วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553

วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

ตอบกระทู้ ..... การ พยายาม-จงใจ-ตั้งใจ ฝึกเจริญสติ เป็นสภาวะผิดพลาด จริงหรือ ?

การ พยายาม/จงใจ/ตั้งใจ ฝึกเจริญสติ เป็นสภาวะผิดพลาด จริงหรือ ?
http://www.antiwimutti.net/forum/index.php?topic=328.0









Download คลิกที่นี่

วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2553

พระพุทธศาสนาในประเทศไทย ยังได้ชื่อว่าเถรวาทอยู่อีกหรือไม่ ?


วิสัชนา ....

เพียง ๗ วัน หลังจากพุทธปรินิพพาน ความร้าวฉานภายในคณะสงฆ์ก็บังเกิดขึ้นอย่างโจ่งแจ้ง โดยมีสาเหตุมาจาก ภิกษุบวชเมื่อแก่รูปหนึ่งชื่อ สุภัททะ(สุภัททะวุฒบรรพชิต) ซึ่งได้แสดงความดีใจในการปรินิพพานของพระพุทธองค์ กับทั้งยังได้กล่าววาจาจาบจ้วงพระธรรมวินัย ปรากฏความดังนี้ว่า “อย่าเลยอาวุโส พวกท่านอย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไรไปเลย พวกเราพ้นดีแล้ว ด้วยว่าพระมหาสมณะนั้น เบียดเบียนพวกเราอยู่ว่า สิ่งนี้ควรแก่เธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่เธอ ก็บัดนี้ พวกเราปรารถนาสิ่งใด ก็จักกระทำสิ่งนั้น ไม่ปรารถนาสิ่งใด ก็จักไม่กระทำสิ่งนั้น”

พระมหากัสสปเถระเมื่อทราบความนั้นก็เกิดธรรมสังเวช จึงดำริว่า “ท่านทั้งหลาย พวกเราจงสังคายนา พระธรรมและพระวินัยเถิด ในภายหน้าสภาวะมิใช่ธรรมจักรุ่งเรือง ธรรมจักเสื่อมถอย สภาวะมิใช่วินัยจักรุ่งเรือง วินัยจักเสื่อมถอย ภายหน้าอธรรมวาทีบุคคลจะมีกำลัง ธรรมวาทีบุคคลจักเสื่อมกำลัง อวินยวาทีบุคคลจักมีกำลัง วินยวาทีบุคคล จักเสื่อมกำลัง” ก็ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ปฐมสังคายนาจึงได้เกิดขึ้นหลังจากพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน ณ สัตตบรรณคูหา เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมีท่านพระมหากัสสปเถระเป็นประธานและเป็นผู้ซักถามพระธรรมวินัย ท่านพระอุบาลีเป็นผู้ตอบข้อซักถามในส่วนที่เกี่ยวกับพระวินัย และท่านพระอานนท์เป็นผู้ตอบข้อซักถามในส่วนของพระธรรม ทั้งนี้ มีพระอรหันต์ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมประชุมจำนวนทั้งสิ้น ๕๐๐ รูป พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อุปถัมภก กระทำอยู่ ๗ เดือนจึงสำเร็จ

ในปฐมสังคายนาครั้งนั้น ประเด็นปัญหาบางประการได้เกิดขึ้นในที่ประชุมสงฆ์ คือเมื่อท่านพระอานนท์ได้ชี้แจงต่อพระเถระทั้งหลายว่า “ท่านเจ้าข้า เมื่อจวนจะปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะข้าพเจ้าว่า ดูกรอานนท์ เมื่อ เราล่วงไป สงฆ์หวังอยู่จะพึงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียก็ได้” แต่เมื่อพระเถระทั้งหลายถาม ท่านพระอานนท์ ว่าท่านได้ทูลถามพระพุทธองค์หรือไม่ว่า สิกขาบทเหล่าไหน ที่เป็นสิกขาบทเล็กน้อย ท่านพระอานนท์กลับตอบว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ก็สิกขาบทเหล่าไหน เป็นสิกขาบทเล็กน้อย” ในประเด็นพุทธานุญาตให้เพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้นั้น เหล่าพระอรหันตเถระในที่ประชุม มีความเห็นที่แตกต่างกันไปดังต่อไปนี้คือ ….

 พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
 พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
 พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้น อนิยต ๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
 พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้น อนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
 พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้น อนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
 พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้น อนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ เว้นปาฏิเทสนียะ ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย ฯ

และเมื่อพระอรหันตเถระในที่ประชุม มีมติที่แตกต่างกันเช่นนี้ ท่านพระมหากัสสปะจึงได้ประกาศให้สงฆ์ทราบดังนี้ว่า “แม้พวกคฤหัสถ์ก็รู้ว่า สิ่งนี้ควรแก่พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร สิ่งนี้ไม่ควร ถ้าพวกเราจักถอนสิกขาบทเล็กน้อย เสีย จักมีผู้กล่าวว่า พระสมณโคดมบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลายเป็นกาลชั่วคราว พระศาสดาของพระสมณะเหล่านี้ยังดำรงอยู่ตราบใดสาวกเหล่านี้ยังศึกษาในสิกขาบททั้งหลายตราบนั้น เพราะเหตุที่พระศาสดาของพระสมณะเหล่านี้ปรินิพพานแล้ว พระสมณะเหล่านี้จึงไม่ศึกษาในสิกขาบททั้งหลายในบัดนี้ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์ไม่พึงบัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติไม่พึงถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว พึงสมาทานประพฤติ ในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติแล้ว นี้เป็นญัตติ”
จากนั้นท่านพระมหากัสสปะจึงขอมติจากที่ประชุมความว่า “(หาก)ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง (หาก)ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด” และเมื่อคณะสงฆ์ต่าง “นิ่ง” อยู่ดังนี้ จึงเป็นอันว่ามติ “สงฆ์ไม่พึงบัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่พึงถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว” เป็นมติอันสำคัญของคณะสงฆ์ซึ่งพระอรหันตเถระ ๕๐๐ รูป เมื่อครั้งปฐมสังคายนาให้การรับรองแล้ว และนับแต่นั้นเป็นต้นมา จึงเรียกคณะสงฆ์ผู้ถือตามแนวมติของพระอรหันตเถระเมื่อครั้งปฐมสังคายนานี้อย่างเคร่งครัดว่า พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท

ในสมัยนั้นนั่นเอง ก็ได้เกิดเหตุการณ์อันเป็นเค้าลางสำคัญของความแตกแยกของคณะสงฆ์ ด้วยเหตุแห่งพระธรรมวินัยคือ เมื่อท่านพระปุราณะซึ่งเที่ยวจาริกในชนบททักขิณาคิรี พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ได้เข้าไปหาพระเถระทั้งหลาย ที่พระวิหารเวฬุวัน เขตพระนครราชคฤห์ พระเถระทั้งหลายได้กล่าวกับท่านพระปุราณะว่า พระเถระทั้งหลายได้สังคายนาพระธรรมวินัยแล้ว ท่านจงรับรู้พระธรรมวินัยนั้นที่พระเถระทั้งหลายสังคายนานั้นด้วย แต่ท่านพระปุราณะกล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย พระเถระทั้งหลาย สังคายนา พระธรรมและพระวินัยเรียบร้อยแล้วหรือ แต่ว่า ข้าพเจ้าได้ฟัง ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคด้วยประการใด จักทรงไว้ด้วยประการนั้น ฯ” แปลความได้ว่า กล่าวสำหรับท่านพระปุราณะแล้ว ท่านมิได้ปฏิเสธการสังคายนาครั้งนั้น แต่ท่านก็มิได้กล่าวรับรอง โดยอ้างว่า ตนเคยได้ฟังได้รู้จากพระพุทธองค์มาอย่างไร ก็จะรักษามาอย่างนั้น

กำเนิด สงฆ์หมู่ใหญ่(มหาสังฆิกะ)

หลังพุทธปรินิพพานได้ประมาณ ๑๐๐ ปี ก็ได้เกิดเหตุแห่งความแตกแยกขนานใหญ่ขึ้น เมื่อภิกษุชาวเมืองเวสาลี แคว้นวัชชี แตกกันเป็น ๒ ฝ่าย อันเนื่องมาจากความเห็นขัดแย้งกันเรื่องวัตถุ ๑๐ ประการ โดยพวกหนึ่งเห็นว่า วัตถุ ๑๐ ประการนี้ชอบด้วยพระธรรมวินัย แต่อีกพวกเห็นว่า ไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัย จึงเกิดการโต้เถียงขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ครั้งนั้น ท่านพระยสะกากัณฑกบุตร ซึ่งเดินทางมาจากเมืองโกสัมพี เมื่อได้มารู้เห็นเหตุการณ์ในเมืองเวสาลี จึงได้กล่าวห้ามปราม แต่ภิกษุวัชชีบุตรก็หาได้เชื่อฟังไม่

ต่อมาภิกษุวัชชีบุตรเหล่านั้นได้นำถาดมาใส่น้ำจนเต็มแล้วตั้งไว้ในโรงอุโบสถ ให้ทายกทายิกาใส่เงินลงไปในถาดนั้นเพื่อถวายภิกษุ หลังจากนั้นภิกษุวัชชีบุตรก็ได้นำเงินมาแบ่งกัน พร้อมทั้งแบ่งเงินส่วนหนึ่งให้กับท่านพระยสะด้วย แต่ท่านพระยสะไม่ยอมรับ อีกทั้งยังกล่าวติเตียนภิกษุเหล่านั้นด้วยว่า การกระทำเช่นนี้ขัดต่อพุทธบัญญัติ เป็นความผิดทั้งผู้รับและผู้ถวาย ภิกษุวัชชีบุตรเหล่านั้นนอกจากจะไม่สำนึกผิดใดๆแล้ว พวกเขายังพยายามบีบบังคับให้ท่านพระยสะไปขอขมาโทษต่อทายกทายิกาผู้ถวายเงินเสียอีก(ปฏิสารนียกรรม) ซึ่งท่านพระยสะก็มิได้ขอขมาโทษใดๆ แต่กลับไปอธิบายต่อทายกทายิกาเหล่านั้นโดยเอนกปริยายว่า ตามที่ท่านพระยสะปฏิบัติมานั้น เป็นการชอบด้วยพระธรรมวินัยแล้ว เมื่อเหล่าทายกเข้าใจความทั้งหมดก็เกิดความเลื่อมใสต่อท่านพระยสะเป็นอันมาก เป็นเหตุให้ภิกษุวัชชีบุตรเหล่านั้นโกรธ จึงคิดจะลงโทษท่านพระยสะด้วยการยกออกจากหมู่(อุกเขปนียกรรม) ซึ่งที่จริงแล้ว การลงโทษด้วยการยกออกจากหมู่ จะใช้ก็แต่ในกรณีที่ ภิกษุนั้นไม่เห็นอาบัติ ไม่ทำคืนอาบัติไม่เลิกละความเห็นที่ชั่ว ฯ แต่ภิกษุวัชชีบุตรเหล่านั้น กลับใช้พวกมาก พากันมาล้อมกุฏิของท่านพระยสะเพื่อบังคับลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม เป็นแต่ว่าท่านพระยสะทราบความเสียก่อน จึงหลบหนีออกไปได้

หลังจากนั้น จึงเกิดกระบวนการเพื่อสังคายนาพระธรรมวินัยโดยมีมูลเหตุจาก วัตถุ ๑๐ ประการ ของภิกษุวัชชีบุตร กระทำสังคายนากันที่ วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี มีพระสงฆ์ประชุมกันจำนวน ๗๐๐ รูป ใช้เวลาในการสังคายนา ๘ เดือน จึงสำเร็จ

ส่วนพวกภิกษุวัชชีบุตร ก็ได้เที่ยวชักชวนคณะภิกษุต่างๆที่มีความคิดเห็นอย่างเดียวกัน และที่มีความประสงค์จะดัดแปลงแก้ไขพระธรรมวินัยเข้าเป็นพวกเดียวกัน ซึ่งมีจำนวนมากนับหมื่นเลยทีเดียว จากนั้นจึงพากันประชุมสังคายนาขึ้นใหม่ ณ ปุปผนคร(ปาฏลีบุตร) เรียกว่า “มหาสังคีติ” หมายถึง การสังคายนาของพวกมาก และเรียกพวกของตนเองว่า “มหาสังฆิกะ” แปลว่า สงฆ์หมู่ใหญ่

นับจากนี้ไป พระพุทธศาสนาจึงได้แตกแยกออกเป็นนิกายใหญ่ ๒ นิกายอย่างเป็นทางการแล้วคือ สงฆ์ที่เคารพนับถือมติของพระอรหันตเถระเมื่อครั้งปฐมสังคายนาพวกหนึ่ง เรียกว่าฝ่ายเถรวาท และสงฆ์ที่ถือเอามติของอาจารย์ตนอีกพวกหนึ่ง เรียกว่าฝ่ายอาจาริยวาท หรือก็คือ ต้นกำเนิดของนิกายมหายานในสมัยต่อมานั่นเอง

วัตถุ ๑๐ ประการ ของภิกษุวัชชีบุตร กับ ความเป็น “เถรวาท”

ตามแนวทางปฏิบัติของชาวพุทธเถรวาท ย่อมเห็นว่า “พระธรรมวินัย” ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสเอาไว้ดีแล้วนั้นเป็นสิ่งที่มิอาจล่วงละเมิดได้ ด้วยเหตุที่ “ธรรมและวินัยอันใด เรา(ตถาคต)แสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอโดยกาลล่วงไปแห่งเรา(ตถาคต)” พร้อมกันนั้น พุทธเถรวาทจะต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “สงฆ์ไม่พึงบัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่พึงถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว” ซึ่งเป็นมติของพระอรหันตเถระ ๕๐๐ รูป เมื่อครั้งปฐมสังคายนา

ธรรมเนียมการรักษาพระธรรมวินัยอย่างเข้มงวดกวดขันนี้ นับได้ว่ามีความสำคัญต่อความอยู่รอดของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง พระพุทธองค์เคยตรัสเอาไว้ว่า “ดูกรกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในศาสดา เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในธรรม เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสงฆ์ เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสิกขา เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงกันและกัน ดูกรกิมพิละ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้พระสัทธรรมไม่ดำรงอยู่นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว”

แต่กระนั้น เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบแล้วจะพบว่า วัตถุ ๑๐ ประการของภิกษุวัชชีบุตร ก็ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ไร้เหตุไร้ผลไปเสียทั้งหมด เพราะเอาเข้าจริงแล้ว เหตุผลและหลักฐานของภิกษุวัชชีบุตร ก็พอที่จะรับฟังได้เช่นกัน แม้ว่าจะขัดต่อหลักการของพุทธศาสนานิกายเถรวาทก็ตาม โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

(๑) ภิกษุสะสมเกลือใส่ในกลักเป็นต้น แล้วนำไปผสมกับอาหารอื่น ฉันได้ไม่อาบัติ
(๒) ภิกษุฉันอาหารในเวลาตะวันบ่ายล่วงไปแล้ว ๒ องคุลีได้ไม่อาบัติ
(๓) ภิกษุฉันอาหารในวัดแล้วเข้าไปในบ้าน เขาถวายอาหารให้ฉันอีกในวันเดียวกันนั้น ภิกษุมิได้ทำวินัยกรรมมาก่อน ก็ฉันได้ไม่อาบัติ
(๔) อาวาสใหญ่ กำหนดสีมาอันเดียวกัน จะทำอุโบสถในที่ต่างๆกัน ถือว่าไม่อาบัติ
(๕) ถ้าภิกษุที่ควรนำฉันทะมามีอยู่ แต่มิได้นำมา จะทำอุโบสถกรรมเสียก่อนก็ควร
(๖) ข้อปฏิบัติใดที่เคยประพฤติตามกันมา แต่พระอุปัชฌาย์อาจารย์แม้จะประพฤติผิด ก็ควรประพฤติตามท่านได้
(๗) ภิกษุฉันอาหารแล้ว ยังมิได้ทำวินัยกรรมก่อน ฉันนมสดที่ยังมิได้แปรเป็นนมส้มก่อนก็ควร
(๘) ภิกษุฉันเหล้าอ่อนๆที่ยังมิได้เป็นน้ำสุราได้ ไม่อาบัติ
(๙) ภิกษุใช้ผ้านีสีทนะที่ไม่มีชายก็ควร
(๑๐) ภิกษุจะรับเงินและทองก็ได้ ไม่อาบัติ

ประเด็นที่สำคัญที่สุดในการพิจารณาเรื่องนี้ก็คือ ความหนักเบาของความผิด และ สภาพข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของคณะสงฆ์เถรวาทในประเทศไทย
จำเพาะในกรณีของวัตถุ ๑๐ ประการของภิกษุวัชชีบุตรนั้น ขอให้ชาวพุทธเถรวาท โดยเฉพาะที่อยู่ในประเทศไทยนั้น ควรที่จะทำความเข้าใจให้ดียิ่งขึ้นว่า แท้ที่จริงแล้ว วัตถุ ๑๐ ประการของภิกษุวัชชีบุตร ก็เป็นเพียงแค่อาบัติเล็กน้อยเท่านั้น คือส่วนใหญ่แล้วก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ดังตัวอย่างเช่น กรณีที่ภิกษุวัชชีบุตร สะสมเกลือเอาไว้ใส่อาหารในภายหลังนั้น ขัดกับสิกขาบทในโภชนวรรค ความว่า “อนึ่ง ภิกษุใด เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี ที่ทำการสั่งสม เป็นปาจิตตีย์”

หรือในกรณี ภิกษุฉันอาหารในเวลาตะวันบ่ายล่วงไปแล้ว ๒ องคุลี ซึ่งขัดกับ พระบัญญัติความว่า “อนึ่ง ภิกษุใด เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี ในเวลาวิกาล เป็นปาจิตตีย์” โดยในสิกขาบทวิภังค์ ได้อธิบายความหมายของคำว่า “เวลาวิกาล” หมายถึง “ตั้งแต่เวลาเที่ยงวันล่วงแล้วไปจนถึงอรุณขึ้น” คำถามที่น่าเกิดขึ้นในใจของชาวพุทธเถรวาทโดยทั่วไปก็คือ ทั้งการสะสมเกลือ และการฉันอาหารหลังเที่ยงของภิกษุวัชชีบุตร ที่มักจะได้รับการดูหมิ่นถิ่นแคลนนักหนา ว่าเป็นความย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัยนั้น มันแตกต่างอะไรกับที่ ภิกษุชาวไทยซึ่งอ้างตนว่าเป็นภิกษุเถรวาทโดยส่วนใหญ่นั้น ก็ล้วนแล้วแต่ ทำการสะสมอาหารต่างๆเอาไว้มากมายในกุฏิ(ของตน) ซึ่งยังไม่นับการปรุงอาหารต่างๆเหล่านั้นฉันกันเองในที่รโหฐานยามวิกาล โดยไม่ว่าภิกษุเหล่านั้นจะอ้างถึงเหตุผลอันจำเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่ก็ตาม แต่คำถามที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ก็คือ ท่านทั้งหลาย ยังจะได้ชื่อว่าเป็นภิกษุเถรวาทอยู่อีกละหรือ เมื่อนำความประพฤติของท่านมาเปรียบเทียบกับภิกษุวัชชีบุตรเหล่านั้น (?)

