วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สงฆ์ กับ โสเภณีที่คุ้นเคยมานาน

อะไรคือสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งทำให้สังคมไทยมิอาจยอมรับการมีอยู่ของภิกษุณีสงฆ์ได้นั้น นับว่าเป็นเรื่องที่น่าพิศวงเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าถามท่านทั้งหลายว่าความปรารถนาในการออกบวชบำเพ็ญภาวนาเป็นสิ่งที่ดีไหม แน่นอนทุกคนย่อมตอบว่าเป็นสิ่งดี แต่แล้วทำไมในประวัติศาสตร์ของสังคมไทยจึงไม่เคยมีภิกษุณีเลย ทั้งๆที่เราทราบกันเป็นอย่างดีว่า บ้านนี้เมืองนี้อยู่คู่กันกับ “โสเภณี” มานานหลายร้อยปีแล้วเช่นกัน โดยเท่าที่ปรากฏเป็นเอกสารหลักฐานจากเนื้อความในกฏหมายสมัยต้นกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๔ ได้กล่าวถึง “นครโสเภณี” กันแล้ว ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ ถึงกับมีการเก็บภาษีผูกขาดเรียกว่า “อากรโสเภณี” จึงเป็นอันว่ารัฐบาลสมัยนั้น นอกจากจะไม่คิดแก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้านแล้ว ยังอุตส่าห์ผสมโรง “หากิน” อยู่บนความทุกข์ยากของผู้หญิงเหล่านั้นซ้ำเติมเข้าไปเสียอีก ขอให้สังเกตเอาใว้ด้วยว่า กล่าวสำหรับสังคมไทยซึ่งมีผู้ชายเป็นใหญ่ เขาสามารถปล่อยให้มีโสเภณีอยู่ได้ในสังคมโดยที่มิได้แสดงอาการเดือดเนื้อร้อนใจอะไรเลย แต่สำหรับกรณีภิกษุณีแล้วละก็ เขาเหล่านั้นจะทุรนทุราย ต่อต้านโจมตี และแสดงอาการให้เห็นอย่างชัดเจนว่า(เขา)จะไม่ยอมรับเป็นอันขาด

อันที่จริงแล้ว โสเภณีกับพระสงฆ์องค์เจ้า ก็ใช่ว่าจะไม่คุ้นเคยกันเสียเมื่อไร ดังที่หลังคาวัดคณิกาผล(วัดใหม่ยายแฟง)ที่ช่วยคุ้มแดดคุ้มฝนให้กับพระคุณเจ้าทั้งหลายนั้น ก็ได้มาจากน้ำพักน้ำแรงของโสเภณีจากซ่องยายแฟง หรือมิใช่ (?)

ตามประวัติเท่าที่ปรากฏ วัดนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ สมัยรัชกาลที่ ๓ โดยการที่ยายแฟง(แม่เล้าชื่อดัง) เก็บหอมรอมริบเงินจาก “ค่าหัวคิว” ของบรรดาโสเภณีในซ่องของตนเอง ในอัตรารายได้ครั้งหนึ่ง ๒๕ สตางค์ ชักเอาไว้ ๕ สตางค์ สะสมเอาไว้เช่นนี้จนได้ประมาณ ๒,๐๐๐ บาท แล้วจึงสร้างวัดขึ้นที่บริเวณตรอกโคก(ถนนพลับพลาไชย) ชาวบ้านทั่วไปจึงเรียกว่าวัดโคกหรือวัดใหม่ยายแฟง และต่อมา ยายกลีบลูกสาวยายแฟงได้สืบทอดธุรกิจต่อจากมารดาซึ่งก็ร่ำรวยอู้ฟู่ไม่แพ้กัน ดังที่ปรากฏว่ายายกลีบก็ได้สร้างวัดเอาใว้ด้วยเหมือนกันคือ “วัดกันมาตุยาราม”

