วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สตรี ฤา จัณฑาล แห่งพระพุทธศาสนา

เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๙๙ ท่านอัมเบดการ์ได้นำชาวอธิศูทร(จัณฑาล)จำนวนกว่า ๓ แสนคน ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะที่เมืองนาคปูร์ โดยความหมายของการกระทำในครั้งนี้ก็คือ การปลดปล่อยปัจเจกชนไปสู่อิสรภาพแห่งจิตวิญญาณเสรี ทั้งนี้เนื่องจาก ท่านอัมเบดการ์ ได้บังเกิดความเข้าใจอย่างชัดแจ้งแล้วว่า บทบัญญัติรัฐธรรมนูญไม่อาจสร้างอิสรภาพและเสรีภาพที่แท้จริงให้กับประชาชนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประชาชนผู้ยากไร้ด้อยโอกาสด้วยแล้ว กฏหมายไม่เคยสามารถปกป้องคุ้มครองพวกเขาได้เลย ตราบเท่าที่ธรรมเนียมจารีตซึ่งยึดถือกันมาอย่างปราศจากเหตุผลในรูปแบบของลัทธิศาสนา ยังคงมีอิทธิพลต่อจิตใจของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม ดังนั้น ในฐานะเสรีชนผู้มีอิสรภาพตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ จึงต้องแสวงหาสิ่งที่ดีกว่า เพื่ออนาคตที่ดีกว่าเก่า ซึ่ง “พระพุทธศาสนา” ก็คือคำตอบในทุกๆคำถามของผู้ที่ถูกกดขี่ข่มเหงจากความอยุติธรรมของสังคม ดังนั้น การผละออกจากศาสนธรรมเดิม(ฮินดูธรรม) จึงเป็นเสมือนการปลดแอกทางจิตวิญญาณ ให้พ้นไปจากความสยบยอมต่อการถูกกดขี่ทางชนชั้นซึ่งหมายรวมทั้งร่างกายและจิตวิญญาณที่สืบเนื่องยาวนานนับพันปี และน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่พบว่า ในชมพูทวีปได้บังเกิดกลุ่มอิสรชนในนามของพุทธศาสนิกชนอยู่มากกว่า ๕๐ ล้านคนแล้วในปัจจุบัน

หากแม้ว่าการละทิ้งศาสนธรรมเดิมของชาวอธิศูทร จะเป็นไปเพื่อประกาศอิสรเสรีภาพทางจิตวิญญาณ ซึ่งได้รับการกดขี่ข่มเหงจากโครงสร้างของสังคมซึ่งเต็มไปด้วยความอยุติธรรมอย่างฉ้อฉลมาช้านาน เช่นนั้นแล้ว การกดขี่ข่มเหงต่อกุลสตรีผู้ปรารถนาการอุปสมบทจากหลายภาคส่วนของสังคมไทยในปัจจุบันโดยที่มีคณะสงฆ์ไทยเป็นแกนนำในการก่อกรรมทำเข็ญนั้น ก็ย่อมทำให้สามารถเข้าใจได้ว่า แท้ที่จริง “ผู้หญิง” ในสายตาของพุทธศาสนิกชนคนไทยเวลานี้ ย่อมมีค่าไม่ต่างไปจาก พวกจัณฑาลในสังคมอินเดีย ซึ่งมีฐานะเป็นเพียงแค่ “ผู้ด้อยสิทธิ์” ในสังคมของเหล่าเทวดา(เพศผู้)บนสรวงสวรรค์แห่งการบริโภคกามที่ไม่รู้จักพอเท่านั้นเอง !!!!

และถ้าหากสังคมไทย ยังไม่แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างจริงจังและจริงใจในการหาทางออกให้กับสตรีทั้งหลายเหล่านั้นอย่างถูกต้องเหมาะสมและชอบธรรม สิ่งที่สังคมไทยควรรับรู้พร้อมทั้งทำใจยอมรับก็คือ เมื่อถึงกาลเทศะอันสมควร กระบวนการแห่งพลังการปลดแอกจากความอยุติธรรมของสังคม ก็ย่อมจะนำไปสู่การอภิวัฒน์(สังคม)ให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เอื้อต่อการพัฒนาจิตวิญญาณของผู้ซึ่งเคยได้รับการกดขี่ ให้กลายเป็นอิสรชน ผู้มีเสรีภาพทั้งทางกาย จิต และวิญญาณ โดยที่มีพุทธธรรมเป็นทั้งที่พึ่งและที่เกาะ ครุวนาดุจธงชัยอันจะนำไปสู่ความดับทุกข์อย่างไม่มีเหลือในอนาคต ดังที่ชาวอธิศูทรในอินเดีย ก็ได้เคยแสดงให้เห็นถึงพลังอันยิ่งใหญ่อย่างเดียวกันนี้ ด้วยการผละออกจากศาสนธรรมเดิม เพื่อไปสู่สิ่งที่ดีกว่า นั้นแล

สังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือคณะสงฆ์ไทย จึงสมควรยอมรับความจริงได้แล้วว่า ภิกษุณีไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมสำหรับสังคมไทยอีกต่อไป ความพยายามใดๆที่จะปิดกั้นสังคมต่อการรับรู้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมถึงความมีอยู่ของภิกษุณี จึงเป็นสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆเลยทั้งต่อคณะสงฆ์ไทยและสังคมชาวพุทธโดยรวม อีกทั้งการแก้ปัญหาด้วยการ “ซุก” ทุกสิ่งทุกอย่างเอาใว้ใต้พรมในลักษณะการสะสมความขัดแย้งจึงย่อมไม่ใช่ทางออกที่ดีอีกเช่นกัน ดังนั้น คณะสงฆ์จึงควรตัดสินใจให้เด็ดขาดได้แล้วว่า ท่านจะเลือกเป็นผู้เปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรต่อกรณีภิกษุณีในปัจจุบันนี้เสียเอง ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาสถานะของการเป็นผู้นำทางความคิดและจิตวิญญาณของชาวพุทธต่อไป หรืออีกทางเลือกหนึ่งก็คือ คณะสงฆ์ ปล่อยให้ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงนั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตามเหตุปัจจัย ซึ่งแน่นอนว่า ด้วยพลังแห่งการต่อสู้เพื่อปฏิเสธสถานะผู้ถูกกดขี่ของสตรีทั้งหลายโดยมีเหล่าสาธุชนผู้รักความยุติธรรมให้การสนับสนุนนั้น ย่อมจะเป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรร ซึ่งจะนำไปสู่สภาวะที่ดีขึ้นได้ ดุจดังที่ชาวอธิศูทรในอินเดียได้กระทำจนเกิดผลสำเร็จมาแล้ว โดยอาจมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยก็คือ ไม่มีใครสามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้เช่นกันว่า คณะ(ภิกษุ)สงฆ์จะมีสถานภาพเช่นไรในความรับรู้ของพุทธศาสนิกชนในสังคมไทย เมื่อเวลานั้นมาถึง !!!!

สุดท้ายนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านทั้งหลายจะได้มีการเริ่มต้นพิจารณาปัญหากรณีภิกษุณีเสียใหม่อย่างปราศจาก “มายาคติ” ที่ครอบงำความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในสังคมนี้มาเป็นเวลาช้านาน เริ่มต้นด้วยการกำจัดอคติและความเชื่อถือที่มีมาแต่เดิมออกไปเสียให้สิ้น แล้วจึงเข้ามาร่วมกันพิจารณาปัญหาในทุกๆแง่มุมอย่างสร้างสรรและรอบด้าน ทั้งยังต้องถือว่า มติของพระอรหันตเถระเมื่อครั้งปฐมสังคายนา คือหลักการที่สำคัญที่สุดในขณะพิจารณาในส่วนของพระธรรมวินัย ในฐานะที่เราคือชาวพุทธนิกายเถรวาท พร้อมกันนั้น ก็ต้องถือเอาหลักการสิทธิเสรีภาพตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นหลักสำคัญเมื่อกำลังพิจารณาในแง่มุมของกฏหมายบ้านเมืองเช่นกัน โดยที่มีเป้าหมายหลักก็คือ “ข้อเท็จจริง” อันเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรร ด้วยความถูกต้องชอบธรรม ประกอบไปด้วยเหตุผลและหลักฐานที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาสังคมให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นได้โดยธรรม


บางส่วนจากหนังสือ ภิกษุณี วิกฤต ฤๅ โอกาส (ฉบับ ปุจฉา-วิสัชนา) By Ritti Janson