เรื่องของเงินทอง .... ที่น่าเสียดาย

ส่วนในประเด็นที่ว่า ภิกษุจะสามารถรับเงินทองได้หรือไม่นั้น ก็ได้เคยมีกรณีศึกษามาแล้วในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ของเรานี่เอง ความว่า สมเด็จพระสังฆราช(ชื่น) วัดหงส์ ซึ่งต่อมาถูกลดสมณศักดิ์ลงเป็นพระวันรัตน์ ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ได้เคยถวายพระพร พระเจ้าอยู่หัวว่า การที่ฝ่ายอาณาจักรถวายนิตยภัตเป็นเงินตรา แทนการถวายข้าวปลาอาหารดังแต่เก่าก่อนนั้น ผิดพุทธบัญญัติพระวินัย อันจะเป็นเหตุให้พระภิกษุทั้งหลายต้องอาบัตินิคสัคคีย์ปาจิตตีย์เอาได้ง่ายๆ

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบความดังนั้น จึงมีพระราชศรัทธาถวายนิตยภัตเป็นข้าวปลาอาหารตามเดิม เพื่อสำแดงพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไปว่า นอกจากจะทรงให้การอุปถัมภ์ต่อคณะสงฆ์แล้ว ยังได้ทรงกระทำการต่างๆด้วยความเอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะที่ทรงเป็นพุทธมามกะ แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เมื่อในภายหลัง พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบความว่า พระวันรัตน์(ชื่น) นั้นเองกลับนำข้าวของพระราชทาน ไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินกับจีนพ่อค้า ซึ่งในครานั้น พระเจ้าอยู่หัวกริ้วมาก จึงทรงลดสมณศักดิ์ พระวันรัตน์(ชื่น) ลงเป็นพระธรรมธิราราชมุนี(ชั้นสามัญเทียบเท่าพระครูเมืองระยอง) และหลังจากนั้น พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงถวายนิตยภัตเป็นเงินตามเดิม

ที่กล่าวว่าน่าเสียดายนั้นเป็นเพราะ แท้ที่จริงแล้ว คำถวายพระพรของพระวันรัตน์(ชื่น) ที่กล่าวว่าการถวายนิตยภัตเป็นเงินตราผิดพุทธบัญญัตินั้นเป็นหลักการที่ถูกต้องอย่างแน่นอน ดังปรากฏในพระวินัยปิฎกความว่า “อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์” ซึ่งเมื่อภิกษุต้องอาบัตินี้แล้ว ท่านจะต้องสละ(สิ่งของนั้น)ให้แก่สงฆ์เสียก่อนจึงจะสามารถปลงอาบัติได้
แต่การที่ พระวันรัตน์(ชื่น) กลับนำข้าวของพระราชทาน ไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินกับจีนพ่อค้า จึงเท่ากับว่า ท่านได้ทำผิดพุทธบัญญัติถึง ๓ ประการคือ ….

(๑) โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๘ ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์
(๒) โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๙ ภิกษุใดถึงความซื้อขาย ด้วยรูปิยะมีประการต่างๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์
(๓) โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ ภิกษุใดถึงการแลกเปลี่ยนมีประการต่างๆ เป็นนิสสัคคิปาจิตตีย์
นั่นจึงเท่ากับว่า ด้วยเหตุแห่งความประพฤติส่วนตัวของพระวันรัตน์(ชื่น) เพียงรูปเดียว กลับทำให้สังคมไทย ต้องพลาดไปจากหลักการที่ถูกต้อง อันเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติของฝ่ายอาณาจักรต่อฝ่ายศาสนจักร ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อสภาพของคณะสงฆ์และสังคมไทยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคสมัยแห่งการบริโภคและการสะสมอย่างไม่รู้จักพอ ดังนั้น จึงอาจนับได้ว่า เหตุการณ์สำคัญครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดความสูญเสีย ต่อความบริสุทธิ์ในหลักการอันถูกต้องดีงามอย่างที่ควรจะเป็น อันจะมีผลต่อการดำรงอยู่หรือการดับสูญ ของคณะสงฆ์ไทยฝ่ายเถรวาทในอนาคตอย่างที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้

นรินทร์กลึง รับกรรม

ครั้งหนึ่ง นายนรินทร์กลึง(เกิด พศ.๒๔๑๗) ได้เกิดความคิดเห็นขึ้นมาว่า การสะสมทรัพย์สินของคณะสงฆ์ นั้นสวนทางกับความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งตกทุกข์ได้ยากเนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำ เขายังเห็นอีกว่า การที่ความมั่งคั่งร่ำรวย ไปกระจุกตัวอยู่ในคณะสงฆ์นั้น เป็นผลจากการนับถือศาสนาอย่างงมงายของพุทธศาสนิกชน ดังนั้น นายนรินทร์กลึง จึงได้ทำหนังสือขอให้รัฐบาลเลิกจ่ายเงินนิตยภัตแก่พระสงฆ์ จนในที่สุด เขาก็ได้ทูลขอให้สมเด็จพระสังฆราช(ในขณะนั้น)สละทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ภายในตำหนักของพระองค์ ทั้งนี้เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ภิกษุทั้งหลายในคณะสงฆ์ ผลก็คือ นายนรินทร์กลึง ถูกจับข้อหาหมิ่นสังฆราช และหมิ่นศาล ถูกตัดสินจำคุกนาน 6 เดือน !!!!

กล่าวสำหรับสภาพสังคมยุคทุนนิยมในปัจจุบันนี้ ประเด็นพระสงฆ์กับทรัพย์สินเงินทอง นับได้ว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจาก ลักษณะโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมซึ่งมุ่งเน้นหรือให้ความสำคัญกับทุนเป็นอย่างมากนั้น ย่อมมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ความบริสุทธิ์แห่งศีลของภิกษุทั้งหลายเกิดความมัวหมองได้ง่าย ดังกรณีที่ภิกษุ “ยินดี” ในการรับเงินทองจากทายกทายิกาอยู่เป็นประจำ โดยที่มิได้สละเงินทองเหล่านั้นให้แก่สงฆ์และปลงอาบัตินั้น ย่อมเป็นเหตุให้คณะสงฆ์เกิดความมัวหมองเพราะความย่อหย่อนในพระธรรมวินัย อีกทั้งการต้องอาบัติเป็นอาจิณนั้น ย่อมเป็นเหตุให้ทั้งกายและจิตของภิกษุเหล่านั้น มิอาจเกิดความสงบรำงับลงได้ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงทำให้ปฏิบัติและปฏิเวธขาดความเจริญก้าวหน้าในท้ายที่สุด
ปัญหาที่จะต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วนก็คือ ท่านทั้งหลายในฐานะพุทธศาสนิกชน(เถรวาท) จะมีวิธีการอย่างไร ในการทำนุบำรุงพระศาสนา อันหมายถึง ภิกษุภิกษุณีสามเณรและสามเณรี ได้อย่างสมยุคสมัย(ทุนนิยม) อีกทั้งยังสามารถเอื้อเฟื้อต่อการรักษาพระธรรมวินัย ของคณะสงฆ์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและดีงาม

ความเป็นจริง ที่ต้องหลับตามอง

หากพุทธศาสนิกชน ยังไม่อาจยอมรับกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับคณะสงฆ์ ในความย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัยอันเกิดจาก ความไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย(ทุนนิยม)ได้อย่างรู้เท่าทัน ของคณะสงฆ์โดยรวม ก็ขอให้ท่านทั้งหลายจงหลับตาลง และพิจารณาทุกสิ่งอย่างตามความเป็นจริงดังนี้ว่า โดยเนื้อแท้แล้ว เมื่อนำความประพฤติโดยภาพรวมของภิกษุทั้งหลายในปัจจุบันนี้ ไปเทียบกับ ความประพฤติของภิกษุวัชชีบุตร ในสมัยทุตติยสังคายนา นั้นเกือบจะไม่มีความแตกต่างกัน ที่ใช้คำว่า “เกือบจะ” นั้นมีความหมายว่า ถ้าจะพิจารณากันอย่างจริงจังแล้ว โดยภาพรวมภิกษุในคณะสงฆ์สมัยนี้มีความย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัยมากกว่า ภิกษุวัชชีบุตรในสมัยทุตติยสังคายนานั้นอย่างมิอาจเปรียบได้เลย !!!!

ดังการที่ภิกษุวัชชีบุตรกล่าวว่า “ข้อปฏิบัติใดที่เคยประพฤติตามกันมา แต่พระอุปัชฌาย์อาจารย์แม้จะประพฤติผิด ก็ควรประพฤติตามท่านได้” นั้นแตกต่างกันตรงไหนกับธรรมเนียมการปฏิบัติของภิกษุในคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบันนี้ เพราะดูเหมือนว่า ภิกษุเก้อยากหลายๆตน ก็มักจะแอบอ้าง “ความกตัญญู” ต่อครูบาอาจารย์โดยการรับเชื่อและสืบต่อการปฏิบัติต่างๆของอาจารย์ตน โดยไม่เคยแยแสเลยว่า สิ่งเหล่านั้นจะผิดพุทธบัญญัติหรือไม่ ก็ด้วยการประพฤติปฏิบัติกันเยี่ยงนี้ ซึ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับ วัตถุ ๑๐ ประการ ของภิกษุวัชชีบุตรแล้ว ขอถามว่า มันแตกต่างกันตรงไหน และที่สำคัญก็คือ ด้วยการปฏิบัติเยี่ยงนี้เรายังอาจเรียกตนเองว่า “พุทธเถรวาท” ได้อยู่อีกหรือไม่ (?)

มีข้อเท็จจริงบางอย่าง อันเกี่ยวกับวัตรปฏิบัติขององค์กรการปกครองคณะสงฆ์ไทย ที่ชาวพุทธเถรวาทมิอาจ “ลืมตามอง” ด้วยความเข้าใจได้เลยก็คือ การปล่อยปละละเลยให้คณะสงฆ์เต็มไปด้วย “อลัชชี” ปลอมบวชโดยที่มิอาจจัดการ หรือไม่คิดจัดการใดๆทั้งสิ้น และบางครั้งกลับส่อแสดงให้เห็นด้วยซ้ำไปว่า มีความพยายามที่จะโอบอุ้มคุ้มครองอลัชชีปลอมบวชเหล่านั้นให้สามารถคงสถานะเอาไว้ได้ดังเดิมด้วยเล่ห์เพทุบายนานาประการ ขอให้สังเกตด้วยว่า เหตุการณ์เมื่อครั้งปฐมสังคายนา ที่พระอรหันตเถระมิอาจหาข้อสรุปได้ว่า “สิกขาบทเล็กน้อย” นั้นหมายถึงสิ่งใด ด้วยเกิดความเห็นที่แตกต่างกันถึง ๖ ประการคือ

 พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
 พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
 พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้น อนิยต ๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
 พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้น อนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
 พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้น อนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
 พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้น อนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ เว้นปาฏิเทสนียะ ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้พระอรหันตเถระ จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันถึงเพียงนี้ แต่สิ่งที่พระอรหันตเถระทั้งหลาย มีความเห็นตรงกันทั้งหมดก็คือ “ปาราชิก ๔” มิอาจกล่าวว่าเป็น “สิกขาบทเล็กน้อย” ได้เลย โดยที่ข้อสรุปนี้สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างชัดเจน แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ทั้งๆที่คณะสงฆ์ไทยอ้างตนว่าเป็นพุทธนิกายเถรวาท แล้วเหตุใดจึงละเลย ปล่อยให้ “พระสังฆาธิการ” ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการปกครองของคณะสงฆ์ไทย สามารถต้องอาบัติ “ปาราชิก” ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนดูเหมือนประหนึ่งว่า มิได้เห็นพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์อยู่ในสายตา โดยที่คณะสงฆ์ไทยก็มีความประพฤติย่อหย่อน อีกทั้ง กระบวนการบริหารคณะสงฆ์ไม่อยู่ในสภาพที่จะสามารถใช้การได้เอาเสียเลย

ดังได้เคยปรากฏกรณีของ นาย นรินทร์ ทองหยุด หรือ อดีตพระครูวินัยธรนรินทร์ อคฺควีโร (อดีต)เจ้าอาวาสวัดปากบึง เขตลาดกระบัง ถูกจับ “คาหนังคาเขา” ขณะมั่วสีกาอยู่ภายในกุฏิ เมื่อเดือน พฤษภาคม ๒๕๕๒ แต่แล้ว เรื่องกลับมิได้จบแต่เพียงเท่านี้ เนื่องจากพบว่า แท้ที่จริง นาย นรินทร์ ทองหยุด ได้เคยกระทำความผิดจนต้อง “อาบัติปาราชิก” มาก่อนหน้านี้แล้วถึง ๒ ครั้ง ด้วยข้อหาร่วมกันปลอมแปลงเอกสารแต่งตั้งพระอุปัชฌาย์(พ.ศ. ๒๕๓๒) และข้อหาเสพเมถุน(พ.ศ. ๒๕๔๑) แปลความได้ว่า อลัชชีผู้นี้ ได้กระทำในสิ่งที่เหลือวิสัยของชาวพุทธเถรวาทจะสามารถทำความเข้าใจได้ว่าทำไม คณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม จึงได้ปล่อยปละละเลยจนเขาสามารถต้อง “อาบัติปาราชิก” ได้ถึง ๓ ครั้ง และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ เมื่ออลัชชีผู้นี้ถูกจับสึกไปแล้ว เขาก็ยังสามารถกลับเข้ามาบวชใหม่ และรับตำแหน่งพระสังฆาธิการ(เจ้าอาวาส)ได้อย่างหน้าตาเฉย

แต่ที่น่าตกใจไปมากกว่านั้นก็คือ ยังมีภิกษุปลอมบวชเก้อยากประเภทนี้ แฝงตัวอยู่ในคณะสงฆ์ไทยอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องเหล่านี้ คงต้องอาศัยการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจาก “ชาวบ้าน” เท่านั้น ด้วยเหตุที่ ระบบโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบันนี้ มิได้เอื้ออำนวยต่อการสะสางอลัชชีออกจากคณะสงฆ์ แต่ในทางตรงข้าม โครงสร้างทางอำนาจการปกครองคณะสงฆ์ในบัดนี้ มักเอื้อประโยชน์ในลักษณะของการปกป้องอลัชชี โดยการช่วยกันปกปิดความผิดของกันและกันเสียมากกว่า อีกทั้ง ถ้าหากภิกษุชั้นผู้ใหญ่กระทำผิด ภิกษุชั้นผู้น้อยที่แม้จะรู้อยู่ แต่ก็มิอาจแสดงความกล้าหาญทางคุณธรรมจริยธรรมออกมาได้ เนื่องจากโครงสร้างทางอำนาจการปกครองคณะสงฆ์นั้นเอง ที่คอยบีบบังคับและกดข่ม เสียจนท่านเหล่านั้นมิอาจจะขยับเขยื้อน “ธาตุขันธ์” เพื่อทำการใดๆอันเป็นประโยชน์ต่อพระธรรมวินัย ที่มากไปกว่าการบำเพ็ญ “อุเบกขาบารมี” คือการนั่งชำเลืองมองอลัชชีตาปริบๆ จากนั้นก็ค่อยๆผ่อนลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ฆ่าเวลาให้หมดไปวันๆหนึ่ง ทั้งนี้ ก็เพียงเพื่อที่จะสามารถรักษาตัวตนให้อยู่รอดไปได้ ท่ามกลางความฉ้อฉล ภายใต้โครงสร้างอำนาจการปกครองคณะสงฆ์ ที่อยุติธรรมและฟั่นเฟือน เท่านั้นเอง

ใบไม้เหลือง หล่นจากขั้ว

เชื่อได้ว่า กรณีของ นาย นรินทร์ ทองหยุด หรือ อดีตพระครูวินัยธรนรินทร์ อคฺควีโร (อดีต)เจ้าอาวาสวัดปากบึง ต้องอาบัติปาราชิกซ้ำซาก ตามที่กล่าวมานี้ ย่อมมิใช่กรณีสุดท้ายของคณะสงฆ์เป็นแน่ โดยมีเพียง “เวลา” เท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ที่ไม่ต้องพิสูจน์ใดๆอีกเลยก็คือ กรณีของ เจ้าสำนัก วบกอม(วบกอม หมายถึง วัตถุบินที่กำหนดเอกลักษณ์ไม่ได้ เทียบกับ UFO(Unidentified Flying Object)) ซึ่งต้องอาบัติ “ปาราชิก” เช่นเดียวกัน แต่เขาผู้นี้ก็ยังได้รับการแต่งตั้งจากคณะสงฆ์ไทย(มหาเถรสมาคม) ให้เป็นพระสังฆาธิการ(เจ้าอาวาส) ได้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง ทั้งๆที่ ....

