุทธนิกายเถรวาทเลย ที่แตกต่างกันบ้างก็เป็นแต่เพียง นิกายมาธยมิกะ ได้นำหลัก “สุญญตา” มาอธิบายขยายความเพิ่มเติมด้วยรูปแบบของปรัชญา ซึ่งในอันที่จริง แนวทางการอธิบายแบบนี้ ก็ยังมิได้ “นอกลู่นอกทาง” จนถึงขนาดที่จะบังอาจกล่าว(ร้าย)ว่าเป็นสัทธรรมปฏิรูปไปได้เลยแม้แต่น้อย

แต่หลังจากศตวรรษที่ ๑๐ เป็นต้นมา ในช่วงปลายสมัยราชวงศ์คุปตะ เมื่อพระพุทธศาสนาลัทธิตันตรยานรุ่งเรืองขึ้น พระสัทธรรมจากที่เคยบริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่ในชมพูทวีปมาเป็นเวลาช้านาน ก็ได้ถึงกาลเสื่อมสลาย ด้วยเหตุที่ลัทธินิกายนี้ ได้พยายามนำเอาวัตรปฏิบัติอันลามกต่ำทราม เข้ามาเจือปนในคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก จนทำให้พระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ดีแล้ว กลายเป็นสัทธรรมปฏิรูปไปในที่สุด โดยที่ลัทธินิกายนี้ ยกย่องงมงายอยู่แต่ในเรื่องของเวทย์มนต์คาถา อาคมขลัง พิธีหาลาภ เสกเป่า ลงเลขลงยันต์ ซึ่งเป็นเรื่องไสยศาสตร์เดรัจฉานวิชาทั้งนั้น(ดังที่เห็นและเป็นอยู่ในประเทศไทยเวลานี้)

ผลก็คือ ภิกษุสงฆ์เหล่านี้ ทำหน้าที่ไม่แตกต่างไปจากพวกพราหมณ์ สุดท้าย พระสัทธรรมอันบริสุทธิ์ จึงได้สิ้นอายุลงไป ด้วยน้ำมือของ “ภิกษุ” ซึ่งก็คือพวกนักบวช “ผู้ชาย” นั่นเอง หาได้เกิดจาก “สตรี” ดังที่เคยวิตกกังวลกันมาก่อนหน้านี้แต่อย่างใดไม่ !!!!

ขอให้สังเกตด้วยว่า ในราวพุทธศักราชเก้าร้อยเศษนี่เอง ที่พระพุทธศาสนาในอินเดียเสื่อมโทรมลงอย่างมากจน “อรรถกถาพระบาลี” ได้สูญหายไป จึงเป็นเหตุให้ท่านพระพุทธโฆษาจารย์แห่งอินเดีย ต้องไปเกาะลังกา เพื่อแปลอรรถกถาภาษาสิงหลมาเป็นภาษามคธหรือเป็นภาษาบาลี ซึ่งควรทำความเข้าใจกันให้ดีว่า ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ ได้ทำการ “แปล” อรรถกถาภาษาสิงหลมาเป็นภาษามคธ ดังนั้น การกล่าวว่า ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นผู้แต่งอรรถกถานั้น อาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง

เพราะแท้ที่จริงแล้ว อรรถกถา นั้นก็คือคำอธิบายพุทธพจน์ ที่ท่องจำสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลนั้นแล้ว จนเมื่อพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่ไปถึงลังกาในสมัยของพระเจ้าอโศก จึงได้มีการแปลอรรถกถาจากภาษามคธไปเป็นภาษาสิงหล แต่ในราวศตวรรษที่ ๑๐ นั้นเอง กลับปรากฏว่า จากความเสื่อมโทรมของพระพุทธศาสนาในอินเดีย มีผลทำให้ อรรถกถาภาษามคธ สูญหายไป ท่านพระพุทธโฆษาจารย์จึงได้แปลอรรถกถาภาษาสิงหลจากเกาะลังกาเป็นภาษามคธอีกครั้งหนึ่ง เพื่อนำกลับมาเผยแผ่ในอินเดียในลำดับถัดไป

เมื่อพิจารณาพุทธพจน์ในส่วนนี้ ประกอบกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในชมพูทวีปแล้ว ย่อมทำให้สามารถเห็นถึงความสอดคล้องกลมกลืนของเหตุและผลเป็นอย่างดีว่า การที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติครุธรรม ๘ ประการ ขึ้นมาสำหรับภิกษุณีนั้น ทรงมีความมุ่งหมายที่จะปกป้องคณะสงฆ์ จากภัยอันตรายที่เกิดจากกระบวนการทำลายล้างโดยคณะบุคคลผู้สูญเสียผลประโยชน์ อันเป็นผลมาจากการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้คณะสงฆ์(ภิกษุและภิกษุณี)สามารถตั้งมั่นอยู่ในชมพูทวีปได้ถึงหนึ่งพันปี

