วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ขัด รธน. ได้หรือไม่ ?

ปัญหาสำคัญ ที่เป็นข้อขัดแย้งระหว่างฝ่ายสนับสนุนภิกษุณี กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็คือ การไม่แยกแยะข้อกฏหมายกับพระวินัยออกจากกันให้ชัดเจน การอ้างข้อกฏหมายเพื่อหักล้างพระวินัย หรือมติคณะสงฆ์ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ในขณะเดียวกัน การหลับหูหลับตาอ้างมติคณะสงฆ์เพื่อหักล้างกฏหมายบ้านเมือง มันก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน

ในประเด็นแรกนั้น พุทธศาสนิกชนจะต้องทำความเข้าใจให้ดีว่า ภิกษุและภิกษุณีล้วนแล้วแต่อุปสมบทด้วยพระธรรมวินัยทั้งสิ้น ไม่เคยมีมาก่อนเลยว่า จะสามารถอุปสมบทภิกษุหรือภิกษุณีได้ด้วยกฏหมายบ้านเมือง ในเมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงมอบสิทธิ์ในการให้อุปสมบทแก่คณะสงฆ์ไปแล้ว ดังนั้น การอุปสมบทภิกษุหรือภิกษุณี จึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะสงฆ์เป็นสำคัญ โดยที่แม้แต่กฏหมายรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายหรือล่วงละเมิดใดๆได้

ส่วนในประเด็นที่สอง การกล่าวว่า สิทธิ์ในการให้อุปสมบทเป็นของคณะสงฆ์นั้น ย่อมมีขอบเขตความหมายแค่เพียงคณะสงฆ์หนึ่งๆเท่านั้น โดยในปัจจุบันมักแยกแยะโดยอาศัยประชาชาติเป็นสำคัญ คือ แยกเป็นคณะสงฆ์ไทย คณะสงฆ์พม่า คณะสงฆ์ศรีลังกา ฯลฯ อย่างนี้เป็นต้น ทั้งนี้ในแต่ละประชาชาติ ก็อาจมีการแบ่งแยกออกเป็นคณะสงฆ์นิกายย่อยออกไปอีก โดยที่นิกายย่อยเหล่านั้น อาจรวมกันเป็นคณะสงฆ์เดียวกันในทางกฏหมาย หรืออาจแยกการปกครองตามกฏหมายออกเป็นคนละคณะสงฆ์ก็ได้ เช่น คณะสงฆ์ไทย แบ่งออกเป็น ๒ นิกายย่อย คือ มหานิกาย และ ธรรมยุติกนิกาย แต่ในทางกฏหมายก็รวมเป็นคณะสงฆ์เดียว โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุขสงฆ์ แต่ในศรีลังกาซึ่งมีนิกายย่อยอยู่ถึง ๓ นิกายคือ (๑) สยามนิกาย (๒) อมรปุรนิกาย และ (๓) รามัญนิกาย โดยที่แต่ละนิกายจะมี สังฆนายก(มหานายก) ปกครองแยกกันต่างหาก

ดังนั้น การกล่าวว่า สิทธิ์ในการให้อุปสมบทเป็นของคณะสงฆ์นั้น จึงมีความหมายว่า คณะสงฆ์สยามนิกาย คณะสงฆ์อมรปุรนิกาย และ คณะสงฆ์รามัญนิกาย แห่งศรีลังกา ต่างก็มีสิทธิโดยชอบธรรมและอย่างเป็นเอกเทศ ในการใช้ดุลยพินิจเพื่อตัดสินใจว่า จะให้อุปสมบทแก่ภิกษุณีหรือไม่ เฉกเช่นเดียวกันกับที่ คณะสงฆ์ไทย คณะสงฆ์พม่า ฯลฯ ก็มีสิทธินี้ด้วยเช่นกัน โดยที่คณะสงฆ์ทั้งหลายเหล่านั้น ต่างก็ทำได้แค่เพียงยืนยันมติของตนเอง โดยที่มิอาจล่วงละเมิดมติของคณะสงฆ์อื่นๆได้ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การพิจารณาให้ชัดเจนว่า ภิกษุณีในไทยรวมไปถึงผู้สนับสนุนทั้งหลาย จะสามารถรักษาสิทธิของตนเอง ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเอาใว้ได้อย่างไร โดยที่ไม่เป็นการล่วงละเมิดสิทธิของคณะสงฆ์ไทยตามพระธรรมวินัยนั้นด้วย