(๑) สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระลิขิตฉบับที่ ๒ ระบุออกมาอย่างชัดเจนว่า “แต่เมื่อถึงอย่างไร ก็ยังไม่ยอมมอบคืนสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัด ก็แสดงชัดแจ้งว่าต้องอาบัติ ปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระปลอมเป็นพระ ด้วยการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครอง ทำความเศร้าหมองเสื่อมเสีย ให้เกิดแก่สงฆ์ในพระพุทธศาสนา”
(๒) ได้ปรากฏหลักฐานการสารภาพความผิดของ เจ้าสำนัก วบกอม อย่างชัดแจ้ง ตามคำแถลงขอถอนฟ้องของอัยการความว่า “สำหรับในด้านทรัพย์สินนั้น ปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ กับพวก ได้มอบทรัพย์สินทั้งหมด ซึ่งมีทั้งที่ดินและเงินจำนวน ๙๕๙,๓๐๐,๐๐๐ บาท คืนให้แก่วัด การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ ๑ กับพวก จึงเป็นการปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ครบถ้วนทุกประการแล้ว” ซึ่งการที่อัยการอ้างว่า เจ้าสำนัก วบกอม ได้มอบทรัพย์คืนแก่วัดไปแล้ว ก็เท่ากับว่า เจ้าสำนัก วบกอม ได้ยอมรับเองโดยมิได้มีผู้ใดบีบบังคับว่า เขาได้ยักยอกทรัพย์ไปจริง !!!!

คณะสงฆ์ไทย ต้องทราบอย่างแน่นอนว่า คดียักยอกทรัพย์นั้นสามารถยอมความกันได้ และย่อมทราบด้วยเช่นกันว่า ในทางพระธรรมวินัยนั้น เมื่อต้องอาบัติ “ปาราชิก” แล้วก็ย่อมขาดจากความเป็นภิกษุโดยอัตโนมัติ ตรงตามที่สมเด็จพระสังฆราชตรัส ดังปรากฏความในพระบาลี ดังนี้ว่า “คำว่า เป็นปาราชิก มีอธิบายว่า ใบไม้เหลืองหล่นจากขั้วแล้ว ไม่อาจจะเป็นของเขียวสดขึ้นได้ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแหละ ถือเอาทรัพย์อันเขาไม่ได้ให้ ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย หนึ่งบาทก็ดี ควรแก่หนึ่งบาทก็ดี เกินกว่าหนึ่งบาทก็ดี แล้วไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่า เป็นปาราชิก”

ดังนั้น คำถามของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ซึ่งอาจปราศจากคำตอบที่ชัดเจนจากคณะสงฆ์ไทยก็คือ เมื่อใด ท่านผู้เป็นพุทธบุตรทั้งหลาย จึงจะสามารถสะสางกรณีอลัชชีปลอมบวชผู้นี้ ให้ถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัย ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ เมื่อก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพานความว่า “ธรรมและวินัยอันใด เรา(ตถาคต)แสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็น ศาสดาของพวกเธอโดยกาลล่วงไปแห่งเรา(ตถาคต)” ได้อย่างหมดจดชัดเจนเสียที (?)

วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ขัด รธน. ได้หรือไม่ ?

ปัญหาสำคัญ ที่เป็นข้อขัดแย้งระหว่างฝ่ายสนับสนุนภิกษุณี กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็คือ การไม่แยกแยะข้อกฏหมายกับพระวินัยออกจากกันให้ชัดเจน การอ้างข้อกฏหมายเพื่อหักล้างพระวินัย หรือมติคณะสงฆ์ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ในขณะเดียวกัน การหลับหูหลับตาอ้างมติคณะสงฆ์เพื่อหักล้างกฏหมายบ้านเมือง มันก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน

ในประเด็นแรกนั้น พุทธศาสนิกชนจะต้องทำความเข้าใจให้ดีว่า ภิกษุและภิกษุณีล้วนแล้วแต่อุปสมบทด้วยพระธรรมวินัยทั้งสิ้น ไม่เคยมีมาก่อนเลยว่า จะสามารถอุปสมบทภิกษุหรือภิกษุณีได้ด้วยกฏหมายบ้านเมือง ในเมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงมอบสิทธิ์ในการให้อุปสมบทแก่คณะสงฆ์ไปแล้ว ดังนั้น การอุปสมบทภิกษุหรือภิกษุณี จึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะสงฆ์เป็นสำคัญ โดยที่แม้แต่กฏหมายรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายหรือล่วงละเมิดใดๆได้

ส่วนในประเด็นที่สอง การกล่าวว่า สิทธิ์ในการให้อุปสมบทเป็นของคณะสงฆ์นั้น ย่อมมีขอบเขตความหมายแค่เพียงคณะสงฆ์หนึ่งๆเท่านั้น โดยในปัจจุบันมักแยกแยะโดยอาศัยประชาชาติเป็นสำคัญ คือ แยกเป็นคณะสงฆ์ไทย คณะสงฆ์พม่า คณะสงฆ์ศรีลังกา ฯลฯ อย่างนี้เป็นต้น ทั้งนี้ในแต่ละประชาชาติ ก็อาจมีการแบ่งแยกออกเป็นคณะสงฆ์นิกายย่อยออกไปอีก โดยที่นิกายย่อยเหล่านั้น อาจรวมกันเป็นคณะสงฆ์เดียวกันในทางกฏหมาย หรืออาจแยกการปกครองตามกฏหมายออกเป็นคนละคณะสงฆ์ก็ได้ เช่น คณะสงฆ์ไทย แบ่งออกเป็น ๒ นิกายย่อย คือ มหานิกาย และ ธรรมยุติกนิกาย แต่ในทางกฏหมายก็รวมเป็นคณะสงฆ์เดียว โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุขสงฆ์ แต่ในศรีลังกาซึ่งมีนิกายย่อยอยู่ถึง ๓ นิกายคือ (๑) สยามนิกาย (๒) อมรปุรนิกาย และ (๓) รามัญนิกาย โดยที่แต่ละนิกายจะมี สังฆนายก(มหานายก) ปกครองแยกกันต่างหาก

ดังนั้น การกล่าวว่า สิทธิ์ในการให้อุปสมบทเป็นของคณะสงฆ์นั้น จึงมีความหมายว่า คณะสงฆ์สยามนิกาย คณะสงฆ์อมรปุรนิกาย และ คณะสงฆ์รามัญนิกาย แห่งศรีลังกา ต่างก็มีสิทธิโดยชอบธรรมและอย่างเป็นเอกเทศ ในการใช้ดุลยพินิจเพื่อตัดสินใจว่า จะให้อุปสมบทแก่ภิกษุณีหรือไม่ เฉกเช่นเดียวกันกับที่ คณะสงฆ์ไทย คณะสงฆ์พม่า ฯลฯ ก็มีสิทธินี้ด้วยเช่นกัน โดยที่คณะสงฆ์ทั้งหลายเหล่านั้น ต่างก็ทำได้แค่เพียงยืนยันมติของตนเอง โดยที่มิอาจล่วงละเมิดมติของคณะสงฆ์อื่นๆได้ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การพิจารณาให้ชัดเจนว่า ภิกษุณีในไทยรวมไปถึงผู้สนับสนุนทั้งหลาย จะสามารถรักษาสิทธิของตนเอง ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเอาใว้ได้อย่างไร โดยที่ไม่เป็นการล่วงละเมิดสิทธิของคณะสงฆ์ไทยตามพระธรรมวินัยนั้นด้วย

หลักการเพื่อความเข้าใจเบื้องต้น

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ท่านทั้งหลายจะต้องทำความเข้าใจและทำการพิจารณาแยกแยะให้ดีก็คือ เมื่อกล่าวถึงพระพุทธศาสนาโดยรวมทั้งหมด ย่อมต้องถือว่า“พระธรรมวินัย”เป็นหลักการสูงสุด คือเป็นพระพุทธวัจนะที่ชาวพุทธทั้งหลายมิอาจบิดเบือนให้เป็นอื่นไปได้ และเมื่อกล่าวถึงพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทในประเทศไทยแล้ว ย่อมต้องผนวกเอา “มติ” หรือธรรมเนียมปฏิบัติของคณะสงฆ์รวมเข้าเป็นหลักการอันสำคัญนั้นอีกโสตหนึ่งด้วย โดยที่มติใดๆก็ตามของคณะสงฆ์อันเนื่องกับพระธรรมวินัยนั้นย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมของคณะสงฆ์ ซึ่งไม่ว่าบุคคล คณะบุคคล หรือจนแม้แต่สิทธิตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ก็มิอาจนำมาใช้อ้างเพื่อล่วงละเมิดสิทธิของคณะสงฆ์ในส่วนนี้ได้เลย

แต่ถ้าเมื่อใดที่มติของคณะสงฆ์ไทยถูกนำเสนอออกมาในรูปของ “กฏหมาย” เราจะนำสิทธิของคณะสงฆ์ตามพระธรรมวินัยเข้ามาปะปนในการพิจารณาทางกฏหมายมิได้ ด้วยเหตุที่ เมื่ออ้างสิทธิตามพระธรรมวินัย ก็ย่อมถือเอาพระธรรมวินัยเป็นใหญ่ฉันใด ดังนั้น เมื่ออ้างสิทธิตามกฏหมายก็ย่อมต้องถือเอาหลักการทางกฏหมายเป็นสำคัญเช่นนั้นเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อคณะสงฆ์ไทยมีมติออกมาว่า “ห้ามภิกษุสงฆ์ทำพิธีอุปสมบทให้สตรีเป็นภิกษุณี” ในกรณีเมื่อเป็นเรื่องอันเกี่ยวกับพระธรรมวินัย ซึ่งท่านทั้งหลายย่อมทราบเป็นอย่างดีว่า การอุปสมบทสตรีเป็นภิกษุณีนั้น เป็นสิทธิอันชอบธรรมตามพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์แต่ฝ่ายเดียว ตามพุทธานุญาตให้ภิกษุทั้งหลายบวชภิกษุณีได้ โดยทั้งนี้ การจะให้การอุปสมบทหรือไม่ ก็ย่อมขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของคณะสงฆ์นั้นเอง ซึ่งผู้หนึ่งผู้ใดก็มิอาจบีบบังคับได้ ซึ่งในกรณีนี้ ต้องอ้างพระธรรมวินัยแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น จะอ้างอิงสิทธิตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเพื่อคัดค้าน มิได้ด้วยประการทั้งปวง

แต่ถ้าแนวความคิดหรือมติใดๆของคณะสงฆ์ไทย แสดงออกมาในรูปแบบของกฏหมายบ้านเมือง เช่น พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ในกรณีอย่างนี้จะนำพระธรรมวินัยมาอ้างอิงเป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียวมิได้ แต่จะต้องนำเอาหลักในการบัญญัติกฏหมายมาร่วมในการพิจารณาด้วย อย่างที่มิอาจละเลยได้เช่นกัน ซึ่งในอันที่จริงแล้ว แนวทางการพิจารณาแบบนี้ก็มิใช่สิ่งแปลกใหม่แต่อย่างใดเลย เนื่องจากพระพุทธองค์ก็ทรงใช้หลักการดังกล่าวนี้เช่นกัน

ดังที่ได้ปรากฏเรื่องราวในการที่จะทรงบัญญัติทุติยปาราชิกนั้น พระพุทธองค์ก็ได้ทรงถามภิกษุผู้เคยเป็นมหาอำมาตย์ผู้พิพากษาว่า เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงจับโจรได้ ทรงประหารชีวิต จองจำ หรือเนรเทศ ด้วยกำหนดทรัพย์เท่าใด ก็ได้รับคำตอบว่า “บาทหนึ่ง หรือมีราคาเท่ากับบาทหนึ่ง หรือเกินกว่าบาทหนึ่ง” ด้วยเหตุดังนี้ พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบท มิให้ภิกษุถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ให้ ผู้ใดทำเช่นนั้น ได้ราคาที่พระราชาจับโจรได้ประหารชีวิต จองจำ หรือเนรเทศ ต้องอาบัติปาราชิก ซึ่งตัวอย่างตามที่ปรากฏนี้ ย่อมสามารถยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า จนแม้เมื่อจะทรงบัญญัติสิกขาบทที่สำคัญ พระพุทธองค์ก็ยังทรงอ้างอิงหลักการทางกฏหมายบ้านเมืองอยู่นั่นเอง ในเมื่อกฏหมายคณะสงฆ์ปรากฏอยู่ในรูปของ พระราชบัญญัติ(คณะสงฆ์) ซึ่งเป็นกฏหมายบ้านเมืองชนิดหนึ่งเช่นกัน ดังนั้น คณะสงฆ์และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ย่อมไม่สามารถปฏิเสธ วิธีการพิจารณากฏหมายพระราชบัญญัตินี้ ตามหลักการบัญญัติกฏหมายลายลักษณ์อักษรได้เลย หรือมิใช่ (?)

ลำดับชั้นของกฏหมายลายลักษณ์อักษร

ลำดับชั้นของกฏหมาย หมายถึงค่าบังคับที่ไม่เท่ากันของกฏหมายในแต่ละรูปแบบ เช่น รัฐธรรมนูญ เป็นกฏหมายสูงสุด เพราะอำนาจในการก่อตั้งองค์กรทางการเมืองที่จัดให้มีรัฐธรรมนูญนั้นสูงสุด รัฐธรรมนูญ จึงเป็นแม่บทของกฏหมายทั้งหลาย กฏหมายที่ออกโดยอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญจึงเป็นกฏหมายที่อยู่ในลำดับชั้นที่ต่ำกว่า ฉะนั้น กฏหมายที่มีลำดับชั้นที่ต่ำกว่าจะบัญญัติให้มีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมิได้ โดยที่ลำดับชั้นทางกฏหมายย่อมมีความสำคัญมากในเรื่อง การใช้ การตีความกฏหมาย และการยกเลิกกฏหมาย

ดังเช่นในกรณีนี้ เป็นการพิจารณาเฉพาะ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นกฏหมายที่มีลำดับรองจากรัฐธรรมนูญและเทียบเท่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นกฏหมายที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้รัฐสภามีอำนาจในการพิจารณาออกพระราชบัญญัติ ฉะนั้น พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ จึงขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ โดยในกรณีที่มีปัญหากฏหมายที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในรัฐธรรมนูญ มีข้อความที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ กฏหมายเหล่านี้ก็ย่อมไม่มีผลใช้บังคับเพราะจะขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๖ ความว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฏหมาย กฏ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”
สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล ของชนชาวไทย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ หมวด ๓ สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ ๓ สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล มาตรา ๓๗ ระบุเอาใว้ดังนี้ว่า ….

“บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในการใช้เสรีภาพดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือ แตกต่างจากบุคคลอื่น”

ทั้งนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายโปรดพิจารณาอย่างรอบคอบด้วยว่า ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้น ได้รับรองเสรีภาพของบุคคลโดยสมบูรณ์ในการนับถือ ....

(๑) ศาสนา
(๒) นิกายของศาสนา หรือ
(๓) ลัทธินิยมในทางศาสนา

อีกทั้งยังให้เสรีภาพในการปฏิบัติตาม

(๑) ศาสนธรรม
(๒) ศาสนบัญญัติ หรือ
(๓) พิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน

ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงความมีอยู่ของภิกษุณีชาวไทย จะพบข้อเท็จจริงว่า ภิกษุณีเหล่านี้มิได้อ้างตนว่า เป็นภิกษุณีในคณะสงฆ์ไทย ด้วยเหตุที่โดยส่วนใหญ่แล้ว ภิกษุณีนิกายเถรวาทล้วนแล้วแต่ได้รับการอุปสมบทจากคณะสงฆ์ศรีลังกา ซึ่งย่อมได้รับการคุ้มครองจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๗ อย่างมิต้องสงสัย

และเนื่องจากพฤติการณ์ของภิกษุณีชาวไทยดังกล่าวนั้น ก็มิได้เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่อย่างใดทั้งสิ้น ซึ่งตรงตามเงื่อนไขตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญทุกประการ ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดๆเลยที่รัฐ จะไม่ให้ความคุ้มครองทางกฏหมายต่อ ภิกษุณีเถรวาทชาวไทย ซึ่งได้รับการอุปสมบทอย่างถูกต้องจากคณะสงฆ์ศรีลังกา ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน(ภิกษุณีชาวไทยเหล่านั้น) กล่าวโดยสรุปก็คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ย่อมให้ความคุ้มครองในสิทธิเสรีภาพของภิกษุณีเถรวาทชาวไทย ซึ่งได้รับการอุปสมบทอย่างถูกต้องจากคณะสงฆ์ศรีลังกา โดยที่บุคคลอื่นใด หรือคณะบุคคลใด จนแม้แต่ คณะสงฆ์ไทย ก็มิอาจล่วงละเมิดได้ !!!!

