วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552

กินข้าว(ไม่)กินปลา

คำกล่าวที่ว่า “กินข้าวกินปลา” นั้นนับได้ว่าเป็นสำนวนเก่าที่คุ้นหูคนไทยมานาน ซึ่งโดยทั่วไปมักเข้าใจกันว่า ถ้อยคำสำนวนนี้น่าจะเป็นหลักฐานยืนยันในเรื่องของอุปนิสัยการกินของคนไทยได้เป็นอย่างดีว่า แต่เดิมนั้นคนไทยก็กินอาหารที่ค่อนข้างเรียบง่ายและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่อุดมไปด้วยข้าวและปลา อีกทั้งอุปนิสัยการกินของคนไทยแบบดั้งเดิมนี้ น่าที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับคนไทยในปัจจุบัน ในเรื่องของการกินอาการที่ดีมีประโยชน์แทนการบริโภคฟาสต์ฟูดที่เต็มไปด้วยแป้งและไขมันตามสมัยนิยม

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรากลับพบว่า การกินข้าวกินปลานั้นอาจจะเป็นเพียงวัฒนธรรมการกินอาหารของคนไทยในระยะอดีตกาลอันใกล้นี่เอง โดยเมื่อพิจารณาข้อความหลักฐานจากบันทึกของชาวต่างชาติที่ได้มีโอกาสเข้ามาในประเทศสยามในอดีตนั้น ระบุว่า เมื่อราวสามร้อยกว่าปีก่อน คนไทยในสมัยนั้น มีการถกเถียงในประเด็นที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ ว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นจะเป็นบาปหรือไม่ ?

โดย นาย นิโกล่าส์ แชรแวส ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส ได้เดินทางเข้ามาในประเทศสยามเมื่อราวปีพุทธศักราช2230(รัชสมัยของ สมเด็จพระนารายณ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา) และได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม” ในปี2231 หลังจากกลับไปฝรั่งเศสแล้ว โดยมีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงการกินอาหารของคนไทยว่า

“แม้ว่าเนื้องัวในเมืองไทยจะไม่ใช่ชนิดเลว แต่ก็ไม่ค่อยนิยมบริโภคกัน เพราะเขาเชื่อกันมาเป็นประเพณีว่า ในชาติก่อนโน้นพระสมณะโคดมได้เสวยพระชาติเป็นโคผู้หรือนางโค ถือกันว่าการบริโภคเนื้องัวนั้นผิดพุทธบัญญัติและเป็นการละเมิดศาสนาถ้าไปแตะต้องเข้า ความเชื่อนี้ยังกินวงกว้างไปถึงสัตว์สี่เท้าทุกชนิดว่าฆ่าไม่ได้ ด้วยอาจจะบังเอิญไปฆ่าถูกบิดามารดาหรือมิตรสหายของตน ซึ่งวิญญาณได้เข้าไปสิงอยู่ในตัวสัตว์เหล่านั้นเข้าก็ได้ ปัจจุบันนี้(หมายถึง พุทธศักราช 2230)ค่อยคลายความเชื่อในเรื่องกลับชาติมาเกิดกันขึ้นมากแล้ว แม้จะยังมีความเห็นเรื่องจริงหรือไม่จริงขัดแย้งกันอยู่บ้าง ก็หันมาเลือกเอาทางสะดวกสบายมากกว่า .... ฯลฯ”

ข้อมูลจากหนังสือของนายแชรแวสนั้น มีอยู่หลายส่วนเช่นกันที่พอจะเชื่อถือได้ เพราะในพระไตรปิฎกก็มีหลักฐานในลักษณะนี้จริงๆ เช่นในคัมภีร์ ขุททกนิกาย จริยาปิฎก มหิสราชจริยา ได้มีข้อความระบุถึง เมื่อครั้งที่พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญากระบือ ดังต่อไปนี้คือ

“ในกาลเมื่อเราเป็นกระบือ เที่ยวอยู่ในป่าใหญ่มีกายอ้วนพี มีกำลังมากใหญ่โต ดูหน้ากลัวพิลึก ประเทศไรๆ ในป่าใหญ่นี้อันเป็นที่อยู่ของฝูงกระบือ มีอยู่ที่เงื้อมเขาก็ดี ที่ซอกห้วยธารเขาก็ดี ที่โคนไม้ก็ดีที่ใกล้บึงก็ดี เราเที่ยวไปในที่นั้นๆ เมื่อเราเที่ยวไปในป่าใหญ่ ได้เห็นสถานที่อันเจริญเราจึงเข้าไปสู่ที่นั้น แล้วยืนพักอยู่และนอนอยู่ ฯลฯ”

ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมพุทธศาสนิกชนในสมัยโบราณจึงไม่คิดจะกินสัตว์ขนาดใหญ่ เพราะนอกจากพระพุทธเจ้าจะเคยเสวยพระชาติเป็นพญากระบือมาก่อนแล้ว ยังมีความเป็นไปได้อีกว่า อาจมีพระโพธิสัตว์องค์ใดองค์หนึ่งซึ่งจะเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป กำลังเสวยพระชาติเป็นสัตว์เหล่านี้อยู่ก็ได้ และในท้ายที่สุดแล้ว สัตว์เหล่านั้นอาจเคยเป็นญาติพี่น้องของตนในอดีตชาติก็เป็นได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นความเชื่ออันเนื่องมาจากศาสนาอันเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิดในสงสารวัฏทั้งสิ้น พร้อมกันนั้นในคัมภีร์ ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่มเดียวกันนี้เอง ยังได้กล่าวถึงการที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาปลา(มัจฉราชจริยา) หมายความว่า พุทธศาสนิกชนคนไทยในสมัยโบราณจริงๆนั้น แม้แต่ปลา เขาก็ไม่กินกัน ดังได้ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ระบุข้อความเอาใว้ดังนี้ว่า

“ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน(สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่9 ขุนหลวงท้ายสระ พุทธศักราช 2249-2275) ทรงประพฤติเหตุใน อโนตตัปปธรรม(ไม่เกรงกลัว และไม่มีความละอายในการทำบาป) และเสด็จเที่ยวประพาสทรงเบ็ดเหมือนสมเด็จพระราชบิดา แล้วพระองค์พอพระทัยเสวยปลาตะเพียน ครั้งนั้นตั้งพระราชกำหนดห้าม มิให้คนทั้งปวงรับพระราชทานปลาตะเพียนเป็นอันขาด ถ้าผู้ใดเอาปลาตะเพียนมาบริโภคก็ให้มีสินไหมแก่ผู้นั้นเป็นเงินตราห้าตำลึง .... ฯ”

จากหลักฐานที่ปรากฏ จะเห็นได้ว่า ที่ชาวบ้านเขาไม่พอใจกันนั้น มิใช่เกิดจากว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงออกพระราชกำหนดห้าม มิให้พวกเขากินปลาตะเพียน เพราะถึงอย่างไรก็ยังมีปลาชนิดอื่นๆให้กินอยู่อีกมากมาย(ถ้าพวกเขาคิดจะกิน) แต่ที่ชาวบ้านเขานินทานั้น ก็เป็นเพราะเขาเห็นว่า พระเจ้าอยู่หัวจะต้องทรงเป็นแบบอย่างให้กับประชาชนในฐานะที่ทรงเป็นหน่อพุทธางกูร เป็นพระโพธิสัตว์ ผู้ปรารถนาพุทธภูมิ ดังนั้นการที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงเบ็ด จึงเป็นสิ่งที่ค้านกับความรู้สึกและความเชื่อของชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็คงจะจริงตามที่นายแชรแวสกล่าวคือ จนแม้แต่ในสมัยนั้น(หมายถึง พุทธศักราช 2230) ชาวพุทธก็ค่อยๆคลายความเชื่อในเรื่องกลับชาติมาเกิดกันขึ้นมากแล้ว โดยที่แม้จะยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่บ้าง แต่สุดท้ายแล้ว พวกเขาเหล่านั้น ก็หันมาเลือกเอาทางสะดวกสบาย(ในการกิน)กันเสียมากกว่า หมายความว่า ในระยะหลังๆมาเมื่อชาวพุทธเริ่มคลายความเชื่อในเรื่องเวียนว่ายตายเกิดลงไป พวกเขาก็เริ่มหันมากินเนื้อสัตว์กันมากขึ้น ทั้งนี้ การที่ชาวสยามได้มีโอกาสไปคบค้าสมาคมกับคนต่างชาติต่างศาสนาที่บริโภคเนื้อสัตว์ ซึ่งเข้ามาทำมาหากินในเมืองสยามกันมากขึ้นนั้น ก็อาจจะเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกอันหนึ่งด้วย ที่ทำให้ชาวสยามหันมาบริโภคเนื้อสัตว์กันมากขึ้น
ในปัจจุบันนี้มีการค้นพบว่า ภายในเนื้อของสัตว์ มีสารพิษอยู่ชนิดหนึ่ง โดยสัตว์ได้รับความเจ็บปวดทรมานในขณะถูกฆ่า ก็จะผลิตสารพิษมากขึ้นเป็นลำดับ แล้วก็จะแผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย ซึ่งถ้าหากเรากินเนื้อในลักษณะนี้เข้าไปแล้ว ก็จะได้รับอันตรายเป็นอย่างมาก โดยสถาบันโภชนาการแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า “เนื้อของสัตว์ที่ถูกฆ่าตาย จะเต็มไปด้วยเลือดที่เป็นพิษและสารพิษอื่นๆมากมาย” ข้อมูลนี้จึงเป็นเหตุให้ คนที่รักสุขภาพทั้งหลาย หลีกเลี่ยงที่จะบริโภคเนื้อสัตว์ขนาดใหญ่ทั้งหลาย โดยหันมาบริโภคเนื้อปลาแทน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า เนื้อปลาเป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพสูงและปราศจากสารพิษอย่างที่พบจากเนื้อของสัตว์ขนาดใหญ่ ทั้งนี้ชาวพุทธก็สามารถบริโภคเนื้อปลา(หรือเนื้อสัตว์อื่นๆ) ได้โดยที่ไม่ผิดพุทธบัญญัติใดๆเลย เพราะที่แท้แล้ว พระพุทธองค์ไม่เคยมีข้อห้ามเหล่านี้กับชาวบ้าน(พุทธศาสนิกชน)โดยทั่วไป จนแม้แต่พระภิกษุ พระพุทธองค์ก็มิได้ทรงมีข้อห้ามอย่างเด็ดขาดแต่อย่างใด

โดยครั้งหนึ่ง พระเทวทัต ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ แล้วกราบทูลว่า “ขอให้ภิกษุทั้งหลายไม่พึงฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต รูปใดฉันปลาและ เนื้อ รูปนั้นพึงต้องโทษ” แต่พระพุทธองค์ รับสั่งว่า “อย่าเลย เทวทัต เราอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์โดยส่วนสาม คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รังเกียจ” หมายความว่า แม้แต่กับพระภิกษุผู้ทรงศีล พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาติให้ฉัน(กิน)เนื้อสัตว์ได้ ด้วยเงื่อนไขดังต่อไปนี้คือ1. ไม่เห็นว่า เขาฆ่าเนื้อและปลาเหล่านั้น มาเพื่อประโยชน์แก่ตนโดยเฉพาะ 2. ไม่ได้ยินว่า เขาฆ่าเนื้อและปลาเหล่านั้น มาเพื่อประโยชน์แก่ตนโดยเฉพาะ 3. ไม่ได้รังเกียจ(เนื้อและปลาเหล่านั้น) ด้วยการเห็น ได้ยิน และที่รังเกียจพ้นจากเหตุทั้งสองนั้น

สรุปก็คือ แม้ว่าในระยะหลัง ชาวพุทธจะเสื่อมคลายความเชื่อถือในเรื่องเวียนว่ายตายเกิดไปมาก จนหันมาบริโภคเนื้อสัตว์กันมากขึ้น แต่ด้วยองค์ความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงทำให้ ชาวพุทธเริ่มที่จะปฏิเสธการบริโภคเนื้อสัตว์โดยเฉพาะสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กันมากขึ้น และแม้ว่าชาวพุทธจะหันมาบริโภคเนื้อปลาหรือเนื้อสัตว์ขนาดเล็กเป็นการทดแทน แต่นั่นก็มิได้หมายความว่า ชาวพุทธเหล่านั้นได้ทำผิดหลักการทางพระพุทธศาสนาแต่อย่างใดเลย ดังนั้นสุดท้ายนี้ จึงขอให้พุทธศาสนิกชนผู้รักสุขภาพทั้งหลายจง “กินข้าวกินปลา” ให้อร่อยนะครับ ......

ขอทาน กับ ศักดิ์ศรีที่ขายได้

มักจะมีการพูดกันโดยทั่วไปว่า “อาชีพขอทานนั้น เป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยที่ไม่ต้องลงทุนด้วยสินทรัพย์ใดๆ เพียงแต่จะต้องแลกมาด้วยการขายศักดิ์ศรีของตนเองเท่านั้น”

สิ่งที่น่าสงสัยสำหรับผมก็คือ “ศักดิ์ศรี” มันคืออะไร ? แล้วเราสามารถที่จะเอามันมาขายได้จริงๆหรือ ?

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้คำจำกัดความคำว่า “ศักดิ์ศรี” หมายถึง เกียรติศักดิ์ และให้ความหมายคำว่า “เกียรติศักดิ์” หมายถึง เกียรติตามฐานะของแต่ละบุคคล ทั้งนี้คำว่า “ศักดิ์” นั้นย่อมหมายถึง กำลังความสามารถ หรือ ฐานะ สรุปรวมความได้ว่า ศักดิ์ศรี หมายถึง ความมีหน้ามีตาตามฐานะของแต่ละบุคคล ดังนั้นการที่กล่าวกันว่า “คนที่เป็นขอทาน ขายศักดิ์ศรีของตน” ก็น่าที่จะแปลความได้ว่า ขอทานเหล่านั้น ได้ขายความมีหน้ามีตาตามฐานะของตนไปเสียแล้ว แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ ความมีหน้ามีตาตามฐานะของตน นั้นมันหมายความว่าอย่างไร ?

เพราะถ้าพิจารณาคำว่า “ฐานะ” ก็สามารถจับใจความได้ว่าหมายถึง “ลำดับความเป็นอยู่ในสังคม” ซึ่งถ้าเป็นสังคมในสมัยศักดินา คนในสังคมระดับล่างๆ จะมีการจัดลำดับดังต่อไปนี้คือ

ไพร่หัวงาน ศักดินา 25 ไร่
ไพร่มีครัว ศักดินา 20 ไร่
ไพร่ราบ ศักดินา 15 ไร่
ไพร่เลว ศักดินา 10 ไร่
ยาจก(คนจน) ศักดินา 5 ไร่
วณิพก ทาส และ ลูกทาส ศักดินา 5 ไร่ (อ้างจาก พระอัยการเบ็ดเสร็จ(เพิ่มเติม) พศ.1903 )

โดยที่ประชาชนส่วนมากในราชอาณาจักร มักเป็น พวกยาจก(คนจน) วณิพก และทาส ซึ่งคนเหล่านี้ มีศักดินาได้เพียง 5ไร่เท่านั้น พวกไพร่เลว คือพวกที่ได้มีโอกาสทำงานรับใช้เจ้านาย ถ้ามีคนฝากฝังให้เป็น “เลว” ของเจ้านายได้ก็จะมีวาสนา มีศักดินา 10ไร่ ส่วนพวกไพร่ราบนั้น เป็นไพร่ชั้นดี เป็นอิสระแก่ตัว ศักดินา 15ไร่ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีอยู่เพียงส่วนน้อยในสังคม ยังมีไพร่ขั้นสูงอีกสองพวก คือ ไพร่มีครัว หมายถึง ไพร่ที่คุมผู้คนมาตั้งบ้านเรือนทำมาหากินด้วย 20 , 30 หรือ 50 ครัว ก็จะมีความชอบได้ศักดินา 20ไร่เป็นบำเน็จ สุดท้ายคือ พวกไพร่หัวงาน หมายถึง ไพร่ที่รับผิดชอบงานโยธา ให้หลวงได้ศักดินา 25ไร่ ซึ่งนี่ก็คืออัตราสูงสุดสำหรับการเป็นไพร่ แต่ถ้าไพร่หัวงานนี้เป็นห้าสิบ คือคุมครัว50ครัวด้วย จะได้บำเน็จพิเศษอีก 5ไร่ รวมเป็น30ไร่ เมื่อถึงตอนนี้ เขา(ไพร่หัวงาน)ก็จะกลายเป็นข้าราชการ ไม่ได้เป็นไพร่อีกต่อไปแล้ว ทั้งหมดที่แจกแจงมานี้ ก็สามารถที่จะอธิบายได้ว่า ในสมัยศักดินานั้น ขอทานจะมีฐานะหรือลำดับความเป็นอยู่ในสังคม(แบบไทยๆ) เทียบเท่ากับ คนจนยากไร้ วณิพก ทาส และลูกทาส เพราะเหตุที่มีศักดินาเท่ากัน นั่นจึงหมายความว่า ถ้าหากผู้ที่มี “ศักดินา” สูงกว่านี้(ห้าไร่) แต่กลับมาประกอบอาชีพเป็นขอทาน ก็ย่อมถือได้ว่า เขาได้ขาย “ศักดิ์ศรี” หรือ ความมีหน้ามีตาตามฐานะของตนไปเสียแล้วจริงๆ แต่ที่น่าสงสัยก็คือ ถ้าผู้คนซึ่งมีศักดินาต่ำอยู่แล้ว อย่างเช่นพวกทาส ยาจก คนจน ถ้าคนเหล่านี้ประกอบอาชีพขอทาน ยังจะสามารถกล่าวได้อีกหรือไม่ว่า พวกเขาเหล่านั้น ได้ขายความมีหน้ามีตาตามลำดับความเป็นอยู่ของตนในสังคม เพราะผมเองก็ยังมองไม่ออกเลยว่า การเกิดมาเป็นทาส หรือลูกทาสนั้น มันจะ “มีหน้ามีตา” อยู่ที่ตรงไหนกัน ? แต่นี่ก็เป็นเรื่องราวโบร่ำโบราณ ในสมัยที่สังคมบ้านเมืองยังล้าหลังอยู่ ปัญหาที่ควรพิจารณาต่อไปในขณะนี้ก็คือ ในปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นสังคมทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย กลุ่มคนที่ได้ชื่อว่า “ขอทาน” มีลำดับความเป็นอยู่อย่างไรในสังคม ????

ข้อเท็จจริงที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลยก็คือ ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบันนี้ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนจนนั้น ล้วนแล้วแต่มีที่มาจากพวก ไพร่และทาส ในสังคมยุคศักดินานั่นเอง ก็ในสมัยศักดินา ซึ่งถือว่าที่ดินเป็นปัจจัยกำหนดฐานะทางสังคมนั้น คนเหล่านี้จัดว่าเป็นคนจน ก็ด้วยเหตุที่เป็นคนไร้ที่(นา)ทำกิน นั่นย่อมหมายความว่า ไพร่ทาสเหล่านั้น ก็ยังต้องกลายเป็นคนจนในปัจจุบันอยู่ดีด้วยเหตุที่พวกเขาไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ทุน” โดยที่ต้องไม่ลืมว่า ในสังคมทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย นั้นถือว่า “ทุน” เป็นตัวกำหนดฐานะทางสังคม ดังจะเห็นว่า สังคมไฮโซฯในปัจจุบันนี้ล้วนแล้วแต่ประกอบไปด้วย กลุ่มคนที่มี “ทุน” หนาด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้นจึงมิใช่เป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใดเลย ที่ผู้คนในสมัยปัจจุบันนี้ จึงได้พยายามที่จะแสวงหาทุน(ทรัพย์)ให้ได้มากที่สุด เพียงเพื่อที่จะได้มีโอกาสเลื่อนลำดับความเป็นอยู่ในสังคม อันจะก่อให้เกิดความมีหน้ามีตา และได้รับการยอมรับจากสังคมที่มีโลภะจริตเป็นเจ้าเรือน โดยมิได้คำนึงถึง วิธีการในการได้มาซึ่งทุน(ทรัพย์)นั้นเลยแม้แต่น้อย

ในขณะที่ ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมคนขอทาน กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในขณะนี้นั้น อีกด้านหนึ่งของสังคม กลับพบว่า การประกอบอาชีพขอทาน กำลังเป็นค่านิยมใหม่ของคนยากจนในต่างจังหวัดไปเสียแล้ว สาเหตุก็เป็นเพราะการขอทานนั้น สามารถสร้างรายได้ให้กับคนยากคนจนเหล่านี้ มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่พวกเขาจะได้รับจากการทำงานกรรมกรหลายเท่าตัว พิจารณาอย่างง่ายๆดังนี้คือ คนเหล่านี้จะใช้วิธีเดินทางโดยขบวนรถไฟจากต่างจังหวัด มาลงที่สถานีรถไฟ(บางซื่อ) จากนั้นก็มาเช่าบ้านที่ไม่มีเลขที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆในราคา หัวละ 20 บาทต่อคืน โดยส่วนใหญ่จะอยู่กันประมาณ 2-3 สัปดาห์ จากนั้นจะเดินทางกลับบ้านเพื่อเอาเงินไปเก็บ แล้วกลับมาใหม่เป็นรอบ ๆ ไปโดยในแต่ละรอบ พวกเขาจะได้เงินมากถึง 1-2 หมื่นบาทต่อหัวเลยทีเดียว เห็นตัวเลขอย่างนี้แล้ว ก็คงจะไม่ต้องแปลกใจว่าทำไม คนยากจนจากต่างจังหวัดเหล่านี้ จึงได้ตกลงปลงใจที่จะมาเป็นขอทาน มากกว่าที่จะมาทำงานกรรมกรซึ่งต้องทำงานหนักแต่ค่าแรงถูก อันเป็นผลที่เกิดจากแนวคิดของพวกทุนนิยม ที่มุ่งหวังแต่เพียง “กำไรสูงสุด” เท่านั้น และแน่นอนว่า “กำไรสูงสุด” ของนายทุนก็ย่อมเกิดมาจากการเอารัดเอาเปรียบ “กรรมกร” ซึ่งก็คือ คนยากคนจน คนส่วนใหญ่ของประเทศนั่นเอง

การที่ภาครัฐพยายามที่จะกวาดล้างพวกมาเฟียขอทาน เพื่อนำมาดำเนินคดีในข้อหาค้ามนุษย์ เนื่องจากมีการทรมานคนแก่และเด็ก ก็ย่อมเป็นสิ่งที่สมควรอยู่แล้ว แต่การที่จะพยายามแก้ไขปัญหาขอทาน ด้วยการจับไปฝึกอาชีพนั้น เห็นว่าจะเป็นการเสียเวลาไปเปล่า เพราะที่แท้แล้ว มิใช่ว่า เขาเหล่านั้น จะประกอบอาชีพอย่างอื่นไม่เป็น แต่เหตุมันเกิดจาก เขาทนต่อการเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนที่พยายามกดค่าแรงจนพวกเขาไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขต่างหาก หมายความว่า ถ้าหากภาครัฐต้องการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังแล้วล่ะก็ สิ่งที่ควรจะได้รับการแก้ไขมากที่สุดก็คือ การจ้างงานด้วยอัตราค่าจ้างที่เป็นธรรมต่อผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม มิใช่ปล่อยให้มีการเอารัดเอาเปรียบคนยากจนโดยที่มีกฏหมายและคณะบุคคลผู้บังคับใช้กฏหมาย รองรับและรับรองกันอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ก็ในเมื่อสังคมทุนนิยมนั้นถือกันว่า “ทุน” คือสิ่งที่สำคัญที่สุด และ “ทุน” นั้นเองจะเป็นตัวกำหนด “ฐานะ” หรือ “ลำดับ” ทางสังคม หมายความว่า ด้วยมาตรฐานทางสังคมในยุคทุนนิยม เราก็ไม่น่าที่จะเห็นว่า ความร่ำรวยทุน(ทรัพย์) อันเกิดจากการประกอบอาชีพขอทานนั้น จะเป็นการขายศักดิ์ศรี หรือ เสื่อมศักดิ์ศรี แต่อย่างใดเลย เพราะในขณะนี้เวลานี้ “ศักดิ์” ของคนนั้นอยู่ที่ “ทุน” มิได้อยู่ที่ “นา” เมื่อมีทุนมากก็ย่อมมีศักดิ์มาก ต่างจากสมัยศักดินา ซึ่งผู้ที่มีสิทธิในที่นามากย่อมมีศักดิ์มาก ฉนั้น การกล่าวว่า การขอทาน คือการขายศักดิ์ศรี อาจเป็นคำที่ถูกต้องได้ ก็แต่ในยุคสมัยศักดินาเท่านั้น แต่ไม่อาจเป็นจริงได้ในยุคสมัยทุนนิยม ทำไปทำมา ความรู้สึกนึกคิดที่ว่า การขอทานเป็นการขายศักดิ์ศรี นั้นอาจเป็นเพียงแค่ เล่ห์ลมปาก ที่พวกนายทุนใช้สำหรับ “กล่อม” พวกกรรมกรใจซื่อ ให้หลงเชื่อไปกับแนวคิดศักดินาตกยุค เพื่อที่จะได้มีความอดทนต่อการกดขี่ค่าแรงของพวกนายทุนต่อไป โดยมี “ศักดิ์ศรี” ลมๆแล้งๆ เป็นบำเน็จรางวัล !!!!