หลักการเพื่อความเข้าใจเบื้องต้น

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ท่านทั้งหลายจะต้องทำความเข้าใจและทำการพิจารณาแยกแยะให้ดีก็คือ เมื่อกล่าวถึงพระพุทธศาสนาโดยรวมทั้งหมด ย่อมต้องถือว่า“พระธรรมวินัย”เป็นหลักการสูงสุด คือเป็นพระพุทธวัจนะที่ชาวพุทธทั้งหลายมิอาจบิดเบือนให้เป็นอื่นไปได้ และเมื่อกล่าวถึงพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทในประเทศไทยแล้ว ย่อมต้องผนวกเอา “มติ” หรือธรรมเนียมปฏิบัติของคณะสงฆ์รวมเข้าเป็นหลักการอันสำคัญนั้นอีกโสตหนึ่งด้วย โดยที่มติใดๆก็ตามของคณะสงฆ์อันเนื่องกับพระธรรมวินัยนั้นย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมของคณะสงฆ์ ซึ่งไม่ว่าบุคคล คณะบุคคล หรือจนแม้แต่สิทธิตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ก็มิอาจนำมาใช้อ้างเพื่อล่วงละเมิดสิทธิของคณะสงฆ์ในส่วนนี้ได้เลย

แต่ถ้าเมื่อใดที่มติของคณะสงฆ์ไทยถูกนำเสนอออกมาในรูปของ “กฏหมาย” เราจะนำสิทธิของคณะสงฆ์ตามพระธรรมวินัยเข้ามาปะปนในการพิจารณาทางกฏหมายมิได้ ด้วยเหตุที่ เมื่ออ้างสิทธิตามพระธรรมวินัย ก็ย่อมถือเอาพระธรรมวินัยเป็นใหญ่ฉันใด ดังนั้น เมื่ออ้างสิทธิตามกฏหมายก็ย่อมต้องถือเอาหลักการทางกฏหมายเป็นสำคัญเช่นนั้นเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อคณะสงฆ์ไทยมีมติออกมาว่า “ห้ามภิกษุสงฆ์ทำพิธีอุปสมบทให้สตรีเป็นภิกษุณี” ในกรณีเมื่อเป็นเรื่องอันเกี่ยวกับพระธรรมวินัย ซึ่งท่านทั้งหลายย่อมทราบเป็นอย่างดีว่า การอุปสมบทสตรีเป็นภิกษุณีนั้น เป็นสิทธิอันชอบธรรมตามพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์แต่ฝ่ายเดียว ตามพุทธานุญาตให้ภิกษุทั้งหลายบวชภิกษุณีได้ โดยทั้งนี้ การจะให้การอุปสมบทหรือไม่ ก็ย่อมขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของคณะสงฆ์นั้นเอง ซึ่งผู้หนึ่งผู้ใดก็มิอาจบีบบังคับได้ ซึ่งในกรณีนี้ ต้องอ้างพระธรรมวินัยแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น จะอ้างอิงสิทธิตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเพื่อคัดค้าน มิได้ด้วยประการทั้งปวง

แต่ถ้าแนวความคิดหรือมติใดๆของคณะสงฆ์ไทย แสดงออกมาในรูปแบบของกฏหมายบ้านเมือง เช่น พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ในกรณีอย่างนี้จะนำพระธรรมวินัยมาอ้างอิงเป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียวมิได้ แต่จะต้องนำเอาหลักในการบัญญัติกฏหมายมาร่วมในการพิจารณาด้วย อย่างที่มิอาจละเลยได้เช่นกัน ซึ่งในอันที่จริงแล้ว แนวทางการพิจารณาแบบนี้ก็มิใช่สิ่งแปลกใหม่แต่อย่างใดเลย เนื่องจากพระพุทธองค์ก็ทรงใช้หลักการดังกล่าวนี้เช่นกัน