จุดยืนของคณะสงฆ์ไทย

จุดยืนของคณะสงฆ์ไทยนั้นเป็นที่ชัดเจนว่า ไม่ยินดีให้อุปสมบทแก่สตรีเพื่อเป็นภิกษุณี โดยนับตั้งแต่ นายนรินทร์(กลึง) ได้ต่อสู้เรียกร้องให้มีการพื้นฟูสามเณรีและภิกษุณีในประเทศไทย ด้วยการบวชลูกสาว ๒ คนเป็นสามเณรี(คุณสาระและคุณจงดี) พร้อมกับกุลสตรีอีก ๖ คน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ อันนำมาซึ่งความขัดแย้งในวงการพระศาสนาอย่างรุนแรง โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของนายนรินทร์(กลึง) ถึงกลับกล่าวว่า เขาเป็นเสนียดร้ายและศัตรูต่อพระพุทธศาสนา บ้างก็ว่าเป็นขบถต่อพระพุทธศาสนา ควรมีโทษถึงประหารชีวิต โดยกล่าวยุยงให้รัฐบาลรีบจัดการกำจัดเสีย ฯลฯ

หลังจากนั้นไม่นาน สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ จึงมีพระบัญชาของเรื่อง “ห้ามพระเณรไม่ให้บวชหญิง เป็นบรรพชิต” ความว่า “หญิงซึ่งจักได้สมมุติตนเป็นสามเณรี โดยถูกต้องตามพุทธานุญาตนั้น ต้องสำเร็จด้วยนางภิกษุณีให้บรรพชา เพราะพระองค์ทรงอนุญาตให้นางภิกษุณีมีพรรษา ๑๒ ล่วงแล้วเป็นปวัตตินี คือเป็นอุปัชฌาย์ ไม่ได้ทรงอนุญาตให้ภิกษุเป็นอุปัชฌาย์ นางภิกษุณีหมดสาบสูญขาดเชื้อสายมานานแล้ว เมื่อนางภิกษุณีผู้รักษาขนบธรรมเนียมสืบต่อสามเณรีไม่มีแล้ว สามเณรีผู้บวชสืบต่อจากภิกษุณีก็ไม่มี เป็นอันเสื่อมสูญไปตามกัน ผู้ใดให้บรรพชาเป็นสามเณรี ผู้นั้นชื่อว่า บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติ เลิกถอนสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติใว้แล้ว เป็นเสี้ยนหนามแก่พระศาสนา เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ฯ”

โปรดทราบใว้ด้วยว่า แม้ในปัจจุบันนี้ซึ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยมานานกว่าแปดสิบปีแล้ว แต่พระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ก็ยังมีการอ้างเป็นเหตุเพื่อคัดค้านการมีอยู่ของภิกษุณีชาวไทย อีกทั้งพระบัญชานี้เอง ก็ได้เป็นแนวทางของคำวินิจฉัยของมหาเถรสมาคม ในการประชุมครั้งที่ ๒๘/๒๕๒๗ และครั้งที่ ๑๘/๒๕๓๐ ห้ามภิกษุสงฆ์ทำพิธีอุปสมบทให้สตรีเป็นภิกษุณี และเป็นใจความสำคัญใน พระวรธรรมคติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ห้ามบวชให้แก่สตรีเพื่อเป็นภิกษุณี ในเวลาต่อมาอีกด้วย

กล่าวโดยสรุปก็คือ แนวทางวินิจฉัย อันเป็นจุดยืนของคณะสงฆ์ไทย ซึ่งห้ามบวชให้แก่สตรีเพื่อเป็นภิกษุณี ล้วนแล้วแต่มีพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เป็นพื้นฐานทางความคิดมาโดยตลอด นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ความแตกต่าง ที่มิใช่ปัญหา

ถ้าสังเกตดูให้ดีจะพบว่า จุดยืนของคณะสงฆ์ไทยที่ “ห้ามพระเณรไม่ให้บวชหญิงเป็นบรรพชิต” นั้นย่อมมีความหมายแต่เพียง
(๑) ห้ามมิให้ภิกษุสามเณร บวชให้แก่ภิกษุณีเท่านั้น
(๒) แต่ มิได้ห้ามสตรี บวชภิกษุณี

นั่นจึงหมายความว่า ตราบเท่าที่ ภิกษุณีชาวไทย มิได้เรียกร้องการอุปสมบทจากคณะสงฆ์ไทย หรือเรียกร้องให้คณะสงฆ์ไทยรับรองการอุปสมบทของตน ความมีอยู่ของภิกษุณีเถรวาทชาวไทย จึงมิได้เป็นการล่วงละเมิดคณะสงฆ์ไทยโดยปริยายใดๆทั้งสิ้น เพราะจากข้อเท็จจริงก็คือ ภิกษุณีเถรวาทชาวไทย ได้รับการอุปสมบทจากคณะสงฆ์ศรีลังกา ภิกษุณีชาวไทยเหล่านี้จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขอการอุปสมบทจากคณะสงฆ์ไทยแต่อย่างใด อีกทั้ง ภิกษุณีชาวไทยเหล่านี้ เป็นภิกษุณีเถรวาทอันเนื่องมาจากคณะสงฆ์ผู้ให้บวช ซึ่งก็คือคณะสงฆ์ศรีลังกา ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขอการรับรองใดๆจากคณะสงฆ์ไทย

สรุปก็คือ ในเมื่อคณะสงฆ์ไทยมีมติ “ไม่บวชภิกษุณี” นั่นก็เป็นสิทธิของคณะสงฆ์ไทย ซึ่งใครก็มิอาจล่วงละเมิดได้ แต่ในขณะเดียวกัน การที่คณะสงฆ์ศรีลังกาอนุญาตให้มีการอุปสมบทภิกษุณีได้ นั่นก็ย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมของทั้งคณะสงฆ์ศรีลังกาผู้ให้การอุปสมบทและกุลสตรีชาวไทยผู้รับการอุปสมบท ซึ่งไม่ว่าบุคคลใด จนแม้แต่คณะสงฆ์ไทย ก็มิอาจล่วงละเมิดได้เช่นกัน !!!!

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กับ ปัญหาที่ต้องแก้ไข

กล่าวสำหรับปัญหาอันเกี่ยวเนื่องกับข้อกฏหมายในกรณีภิกษุณีนั้น ย่อมเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า กฏหมายรัฐธรรมนูญ ได้ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเอาใว้อย่างชัดเจน ดังนั้น เรื่องที่จะต้องพิจารณาต่อไปก็คือ เมื่อกุลสตรีชาวไทยได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุณี(จากคณะสงฆ์อื่น)แล้ว จะมีกระบวนการรับรองสถานะทางกฏหมายของภิกษุณีเหล่านั้นอย่างไร เพราะถ้าไม่มีการตรากฏหมายเพื่อรองรับสถานะของภิกษุณีให้ถูกต้องชัดเจน บรรดาภิกษุณีที่บวชมาจากคณะสงฆ์อื่น(ศรีลังกา) ก็จะมีสถานะเป็นเพียงแค่ “นักบวชเถื่อน” เป็นภิกษุณีนอกกฏหมาย แม้ว่าจะได้รับการคุ้มครองจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญก็ตาม

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๕ ปรากฏข้อความดังนี้ว่า ….

“เพื่อประโยชน์แห่งมาตรา ๔ บรรดาอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในสังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับคณะสงฆ์ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพระภิกษุตำแหน่งใดหรือคณะกรรมการสงฆ์ใดซึ่งไม่มีในพระราชบัญญัตินี้ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจกำหนดโดยกฎมหาเถรสมาคมให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพระภิกษุตำแหน่งใด รูปใดหรือหลายรูป ร่วมกันเป็นคณะตามที่เห็นสมควรได้

มาตรา ๕ ทวิ ในพระราชบัญญัตินี้ ....
คณะสงฆ์ หมายความว่า บรรดาพระภิกษุที่ได้รับบรรพชาอุปสมบทจากพระอุปัชญาย์ตาม พระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายที่ใช้บังคับก่อนพระราชบัญญัตินี้ไม่ว่าจะปฏิบัติศาสนกิจในหรือนอกราชอาณาจักร
คณะสงฆ์อื่น หมายความว่า บรรดาบรรพชิตจีนนิกาย หรือ อนัมนิกาย
พระราชาคณะ หมายความว่า พระภิกษุที่ได้รับแต่งตั้งและสถาปนาให้มีสมณศักดิ์ตั้งแต่ชั้นสามัญ จนถึงชั้นสมเด็จพระราชาคณะ
สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ หมายความว่า สมเด็จพระราชาคณะที่ได้รับสถาปนาก่อนสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่น ถ้าได้รับสถาปนาในวันเดียวกันให้ถือรูปที่ได้รับสถาปนาในลำดับก่อน

มาตรา ๕ ตรี พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสถาปนาและถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์”

จากพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ดังที่ปรากฏข้างต้น ย่อมเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สถานะทางกฏหมายที่จะรองรับสถานะของภิกษุณีที่ได้รับการอุปสมบทจากศรีลังกานั้นยังไม่มี ด้วยเหตุที่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ได้แบ่งคณะสงฆ์ออกเป็น ๒ ส่วนคือ คณะสงฆ์ไทย กับคณะสงฆ์อื่น ภิกษุณีที่ได้รับการอุปสมบทจากศรีลังกา ย่อมมิได้สังกัดคณะสงฆ์ไทยอยู่แล้ว แต่ตามข้อกฏหมายดังที่ปรากฏอยู่นี้ ภิกษุณีที่ได้รับการอุปสมบทจากศรีลังกา ก็มิได้สังกัดคณะสงฆ์อื่นด้วย เพราะว่า คณะสงฆ์อื่นตามพระราชบัญญัตินั้น มีความหมายเพียงแค่ บรรดาบรรพชิตจีนนิกาย(จีนมหายาน) หรือ อนัมนิกาย(ญวนมหายาน) เท่านั้น ซึ่งภิกษุณีที่ได้รับการอุปสมบทจากศรีลังกา ก็มิได้เป็นภิกษุณีมหายานจีนนิกายหรืออนัมนิกาย ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่า ภิกษุณีที่ได้รับการอุปสมบทจากศรีลังกา ยังมิได้มีการรับรองสถานะความเป็นนักบวชอย่างถูกต้องตามกฏหมายแต่อย่างใดทั้งสิ้น

จำเพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกฏหมายนั้น ย่อมเป็นไปมิได้เลยที่กฏหมายพระราชบัญญัติ จะไปขัดแย้งกับกฏหมายรัฐธรรมนูญ ในเมื่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทย ในการนับถือศาสนาฯ เอาใว้อย่างชัดเจน อีกทั้งภิกษุณีเหล่านั้น ก็ได้รับการอุปสมบทจากคณะสงฆ์ศรีลังกาอย่างถูกต้อง เปิดเผย และมีที่มาที่ไปชัดเจน ดังนั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด จะทำวางเฉย ไม่รับรู้ต่อกรณีนี้มิได้เป็นอันขาด แน่นอนว่า คณะสงฆ์ไทย ย่อมมิอาจรับเอาภิกษุณีเหล่านี้เข้าใว้ในคณะสงฆ์ไทยได้ แต่ย่อมเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุนในการแก้ไขเพิ่มเติมกฏหมายพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เพื่อรับรองสถานะของภิกษุณีซึ่งได้รับการอุปสมบทจากศรีลังกาเหล่านี้ ในฐานะ “บรรพชิต” ในคณะสงฆ์อื่น เช่นเรียกว่า คณะสงฆ์ศรีลังกา หรือ ฯลฯ เหมือนที่ใช้กับ ภิกษุจีนนิกาย และ ภิกษุอนัมนิกาย เพราะถ้าแก้ข้อกฏหมายโดยเพิ่มเติมข้อความดังนี้แล้ว

(๑) พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ก็จะไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ
(๒) คณะสงฆ์ไทยก็จะไม่สูญเสียจุดยืนทางพระธรรมวินัย ที่จะไม่อุปสมบทภิกษุณี เพราะนี่มิได้เป็นการรับภิกษุณีเหล่านี้เข้าใว้ในคณะสงฆ์ไทย เป็นแต่ให้สังกัดอยู่ในคณะสงฆ์อื่น ตามชื่อคณะสงฆ์ผู้ให้การอุปสมบทแก่ภิกษุณีเหล่านั้น นั่นเอง

คณะสงฆ์เจ้าปัญหา

แต่ปัญหาที่ไม่น่าจะเป็นปัญหาของคณะสงฆ์ไทยก็คือ การอ้างว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ นั้นหมายเฉพาะภิกษุสงฆ์เท่านั้น และด้วยเหตุนี้ ภิกษุสงฆ์จึงไม่มีหน้าที่ และไม่มีสิทธิที่จะรับรองภิกษุณีสงฆ์ตามนัยของกฎหมาย ซึ่งเมื่อท่านอ้างเหตุผลมาอย่างนี้ ก็คงต้องขออนุญาต “เห็นต่าง” และขอชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยเหตุผลตามสมควร ดังนี้

การที่คณะสงฆ์ไทยอ้างว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ นั้นหมายเฉพาะภิกษุสงฆ์ คือหมายถึง นักบวชเพศชายเท่านั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นความจริง เพียงแต่ว่า มันไม่ใช่ความจริงทั้งหมดเท่านั้นเอง เนื่องจาก คำว่า “คณะสงฆ์” ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์นั้นมีอยู่ ๒ อย่างคือ คณะสงฆ์(ไทย) และ คณะสงฆ์อื่น โดยที่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ใช้คำว่า “ภิกษุ” เฉพาะเมื่ออธิบายความหมายของคำว่า “คณะสงฆ์” เท่านั้น แต่เมื่ออธิบายคำว่า “คณะสงฆ์อื่น” พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ใช้คำว่า “บรรพชิต” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายกลางๆ มิได้ระบุชัดว่าหมายเฉพาะเพศใดเพศหนึ่ง ต่างกับคำว่า “ภิกษุ” ซึ่งหมายถึงนักบวชเพศชายเท่านั้น

ข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า ภิกษุณีเถรวาทชาวไทย ได้รับการอุปสมบทจากคณะสงฆ์ศรีลังกา ซึ่งในเบื้องต้นนี้ ควรถือว่าเป็นคณะสงฆ์อื่นมิใช่คณะสงฆ์ไทย นั่นจึงหมายความว่า จะต้องพิจารณากรณีภิกษุณี ที่คำจำกัดความของคำว่า “คณะสงฆ์อื่น” มิใช่คำว่า “คณะสงฆ์(ไทย)” ตามที่มีความพยายามจะเบี่ยงเบนประเด็นอย่างไม่สมควร

ที่สำคัญก็คือ ในเมื่อคณะสงฆ์ไทย อ้างว่าตนไม่มีทั้งสิทธิและหน้าที่ในการรับรองภิกษุณีสงฆ์ตามนัยของกฎหมาย ก็ย่อมหมายความว่า สามารถดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ได้ โดยมิต้องขอความคิดเห็น หรือความเห็นชอบใดๆจากคณะสงฆ์ไทยอีก เพราะคณะสงฆ์ไทย ย่อมไม่มีหน้าที่หรือสิทธิใดๆ เหนือคณะสงฆ์ศรีลังกาผู้ให้การอุปสมบทภิกษุณี และกุลสตรีชาวไทยผู้รับการอุปสมบทภิกษุณีนั้นเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากสิทธิเสรีภาพในการอุปสมบทภิกษุณี(โดยคณะสงฆ์อื่น)ย่อมได้รับการรับรอง และความคุ้มครองจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

การรับรองสถานะทางกฏหมายของภิกษุณีเถรวาทชาวไทย ย่อมมิใช่การร้องขอให้คณะสงฆ์ไทยอุปสมบทภิกษุณี อีกทั้งยังมิได้เกี่ยวข้องกับการรับภิกษุณีใว้ในคณะสงฆ์ไทย แต่เป็นเพียงการเรียกร้องให้มีการรับรองสถานะของภิกษุณีให้เป็นนักบวชหรือบรรพชิตที่ถูกต้องตามกฏหมายพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ในฐานะ “คณะสงฆ์อื่น” เท่านั้นเอง โดยแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มีใจความดังนี้คือ ....

(๑) แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๕ ทวิ โดยเพิ่มเติมคำว่า “คณะสงฆ์ศรีลังกา” จะได้ความว่า …. “คณะสงฆ์อื่น หมายความว่า บรรดาบรรพชิตจีนนิกาย อนัมนิกาย หรือ คณะสงฆ์ศรีลังกา”

(๒) เพื่อความชัดเจนตามความเป็นจริงที่ว่า บรรพชิตจีนนิกาย และอนัมนิกาย มีทั้งภิกษุและภิกษุณี ดังนั้น ควรแก้ไขเพิ่มเติม เปลี่ยนคำว่า “บรรพชิต” เป็น คำว่า “ภิกษุและภิกษุณี” จะได้ความว่า…. “คณะสงฆ์อื่น หมายความว่า บรรดาภิกษุและภิกษุณี จีนนิกาย อนัมนิกาย หรือ คณะสงฆ์ศรีลังกา”

กระบวนการในการแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์

ในขั้นต้น จะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มาตรา ๕ ทวิ จากความเดิมคือ .... “คณะสงฆ์อื่น หมายความว่า บรรดาบรรพชิต จีนนิกาย หรือ อนัมนิกาย” โดยแก้ไขเพิ่มเติมได้ความว่า .... “คณะสงฆ์อื่น หมายความว่า บรรดาภิกษุและภิกษุณี จีนนิกาย อนัมนิกาย หรือ คณะสงฆ์ศรีลังกา” ซึ่งเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๔๒ และ มาตรา ๑๖๓ ดังนี้คือ

(๑) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ หมวด ๖ รัฐสภา ส่วนที่ ๗ การตราพระราชบัญญัติ มาตรา ๑๔๒ ระบุเอาใว้ดังนี้ว่า ….