ก็ไม่ทราบว่า พระคุณเจ้าทั้งหลายจะไม่รู้สึกกระดากใจบ้างเลยหรือว่า ที่ได้กินอยู่หลับนอนกันอย่างสุขสบายนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากหยาดเหงื่อแรงกายของบรรดาสตรีด้อยโอกาสในสังคม(นี้)นั่นเอง ทั้งนี้ขอให้รับทราบเอาใว้ด้วยว่า โสเภณีโดยส่วนใหญ่ในสมัยนั้น ก็คือพวกทาสที่แม่เล้าซื้อมาแล้วบังคับให้ทำงานเป็นโสเภณี หาได้เกิดจากความสมัครใจหรือเกิดจาก “สันดานร่านของผู้หญิง” ตามที่รัฐบาลของสมเด็จพระนารายณ์ พยายามสร้างมายาคติอันต่ำทรามให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน เมื่อคราวที่รัฐบาลต้องการจะเรียกเก็บ “อากรโสเภณี” แต่อย่างใดไม่ ที่น่าสมเพชไปกว่านั้นก็คือ แม้สตรีเหล่านั้นจะมีสภาพที่น่าเห็นใจปานใดก็ตาม แต่ด้วยมาตรฐานทางสังคมที่ค่อนข้างต่ำในสมัยนั้น(ซึ่งอาจรวมถึงสมัยนี้ด้วย) บรรดาโสเภณีทั้งหลาย ก็ยังไม่เคยได้รับการเหลียวแลใดๆเลยจากผู้คนในสังคม เว้นเสียแต่คำค่อนขอดที่ว่า บุญจากการสร้างวัดนั้นก็ได้เพียงแค่เศษเฟื้องเศษสลึง เพราะวัตถุทานที่ให้นั้นไม่บริสุทธิ์ เท่านั้นเอง(จริงๆ) !!!!

และด้วยความลักลั่นอันพิลึกพิลั่นนี้เอง ทำให้อาจคิดไปได้ว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่ผู้ชายในสังคมไทยยินดีต่อการมีโสเภณีได้ทั้งๆที่เป็นการผิดต่อศีลธรรมอันดี และเป็นการกดขี่เบียดเบียนสตรี แต่กลับไม่ยินดีเลยที่สตรีจะออกบวชเป็นภิกษุณี นั่นเป็นเพราะ การมีอยู่ของโสเภณี ย่อมตอบสนองต่อกิเลสตัณหาของพวกเขาได้มากกว่าการมีอยู่ของภิกษุณี ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็คือ เหล่าพาลชนย่อมประเมินได้ว่า ความตั้งมั่นของภิกษุณีสงฆ์ อาจมีผลทำให้โสเภณีอันเป็นแหล่งสนองกิเลสตัณหา และเป็นที่มาของผลประโยชน์อันมหาศาล จะต้องอันตรธานไปจากสังคมไทยในเวลาอันใกล้นี้ก็เป็นได้ และนั้นจึงเป็นที่มาของกระบวนการต่อต้านและใส่ร้ายภิกษุณีอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยข้ออ้างทางพระวินัยที่มีความพยายามแสดงออกมาอย่างรวบรัดตัดตอน ปราศจากคำอธิบายที่สามารถเชื่อมโยงเหตุผลได้อย่างเป็นองค์รวม และตรงตามพุทธประสงค์อย่างแท้จริง อีกทั้งยังมีความพยายามที่จะใช้โครงสร้างทางกฏหมายที่ล้าสมัย ในการกดขี่ข่มเหงภิกษุณีอย่างไม่เป็นธรรม และอย่างไม่ถูกต้องตามกฏหมายซึ่งย่อมรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการนับถือศาสนานั้นซ้ำเติมเข้าไปอีกทางหนึ่งด้วย

ดังนั้น จึงเป็นภาระหน้าที่ของท่านทั้งหลาย ในการที่จะต้องช่วยกันพิจารณาปัญหาเหล่านี้ด้วยความรอบคอบและสร้างสรร โดยที่ต้องถือเอาผลประโยชน์ของผู้ด้อยโอกาสในสังคม เป็นทั้งจุดเริ่มต้นและเป้าหมายสำคัญของกระบวนการแก้ปัญหา ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว มันก็คือกระบวนการที่ทุกภาคส่วนของสังคมจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจร่วมกันว่า เราจะเลือกให้สังคมนี้ เป็นเมืองโสเภณีตามที่ชาวต่างชาติรับรู้และเข้าใจกันมานาน หรือเราจะมาร่วมมือกันในการเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ ให้เป็นเมืองแห่งพระพุทธศาสนาที่ประกอบไปด้วยพุทธบริษัทสี่อย่างสมบูรณ์และเปี่ยมคุณภาพ สามารถสงเคราะห์พหุชนให้พ้นไปจากความทุกข์ยากทั้งในทางร่างกายและจิตวิญญาณ โดยที่ยังรักษาแก่นธรรมคำสอนของพระพุทธองค์เอาใว้ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ ไม่เจือปนไปด้วยมายาคติแห่งลัทธินิกายที่เหลวไหลห่างไกลจากสาระแห่งพุทธธรรมด้วยประการทั้งปวง นั้นแล



บางส่วนจากหนังสือ ภิกษุณี วิกฤต ฤๅ โอกาส (ฉบับ ปุจฉา-วิสัชนา) By Ritti Janson