ดังที่ได้ปรากฏเรื่องราวในการที่จะทรงบัญญัติทุติยปาราชิกนั้น พระพุทธองค์ก็ได้ทรงถามภิกษุผู้เคยเป็นมหาอำมาตย์ผู้พิพากษาว่า เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงจับโจรได้ ทรงประหารชีวิต จองจำ หรือเนรเทศ ด้วยกำหนดทรัพย์เท่าใด ก็ได้รับคำตอบว่า “บาทหนึ่ง หรือมีราคาเท่ากับบาทหนึ่ง หรือเกินกว่าบาทหนึ่ง” ด้วยเหตุดังนี้ พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบท มิให้ภิกษุถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ให้ ผู้ใดทำเช่นนั้น ได้ราคาที่พระราชาจับโจรได้ประหารชีวิต จองจำ หรือเนรเทศ ต้องอาบัติปาราชิก ซึ่งตัวอย่างตามที่ปรากฏนี้ ย่อมสามารถยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า จนแม้เมื่อจะทรงบัญญัติสิกขาบทที่สำคัญ พระพุทธองค์ก็ยังทรงอ้างอิงหลักการทางกฏหมายบ้านเมืองอยู่นั่นเอง ในเมื่อกฏหมายคณะสงฆ์ปรากฏอยู่ในรูปของ พระราชบัญญัติ(คณะสงฆ์) ซึ่งเป็นกฏหมายบ้านเมืองชนิดหนึ่งเช่นกัน ดังนั้น คณะสงฆ์และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ย่อมไม่สามารถปฏิเสธ วิธีการพิจารณากฏหมายพระราชบัญญัตินี้ ตามหลักการบัญญัติกฏหมายลายลักษณ์อักษรได้เลย หรือมิใช่ (?)

ลำดับชั้นของกฏหมายลายลักษณ์อักษร

ลำดับชั้นของกฏหมาย หมายถึงค่าบังคับที่ไม่เท่ากันของกฏหมายในแต่ละรูปแบบ เช่น รัฐธรรมนูญ เป็นกฏหมายสูงสุด เพราะอำนาจในการก่อตั้งองค์กรทางการเมืองที่จัดให้มีรัฐธรรมนูญนั้นสูงสุด รัฐธรรมนูญ จึงเป็นแม่บทของกฏหมายทั้งหลาย กฏหมายที่ออกโดยอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญจึงเป็นกฏหมายที่อยู่ในลำดับชั้นที่ต่ำกว่า ฉะนั้น กฏหมายที่มีลำดับชั้นที่ต่ำกว่าจะบัญญัติให้มีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมิได้ โดยที่ลำดับชั้นทางกฏหมายย่อมมีความสำคัญมากในเรื่อง การใช้ การตีความกฏหมาย และการยกเลิกกฏหมาย

ดังเช่นในกรณีนี้ เป็นการพิจารณาเฉพาะ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นกฏหมายที่มีลำดับรองจากรัฐธรรมนูญและเทียบเท่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นกฏหมายที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้รัฐสภามีอำนาจในการพิจารณาออกพระราชบัญญัติ ฉะนั้น พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ จึงขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ โดยในกรณีที่มีปัญหากฏหมายที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในรัฐธรรมนูญ มีข้อความที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ กฏหมายเหล่านี้ก็ย่อมไม่มีผลใช้บังคับเพราะจะขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๖ ความว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฏหมาย กฏ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”
สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล ของชนชาวไทย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ หมวด ๓ สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ ๓ สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล มาตรา ๓๗ ระบุเอาใว้ดังนี้ว่า ….

“บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในการใช้เสรีภาพดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือ แตกต่างจากบุคคลอื่น”

ทั้งนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายโปรดพิจารณาอย่างรอบคอบด้วยว่า ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้น ได้รับรองเสรีภาพของบุคคลโดยสมบูรณ์ในการนับถือ ....

(๑) ศาสนา
(๒) นิกายของศาสนา หรือ
(๓) ลัทธินิยมในทางศาสนา

อีกทั้งยังให้เสรีภาพในการปฏิบัติตาม

(๑) ศาสนธรรม
(๒) ศาสนบัญญัติ หรือ
(๓) พิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน

ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงความมีอยู่ของภิกษุณีชาวไทย จะพบข้อเท็จจริงว่า ภิกษุณีเหล่านี้มิได้อ้างตนว่า เป็นภิกษุณีในคณะสงฆ์ไทย ด้วยเหตุที่โดยส่วนใหญ่แล้ว ภิกษุณีนิกายเถรวาทล้วนแล้วแต่ได้รับการอุปสมบทจากคณะสงฆ์ศรีลังกา ซึ่งย่อมได้รับการคุ้มครองจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๗ อย่างมิต้องสงสัย

และเนื่องจากพฤติการณ์ของภิกษุณีชาวไทยดังกล่าวนั้น ก็มิได้เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่อย่างใดทั้งสิ้น ซึ่งตรงตามเงื่อนไขตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญทุกประการ ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดๆเลยที่รัฐ จะไม่ให้ความคุ้มครองทางกฏหมายต่อ ภิกษุณีเถรวาทชาวไทย ซึ่งได้รับการอุปสมบทอย่างถูกต้องจากคณะสงฆ์ศรีลังกา ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน(ภิกษุณีชาวไทยเหล่านั้น) กล่าวโดยสรุปก็คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ย่อมให้ความคุ้มครองในสิทธิเสรีภาพของภิกษุณีเถรวาทชาวไทย ซึ่งได้รับการอุปสมบทอย่างถูกต้องจากคณะสงฆ์ศรีลังกา โดยที่บุคคลอื่นใด หรือคณะบุคคลใด จนแม้แต่ คณะสงฆ์ไทย ก็มิอาจล่วงละเมิดได้ !!!!