อันที่จริงแล้ว นับแต่โบราณมา อาชีพขอทาน ก็มิใช่ว่าจะเป็นอาชีพที่ต่ำต้อยไร้เกียรติแต่อย่างใดเลย อาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นอาชีพของคนชั้นสูงเสียด้วยซ้ำไป โดยอรรถกถาจารย์ ได้กล่าวใว้มีหลักฐานปรากฏอยู่ดังนี้ว่า “ภิกษุ หมายถึง บุคคลผู้อาศัยการเที่ยวขอ เพราะละการเลี้ยงชีวิตโดยกสิกรรม และโครักขกรรมเป็นต้นเสีย” หมายความว่า แท้ที่จริงแล้ว พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเองก็เป็นผู้ที่ต้องยังชีพด้วยการ “ขอทาน” เหมือนกัน ก็คำว่า “ภิกษุ” หรือ “ภิกขุ” นั้นหมายถึง ผู้ที่ยังชีพด้วยการ “ภิกขาจาร” ซึ่งก็คือการ “ขอทาน” นั่นเอง และนี่ก็เป็นพุทธบัญญัติเสียด้วย โดยพระพุทธเจ้ามิทรงอนุญาติให้พระสงฆ์ประกอบอาชีพอื่นใดทั้งสิ้น แต่อนุญาติให้สามารถยังชีพได้ด้วยการ “ขอทาน” ชาวบ้านเขากินเท่านั้น โดยที่พวกพราหมณ์ในสมัยแรกเริ่มเดิมทีนั้น ก็ยังชีพด้วยการขอทานเช่นกัน ก่อนที่จะแหวกธรรมเนียมออกมาประกอบอาชีพอื่นๆในภายหลัง ที่กล่าวมาดังนี้ มิได้มีเจตนาที่จะส่งเสริมสนับสนุน ให้ผู้คนออกไปประกอบอาชีพขอทานกันมากขึ้น เพราะเชื่อว่า หากมีโอกาสเลือกที่ดีกว่า ย่อมไม่มีใครอยากเลือกที่จะเป็นขอทาน อีกทั้งก็มิได้หมายใจที่จะยกย่องขอทาน ว่าสูงส่งเทียบเท่ากับภิกษุสงฆ์ เพราะการเป็น “ผู้ขอ” ของพระสงฆ์องค์เจ้านั้น ถือได้ว่าเป็นการขอที่ประเสริฐ คือผู้ขอนั้น เป็นผู้ทรงใว้ซึ่ง ศีล สมาธิ และปัญญา จึงเป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐของเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย อีกทั้ง “การขอ” ของพระสงฆ์นั้น เป็นเพียงการขอเท่าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพเท่านั้น มิได้เป็นการขอที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของโลภะจริต อย่างที่เป็นกันอยู่ในสังคมเวลานี้ ...

ตัวการสำคัญ !!!!

เมื่อได้เห็นข่าว “ผัดกะเพราเนื้อคน” จากทางหน้าหนังสือพิมพ์แล้ว ทำให้เกิดความรู้สึกสังเวชใจอย่างบอกไม่ถูกจริงๆ จากเนื้อข่าวนั้นได้ความว่า นางสาว น.(นามสมมุติ) อายุ 20 ปี ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมในความผิดฐานทำให้แท้งลูก เหตุเกิดขึ้นในหมู่บ้านแห่งหนึ่งย่านรังสิต โดยนางสาว น.(นามสมมุติ) ยอมรับว่า ตนเองได้ทำแท้งและเป็นผู้ที่ลงมือหั่นศพทารกใส่ถุงไปทิ้งในถังขยะ โดยไม่ได้คาดคิดว่า จะมีคนมาเก็บเนื้อนั้นไปเพื่อเตรียมทำอาหารกิน เคราะห์ดีที่มี เจ้าหน้าที่กู้ชีพคนหนึ่งมาพบเข้า แล้วเห็นผิดสังเกต จึงได้แจ้งตำรวจให้มาตรวจสอบ จนกลายเป็นข่าวครึกโครมในที่สุด โดยนายตำรวจเจ้าของคดี กล่าวว่า “คดีนี้เป็นคดีสะเทือนขวัญ และโหดร้ายมากเป็นที่สนใจของประชาชน ซึ่งหลังพบศพทางเจ้าหน้าที่จึงได้เร่งสืบสวนจนทราบว่าหญิงคนดังกล่าวนั้นทำแท้งแล้วสับลูกทิ้งท่อน้ำ จึงได้จับกุมตัวมาสอบสวน ซึ่งเจ้าตัวให้การรับสารภาพ จึงแจ้งข้อหา ทำให้ตนเองแท้งลูก ซึ่งมีความผิดต้องระวางโทษ จำคุก 3 ปี จึงได้ควบคุมตัวไว้ดำเนินคดี”
การที่ นายตำรวจเจ้าของคดี กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีสะเทือนขวัญ ประเด็นนี้ผมก็เห็นด้วยอย่างยิ่งว่า เป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ที่กล่าวว่า เป็นคดีที่โหดร้ายมากนั้น บอกตามตรงว่า ผมยังไม่อาจเข้าใจได้อย่างแจ่มชัดนักว่า ที่กล่าวว่า “โหดร้าย” นั้นหมายถึงใครกันแน่ ????

ถ้าจะสังเกตกันให้ดีแล้วจะพบว่า ในกรณีที่มีข่าวการทำแท้ง หรือพบเด็กถูกทิ้งใว้ในที่ต่างๆนั้น สื่อก็มักจะพาดหัวข่าวไปในทำนองว่า “แม่ใจยักษ์” ทิ้งลูก ฆ่ามารหัวขน อะไรเทือกๆนั้น ซึ่งแม้ว่านั่นจะเป็นข้อเท็จจริง แต่มันก็เป็นเพียงแค่ “ข้อเท็จจริงบางส่วน” ที่ปรากฏออกมาให้สาธารณชนได้มีโอกาสรับรู้เท่านั้น โดยที่อีกส่วนที่เหลือนั้น กลับถูกละเลย และได้หมักหมมซ่อนเร้นอยู่ในมุมมืดของสังคมมาโดยตลอด

ในเบื้องต้นนั้น เราจะต้องยอมรับความจริงกันเสียก่อนว่า ลำพังตัวของผู้หญิงคนเดียวนั้น เธอคงไม่สามารถที่จะตั้งครรภ์ได้เอง นี่เป็นเหตุผลตามธรรมชาติที่ใครๆก็ไม่อาจเถียง จนแม้แต่ในพระไตรปิฎก ก็ยังสามารถพบข้อความที่ยืนยันความจริงในเรื่องนี้ได้ โดยที่พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาใว้ปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ใน พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ว่าด้วยเหตุแห่งการเกิดในครรภ์ ดังนี้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดมารดาบิดาอยู่ร่วมกัน มารดามีระดู สัตว์ที่จะมาเกิดก็ปรากฏ เพราะความประชุมพร้อมแห่งปัจจัย ๓ ประการอย่างนี้ ความเกิดแห่งทารกจึงมี” หมายความว่า การที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะตั้งครรภ์ขึ้นมาได้นั้น พระพุทธองค์ตรัสว่าจะต้องประกอบด้วยปัจจัยสามประการคือ

1. หญิงชายอยู่ร่วมกัน
2. หญิงนั้นมีระดู(ประจำเดือน)
3. มีสัตว์ผู้จะมาเกิด

แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ในสังคมของเราเวลานี้ เมื่อเกิดปัญหาใดๆขึ้นก็ตามในเรื่องที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ มักกลายเป็นว่า ผู้หญิงจะเป็นฝ่ายที่จะต้องแบกรับภาระเอาใว้แต่เพียงลำพังอยู่ร่ำไป แต่ฝ่ายชายซึ่งเป็นปัจจัยอันสำคัญในการก่อให้เกิดปัญหาต่างๆขึ้นมานั้น กลับลอยนวลหลบหายไปในกลีบเมฆ โดยไม่เคยมีใครในสังคมแห่งนี้ ที่จะไปสืบเสาะค้นหาตัว เพื่อถามหาคุณธรรมจริยธรรมและความรับผิดชอบจากเขาผู้นั้นเลยแม้แต่น้อย (?)

เหตุผลในการที่ผู้หญิงคนหนึ่งได้ทำแท้งลูกของตนนั้น ไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็ตาม ขอให้ยกเอาใว้ก่อน แต่สิ่งที่สังคมจะต้องหันกลับมาพิจารณาก็คือ ใครบ้างที่ควรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในทางกฏหมายในฐานะจำเลย ? โดยข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ก็คือ ในมาตรา301 ของประมวลกฏหมายอาญา ระบุเอาใว้ว่า “หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

นั่นจึงหมายความว่า กฏหมายอาญาของไทยในปัจจุบันนี้ ระบุโทษเอาผิดก็แต่เฉพาะผู้หญิงแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น หาได้คิดที่จะเอาผิดกับฝ่ายชายไม่ ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วเขาก็เป็นต้นเหตุของการกระทำผิดด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เราต้องไม่ลืมว่า ถ้าหากเลือกได้ ก็คงไม่มีผู้หญิงคนไหนที่อยากจะไปทำแท้ง เพราะนอกจากจะทำให้ต้องรู้สึกผิดบาปไปจนชั่วชีวิตแล้ว ยังอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวของผู้ทำแท้งเองอีกด้วย ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่ของหญิงที่ตัดสินใจทำแท้ง ก็มักจะเกิดจากการที่ฝ่ายชายไม่คิดรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง โดยทิ้งให้ฝ่ายหญิงเป็นผู้รับผิดชอบปัญหาเหล่านี้เอาเองตามลำพัง

มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมไทย โดยเฉพาะสังคมของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชน จะหันมาพิจารณาเรื่องนี้กันอย่างรอบคอบและรอบด้านกันเสียที โดยเริ่มต้นด้วยการละเลิกการใช้ถ้อยคำประณามหญิงผู้ทำแท้งว่าเป็น “คนโหดร้าย ใจยักษ์ใจมาร” กันเสียที หากแม้นว่ายังทำตามนี้ไม่ได้ อย่างน้อยที่สุด ก็อย่าได้ประณามผู้หญิงแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ขอให้ประณาม ตัวผู้(ชาย)ซึ่งเป็นต้นตอของการกระทำผิดอย่างแท้จริงนั้นด้วย ในฐานะที่เป็น “ตัวการและผู้สนับสนุน” เป็นตัวต้นเหตุและเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการกระทำผิดทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้อย่างแท้จริง โดยในมาตรา84 ของประมวลกฏหมายอาญา ระบุเอาใว้ว่า

“(1)ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการ ใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน หรือ ยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีการอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด
(2)ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทำลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดใว้สำหรับความผิดนั้น”

หมายความว่า โดยข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในสังคมเวลานี้ก็คือ ตัวผู้(ชาย)นั้นเอง ที่มักจะเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการทำแท้งของฝ่ายหญิง แต่สิ่งที่ปรากฏออกมากลับกลายเป็นว่า ฝ่ายหญิงต้องตกที่นั่งลำบาก กลายมาเป็นทั้งจำเลยทางกฏหมายและจำเลยทางสังคมแต่เพียงผู้เดียว สิ่งที่จะต้องพิจารณาก็คือ ถ้าหากฝ่ายชายเป็นมีคุณธรรมจริยธรรมในใจแม้เพียงสักนิด โดยคิดรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้กระทำร่วมกันกับฝ่ายหญิง เหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆก็คงจะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าตราบใดที่สังคมยังละเลย ปล่อยให้ฝ่ายชายสามารถหนีปัญหาและผลักภาระทั้งหมดไปให้ฝ่ายหญิง โดยที่ตนเองไม่ต้องรับผิดชอบใดๆเลยทั้งทางกฏหมายและทางสังคม นั่นก็จะเท่ากับว่า สังคมไทยกำลังให้ท้ายและยุยงส่งเสริมให้ชายไทย ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างคนที่ขาดคุณธรรมจริยธรรม ไร้เมตตาและความรับผิดชอบอย่างถึงที่สุด ซึ่งนั่นจะเท่ากับว่า ที่เป็น “คนโหดร้าย ใจยักษ์ใจมาร” ไม่ใช่หญิงทำแท้งนั้นหรอก แต่เป็นตัวผู้ชายที่ไร้ความรับผิดชอบนั่นต่างหาก เพราะทั้งๆที่รู้อยู่ว่าหญิงที่ตั้งครรภ์กับตนจะต้องได้รับความลำบากแสนสาหัส แต่เขาก็ยังกล้าทิ้งขว้างอย่างไม่ใยดี เมื่อเป็นดังนี้แล้ว คุณคิดว่ายังจะมีใครที่มีจิตใจโหดเหี้ยมอำมหิต มากไปกว่าพวกผู้ชายเหล่านี้อีกหรือไม่ ? อีกทั้ง ถ้าสังคมโดยรวมยังหลับหูหลับตาปล่อยปละละเลย ให้ท้ายพวกผู้ชายไร้ยางอายเหล่านั้นอยู่อีก สังคมแห่งนั้นก็จะกลายเป็น “สังคมใจยักษ์ใจมาร” อย่างที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงไปได้เลย !!!!

ขอให้สังเกตด้วยว่า การที่ฝ่ายชาย ปฏิเสธความรับผิดชอบ จนฝ่ายหญิงต้องตัดสินใจไปทำแท้งนั้น มันต่างกับการที่ ฝ่ายชาย ใช้ให้ฝ่ายหญิงไปทำแท้ง ตรงไหน ?มันต่างกับการที่ ฝ่ายชาย บังคับให้ฝ่ายหญิงไปทำแท้ง ตรงไหน ?มันต่างกับการที่ ฝ่ายชาย ยุยงส่งเสริมให้ฝ่ายหญิงไปทำแท้ง ตรงไหน ?

ดังนั้น จึงเป็นไปได้หรือไม่ว่า ในมาตรา301 ของประมวลกฏหมายอาญา ที่ระบุเอาใว้ว่า “หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีฯ ” นั้นอาจเปลี่ยนเป็นว่า “ชายใดเป็นเหตุให้หญิงทำแท้งลูกของชายผู้นั้นฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีฯ ” โดยแนวคิดนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลสองประการคือ

1. โดยปกติแล้ว หญิงโดยทั่วไปมีจิตใจอ่อนโยน ย่อมไม่คิดทำลายเลือดเนื้อเชื้อไขของตนเอง แต่มักทำไปเพราะแรงกดดันอันเกิดจากสภาพแวดล้อม
2. หากว่าเกิดการกระทำผิดขึ้น ก็ควรที่จะเอาผิดกับฝ่ายชายก่อน ในฐานะที่เป็นตัวต้นเหตุ จะปล่อยให้หลบหลีกลอยนวลดังที่เป็นมาแต่ก่อนมิได้

ถ้าหากกฏหมายบ้านเมืองจะเปลี่ยนวิธีคิด โดยหันไปเอาผิดกับฝ่ายชาย มากกว่าที่จะไปเอาผิดกับฝ่ายหญิง ก็น่าจะช่วยลดปัญหาการทำแท้งได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว ก็เป็นฝ่ายชายนั่นเอง ที่เป็นทั้งสาเหตุและตัวกระตุ้นให้ฝ่ายหญิงต้องไปทำแท้ง ฉนั้น ถ้ากฏหมายไทยเปลี่ยนไปเอาผิดกับฝ่ายชาย ก็จะทำให้ฝ่ายชายไม่กล้าไล่ตะเพิดให้ผู้หญิงไปทำแท้งโดยที่ตนเองไม่ยอมรับผิดชอบใดๆเลยอย่างที่ผ่านมาอีกต่อไป เพราะถ้ายังขืนทำอย่างเดิมอยู่อีก ก็จะเป็นเขานั่นเองที่จะเป็นฝ่ายถูกดำเนินคดี ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็มิได้จะหมายความว่า เมื่อฝ่ายหญิงไปทำแท้งแล้ว ก็จะไม่ได้รับโทษใดๆเอาเสียเลย เป็นแต่เพียงเสนอว่า ควรเอาผิดกับฝ่ายชายด้วยในฐานะที่เป็นตัวต้นเหตุของปัญหา ซึ่งที่แล้วๆมา สังคมและกฏหมายไม่เคยคิดเอาผิดเอาโทษกับเขาเหล่านั้นเลย แต่คราวนี้ เห็นว่าควรได้รับการลงโทษด้วยกันทั้งคู่ แต่ถ้าหากแม้นว่า ยังไม่สามารถสืบหาฝ่ายชายผู้เป็นต้นเหตุแห่งการตั้งครรภ์ได้ กฏหมายก็ควรที่จะชลอการเอาโทษกับฝ่ายหญิงใว้ก่อน โดยจะตัดสินโทษได้ก็ต่อเมื่อสืบหาตัวผู้(ชาย)ได้เสียก่อนเท่านั้น เมื่อทำได้อย่างนี้ จึงจะได้ชื่อว่า “ยุติธรรม” คือยุติปัญหาต่างๆเหล่านี้ได้ด้วยความเป็นธรรม โดยเชื่อแน่ว่า ด้วยวิธีการดังกล่าวมานี้ ก็น่าจะทำให้ปัญหาการทำแท้งในสังคมไทยลดน้อยลงไปได้ในที่สุด .....

ความทุกข์โดยเฉพาะของสตรี !!!!

