วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ความเป็นจริง ที่ต้องหลับตามอง

ความเป็นจริง ที่ต้องหลับตามอง

หากพุทธศาสนิกชน ยังไม่อาจยอมรับกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับคณะสงฆ์ ในความย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัยอันเกิดจาก ความไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย(ทุนนิยม)ได้อย่างรู้เท่าทัน ของคณะสงฆ์โดยรวม ก็ขอให้ท่านทั้งหลายจงหลับตาลง และพิจารณาทุกสิ่งอย่างตามความเป็นจริงดังนี้ว่า โดยเนื้อแท้แล้ว เมื่อนำความประพฤติโดยภาพรวมของภิกษุทั้งหลายในปัจจุบันนี้ ไปเทียบกับ ความประพฤติของภิกษุวัชชีบุตร ในสมัยทุตติยสังคายนา นั้นเกือบจะไม่มีความแตกต่างกัน ที่ใช้คำว่า “เกือบจะ” นั้นมีความหมายว่า ถ้าจะพิจารณากันอย่างจริงจังแล้ว โดยภาพรวมภิกษุในคณะสงฆ์สมัยนี้มีความย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัยมากกว่า ภิกษุวัชชีบุตรในสมัยทุตติยสังคายนานั้นอย่างมิอาจเปรียบได้เลย !!!!

การที่ภิกษุวัชชีบุตรกล่าวว่า “ข้อปฏิบัติใดที่เคยประพฤติตามกันมา แต่พระอุปัชฌาย์อาจารย์แม้จะประพฤติผิด ก็ควรประพฤติตามท่านได้” นั้นแตกต่างกันตรงไหนกับธรรมเนียมการปฏิบัติของภิกษุในคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบันนี้ เพราะดูเหมือนว่า ภิกษุเก้อยากหลายๆตน ก็มักจะแอบอ้าง “ความกตัญญู” ต่อครูบาอาจารย์โดยการรับเชื่อและสืบต่อการปฏิบัติต่างๆของอาจารย์ตน โดยไม่เคยแยแสเลยว่า สิ่งเหล่านั้นจะผิดพุทธบัญญัติหรือไม่ ก็ด้วยการประพฤติปฏิบัติกันเยี่ยงนี้ ซึ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับ วัตถุ ๑๐ ประการ ของภิกษุวัชชีบุตรแล้ว ขอถามว่า มันแตกต่างกันตรงไหน และที่สำคัญก็คือ ด้วยการปฏิบัติเยี่ยงนี้เรายังอาจเรียกตนเองว่า “พุทธเถรวาท” ได้อยู่อีกหรือไม่ (?)

มีข้อเท็จจริงบางอย่าง อันเกี่ยวกับวัตรปฏิบัติขององค์กรการปกครองคณะสงฆ์ไทย ที่ชาวพุทธเถรวาทมิอาจ “ลืมตามอง” ด้วยความเข้าใจได้เลยก็คือ การปล่อยปละละเลยให้คณะสงฆ์เต็มไปด้วย “อลัชชี” ปลอมบวชโดยที่มิอาจจัดการ หรือไม่คิดจัดการใดๆทั้งสิ้น และบางครั้งกลับส่อแสดงให้เห็นด้วยซ้ำไปว่า มีความพยายามที่จะโอบอุ้มคุ้มครองอลัชชีปลอมบวชเหล่านั้นให้สามารถคงสถานะเอาใว้ได้ดังเดิมด้วยเล่ห์เพทุบายนานาประการ ขอให้สังเกตด้วยว่า เหตุการณ์เมื่อครั้งปฐมสังคายนา ที่พระอรหันตเถระมิอาจหาข้อสรุปได้ว่า “สิกขาบทเล็กน้อย” นั้นหมายถึงสิ่งใด ด้วยเกิดความเห็นที่แตกต่างกันถึง ๖ ประการคือ

(๑) พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
(๒) พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
(๓) พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้น อนิยต ๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
(๔) พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้น อนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
(๕) พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้น อนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
(๖) พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้น อนิยต ๒ เว้นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ เว้นปาฏิเทสนียะ ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย ฯ

ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้พระอรหันตเถระ จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันถึงเพียงนี้ แต่สิ่งที่พระอรหันตเถระทั้งหลาย มีความเห็นตรงกันทั้งหมดก็คือ “ปาราชิก ๔” มิอาจกล่าวว่าเป็น “สิกขาบทเล็กน้อย” ได้เลย โดยที่ข้อสรุปนี้สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างชัดเจน แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ทั้งๆที่คณะสงฆ์ไทยอ้างตนว่าเป็นพุทธนิกายเถรวาท แล้วเหตุใดจึงละเลย ปล่อยให้ “พระสังฆาธิการ” ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการปกครองของคณะสงฆ์ไทย สามารถต้องอาบัติ “ปาราชิก” ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนดูเหมือนประหนึ่งว่า มิได้เห็นพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์อยู่ในสายตา โดยที่คณะสงฆ์ไทยก็มีความประพฤติย่อหย่อน อีกทั้ง กระบวนการบริหารคณะสงฆ์ไม่อยู่ในสภาพที่จะสามารถใช้การได้เอาเสียเลย

ดังได้เคยปรากฏกรณีของ นาย นรินทร์ ทองหยุด หรือ อดีตพระครูวินัยธรนรินทร์ อคฺควีโร (อดีต)เจ้าวาสวัดปากบึง เขตลาดกระบัง ถูกจับ “คาหนังคาเขา” ขณะมั่วสีกาอยู่ภายในกุฏิ เมื่อเดือน พฤษภาคม ๒๕๕๒ แต่แล้ว เรื่องกลับมิได้จบแต่เพียงเท่านี้ เนื่องจากพบว่า แท้ที่จริง นาย นรินทร์ ทองหยุด ได้เคยกระทำความผิดจนต้อง “อาบัติปาราชิก” มาก่อนหน้านี้แล้วถึง ๒ ครั้ง ด้วยข้อหาร่วมกันปลอมแปลงเอกสารแต่งตั้งพระอุปัชฌาย์(พ.ศ. ๒๕๓๒) และข้อหาเสพเมถุน(พ.ศ. ๒๕๔๑) แปลความได้ว่า อลัชชีผู้นี้ ได้กระทำในสิ่งที่เหลือวิสัยของชาวพุทธเถรวาทจะสามารถทำความเข้าใจได้ว่าทำไม คณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม จึงได้ปล่อยปละละเลยจนเขาสามารถต้อง “อาบัติปาราชิก” ได้ถึง ๓ ครั้ง และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ เมื่ออลัชชีผู้นี้ถูกจับสึกไปแล้ว เขาก็ยังสามารถกลับเข้ามาบวชใหม่ และรับตำแหน่งพระสังฆาธิการ(เจ้าอาวาส)ได้อย่างหน้าตาเฉย

แต่ที่น่าตกใจไปมากกว่านั้นก็คือ ยังมีภิกษุปลอมบวชเก้อยากประเภทนี้ แฝงตัวอยู่ในคณะสงฆ์ไทยอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องเหล่านี้ คงต้องอาศัยการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจาก “ชาวบ้าน” เท่านั้น ด้วยเหตุที่ ระบบโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบันนี้ มิได้เอื้ออำนวยต่อการสะสางอลัชชีออกจากคณะสงฆ์ แต่ในทางตรงข้าม โครงสร้างทางอำนาจการปกครองคณะสงฆ์ในบัดนี้ มักเอื้อประโยชน์ในลักษณะของการปกป้องอลัชชี โดยการช่วยกันปกปิดความผิดของกันและกันเสียมากกว่า อีกทั้ง ถ้าหากภิกษุชั้นผู้ใหญ่กระทำผิด ภิกษุชั้นผู้น้อยที่แม้จะรู้อยู่ แต่ก็มิอาจแสดงความกล้าหาญทางคุณธรรมจริยธรรมออกมาได้ เนื่องจากโครงสร้างทางอำนาจการปกครองคณะสงฆ์นั้นเอง ที่คอยบีบบังคับและกดข่ม เสียจนท่านเหล่านั้นมิอาจจะขยับเขยื้อน “ธาตุขันธ์” เพื่อทำการใดๆอันเป็นประโยชน์ต่อพระธรรมวินัย ที่มากไปกว่าการบำเพ็ญ “อุเบกขาบารมี” คือการนั่งชำเลืองมองอลัชชีตาปริบๆ จากนั้นก็ค่อยๆผ่อนลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ฆ่าเวลาให้หมดไปวันๆหนึ่ง ทั้งนี้ ก็เพียงเพื่อที่จะสามารถรักษาตัวตนให้อยู่รอดไปได้ ท่ามกลางความฉ้อฉล ภายใต้โครงสร้างอำนาจการปกครองคณะสงฆ์ ที่อยุติธรรมและฟั่นเฟือน เท่านั้นเอง