จุดยืนของคณะสงฆ์ไทย

จุดยืนของคณะสงฆ์ไทยนั้นเป็นที่ชัดเจนว่า ไม่ยินดีให้อุปสมบทแก่สตรีเพื่อเป็นภิกษุณี โดยนับตั้งแต่ นายนรินทร์(กลึง) ได้ต่อสู้เรียกร้องให้มีการพื้นฟูสามเณรีและภิกษุณีในประเทศไทย ด้วยการบวชลูกสาว ๒ คนเป็นสามเณรี(คุณสาระและคุณจงดี) พร้อมกับกุลสตรีอีก ๖ คน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ อันนำมาซึ่งความขัดแย้งในวงการพระศาสนาอย่างรุนแรง โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของนายนรินทร์(กลึง) ถึงกลับกล่าวว่า เขาเป็นเสนียดร้ายและศัตรูต่อพระพุทธศาสนา บ้างก็ว่าเป็นขบถต่อพระพุทธศาสนา ควรมีโทษถึงประหารชีวิต โดยกล่าวยุยงให้รัฐบาลรีบจัดการกำจัดเสีย ฯลฯ

หลังจากนั้นไม่นาน สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ จึงมีพระบัญชาของเรื่อง “ห้ามพระเณรไม่ให้บวชหญิง เป็นบรรพชิต” ความว่า “หญิงซึ่งจักได้สมมุติตนเป็นสามเณรี โดยถูกต้องตามพุทธานุญาตนั้น ต้องสำเร็จด้วยนางภิกษุณีให้บรรพชา เพราะพระองค์ทรงอนุญาตให้นางภิกษุณีมีพรรษา ๑๒ ล่วงแล้วเป็นปวัตตินี คือเป็นอุปัชฌาย์ ไม่ได้ทรงอนุญาตให้ภิกษุเป็นอุปัชฌาย์ นางภิกษุณีหมดสาบสูญขาดเชื้อสายมานานแล้ว เมื่อนางภิกษุณีผู้รักษาขนบธรรมเนียมสืบต่อสามเณรีไม่มีแล้ว สามเณรีผู้บวชสืบต่อจากภิกษุณีก็ไม่มี เป็นอันเสื่อมสูญไปตามกัน ผู้ใดให้บรรพชาเป็นสามเณรี ผู้นั้นชื่อว่า บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติ เลิกถอนสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติใว้แล้ว เป็นเสี้ยนหนามแก่พระศาสนา เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ฯ”

โปรดทราบใว้ด้วยว่า แม้ในปัจจุบันนี้ซึ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยมานานกว่าแปดสิบปีแล้ว แต่พระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ก็ยังมีการอ้างเป็นเหตุเพื่อคัดค้านการมีอยู่ของภิกษุณีชาวไทย อีกทั้งพระบัญชานี้เอง ก็ได้เป็นแนวทางของคำวินิจฉัยของมหาเถรสมาคม ในการประชุมครั้งที่ ๒๘/๒๕๒๗ และครั้งที่ ๑๘/๒๕๓๐ ห้ามภิกษุสงฆ์ทำพิธีอุปสมบทให้สตรีเป็นภิกษุณี และเป็นใจความสำคัญใน พระวรธรรมคติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ห้ามบวชให้แก่สตรีเพื่อเป็นภิกษุณี ในเวลาต่อมาอีกด้วย

กล่าวโดยสรุปก็คือ แนวทางวินิจฉัย อันเป็นจุดยืนของคณะสงฆ์ไทย ซึ่งห้ามบวชให้แก่สตรีเพื่อเป็นภิกษุณี ล้วนแล้วแต่มีพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เป็นพื้นฐานทางความคิดมาโดยตลอด นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ความแตกต่าง ที่มิใช่ปัญหา