“ภายใต้บังคับมาตรา ๑๓๙ ร่างพระราชบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดย
(๑) คณะรัฐมนตรี
(๒) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคน
(๓) ศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เฉพาะกฏหมายที่เกี่ยวกับการจัดองค์กรและกฏหมายที่ประธานศาลและประธานองค์กรนั้นเป็นผู้รักษาการ หรือ
(๔) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฏหมายตามมาตรา ๑๖๓

ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติซึ่งมีผู้เสนอตาม (๒) (๓) หรือ (๔) เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินจะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี

ในกรณีที่ประชาชนได้เสนอร่างพระราชบัญญัติใดตาม (๔) แล้ว หากบุคคลตาม (๑) หรือ (๒) ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการเดียวกับร่างพระราชบัญญัตินั้นอีก ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๖๓ วรรคสี่ มาบังคับใช้กับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นด้วย

ร่างพระราชบัญญัติให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน

ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติตามวรรคหนึ่งต้องมีบันทึกวิเคราะห์ สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติเสนอมาพร้อมกับร่างพระราชบัญญัติด้วย

ร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อสภาต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบและให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลรายละเอียดของร่างพระราชบัญญัตินั้นได้โดยสะดวก”

(๒) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ หมวด ๗ การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน มาตรา ๑๖๓ ระบุเอาใว้ดังนี้ว่า ….

“ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้สภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดในหมวด ๓ และหมวด ๕ แห่งรัฐธรรมนูญนี้

คำร้องขอตามวรรคหนึ่งต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติเสนอมาด้วย

หลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อ รวมทั้งการตรวจสอบรายชื่อ ให้เป็นไปตามที่กฏหมายบัญญัติ

ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามวรรคหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต้องให้ผู้แทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นชี้แจงหลักการของพระราชบัญญัติ และคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยผู้แทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดด้วย”

และเมื่อสามารถแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มาตรา ๕ ทวิเพื่อรับรองสถานะความเป็นนักบวชที่ถูกต้องตามกฏหมายพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ของภิกษุณีเรียบร้อยแล้ว ในขั้นต่อไปก็เป็นการออกกฏหมายการปกครองคณะภิกษุณีสงฆ์ ตามข้อบังคับในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มาตรา ๔๖ ความว่า “การปกครองคณะสงฆ์อื่น ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง” ซึ่งนับจากนี้ไป ปัญหาข้อขัดข้องต่างๆซึ่งเกี่ยวกับกรณีภิกษุณี จึงจะเป็นอันยุติได้โดยธรรม ซึ่งกระบวนการในการแก้ไขปัญหากรณีภิกษุณีจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับว่า พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จะมีความเข้าใจต่อพระธรรมวินัยซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสเอาใว้ดีแล้วได้มากน้อยเพียงใด โดยที่ต้องปราศจาก “มายาคติ” อันเกิดจากการผูกขาดทางความคิดของคณะสงฆ์อย่างขาดโยนิโสมนสิการ อีกทั้งยังต้องพยายามแยกแยะให้ได้ด้วยว่า สิทธิตามพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ ในการออกมติใดๆก็ตาม กับสิทธิเสรีภาพทางศาสนาของประชาชนตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอันเป็นที่มาของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์นั้น ย่อมเป็นคนละส่วนต่างหากกัน จะนำมาพิจารณาปะปนกันไม่ได้ และปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือ พรหมวิหารธรรมของสาธุชนทั้งหลาย ที่จะพึงมีต่อกุลสตรีผู้มีฉันทะในการอุปสมบทภิกษุณีอย่างเท่าเทียมกัน(ทางเพศ)และปราศจากอคติทั้งปวง นั้นแล

วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

คุณครู ... ไม่หญ่ายยยย

.





(1) มาจะกล่าวบทไป ............
ถึงคุณครู ไม่ใหญ่ ในคลองสาม
ทุมมังกุ ทุศีล กบิลความ
เม็ดถั่วเขียว สักชาม ถวายมา

(2) ปณิธาน ยิ่งใหญ่ ใสสะดุด
จะเร่งขุด วัฏฏะ อนาถา
รับรื้อค้น ขนสัตว์ จัดแจงมา
เพียงคิดค่า ขนส่ง พอประมาณ

(3) สวนดุสิต พิสดาร ก่อการใหญ่
ด้วยห่วงใย ลูกศิษย์ ใช่คิดผลาญ
เปิดเฟสสอง จองแล้ว แกร่วอยู่นาน
อย่าดักดาน เงินสด จ่ายหมดตัว

(4) ตุ๊กตา ขาเขียด สมเกียรติใหญ่
ใจใสใส จ่ายเสีย ทั้งเมียผัว
จงทิ้งทุ่ม สุดฤทธิ์ อย่าคิดกลัว
กระเฌอรั่ว หมดตูด อย่าพูดไป

(5) โอ้ ... จานบิน หินคอด ยอดด้วน
ประดับล้วน ตุ๊กตา ขาไก่ !!!!
ถึงเขาเหน็บ เจ็บแสบ จนแปลบใจ
ขออย่าได้ ถือสา ประชาชน … (หึหึ)

(6) เพราะขลาดเขลา เบาสติ ตรองตรึก
มิอาจนึก การณ์ไกล ในเหตุผล
หากเกิดศึก ต่างดาว คราวผจญ
จะพาพ้น ผองภัย ในจานบิน ... (ฮา)

(7) อนุบาล ในฝัน ขยันหลับ
ดั่งหญ้าทับ ซีดใส อยู่ใต้หิน
แม้ล้มลุก ตุ๊กตา ยังราคิน
คนทุศิล ฤๅจะสิ้น คำนินทา

(8) ศิลปะ ในฝัน กลั่นละเอียด
มาดละเมียด เหยียดถ่าง น่ากังขา
นั่นมิใช่ พระพุทธ ปฏิมา
นักวิชา การบอก ให้ยอกใจ ….. (ฮือ ฮือ)

(9) ฤๅเป็นรูป พ่อพระ ปาราชิก
น่าหยอกหยิก สวมเสื้อ หนุ่มเนื้อใส
สันดานคด ลดเลี้ยว เป็นเกลียวไป
ถลากไถล ใส่เกิน เมินพระธรรม

(10) กล้าอวดอ้าง ลักษณะ มหาบุรุษ
เสื่อมจนทรุด จิตหยาบ บาปถลำ
โหมหัวคิด โฆษณา มาโน้มนำ
โถ ... เวรกรรม อีแอบ ทำแยบคาย

(11) โอ้สถาน ดึงดูด รูดราวทรัพย์
คำนวนนับ เงินสด กำหนดหมาย
สักหมื่นล้าน เซ้งลี้ คดีร้าย
เร่งคลี่คลาย สุดฤทธิ์ ปิดจานบิน

(12) ล้างสมอง หล่อหลอม กล่อมประสาท
อวชาติ อุตริ โลกติฉิน
ข่มขู่ฆ่า ประจาน ผลาญชีวิน
แทบหมดสิ้น คุณธรรม ประจำทาง

(13) ฝันในฝัน ขยันคิด ดุสิตสถาน
อนุมาน กำหนัด อย่าขัดขวาง
พบคนโง่ โคขืน อย่าฝืนทาง
จะหม่นหมาง ฮึดฮัด ทำขัดใจ

(14) เคยทำชั่ว กลัวตก นรกเดือด
จึงถูกปอก หลอกเชือด จนเลือดไหล
จ่ายเงินซื้อ ดุสิต คิดได้ไง (?)
อนาถใจ ทุนนิยม โหมกระพือ

(15) ถวายข้าว ในฝัน กลั่นละเอียด
ละไมละเมียด ทฤษฎี ผีกระสือ
ฤๅด่วนแดก แจกดอก หลอกกระบือ
ทำอออือ แปลบ-ปลื้ม จนลืมตังส์

(16) เพราะลืมตัว ลืมตาย ไถยจิต
จึงเห็นผิด คิดถวาย คล้ายวาดหวัง
จะดูดทรัพย์ สลับฉาก หลากพลัง
สติพลั้ง โลภจริต บิดจนเบือน

(17) ปาราชิก ปราชัย วิสัยโฉด
รับโฉนด นาไร่ ใครจะเหมือน
ธรรมวินัย ไม่สดับ กลับแชเชือน
ภิกษุเถื่อน ปลอมบวช ทำลวดลาย

(18) เธอเว้นขาด รับนาไร่ ซื้อขายทรัพย์
ควรสดับ พุทธพจน์ กำหนดหมาย
จงเอื้อเฟื้อ ธรรมวินัย ทั้งใจกาย
จึงจะคล้าย ภิกษุสงฆ์ ดำรงธรรม

(19) ถูกเขาฟ้อง ร้องตี คดีโลก
จนบักโกรก โรครุม นั่งกุม*XXX*
ตีหน้าเศร้า เหล่าร้าย ให้ปากคำ
อมพะนำ คำหลัก ปักโคลนเลน

(20) ใกล้สิ้นสุด สืบสาน พยานปาก
กลัวลำบาก ติดตาราง ที่บางเขน
หากศาลสั่ง ลงโทษ โปรดประเคน
เป็นดาวเด่น เดนคุก คงจุกใจ

(21) คดีโลก ยอมความ ตามสะดวก
มีพรรคพวก การเมือง เรืองสมัย ?
เสนอหน้า รับผิด ไม่ติดใจ
ทรัพย์สินให้ คืนวัด เตรียมจัดการ

(22) คดีธรรม กรรมก่อ ต่อประดิษฐ์
หากทำผิด พระวินัย ให้ประหาร
พ้นจากพระ ปาราชิก จิกประจาน
ควรหรือท่าน ด้านหน้า ผ้าเหลืองครอง

(23) ตีหน้าเศร้า เล่าความเท็จ สะเด็ดน้ำ
จะทำตาม พระลิขิต คิดสนอง
ปาราชิก ไม่รับ สดับตรอง
ทำไมร้อง ไม่ใช่พระ ลิขิตจริง …… ????

(24) สันดานถ่อย ร้อยพ่อ ส่อจริต
วิสัยจิต บัดสี ดังผีสิง
ต่อหน้าศาล มันกลับ รับว่าจริง
ยอมทุกสิ่ง เสียหมา หน้าไม่อาย !!!!

(25) จำเลยมอบ สินทรัพย์ คืนกลับวัด
ผมนึกขัด ข้องใจ อยู่ไม่หาย
ถ้าไม่ลัก ยักยอก หลอกทำลาย
แล้วจะคาย ทรัพย์ใคร ให้คืนมา ?

(26) พ่อบุญหนัก ศักดิ์โต โพธิสัตว์
สมบัติวัด ยังกล้าขาย ไม่อายหมา
เดี๋ยวซื้อเข้า ขายออก ถลอกตา
เป็นภิกษุ หรือนายหน้า ค้าที่ดิน (?)

(27) พ่อต้นธาตุ ต้นธรรม ไม่จำกัด
สรรพสัตว์ วัยกลับ นั่งทับหิน
พุทธพจน์ กำหนดใว้ ไม่ได้ยิน
หรือว่าหิน ทับหู ไม่รู้ความ

(28) พระนิพพาน อัตตา บ้าหรือเปล่า (?)
ลูกค้าเก่า เหงาปาก เขาฝากถาม
ไตรปิฎก ยกไป ไม่ฟังความ
พูดลามปาม พุทธธรรม ถลำเกิน

(29) อลัชชี ผีปอบ กระสือเปรต
สังฆเภท ทำผิด ไม่คิดเขิน
ล่อลวงพระ หลอกวัด จัดแถวเดิน
สรรเสริญ เยินยอ โถ ... พ่อคุณ

(30) กี่หมื่นพระ หมื่นวัด ที่จัดอวด
เพื่อนมาสวด สัพพี ผีขนุน
ทั้งค่าข้าว ค่าน้ำ คอยค้ำจุน
ยิงกระสุน จ่ายแหลก ไม่แปลกใจ !!!!

(31) เหมือนการเมือง เรื่องเก่า เล่าไม่จบ
ถลุงงบ กลบบาป สร้างภาพใส
ทั้งกองเชียร์ เบี้ยบ้าย ต้องจ่ายไป
ตกเขียวได้ สักกลุ่ม คุ้มค่าเงิน ........

(32) ตั้งแต่เด็ก เล็กรู้ ครูไม่ใหญ่
สยิวใจ ใครรู้ ครูก็เขิน
เพื่อนมันบอก กรอกหู ครูเล็กเกิน
จะเหาะเหิน เดินกลับ ก็อับอาย

(33) ครูไม่ใหญ่ ใจฝ่อ พอขึ้นห้อง
หมอก็ร้อง ครูเด็ก เล็กฉิบหาย
ล่มปากอ่าว คราวแรก แตกกระจาย
หมอก็ส่าย หน้าสั่น มันเล็กเกิน

(34) ครูไม่ใหญ่ ฉายา โชคไม่ช่วย
แต่ได้ด้วย ทวยท่าน สรรเสริญ
ครูไม่ใหญ่ ไซส์เด็ก แม้เล็กเกิน
ก็พอเพลิน เบอร์ห้า ประหยัดไฟ …

(35) เขียนกลอนเปล่า เล่าบอก ขยอกข่าว
เป็นครั้งคราว เฮฮา น้ำตาไหล
ที่จริงจัง หนังถลอก ขัดยอกใจ
ก็อย่าได้ คิดมาก ลำบากตัว

(36) ที่หยอกเย้า เคล้าขำ ทำหัวเราะ
ก็จำเพาะ เลาะเอ็น แค่เล่นหวัว
อัมพาต ร่อแร่ แค่ครึ่งตัว
แต่คงหัว เราะได้ ถ้าใจเย็น

(37) ขอพระธรรม ค้ำจุน พระคุณท่าน
ให้เบิกบาน สราญสุข ไม่ทุกข์เข็ญ
พุทธธรรม แผ่ปรก โลกร่มเย็น
สมเชิงเช่น พุทธศา- สนิกชน



ขอให้มีความสุข ........ ตามสมควร


ฤทธี

สตรี ฤา จัณฑาล แห่งพระพุทธศาสนา

เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๙๙ ท่านอัมเบดการ์ได้นำชาวอธิศูทร(จัณฑาล)จำนวนกว่า ๓ แสนคน ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะที่เมืองนาคปูร์ โดยความหมายของการกระทำในครั้งนี้ก็คือ การปลดปล่อยปัจเจกชนไปสู่อิสรภาพแห่งจิตวิญญาณเสรี ทั้งนี้เนื่องจาก ท่านอัมเบดการ์ ได้บังเกิดความเข้าใจอย่างชัดแจ้งแล้วว่า บทบัญญัติรัฐธรรมนูญไม่อาจสร้างอิสรภาพและเสรีภาพที่แท้จริงให้กับประชาชนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประชาชนผู้ยากไร้ด้อยโอกาสด้วยแล้ว กฏหมายไม่เคยสามารถปกป้องคุ้มครองพวกเขาได้เลย ตราบเท่าที่ธรรมเนียมจารีตซึ่งยึดถือกันมาอย่างปราศจากเหตุผลในรูปแบบของลัทธิศาสนา ยังคงมีอิทธิพลต่อจิตใจของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม ดังนั้น ในฐานะเสรีชนผู้มีอิสรภาพตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ จึงต้องแสวงหาสิ่งที่ดีกว่า เพื่ออนาคตที่ดีกว่าเก่า ซึ่ง “พระพุทธศาสนา” ก็คือคำตอบในทุกๆคำถามของผู้ที่ถูกกดขี่ข่มเหงจากความอยุติธรรมของสังคม ดังนั้น การผละออกจากศาสนธรรมเดิม(ฮินดูธรรม) จึงเป็นเสมือนการปลดแอกทางจิตวิญญาณ ให้พ้นไปจากความสยบยอมต่อการถูกกดขี่ทางชนชั้นซึ่งหมายรวมทั้งร่างกายและจิตวิญญาณที่สืบเนื่องยาวนานนับพันปี และน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่พบว่า ในชมพูทวีปได้บังเกิดกลุ่มอิสรชนในนามของพุทธศาสนิกชนอยู่มากกว่า ๕๐ ล้านคนแล้วในปัจจุบัน

หากแม้ว่าการละทิ้งศาสนธรรมเดิมของชาวอธิศูทร จะเป็นไปเพื่อประกาศอิสรเสรีภาพทางจิตวิญญาณ ซึ่งได้รับการกดขี่ข่มเหงจากโครงสร้างของสังคมซึ่งเต็มไปด้วยความอยุติธรรมอย่างฉ้อฉลมาช้านาน เช่นนั้นแล้ว การกดขี่ข่มเหงต่อกุลสตรีผู้ปรารถนาการอุปสมบทจากหลายภาคส่วนของสังคมไทยในปัจจุบันโดยที่มีคณะสงฆ์ไทยเป็นแกนนำในการก่อกรรมทำเข็ญนั้น ก็ย่อมทำให้สามารถเข้าใจได้ว่า แท้ที่จริง “ผู้หญิง” ในสายตาของพุทธศาสนิกชนคนไทยเวลานี้ ย่อมมีค่าไม่ต่างไปจาก พวกจัณฑาลในสังคมอินเดีย ซึ่งมีฐานะเป็นเพียงแค่ “ผู้ด้อยสิทธิ์” ในสังคมของเหล่าเทวดา(เพศผู้)บนสรวงสวรรค์แห่งการบริโภคกามที่ไม่รู้จักพอเท่านั้นเอง !!!!