ถึงแม้ว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ส่วนที่2 ว่าด้วยความเสมอภาค มาตรา30 จะกล่าวเอาใว้อย่างชัดเจนว่า “(1)บุคคลย่อมเสมอกันในกฏหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฏหมายเท่าเทียมกัน (2)ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน (3)การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกาย หรือ สุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือ ความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้ฯ”

แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กลับปรากฏว่า สถานภาพของสตรีไทย มีพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก การไม่เคารพในสิทธิของสตรี ตลอดจนการเลือกปฏิบัติต่อผู้เป็นสตรี ก็ยังคงมีปรากฏให้เห็นอยู่โดยทั่วไป แม้ว่าในปัจจุบันนี้ สตรีจะได้รับการศึกษาในระดับสูงมากขึ้น มีความสามารถและบทบาทสำคัญทั้งทางสังคมเศรษฐกิจและการเมืองมากขึ้น แต่อาจเป็นเพราะอิทธิพลของจารีตและธรรมเนียมทางสังคมที่สั่งสมสืบเนื่องกันมาอย่างยาวนานซึ่งถือว่า “ผู้ชายเป็นใหญ่” ย่อมเป็นสาเหตุที่ทำให้ สตรีถูกลดบทบาทการแสดงศักยภาพให้อยู่ในขอบเขตที่จำกัดเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่า กระบวนการในการบังคับใช้กฏหมายอย่างเป็นรูปธรรม และการพัฒนาแนวคิดพื้นฐานของสังคมให้สอดคล้องกับบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ ก็ย่อมที่จะต้องมีต่อไป แต่ถึงกระนั้นก็ตาม แม้ว่าสตรีในอนาคตจะมี สิทธิความเสมอภาคมากขึ้นเพียงใดก็ตาม แต่ก็อาจจะมีบางสิ่งบางอย่างที่สตรีมิอาจจะเรียกร้องความเสมอภาคใดๆได้เลย หรือหากสามารถทำได้แต่ก็ต้องนับว่ายากเต็มที เพราะว่ามันได้ถูกกำหนดเอาใว้แล้วด้วยธรรมชาติแห่งเพศนั้นเอง

พระพุทธองค์ได้ตรัสถึง “ความทุกข์ของสตรี” เอาใว้ว่า
1. สตรีเมื่อเป็นสาวไปสู่สกุลแห่งสามี ย่อมพลัดพรากจากญาติทั้งหลาย
2. สตรีย่อมมีระดู(ประจำเดือน)
3. สตรีย่อมมีครรภ์(ตั้งครรภ์)
4. สตรีย่อม(ต้อง)คลอดบุตร
5. สตรีย่อม(ต้อง)ทำหน้าที่บำเรอบุรุษ โดยพระพุทธองค์ตรัสว่า นี่เป็นความทุกข์โดยเฉพาะของสตรี ซึ่งได้รับต่างหากจากบุรุษ !!!!(อ้างจาก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค)

1) การที่พระพุทธองค์ตรัสว่า การที่หญิงต้องแต่งงานแล้วเข้าไปสู่สกุลของสามี โดยต้องพลัดพรากจากญาติของตน นั้นนับได้ว่าเป็นความทุกข์โดยเฉพาะของผู้หญิง โดยที่ผู้ชายไม่เคยมีความทุกข์อย่างนี้ ก็ด้วยเหตุที่ว่า ตามประเพณีอินเดียในพวกอารยันนับแต่สมัยโบราณนั้น หญิงที่แต่งงานแล้วต้องไปอยู่บ้านของฝ่ายชายเท่านั้น ถ้าฝ่ายชายไปอยู่บ้านฝ่ายหญิงถือว่าผิดจารีตประเพณี ซึ่งนี่อาจแตกต่างจากธรรมเนียมไทย เพราะในเมืองไทยนับแต่อดีตมานั้น เมื่อแต่งงานแล้ว ฝ่ายหญิงไปอยู่บ้านฝ่ายชายก็มี หรือฝ่ายชายไปอยู่บ้านฝ่ายหญิงก็มี ซึ่งก็แล้วแต่ว่าบรรดาญาติๆจะตกลงกันได้อย่างไร ซึ่งก็ไม่ถือว่าเป็นการผิดจารีตประเพณีแต่อย่างใด แต่เท่าที่พบ ก็มักจะเป็นไปในแนวทางที่ฝ่ายหญิงต้องไปอยู่บ้านฝ่ายชายเป็นส่วนใหญ่ จำเพาะประเพณีในอินเดียนั้น จะมีการประกอบพิธี “วิวาห” โดยเขาจัดทำเมื่อเจ้าสาวยังมีอายุน้อย เป็นเด็กอยู่ เมื่อทำพิธีเสร็จแล้ว จะต้องรอจนกว่าเจ้าสาวจะมีอายุตามสมควร ก็จะมีพิธี “อาวาห” คือส่งตัวเจ้าสาวไปให้เจ้าบ่าว จึงเป็นอันเสร็จพิธี แต่ในปัจจุบันนี้ ด้วยเหตุที่สังคมได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ผู้คนในสังคมมีความเป็นอยู่ในลักษณะครอบครัวเดี่ยวกันมากขึ้น ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ก็ล้วนต้องพลัดพรากจากญาติของตนเหมือนๆกัน ฉนั้น ในสภาวะที่เป็นอยู่ปัจจุบัน จำเพาะความทุกข์ในข้อนี้ จึงดูเหมือนว่าจะมีอยู่อย่างเท่าเทียมกันทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โดยที่ฝ่ายหญิงไม่ต้องเสียเวลาไปเรียกร้องสิทธิอะไรอีก !!!!

2) ในข้อที่ พระพุทธองค์ ตรัสว่า การมีระดู การตั้งครรภ์ และการคลอดบุตร นี่เป็นความทุกข์โดยเฉพาะของสตรี ซึ่งได้รับต่างหากจากบุรุษ นั้นนับได้ว่า เป็นความจริงแท้ที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลย โดยไม่ว่าโลกนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หรือว่าสังคมนี้จะพัฒนาไปมากแค่ไหน แต่ความทุกข์ของสตรีอันเนื่องมาจาก การมีระดู การตั้งครรภ์ และการคลอดบุตร นั้นย่อมไม่มีทางเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นได้เลย เพราะว่ามันได้ถูกกำหนดเอาใว้ด้วยกฏเกณท์ทางธรรมชาติ พระพุทธองค์ยังได้ตรัสถึงเรื่องการตั้งครรภ์และคลอดบุตรของสตรี เอาใว้อีกว่า

“มารดาย่อมรักษาทารกนั้นด้วยท้องเก้าเดือนบ้าง สิบเดือนบ้าง เมื่อล่วงไปเก้าเดือน หรือสิบเดือนมารดาก็คลอดทารกผู้เป็นภาระหนักนั้น ด้วยความเสี่ยงชีวิตมาก และเลี้ยงทารกผู้เป็นภาระหนักนั้นซึ่งเกิดแล้ว ด้วยโลหิตของตนด้วยความเสี่ยงชีวิตมาก” (อ้างจาก พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์)
หมายความว่า ความทุกข์ของสตรีอันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรนั้น เป็นความทุกข์ที่ต้องเอาชีวิตเข้าเสี่ยงกันเลยทีเดียว ดังนั้น จึงขอให้ระลึกเอาใว้เสมอว่า มนุษย์ทุกผู้ทุกนามในโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็ดี ล้วนแล้วแต่เคยสร้างความทุกข์ยากลำบากต่อสตรีผ่านการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร มาแล้วด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ไม่อาจจะเถียงได้เช่นกัน จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ชาย ในฐานะที่ไม่เคยได้รับความทุกข์ยากอันนี้เลยจนชั่วชีวิต เมื่อได้รับทราบข้อเท็จจริงดังนี้แล้ว ก็คงจะได้เกิดสติรู้สำนึกในบุญคุณแห่งมารดาของตน จนอาจเผื่อแผ่ความกตัญญูกตเวทิตานั้น ด้วยการระงับพฤติกรรมชั่วหยาบต่างๆในอันที่จะมีต่อสตรีอื่นในภายภาคหน้าต่อไป

3) ข้อสุดท้ายที่พระพุทธองค์ ตรัสถึงว่า เป็นความทุกข์โดยเฉพาะของสตรี ซึ่งได้รับต่างหากจากบุรุษ นั้นก็คือ “สตรีย่อม(ต้อง)ทำหน้าที่บำเรอบุรุษ” ขอให้สังเกตเอาใว้ด้วยว่า ในข้อก่อนหน้านี้ ซึ่งเกี่ยวกับการมีระดู การตั้งครรภ์ และการคลอดบุตร นั้นแม้จะเป็นความทุกข์ แต่นั่นก็ยังถือได้ว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติอันเกี่ยวข้องกับการดำรงเผ่าพันธุ์มนุษย์ แต่ในข้อที่ว่า หญิงนั้นได้รับความทุกข์ด้วยเหตุที่ต้องทำหน้าที่บำเรอบุรุษนั้น ย่อมมิได้เกิดจากข้อจำกัดของธรรมเนียมประเพณีทางสังคมซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา และย่อมมิได้เกิดจากสาเหตุทางธรรมชาติที่ไม่มีใครสามารถบังคับควบคุมได้ แต่มันเป็นผลอันเกิดจากการกระทำของ “ผู้ชาย” ล้วนๆ นั่นจึงหมายความว่า ความทุกข์ของสตรีในข้อนี้ จะมากหรือน้อยก็ตาม ล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับความคิดและการกระทำของ “ผู้ชาย” ที่จะมีต่อผู้หญิงนั่นเอง แต่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในสังคมปัจจุบันนี้ กลับกลายเป็นว่า ผู้ชายมักจะมีความพยายามเป็นอย่างยิ่งในอันที่จะเพิ่มความทุกข์ให้แก่สตรี ด้วยการสนองกิเลสตัณหาของตนอย่างไม่มีขีดจำกัด เห็นผู้หญิงเป็นเพียงแค่อุปกรณ์บำบัดความใคร่ของตนเองเท่านั้น โดยผู้ชายเหล่านี้ได้อาศัยความได้เปรียบทางเศรษฐกิจสังคมและตำแหน่งหน้าที่การงาน พยายามเอารัดเอาเปรียบล่วงละเมิดสตรีที่ด้อยโอกาสกว่าตนทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งการกระทำต่างๆเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นการเพิ่มพูนความทุกข์ให้แก่สตรีทั้งสิ้น ซึ่งปัญหาในประเด็นนี้ ไม่มีทางที่จะแก้ไขเยียวยาได้ด้วยข้อกฏหมาย แต่จะต้องแก้ไขกันในระดับจิตวิญญาณเลยทีเดียว เพราะถ้าตราบใดที่ผู้ชายในสังคมยังมีทัศนคติที่เลวร้าย ขาดมโนธรรมสำนึก ขาดหิริโอตัปปะ และขาดความเมตตากรุณาต่อผู้อื่นแล้วไซร้ เราก็จะไม่มีทางแก้ปัญหาเหล่านี้ได้เลย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้หญิงเองก็ควรที่จะตระหนักเอาใว้ด้วยว่า แท้ที่จริงแล้ว “ผู้ชายที่ดี” ในโลกนี้จะสามารถเกิดมีขึ้นมาได้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับตัวของผู้หญิงเองด้วยเช่นกัน เพราะใช่ว่าผู้หญิงจะมีหน้าที่เพียงแค่ตั้งครรภ์และคลอดบุตรออกมาเท่านั้น แต่ก็เป็นผู้หญิงนั่นเอง ที่เป็นผู้ให้การอบรมเลี้ยงดูจนเด็กนั้นเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ ฉนั้น สังคมจะได้มีผู้ใหญ่ที่ดีหรือเลว นั่นก็ย่อมขึ้นอยู่กับ “หญิง” ซึ่งเป็นผู้ให้การอบรมสั่งสอนเลี้ยงดู ซึ่งถ้าหญิงนั้น เป็นผู้ที่มีความมั่นคงทางคุณธรรมจริยธรรมสูง เธอก็ย่อมที่จะสามารถสร้าง “ผู้ชายที่ดี” ขึ้นมาบนโลกใบนี้ได้ แต่ในทางกลับกัน ถ้าหญิงนั้นเป็นผู้ที่มีความอ่อนแอในคุณธรรมจริยธรรม เธอก็จะสร้าง “ผู้ชายที่เลว” ขึ้นมาอีกคนหนึ่ง ซึ่ง“ผู้ชายที่เลว” เพียงคนเดียวนี้ ย่อมที่จะสามารถสร้างความทุกข์ให้กับผู้หญิงในโลกใบนี้ได้เป็นร้อยเป็นพันเลยทีเดียว
นั่นจึงหมายความว่า แท้ที่จริงแล้ว ผู้ที่จะสามารถบรรเทาทุกข์ให้แก่สตรีได้นั้น ก็คือสตรีด้วยกันนั่นเอง เพราะว่า โดยข้อเท็จจริงแล้ว คนทุกผู้ทุกนามในโลกใบนี้ จะดีหรือเลว ก็ขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดูของสตรีด้วยกันทั้งสิ้น ฉนั้น การแก้ปัญหาสังคมที่แท้จริงและยั่งยืน จึงไม่ใช่การเรียกร้องสิทธิสตรี และย่อมไม่ไช่การพยายามแก้ไขข้อกฏหมายต่างๆ แต่เป็นการร่วมมือร่วมใจกันของสตรีในทุกๆภาคส่วนในอันที่จะอบรมเลี้ยงดู บุตรหญิงชายของตน ด้วยความเข้มแข็งทางคุณธรรมจริยธรรม เพื่อที่จะให้เด็กเหล่านั้นเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคมในอนาคต ซึ่งนั่นก็จะเท่ากับเป็นการแก้ไขปัญหาให้กับสังคมไปโดยปริยาย .....

(อย่า)สับสนทางพระ !!!!

ในสภาวการณ์ที่สังคมโลกมีการรับรองสิทธิและเสรีภาพของมนุษย์อย่างกว้างขวาง ซึ่งหมายรวมถึง มีการยอมรับใน “อัตลักษณ์” หรือ ลักษณะเฉพาะของปัจเจกบุคคลมากขึ้น โดยเมื่อมองในภาพรวมแล้ว ก็ย่อมนับได้ว่า นี่คือนิมิตหมายอันดี ในอันที่จะสร้างสรรโลกแห่งความเสมอภาคเท่าเทียมกันบนความแตกต่างอันเป็นลักษณะเฉพาะของปัจเจกบุคคล แต่กระนั้น ก็ขอตั้งข้อสังเกตเอาใว้ด้วยว่า ในขณะที่กลุ่มบุคคลที่ประกาศตนเองว่าเป็นพวก “รักร่วมเพศ” กำลังเพียรพยายามที่จะเรียกร้องให้สังคมยอมรับในสิทธิความเท่าเทียมกันระหว่างพวกเขาและเพศชายหญิงนั้น แต่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ส่วนที่2 ว่าด้วยความเสมอภาค มาตรา30 จะกล่าวเอาใว้อย่างชัดเจนว่า .....

(1)บุคคลย่อมเสมอกันในกฏหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฏหมายเท่าเทียมกัน
(2)ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน
(3)การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกาย หรือ สุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือ ความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้ฯ

หมายความว่า บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ รับรอง ความเท่าเทียมกันจำเพาะก็แต่ในเพศชายและเพศหญิง การห้ามมิให้เลือกปฏิบัติ ด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศ ก็ย่อมหมายถึงเพศชายและหญิงเท่านั้น มิได้มีส่วนใดเลยที่กล่าวรับรอง “อัตลักษณ์” ของพวกรักร่วมเพศ ดังนั้นจึงน่าแปลกใจเป็นอย่างมาก ที่กลุ่มคนเหล่านี้มีความพยายามที่จะเรียกร้องทวงถามถึงความเสมอภาคเท่าเทียมกันต่อสังคมในประเด็นต่างๆที่หลากหลายจนนับไม่ถ้วน เช่น เรียกร้อง ส้วมตุ๊ด , หอ(พัก)ตุ๊ด ฯลฯ สิ่งที่น่ากังขาก็คือ เพศกระเทย หรือเพศตุ๊ด นั้นมิได้มีการรับรองเอาใว้ในรัฐธรรมนูญ แล้วจะมา(แอบ)อ้างสิทธิความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่เป็นกระเทย ได้อย่างไร ?

แต่ถ้าจะยอมรับตามความจริงว่า พวกเขากำลังเรียกร้องสิทธิความเสมอภาค ในฐานะเพศชายและหญิง ซึ่งมีความผิดปกติคือมีความเบี่ยงเบนทางเพศ อย่างนี้ก็ไม่อาจว่ากันได้อยู่แล้ว เพราะบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ ก็ระบุเอาใว้อย่างชัดเจนว่า การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่อง “เพศ” และ “สุขภาพ” เป็นสิ่งที่กระทำมิได้ ในกรณีอย่างนี้ ก็เชิญเรียกร้องเอาตามสะดวก

แต่มีอยู่กรณีหนึ่ง ที่พวกรักร่วมเพศ ไม่อาจที่จะเรียกร้องใดๆได้เลยก็คือ กรณีพระตุ๊ดเณรแต๋ว เพราะเรื่องนี้ เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพระศาสนา ซึ่งมีพระวินัยบังคับใช้อยู่เป็นการเฉพาะ และไม่อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิกขาบทเหล่านั้นได้ ในฐานะที่บ้านเมืองของเรายอมรับนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ซึ่งยึดถือเอามติของพระอรหันตเถระผู้สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรก ที่ไม่ยอมให้มีการแก้ไขพระธรรมวินัยอันเป็นพุทธพจน์ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของพระพุทธศาสนาเอาใว้นั่นเอง

เกี่ยวกับกรณีพระตุ๊ดเณรแต๋วนั้น พระวินัยปิฎกเล่ม4 มหาวรรค ภาค1มีพุทธพจน์ปรากฏอยู่อย่างชัดเจนว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบัน คือ บัณเฑาะก์ ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย” แปลไทยเป็นไทยอีกทีได้ความว่า ห้ามพระภิกษุ บวชให้กับพวกกระเทย แต่ถ้าบวชไปแล้ว ก็ให้จับสึกออกไปเสีย ดังนั้น การที่กระเทยบางคน ได้กล่าวว่า “ในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ควรดำเนินตามกรอบที่พระวินัยบัญญัติไว้กับผู้ที่กระทำความผิด ไม่ควรเหมารวมทั้งหมด และควรฝึกอบรมให้กับพระ สามเณรเกย์ กะเทย ที่มีพฤติกรรมอยู่ในข่ายที่พอจะอบรมสั่งสอนได้ เพื่อให้มีพฤติกรรมเป็นกุลเกย์ มีความสำรวมเหมาะสมตามหลักพระวินัย” จึงเป็นคำพูดที่เหลวไหลเลอะเทอะโดยสิ้นเชิง !!!!

ถ้าอ้างว่าควรแก้ปัญหาเรื่องนี้ตามกรอบของพระธรรมวินัย ก็หมายความว่า มีทางออกเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น สำหรับกรณี “พระตุ๊ด” นั่นก็คือ จับสึก ตรงนี้พระวินัยระบุเอาใว้อย่างชัดเจนเป็นอย่างมากว่า เมื่อเจอพระตุ๊ด ก็ให้จับสึกไปได้ทันที ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นคนนิสัยดีหรือเลวก็ตาม(เพราะนั่นไม่ใช่ประเด็น) แต่ประเด็นที่สำคัญก็คือ ถ้าเป็นกระเทยแล้วเข้ามาบวช ถือว่าเป็นความผิดแล้ว และต้องจับสึกออกไปเท่านั้น ไม่มีบทลงโทษเป็นอย่างอื่น โดยคำว่า “บัณเฑาะก์” หรือ “กระเทย” นั้นแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้คือ

1) อาสิตตบัณเฑาะก์ ได้แก่ พวกกระเทย ที่เมื่อเอาปากอมองคชาต(อวัยวะเพศ)ของชายเหล่าอื่น เมื่อถูกน้ำอสุจิรดเอาแล้ว ความเร่าร้อนจึงสงบไป
2) อุสุยยบัณเฑาะก์ ได้แก่ พวกกระเทย ที่เมื่อเห็นอัชฌาจารของชนเหล่าอื่น เมื่อความริษยาเกิดขึ้นแล้ว ความเร่าร้อนจึงสงบไป
3) โอปักกมิยบัณเฑาะก์ ได้แก่ พวกกระเทย ที่ถูกเขาตอนเสียแล้ว(หมายถึง ขันที)
4) ปักขบัณเฑาะก์ ได้แก่ พวกกระเทย ที่เป็นกระเทยเฉพาะในวันข้างแรม แต่ในวันข้างขึ้น ความเร่าร้อนของเขาย่อมสงบไป
5) นปุงสกบัณเฑาะก์ ได้แก่ พวกกระเทย ที่เกิดมาแล้วไม่ปรากฏว่าเป็นชายหรือหญิงมาแต่กำเนิด

โดยที่ อาสิตตบัณเฑาะก์(1) และ อุสุยยบัณเฑาะก์(2) สามารถให้บวชเณรได้(บรรพชา) แต่ก็บวชพระ(อุปสมบท)ไม่ได้อยู่ดี ถ้าทราบ หรือพบเห็น ก็สามารถจับสึกออกไปได้ทันที ส่วนกระเทยในอีกสามพวกที่เหลือนั้น ห้ามทั้งบวชพระ(อุปสมบท)และบวชเณร(บรรพชา) นอกจากนี้ยังมีกระเทยอีกพวกหนึ่ง เรียกว่า “อุภโตพยัญชนก” หมายถึง “กระเทยแท้” คือมีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิงปรากฏอยู่ด้วยกันทั้งสองเพศ ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงห้ามมิให้บวช(พระ)เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ขอให้สังเกตด้วยว่า แม้สังคมอินเดียในสมัยพุทธกาลจะยังไม่ให้สิทธิความเสมอภาคแก่สตรีมากนัก แต่พระพุทธศาสนา ก็ยังยินยอมให้สิทธิกับสตรี สามารถเข้ามาบวชได้อย่างเท่าเทียมกับบุรุษ แม้ว่าสตรีเหล่านั้นจะต้องพบกับกฏระเบียบอันเข้มงวดมากกว่าก็ตาม ในทางกลับกันพระพุทธศาสนากลับห้ามเด็ดขาดที่จะให้พวกกระเทยออกบวช ดังนั้น ถ้าการที่คณะสงฆ์ไทยยืนยันที่จะไม่บวชภิกษุณี โดยอ้างความเข้มงวดของพระธรรมวินัยแห่งพุทธศาสนานิกายเถรวาทแล้วไซร้ ก็ขอให้คณะสงฆ์ไทย รักษาความบริสุทธิ์ของพระธรรมวินัย ด้วยการจับ พระตุ๊ด สึกออกไปให้หมด ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นพระสังฆาธิการในระดับใดก็ตาม อย่าได้ทำให้พุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปเกิดความคลางแคลงใจว่า คณะสงฆ์ไทย มีอคติทางเพศในเรื่องที่เกี่ยวกับการบวชภิกษุณี แต่กลับมีพฤติกรรม “ลูบหน้าปะจมูก” ในกรณีของ “พระตุ๊ดเณรแต๋ว” อันอาจจะก่อให้เกิด “ความสับสน” ทางหลักการ ในหมู่พุทธศาสนิกชน ซึ่งอาจบานปลาย จนกลายเป็นวิกฤติศรัทธาไปในท้ายที่สุดก็ได้ เท่าที่มีพวก “สับสนทางเพศ” ออกเพ่นพ่านอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง เรียกร้องจะเอาโน่นเอานี่ไม่รู้จักหยุดหย่อน ก็เป็นภาระต่อสังคมมากพออยู่แล้ว ฉนั้นจึงขอว่าอย่าให้เกิดอาการ “สับสนทางพระ” ขึ้นมาในสังคมอีกเลยนะครับ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นจริง เกรงว่าสังคมบ้านเมืองของเรา คงจะ “อาพาธหนัก” จนเกินกว่าที่จะเยียวยารักษาได้เสียแล้ว .....