ครุธรรม ๘ ประการ กับภารกิจที่เสร็จสิ้น

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ในเมื่อประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ก็ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงได้อย่างแจ่มชัดแล้วว่า ครุธรรม ๘ ประการ นั้นได้ทำหน้าที่(ของตน)ได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วนแล้วในอันที่จะสามารถปกป้องคุ้มกันภัยอันตรายต่างๆ มิให้เกิดแก่พระพุทธศาสนาในชมพูทวีป จนทำให้คณะสงฆ์และพระสัทธรรม สามารถตั้งมั่นอยู่ในชมพูทวีปได้นานถึงหนึ่งพันปี ครบถ้วนตามพุทธประสงค์แล้ว ดังนั้น เราในฐานะที่เป็นพุทธบริษัทผู้ประกอบด้วยสติและปัญญา ควรจะมีมุมมองและท่าทีอย่างไรต่อ ครุธรรม ๘ ประการ ซึ่งสำเร็จภารกิจในการปกป้องและสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ตามที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ชมพูทวีปนั้นแล้ว อย่างถูกต้องเหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุดในแง่ของความดับทุกข์ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของพระพุทธศาสนา

แน่นอนว่า โดยธรรมเนียมของชาวพุทธเถรวาท ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะละเลยต่อ ครุธรรม ๘ ประการ ซึ่งเป็นพุทธบัญญัติ เพราะถึงแม้จะปรากฏเป็นข้อเท็จจริงอยู่อย่างชัดแจ้งว่า พระพุทธองค์มิได้ทรงมีความประสงค์ ในอันที่จะประกาศใช้ ครุธรรม ๘ ประการ ไปจนถึงห้าพันปีตลอดอายุพระศาสนาของพระองค์ก็ตาม คือทรงระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ทรงบัญญัติ ครุธรรม ๘ ประการ นี้ก็เพื่อความตั้งมั่นของพระสัทธรรม(พระพุทธศาสนาในชมพูทวีป)เป็นเวลาหนึ่งพันปี(เท่านั้น) แต่แนวทางในการปฏิบัติของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ย่อมถือเอามติของพระอรหันตเถระเมื่อครั้งปฐมสังคายนาความว่า “สงฆ์ไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่ถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว สมาทานประพฤติในสิกขาบททั้งหลายตามที่ ทรงบัญญัติไว้แล้ว” (อ้างจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๖๒๑) นั่นจึงหมายความว่า ถึงอย่างไรก็ตาม เราในฐานะที่เป็นชาวพุทธเถรวาท จะปฏิเสธ ครุธรรม ๘ ประการ ไม่ได้เป็นอันขาด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม

กระนั้น สิ่งหนึ่งที่เป็นบทสรุปอันสำคัญยิ่งก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า “สตรี” มิได้เป็นสาเหตุที่ทำให้อายุของพระพุทธศาสนาสั้นลงแต่อย่างใดเลย แต่กลับกลายเป็น นักบวชสตรีเหล่านั้นต่างหาก ที่เป็นผู้เสียสละอย่างสำคัญ ในการแบกรับภาระอันยิ่งใหญ่ในการปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา ให้สามารถตั้งมั่นอยู่ได้ในชมพูทวีปนับพันปี ด้วยการยอมรับ ครุธรรม ๘ ประการ เอาไว้ด้วยความมุ่งมั่น และศรัทธาในพรหมจรรย์โดยปราศจากข้อแม้ใดๆทั้งสิ้น

ฉะนั้นในบัดนี้ จึงถึงเวลาแล้วที่ถ้อยคำบิดเบือนในทำนองที่ว่า “สตรีเป็นสาเหตุทำให้พระพุทธศาสนามีอายุสั้นลง” ควรจะหมดไปจากสังคมชาวพุทธเถรวาทเสียที เพราะด้วยเหตุแห่งการสอบสวนทวนความอย่างมีเหตุผลและประกอบด้วยหลักฐาน กลับปรากฏว่า ถ้อยคำเหล่านี้ มิได้เป็นความจริงเลยแม้แต่น้อย หากแต่เป็นเพียงแค่คำพูดที่เกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง หรือไม่ก็เป็นการพูดที่เนื่องมาจากความคิดอ่านซึ่งเจือไปด้วยอคติ(ทางเพศ)อย่างขาดสติสัมปชัญญะเท่านั้นเอง !!!!