วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

คณะสงฆ์ไทย กับ การพิสูจน์ตนเอง

.





ตามแนวทางปฏิบัติของชาวพุทธเถรวาท ย่อมเห็นว่า “พระธรรมวินัย” ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสเอาใว้ดีแล้วนั้นเป็นสิ่งที่มิอาจล่วงละเมิดได้ ด้วยเหตุที่ “ธรรมและวินัยอันใด เรา(ตถาคต)แสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็น ศาสดาของพวกเธอโดยกาลล่วงไปแห่งเรา(ตถาคต)” (อ้างจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อ ๑๔๑) พร้อมกันนั้น พุทธเถรวาทจะต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “สงฆ์ไม่พึงบัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่พึงถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว” (อ้างจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๖๒๑) ซึ่งเป็นมติของพระอรหันตเถระ ๕๐๐ รูป เมื่อครั้งปฐมสังคายนา

ธรรมเนียมการรักษาพระธรรมวินัยอย่างเข้มงวดกวดขันนี้ นับได้ว่ามีความสำคัญต่อความอยู่รอดของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง พระพุทธองค์เคยตรัสเอาใว้ว่า “ดูกรกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในศาสดา เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในธรรม เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสงฆ์ เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสิกขา เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงกันและกัน ดูกรกิมพิละ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้พระสัทธรรมไม่ดำรงอยู่นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ฯ” (อ้างจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ข้อ ๒๐๑)

ท่าทีและจุดยืนของคณะสงฆ์วัดหนองป่าพง ในกรณีการบวชภิกษุณีของท่านพรหมวํโส นั้นย่อมสมควรได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูงในฐานะที่ คณะสงฆ์วัดหนองป่าพงเคารพพระธรรมวินัยอย่างสูง และปฏิบัติตามแนวมติของพระอรหันตเถระ ๕๐๐ รูป เมื่อครั้งปฐมสังคายนาอย่างเคร่งครัด ซึ่งถือได้ว่า นี่คือแบบอย่างของชาวพุทธเถรวาทอย่างแท้จริง และควรเป็นแบบอย่างที่คณะสงฆ์ไทยทั้งองคาพยพ จะต้องน้อมนำไปปฏิบัติโดยถ้วนหน้าและอย่างเคร่งครัดที่สุด ถ้าหากยังต้องการจะเรียกตนเองว่า “ชาวพุทธเถรวาท”

ถึงแม้ว่า มติของคณะสงฆ์ที่ห้ามภิกษุสงฆ์(ไทย) ทำพิธีอุปสมบทให้สตรีเป็นภิกษุณีนั้น จะประกอบไปด้วยความถูกต้องชอบธรรมในทุกๆประการก็จริงอยู่ แต่ถึงกระนั้นก็คงมิอาจทำให้พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า หมดความเคลือบแคลงสงสัยต่อคณะสงฆ์ไทย ว่ามีอคติในทางใดทางหนึ่งต่อภิกษุณีหรือไม่ ตราบเท่าที่คณะสงฆ์ยังมิอาจสะสางคดีความเหลวแหลกภายในคณะสงฆ์ไทยอันเกี่ยวเนื่องกับพระธรรมวินัย ให้เกิดความชัดแจ้ง และสะอาดหมดจดไร้ข้อกังขาได้ ตราบนั้น พุทธศาสนิกชนบางหมู่เหล่า ก็ย่อมที่จะเคลือบแคลงสงสัยในดุลยพินิจ วิจารณญาณ และความซื่อตรงต่อพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ไทยเป็นธรรมดา

ในห้วงเวลากว่า ๒๐ ปีที่ผ่านนั้น ต้องยอมรับว่าพุทธศาสนิกชนชาวไทยได้ผ่านเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิด “วิกฤตศรัทธา” มานับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น กรณี สมีเจี๊ยบ(โล้นคาเฟ่) หรือ นาย พรศักดิ์ พรรัตนสมบูรณ์ อดีตเลขานุการสมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ที่พาสีกามามั่วถึงกฏิวัด หรืออย่างกรณี นาย นิกร ยศคำจู นักเทศน์ชื่อดังแห่งวัดสันปง เชียงใหม่ ทำผู้หญิงท้อง แม้จะพยายามปฏิเสธ แต่ต้องยอมจำนนด้วยหลักฐาน สุดท้าย พระสังฆราชมีพระบัญชาว่า พระนิกรธรรมวาทีมีความผิด “ปฐมปาราชิก” ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔

กรณีถัดมาคือ ยันตระ อมโรภิกขุ หรือ นาย วินัย ละอองสุวรรณ อดีตพระรูปงามจากวัดสุญตารามกาญจนบุรีมีความสัมพันธ์ทางเพศกับสตรีผู้ใกล้ชิดถึงขั้นมีบุตรด้วยกันโดยมีผู้หญิงคนหนึ่งออกมาเปิดเผยว่าเป็นภรรยาของพระรูปงามที่มีลูกด้วยกัน แต่อดีตพระยันตระไม่ยอมรับ การสอบสวนอธิกรณ์ ศาลชั้นต้นตัดสินว่า ยันตระ ไม่มีความผิด (!) แต่นางจันทิมา มายะรังษี ได้ทำการยื่นอุทธรณ์ ทางมหาเถรสมาคมหาข้อยุติโดยการพยายามจะนำเด็กสาวที่ถูกอ้างว่าเป็นบุตรของยันตระมาพิสูจน์ดีเอ็นเอ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากยันตระ เมื่อถูกกดดันมากๆเข้า สุดท้ายยันตระจึงตัดสินใจเปลื้องจีวรออกหันไปนุ่งเขียวห่มเขียวและหลบออกนอกประเทศไปสหรัฐอเมริกาจนถึงบัดนี้ก็ไม่ได้รับผิดข้อกล่าวหาใดๆทั้งสิ้น

กรณี นายจำลอง คนซื่อ อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพราน จ.นครปฐม มีเพศสัมพันธ์กับเด็กชาวเขาที่นำมาอุปการะไว้ที่วัด นับเป็นเพียงแค่กรณีเดียวที่เรื่องขึ้นสู่ชั้นศาล และคนผิดถูกลงโทษทั้งทางพระธรรมวินัยและกฏหมายบ้านเมือง โดยเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ลงโทษจำคุก นายจำลอง คนซื่อ อายุ ๖๐ ปี หรือ อดีตพระภาวนาพุทโธ อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพราน จ.นครปฐม จำเลยที่ ๑ ในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราหญิงอายุไม่เกิน ๑๓ ปี และไม่เกิน ๑๕ ปี ซึ่งมิใช่ภรรยาตนเอง เป็นเวลา ๑๖๐ ปี แต่ตามกฎหมายแล้วให้จำคุกได้ไม่เกิน ๕๐ ปี ส่วน น.ส.ช่อผา สกุลวนาการ อายุ ๓๕ ปี จำเลยที่ ๓ ในความผิดฐานเป็นธุระจัดหาและชักพาหญิงไป เพื่อสำเร็จความใคร่ผู้อื่นหรือพาการอนาจาร ลงโทษจำคุก ๒๘ ปี

ทั้งนี้ การที่จำเลยที่ ๑ อ้างว่าเป็นพระมีชื่อเสียงด้านบำเพ็ญภาวนา และนำเด็กชาวเขาที่นับถือศาสนาอื่นมาเป็นชาวพุทธ สร้างความไม่พอใจแก่ศาสนาอื่น จึงร่วมกันกลั่นแกล้งปั้นเรื่อง นอกจากนี้ห้องที่เกิดเหตุไม่ตรงกับบันทึกแผนที่ของเด็ก และอวัยวะเพศของตนก็ผิดปกติไม่อาจร่วมเพศได้ ส่วนอวัยวะเพศผู้เสียหายก็ไม่มีร่องรอยถูกชำเรานั้น ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ ข้ออ้างจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลล่างทั้งสองศาลพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน

หากสังเกตได้ว่า กรณีอลัชชีต่างๆข้างต้นนี้ เป็นเพียงแค่คดีความทำนองชู้สาวฉาวโฉ่ อันถือว่าเป็นความผิดเฉพาะบุคคล(อลัชชี) ถึงแม้จะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของคณะสงฆ์(ไทย)บ้างพอสมควร แต่ก็ไม่อาจส่งผลกระทบกระเทือนไปถึงพระธรรมวินัยโดยตรง ผิดกับ “กรณีธรรมกาย” ซึ่งความพยายามในการเผยแพร่ความคิด(มิจฉาทิฐิ)ของเจ้าลัทธิ นั้นถือได้ว่าเป็นภัยอันใหญ่หลวงสำหรับพระพุทธศาสนา โดยถ้าคณะสงฆ์ไทยไม่สะสางลัทธิมิจฉาทิฐิอันเลวร้ายเหล่านี้ให้หมดจดชัดเจน แต่กลับปล่อยปละละเลยให้ทำการได้ตามใจชอบ พระธรรมคำสอนอันบริสุทธิ์ของพระพุทธองค์ ซึ่งดำรงอยู่คู่แผ่นดินไทยมาช้านาน ก็คงจะสูญสลายไปจากดินแดนแห่งนี้ภายในอนาคตอันใกล้ (พิจารณารายละเอียดได้จาก กรณีธรรมกาย บทเรียนเพื่อการศึกษาพระพุทธศาสนา และสร้างสรรค์สังคมไทย โดย ท่านปยุตฺโตภิกขุ)