บทกวี(ข้อมูล)

ความทุกข์โดยเฉพาะของสตรี
(1) พลัดพรากจากญาติเว้น วงศ์วานทนทุกข์ทรมาน ค่ำเช้าราตรีทิวานาน เนาว์เนื่อง แผนกหนึ่งน้องโศกเศร้า หลั่งล้นชลนา
(2) วารเวียนผันเปลี่ยนเข้า เต็มเดือนโลหิตติดตามเตือน ห่อนเว้นเสียดจุกทุกข์เสมือน เสพย์สนิทบีบกดมดลูกเค้น รุกเร้ารอบเดือน
(3) พยาธิสภาพนั้น กำหนดสวาทเสพย์เมถุนกฏ กลัดกลุ้มภิรมย์ร่วมเพศรส เป็นเหตุปฏิสนธิอุ้ม โอบใว้ในครรภ์
(4) กำหนดทศมาสถ้วน ทรงครรภ์กำเนิดภาระอัน หนักแท้กำแสงกำสรวลศัลย์ เจ็บปวดกำบิดกรีดกายแม้ มากพ้นทนเอา
(กำบิด = มีด)
(5) บำเรอบุรุษเคล้า โลกีย์ รอนสิทธิ์อิสตรี บีบคั้นกิเลส-เลส-บัดสี วิปริตขืนคุกคามกีดกั้น คับแค้นแน่นใจ
(6) ความทุกข์ห้าอย่างนี้ ดำรัสจำเพาะสตรีชัด บ่งใว้อาเวณิกสูตรตรัส พุทธพจน์เตือนสติบุรุษไซร้ ชั่วช้า อย่าทำ !!!! By …… Ritti Janson
***************************************
เหนื่อย ......
(-) รู้สึกเหน็ดเหนื่อยแล้ว อย่างไร (?)ความคิดฟุ้งซ่านไป หยุดบ้าง เพียงพักผ่อนกายใจ สักหน่อย ตั้งสติเข่าคู้อ้าง ออกเข้าลมปราณ ฯ
By …… Ritti Janson
***********************************
***** ดูจิต ***** (1) ดูจิต ติดตาม ความว่าง ปล่อยวาง ตัวตน เราเขาไม่ยึด ไม่ติด ไม่เอา สิ่งเร้า รึงรัด ขจัดไป
(2) ดูจิต คิดตาม ถามเหตุ อาเพศ หลงผิด คิดไฉน ?หยุดคิด หยุดจิต หยุดใจ หยุดได้ จึงหลุด สุดทาง
(3) ดูจิต ดูเบา เมาหมก จิตรก รุงรัง ถากถางจิตโง่ หลงทิศ หลงทาง ถูกบ้าง ผิดบ้าง ต่างไป …..
(4) ดูจิต คือสติ ตามติด ตัวคิด ตัวรู้ อยู่ไหน ?เกิดแล้ว ดับแล้ว อย่างไร ? ปัจจัย เกิดดับ ลับตา
(5) ดูจิต กิจแท้ แก้ทุกข์ ปลอบปลุก รุกทัน ตัณหาสติ เท่าทัน ปัญญา รู้ท่า รู้แก่น รู้แกน
(6) ดูจิต ดูอิ- ริยาบท ยืดหด เหยียดถ่าง กางแขนเฝ้าดู รู้ภพ จบแดน อกแอ่น ปากอ้า ขาเดิน (7) ดูจิต ดูหลับ ดูตื่น ดูตื้น ดูลึก ดูเขิน ดูขบ ดูขาด ดูเกิน ประเมิน สติ ปัญญา
(8) ดูจิต อย่าโหม อย่าหัก รู้จัก แก้ไข คลายบ้าอย่ายึด โลกนี้ (ว่า)อัตตา ปัญญา สติ เท่าทัน (9) ดูจิต แม้ศูนย์ กลางกาย ดีร้าย อยู่ที่ สตินั่นต้องรู้ จริงเท็จ เท่าทัน เมื่อนั้น ย่อมเห็น เป็นจริง
(10) ดูจิต กิเลส กำจัด สลัด นิวรณ์ ถอนทิ้งจึงรู้ เห็นตาม ความจริง สรรพสิ่ง รู้ได้ ในตน
(11) ดูจิต ได้เห็น เพียงเห็น อย่าเป็น อย่าจับ สับสนอย่ายึด ถือมั่น ตัวตน จึงพ้น รอดหลุด(มุตติ) สุดทาง ฯลฯ
By …… Ritti Janson
*******************************
“หนึ่งเดียว”
(1) ประจักษ์แรกชัดแจ้ง แก่ใจบุญบาปมิอยู่ใน นอกนั้นมิพบท่ามกลางใด ไหนอื่นจิตหนึ่งมิอาจกั้น นอกแม้กลางใน (2) ประจักษ์จิตหนึ่งนั้น อย่างไร (?)พุทธะย่อมเป็นไป อย่างนั้นธรรมะหนึ่งเดียวไม่ อาจแบ่งสรรพสิ่งหลายหลากชั้น ที่แท้หนึ่งเดียว ฯ
By ….… Ritti Janson
****************************************
******* อย่าคิดหยุด ******
(1) มิควรเศร้า โศกาลัย ในสิ่งอื่นมิควรขืน สิ่งที่พ้น ในหนหลังมิควรยึด ถือมั่น กันจริงจังมิควรหลั่ง น้ำตาริน เหมือนสิ้นใจ
(2) สิ่งที่ผ่าน พ้นแล้ว ให้แล้วเถิดอย่าให้เกิด ทุกขา น้ำตาไหลแม้นเขาเหน็บ เจ็บแปลบ จนแสบใจก็อย่าได้ ถือสา หาคดี
(3) อภัยทาน ผ่านพ้น กุศลจิตอย่าได้คิด ผูกเวร ไปเช่นนี้วิบากเกิด ผลกรรม ซ้ำทวี มิอาจหนี หนี้ล้วน ควรแก่ธรรม
(4) สิ่งใดเกิด ล้วนเกิด เพราะมันเกิดอย่าได้เชิด ชูจิต คิดถลำสิ่งใดดับ ล้วนดับ สรรพกรรมอย่าล่วงล้ำ ตามฟุ้ง ปรุงแต่งไป
(5) ที่ควรหยุด ต้องหยุด อย่าคิดหยุด !!!มิอาจหลุด หยุดลง ด้วยสงสัย (?)เพราะคิดหยุด ยุดสบัด เหตุปัจจัยหยุดมิได้ เพราะคิดหยุด สุดกำลัง
(6) ไม่คิดหยุด จึงเสร็จ สำเร็จกิจเพราะหยุดคิด จึงหยุดได้ ดังใจหวังไม่คิดฟุ้ง ปรุงสังขาร ดันทุรัง จึงถึงฝั่ง สุดภพ จบกิจพลัน ฯ
คำอธิบาย
หลวงปู่ดุลย์ อตุโล ได้เคยอธิบายเอาใว้ว่า ……..
การหยุดที่ถูกต้องนั้น ย่อมหมายถึงการดับที่เหตุปัจจัย(ของสิ่งนั้นๆ) การหยุดคิด(ในวิปัสสนา) ก็จะต้องดับเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งให้เกิดการคิด(ฟุ้งซ่าน)เหล่านั้นแต่ก็มิได้หมายความว่า ให้ไปมัวคิดหาวิธีที่จะหยุดคิด เพราะการกระทำอย่างนั้น ก็ย่อมแสดงถึงความผิดพลาดด้วยเหตุที่ โดยหลักการที่ถูกต้องนั้นคือ ให้หยุดคิดหยุดนึก ก็ในเมื่อกลับไปคิดที่จะหยุดคิดเสียอีก แล้วอาการหยุดคิด จะอุบัติขึ้นได้อย่างไร ? หลวงปู่ได้กล่าวสรุปเอาใว้ดังนี้ว่า
“จงกำจัดอวิชชาแห่งการหยุดคิดหยุดนึกเสียให้สิ้น เลิกล้มความคิดที่จะหยุดคิด เสียก็สิ้นเรื่อง”
By …… Ritti Janson
****************************************
เหยื่อโลก …..
(1) ชีวิตถูกคร่าแล้ว ของน้อย มิอาจต้านชราคอย ห่อนเว้น เห็นภัยทุกข์ชะรอย รับทราบ ละเหยื่อโลกหลีกเร้น เพ่งรู้นิพพาน ฯ
(2) อายุ ... เป็นของน้อย ชราคอย ... คร่าประหาร ทุกข์ท้น ... ชนมานย์ วัฏสงสาร ... ผลาญชีวิน
(3) ใดใด ... มิอาจต้าน ทรมาน ... มิรู้สิ้น ท่วมทบ ... ธรณินท์ มิอาจผิน ... พ้นชรา
(4) เห็นภัย ... ในโลกแล้ว ขอเพื่อนแก้ว ... อย่ากังขา รู้ทุกข์ ... ในชรา กนิษฐา ... จงป้องกัน
(5) เหยื่อโลก ... ละได้แล้ว ใจผ่องแผ้ว ... แคล้วโศกศัลย์ พ้นทุกข์ ... ชราพลัน มุ่งไกวัลย์ ... นิรพาน
(6) พุทธพจน์ ... กำหนดชัด ปริวรรต ... อักษรสาส์น เป็นธรรม ... บรรณาการ มิตรประมาณ ... ถึงเพื่อนยา ฯ
"ชีวิตคืออายุมีประมาณน้อย ถูกต้อนเข้าไปเรื่อย เมื่อบุคคล ถูกชราต้อนเข้าไปแล้ว ย่อมไม่มีผู้ป้องกัน บุคคลเมื่อเห็นภัยนี้ในมรณะ พึงละอามิสในโลกเสีย มุ่งสันติเถิด ฯ"
อ้างจาก อุปเนยยสูตร (หมายเหตุ1 ; อามิส = เหยื่อโลก = บุญ)(หมายเหตุ2 ; สันติ = นิพพาน)
By …… Ritti Janson
ผมไม่แน่ใจว่า เพื่อนๆจะชอบ บทกวีชิ้นนี้หรือไม่นะครับ ซึ่งอันที่จริงแล้ว นี่เป็นบทกวีเก่า ที่ผมแต่งให้เพื่อนคนหนึ่งเพื่อเป็นธรรมบรรณาการนะครับ แต่สิ่งที่ผมฉุกคิดขึ้นมาได้ในขณะนี้ก็คือ การนำพุทธพจน์มา “ปริวรรต” เป็นบทกวี นั้นจะเป็นการกระทำที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ และในฐานะที่เป็นผู้อ่าน เพื่อนๆทั้งหลายควรจะมีท่าทีต่อ บทกวี เหล่านี้อย่างไร ?
ได้ปรากฏหลักฐานในพระวินัยปิฎกถึงกรณีที่มีภิกษุสองพี่น้องมาทูลขอพระพุทธองค์ เพื่อที่จะขอยกพุทธพจน์ขึ้นโดยฉันท์ตามแบบอย่างในภาษาสันสกฤต ซึ่งพระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาติ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ........
อรรถกถาจารย์ ได้ให้คำอธิบายเอาใว้ดังนี้ว่า .....
บทว่า ฉนฺทโส อาโรเปม มีความว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะยก พระพุทธวจนะขึ้นสู่ทางแห่งการกล่าวด้วยภาษาสังสกฤตเหมือนเวท คือแต่งเป็นกาพย์กลอนเป็นโศลกเหมือนคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์.
โดย คุณ สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้อธิบายเกี่ยวกับประเด็นนี้เอาใว้ว่า ......
“ มีทางสันนิษฐานว่า ห้ามแต่งถ้อยคำของพระพุทธเจ้าเป็นคำฉันท์ เพราะอาจทำให้ความหมายเดิมผิดเพี้ยน หรือบิดผันไปตามบังคับหนักเบา ของคำฉันท์ ยิ่งถ้าผู้แต่งไม่แตกฉานในภาษาเพียงพอ ก็จะเป็นการทำร้ายพุทธวจนะ ทำให้เนื้อความแปรปรวนไป แต่การห้ามครั้งนี้น่าจะหมายความว่า การแต่งเพื่อใช้เป็นตำรา ซึ่งจะต้องท่องจำเล่าเรียนศึกษา ส่วนการแต่งสดุดีตามปกติอันเป็นของส่วนบุคคลไม่อยู่ในข้อนี้ ...ฯ” (อ้างจาก พระไตรปิฎกฉบับประชาชน)
ที่จริงแล้ว ท่านพุทธทาส ก็เคยได้กล่าวเตือนเอาใว้แล้วว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับ “กวีธรรม” นั้น อย่าได้ไปใส่ใจกับความไพเราะของมันมากนัก อย่างน้อยก็ไม่ควรจะมากไปกว่า “อรรถ” คือสาระประโยชน์ที่แท้จริง ซึ่งเป็นแก่นของพระธรรมคำสอน ซึ่งก็นับได้ว่า สิ่งที่ท่านกล่าวมานั้น สอดคล้องต้องกัน กับพระธรรมวินัยเป็นอย่างดี นะครับ
เพื่อนๆ ลองอ่านบทกวีของท่านพุทธทาสดูนะครับ .........
เมื่อเทียบกับ “พุทธพจน์” จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า บทกวีของท่านพุทธทาส สามารถเก็บ “อรรถ” และ “พยัญชนะ” อันเป็นแก่นสารของพระธรรมคำสอนเอาใว้ได้อย่างครบถ้วน โดยที่ท่านมิได้เอาใจใส่กับ “ฉันทลักษณ์” และความไพเราะสละสลวยตามแบบอย่างของบทกวีมากนัก
ซึ่งเมื่อเทียบกับบทกวีของผมแล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า แม้บทกวีของผม จะใช้ถ้อยคำฟุ่มเฟือย มากกว่าท่านพุทธทาส ถึงสามเท่าตัว แต่กลับเก็บใจความของพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ได้แค่เพียงครึ่งเดียว แต่ที่น่าเกลียดไปกว่านั้นก็คือ ผมไม่ได้มีเจตนาที่จะเก็บใจความทั้งหมดให้ครบถ้วนเสียด้วยซ้ำ …..
นั่นจึงหมายความว่า หากท่านผู้อ่าน ไม่ขวนขวาย ไปค้นคว้าศึกษาพุทธพจน์ ตามที่ผมทำเชิงอรรถเอาใว้ให้ ท่านผู้อ่านก็จะได้แต่เพียงรสกวีห่วยๆของผม แต่อาจพลาดแก่นธรรมบางประการที่สำคัญไปอย่างน่าเสียดาย และนี่ก็คือความแตกต่าง ในแง่มุมของความรับผิดชอบต่อการเผยแผ่พระธรรมคำสอน ระหว่าง ภิกษุผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ กับ คนไม่เอาไหนอย่างผม !!!!!!
สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อถึงท่านทั้งหลายก็คือ เมื่อได้อ่าน “บทกวี” ของผมแล้ว ถ้าหากท่านไม่ต้องการที่จะเสียประโยชน์ล่ะก็ …..กรุณาตรวจสอบที่มาที่ไปและความถูกต้องด้วยนะครับ เพราะธรรมชาติของบทกวีที่มี “ฉันทลักษณ์” คอยบังคับอยู่นั้น อาจจะเป็นเหตุที่ทำให้พุทธพจน์ มีเนื้อความแปรปรวนไปได้ ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม อย่ามัวแต่ไปเพลิดเพลินกับความไพเราะตามรูปแบบของฉันทลักษณ์นะครับ
ใน อนาคตสูตร พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาใว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย จะไม่ใส่ใจในพระสูตรต่างๆที่พระองค์ได้ภาษิตใว้ แต่กลับไปเอาใจใส่กับ สูตรต่างๆ ที่นักกวีแต่งไว้ประพันธ์เป็นบทกวี มีอักษรสละสลวยซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการลบล้างพระธรรมวินัยในกาลต่อไป
ดังที่เราจะสามารถสังเกตเห็นได้ในปัจจุบันนี้ว่า พุทธศาสนิกชน มักเอาใจใส่กับ คำสอนของครูบาอาจารย์ของตน มากกว่าที่จะเอาใจใส่กับ พุทธพจน์ จนเมื่อถึงที่สุดแล้ว ถ้าหากคำสอนนั้นๆ เกิดการขัดกันขึ้นมา พวกเขาเหล่านั้นกลับยืนยันว่าคำสอนของครูอาจารย์ของตน มีความถูกต้องมากกว่าคำสอนของพระพุทธองค์เสียอีก ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ พระพุทธองค์ได้ตรัสบอกเอาใว้ล่วงหน้าแล้วทั้งสิ้น นะครับ .......
อีกประการหนึ่ง ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีลไม่อบรมจิตไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา พระสูตรต่างๆที่ตถาคตได้ภาษิตไว้ เป็นสูตรลึกซึ้ง มีอรรถลึกซึ้งเป็นโลกุตระ ประกอบด้วยสุญญตาธรรมเมื่อพระสูตรเหล่านั้นอันบุคคลแสดงอยู่ก็จักไม่ฟังด้วยดี จักไม่เงี่ยโสตลงสดับ จักไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ จักไม่ใฝ่ใจในธรรมเหล่านั้นว่าควรศึกษาเล่าเรียน แต่ว่าสูตรต่างๆ ที่นักกวีแต่งไว้ประพันธ์เป็นบทกวี มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะสละสลวย เป็นพาหิรกถา เป็นสาวกภาษิตเมื่อพระสูตรเหล่านั้น อันบุคคลแสดงอยู่ ก็จักฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับจักตั้งจิตเพื่อรู้จักฝักใฝ่ใจในธรรมเหล่านั้นว่าควรศึกษาเล่าเรียน เพราะเหตุดังนี้แล การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคตข้อที่ ๔ นี้ ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภัยข้อนี้อันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้ว พึงพยายามเพื่อละภัยนั้น ฯ
*******************************************************
ปล่อย ..........
(1) ปล่อยปลาปล่อยเต่าแล้ว ได้บุญ แอบปล่อยหมาแมววุ่น พระเจ้า กายใจปล่อยชุลมุน เสียเปรียบ ปล่อยไก่ใครยั่วเย้า เพื่อนล้อได้อาย
(2) ปล่อยวางยึดติดแล้ว เบาสบาย เพลิงใส่ไฟสุมกาย ไม่ร้อน ใครส่อเสียดเสียหาย คลายโกรธ ตั้งสติมิยอกย้อน มั่นใว้ใจตน ฯ
By …… Ritti Janson
******************************************
ศีล-สมาธิ-ปัญญา
(1) ปฐพีผืนแผ่นเพี้ยง พสุธา ยืนหยัดกิริยา มั่นใว้ เปรียบประดุจศีลา หมดจด พันลึกหากคนไร้ แผ่นพื้นยืนคง ฯ (2) ปฐพี พสุธา กิริยา ยืนหยัดใว้ศีลา หมดจดใน ดังแผ่นพื้น คนยืนคง
(3) พสุธายืนหยัดแล้ว มั่นคง ขาหยัดแขนยังทรง สั่งใด้ กระทำกิจบรรจง สำเร็จ สมาธิส่งเสริมให้ ยิ่งแล้วกำลัง ฯ (4) พสุธา ยืนมั่นคง แขนขาทรง คงสั่งใด้สมาธิ ส่งเสริมใจ สำเร็จกิจ จิตบรรจง
(5) ถางไพรเตรียมมีดพร้า ขวานตัด กำหนดรู้แจ้งชัด เพริศพริ้ง ปัญญาขณะสงัด สงบ คมตัดกิเลสทิ้ง ป่าไม้เป็นฟืน ฯ
(6) ถางไพร เตรียมมีดพร้า ดังปัญญา รู้แจ้งจริงคมตัด กิเลสทิ้ง ดังตัดไม้ ใด้เป็นฟืน
(7) นิทานซ่อนเลสนี้ คำคม กลกล่าวเป็นเหตุปม แต่งใว้ ทายถูกย่อมนิยม ว่าเก่ง ขบคิดตรึกตรองใด้ ย่อมรู้ความจริง ฯ
(8) นิทาน ซ่อนเลสนี้ กำหนดชี้ มีคำคมกลกล่าว เป็นเหตุปม นิยมนึก ตรึกตรองความ ...
By …… Ritti Janson
***************************************
ใจ .....
(1) ใจ-บุญหนุนส่งให้ สงบ ใจ-เมตตาจึงพบ สุขได้ ใจ-ว่างเปล่าสยบ ยึดติด ใจ-กุศลคนใกล้ รับแล้วผลบุญ ฯ
By …… Ritti Janson
************************************
ชั้นเชิงชาย ......
(1) เชิงชาย วิสัยแมว คงไม่แคล้ว ทับแล้วทิ้งยั่วหยอก กลับกลอกยิ่ง ดังแมวหวด ทำลวดลาย
(2) เชิงชาย วิสัยคน อย่าสับสน จงขวนขวายพุทธธรรม นำใจกาย รู้รับผิด คิดชอบธรรม
(3) จากหลับ กลับเป็นตื่น รู้คิดขืน ชั่วถลำกุศลจิต สนิทนำ อนุโมทนา สาธุชน
(4) ทุเรศ เพศวิฬาร์ อนาถา สัตว์หน้าขนติดสัด กำหนัดดล ธรรมชาติ เรี่ยราดไป
(5) เชิงชาย วิสัยเปรต อุบาทว์-เลส สังเวชไฉน ?เสื่อมสนิท จิตจัญไร น่าสมเพศ ทุเรศคน
(6) เสื่อมซ้ำ ถลำจิต สังคมผิด ผลิตผล กลอกกลับ สัปดน เศษมนุษย์ สุดระอา ฯ
By ……… Ritti Janson
********************************
หนึ่งเส้น ...... ปลายผม
(1) พุทธพจน์สัจจะแท้ บรมธรรมหลายหลากมากมายคำ ท่วมท้นทั้งหมดรากแหล่งกำ- เนิดหน่อสังเกตเห็นมิพ้น หนึ่งเส้นปลายผม
(2) ปรัชญาแม้ลึกซึ้ง เพียงใดดังหนึ่งเส้นผมใน แหล่งกว้างเจนจบภพเป็นไป เปรียบดั่งเหวลึกสลัดคว้าง หนึ่งน้ำหยดเดียว ฯ
By ……… Ritti Janson
*************************************
ดอกไม้ เบ่งบาน
(-) แสวงหาความหลุดพ้น ตัวกูเน่าเปื่อยบ่อยครั้งดู แมกไม้กิ่งก้านแตกหน่อชู ไหวช่อเพียงหนึ่งหนเดียวไซร้ ดอกไม้เบ่งบาน ฯ
By …… Ritti Janson
**********************************
วาง ……
(-) วางแม้ความว่างนั้น วางวางวางจิตความคิดพลาง ว่างเว้นวาง “โลกว่าง” ควรวาง วางว่างหากว่างกิเลสเร้น ดับแท้ฤๅมี
By …… Ritti Janson
******************************
อุปกิเลส
(1) ธรรมใดไหนเครื่องเศร้า หมองจิตสดับตรองสักนิด เถิดเจ้าอุปกิเลส-เลสสนิท โสฬสเมาหมกมืดมัวเคล้า ห่อนแก้ฤๅควร ฯ
(2) ธรรมใด ไหนเป็นเหตุ อุปกิเลส เครื่องเศร้าหมองฟังศัพท์ สดับตรอง พุทธพจน์ จำจดเอา
(3) ละโมบ โลภอนาถ พยาบาท มาดร้ายเขาโกธะ มิบรรเทา ผูกโกรธใว้ ในใจตน
(4) ลบหลู่ เพราะดูเบา ยกตนเท่า เทียบเปรียบผลริษยา ในกระมล ตระหนี่จัด มัจฉริยา
(5) มายา มารยายิ่ง โอ้อวดสิ่ง สังขยาแข่งดี สารัมภา หัวดื้อด้าน จะค้านเอา (6) มานะ ความถือตัว จิตสลัว ดูหมิ่นเขามทะ มืดมัวเมา มักเลินเล่อ ปมาทา ฯ
(7) กิเลส เลสสนิท อสรพิษ ปริศนาโสฬส บทจรมา เมาหมกแม้ แก้จึงควร ฯ
By ……. Ritti Janson
อุปกิเลส ๑๖
[๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมเหล่าไหน เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต [คือ]
1. อภิชฌาวิสมโลภะ [ละโมบไม่สม่ำเสมอ] 2. พยาบาท [ปองร้ายเขา] 3. โกธะ [โกรธ]4. อุปนาหะ [ผูกโกรธไว้] 5. มักขะ [ลบหลู่คุณท่าน] 6. ปลาสะ [ยกตนเทียบเท่า] 7. อิสสา [ริษยา]8. มัจฉริยะ [ตระหนี่] 9. มายา [มารยา] 10. สาเฐยยะ [โอ้อวด] 11. ถัมถะ [หัวดื้อ] 12. สารัมภะ [แข่งดี]13. มานะ [ถือตัว] 14. อติมานะ [ดูหมิ่นท่าน] 15. มทะ [มัวเมา] 16. ปมาทะ [เลินเล่อ]
เหล่านี้เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิต.
(อ้างจาก วัตถูปมสูตร)
***********************************
จิตประภัสสร
(1) เดิมจิตประภัสสร์นี้ ผุดผ่องมูลเหตุ*เลสเศร้าหมอง ห่อนแก้จรมาอุปกิเลสกอง เมาหมกปุถุชน-มิ-สดับแล้ หย่อนแล้วอบรม
(2) เดิมจิตประภัสสร์นี้ ผุดผ่องเห็นเหตุ*เลสเศร้าหมอง ผ่อนแก้ พ้นวิเศษกิเลสกอง ดับสนิทอริยสาวกแท้ ย่อมรู้ตามจริง ฯ
By …….. Ritti Janson
************************************
เต็กเก็ง
(-) เต็กเก็งเซ็งแซ่ซ้อง ปรัชญาสรรพสิ่งเคลื่อนไหวพา แต่งตั้งอนิจจตาทุกขตา เฉลยบอกเว้นแต่อนัตตตาพลั้ง ท่านรู้บ่ถึง ฯ
By …… Ritti Janson
*********************************
ตัดป่า .... อย่าตัดต้นไม้
(1) กิเลสดุจแมกไม้ ภัยมารกชัฏตัดตัณหา ป่าต้นกำบิดใช่คิดพร่า วนัปติ เพียรเพิกราคะพ้น ตัดห้วงสงสาร ฯ
(2) กิเลส ดุจแมกไม้ เหตุปัจจัย วนาสณฑ์ วนาลัย ในสกล ภัยก่อเกิด กำเนิดมา
(3) ป่าต้น กลกำจัด ดงรกชัฏ ตัดตัณหา ควรคิด พิจารณา ภาษาคน ภาษาธรรม
(4) กำบิด ใช่คิดพร่า กิริยา พาถลำ วนัปติ มิใช่คำ สติต้อง ตรองกมล
(5) ตัดห่วง ห้วงสงสาร ปัญญาญาณ สำเร็จผลเพียรเพิก ราคะพ้น ดับตัณหา อนาลัย ฯ
By …… Ritti Janson
****************************************
คืนก่อนจาก ……
(1) โลมไล้ ไหวเอน เย็นเยือก จูบเปลือก ตากลม ลมหนาวสัมผัส ภูษา ดาดาว วามวาว พราวเด่น ดารา
(2) แขนสอด ออดอ้อน กรก่าย นวลกาย กลืนกลิ่น ถวิลหาซุกไซร้ ไฟสุม ปทุมมา มัสยา หลงเหยื่อ เจือใจ
(3) เนื้อแนบ เนื้อน้อง นอนนับ โจมจับ เอวองค์ หลงไหลน้องน้อย ลอยเลื่อน เคลื่อนไป ไหวไหว วาบวับ นับดาว
(4) เร่าเร่า สำเนียง เสียงน้อง เร่งร้อง สรรพางค์ กลางหาวหยาดหยด รดร่าง พร่างพราว เดือนดาว ราวยิบ พริบตา
(5) อิดเอื้อน เลือนลับ หลับซบ เกลื่อนกลบ หลบเล่ห์ สเน่หากระเส่าเสียง เอียงอาย ชายตา กนิษฐา แย้มยิ้ม พิมพ์ใจ
(6) โถมถา ขวาซ้าย กายสั่น กระสัน รัญจวน นวลใสลิ่วล้ำ น้ำเชี่ยว เกลียวไป รินไหล หลากหลั่ง ทั้งคืน
(7) ใจหาย ยามเช้า คราวจาก จำพราก จากนุช สุดฝืนจำใจ ไกลจาก นวลชื่น ยามคืน กลืนกลับ ลับตา ...... ฯ
By Ritti Janson ***********************************
งามแท้ เมื่อแลเห็น …..
(1) ยามเจ้ายิ้ม แย้มหัว ยั่วกระหยิ่ม พี่ก็ยิ้ม แย้มให้ ด้วยใจหวังยามชม้าย ชายสะทก ตกภวังค์ เหมือนยาสั่ง ศรรัก มาปักทรวง
(2) เส้นเกศา นวลฉวี สีสลับ เงาระยับ แสงสรร แม่ขวัญสรวงวจีน้อย ร้อยลำนำ ใช่คำลวง ด้วยใจห่วง สเน่หา เอื้ออาลัย
(3) ยามเมื่อเห็น พักตร์พริ้ง ยิ่งน่ารัก มิอาจหัก ห้ามฝัน ด้วยหวั่นไหวเห็นแก้มนวล เนื้อน้อง พี่ต้องใจ ยามแก้มใส แย้มสรวล เย้ายวนตา
(4) เปลวแดดเผา ผิวละออง หมองน้ำผึ้ง พี่คำนึง ถึงกิจ กนิษฐาเลี้ยงควายเฒ่า ข้าวปลูก ลูกชาวนา ไม่งอขา งอตีน ให้เปลืองตน (5) มือหยาบกร้าน แห้งเหี่ยว เพราะเกี่ยวข้าว ไม่เหมือนชาว เมืองฟุ้ง บำรุงขนมือขาวนุ่ม ซุ่มเงียบ เอาเปรียบคน ดูชอบกล ใจหยาบ กาบปูเล
(6) แดงระเรื่อ เจือกลิ่น กินพลูหมาก พอหายอยาก หัวเราะร่วน ได้สรวลเสรสแสบสิ้น ลิ้นเผ็ด ไม่เข็ดเล่ห์ พอหันเห เหลื่อมล้ำ ความลำเค็ญ
(7) กระดูกแนบ แบบบาง ร่างระหง ละออองค์ งามแท้ เมื่อแลเห็น ทำงานหนัก นาข้าว เช้าถึงเย็น สมเชิงเช่น เป็นเพศ เกษตรกร
(8) ใช้ชีวิต ให้ถูก สนุกเถิด อย่าให้เกิด ทุกข์ใจ ไฟสุมขอนอย่าติดยึด ถือมั่น นิรันดร อย่ารนร้อน ตัณหา อุปาทาน
(9) ทำสิ่งใด แล้วเสร็จ สำเร็จกิจ อย่าได้คิด ปรุงแต่ง แข่งประหารภาวนา เลิศล้ำ คือทำงาน อย่าสืบสาน ตัวตน(อหังการ) ผลของกู(มมังการ)
(10) แปดสาแหรก สองกระบุง มุ่งความหมาย กุศโลบาย พุทธธรรม อย่ากำหูคือมรรคแปด ฌานสอง* ลองฟังดู ตรัสรู้ ความว่าง กระจ่างใจ
* หมายถึง อารัมมณูปนิชฌาน และ ลักขณูปนิชฌาน
(11) เห็นฝักบัว บัวน้ำ มีสามเหล่า พระพุทธเจ้า เทศนา อย่าสงสัยบรรลุธรรม ล้ำค่า อนาลัย ลมหายใจ ยังอยู่ จงดูมัน
(12) จงทำงาน เพื่องาน ประสานกิจ กำหนดจิต ความว่าง ทางขยันคนก็ว่าง งานก็ว่าง ไม่ต่างกัน อย่าแข่งขัน แย่งค้น ผลของงาน
(13) สันตุฏฐา สมาทาน รู้สันโดษ เห็นคุณโทษ รสคำ พระธรรมขาน หาพอกิน อยู่พอใช้ เหลือให้ทาน ดังบัวบาน พ้นน้ำ อร่ามเรือง ฯลฯ
(14) รัศมี สีขาว ดาวประดับ แวววาววับ เสกสรร พระจันทร์เหลืองกิจกุศล ผลบุญ ย่อมหนุนเนื่อง บังคมเบื้อง พุทธบาท ศาสดา
(15) ขอให้สุข สนุกสนาน สำราญจิต สิ่งที่คิด มุ่งมาด ปรารถนาประสบผล ประสบสุข ทุกเวลา ภาวนา เจริญธรรม ตามสมควร ....ฯลฯ
By …… Ritti Janson
*************************************
คอยอยู่ รู้ไหม ?
(1) เหตุใด ใจเพ้อ ลอยลอย เหตุใด ใจหงอย คอยหาเหตุใด ไม่รู้ เวลา เมสเสส ส่งมา บ้างซี
(2) ใจลอย คอยอยู่ รู้ไหม ? เธอไกล ไม่อยู่ ตรงนี้นอนนับ เวลา นาที คนดี รอซับ น้ำตา ……
(3) ยามไกล ใจสั่น พลันคิด เคยสนิท กลับกลาย หายหน้าเหลือใว้ เพียงคราบ น้ำตา อุรา รันทด สลดใจ
(4) รอเธอ รอแล้ว รอเล่า ว่างเปล่า หนาวสั่น หวั่นไหวรอยเล็บ เจ็บแปลบ แสบใจ อาลัย รอยรัก สลักทรวง
(5) ยังรอ ใจลอย คอยอยู่ เคียงคู่ ในฝัน ขวัญสรวงพนอ คลอเคล้า ดาวดวง เป็นห่วง หวงนัก รักเธอ ฯ
By …… Ritti Janson
************************************
อ้อ …….
(1) อ้อ- ไหวใบโบกพลิ้ว ตามลมอ้อ-อ่อนช้อยกลอยกลม แกว่งก้านอ้อ-งามพฤกษ์พรรณชม โชยชื่นอ้อ-ลู่ฉลาดต้าน เล่ห์ร้ายแรงลม
(2) อ้อไหว ใบโบกพลิ้ว ก้านใบฉิว ละลิ่วลมเขียวฝาด บาดใบคม ลมละออง ล่องลอยไกล
(3) อ้ออ่อน ช้อยกลอยกลม กิ่งก้านสม ลมไสว โอนอ่อน ผ่อนช่อใบ ไหลลมชื่น ระรื่นรมย์
(4) อ้องาม ยามเขียวสด ใบ-รบส บรรณผสม พันลึก พฤกษ์พรรณชม ลมโชยชื่น รื่นลอยชาย
(5) อ้อลู่ ร้ายลมผ่าน แรงลมผลาญ พาลสลาย ร้อยเล่ห์ สเน่ห์ชาย ฉลาดค้าน ต้านลมลวง ฯ
By ……. Ritti Janson
************************
*** สิ่งอันเป็นที่รัก ***
(1) พรำพรำเสียงสั่งฟ้า ครืนครืนกรุ่นกรุ่นปานจะกลืน สวาทเจ้าครวญครวญส่ำสะอื้น คืนจากพรากพรากชลเนตรเคล้า ปริ่มน้ำตาคลอ ฯ
(2) พรำพรำ พิรุณปรอย น้ำฝนย้อย หยาดระรินกรุ่นกรุ่น อุ่นไอดิน สวาทกลิ่น เจ้าเนื้อนวล
(3) แช่มชื่น พิรุณฉ่ำ มิชอกช้ำ ยุพินสงวนร่ำร่ำ ส่ำเสียงครวญ หยอกเย้ายวน ชวนพี่ชม
(4) ฝนจาง สว่างฟ้า เห็นดวงหน้า เจ้างามสมเพียงพิศ สนิทชม อภิรมณ์ สุดาดวง
(5) ใสใส พิรุณซา นิราศลา สวรรค์สรวงกลืนกล้ำ ระกำทรวง จำจากดวง สุดาไกล
(6) พรากพราก น้ำตากลบ ทุกข์ท่วมทบ สลบไสลเคยชิด สนิทใน มาแปรไป ใจระทม
(7) ใจเจ็บ เพราะพรากจาก ยิ่งรักมาก ยิ่งขื่นขมรักร่วง ติดบ่วงจม วิบากถม ทวีพูน
(8) โทษท้น ทวีสลด ทุกข์รันทด ทวีสูญทดท้อ ทวีคูณ ทวีเทวษ ทวีกรรม ฯ
By …… Ritti Janson
************************************
ยาหยี ......
(1) ...... โอ้โลม ปฏิโลม สวาทโฉม ดวงสมร เปลไกว ให้เจ้านอน กลอนจะกล่อม ให้เจ้าฟัง
(2) คลอเคล้า เสียงเจ้าครวญ ใจพี่หวน ถึงหนหลังแสนโศก วิโยคดัง หทัยร้าว ยามเจ้าไกล
(3) เห่กล่อม พี่จะกล่อม ทนุถนอม แม่นวลใสเปลไกว พี่จะไกว บุญรักษา สุดาดวง
(4) รอยเล็บ คือรอยรัก ดังศรศักดิ์ สลักสรวง ดื่นฟ้า ดาราดวง ไหนจะเท่า เยาวมาลย์
(5) เจ้าช้ำ ระกำจิต พี่ก็คิด สุดสงสาร เสื่อมทรุด สุดประมาณ พี่ก็ยาก ลำบากกาย
(6) ยามเหนื่อย เจ้าหนุนตัก ที่ยากนัก จักสลายอบอุ่น หนุนแนบกาย พี่จะปลอบ ประโลมนวล
(7) เจ้าทุกข์ ทวีเทวษ ชลเนตร ทวีหวนเจ้าช้ำ ระกำครวญ พี่ก็ทุกข์ ทวีคูณ
(8) น้องเอ๋ย จงพักผ่อน ที่ทุกข์ร้อน จะเสื่อมสูญ เพลิดเพลิน เจริญจรูญ กลอนสดับ หลับสบาย
(9) เกลากล่อม ถนอมจิต ถึงมิ่งมิตร สนิทสหายพ้นโศก วิโยคคลาย สติมั่น รู้ทันตน ฯ
By …… Ritti Janson
***************************
จันทร์-กระพ้อ !!!!!
(1) จันทร์-เอ๋ยเคยส่องหล้า แสงนวล กระพ้อ-พร่ำคร่ำเสียงครวญ บอกเจ้า พ้อ-เสียงส่ำกำศรวล คืนค่ำ จันทร์-จากจรใจเศร้า พี่ช้ำกลัดหนอง ฯ
(2) จันทร์เอ๋ย เคยส่องหล้า ใยไม่มา กมลหมอง เพียงพ้อ ลออ-ละออง น้ำตานอง ชลนา
(3) ยิ่งคิด ยิ่งเพ้อพร่ำ ทุกเช้าค่ำ ร่ำเรียกหา กระพ้อ สกุณา แผ่วเสียงพา อุราระทม
(4) ใจเอย เอ๋ยใจเจ้า ตัวพี่เศร้า เคล้าขื่นขม นวลเอ๋ย เคยชิดชม ร้าวระบม เพราะน้องยา
(5) แสงจันทร์ สวรรค์ส่อง ชะเง้อมอง กนิษฐา คอยเจ้า เจ้าไม่มา ทุกขเวทนา โศกาดูร
(6) ใจเอย เอ๋ยใจพี่ ป่านฉนี้ สิสาบสูญ ท่วมท้น ทวีคูณ แสนอาดูร จำเนียรนาน ฯ
By …… Ritti Janson
*******************************
เจ้างามนัก ……
(1) งามเอย เจ้างามนัก นวลพักตร์ เจ้างามพริ้ง น้ำใส แลใจจริง เมตตายิ่ง มัจฉาชม
(2) งามเอย เจ้างามพร้อม พวงพยอม เจ้างามสม บุญทำ ช่างขำคม ชื่นชมแล้ว แม่แก้วตา
(3) อาลัย มัจฉาชาติ โอ้อนาถ วาสนาพบกัน ไม่ทันลา เรียมแลน้อง ต้องคลาไคล
(4) ยามไกล น้ำตากลบ มิอาจพบ สลบไสลหมื่นฟ้า สุลาไลย ไหนจะเทียบ แม่เนื้อทอง
(5) กุศล ผลกระทำ จงหนุนนำ ตามสนองครบถ้วน นวลละออง บุญรักษา ผกากานต์
(6) บุญนี้ พี่น้อยนัก ขาดคนรัก สมัครสมานทนทุกข์ ทรมาน คิดถึงเจ้า เฝ้าอาลัย ฯ
By …… Ritti Janson
**********************************
นิกกี้ ....... (เจ้า)ชายกบ
(1) โอ้อนาถ วาสนา นิจจาเจ้า ชายกบเง้า งอนแง่ ชะแง้หาถูกคุมขัง นั่งเซื่อง ชำเลืองตา พระน้องยา ใยโกรธ พิโรธกัน
(2) เจ้าคุมแค้น แสนโกรธ พิโรธกบ พี่ก็ซบ หน้าโหนก ด้วยโศกศัลย์เพียงไม่พบ สบพักตร์ เจ้าสักวัน เหมือนถูกบั่น ด้วยมีด กรีดหัวใจ
(3) โถ ... ยาใจ ใสซื่อ สะดือจุ่น ใยเคืองขุ่น ข้องคำ ทำผลักไสถึงพี่ผิด อิดหนา ระอาใจ ขอทรามวัย อดโทษ อย่าโกรธเลย
(4) ระลึกกลับ นับย้อน ตอนเริ่มรัก ยามสมัคร รักสรวม ร่วมเขนยตระกองกอด ยอดชื่น ระรื่นเชย กระไรเลย ลืมหมด ไม่จดจำ
(5) เคยพรอดพร่ำ คำหวาน สะท้านจิต เคยจุมพิต แก้มขอด กอดขยำเคยลูบไล้ เนื้อแน่น แขนกำยำ เคยโยกย้ำ นวลเจ้า เคล้าปทุม
(6) ก่อนเคยรัก สลักใจ อย่างไรเจ้า พี่ไม่เข้า หฤทัย ดังไฟสุมถูกศรปัก บักโกรก โรครักรุม เหมือนตกขุม นรกร้อน ตะกอนเตา
(7) ทุรนทุราย หายใจ ไม่สะดวก เหมือนถูกลวก ลมร้อน ตอนถูกเผาระกำจิต พิษร้าย มิใช่เบา ฤๅกรรมเก่า บาปชัก วิบากพา
(8) เหมือนถูกควัก ตับไต ไส้แทบขาดเหมือนมีดบาด ขาดแหวก แยกหว่างขาเหมือนโลกดับ ดาวดิ้น สิ้นชีวา ร้าวอุรา รานแหลก แยกกระมล
(9) เหมือนเคว้งคว้าง กลางห้วง มหรรณพ มิพานพบ ทางกลับ จิตสับสนหากเวียนเกิด เวียนดับ สัปดน คงไม่พ้น วิบาก พรากชะตา
(10) ต้องเวียนวน ขวนขวาย ในวัฏฏะ อุตสาหะ ดารดาษ วาสนามิสิ้นภพ จบชาติ ญาติระอา ต้องฟันฝ่า ทนทุกข์ จนจุกใจ
(11) โอ้ชาตินี้ พี่ขอ พอแล้วเจ้า ไม่อยากเอา อยากเป็น เช่นเงื่อนไขขอสละ ละทิ้ง ด้วยจริงใจ มิอยากได้ ชาติภพ ประสบกรรม
(12) ขอคุณพระ ไตรรัตน์ สลัดทุกข์ ช่วยปลอบปลุก พ้นบาป หยาบถลำมโนน้อม ย้อมจิต สนิทนำ พุทธธรรม ส่องทาง สว่างใจ
(13) สลัดรัก สลัดโกรธ แลโลภหลง ให้ปลดปลง บ่วงทุกข์ จิตสุกใสกิเลสกรรม ทำแล้ว ให้แล้วไป จงพ้นได้ ปรมัตถ์ อนัตตา
(14) ไม่ยึดมั่น ตัวกบ และของกบ เหยียบสยบ อุปาทาน และตัณหาไม่ยึดติด ถือมั่น อนันตา* โลกุตตรา พ้นโลก พ้นโศกเอย ... ฯ
(อนันตา = ไม่มีที่สุด = นิพพาน)
By Ritti Janson
*******************************
คืนก่อนจาก 2