ใบไม้เหลือง หล่นจากขั้ว

เชื่อได้ว่า กรณีของ นาย นรินทร์ ทองหยุด หรือ อดีตพระครูวินัยธรนรินทร์ อคฺควีโร (อดีต)เจ้าวาสวัดปากบึง ต้องอาบัติปาราชิกซ้ำซาก ตามที่กล่าวมานี้ ย่อมมิใช่กรณีสุดท้ายของคณะสงฆ์เป็นแน่ โดยมีเพียง “เวลา” เท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ที่ไม่ต้องพิสูจน์ใดๆอีกเลยก็คือ กรณีของ นายไชยบูลย์ สิทธิผล ซึ่งต้องอาบัติ “ปาราชิก” เช่นเดียวกัน แต่เขาผู้นี้ก็ยังได้รับการแต่งตั้งจากคณะสงฆ์ไทย(มหาเถรสมาคม) ให้เป็นพระสังฆาธิการ(เจ้าอาวาส) ได้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง ทั้งๆที่

(๑) สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระลิขิตฉบับที่ ๒ ระบุออกมาอย่างชัดเจนว่า “แต่เมื่อถึงอย่างไร ก็ยังไม่
ยอมมอบคืนสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัด ก็แสดงชัดแจ้งว่าต้องอาบัติ ปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระปลอมเป็นพระ ด้วยการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครอง ทำความเศร้าหมองเสื่อมเสีย ให้เกิดแก่สงฆ์ในพระพุทธศาสนา”

(๒) ได้ปรากฏหลักฐานการสารภาพความผิดของ นายไชยบูลย์ สิทธิผล อย่างชัดแจ้ง ตามคำแถลงขอ
ถอนฟ้องของอัยการความว่า “สำหรับในด้านทรัพย์สินนั้น ปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ กับพวก ได้มอบทรัพย์สินทั้งหมด ซึ่งมีทั้งที่ดินและเงินจำนวน ๙๕๙,๓๐๐,๐๐๐ บาท คืนให้แก่วัดพระธรรมกาย การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ ๑ กับพวก จึงเป็นการปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ครบถ้วนทุกประการแล้ว” ซึ่งการที่อัยการอ้างว่า นายไชยบูลย์ สิทธิผล ได้มอบทรัพย์คืนแก่วัดไปแล้ว ก็เท่ากับว่า นายไชยบูลย์ สิทธิผล ได้ยอมรับเองโดยมิได้มีผู้ใดบีบบังคับว่า เขาได้ยักยอกทรัพย์ไปจริง !!!!

คณะสงฆ์ไทย ต้องทราบอย่างแน่นอนว่า คดียักยอกทรัพย์นั้นสามารถยอมความกันได้ และย่อมทราบด้วยเช่นกันว่า ในทางพระธรรมวินัยนั้น เมื่อต้องอาบัติ “ปาราชิก” แล้วก็ย่อมขาดจากความเป็นภิกษุโดยอัตโนมัติ ตรงตามที่สมเด็จพระสังฆราชตรัส ดังปรากฏใน พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค ข้อ ๘๙ ความว่า “คำว่า เป็นปาราชิก มีอธิบายว่า ใบไม้เหลืองหล่นจากขั้วแล้ว ไม่อาจจะเป็นของเขียวสดขึ้นได้ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแหละ ถือเอาทรัพย์อันเขาไม่ได้ให้ ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย หนึ่งบาทก็ดี ควรแก่หนึ่งบาทก็ดี เกินกว่าหนึ่งบาทก็ดี แล้วไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่า เป็นปาราชิก”

ดังนั้น คำถามของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ซึ่งอาจปราศจากคำตอบที่ชัดเจนจากคณะสงฆ์ไทยก็คือ เมื่อใด ท่านผู้เป็นพุทธบุตรทั้งหลาย จึงจะสามารถสะสางกรณีอลัชชีปลอมบวชผู้นี้ ให้ถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัย ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ เมื่อก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพานความว่า “ธรรมและวินัยอันใด เรา(ตถาคต)แสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็น ศาสดาของพวกเธอโดยกาลล่วงไปแห่งเรา(ตถาคต)” ได้อย่างหมดจดชัดเจนเสียที (?)



บางส่วนจากหนังสือ ภิกษุณี วิกฤต ฤๅ โอกาส (ฉบับ ปุจฉา-วิสัชนา) By Ritti Janson