และถ้าหากสังคมไทย ยังไม่แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างจริงจังและจริงใจในการหาทางออกให้กับสตรีทั้งหลายเหล่านั้นอย่างถูกต้องเหมาะสมและชอบธรรม สิ่งที่สังคมไทยควรรับรู้พร้อมทั้งทำใจยอมรับก็คือ เมื่อถึงกาลเทศะอันสมควร กระบวนการแห่งพลังการปลดแอกจากความอยุติธรรมของสังคม ก็ย่อมจะนำไปสู่การอภิวัฒน์(สังคม)ให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เอื้อต่อการพัฒนาจิตวิญญาณของผู้ซึ่งเคยได้รับการกดขี่ ให้กลายเป็นอิสรชน ผู้มีเสรีภาพทั้งทางกาย จิต และวิญญาณ โดยที่มีพุทธธรรมเป็นทั้งที่พึ่งและที่เกาะ ครุวนาดุจธงชัยอันจะนำไปสู่ความดับทุกข์อย่างไม่มีเหลือในอนาคต ดังที่ชาวอธิศูทรในอินเดีย ก็ได้เคยแสดงให้เห็นถึงพลังอันยิ่งใหญ่อย่างเดียวกันนี้ ด้วยการผละออกจากศาสนธรรมเดิม เพื่อไปสู่สิ่งที่ดีกว่า นั้นแล

สังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือคณะสงฆ์ไทย จึงสมควรยอมรับความจริงได้แล้วว่า ภิกษุณีไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมสำหรับสังคมไทยอีกต่อไป ความพยายามใดๆที่จะปิดกั้นสังคมต่อการรับรู้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมถึงความมีอยู่ของภิกษุณี จึงเป็นสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆเลยทั้งต่อคณะสงฆ์ไทยและสังคมชาวพุทธโดยรวม อีกทั้งการแก้ปัญหาด้วยการ “ซุก” ทุกสิ่งทุกอย่างเอาใว้ใต้พรมในลักษณะการสะสมความขัดแย้งจึงย่อมไม่ใช่ทางออกที่ดีอีกเช่นกัน ดังนั้น คณะสงฆ์จึงควรตัดสินใจให้เด็ดขาดได้แล้วว่า ท่านจะเลือกเป็นผู้เปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรต่อกรณีภิกษุณีในปัจจุบันนี้เสียเอง ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาสถานะของการเป็นผู้นำทางความคิดและจิตวิญญาณของชาวพุทธต่อไป หรืออีกทางเลือกหนึ่งก็คือ คณะสงฆ์ ปล่อยให้ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงนั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตามเหตุปัจจัย ซึ่งแน่นอนว่า ด้วยพลังแห่งการต่อสู้เพื่อปฏิเสธสถานะผู้ถูกกดขี่ของสตรีทั้งหลายโดยมีเหล่าสาธุชนผู้รักความยุติธรรมให้การสนับสนุนนั้น ย่อมจะเป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรร ซึ่งจะนำไปสู่สภาวะที่ดีขึ้นได้ ดุจดังที่ชาวอธิศูทรในอินเดียได้กระทำจนเกิดผลสำเร็จมาแล้ว โดยอาจมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยก็คือ ไม่มีใครสามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้เช่นกันว่า คณะ(ภิกษุ)สงฆ์จะมีสถานภาพเช่นไรในความรับรู้ของพุทธศาสนิกชนในสังคมไทย เมื่อเวลานั้นมาถึง !!!!

สุดท้ายนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านทั้งหลายจะได้มีการเริ่มต้นพิจารณาปัญหากรณีภิกษุณีเสียใหม่อย่างปราศจาก “มายาคติ” ที่ครอบงำความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในสังคมนี้มาเป็นเวลาช้านาน เริ่มต้นด้วยการกำจัดอคติและความเชื่อถือที่มีมาแต่เดิมออกไปเสียให้สิ้น แล้วจึงเข้ามาร่วมกันพิจารณาปัญหาในทุกๆแง่มุมอย่างสร้างสรรและรอบด้าน ทั้งยังต้องถือว่า มติของพระอรหันตเถระเมื่อครั้งปฐมสังคายนา คือหลักการที่สำคัญที่สุดในขณะพิจารณาในส่วนของพระธรรมวินัย ในฐานะที่เราคือชาวพุทธนิกายเถรวาท พร้อมกันนั้น ก็ต้องถือเอาหลักการสิทธิเสรีภาพตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นหลักสำคัญเมื่อกำลังพิจารณาในแง่มุมของกฏหมายบ้านเมืองเช่นกัน โดยที่มีเป้าหมายหลักก็คือ “ข้อเท็จจริง” อันเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรร ด้วยความถูกต้องชอบธรรม ประกอบไปด้วยเหตุผลและหลักฐานที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาสังคมให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นได้โดยธรรม


บางส่วนจากหนังสือ ภิกษุณี วิกฤต ฤๅ โอกาส (ฉบับ ปุจฉา-วิสัชนา) By Ritti Janson

สงฆ์ กับ โสเภณีที่คุ้นเคยมานาน

อะไรคือสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งทำให้สังคมไทยมิอาจยอมรับการมีอยู่ของภิกษุณีสงฆ์ได้นั้น นับว่าเป็นเรื่องที่น่าพิศวงเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าถามท่านทั้งหลายว่าความปรารถนาในการออกบวชบำเพ็ญภาวนาเป็นสิ่งที่ดีไหม แน่นอนทุกคนย่อมตอบว่าเป็นสิ่งดี แต่แล้วทำไมในประวัติศาสตร์ของสังคมไทยจึงไม่เคยมีภิกษุณีเลย ทั้งๆที่เราทราบกันเป็นอย่างดีว่า บ้านนี้เมืองนี้อยู่คู่กันกับ “โสเภณี” มานานหลายร้อยปีแล้วเช่นกัน โดยเท่าที่ปรากฏเป็นเอกสารหลักฐานจากเนื้อความในกฏหมายสมัยต้นกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๔ ได้กล่าวถึง “นครโสเภณี” กันแล้ว ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ ถึงกับมีการเก็บภาษีผูกขาดเรียกว่า “อากรโสเภณี” จึงเป็นอันว่ารัฐบาลสมัยนั้น นอกจากจะไม่คิดแก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้านแล้ว ยังอุตส่าห์ผสมโรง “หากิน” อยู่บนความทุกข์ยากของผู้หญิงเหล่านั้นซ้ำเติมเข้าไปเสียอีก ขอให้สังเกตเอาใว้ด้วยว่า กล่าวสำหรับสังคมไทยซึ่งมีผู้ชายเป็นใหญ่ เขาสามารถปล่อยให้มีโสเภณีอยู่ได้ในสังคมโดยที่มิได้แสดงอาการเดือดเนื้อร้อนใจอะไรเลย แต่สำหรับกรณีภิกษุณีแล้วละก็ เขาเหล่านั้นจะทุรนทุราย ต่อต้านโจมตี และแสดงอาการให้เห็นอย่างชัดเจนว่า(เขา)จะไม่ยอมรับเป็นอันขาด

อันที่จริงแล้ว โสเภณีกับพระสงฆ์องค์เจ้า ก็ใช่ว่าจะไม่คุ้นเคยกันเสียเมื่อไร ดังที่หลังคาวัดคณิกาผล(วัดใหม่ยายแฟง)ที่ช่วยคุ้มแดดคุ้มฝนให้กับพระคุณเจ้าทั้งหลายนั้น ก็ได้มาจากน้ำพักน้ำแรงของโสเภณีจากซ่องยายแฟง หรือมิใช่ (?)

ตามประวัติเท่าที่ปรากฏ วัดนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ สมัยรัชกาลที่ ๓ โดยการที่ยายแฟง(แม่เล้าชื่อดัง) เก็บหอมรอมริบเงินจาก “ค่าหัวคิว” ของบรรดาโสเภณีในซ่องของตนเอง ในอัตรารายได้ครั้งหนึ่ง ๒๕ สตางค์ ชักเอาไว้ ๕ สตางค์ สะสมเอาไว้เช่นนี้จนได้ประมาณ ๒,๐๐๐ บาท แล้วจึงสร้างวัดขึ้นที่บริเวณตรอกโคก(ถนนพลับพลาไชย) ชาวบ้านทั่วไปจึงเรียกว่าวัดโคกหรือวัดใหม่ยายแฟง และต่อมา ยายกลีบลูกสาวยายแฟงได้สืบทอดธุรกิจต่อจากมารดาซึ่งก็ร่ำรวยอู้ฟู่ไม่แพ้กัน ดังที่ปรากฏว่ายายกลีบก็ได้สร้างวัดเอาใว้ด้วยเหมือนกันคือ “วัดกันมาตุยาราม”

ก็ไม่ทราบว่า พระคุณเจ้าทั้งหลายจะไม่รู้สึกกระดากใจบ้างเลยหรือว่า ที่ได้กินอยู่หลับนอนกันอย่างสุขสบายนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากหยาดเหงื่อแรงกายของบรรดาสตรีด้อยโอกาสในสังคม(นี้)นั่นเอง ทั้งนี้ขอให้รับทราบเอาใว้ด้วยว่า โสเภณีโดยส่วนใหญ่ในสมัยนั้น ก็คือพวกทาสที่แม่เล้าซื้อมาแล้วบังคับให้ทำงานเป็นโสเภณี หาได้เกิดจากความสมัครใจหรือเกิดจาก “สันดานร่านของผู้หญิง” ตามที่รัฐบาลของสมเด็จพระนารายณ์ พยายามสร้างมายาคติอันต่ำทรามให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน เมื่อคราวที่รัฐบาลต้องการจะเรียกเก็บ “อากรโสเภณี” แต่อย่างใดไม่ ที่น่าสมเพชไปกว่านั้นก็คือ แม้สตรีเหล่านั้นจะมีสภาพที่น่าเห็นใจปานใดก็ตาม แต่ด้วยมาตรฐานทางสังคมที่ค่อนข้างต่ำในสมัยนั้น(ซึ่งอาจรวมถึงสมัยนี้ด้วย) บรรดาโสเภณีทั้งหลาย ก็ยังไม่เคยได้รับการเหลียวแลใดๆเลยจากผู้คนในสังคม เว้นเสียแต่คำค่อนขอดที่ว่า บุญจากการสร้างวัดนั้นก็ได้เพียงแค่เศษเฟื้องเศษสลึง เพราะวัตถุทานที่ให้นั้นไม่บริสุทธิ์ เท่านั้นเอง(จริงๆ) !!!!

และด้วยความลักลั่นอันพิลึกพิลั่นนี้เอง ทำให้อาจคิดไปได้ว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่ผู้ชายในสังคมไทยยินดีต่อการมีโสเภณีได้ทั้งๆที่เป็นการผิดต่อศีลธรรมอันดี และเป็นการกดขี่เบียดเบียนสตรี แต่กลับไม่ยินดีเลยที่สตรีจะออกบวชเป็นภิกษุณี นั่นเป็นเพราะ การมีอยู่ของโสเภณี ย่อมตอบสนองต่อกิเลสตัณหาของพวกเขาได้มากกว่าการมีอยู่ของภิกษุณี ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็คือ เหล่าพาลชนย่อมประเมินได้ว่า ความตั้งมั่นของภิกษุณีสงฆ์ อาจมีผลทำให้โสเภณีอันเป็นแหล่งสนองกิเลสตัณหา และเป็นที่มาของผลประโยชน์อันมหาศาล จะต้องอันตรธานไปจากสังคมไทยในเวลาอันใกล้นี้ก็เป็นได้ และนั้นจึงเป็นที่มาของกระบวนการต่อต้านและใส่ร้ายภิกษุณีอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยข้ออ้างทางพระวินัยที่มีความพยายามแสดงออกมาอย่างรวบรัดตัดตอน ปราศจากคำอธิบายที่สามารถเชื่อมโยงเหตุผลได้อย่างเป็นองค์รวม และตรงตามพุทธประสงค์อย่างแท้จริง อีกทั้งยังมีความพยายามที่จะใช้โครงสร้างทางกฏหมายที่ล้าสมัย ในการกดขี่ข่มเหงภิกษุณีอย่างไม่เป็นธรรม และอย่างไม่ถูกต้องตามกฏหมายซึ่งย่อมรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการนับถือศาสนานั้นซ้ำเติมเข้าไปอีกทางหนึ่งด้วย

ดังนั้น จึงเป็นภาระหน้าที่ของท่านทั้งหลาย ในการที่จะต้องช่วยกันพิจารณาปัญหาเหล่านี้ด้วยความรอบคอบและสร้างสรร โดยที่ต้องถือเอาผลประโยชน์ของผู้ด้อยโอกาสในสังคม เป็นทั้งจุดเริ่มต้นและเป้าหมายสำคัญของกระบวนการแก้ปัญหา ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว มันก็คือกระบวนการที่ทุกภาคส่วนของสังคมจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจร่วมกันว่า เราจะเลือกให้สังคมนี้ เป็นเมืองโสเภณีตามที่ชาวต่างชาติรับรู้และเข้าใจกันมานาน หรือเราจะมาร่วมมือกันในการเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ ให้เป็นเมืองแห่งพระพุทธศาสนาที่ประกอบไปด้วยพุทธบริษัทสี่อย่างสมบูรณ์และเปี่ยมคุณภาพ สามารถสงเคราะห์พหุชนให้พ้นไปจากความทุกข์ยากทั้งในทางร่างกายและจิตวิญญาณ โดยที่ยังรักษาแก่นธรรมคำสอนของพระพุทธองค์เอาใว้ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ ไม่เจือปนไปด้วยมายาคติแห่งลัทธินิกายที่เหลวไหลห่างไกลจากสาระแห่งพุทธธรรมด้วยประการทั้งปวง นั้นแล



บางส่วนจากหนังสือ ภิกษุณี วิกฤต ฤๅ โอกาส (ฉบับ ปุจฉา-วิสัชนา) By Ritti Janson

ความเป็นจริง ที่ต้องหลับตามอง

ความเป็นจริง ที่ต้องหลับตามอง

หากพุทธศาสนิกชน ยังไม่อาจยอมรับกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับคณะสงฆ์ ในความย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัยอันเกิดจาก ความไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย(ทุนนิยม)ได้อย่างรู้เท่าทัน ของคณะสงฆ์โดยรวม ก็ขอให้ท่านทั้งหลายจงหลับตาลง และพิจารณาทุกสิ่งอย่างตามความเป็นจริงดังนี้ว่า โดยเนื้อแท้แล้ว เมื่อนำความประพฤติโดยภาพรวมของภิกษุทั้งหลายในปัจจุบันนี้ ไปเทียบกับ ความประพฤติของภิกษุวัชชีบุตร ในสมัยทุตติยสังคายนา นั้นเกือบจะไม่มีความแตกต่างกัน ที่ใช้คำว่า “เกือบจะ” นั้นมีความหมายว่า ถ้าจะพิจารณากันอย่างจริงจังแล้ว โดยภาพรวมภิกษุในคณะสงฆ์สมัยนี้มีความย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัยมากกว่า ภิกษุวัชชีบุตรในสมัยทุตติยสังคายนานั้นอย่างมิอาจเปรียบได้เลย !!!!

การที่ภิกษุวัชชีบุตรกล่าวว่า “ข้อปฏิบัติใดที่เคยประพฤติตามกันมา แต่พระอุปัชฌาย์อาจารย์แม้จะประพฤติผิด ก็ควรประพฤติตามท่านได้” นั้นแตกต่างกันตรงไหนกับธรรมเนียมการปฏิบัติของภิกษุในคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบันนี้ เพราะดูเหมือนว่า ภิกษุเก้อยากหลายๆตน ก็มักจะแอบอ้าง “ความกตัญญู” ต่อครูบาอาจารย์โดยการรับเชื่อและสืบต่อการปฏิบัติต่างๆของอาจารย์ตน โดยไม่เคยแยแสเลยว่า สิ่งเหล่านั้นจะผิดพุทธบัญญัติหรือไม่ ก็ด้วยการประพฤติปฏิบัติกันเยี่ยงนี้ ซึ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับ วัตถุ ๑๐ ประการ ของภิกษุวัชชีบุตรแล้ว ขอถามว่า มันแตกต่างกันตรงไหน และที่สำคัญก็คือ ด้วยการปฏิบัติเยี่ยงนี้เรายังอาจเรียกตนเองว่า “พุทธเถรวาท” ได้อยู่อีกหรือไม่ (?)