(1) ลมไหว ใจหนาว ร้าวรวด เจ็บปวด กระมล หม่นหมองหลากหลั่ง ไหลน้ำ ตานอง ประคอง ใจอยู่ คู่ตัว
(2) ยามค่ำ คืนน้ำ ค้างฟ้า ดวงตา มืดมน หม่นสลัวการใหญ่ ในจิต คิดกลัว สิ้นตัว สิ้นสุด หยุดพลัน
(3) ปณิธาน การกิจ พิชิตศึก สำนึก สำแดง แข่งขันกอบกู้ ชูธง วงศ์ฮั่น บากบั่น เหนื่อยยาก ลำบากกาย
(4) แลเลือน เดือนดาว ราวยิบ กระพริบ เคลื่อนไป ใจหาย ดาวตก อกร้าว คราวตาย เสียดาย วันคืน .... ขื่นใจ
(5) เสียชีพ มิอาจ เสียสัตย์ ดำรัส ดำรง คงใว้ซื่อตรง จงรัก ปักใจ การใหญ่ ร่วมทาง สร้างธรรม
(6) (แม้) .... มิอาจ ร่วมเกิด ร่วมสาย (ขอ) .... ร่วมตาย ร่วมทุกข์ อุปถัมป์ภารกิจ กู้ชาติ กู้ธรรม จดจำ จนชั่ว ตัวตาย (7) ฟันกัด หยัดยืน ฝืนข่ม แม้ลม หายใจ สุดท้ายตราบสิ้น ดินฟ้า มลาย ถวาย ราชบาตร์ ชาติพลี ฯ
By ….. Ritti Janson
***********************************
กิเลส ........ ฤๅดอกไม้ (?)
(1) กิเลสฤๅดอกไม้ (?) นัยนาเพลินพิศสิเหน่หา ออดอ้อนเอวองค์อ่อนอรสา อวบอิ่ม เพลิงเร่งราคะร้อน นิ่มน้อง ละอองนวล ฯ
(2) กิเลส ฤๅดอกไม้ (?) หฤทัย สิเหน่หา นวลน้อง นัยนา สุกสว่าง อยู่กลางใจ
(3) ออดอ้อน นอนสนิท รันจวนจิต พิศมัย เชยชิด สนิทใน สวาดิสอง ตระกองพา
(4) เกษมสันต์ บรรจถรณ์ เอวองค์อ่อน อรสา อวบอิ่ม พริ้มพรายมา สายสวาท แทบขาดใจ
(5) เพลิงเร่ง ราคะร้อน สะอื้นอ้อน อนุสัยชลเชี่ยว เป็นเกลียวไป นิ่มเนื้อน้อง ละอองนวล ฯ
By …… Ritti Janson
*****************************************
เสื้อสี ......... (?)
(1) บัดโน้น .............. ชาวสยาม ยามสรง ทรงเครื่องประเสริฐ เลิศล้ำ อร่ามเรือง แดงเหลือง เขียวผ้า ภูษาทรง
(2) ผลัดผ้า ผลัดสี ผลัดเปลี่ยน หมุนเวียน เปลี่ยนตาม ประสงค์สวัสดิ- รักษา โฉมยงค์ ควรคง ศิริหมาย ฝ่ายเดียว
(3) บัดนี้ .................. เข้ากรุง ชั้นใน ต้องใส่เขียวอย่าเผลอไผล ใส่แดง ไปคนเดียว รถถังเฉี่ยว กระสุนสาด อาจตายฟรี
(4) ติดต่อ รัฐ- วิสาหกิจ อย่าคิด สวมเสื้อแดง แสงสีจะอึดอัด ขัดใจ ไม่ดี ควรใส่สี เหลืองข่ม จึงสมปอง
(5) ไปพัทยา ผ้าเหลือง เคืองขัด อาจถูกฟัด คาไฟแดง แหยงสยองต้องรู้จัก เลือกผ้า ภูษาครอง ให้ถูกต้อง จึงเห็น เป็นมงคล
(6) จะไปไหน มาไหน เดี๋ยวนี้ ต้องเลือกสี เลือกผ้า น่าฉงนให้ถูกจิต ถูกใจ ฝูงชน อย่าสับสน สีสรร หมั่นระวัง
(7) โอ้เอ๋ย ชาวพุทธ .......... ควรหยุด แยกสี แยกฝั่งหยุด !!!! อาละวาด ชาติพัง วอนหวัง เจรจา พาที
(8) ร่วมมือ ร่วมใจ ช่วยเหลือ สวมเสื้อ ฉัพพรรณ- รังสีเกาะเกี่ยว รู้รัก สามัคคี ไม่แบ่งสี แยกฝ่าย ไทยด้วยกัน
(9) ผิดถูก กฏหมาย บัญญัติ กำจัด อคติ แข่งขันบังคับใช้ เสมอภาค เทียมกัน เมื่อนั้น สันติ กลับคืน
(10) กิเลสโลภ โกรธหลง ควรลด หิริโอต- ตัปปะ ควรตื่นเมตตาธรรม ค้ำจุนโลก ยั่งยืน มาร่วมฟื้น- ฟูซาก กากเมือง ........ ฯ
By …… Ritti Janson
*********************
ยอยศทศ
(1) ทศศรีประเสริฐสร้าง วีรกรรมทศพิธราชธรรม ทั่วหล้าทศเศียรอุทิศบำ -รุงราษฎร์ทศเกศคติกล้า กอบเกื้อนิกร
(2) ทศพักตร์ประกาศกู้ โลกาทศทุกข์สุขประชา โปรดเกล้าทศทิศนัครา ปลดแอกทศเกียรติยศเจ้า เช่นชั้นวีรชน ฯ
(3) ทศศรี ประเสริฐอ้าง ทศสร้าง วีรกรรมทศพิธ ราชธรรม แผ่ทั่วหล้า ประชาชน
(4) ทศเศียร ทรงอุทิศ บำรุงกิจ ราชกุศลทศเกศ คติดล ผลก่อเกื้อ พสกนิกร
(5) ทศพักตร์ ประกาศกู้ ข้าเสือกสู้ ศักดิศรทศทุกข์ ราษฎร ธ โปรดเกล้า ปัดเป่าภัย
(6) ทศทิศ นัครา ปลดแอกพา มหาสมัยทศเกียรติ ขจรไกล ลือชาเช่น วีรชน ฯ
By …… Ritti Janson
**********************************
อินทร์แขวน
(0) อินทร์แขวนอินทร์แต่งสร้าง ศิขรินนิรมิตวิจิตรศิลป์ เอ่ยอ้างบรมธาตุสถิตถิ่น บรรพตอินทร์เสกศิลาขว้าง สลัดขึ้น สิงขร ฯ
(1) เลอศิลป์ ดังอินทร์สร้าง แลสล้าง ศิริสรรดิลก กนกพรรณ แสงกำซาบ ทาบทองทา
(2) ฤๅสาย สวรรค์สรวง ระดาดวง ระเด่นผาพราวพริบ ระยิบตา ดลประดิษฐ์ ระดาษดาว
(3) ศิขิน ดังอินทร์ขว้าง ศิลาคว้าง ขึ้นกลางหาวอินทร์แขวน แก่นสกาว สะกดฟ้า สุลาไลย
(4) พระธาตุ ธ สถิต ปุญญฤทธิ์ ลอยไศล นิมิต สนิทใน มนะแจ้ง มโนจริง
(5) รอยองค์ อินทรฤทธิ์ รอยวิจิตร สฤษฏ์ศฤงค์ ลี้ลับ สรรพสิ่ง สรีระ ศิลาลอย
(6) อินทรา ฐาปนะ อุตสาหะ สลักสลอยลักลั่น บุหลันลอย ปานจะเปรียบ จะเทียบองค์
(7) ศรัทธา ปสาทะ วิริยะ อินทร์ประสงค์สนทิศ สถิตคง สาสนา สถาวร
(8) ม่านหมอก สลับเมฆ ดังอินทร์เสก บรรจถรณ์ผืนฟ้า ดังอาภรณ์ จะห่มเจ้า ให้หนาวคลาย
(9) ดื่นดาว หนาวน้ำค้าง ครั้นรุ่งสาง สุรีย์ฉาย น้ำทิพย์ กระพริบพราย ระเหยย้อย ลอยละออง
(10) อินทร์แขวน จากแดนสรวง สรรพ-สรรวง อินทร์สนอง ราวยิบ ดังทิพย์ทอง จะน้อมโน้ม ประโลมดิน
(11) อินทร์แขวน แดนสถาน ทิพย์วิมาน สวรรค์ฉินฝูงชน เยี่ยมยลถิ่น อนุพุทธ ดุษฎี
(12) หมอกเมฆ ดังเสกแสร้ง บดบังแสง สุรีย์ศรี รื่นร่ม รมณีย์ (พุทธ)บริษัท นมัสการ
(13) บุพพกรรม ทำอุทิศ สำรวมจิต พิษฐานจวบปรัต -ยุบันกาล วิบากเอื้อ เฟื้อพระธรรม
(14) ครองเพศ บรรพชิต กุศลจิต อุปถัมภ์สืบศาส - - นธรรม สาธุชน สาธุการ
(15) น้อมเศียร ศิโรราบ ประนมกราบ พุทธสถาน วาสนา นมัสการ เบื้องพระบาท ศาสดา (16) ธรรมะ ปรมัตถ์ อริยสัจ สาสนาสืบสาน พระสัมมา สัมพุทธแท้ เผยแผ่ธรรม
(17) อินทร์แขวน บรมธาตุ บรมศาส - - นล้ำ นิสส -รณธรรม ธ วิสุทธิ์ วิมุตตี
(18) แสงฉาน สุรีย์ฉาย ระยิบพราย สุรีย์ศรีแสงศิลป์ ผ่องอินทรีย์ ศิลาส่อง ทองประกาย
(19) ฉัตรทิพย์ ระยิบยับ ช่อประดับ ประดาหมาย แสงสรร พรรณราย พระสัมพุท -ธเจดีย์
(20) ผ่องผุด พุทธสถาน บริขาร คีรีศรีบริพัตร สวัสดี บริรักษ์ บริชน
(21) ศาสนิก จาริกแหน ถึงอินทร์แขวน ณ แห่งหนสัมพุท -ธมณฑล ณ บรรพต บริภัณฑ์
(22) พระพุท -ธเจดีย์ สมังคี ธรรมขันธ์โพธิปัก -ขิยธรรม์ พุทธพจน์ นิรพาน
(23) น้อมธรรม ปฏิบัติ มหาสติ -ปัฏฐานภาวนา ปัญญาญาณ สมุทเฉท กิเลสคลาย
(24) กวีกาพย์ กลอนลิขิต ถึงเพื่อนคิด มิตรสหาย ทุกข์ร้อน จงผ่อนคลาย เจริญสติ นิรมาน
(25) ศึกษา ปริยัติ ปฏิบัติ ปทัฏฐานปฏิเวธ วิเศษญาณ นิรทุกข์ นิรภัย
(26) พุทธพจน์ กำหนดชัด ปริยัติ อัชฌาสัยพระสูตร พระวินัย สอบสวนความ ตามพระธรรม
(27) สมถะ สมาธิ ยังสติ อุปถัมภ์ภาวนา ปัญญานำ ปัสสัทธิ นิรวาณ
(28) สันติ ปฏิเวธ ปฏิเสธ อักษรสาส์นโอษฐ์อด พจมาน พึงรู้ชัด ปัจจัตตัง ฯ
(29) ปัจฉิม ลิขิตกลอน ระลึกย้อน วอนฝากฝังบริสุทธิ์ พุทธธรรมยัง จรูญจรัส สวัสดี …….. ฯลฯ
By Ritti Janson
************************
ครู ... ไม่ใหญ่
(1) มาจะกล่าวบทไป ............ ถึงคุณครู ไม่ใหญ่ ในคลองสามทุมมังกุ ทุศีล กบิลความ เม็ดถั่วเขียว สักชาม ถวายมา
(2) ปณิธาน ยิ่งใหญ่ ใสสะดุด จะเร่งขุด วัฏฏะ อนาถารับรื้อค้น ขนสัตว์ จัดแจงมา เพียงคิดค่า ขนส่ง พอประมาณ
(3) สวนดุสิต พิสดาร ก่อการใหญ่ ด้วยห่วงใย ลูกศิษย์ ใช่คิดผลาญเปิดเฟสสอง จองแล้ว แกร่วอยู่นาน อย่าดักดาน เงินสด จ่ายหมดตัว
(4) ตุ๊กตา ขาเขียด สมเกียรติใหญ่ ใจใสใส จ่ายเสีย ทั้งเมียผัวจงทิ้งทุ่ม สุดฤทธิ์ อย่าคิดกลัว กระเฌอรั่ว หมดตูด อย่าพูดไป
(5) โอ้ ... จานบิน หินคอด ยอดด้วน ประดับล้วน ตุ๊กตา ขาไก่ !!!!ถึงเขาเหน็บ เจ็บแสบ จนแปลบใจ ขออย่าได้ ถือสา ประชาชน … (หึหึ)
(6) เพราะขลาดเขลา เบาสติ ตรองตรึก มิอาจนึก การณ์ไกล ในเหตุผลหากเกิดศึก ต่างดาว คราวผจญ จะพาพ้น ผองภัย ในจานบิน ... (ฮา)
(7) อนุบาล ในฝัน ขยันหลับ ดั่งหญ้าทับ ซีดใส อยู่ใต้หินแม้ล้มลุก ตุ๊กตา ยังราคิน คนทุศิล ฤๅจะสิ้น คำนินทา
(8) ศิลปะ ในฝัน กลั่นละเอียด มาดละเมียด เหยียดถ่าง น่ากังขานั่นมิใช่ พระพุทธ ปฏิมา นักวิชา การบอก ให้ยอกใจ ….. (ฮือ ฮือ)
(9) ฤๅเป็นรูป พ่อพระ ปาราชิก น่าหยอกหยิก สวมเสื้อ หนุ่มเนื้อใสสันดานคด ลดเลี้ยว เป็นเกลียวไป ถลากไถล ใส่เกิน เมินพระธรรม
(10) กล้าอวดอ้าง ลักษณะ มหาบุรุษ เสื่อมจนทรุด จิตหยาบ บาปถลำโหมหัวคิด โฆษณา มาโน้มนำ โถ ... เวรกรรม อีแอบ ทำแยบคาย
(11) โอ้สถาน ดึงดูด รูดราวทรัพย์ คำนวนนับ เงินสด กำหนดหมายสักหมื่นล้าน เซ้งลี้ คดีร้ายเร่งคลี่คลาย สุดฤทธิ์ ปิดจานบิน
(12) ล้างสมอง หล่อหลอม กล่อมประสาท อวชาติ อุตริ โลกติฉินข่มขู่ฆ่า ประจาน ผลาญชีวิน แทบหมดสิ้น คุณธรรม ประจำทาง
(13) ฝันในฝัน ขยันคิด ดุสิตสถาน อนุมาน กำหนัด อย่าขัดขวางพบคนโง่ โคขืน อย่าฝืนทาง จะหม่นหมาง ฮึดฮัด ทำขัดใจ
(14) เคยทำชั่ว กลัวตก นรกเดือด จึงถูกปอก หลอกเชือด จนเลือดไหลจ่ายเงินซื้อ ดุสิต คิดได้ไง (?) อนาถใจ ทุนนิยม โหมกระพือ
(15) ถวายข้าว ในฝัน กลั่นละเอียด ละไมละเมียด ทฤษฎี ผีกระสือฤๅด่วนแดก แจกดอก หลอกกระบือ ทำอออือ แปลบ-ปลื้ม จนลืมตังส์
(16) เพราะลืมตัว ลืมตาย ไถยจิต จึงเห็นผิด คิดถวาย คล้ายวาดหวังจะดูดทรัพย์ สลับฉาก หลากพลัง สติพลั้ง โลภจริต บิดจนเบือน
(17) ปาราชิก ปราชัย วิสัยโฉด รับโฉนด นาไร่ ใครจะเหมือนธรรมวินัย ไม่สดับ กลับแชเชือน ภิกษุเถื่อน ปลอมบวช ทำลวดลาย
(18) เธอเว้นขาด รับนาไร่ ซื้อขายทรัพย์ ควรสดับ พุทธพจน์ กำหนดหมายจงเอื้อเฟื้อ ธรรมวินัย ทั้งใจกาย จึงจะคล้าย ภิกษุสงฆ์ ดำรงธรรม
(19) ถูกเขาฟ้อง ร้องตี คดีโลก จนบักโกรก โรครุม นั่งกุม*XXX*ตีหน้าเศร้า เหล่าร้าย ให้ปากคำ อมพะนำ คำหลัก ปักโคลนเลน
(20) ใกล้สิ้นสุด สืบสาน พยานปาก กลัวลำบาก ติดตาราง ที่บางเขนหากศาลสั่ง ลงโทษ โปรดประเคน เป็นดาวเด่น เดนคุก คงจุกใจ
(21) คดีโลก ยอมความ ตามสะดวก มีพรรคพวก การเมือง เรืองสมัย ?เสนอหน้า รับผิด ไม่ติดใจ ทรัพย์สินให้ คืนวัด เตรียมจัดการ
(22) คดีธรรม กรรมก่อ ต่อประดิษฐ์ หากทำผิด พระวินัย ให้ประหารพ้นจากพระ ปาราชิก จิกประจาน ควรหรือท่าน ด้านหน้า ผ้าเหลืองครอง
(23) ตีหน้าเศร้า เล่าความเท็จ สะเด็ดน้ำ จะทำตาม พระลิขิต คิดสนองปาราชิก ไม่รับ สดับตรอง ทำไมร้อง ไม่ใช่พระ ลิขิตจริง …… ????
(24) สันดานถ่อย ร้อยพ่อ ส่อจริต วิสัยจิต บัดสี ดังผีสิงต่อหน้าศาล มันกลับ รับว่าจริง ยอมทุกสิ่ง เสียหมา หน้าไม่อาย !!!!
(25) จำเลยมอบ สินทรัพย์ คืนกลับวัด ผมนึกขัด ข้องใจ อยู่ไม่หายถ้าไม่ลัก ยักยอก หลอกทำลาย แล้วจะคาย ทรัพย์ใคร ให้คืนมา ?
(26) พ่อบุญหนัก ศักดิ์โต โพธิสัตว์ สมบัติวัด ยังกล้าขาย ไม่อายหมาเดี๋ยวซื้อเข้า ขายออก ถลอกตา เป็นภิกษุ หรือนายหน้า ค้าที่ดิน (?)
(27) พ่อต้นธาตุ ต้นธรรม ไม่จำกัด สรรพสัตว์ วัยกลับ นั่งทับหินพุทธพจน์ กำหนดใว้ ไม่ได้ยิน หรือว่าหิน ทับหู ไม่รู้ความ
(28) พระนิพพาน อัตตา บ้าหรือเปล่า (?) ลูกค้าเก่า เหงาปาก เขาฝากถามไตรปิฎก ยกไป ไม่ฟังความ พูดลามปาม พุทธธรรม ถลำเกิน
(29) อลัชชี ผีปอบ กระสือเปรต สังฆเภท ทำผิด ไม่คิดเขินล่อลวงพระ หลอกวัด จัดแถวเดิน สรรเสริญ เยินยอ โถ ... พ่อคุณ
(30) กี่หมื่นพระ หมื่นวัด ที่จัดอวด เพื่อนมาสวด สัพพี ผีขนุนทั้งค่าข้าว ค่าน้ำ คอยค้ำจุน ยิงกระสุน จ่ายแหลก ไม่แปลกใจ !!!!
(31) เหมือนการเมือง เรื่องเก่า เล่าไม่จบ ถลุงงบ กลบบาป สร้างภาพใส ทั้งกองเชียร์ เบี้ยบ้าย ต้องจ่ายไป ตกเขียวได้ สักกลุ่ม คุ้มค่าเงิน ........
(32) ตั้งแต่เด็ก เล็กรู้ ครูไม่ใหญ่ สยิวใจ ใครรู้ ครูก็เขินเพื่อนมันบอก กรอกหู ครูเล็กเกิน จะเหาะเหิน เดินกลับ ก็อับอาย
(33) ครูไม่ใหญ่ ใจฝ่อ พอขึ้นห้อง หมอก็ร้อง ครูเด็ก เล็กฉิบหายล่มปากอ่าว คราวแรก แตกกระจาย หมอก็ส่าย หน้าสั่น มันเล็กเกิน
(34) ครูไม่ใหญ่ ฉายา โชคไม่ช่วย แต่ได้ด้วย ทวยท่าน สรรเสริญครูไม่ใหญ่ ไซส์เด็ก แม้เล็กเกิน ก็พอเพลิน เบอร์ห้า ประหยัดไฟ …
(35) เขียนกลอนเปล่า เล่าบอก ขยอกข่าว เป็นครั้งคราว เฮฮา น้ำตาไหลที่จริงจัง หนังถลอก ขัดยอกใจ ก็อย่าได้ คิดมาก ลำบากตัว
(36) ที่หยอกเย้า เคล้าขำ ทำหัวเราะ ก็จำเพาะ เลาะเอ็น แค่เล่นหวัวอัมพาต ร่อแร่ แค่ครึ่งตัว แต่คงหัว เราะได้ ถ้าใจเย็น
(37) ขอพระธรรม ค้ำจุน พระคุณท่าน ให้เบิกบาน สราญสุข ไม่ทุกข์เข็ญพุทธธรรม แผ่ปรก โลกร่มเย็น สมเชิงเช่น พุทธศา- สนิกชน