ถ้าสังเกตดูให้ดีจะพบว่า จุดยืนของคณะสงฆ์ไทยที่ “ห้ามพระเณรไม่ให้บวชหญิงเป็นบรรพชิต” นั้นย่อมมีความหมายแต่เพียง
(๑) ห้ามมิให้ภิกษุสามเณร บวชให้แก่ภิกษุณีเท่านั้น
(๒) แต่ มิได้ห้ามสตรี บวชภิกษุณี

นั่นจึงหมายความว่า ตราบเท่าที่ ภิกษุณีชาวไทย มิได้เรียกร้องการอุปสมบทจากคณะสงฆ์ไทย หรือเรียกร้องให้คณะสงฆ์ไทยรับรองการอุปสมบทของตน ความมีอยู่ของภิกษุณีเถรวาทชาวไทย จึงมิได้เป็นการล่วงละเมิดคณะสงฆ์ไทยโดยปริยายใดๆทั้งสิ้น เพราะจากข้อเท็จจริงก็คือ ภิกษุณีเถรวาทชาวไทย ได้รับการอุปสมบทจากคณะสงฆ์ศรีลังกา ภิกษุณีชาวไทยเหล่านี้จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขอการอุปสมบทจากคณะสงฆ์ไทยแต่อย่างใด อีกทั้ง ภิกษุณีชาวไทยเหล่านี้ เป็นภิกษุณีเถรวาทอันเนื่องมาจากคณะสงฆ์ผู้ให้บวช ซึ่งก็คือคณะสงฆ์ศรีลังกา ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขอการรับรองใดๆจากคณะสงฆ์ไทย

สรุปก็คือ ในเมื่อคณะสงฆ์ไทยมีมติ “ไม่บวชภิกษุณี” นั่นก็เป็นสิทธิของคณะสงฆ์ไทย ซึ่งใครก็มิอาจล่วงละเมิดได้ แต่ในขณะเดียวกัน การที่คณะสงฆ์ศรีลังกาอนุญาตให้มีการอุปสมบทภิกษุณีได้ นั่นก็ย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมของทั้งคณะสงฆ์ศรีลังกาผู้ให้การอุปสมบทและกุลสตรีชาวไทยผู้รับการอุปสมบท ซึ่งไม่ว่าบุคคลใด จนแม้แต่คณะสงฆ์ไทย ก็มิอาจล่วงละเมิดได้เช่นกัน !!!!

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กับ ปัญหาที่ต้องแก้ไข

กล่าวสำหรับปัญหาอันเกี่ยวเนื่องกับข้อกฏหมายในกรณีภิกษุณีนั้น ย่อมเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า กฏหมายรัฐธรรมนูญ ได้ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเอาใว้อย่างชัดเจน ดังนั้น เรื่องที่จะต้องพิจารณาต่อไปก็คือ เมื่อกุลสตรีชาวไทยได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุณี(จากคณะสงฆ์อื่น)แล้ว จะมีกระบวนการรับรองสถานะทางกฏหมายของภิกษุณีเหล่านั้นอย่างไร เพราะถ้าไม่มีการตรากฏหมายเพื่อรองรับสถานะของภิกษุณีให้ถูกต้องชัดเจน บรรดาภิกษุณีที่บวชมาจากคณะสงฆ์อื่น(ศรีลังกา) ก็จะมีสถานะเป็นเพียงแค่ “นักบวชเถื่อน” เป็นภิกษุณีนอกกฏหมาย แม้ว่าจะได้รับการคุ้มครองจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญก็ตาม

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๕ ปรากฏข้อความดังนี้ว่า ….

“เพื่อประโยชน์แห่งมาตรา ๔ บรรดาอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในสังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับคณะสงฆ์ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพระภิกษุตำแหน่งใดหรือคณะกรรมการสงฆ์ใดซึ่งไม่มีในพระราชบัญญัตินี้ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจกำหนดโดยกฎมหาเถรสมาคมให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพระภิกษุตำแหน่งใด รูปใดหรือหลายรูป ร่วมกันเป็นคณะตามที่เห็นสมควรได้

มาตรา ๕ ทวิ ในพระราชบัญญัตินี้ ....
คณะสงฆ์ หมายความว่า บรรดาพระภิกษุที่ได้รับบรรพชาอุปสมบทจากพระอุปัชญาย์ตาม พระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายที่ใช้บังคับก่อนพระราชบัญญัตินี้ไม่ว่าจะปฏิบัติศาสนกิจในหรือนอกราชอาณาจักร
คณะสงฆ์อื่น หมายความว่า บรรดาบรรพชิตจีนนิกาย หรือ อนัมนิกาย
พระราชาคณะ หมายความว่า พระภิกษุที่ได้รับแต่งตั้งและสถาปนาให้มีสมณศักดิ์ตั้งแต่ชั้นสามัญ จนถึงชั้นสมเด็จพระราชาคณะ
สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ หมายความว่า สมเด็จพระราชาคณะที่ได้รับสถาปนาก่อนสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่น ถ้าได้รับสถาปนาในวันเดียวกันให้ถือรูปที่ได้รับสถาปนาในลำดับก่อน