มีข้อเท็จจริงบางอย่าง อันเกี่ยวกับวัตรปฏิบัติขององค์กรการปกครองคณะสงฆ์ไทย ที่ชาวพุทธเถรวาทมิอาจ “ลืมตามอง” ด้วยความเข้าใจได้เลยก็คือ การปล่อยปละละเลยให้คณะสงฆ์เต็มไปด้วย “อลัชชี” ปลอมบวชโดยที่มิอาจจัดการ หรือไม่คิดจัดการใดๆทั้งสิ้น และบางครั้งกลับส่อแสดงให้เห็นด้วยซ้ำไปว่า มีความพยายามที่จะโอบอุ้มคุ้มครองอลัชชีปลอมบวชเหล่านั้นให้สามารถคงสถานะเอาใว้ได้ดังเดิมด้วยเล่ห์เพทุบายนานาประการ ขอให้สังเกตด้วยว่า เหตุการณ์เมื่อครั้งปฐมสังคายนา ที่พระอรหันตเถระมิอาจหาข้อสรุปได้ว่า “สิกขาบทเล็กน้อย” นั้นหมายถึงสิ่งใด ด้วยเกิดความเห็นที่แตกต่างกันถึง ๖ ประการคือ

(๑) พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
(๒) พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
(๓) พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้น อนิยต ๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
(๔) พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้น อนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
(๕) พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้น อนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
(๖) พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้น อนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ เว้นปาฏิเทสนียะ ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย ฯ

ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้พระอรหันตเถระ จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันถึงเพียงนี้ แต่สิ่งที่พระอรหันตเถระทั้งหลาย มีความเห็นตรงกันทั้งหมดก็คือ “ปาราชิก ๔” มิอาจกล่าวว่าเป็น “สิกขาบทเล็กน้อย” ได้เลย โดยที่ข้อสรุปนี้สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างชัดเจน แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ทั้งๆที่คณะสงฆ์ไทยอ้างตนว่าเป็นพุทธนิกายเถรวาท แล้วเหตุใดจึงละเลย ปล่อยให้ “พระสังฆาธิการ” ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการปกครองของคณะสงฆ์ไทย สามารถต้องอาบัติ “ปาราชิก” ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนดูเหมือนประหนึ่งว่า มิได้เห็นพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์อยู่ในสายตา โดยที่คณะสงฆ์ไทยก็มีความประพฤติย่อหย่อน อีกทั้ง กระบวนการบริหารคณะสงฆ์ไม่อยู่ในสภาพที่จะสามารถใช้การได้เอาเสียเลย

ดังได้เคยปรากฏกรณีของ นาย นรินทร์ ทองหยุด หรือ อดีตพระครูวินัยธรนรินทร์ อคฺควีโร (อดีต)เจ้าวาสวัดปากบึง เขตลาดกระบัง ถูกจับ “คาหนังคาเขา” ขณะมั่วสีกาอยู่ภายในกุฏิ เมื่อเดือน พฤษภาคม ๒๕๕๒ แต่แล้ว เรื่องกลับมิได้จบแต่เพียงเท่านี้ เนื่องจากพบว่า แท้ที่จริง นาย นรินทร์ ทองหยุด ได้เคยกระทำความผิดจนต้อง “อาบัติปาราชิก” มาก่อนหน้านี้แล้วถึง ๒ ครั้ง ด้วยข้อหาร่วมกันปลอมแปลงเอกสารแต่งตั้งพระอุปัชฌาย์(พ.ศ. ๒๕๓๒) และข้อหาเสพเมถุน(พ.ศ. ๒๕๔๑) แปลความได้ว่า อลัชชีผู้นี้ ได้กระทำในสิ่งที่เหลือวิสัยของชาวพุทธเถรวาทจะสามารถทำความเข้าใจได้ว่าทำไม คณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม จึงได้ปล่อยปละละเลยจนเขาสามารถต้อง “อาบัติปาราชิก” ได้ถึง ๓ ครั้ง และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ เมื่ออลัชชีผู้นี้ถูกจับสึกไปแล้ว เขาก็ยังสามารถกลับเข้ามาบวชใหม่ และรับตำแหน่งพระสังฆาธิการ(เจ้าอาวาส)ได้อย่างหน้าตาเฉย

แต่ที่น่าตกใจไปมากกว่านั้นก็คือ ยังมีภิกษุปลอมบวชเก้อยากประเภทนี้ แฝงตัวอยู่ในคณะสงฆ์ไทยอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องเหล่านี้ คงต้องอาศัยการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจาก “ชาวบ้าน” เท่านั้น ด้วยเหตุที่ ระบบโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบันนี้ มิได้เอื้ออำนวยต่อการสะสางอลัชชีออกจากคณะสงฆ์ แต่ในทางตรงข้าม โครงสร้างทางอำนาจการปกครองคณะสงฆ์ในบัดนี้ มักเอื้อประโยชน์ในลักษณะของการปกป้องอลัชชี โดยการช่วยกันปกปิดความผิดของกันและกันเสียมากกว่า อีกทั้ง ถ้าหากภิกษุชั้นผู้ใหญ่กระทำผิด ภิกษุชั้นผู้น้อยที่แม้จะรู้อยู่ แต่ก็มิอาจแสดงความกล้าหาญทางคุณธรรมจริยธรรมออกมาได้ เนื่องจากโครงสร้างทางอำนาจการปกครองคณะสงฆ์นั้นเอง ที่คอยบีบบังคับและกดข่ม เสียจนท่านเหล่านั้นมิอาจจะขยับเขยื้อน “ธาตุขันธ์” เพื่อทำการใดๆอันเป็นประโยชน์ต่อพระธรรมวินัย ที่มากไปกว่าการบำเพ็ญ “อุเบกขาบารมี” คือการนั่งชำเลืองมองอลัชชีตาปริบๆ จากนั้นก็ค่อยๆผ่อนลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ฆ่าเวลาให้หมดไปวันๆหนึ่ง ทั้งนี้ ก็เพียงเพื่อที่จะสามารถรักษาตัวตนให้อยู่รอดไปได้ ท่ามกลางความฉ้อฉล ภายใต้โครงสร้างอำนาจการปกครองคณะสงฆ์ ที่อยุติธรรมและฟั่นเฟือน เท่านั้นเอง

ใบไม้เหลือง หล่นจากขั้ว

เชื่อได้ว่า กรณีของ นาย นรินทร์ ทองหยุด หรือ อดีตพระครูวินัยธรนรินทร์ อคฺควีโร (อดีต)เจ้าวาสวัดปากบึง ต้องอาบัติปาราชิกซ้ำซาก ตามที่กล่าวมานี้ ย่อมมิใช่กรณีสุดท้ายของคณะสงฆ์เป็นแน่ โดยมีเพียง “เวลา” เท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ที่ไม่ต้องพิสูจน์ใดๆอีกเลยก็คือ กรณีของ นายไชยบูลย์ สิทธิผล ซึ่งต้องอาบัติ “ปาราชิก” เช่นเดียวกัน แต่เขาผู้นี้ก็ยังได้รับการแต่งตั้งจากคณะสงฆ์ไทย(มหาเถรสมาคม) ให้เป็นพระสังฆาธิการ(เจ้าอาวาส) ได้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง ทั้งๆที่

(๑) สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระลิขิตฉบับที่ ๒ ระบุออกมาอย่างชัดเจนว่า “แต่เมื่อถึงอย่างไร ก็ยังไม่
ยอมมอบคืนสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัด ก็แสดงชัดแจ้งว่าต้องอาบัติ ปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระปลอมเป็นพระ ด้วยการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครอง ทำความเศร้าหมองเสื่อมเสีย ให้เกิดแก่สงฆ์ในพระพุทธศาสนา”

(๒) ได้ปรากฏหลักฐานการสารภาพความผิดของ นายไชยบูลย์ สิทธิผล อย่างชัดแจ้ง ตามคำแถลงขอ
ถอนฟ้องของอัยการความว่า “สำหรับในด้านทรัพย์สินนั้น ปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ กับพวก ได้มอบทรัพย์สินทั้งหมด ซึ่งมีทั้งที่ดินและเงินจำนวน ๙๕๙,๓๐๐,๐๐๐ บาท คืนให้แก่วัดพระธรรมกาย การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ ๑ กับพวก จึงเป็นการปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ครบถ้วนทุกประการแล้ว” ซึ่งการที่อัยการอ้างว่า นายไชยบูลย์ สิทธิผล ได้มอบทรัพย์คืนแก่วัดไปแล้ว ก็เท่ากับว่า นายไชยบูลย์ สิทธิผล ได้ยอมรับเองโดยมิได้มีผู้ใดบีบบังคับว่า เขาได้ยักยอกทรัพย์ไปจริง !!!!

คณะสงฆ์ไทย ต้องทราบอย่างแน่นอนว่า คดียักยอกทรัพย์นั้นสามารถยอมความกันได้ และย่อมทราบด้วยเช่นกันว่า ในทางพระธรรมวินัยนั้น เมื่อต้องอาบัติ “ปาราชิก” แล้วก็ย่อมขาดจากความเป็นภิกษุโดยอัตโนมัติ ตรงตามที่สมเด็จพระสังฆราชตรัส ดังปรากฏใน พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค ข้อ ๘๙ ความว่า “คำว่า เป็นปาราชิก มีอธิบายว่า ใบไม้เหลืองหล่นจากขั้วแล้ว ไม่อาจจะเป็นของเขียวสดขึ้นได้ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแหละ ถือเอาทรัพย์อันเขาไม่ได้ให้ ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย หนึ่งบาทก็ดี ควรแก่หนึ่งบาทก็ดี เกินกว่าหนึ่งบาทก็ดี แล้วไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่า เป็นปาราชิก”

ดังนั้น คำถามของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ซึ่งอาจปราศจากคำตอบที่ชัดเจนจากคณะสงฆ์ไทยก็คือ เมื่อใด ท่านผู้เป็นพุทธบุตรทั้งหลาย จึงจะสามารถสะสางกรณีอลัชชีปลอมบวชผู้นี้ ให้ถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัย ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ เมื่อก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพานความว่า “ธรรมและวินัยอันใด เรา(ตถาคต)แสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็น ศาสดาของพวกเธอโดยกาลล่วงไปแห่งเรา(ตถาคต)” ได้อย่างหมดจดชัดเจนเสียที (?)



บางส่วนจากหนังสือ ภิกษุณี วิกฤต ฤๅ โอกาส (ฉบับ ปุจฉา-วิสัชนา) By Ritti Janson

คณะสงฆ์ไทย กับ การพิสูจน์ตนเอง

.





ตามแนวทางปฏิบัติของชาวพุทธเถรวาท ย่อมเห็นว่า “พระธรรมวินัย” ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสเอาใว้ดีแล้วนั้นเป็นสิ่งที่มิอาจล่วงละเมิดได้ ด้วยเหตุที่ “ธรรมและวินัยอันใด เรา(ตถาคต)แสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็น ศาสดาของพวกเธอโดยกาลล่วงไปแห่งเรา(ตถาคต)” (อ้างจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อ ๑๔๑) พร้อมกันนั้น พุทธเถรวาทจะต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “สงฆ์ไม่พึงบัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่พึงถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว” (อ้างจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๖๒๑) ซึ่งเป็นมติของพระอรหันตเถระ ๕๐๐ รูป เมื่อครั้งปฐมสังคายนา

ธรรมเนียมการรักษาพระธรรมวินัยอย่างเข้มงวดกวดขันนี้ นับได้ว่ามีความสำคัญต่อความอยู่รอดของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง พระพุทธองค์เคยตรัสเอาใว้ว่า “ดูกรกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในศาสดา เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในธรรม เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสงฆ์ เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสิกขา เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงกันและกัน ดูกรกิมพิละ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้พระสัทธรรมไม่ดำรงอยู่นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ฯ” (อ้างจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ข้อ ๒๐๑)

ท่าทีและจุดยืนของคณะสงฆ์วัดหนองป่าพง ในกรณีการบวชภิกษุณีของท่านพรหมวํโส นั้นย่อมสมควรได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูงในฐานะที่ คณะสงฆ์วัดหนองป่าพงเคารพพระธรรมวินัยอย่างสูง และปฏิบัติตามแนวมติของพระอรหันตเถระ ๕๐๐ รูป เมื่อครั้งปฐมสังคายนาอย่างเคร่งครัด ซึ่งถือได้ว่า นี่คือแบบอย่างของชาวพุทธเถรวาทอย่างแท้จริง และควรเป็นแบบอย่างที่คณะสงฆ์ไทยทั้งองคาพยพ จะต้องน้อมนำไปปฏิบัติโดยถ้วนหน้าและอย่างเคร่งครัดที่สุด ถ้าหากยังต้องการจะเรียกตนเองว่า “ชาวพุทธเถรวาท”

ถึงแม้ว่า มติของคณะสงฆ์ที่ห้ามภิกษุสงฆ์(ไทย) ทำพิธีอุปสมบทให้สตรีเป็นภิกษุณีนั้น จะประกอบไปด้วยความถูกต้องชอบธรรมในทุกๆประการก็จริงอยู่ แต่ถึงกระนั้นก็คงมิอาจทำให้พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า หมดความเคลือบแคลงสงสัยต่อคณะสงฆ์ไทย ว่ามีอคติในทางใดทางหนึ่งต่อภิกษุณีหรือไม่ ตราบเท่าที่คณะสงฆ์ยังมิอาจสะสางคดีความเหลวแหลกภายในคณะสงฆ์ไทยอันเกี่ยวเนื่องกับพระธรรมวินัย ให้เกิดความชัดแจ้ง และสะอาดหมดจดไร้ข้อกังขาได้ ตราบนั้น พุทธศาสนิกชนบางหมู่เหล่า ก็ย่อมที่จะเคลือบแคลงสงสัยในดุลยพินิจ วิจารณญาณ และความซื่อตรงต่อพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ไทยเป็นธรรมดา

ในห้วงเวลากว่า ๒๐ ปีที่ผ่านนั้น ต้องยอมรับว่าพุทธศาสนิกชนชาวไทยได้ผ่านเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิด “วิกฤตศรัทธา” มานับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น กรณี สมีเจี๊ยบ(โล้นคาเฟ่) หรือ นาย พรศักดิ์ พรรัตนสมบูรณ์ อดีตเลขานุการสมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ที่พาสีกามามั่วถึงกฏิวัด หรืออย่างกรณี นาย นิกร ยศคำจู นักเทศน์ชื่อดังแห่งวัดสันปง เชียงใหม่ ทำผู้หญิงท้อง แม้จะพยายามปฏิเสธ แต่ต้องยอมจำนนด้วยหลักฐาน สุดท้าย พระสังฆราชมีพระบัญชาว่า พระนิกรธรรมวาทีมีความผิด “ปฐมปาราชิก” ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔

กรณีถัดมาคือ ยันตระ อมโรภิกขุ หรือ นาย วินัย ละอองสุวรรณ อดีตพระรูปงามจากวัดสุญตารามกาญจนบุรีมีความสัมพันธ์ทางเพศกับสตรีผู้ใกล้ชิดถึงขั้นมีบุตรด้วยกันโดยมีผู้หญิงคนหนึ่งออกมาเปิดเผยว่าเป็นภรรยาของพระรูปงามที่มีลูกด้วยกัน แต่อดีตพระยันตระไม่ยอมรับ การสอบสวนอธิกรณ์ ศาลชั้นต้นตัดสินว่า ยันตระ ไม่มีความผิด (!) แต่นางจันทิมา มายะรังษี ได้ทำการยื่นอุทธรณ์ ทางมหาเถรสมาคมหาข้อยุติโดยการพยายามจะนำเด็กสาวที่ถูกอ้างว่าเป็นบุตรของยันตระมาพิสูจน์ดีเอ็นเอ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากยันตระ เมื่อถูกกดดันมากๆเข้า สุดท้ายยันตระจึงตัดสินใจเปลื้องจีวรออกหันไปนุ่งเขียวห่มเขียวและหลบออกนอกประเทศไปสหรัฐอเมริกาจนถึงบัดนี้ก็ไม่ได้รับผิดข้อกล่าวหาใดๆทั้งสิ้น

กรณี นายจำลอง คนซื่อ อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพราน จ.นครปฐม มีเพศสัมพันธ์กับเด็กชาวเขาที่นำมาอุปการะไว้ที่วัด นับเป็นเพียงแค่กรณีเดียวที่เรื่องขึ้นสู่ชั้นศาล และคนผิดถูกลงโทษทั้งทางพระธรรมวินัยและกฏหมายบ้านเมือง โดยเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ลงโทษจำคุก นายจำลอง คนซื่อ อายุ ๖๐ ปี หรือ อดีตพระภาวนาพุทโธ อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพราน จ.นครปฐม จำเลยที่ ๑ ในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราหญิงอายุไม่เกิน ๑๓ ปี และไม่เกิน ๑๕ ปี ซึ่งมิใช่ภรรยาตนเอง เป็นเวลา ๑๖๐ ปี แต่ตามกฎหมายแล้วให้จำคุกได้ไม่เกิน ๕๐ ปี ส่วน น.ส.ช่อผา สกุลวนาการ อายุ ๓๕ ปี จำเลยที่ ๓ ในความผิดฐานเป็นธุระจัดหาและชักพาหญิงไป เพื่อสำเร็จความใคร่ผู้อื่นหรือพาการอนาจาร ลงโทษจำคุก ๒๘ ปี

ทั้งนี้ การที่จำเลยที่ ๑ อ้างว่าเป็นพระมีชื่อเสียงด้านบำเพ็ญภาวนา และนำเด็กชาวเขาที่นับถือศาสนาอื่นมาเป็นชาวพุทธ สร้างความไม่พอใจแก่ศาสนาอื่น จึงร่วมกันกลั่นแกล้งปั้นเรื่อง นอกจากนี้ห้องที่เกิดเหตุไม่ตรงกับบันทึกแผนที่ของเด็ก และอวัยวะเพศของตนก็ผิดปกติไม่อาจร่วมเพศได้ ส่วนอวัยวะเพศผู้เสียหายก็ไม่มีร่องรอยถูกชำเรานั้น ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ ข้ออ้างจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลล่างทั้งสองศาลพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน

หากสังเกตได้ว่า กรณีอลัชชีต่างๆข้างต้นนี้ เป็นเพียงแค่คดีความทำนองชู้สาวฉาวโฉ่ อันถือว่าเป็นความผิดเฉพาะบุคคล(อลัชชี) ถึงแม้จะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของคณะสงฆ์(ไทย)บ้างพอสมควร แต่ก็ไม่อาจส่งผลกระทบกระเทือนไปถึงพระธรรมวินัยโดยตรง ผิดกับ “กรณีธรรมกาย” ซึ่งความพยายามในการเผยแพร่ความคิด(มิจฉาทิฐิ)ของเจ้าลัทธิ นั้นถือได้ว่าเป็นภัยอันใหญ่หลวงสำหรับพระพุทธศาสนา โดยถ้าคณะสงฆ์ไทยไม่สะสางลัทธิมิจฉาทิฐิอันเลวร้ายเหล่านี้ให้หมดจดชัดเจน แต่กลับปล่อยปละละเลยให้ทำการได้ตามใจชอบ พระธรรมคำสอนอันบริสุทธิ์ของพระพุทธองค์ ซึ่งดำรงอยู่คู่แผ่นดินไทยมาช้านาน ก็คงจะสูญสลายไปจากดินแดนแห่งนี้ภายในอนาคตอันใกล้ (พิจารณารายละเอียดได้จาก กรณีธรรมกาย บทเรียนเพื่อการศึกษาพระพุทธศาสนา และสร้างสรรค์สังคมไทย โดย ท่านปยุตฺโตภิกขุ)

แต่ที่น่าแปลกใจอย่างยิ่ง โดยพาะเมื่อคิดถึงมาตรฐานอันสูงส่งเคร่งครัดของชาวพุทธเถรวาทก็คือ เหตุใดคณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม จึงกระทำเหมือนประหนึ่งว่า ไม่ใยดีต่อพระธรรมวินัยเอาเสียเลย ต่อกรณี “ปาราชิก” ของเจ้าลัทธิมิจฉาทิฐิผู้นี้ จนแม้กระทั่ง สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระลิขิตฉบับที่ ๒ ระบุออกมาอย่างชัดเจนว่า

“ความบิดเบือนพระพุทธธรรมคำสอนโดยกล่าวหาว่าพระไตรปิฎกบกพร่อง เป็นการทำให้สงฆ์ที่หลงเชื่อคำบิดเบือน แตกแยกออกไปกลายเป็นสอง มีความเข้าใจความเชื่อถือพระพุทธศาสนาตรงกันข้ามเป็นการทำลายพระพุทธศาสนา ทำสงฆ์ให้แตกแยกเป็นอนันตริยกรรม มีโทษทั้งปัจจุบันและอนาคตที่หนัก”

ทั้งยังตรัสอีกว่า “แต่เมื่อถึงอย่างไร ก็ยังไม่ยอมมอบคืนสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัดก็แสดงชัดแจ้งว่าต้องอาบัติปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะ โดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระปลอมเป็นพระ ด้วยการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครอง ทำความเศร้าหมองเสื่อมเสีย ให้เกิดแก่สงฆ์ในพระพุทธศาสนา”

แต่คณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม ก็ยังทำเฉย ประหนึ่งว่า ไม่รู้ร้อนรู้หนาวใดๆทั้งสิ้น จนสุดท้ายจึงได้ทรงมีพระลิขิตฉบับที่ ๕ ความว่า “ได้แจ้งให้เป็นที่เข้าชัดเจนดีทั่วกันแล้วก่อนหน้านี้ ว่าในตำแหน่งผู้เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปริณายก ได้ทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เพื่อเทิดทูนรักษาพระพุทธศาสนาให้พ้นถูกทำลาย สมบูรณ์ดีที่สุดแล้วตามอำนาจท่านกรรมการมหาเถรสมาคมทั้งหลายจะทำอะไรต่อไปตามความต้องการ จะไม่มานั่งฟังรับรู้ในที่ประชุมวันนี้ ที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒” เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ แปลความได้ว่าอย่างไรกันครับ (?)

คณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม จะอธิบายความเป็นชาวพุทธเถรวาทซึ่งถือเอาพระธรรมวินัยเป็นที่เคารพสูงสุดในฐานะพระศาสดา และถือเอามติของพระอรหันตเถระ ๕๐๐ รูป เมื่อครั้งปฐมสังคายนา ที่จะไม่เพิกถอนหรือเพิ่มเติมพระธรรมวินัยโดยเด็ดขาด ต่อกรณีธรรมกายนี้อย่างไรกัน (?)

(๑) “ธรรมและวินัยอันใด เรา(ตถาคต)แสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็น ศาสดาของพวกเธอโดยกาลล่วงไปแห่งเรา(ตถาคต)” (อ้างจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อ ๑๔๑)
(๒) “สงฆ์ไม่พึงบัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่พึงถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว” (อ้างจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๖๒๑)

เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๔๒ และวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๒ ตามลำดับ นายไชยบูลย์ สิทธิผล เจ้าสำนักวัดพระธรรมกาย และนายถาวร พรหมถาวร อายุ ๕๗ ปี ลูกศิษย์คนสนิท ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานและสนับสนุนเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานและสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นโดยร่วมกันยักยอกทรัพย์ และเงินบริจาคของวัดพระธรรมกาย จำนวน ๖.๘ ล้านบาท ไปซื้อที่ดินเขาพนมพา ต.หนองพระ อ.วังทรายมูล จ.พิจิตร โดยโอนกรรมสิทธิ์ใส่ชื่อนายถาวร จำเลยที่ ๒ และเงินจำนวน ๑๙,๘๗๗,๐๐๐ บาท ไปซื้อที่ดินเนื้อที่ ๙๐๒ ไร่เศษ ต.หนองพระ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร และ ต.ท่าข้าม อ.ชนแดน จ. เพชรบูรณ์ โอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ ๒

คดีนี้ได้มีการสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างการสืบพยานจำเลย ซึ่งที่ผ่านมามีการสืบพยานไปแล้วเกือบ ๑๐๐ ครั้ง เหลือการสืบพยานอีกเพียง ๒ ครั้ง ในวันที่ ๒๓-๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๙ แต่แล้วกลับปรากฏว่า เรืออากาศโทวิญญู วิญญกุล อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา ๕ ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาล เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๙ โดยอ้างว่า ที่ยื่นฟ้องจำเลยก็ด้วยเหตุที่ไม่ปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช(เมื่อพ.ศ.๒๕๔๒) แต่ปรากฏว่าบัดนี้(เมื่อพ.ศ.๒๕๔๙) จำเลยได้ปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชแล้วคือ ....

(๑) จำเลยกับพวก ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนา ตรงตามพระไตรปิฎก และนโยบายของคณะสงฆ์ฯ
(๒) จำเลย กับพวก ได้มอบทรัพย์สินทั้งหมด ซึ่งมีทั้งที่ดินและเงินจำนวน ๙๕๙,๓๐๐,๐๐๐ บาท คืนให้แก่วัดพระธรรมกายแล้ว

สรุปก็คือ จำเลย ได้ปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ครบถ้วนทุกประการแล้ว อีกทั้งในขณะนี้ บ้านเมืองต้องร่วมกันสร้างความสามัคคีของคนในชาติทุกหมู่เหล่า เห็นว่าหากดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองต่อไป อาจก่อให้เกิดความแตกแยกในศาสนจักร โดยเฉพาะพระภิกษุ สามเณร และประชาชนทั้งในและต่างประเทศ ที่นับถือศาสนาพุทธ และไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ ดังนั้น อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งให้ถอนฟ้องคดีนี้

เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๙ ศาลโดยนายสุนพ กีรติยุติ ผู้พิพากษาอาวุโสและองค์คณะ ออกนั่งบัลลังก์ มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องในคดีดำหมายเลขที่ ๑๑๖๕๑/๒๕๔๒ และคดีดำหมายเลข ๑๔๗๓๕/๒๕๔๒ และจำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความของศาลอาญา

จำเพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกรณีธรรมกายนั้น สำหรับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก กระผมขอยกใว้เหนือเศียรเกล้า แต่สิ่งที่ค้างคาใจชาวพุทธเถรวาทก็คือ คณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม กับ ผู้รักษากฏหมายบ้านเมือง คิดทำอะไรกันอยู่ (?)

แน่นอนว่า สำหรับกฏหมายบ้านเมือง คดีฉ้อโกงทรัพย์สามารถยอมความกันได้ เพราะนั่นเป็นเรื่องทางโลก แต่ในทางพระธรรมวินัยนั้น คณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม ควรจะต้องตอบคำถามของชาวพุทธให้ชัดเจนว่า อาบัติปาราชิกนั้น สามารถยอมความกันได้หรือไม่ (?)

การที่อัยการอ้าง พระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชนั้นย่อมเป็นการดีแน่ แต่การอ้างว่าจำเลยได้ทำตามพระลิขิตนั้นแล้ว คงจะยังไม่เพียงพอกระมังครับ เพราะในอันที่จริง อัยการย่อมไม่ควรเผอเรอในข้อความของพระลิขิตที่ตรัสว่า “แต่เมื่อถึงอย่างไร ก็ยังไม่ยอมมอบคืนสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัดก็แสดงชัดแจ้งว่าต้องอาบัติปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะ โดยอัตโนมัติ” ถ้าคิดกันแบบ “โลกๆ” เมื่อคืนทรัพย์(ที่ยักยอก)นั้นแล้ว ความผิดก็น่าจะหมดไป เพราะคดียักยอกทรัพย์สามารถยอมความได้ แต่ในทางพระธรรมวินัยกลับมิได้เป็นอย่างนั้นเลย เพราะเมื่อต้อง “อาบัติปาราชิก” ก็ย่อมขาดจากความเป็นภิกษุโดยอัตโนมัติ ตามที่สมเด็จพระสังฆราชตรัสนั่นแล

“คำว่า เป็นปาราชิก มีอธิบายว่า ใบไม้เหลืองหล่นจากขั้วแล้ว ไม่อาจจะเป็นของเขียวสดขึ้นได้ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแหละ ถือเอาทรัพย์อันเขาไม่ได้ให้ ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย หนึ่งบาทก็ดี ควรแก่หนึ่งบาทก็ดี เกินกว่าหนึ่งบาทก็ดี แล้วไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่า เป็นปาราชิก”
(อ้างจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค ข้อ ๘๙)

ทั้งนี้ขอให้สังเกตให้ดีว่า อันที่จริงแล้ว การปล่อยให้คดีขึ้นไปสู่ชั้นศาลนั้น ก็มิได้เป็นผลดีต่อจำเลยแต่อย่างใดทั้งสิ้น เพราะถ้าปรากฏว่า นายไชยบูลย์ สิทธิผล แพ้คดี เขาก็อาจติดคุก ต้องสึกไปโดยปริยาย และหากเขาชนะคดีนี้ นายไชยบูลย์ สิทธิผล ก็ต้อง “อาบัติปาราชิก” ขาดจากความเป็นภิกษุอยู่ดี !!!!

“ภิกษุฟ้องร้องยังโรงศาล ยังเจ้าของให้แพ้ ต้องอาบัติปาราชิก”
(อ้างจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค ข้อ ๑๐๙)

กล่าวโดยสรุปก็คือ สำหรับชาวพุทธเถรวาทโดยทั่วไปแล้ว ไม่ว่าคดีความในโรงศาลจะเป็นอย่างไรก็ตามนั่นเป็นเรื่องทางโลก ก็ดำเนินการกันไปอย่าง “โลกๆ” แต่ในทางพระธรรมวินัยนั้น คณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม จะต้องตอบชาวพุทธให้ได้ว่า ตามหลักการของพุทธเถรวาทนั้น นายไชยบูลย์ สิทธิผล ขาดจากความเป็นภิกษุแล้วหรือไม่ (?)

ด้วยในบัดนี้ ได้ปรากฏหลักฐานการสารภาพความผิดของ นายไชยบูลย์ สิทธิผล อย่างชัดแจ้ง ตามคำแถลงขอถอนฟ้องของอัยการความว่า “สำหรับในด้านทรัพย์สินนั้น ปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ กับพวก ได้มอบทรัพย์สินทั้งหมด ซึ่งมีทั้งที่ดินและเงินจำนวน ๙๕๙,๓๐๐,๐๐๐ บาท คืนให้แก่วัดพระธรรมกาย การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ ๑ กับพวก จึงเป็นการปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ครบถ้วนทุกประการแล้ว”

การที่อัยการอ้างว่า นายไชยบูลย์ สิทธิผล ได้มอบทรัพย์คืนแก่วัดไปแล้ว นั่นก็เท่ากับว่า นายไชยบูลย์ สิทธิผล ยอมรับออกมาเองโดยมิได้มีผู้ใดบีบบังคับว่า เขาได้ยักยอกทรัพย์ไปจริง เพราะถ้าเขามิได้ยักยอกทรัพย์ไป แล้วเขาจะไปเอาทรัพย์ที่ไหนมาคืน(ประมาณหนึ่งพันล้านบาท) ให้กับวัด (?)

และในเมื่อจำเลย คือ นายไชยบูลย์ สิทธิผล ได้กล่าวยอมรับแล้วว่า เขาได้ยักยอกทรัพย์ไปจริง คณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร จึงจะถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัยฝ่ายเถรวาท นี่เป็นเรื่องที่ชาวพุทธทั้งหลายล้วนต้องการทราบบทสรุปที่ชัดเจน

การ(แอบ)อ้างความสมานฉันท์ในหมู่พุทธบริษัท แล้วยกเลิกกระบวนการนิคคหกรรม โดยอ้างอิงถึงการยุติกระบวนการยุติธรรมในทางโลก อีกทั้งคืนตำแหน่งพระสังฆาธิการ(เจ้าอาวาส)ให้กับ นายไชยบูลย์ สิทธิผล ดังที่ปรากฏอยู่จนถึงบัดนี้ จะสามารถนับได้ว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัยฝ่ายเถรวาทแล้วหรือ (?)

และถ้าคณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม เข้าใจเอาเองว่า การที่ นายไชยบูลย์ สิทธิผล ได้รับตำแหน่งพระสังฆาธิการ(เจ้าอาวาส)คืนมาจากคณะสงฆ์ จะทำให้ชาวพุทธทั่วไป(หลง)เชื่อว่า นายไชยบูลย์ สิทธิผล เป็นผู้บริสุทธิ์และพ้นจากข้อกล่าวหาทั้งปวงแล้ว ก็คงจะเป็นการเข้าใจที่ผิดไปจากความเป็นจริงมากทีเดียว เพราะแทนที่เรื่องราวต่างๆจะสามารถยุติลงได้ด้วยดี แต่กลับกลายเป็นว่า การกระทำอันขาดความชอบธรรม และเบี่ยงเบนไปจากพระธรรมวินัยทั้งหลายเหล่านี้ ยิ่งตอกย้ำถึงความไม่ใยดีต่อพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม มากยิ่งขึ้น เพราะชาวพุทธในปัจจุบันย่อมมิอาจสามารถเชื่อถือได้ว่า ผู้ที่มีตำแหน่งเป็นพระสังฆาธิการ(เจ้าอาวาส)ตามประกาศของคณะสงฆ์ไทย จะเป็นผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตรงตามพระธรรมวินัยเสมอไป

ดังกรณีของ นาย นรินทร์ ทองหยุด หรืออดีตพระครูวินัยธรนรินทร์ อคฺควีโร (อดีต)เจ้าวาสวัดปากบึง เขตลาดกระบัง ถูกจับ “คาหนังคาเขา” ขณะมั่วสีกาอยู่ภายในกุฏิ เมื่อเดือน พฤษภาคม ๒๕๕๒ แต่แล้ว เรื่องกลับมิได้จบแต่เพียงเท่านี้ เนื่องจากพบว่า แท้ที่จริง นาย นรินทร์ ทองหยุด ได้เคยกระทำความผิดจนต้อง “อาบัติปาราชิก” มาก่อนหน้านี้แล้วถึง ๒ ครั้ง ด้วยข้อหาร่วมกันปลอมแปลงเอกสารแต่งตั้งพระอุปัชฌาย์(พ.ศ. ๒๕๓๒) และข้อหาเสพเมถุน(พ.ศ. ๒๕๔๑)

แปลความได้ว่า อลัชชีผู้นี้ ได้กระทำในสิ่งที่เหลือวิสัยของชาวพุทธเถรวาทจะสามารถทำความเข้าใจได้ว่าทำไม คณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม จึงได้ปล่อยปละละเลยจนเขาสามารถต้อง “อาบัติปาราชิก” ได้ถึง ๓ ครั้ง และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ เมื่ออลัชชีผู้นี้ถูกจับสึกไปแล้ว เขาก็ยังสามารถกลับเข้ามาบวชใหม่ และรับตำแหน่งพระสังฆาธิการ(เจ้าอาวาส)ได้อย่างหน้าตาเฉย หรือเพราะว่า คณะสงฆ์ไทย(มหาเถรสมาคม) มีมาตรฐานในการบริหารงานคณะสงฆ์แบบนี้(นี่เอง) จึงทำให้ นายไชยบูลย์ สิทธิผล ซึ่งก็ต้อง “อาบัติปาราชิก” เช่นเดียวกัน แต่เขาก็ยังสามารถลอยหน้าลอยตา รับการแต่งตั้งจาก คณะสงฆ์ไทย(มหาเถรสมาคม) ให้เป็นพระสังฆาธิการ(เจ้าอาวาส) ได้ใหม่อีกครั้ง เฉกเช่นเดียวกับ กรณีของ นาย นรินทร์ ทองหยุด ผู้เก้อยาก ตามที่ปรากฏอยู่ดังนี้ !!!!

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ คณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม จะต้องตระหนักถึงความสำคัญในการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยฝ่ายเถรวาทอย่างเคร่งครัด ตามมติของพระอรหันตเถระ เมื่อครั้งปฐมสังคายนา โดยการพิสูจน์ให้ชาวพุทธโดยทั่วไปได้เห็นว่า คณะสงฆ์ไทย(มหาเถรสมาคม) มีความซื่อตรงต่อพระธรรมวินัยอย่างแท้จริง มิได้กระทำการใดๆในลักษณะ “ลูบหน้าปะจมูก” หรือมี “อคติ” อย่างหนึ่งอย่างใดทั้งสิ้น

เพราะมิเช่นนั้นแล้ว ชาวพุทธบางหมู่บางเหล่า ก็อาจเกิดความเข้าใจผิดไปได้ว่า การที่คณะสงฆ์ไทย มีมติชัดเจนในการประกาศ “ห้ามบวชภิกษุณี” โดยอ้างอิงถึงความเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัยตามแบบอย่างของพุทธเถรวาทนั้น แท้ที่จริงก็เป็นเพียงแค่ข้ออ้าง ที่ใช้กลบเกลื่อน “อคติทางเพศ” เท่านั้นเอง เพราะเมื่อถึงคราวที่ คณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม จะต้องจัดการกับ ผู้ล่วงละเมิดพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นฝ่ายชายแล้วกลับพบว่า มีการปล่อยปละละเลย ไม่เอาจริงเอาจังเสมือนประหนึ่งว่า ไม่เห็นพระธรรมวินัยอยู่ในสายตาฉนั้น !!!!



บางส่วนจากหนังสือ ภิกษุณี วิกฤต ฤๅ โอกาส By Ritti Janson