ขอให้มีความสุข ........ ตามสมควร
ฤทธี
********************************************
ดาวเอ๋ย ดาวเรือง
(1) ดาวเอ๋ย ดาวเรือง ……… ฟูเฟื่อง เรืองเกียรติ เก่งกล้าต่อต้าน อลัชชี บีฑา ดวงสุดา กร้าวแกร่ง เกินใคร
(2) โฉมยง องอาจ ปราดเปรื่อง เหลืองเหลือง กลีบดอก ไสวชมชื่น ชูช่อ กิ่งใบ ไหวไหว ใจกล้า ท้าลม
(3) เตะสกัด อลัชชี คลองสาม ทวงถาม สาระ ยาขมเจรจา ปรับปวาท ขู่ข่ม ขำคม ขมคำ ขำคน(ฮา)
(4) อลัชชี เก้อ-ยาก อยากโอ่ อวดโง่ บาลีไทย ไม่สนคนถ่อย ย่อยยับ อับจน สับสน เซ่อซ้ำ กำเกวียน
(5) ปากพล่อย ร้อยลิ้น สิ้นท่า ขายหน้า สะอื้น คลื่นเหียนเจอหญิง สยบ ตบเกรียน !!!! วิงเวียน ขี้หด หมดลาย
(6) สิ้นเหตุ สิ้นผล สิ้นชื่อ กระบือ เกรียนกริบ ฉิบหายสันดาน ขี้ครอก ออกลาย คลับคล้าย ชายหน้า สตรี (?)
(7) ออกปาก ถากถาง ผู้หญิง ชายจริง ไม่ทำ เช่นนี้เมียพ่อ ก็เป็น สตรี ควรทำ ย่ำยี ได้ฤๅ
(8) ลูกใคร ใจสาก ปากเน่า คำเขา ทบทวน ควรหรือ ????พ่อแม่ ไม่สอน ก่อนฤๅ ใยดื้อ ใช้คำ ก้ำเกิน
(9) ดอกท้อ ดอกทอง ส่องจิต ชีวิต อึดอัด ขัดเขินหรือแฟน มีกิ๊ก ล่วงเกิน ? จึงเดิน ไม่ตรง หลงทาง
(10) ปมเขื่อง ติดค้าง คาจิต ความคิด มืดมน หม่นหมางพบแพทย์ เถิดลูก ถูกทาง ถากถาง หญ้าปรก รกใจ
(11) ทำผิด ควรออก รับผิด อย่าคิด รวนเร เฉไฉแก้ตัว เช่นนั้น จัญไร แก้ไข รู้ซึ้ง จึงควร
(12) “ขอโทษ” ควรบอก ออกปาก แม้ยาก ใจจิต คิดหวนผิดถูก ฉุกนึก ทบทวน สอบสวน ทวนความ ตามจริง ฯ
By …… Ritti Janson
*******************************
ฝาเอ๋ย .... ฝาแฝด
(1) ฝาเอ๋ย ฝาแฝด แก่แรด แดดฝน ผจญหนาวเสียสูญ มูลฝอย ร้อยเรื่องราว ข่าวคราว ฉาวสนิท สลิดดง
(2) ถึงเป็นแฝด คนละฝา ก็น่ารัก คนรู้จัก แจ้งจิต ถึงพิษสงถ่อยทะเล้น เล่นลิ้น กินไม่ลง ไถลหลง เหลี่ยมจัด สลัดลาย
(3) แฝดเบอร์หนึ่ง พึ่งได้ แม้ใจมด แสบสลด เด็กน้อย ถอยขยายโดนสบัด ตัดลิ้น จนสิ้นลาย ธรรมกลาย โกยแน่บ แอบดูเชิง
(4) เถียงผู้หญิง ไม่ได้ ชายทั้งแท่ง กระโปรงแก่ง แย่งนุ่ง จนยุ่งเหยิงวิปลาส มาดร้าย วัยระเริง กำเริบเหลิง เชิงชั่ว กลั้วกมล
(5) มธุรส วาจา ภาษาถ่อย คนปากพล่อย ตลบแตลง แสยงขนกำพืดต่ำ คำหยาบ สัปดน วิบากผล พ่อแม่ ไม่แลดู (!)
(6) ด่าผู้หญิง ยิงเรือ ไอ้เสือร้าย ช่างเป็นชาย สมชาย ไอ้ขี้หมูฤๅสันดาน จัญไร ไม่มีครู น่าอดสู เสียศักดิ์ ไม่รักดี
(7) แฝดอีแอบ แอ๊บแบ๊ว ดังแก้วใส ไม่เข้าใจ ดอกทอง มัวหมองศรีไร้เดียงสา หมาว้อ ก่อคดี คำๆนี้ ไม่เคยใช้ เกิดไม่ทัน (!)
(8) ช่างหน้าด้าน พูดได้ ไม่อายปาก มือถือสาก ขากเสลด เปรตสวรรค์อ้างไม่รู้ ไม่เคยใช้ อะไรกัน แล้วนี่มัน เขียนด่า มาได้ไง (?)
(9) แฝดเบอร์สอง น้องน้อย กลอยสวาท อวชาติ ศิษย์หา อาจารย์ไหน (?)กำพืดแก แต่ก่อน ร่อนชะไร เป็นอย่างใด ไม่อาจล้วง ดวงชะตา
(10) หลอกด่าหญิง ยิงเรือ ช่างเหลือร้าย ลูกผู้ชาย ทำได้ ไม่อายหมาธรรมเนียมหมาย ชายไทย แต่ไรมา ควรหรือด่า ดอกทอง สยองจริง !!!!
(11) หรือพ่อแม่ แกสอน แต่ก่อนเก่า จึงชำเรา วาจา ด่าผู้หญิงทำเนียนแนบ แอบจิต สนิทจริง นี่หรือสิ่ง ดีล้วน สมควรทำ (?)
(12) แฝดเบอร์สอง บ้องแบ๊ว แววฉลาด ช่างเก่งกาจ สร้างภาพ บาปถลำแสร้ง .... งุนงง สงสัย ในน้ำคำ โถช่างทำ ไปได้ ไม่อายคน
(13) เล่นละคร ย้อนใจ ให้สะอึก ไม่รู้ .... ลึก บทบาท อาจสับสนกุเรื่องกลบ สยบข่าว ราวเล่นกล มิอาจพ้น วิบากกรรม ที่ทำมา
(14) คราวแรกบอก ยอกย้อน แต่ก่อนนั้น ว่าดีฉัน บริสุทธิ์ พี่บุศฯจ๋าหาได้คิด จิตหลุด อกุศลา มิควรมา เพ่งโทษ โปรดจงฟัง
(15) แต่เมื่อครั้ง พลั้งปาก ลำบากจิต ว่าเคยคิด แค้นเคือง เรื่องความหลังจึงผูกโกรธ โจทก์หญิง ด้วยชิงชัง ไม่อาจยั้ง ปากด่า ว่าดอกทอง
(16) คำให้การ ขานขัด สกัดจุด สติหลุด สับสน กมลหมองตีหน้าเศร้า เล่าความช้ำ น้ำตานอง ต้องตริตรอง จริงเท็จ ไปเจ็ดคืน
(17) ต้องมีคำ คำหนึ่ง ซึ่งโกหก มิอาจปก ป้องคำ สำนวนขืนหลักฐานย้ำ คำขาด มิอาจคืน สุดจะฝืน ความจริง สิ่งแสดง
(18) แล้วคำไหน สะตอ พ่อคุณ เอ๋ย (?) จงเอื้อนเอ่ย ลำนำ คำแถลงอย่าแชเชือน เกลื่อนกลบ ตลบแตลง อย่ามัวแฝง ตัวแอบ ทำแนบเนียน
(19) ช่างเป็นแฝด คนละฝา หาได้ยาก เหมือนศพซาก กลากหมา พาคลื่นเหียน สมเชิงชาติ ปรสิต คิดเบียดเบียน จึงวนเวียน เขียนด่า หน้าไม่อาย
(20) อันมารดา แท้จริง เป็นหญิงแน่ หรือตัวแก เคยด่าเมีย ให้เสียหายเห็นเป็นคำ ปกติ มิหยาบคาย หรือคลับคล้าย ใช้ด่า ธิดาตน …. (?)
(21) ปกติ ศีลธรรม ประจำจิต ใยจึงบิด เบือนกลับ ให้สับสนด่าผู้หญิง ดอกทอง สนองตน มิอาจพ้น ครหา อนาจาร
(22) อคติ อย่าใช้ ในการนี้ จะเลวดี ถูกผิด ต้องคิดขานควรชำระ สะสาง เป็นทางการ ใช่ระราน เล่นแง่ เห็นแก่ตัว
(23) คนทำผิด คิดเห็น เปลี่ยนเป็นถูก ลำเอียงผูก พันธมิตร จิตสลัวไม่แยกแยะ ถูกผิด ไม่คิดกลัว ย่อมจะชั่ว มัวหมก ตกตามกัน
(24) ในสังคม ส่วนรวม ต้องร่วมคิด อย่าได้บิด เบือนธรรม ตามใจฉันควรหรือปก ป้องคนผิด ติดตามกัน สมานฉันท์ อภัยทาน นั้นไม่ควร
(25) ผิดอย่างไร ต้องชี้ ถึงที่สุด อย่าสะดุด อคติ มิสอบสวนควรดำริ ถูกผิด คิดทบทวน จึงเลิศล้วน ใสสุด ยุติธรรม(เอย) ฯ
By …… Ritti Janson
************************************

วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552

กะทิสอนธรรม

หนังสือเรื่อง “กะทิ สอนธรรม” นี้ มีความหมายโดยนัยว่า เป็นหนังสือ “ธรรมะ” อันเกี่ยวเนื่อง หรือมีความเกี่ยวข้องกับ “หมา(กะทิ)” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งตามหลักฐานในพระไตรปิฎกนั้น ปรากฏว่า ในหลายบทหลายตอนมี “หมา” เป็นตัวละครที่สำคัญ และในหลายๆครั้ง “หมา” ก็ได้กลายเป็นตัวอย่าง ที่พระพุทธองค์ทรงใช้ ตรัสสอนในเชิงอุปมาอุปไมย ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า “หมา” ก็มีบทบาทที่สำคัญ ในการเผยแ ผ่พระธรรมวินัย อย่างไม่น้อยหน้าใครๆเช่นกัน เชื่อว่า หลายๆท่านย่อมคุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมะ” เป็นอย่างดี และเชื่อได้ว่า ท่านทั้งหลาย ก็น่าจะคุ้นเคยกับ “หมา” เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน แต่หนังสือเล่มนี้ จะพาท่านไปพบกับสิ่งที่ท่านคุ้นเคยทั้งสองอย่างนี้ ในแง่มุมใหม่ๆ ซึ่งท่านอาจจะยังไม่เคยมองมาก่อนก็ได้

คำนำ

หนังสือเรื่อง “กะทิ สอนธรรม” นี้ มีความหมายโดยนัยว่า เป็นหนังสือ “ธรรมะ” อันเกี่ยวเนื่อง หรือมีความเกี่ยวข้องกับ “หมา(กะทิ)” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งตามหลักฐานในพระไตรปิฎกนั้น ปรากฏว่า ในหลายบทหลายตอนมี “หมา” เป็นตัวละครที่สำคัญ และในหลายๆครั้ง “หมา” ก็ได้กลายเป็นตัวอย่าง ที่พระพุทธองค์ทรงใช้ ตรัสสอนในเชิงอุปมาอุปไมย ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า “หมา” ก็มีบทบาทที่สำคัญ ในการเผยแ ผ่พระธรรมวินัย อย่างไม่น้อยหน้าใครๆเช่นกัน ผู้เขียนเชื่อว่า หลายๆท่านย่อมคุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมะ” เป็นอย่างดี และเชื่อได้ว่า ท่านทั้งหลาย ก็น่าจะคุ้นเคยกับ “หมา” เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน แต่หนังสือเล่มนี้ จะพาท่านไปพบกับ สิ่งที่ท่านคุ้นเคยทั้งสองอย่างนี้ ในแง่มุมใหม่ๆ ซึ่งท่านอาจจะยังไม่เคยมองมาก่อนก็ได้ อย่างไรก็ดี วิธีการเขียนหนังสือเล่มนี้อาจดูเหมือนประหนึ่งว่า ผู้เขียนกำลังตั้งกระทู้ในการเล่นเว็บบอร์ดอยู่ ดังนั้น วิธีการนำเสนอประเด็น การแตกประเด็นต่างๆ รวมถึงวิธีการนำเสนอข็อมูลหลักฐานต่างๆ จึงอาจจะไม่เหมือนหนังสือทั่วๆไปที่คุ้นเคยกัน เพราะผู้เขียนถือว่าตนเอง เป็นแค่เพียงเพื่อนร่วมสนทนาของผู้อ่านเท่านั้น มิได้คิดว่าเป็นผู้ทรงความรู้ ที่จะมาตั้งตนเป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนใครๆ ซึ่งนั่นก็ย่อมหมายความว่า ท่านผู้อ่านจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเชื่อตามความคิดเห็นของผู้เขียนเสมอไป ผู้อ่านย่อมมีสิทธิ อย่างเต็มที่ในการ คัดค้าน โต้แย้ง หรือแสดงความไม่เห็นด้วย ต่อความความคิดเห็นของผู้เขียนได้อย่างอิสระเสรี สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือ “กะทิ สอนธรรม” เล่มนี้ จะสามารถอำนวยประโยชน์ให้แก่ท่านผู้อ่าน ได้ตามสมควร

Ritti Janson

************************************

ตาเฒ่า “ชูชก” ร้องขอ ความเป็นธรรม (?)

ข้อความจาก มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์ชูชก(ความวัดสังกระจาย) มีดังนี้คือ“ทีนี้จะกล่าวถึงพราหมณ์พฤฒาทลิทยากยิ่งยาจก อันจะได้ไปยอยกซึ่งพระทานธุระ อันพระองค์เริศร้างละฝั่งใว้นี่ช้านาน เอโกพฺราหฺมโณ ยังมีทลิททาจารย์พราหมณ์ผู้เฒ่า อันบังเกิดแต่ตระกูลล้วนเหล่ายัญญหุตภุชงค์ สืบสันดานสัมพันธพงศ์โภวาทิกชาติ เฒ่ามีสันนิวาสเคหฐาน อยู่ในคามเขตละแวกบ้านทุนวิฐ ติดเนื่องกับเมืองกลิงคราชบุรี ทชีตาแกเป็นคนจนอัปรีย์ไร้ญาติยิ่งสถุล ทุคตะแค้นเคืองขุ่นข้องเข็ญใจ ภิกฺขาจริยาย ตาแกก็เที่ยวภิกขาจารไปปานด้วยเพศสกปรก เปรียบด้วยวณิพกยาจกจัณฑาล เฒ่าค่อยประสมประสานทรัพย์ใว้ทีละน้อย กหาปณสตํ สภิตฺวา ได้ทองถึงร้อยกษาปณ์เป็นลาภตามเข็ญใจ ครั้นจะเอาใว้กับตัวก็กลัวภัยคิดไปเห็นรวนเร เอกสมึ พฺราหฺมณกุเล ตาแกจึงรีบเร็วระรี่เร่อ ไปหาสกุลเกลอแห่งหนึ่ง อันเป็นที่ชอบพึงพอจะใว้ใจกันมาแต่ก่อน ทชีก็ปรับทุกร้อนทางจะอวดมีว่า ออเจ้าเอ๋ยออเจ้า เราค่อยมั่งคั่งขึ้นถึงเพียงนี้มีเสียกว่าออเจ้า แต่ว่าตัวเรานี้แก่เฒ่าเที่ยวไปค้างคืน เกลือกว่าค่ำมืดดึกดื่นพอหลับไหล ปะอ้ายคนจนโจรจัญไรเข้าแก้พก มันก็จะย่องหยิบยกยักเอาไปได้ ก็จะแคบเข็ญใจจนไม่พอที่จะยาก ฐเปตฺวา เฒ่าก็เฝ้าฝากพร่ำแล้วพร่ำเล่า ว่าเรามิให้ท่านเฝ้าเปล่าป่วยการ แล้วเถิดเราจะทดแทนคุณท่านให้ถึงใจเมื่อภายหลัง ปุน ธนํ ปริเยสนตฺถาย คโต เฒ่าโลโภตาแกโลภลาภไม่หยุดหย่อน ก็เที่ยวภิกขาจารกระเจิงจรไปจนจบ ครบคามเขตน้อยใหญ่ ด้วยว่ามันจักใคร่ใด้ให้จงหนักหนา ด้วยโลภเจตนานั้นแล ...... ฯลฯ”

ภิกขาจารไปปานด้วยเพศสกปรก (?)

ในประเด็นนี้ คงต้องขออนุญาติกล่าวด้วยความเคารพนะครับว่า ดูจะเป็นการแสดงให้เห็นภาพของตาเฒ่าชูชก อย่างไม่ถูกต้องเป็นธรรมนัก และไม่ว่าจะเป็นการกล่าวด้วยเจตนาหรือจะเกิดจากกลอนพาไปก็ตาม แต่การที่ไปวินิจฉัยว่า การดำรงชีพด้วยการภิกขาจาร(ขอทาน)ของเฒ่าชูชก เป็นการกระทำที่ “ต่ำ” หรือเป็นอาชีพ “ชั้นต่ำ” นั้นเป็นความเข้าใจที่ผิดโดยสิ้นเชิง หรืออย่างน้อยก็เป็นการวินิจฉัยด้วยมุมมองแบบชาวบ้านผู้ครองเรือนโดยทั่วไป ที่มองว่า “อาชีพขอทาน” นั้นเป็นอาชีพชั้นต่ำ เป็นการประกอบการงานที่ “น่ารังเกียจ” แต่แท้ที่จริง ตามหลักการที่ถูกต้องแล้ว การเป็นพราหมณ์ที่ดี จะต้องยังชีพด้วยการขอทานเท่านั้น ซึ่งต่อให้พราหมณ์ผู้นั้น มีฐานะร่ำรวย มีทรัพย์สมบัติมากมายปานใดก็ตาม ถ้าหากเขายังคิดจะเป็นพราหมณ์ที่ดีแล้วล่ะก็ เขาจะต้องยังชีพ ด้วยการออกภิกขาจารอยู่นั่นเอง นั่นหมายความว่า การที่ตาเฒ่าชูชก เที่ยวออกภิกขาจารนั้น นับว่าเขาได้กระทำ “กิจ” ตามหลักการที่ถูกต้องของการเป็นพราหมณ์ที่ดีแล้ว หาใช่เป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจแต่อย่างใดไม่ แต่ในทางกลับกัน ถ้าพราหมณ์ผู้ใด ไม่อาจยังชีพด้วยการ “ขอทาน” แต่กลับหันไปประกอบอาชีพอื่นๆ นั่นย่อมนับว่า เขาผู้นั้น มิใช่พราหมณ์ที่ดีอีกต่อไป ที่สำคัญก็คือ มีหลักการอยู่ว่า ถ้าพราหมณ์ผู้ใด ดำรงชีพด้วยการประกอบอาชีพของคนวรรณะอื่น ติดต่อกันถึง 7 ชั่วคน พราหมณ์ก็จะกลายเป็นคนของวรรณะนั้นทันที ตัวอย่างเช่น ถ้ามีพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง ยังชีพด้วยการเป็นคนรับใช้ของผู้อื่น (ซึ่งเป็นงานของพวกวรรณะศูทร) ติดต่อกันถึง 7 ชั่วคนแล้วล่ะก็ พราหมณ์นั้น ก็จะกลายเป็นคนในวรรณะศูทร มิได้เป็นคนในวรรณะพราหมณ์ อีกต่อไป !!!!

ที่สำคัญเหนืออื่นใดก็คือ พุทธศาสนิกชน อาจหลงลืมไปว่า แท้ที่จริงแล้ว พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเองก็เป็นผู้ที่ต้องยังชีพด้วยการ “ขอทาน” เหมือนกัน ก็คำว่า “ภิกษุ” หรือ “ภิกขุ” นั้นหมายถึง ผู้ที่ยังชีพด้วยการ “ภิกขาจาร” ซึ่งก็คือการ “ขอทาน” นั่นเอง และนี่ก็เป็นพุทธบัญญัติเสียด้วย หมายความว่า พระพุทธเจ้ามิทรงอนุญาติให้พระสงฆ์ประกอบอาชีพอื่นใดทั้งสิ้น แต่อนุญาติให้สามารถยังชีพได้ด้วยการ “ขอทาน” ชาวบ้านเขากินเท่านั้น ดังปรากฏอยู่ใน พระวินัยปิฎกดังนี้ว่า

“(พระพุทธองค์) รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ให้อุปสมบท บอกนิสสัย ๔ ว่าดังนี้นิสสัย ๔
1. บรรพชาอาศัยโภชนะคือคำข้าวอันหาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภ คือ ภัตถวายสงฆ์ ภัตเฉพาะสงฆ์ การนิมนต์ ภัตถวายตามสลากภัตถวายในปักษ์ ภัตถวายในวันอุโบสถ์ ภัตถวายในวันปาฏิบท.
2. บรรพชาอาศัยบังสุกุลจีวร เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภคือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าเจือกัน. (เช่นผ้าด้ายแกมไหม)
3. บรรพชา อาศัยโคนไม้เป็นเสนาสนะ เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิตอดิเรกลาภ คือ วิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น ถ้ำ.
4. บรรพชาอาศัยมูตรเน่าเป็นยา เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภคือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย.”

โดยอรรถกถาจารย์ อธิบายคำว่า “ภิกษุ” เอาใว้ดังนี้ “ ผู้ใดย่อมขอ เหตุนั้น ผู้นั้น ชื่อว่า ผู้ขอ. อธิบายว่า จะได้ก็ตาม ไม่ได้ก็ตาม ย่อมขอด้วยวิธีขออย่างประเสริฐ. ชื่อว่าผู้อาศัยการเที่ยวขอ เพราะเป็นผู้อาศัยการเที่ยวขอ ที่พระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงอาศัยแล้ว. จริงอยู่ บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งละกองโภคะน้อยหรือมาก ออกจากเรือนบวชไม่มีเรือน, บุคคลผู้นั้น ชื่อว่าอาศัยการเที่ยวขอ เพราะละการเลี้ยงชีวิตโดยกสิกรรม และโครักขกรรมเป็นต้นเสีย ยอมรับถือเพศนั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุ.อีกอย่างหนึ่ง แม้ฉันภัตในหาบอยู่ ในท่ามกลางวิหาร ก็ชื่อว่าอาศัย การเที่ยวขอ เพราะมีความเป็นอยู่เนื่องด้วยผู้อื่น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุ.อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอาศัยการเที่ยวขอ เพราะเป็นผู้เกิดอุตสาหะในบรรพชา อาศัยโภชนะ คือคำข้าวอันหาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุ”

เป็นอันว่า นับแต่นี้เราก็สามารถที่จะเข้าใจได้ตรงกันเสียทีนะครับว่า การที่ตาเฒ่าชูชก ยังชีพด้วยการขอทานนั้น มิได้เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ หรือน่าอับอาย แต่อย่างใดเลย แต่นั่นกลับเป็นการแสดงให้เห็นว่า ชูชก ได้ปฏิบัติตนอย่างเข้มงวดต่อหลักการเป็นพราหมณ์ที่ดี เฉกเช่นเดียวกันกับที่ พระสงฆ์ จะเป็นพระภิกษุที่ดีได้ ก็ต้องยังชีพด้วยการ ภิกขาจาร หรือที่เราอาจคุ้นเคยในชื่อว่า “บิณฑบาต” นั่นเอง แต่กล่าวโดยสรุปแล้วก็คือ พราหมณ์ที่ดี และพระภิกษุที่ดี ต้องยังชีพด้วยการขอทานนะครับจะไปประกอบอาชีพอย่างอื่นไม่ได้ ถือว่าผิด นั่นหมายความว่า ถ้าเราเห็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ได้ลาภผลใดๆก็ตาม ในลักษณะที่มิใช่ การขอทานเพื่อยังชีพ ก็เป็นอันว่า ท่านเหล่านั้น “ประพฤติผิด” พุทธบัญญัติ อย่างแน่นอน

เปรียบด้วยวณิพกยาจกจัณฑาล (?)