มาตรา ๕ ตรี พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสถาปนาและถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์”

จากพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ดังที่ปรากฏข้างต้น ย่อมเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สถานะทางกฏหมายที่จะรองรับสถานะของภิกษุณีที่ได้รับการอุปสมบทจากศรีลังกานั้นยังไม่มี ด้วยเหตุที่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ได้แบ่งคณะสงฆ์ออกเป็น ๒ ส่วนคือ คณะสงฆ์ไทย กับคณะสงฆ์อื่น ภิกษุณีที่ได้รับการอุปสมบทจากศรีลังกา ย่อมมิได้สังกัดคณะสงฆ์ไทยอยู่แล้ว แต่ตามข้อกฏหมายดังที่ปรากฏอยู่นี้ ภิกษุณีที่ได้รับการอุปสมบทจากศรีลังกา ก็มิได้สังกัดคณะสงฆ์อื่นด้วย เพราะว่า คณะสงฆ์อื่นตามพระราชบัญญัตินั้น มีความหมายเพียงแค่ บรรดาบรรพชิตจีนนิกาย(จีนมหายาน) หรือ อนัมนิกาย(ญวนมหายาน) เท่านั้น ซึ่งภิกษุณีที่ได้รับการอุปสมบทจากศรีลังกา ก็มิได้เป็นภิกษุณีมหายานจีนนิกายหรืออนัมนิกาย ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่า ภิกษุณีที่ได้รับการอุปสมบทจากศรีลังกา ยังมิได้มีการรับรองสถานะความเป็นนักบวชอย่างถูกต้องตามกฏหมายแต่อย่างใดทั้งสิ้น

จำเพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกฏหมายนั้น ย่อมเป็นไปมิได้เลยที่กฏหมายพระราชบัญญัติ จะไปขัดแย้งกับกฏหมายรัฐธรรมนูญ ในเมื่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทย ในการนับถือศาสนาฯ เอาใว้อย่างชัดเจน อีกทั้งภิกษุณีเหล่านั้น ก็ได้รับการอุปสมบทจากคณะสงฆ์ศรีลังกาอย่างถูกต้อง เปิดเผย และมีที่มาที่ไปชัดเจน ดังนั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด จะทำวางเฉย ไม่รับรู้ต่อกรณีนี้มิได้เป็นอันขาด แน่นอนว่า คณะสงฆ์ไทย ย่อมมิอาจรับเอาภิกษุณีเหล่านี้เข้าใว้ในคณะสงฆ์ไทยได้ แต่ย่อมเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุนในการแก้ไขเพิ่มเติมกฏหมายพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เพื่อรับรองสถานะของภิกษุณีซึ่งได้รับการอุปสมบทจากศรีลังกาเหล่านี้ ในฐานะ “บรรพชิต” ในคณะสงฆ์อื่น เช่นเรียกว่า คณะสงฆ์ศรีลังกา หรือ ฯลฯ เหมือนที่ใช้กับ ภิกษุจีนนิกาย และ ภิกษุอนัมนิกาย เพราะถ้าแก้ข้อกฏหมายโดยเพิ่มเติมข้อความดังนี้แล้ว

(๑) พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ก็จะไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ
(๒) คณะสงฆ์ไทยก็จะไม่สูญเสียจุดยืนทางพระธรรมวินัย ที่จะไม่อุปสมบทภิกษุณี เพราะนี่มิได้เป็นการรับภิกษุณีเหล่านี้เข้าใว้ในคณะสงฆ์ไทย เป็นแต่ให้สังกัดอยู่ในคณะสงฆ์อื่น ตามชื่อคณะสงฆ์ผู้ให้การอุปสมบทแก่ภิกษุณีเหล่านั้น นั่นเอง

คณะสงฆ์เจ้าปัญหา

แต่ปัญหาที่ไม่น่าจะเป็นปัญหาของคณะสงฆ์ไทยก็คือ การอ้างว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ นั้นหมายเฉพาะภิกษุสงฆ์เท่านั้น และด้วยเหตุนี้ ภิกษุสงฆ์จึงไม่มีหน้าที่ และไม่มีสิทธิที่จะรับรองภิกษุณีสงฆ์ตามนัยของกฎหมาย ซึ่งเมื่อท่านอ้างเหตุผลมาอย่างนี้ ก็คงต้องขออนุญาต “เห็นต่าง” และขอชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยเหตุผลตามสมควร ดังนี้

การที่คณะสงฆ์ไทยอ้างว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ นั้นหมายเฉพาะภิกษุสงฆ์ คือหมายถึง นักบวชเพศชายเท่านั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นความจริง เพียงแต่ว่า มันไม่ใช่ความจริงทั้งหมดเท่านั้นเอง เนื่องจาก คำว่า “คณะสงฆ์” ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์นั้นมีอยู่ ๒ อย่างคือ คณะสงฆ์(ไทย) และ คณะสงฆ์อื่น โดยที่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ใช้คำว่า “ภิกษุ” เฉพาะเมื่ออธิบายความหมายของคำว่า “คณะสงฆ์” เท่านั้น แต่เมื่ออธิบายคำว่า “คณะสงฆ์อื่น” พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ใช้คำว่า “บรรพชิต” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายกลางๆ มิได้ระบุชัดว่าหมายเฉพาะเพศใดเพศหนึ่ง ต่างกับคำว่า “ภิกษุ” ซึ่งหมายถึงนักบวชเพศชายเท่านั้น

ข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า ภิกษุณีเถรวาทชาวไทย ได้รับการอุปสมบทจากคณะสงฆ์ศรีลังกา ซึ่งในเบื้องต้นนี้ ควรถือว่าเป็นคณะสงฆ์อื่นมิใช่คณะสงฆ์ไทย นั่นจึงหมายความว่า จะต้องพิจารณากรณีภิกษุณี ที่คำจำกัดความของคำว่า “คณะสงฆ์อื่น” มิใช่คำว่า “คณะสงฆ์(ไทย)” ตามที่มีความพยายามจะเบี่ยงเบนประเด็นอย่างไม่สมควร

ที่สำคัญก็คือ ในเมื่อคณะสงฆ์ไทย อ้างว่าตนไม่มีทั้งสิทธิและหน้าที่ในการรับรองภิกษุณีสงฆ์ตามนัยของกฎหมาย ก็ย่อมหมายความว่า สามารถดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ได้ โดยมิต้องขอความคิดเห็น หรือความเห็นชอบใดๆจากคณะสงฆ์ไทยอีก เพราะคณะสงฆ์ไทย ย่อมไม่มีหน้าที่หรือสิทธิใดๆ เหนือคณะสงฆ์ศรีลังกาผู้ให้การอุปสมบทภิกษุณี และกุลสตรีชาวไทยผู้รับการอุปสมบทภิกษุณีนั้นเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากสิทธิเสรีภาพในการอุปสมบทภิกษุณี(โดยคณะสงฆ์อื่น)ย่อมได้รับการรับรอง และความคุ้มครองจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

การรับรองสถานะทางกฏหมายของภิกษุณีเถรวาทชาวไทย ย่อมมิใช่การร้องขอให้คณะสงฆ์ไทยอุปสมบทภิกษุณี อีกทั้งยังมิได้เกี่ยวข้องกับการรับภิกษุณีใว้ในคณะสงฆ์ไทย แต่เป็นเพียงการเรียกร้องให้มีการรับรองสถานะของภิกษุณีให้เป็นนักบวชหรือบรรพชิตที่ถูกต้องตามกฏหมายพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ในฐานะ “คณะสงฆ์อื่น” เท่านั้นเอง โดยแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มีใจความดังนี้คือ ....

(๑) แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๕ ทวิ โดยเพิ่มเติมคำว่า “คณะสงฆ์ศรีลังกา” จะได้ความว่า …. “คณะสงฆ์อื่น หมายความว่า บรรดาบรรพชิตจีนนิกาย อนัมนิกาย หรือ คณะสงฆ์ศรีลังกา”

(๒) เพื่อความชัดเจนตามความเป็นจริงที่ว่า บรรพชิตจีนนิกาย และอนัมนิกาย มีทั้งภิกษุและภิกษุณี ดังนั้น ควรแก้ไขเพิ่มเติม เปลี่ยนคำว่า “บรรพชิต” เป็น คำว่า “ภิกษุและภิกษุณี” จะได้ความว่า…. “คณะสงฆ์อื่น หมายความว่า บรรดาภิกษุและภิกษุณี จีนนิกาย อนัมนิกาย หรือ คณะสงฆ์ศรีลังกา”

กระบวนการในการแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์

ในขั้นต้น จะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มาตรา ๕ ทวิ จากความเดิมคือ .... “คณะสงฆ์อื่น หมายความว่า บรรดาบรรพชิต จีนนิกาย หรือ อนัมนิกาย” โดยแก้ไขเพิ่มเติมได้ความว่า .... “คณะสงฆ์อื่น หมายความว่า บรรดาภิกษุและภิกษุณี จีนนิกาย อนัมนิกาย หรือ คณะสงฆ์ศรีลังกา” ซึ่งเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๔๒ และ มาตรา ๑๖๓ ดังนี้คือ

(๑) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ หมวด ๖ รัฐสภา ส่วนที่ ๗ การตราพระราชบัญญัติ มาตรา ๑๔๒ ระบุเอาใว้ดังนี้ว่า ….

“ภายใต้บังคับมาตรา ๑๓๙ ร่างพระราชบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดย
(๑) คณะรัฐมนตรี
(๒) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคน
(๓) ศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เฉพาะกฏหมายที่เกี่ยวกับการจัดองค์กรและกฏหมายที่ประธานศาลและประธานองค์กรนั้นเป็นผู้รักษาการ หรือ
(๔) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฏหมายตามมาตรา ๑๖๓

ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติซึ่งมีผู้เสนอตาม (๒) (๓) หรือ (๔) เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินจะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี

ในกรณีที่ประชาชนได้เสนอร่างพระราชบัญญัติใดตาม (๔) แล้ว หากบุคคลตาม (๑) หรือ (๒) ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการเดียวกับร่างพระราชบัญญัตินั้นอีก ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๖๓ วรรคสี่ มาบังคับใช้กับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นด้วย

ร่างพระราชบัญญัติให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน

ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติตามวรรคหนึ่งต้องมีบันทึกวิเคราะห์ สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติเสนอมาพร้อมกับร่างพระราชบัญญัติด้วย

ร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อสภาต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบและให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลรายละเอียดของร่างพระราชบัญญัตินั้นได้โดยสะดวก”

(๒) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ หมวด ๗ การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน มาตรา ๑๖๓ ระบุเอาใว้ดังนี้ว่า ….

“ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้สภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดในหมวด ๓ และหมวด ๕ แห่งรัฐธรรมนูญนี้

คำร้องขอตามวรรคหนึ่งต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติเสนอมาด้วย

หลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อ รวมทั้งการตรวจสอบรายชื่อ ให้เป็นไปตามที่กฏหมายบัญญัติ

ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามวรรคหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต้องให้ผู้แทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นชี้แจงหลักการของพระราชบัญญัติ และคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยผู้แทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดด้วย”

และเมื่อสามารถแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มาตรา ๕ ทวิเพื่อรับรองสถานะความเป็นนักบวชที่ถูกต้องตามกฏหมายพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ของภิกษุณีเรียบร้อยแล้ว ในขั้นต่อไปก็เป็นการออกกฏหมายการปกครองคณะภิกษุณีสงฆ์ ตามข้อบังคับในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มาตรา ๔๖ ความว่า “การปกครองคณะสงฆ์อื่น ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง” ซึ่งนับจากนี้ไป ปัญหาข้อขัดข้องต่างๆซึ่งเกี่ยวกับกรณีภิกษุณี จึงจะเป็นอันยุติได้โดยธรรม ซึ่งกระบวนการในการแก้ไขปัญหากรณีภิกษุณีจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับว่า พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จะมีความเข้าใจต่อพระธรรมวินัยซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสเอาใว้ดีแล้วได้มากน้อยเพียงใด โดยที่ต้องปราศจาก “มายาคติ” อันเกิดจากการผูกขาดทางความคิดของคณะสงฆ์อย่างขาดโยนิโสมนสิการ อีกทั้งยังต้องพยายามแยกแยะให้ได้ด้วยว่า สิทธิตามพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ ในการออกมติใดๆก็ตาม กับสิทธิเสรีภาพทางศาสนาของประชาชนตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอันเป็นที่มาของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์นั้น ย่อมเป็นคนละส่วนต่างหากกัน จะนำมาพิจารณาปะปนกันไม่ได้ และปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือ พรหมวิหารธรรมของสาธุชนทั้งหลาย ที่จะพึงมีต่อกุลสตรีผู้มีฉันทะในการอุปสมบทภิกษุณีอย่างเท่าเทียมกัน(ทางเพศ)และปราศจากอคติทั้งปวง นั้นแล