คำว่า “ยาจก” นั้นหมายถึงขอทาน ส่วนคำว่า “วณิพก” นั้นหมายถึง คนขอทานโดยใช้การร้องเพลง หรือการเล่นดนตรีเข้าแลกเปลี่ยน เมื่อกล่าวสำหรับ พราหมณ์เฒ่าชูชกแล้ว ย่อมถูกต้องเฉพาะคำว่า “ยาจก” แต่ไม่ถูกต้อง ถ้าจะเรียกชูชกว่า “วณิพก” ที่ซ้ำร้ายก็คือ ตาเฒ่าชูชก ไม่มีทางที่จะเป็น “จัณฑาล” ไปได้เลย ไม่ว่าจะด้วยกรณีใดๆก็ตาม !!!!ระบบวรรณะของอินเดียนั้น มีกฏเกณท์ที่ค่อนข้างจะเข้มงวดชัดเจน แม้ว่าจะมี วรรณสังกร(การแต่งงานข้ามวรรณะ) เกิดขึ้นมาในภายหลังก็ตาม แต่วรรณสังกรนั้นก็มีกฏเกณท์ที่ชัดเจนของมันอยู่เหมือนกัน และโดยเฉพาะกับเรื่องที่เกี่ยวกับ “จัณฑาล” โดยที่ วรรณะหลักๆ มีอยู่สี่วรรณะ ดังนี้คือ
1. กษัตริย์
2. พราหมณ์
3. แพศย์
4. ศูทร

ส่วนในเรื่องของ “วรรณสังกร” ขออธิบายโดยสังเขปดังนี้ คือ

(1) ถ้าบิดาเป็น กษัตริย์ มารดาเป็น พราหมณ์ ลูกที่เกิดมาเป็น วรรณะสูตะ มารดาเป็น แพศย์ ลูกที่เกิดมาเป็น วรรณะมาหิษยะ มารดาเป็น ศูทร ลูกที่เกิดมาเป็น วรรณะอุตระ
(2) ถ้าบิดาเป็น พราหมณ์มารดาเป็น กษัตริย์ ลูกที่เกิดมาเป็น วรรณะมูรธาวติกตะ มารดาเป็น แพศย์ ลูกที่เกิดมาเป็น วรรณะอัมพัษฐะ มารดาเป็น ศูทร ลูกที่เกิดมาเป็น วรรณะนิษาทะ(ปารศวะ)
(3) ถ้าบิดาเป็น แพศย์มารดาเป็น พราหมณ์ ลูกที่เกิดมาเป็น วรรณะไวเทหกะ มารดาเป็น กษัตริย์ ลูกที่เกิดมาเป็น วรรณะมาคธะ มารดาเป็น ศูทร ลูกที่เกิดมาเป็น วรรณะกรณะ
(4) ถ้าบิดาเป็น ศูทรมารดาเป็น พราหมณ์ ลูกที่เกิดมาเป็น วรรณะ “จัณฑาล” มารดาเป็น แพศย์ ลูกที่เกิดมาเป็น วรรณะอาโยควะ มารดาเป็น กษัตริย์ ลูกที่เกิดมาเป็น วรรณะกษัตตฺฤหมายความว่า คนในสังคมอินเดีย จะเป็นคนในวรรณะจัณฑาลได้นั้น มีอยู่กรณีเดียว นั่นคือ มีมารดาเป็นนางพราหมณี และมีบิดาเป็นคนในวรรณะศูทร ซึ่งคนในวรรณะจัณฑาล จะถูกกีดกันออกจากสังคม นั่นจึงหมายความว่า ถ้าคนเหล่านี้มีลูก ลูกของเขาก็จะเป็นคนรรณะจัณฑาลอยู่นั่นเอง ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นได้เลย ฉนั้น การที่เราไประบุว่า ตาเฒ่าชูชก เป็นพวกจัณฑาล จึงเป็นการพูดที่ไม่มีความถูกต้องเลยแม้แต่น้อย จนแม้แต่จะถือว่า นี่เป็นคำบริภาษที่ใช้ในภาษาไทย ก็ยังต้องนับว่า เป็นการ “บริภาษ” ที่เกินเหตุไปอยู่ดี !!!!

สามเกลอหัวแข็ง .... รวมพลคนขายชาติ




คำนำ

มหากาพย์รามายณะนั้น ได้ชื่อว่าเป็นขุมสมบัติทางวัฒนธรรมและวรรณคดีที่สำคัญของโลก อีกทั้งยังได้แพร่หลายไปในหลายๆประเทศในแถบเอเซียอาคเนย์ จนกระทั่งได้กลายมาเป็นรากฐานทางศิลปวัฒนธรรมในประเทศต่างๆเหล่านั้นในที่สุด และแม้ว่าประเทศไทยจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองพุทธ แต่ชาวพุทธทั้งหลายก็มักจะมีความรับรู้ต่อเรื่องราวของมหากาพย์เรื่องนี้อย่างหลับหูหลับตา ให้ความเชื่อถือในเรื่องราวเหล่านั้น ตามๆกันไป ทั้งๆที่เรื่องราวต่างๆในมหากาพย์รามายณะนั้น เป็นการจดบันทึกข้อความโดยพวกที่ได้ชื่อว่า “มิจฉาทิฐิ” ทั้งสิ้น มิหนำซ้ำ แม้ว่าเรื่องราวต่างๆในมหากาพย์รามายณะ จะแสดงให้เห็นถึงความทารุณป่าเถื่อนของพวกอารยัน ที่กระทำต่อชาวทราวิฑ ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองเดิม แต่เราในฐานะชาวพุทธ กลับพลอยเห็นดีเห็นงาม ต่อการกระทำชั่วร้ายเหล่านั้นไปกับเขาด้วย นั่นเพียงเพราะเรามัวแต่มึนเมาอยู่กับมายาคติที่ว่า พวกอารยันนั้นเป็น “ผู้ดี” เป็นผู้ที่อยู่ในศีลในธรรม เป็นฝ่ายที่พระเป็นเจ้าได้ทรงกำหนดใว้ให้เป็นผู้ปกครองโลก ทั้งที่โดยเนื้อแท้แล้ว เมื่อนำเอาความประพฤติและแนวคิดของชาวอารยันที่ปรากฏอยู่ในมหากาพย์รามายณะ มาวิเคราะห์เปรียบเทียบด้วยหลักธรรมในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็จะพบว่า บุคคลเหล่านั้น มักจะอยู่ในขอบข่ายของคนถ่อยสารเลวเสียมากกว่าที่จะเป็น “คนดี” หรือ “ผู้ดี” ตามที่พวกเขาเหล่านั้น พยายามที่จะสร้างภาพบิดเบือนเอาใว้ ดังนั้นผู้เขียนจึงหวังว่า จะสามารถนำเสนอมุมมองและแนวคิดใหม่ๆที่หลากหลาย ต่อท่านผู้อ่าน โดยหวังว่า ในฐานะชาวพุทธ เราจะสามารถข้ามพ้นมายาคติต่างๆที่อาจบดบังสายตาของเราอยู่ จนทำให้ไม่สามารถที่จะมองเห็นและแยกแยะความผิดถูกได้อย่างชัดเจนผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะเขียนหนังสือเล่มนี้ ให้ออกมาในลักษณะของหนังสืออ่านเล่นเท่านั้น มิได้มุ่งหวังให้เป็นหนังสือเชิงสารคดีแต่อย่างใด ฉนั้น มุมมองหรือว่าแนวคิดใดๆก็ตามของผู้เขียน จึงย่อมอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ อีกทั้งยังไม่มีความจำเป็นใดๆเลยที่ผู้อ่านจะต้องเชื่อถือตาม หมายความว่า ท่านผู้อ่านสามารถมีความเห็นแย้งต่อผู้เขียนได้ในทุกๆประเด็น ซึ่งผู้เขียนเองก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า มันก็ควรที่จะเป็นเช่นนั้น เพราะพระพุทธองค์ก็ตรัสสอนอยู่เสมอว่า มิให้หลงเชื่อตามคำ(สอน)ใดๆโดยง่าย ต่อเมื่อใดก็ตาม ที่ท่านทั้งหลายจะพึงรู้ได้ด้วยตนเองว่า สิ่งเหล่านี้เป็นกุศล สิ่งเหล่านี้ไม่มีโทษ สิ่งเหล่านี้เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล ฯลฯ เมื่อนั้นท่านทั้งหลายจึงค่อยเชื่อ สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มนี้ จะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านทั้งในด้านความบันเทิงใจ และในทางสร้างเสริมความคิดอ่านที่แตกฉานหลากหลายยิ่งๆขึ้นไป

Ritti Janson

************************************************

** อธิบายเกี่ยวกับ “พระอัยการลักษณะขบถศึก” และ “ริบราชบาทว์” **

พระอัยการลักษณะขบถศึกนี้ ท่านได้ทรงบัญญัติขึ้น ตามมูลคดีในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ดังนี้

1. ผู้ใดใจใหญ่ใฝ่สูงศักดิ์ มันขบถประทุษร้าย จะต่ำองค์พระมหากษัตริย์จากเศวตฉัตร
2. ทำร้ายพระองค์ด้วยโหรายาพิษ และด้วยเครื่องศาสตราวุธสรรพยุทธ ให้ถึงสิ้นพระชนม์
3. พระเจ้าอยู่หัวให้ผู้ใดไปรั้งเมือง ครองเมือง และมิได้เอาสุวรรณบุปผาและพัทยาเข้ามาถวายบังคมและแข็งเมือง
4. ผู้ใดเอาใจไปแผ่เผื่อข้าศึกศัตรู นัดแนะให้ยกเข้ามาเบียดเบียนพระนครขอบขัณฑเสมาธานีน้อยใหญ่
5. ผู้ใดเอากิจการบ้านเมืองแลกำลังเมืองแจ้งให้ข้าศึกฟัง

ถ้าผู้ใดทำดังกล่าวมานี้ เป็นความผิดมีโทษขั้นอุกฤษฎ์ 3 สถานคือ
1. ให้ริบราชบาทว์ ฆ่าเสียให้สิ้นทั้งโคตร
2. ให้ริบราชบาทว์ ฆ่าเสีย 7 ชั่วโคตร
3. ให้ริบราชบาทว์ แล้วให้ฆ่าเสีย โคตรนั้นอย่าให้เลี้ยงสืบไปเลย

เวลาที่ประหารนั้นห้ามท่านมิให้โลหิตและอาสภ ตกลงในแผ่นดิน ให้ใส่แพลอยเสียตามกระแสน้ำ แผ่นดิน 240000 โยชน์ ทรงพระเจ้าได้ถึงห้าพระองค์ และมิอาจทรงผู้อกตัญญูหาความสัจมิได้ ฯลฯนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ในพระอัยการขบถศึกยังบัญญัติการกระทำความผิดฐานขบถอื่นๆอีก เช่น
1. เป็นข้าพระเจ้าอยู่หัวเลี้ยงให้มียศใหญ่ คิดใหญ่ใฝ่สูง ประทุษร้ายต่อรบพุ่งเมืองท่าน
2. รู้ว่าผู้ใดทำขบถ เข้าด้วยพวกขบถ หรือไม่นำความมาเพ็ดทูล
3. ผู้รู้เห็นเข้าด้วยกับข้าศึกศัตรูต่างชาติที่แปลกปลอมเข้ามาคิดร้ายต่อแผ่นดิน
4. ข้าศึกจากต่างประเทศแปลกปลอมเข้ามา ให้อาศัยในบ้านตนเรือนตน
5. เป็นนายหมดนายกอง เวลามีศึกสงคราม กลับอพยพครอบครัวไปเข้าด้วยกับข้าศึก

ริบราชบาทว์ นั้นหมายถึง ริบทั้งหมดตั้งแต่ ลูกเมีย บ่าวไพร่ เอาเข้าบัญชีเป็นของกษัตริย์ทั้งหมด โดยธรรมดาแล้ว ผู้คนลูกเมียบ่าวไพร่ทั้งหมดก็จะกลายไปเป็น“ทาสหลวง”ไม่มีโอกาสไถ่ตัว ต้องเป็นทาสอยู่อย่างนั้นไปตลอดชีวิต

**** ใครผิดใครถูกอย่างไร ก็ต้องดูกันที่หลักการและกฏหมาย ****

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว สุครีพ อ้างว่าโกรธ พาลี ด้วยเหตุที่ถูกเนรเทศออกจากเมืองด้วยข้อหา “ขบถ” ส่วนพระราม ก็โกรธ พาลี เพราะเห็นว่า พาลี “บังอาจผิดเมีย(ของสุครีพ)” แต่เมื่อพิเคราะห์กันตามหลักการและข้อเท็จจริงแล้ว ดูเหมือนว่าจะเป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผลด้วยกันทั้งคู่ !!!!การที่รามายณะจดเอาใว้ว่า พาลี ต่อสู้กับ อสูรมายาวี อยู่ในถ้ำนานถึงหนึ่งปีนั้น เป็นการพูดที่รับฟังไม่ได้เอาเสียเลย ในรามเกียรติ์ของไทย ดีขึ้นมาหน่อยที่กล่าวว่า สุครีพเฝ้าอยู่หน้าถ้ำ 7 วัน แต่ไม่ว่าจะเป็นหนึ่งปี หรือเจ็ดวัน สุครีพก็ยังส่อแสดงให้เห็นเจตนาอยู่นั่นเองว่า เขาต้องการ ครองกรุงกีษกินธ์ เสียเอง เพราะนอกจาก สุครีพ จะไม่คิดแก้แค้นแทนพี่ต่างพ่อของตนแล้ว เขายังไม่แม้แต่จะคิดปลงศพของพี่ชาย ซึ่งเป็นถึงกษัตริย์แห่งกรุงกีษกินธ์ กลับมุ่งแต่จะตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์ และก็นั่งเมืองอยู่อย่างนั้น โดยมิได้อินังขังขอบ หรือใส่ใจกับศพของ “พี่ชาย” นั้นอีกเลย ด้วยพฤติการณ์ดังกล่าวมานี้ ถ้าไม่กล่าวว่า สุครีพ มีเจตนาฆ่าพี่ชายเพื่อชิงเมือง แล้วจะให้อธิบายว่าอย่างไร ?ฉนั้น เมื่อพิจารณาด้วยมุมมองของพาลี โดยมี “พระอัยการลักษณะขบถศึก” เป็นบรรทัดฐานแล้วล่ะก็ สุครีพและเหล่าขุนนางที่ร่วมกันยกสุครีพขึ้นเป็นกษัตริย์ ก็ย่อมมีความผิดฐานขบถอย่างมิต้องสงสัย ซึ่งโทษฐานขบถนั้น มีแต่ฟันคอริบราชบาทว์แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่น แต่การที่ สุครีพ ยังสามารถลอยนวลอยู่ได้ โดยโดนโทษเพียงแค่เนรเทศนั้น ย่อมนับได้ว่า เป็นพระมหากรุณาธิคุณ ของ “พาลี” อย่างหาที่สุดมิได้แล้ว แต่ สุครีพ“ลิงเนรคุณ” ผู้นี้ก็หาได้มีความสำนึกไม่ อีกทั้งข้อหา “บังอาจผิดเมีย” ที่พระรามอ้างเป็นเหตุว่าโกรธพาลีนั้น ก็ยิ่งรับฟังมิได้เลย เพราะที่จริงแล้ว ทั้งพระรามและสุครีพ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้นเขาทั้งสองก็น่าที่จะเข้าใจได้เป็นอย่างดีว่า การที่พาลีรับภรรยาของสุครีพมาเป็น “สนม” ของตนนั้น มิใช่เป็นเพราะตัณหาหน้ามืด แต่นี่เป็นเพียงวิธีเดียวที่จะช่วยมิให้ ภรรยาของสุครีพซึ่งเป็น “ผู้ดี” นั้นจะต้องมาตกระกำลำบาก หากจะต้องกลายเป็น “ทาสหลวง” อันเนื่องมาจากการริบราชบาทว์ สุครีพ ในข้อหาขบถนั่นเอง ส่วนในรามเกียรติ์ของไทยนั้น แก้ความข้อนี้ว่า พาลีแย่ง “นางดารา” ซึ่งพระอิศวรได้ฝากมาให้สุครีพ ตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว แต่โดยข้อเท็จจริง น่าจะเป็นการรับ ภรรยาของสุครีพ มาเป็นสนม เพื่อป้องกันการริบราชบาทว์ ในภายหลังเสียมากกว่า ฉนั้น สิ่งที่สุครีพและพระรามกล่าวออกมานั้น จึงยังมิใช่เหตุผลที่แท้จริง แต่ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรนั้น เราคงจะต้องพิจารณากันต่อไปข้างหน้า

************************************************

คดีฆาตกรรมนางสีดา

ในประเด็นที่กล่าวหาว่า พระรามแต่งงานกับนางสีดาด้วยเหตุผลในทางการเมืองนั้น ข้อกล่าวหานี้ จะมีความเด่นชัดขึ้นไปอีก ถ้าเราจะได้สังเกตพฤติกรรมของพระรามที่มีต่อนางสีดา หลังจากเสร็จศึกลงกาแล้ว ดังนี้

1. เมื่อเสร็จศึกลงกาแล้ว พระราม พระลักษมณ์ และนางสีดา จึงได้คืนกลับกรุงอโยธยา แต่ก่อนที่จะกลับนั้น นางสีดาได้ลุยไฟแสดงความบริสุทธิ์ของตน โดยมีบรรดาทวยเทพ พระอิศวร พระพรหม และท้าวทศรถ(ตายไปเป็นเทวดา)มาร่วมเป็นสักขีพยาน แต่หลังจากอยู่ในกรุงได้ไม่นาน เมื่อพระรามก็ได้ทราบถึงเสียงโจทก์ขานของชาวเมืองอโยธยาว่า เหตุใดพระรามจึงไม่ตั้งข้อรังเกียจนางสีดา ที่ไปอยู่กับยักษ์มานานสองนาน แต่ยังพากลับเข้าเมืองมาอีก และต่อไป ถ้าเมียใครประพฤติตนเช่นนี้บ้างก็ไม่ต้องรังเกียจกัน เพราะพระราชาได้ทรงทำเป็นตัวอย่างเอาใว้แล้ว พระรามได้อ้างว่า เพื่อรักษาเกียรติของตน แม้แต่ชีวิตก็สามารถสละได้ ดังนั้น พระรามจึง “เนรเทศนางสีดา”ออกจากเมือง โดยให้พระลักษมณ์หลอกว่าจะพาไปนมัสการ ฤษีชีไพรต่างๆในป่า

2. ในรามายณะ อุตตรกัณท์ กล่าวว่า หลังจากที่นางสีดาอยู่ในป่ามานานหลายปี ก็ได้หวนกลับเข้ามาในกรุงอโยธยาอีกครั้ง โดยอ้างว่าเป็นรับสั่งของพระรามว่า ถ้าหากนางบริสุทธิ์จริงก็ขอให้มาแสดงความบริสุทธิ์ต่อหน้าเหล่ากษัตริย์และพราหมณ์ทั้งหลาย (ทั้งๆที่นางสีดาก็เคยลุยไฟแสดงความบริสุทธิ์มาแล้วครั้งหนึ่ง ที่กรุงลงกาหลังเสร็จศึกลงกาใหม่ๆ) และแม้ฤษีวาลมีกิจะกล่าวยืนยันความบริสุทธิ์ของนางสีดาอย่างไรก็ตาม แต่พระรามก็ไม่ยอมเชื่ออยู่นั่นเอง สุดท้ายพระรามก็ยังยืนยันที่จะให้นางสีดาแสดงความบริสุทธิ์ให้ปรากฏแก่สายตาคนทั้งปวง โดยนางสีดาได้กล่าวคำปฏิญาณว่า “นางยังมิได้เคยนึกถึงผู้ใดนอกจากพระราม ด้วยอำนาจความสัตย์อันนี้ ขอให้แม่พระวสุนทรารับนางไปเถิด” กล่าวกันว่า ทันใดนั้นก็มีบัลลังก์ผุดขึ้นมาจากใต้พื้นดิน นางเทวีวสุนทราก็รับนางสีดาขึ้นนั่งบนบัลลังก์ แล้วบัลลังก์นั้นก็จมลงสู่พื้นดินเป็นที่อัศจรรย์ ทุกคนต่างพากันสรรเสริญนางสีดา

3. กล่าวโดยสรุปก็คือ หลังจากเสร็จศึกลงกาแล้ว ดูเหมือนว่านางสีดาจะไม่เป็นที่ต้องการของพระรามอีกต่อไป แต่จะเป็นด้วยเหตุผลกลใดนั้น ก็ยังมิอาจยืนยันได้ สาเหตุอาจจะเป็นเพราะ พระรามหมดรักหมดเยื่อใยต่อนางสีดา หรือเป็นเพราะเกิดความรังเกียจว่านางสีดาเคยต้องมือชายอื่น หรือจะด้วยเหตุผลที่ว่า นางสีดาหมดผลประโยชน์ในทางการเมืองแล้ว ทั้งหลายทั้งปวงนั้น ก็เป็นเหตุที่อาจคาดเดาไปได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ แม้ว่านางสีดาจะเคยลุยไฟพิสูจน์ความบริสุทธิ์มาแล้ว แต่นางก็ยังถูกพระรามเนรเทศออกจากกรุงอโยธยาอยู่ดี และหลายปีหลังจากนั้น พระรามก็เรียกนางสีดาเข้าเมืองมา “เพื่อแสดงความบริสุทธิ์” ต่อหน้าผู้คนทั้งปวง ขอให้สังเกตนะครับว่า พระรามยืนยันอย่างหนักแน่นทีเดียวว่า นางสีดาจะต้องแสดงความบริสุทธิ์ของตนต่อหน้าผู้อื่นเท่านั้น ฉนั้น ถ้าเราจะลอกเอาสิ่งที่เป็น “กาก” หรือ “เปลือก” ออกไปให้หมด เราก็จะเข้าใจในทันทีว่า ที่แท้แล้ว พระรามกำลังพยายามบีบบังคับให้นางสีดา “ฆ่าตัวตาย” เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์นั่นเอง ซึ่งเมื่อพิจารณาตามเนื้อความที่ปรากฏแล้ว ก็ย่อมหมายความว่า การที่นางสีดาจะสามารถแสดงความบริสุทธิ์ของตนเองได้นั้น มีอยู่เพียงหนทางเดียวนั่นคือ นางสีดาจะต้องยอมที่จะถูก “ฝังทั้งเป็น” นั่นจึงหมายความว่า นิยายปรำปราเรื่อง “บัลลังก์ผุดขึ้นมาจากใต้ดิน” โดยมีนางเทวีวสุนทรา มารับนางสีดาลงไปโลกบาดาลนั้น เป็นเพียงการเสกสรรปั้นเรื่องของพวกฤษีชีพราหมณ์ผู้จดคัมภีร์ เพื่อกลบเกลื่อน “คดีฆาตกรรมนางสีดา” เท่านั้นเอง !!!!