แต่ที่น่าแปลกใจอย่างยิ่ง โดยพาะเมื่อคิดถึงมาตรฐานอันสูงส่งเคร่งครัดของชาวพุทธเถรวาทก็คือ เหตุใดคณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม จึงกระทำเหมือนประหนึ่งว่า ไม่ใยดีต่อพระธรรมวินัยเอาเสียเลย ต่อกรณี “ปาราชิก” ของเจ้าลัทธิมิจฉาทิฐิผู้นี้ จนแม้กระทั่ง สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระลิขิตฉบับที่ ๒ ระบุออกมาอย่างชัดเจนว่า

“ความบิดเบือนพระพุทธธรรมคำสอนโดยกล่าวหาว่าพระไตรปิฎกบกพร่อง เป็นการทำให้สงฆ์ที่หลงเชื่อคำบิดเบือน แตกแยกออกไปกลายเป็นสอง มีความเข้าใจความเชื่อถือพระพุทธศาสนาตรงกันข้ามเป็นการทำลายพระพุทธศาสนา ทำสงฆ์ให้แตกแยกเป็นอนันตริยกรรม มีโทษทั้งปัจจุบันและอนาคตที่หนัก”

ทั้งยังตรัสอีกว่า “แต่เมื่อถึงอย่างไร ก็ยังไม่ยอมมอบคืนสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัดก็แสดงชัดแจ้งว่าต้องอาบัติปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะ โดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระปลอมเป็นพระ ด้วยการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครอง ทำความเศร้าหมองเสื่อมเสีย ให้เกิดแก่สงฆ์ในพระพุทธศาสนา”

แต่คณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม ก็ยังทำเฉย ประหนึ่งว่า ไม่รู้ร้อนรู้หนาวใดๆทั้งสิ้น จนสุดท้ายจึงได้ทรงมีพระลิขิตฉบับที่ ๕ ความว่า “ได้แจ้งให้เป็นที่เข้าชัดเจนดีทั่วกันแล้วก่อนหน้านี้ ว่าในตำแหน่งผู้เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปริณายก ได้ทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เพื่อเทิดทูนรักษาพระพุทธศาสนาให้พ้นถูกทำลาย สมบูรณ์ดีที่สุดแล้วตามอำนาจท่านกรรมการมหาเถรสมาคมทั้งหลายจะทำอะไรต่อไปตามความต้องการ จะไม่มานั่งฟังรับรู้ในที่ประชุมวันนี้ ที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒” เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ แปลความได้ว่าอย่างไรกันครับ (?)

คณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม จะอธิบายความเป็นชาวพุทธเถรวาทซึ่งถือเอาพระธรรมวินัยเป็นที่เคารพสูงสุดในฐานะพระศาสดา และถือเอามติของพระอรหันตเถระ ๕๐๐ รูป เมื่อครั้งปฐมสังคายนา ที่จะไม่เพิกถอนหรือเพิ่มเติมพระธรรมวินัยโดยเด็ดขาด ต่อกรณีธรรมกายนี้อย่างไรกัน (?)

(๑) “ธรรมและวินัยอันใด เรา(ตถาคต)แสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็น ศาสดาของพวกเธอโดยกาลล่วงไปแห่งเรา(ตถาคต)” (อ้างจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อ ๑๔๑)
(๒) “สงฆ์ไม่พึงบัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่พึงถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว” (อ้างจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๖๒๑)

เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๔๒ และวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๒ ตามลำดับ นายไชยบูลย์ สิทธิผล เจ้าสำนักวัดพระธรรมกาย และนายถาวร พรหมถาวร อายุ ๕๗ ปี ลูกศิษย์คนสนิท ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานและสนับสนุนเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานและสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นโดยร่วมกันยักยอกทรัพย์ และเงินบริจาคของวัดพระธรรมกาย จำนวน ๖.๘ ล้านบาท ไปซื้อที่ดินเขาพนมพา ต.หนองพระ อ.วังทรายมูล จ.พิจิตร โดยโอนกรรมสิทธิ์ใส่ชื่อนายถาวร จำเลยที่ ๒ และเงินจำนวน ๑๙,๘๗๗,๐๐๐ บาท ไปซื้อที่ดินเนื้อที่ ๙๐๒ ไร่เศษ ต.หนองพระ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร และ ต.ท่าข้าม อ.ชนแดน จ. เพชรบูรณ์ โอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ ๒

คดีนี้ได้มีการสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างการสืบพยานจำเลย ซึ่งที่ผ่านมามีการสืบพยานไปแล้วเกือบ ๑๐๐ ครั้ง เหลือการสืบพยานอีกเพียง ๒ ครั้ง ในวันที่ ๒๓-๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๙ แต่แล้วกลับปรากฏว่า เรืออากาศโทวิญญู วิญญกุล อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา ๕ ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาล เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๙ โดยอ้างว่า ที่ยื่นฟ้องจำเลยก็ด้วยเหตุที่ไม่ปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช(เมื่อพ.ศ.๒๕๔๒) แต่ปรากฏว่าบัดนี้(เมื่อพ.ศ.๒๕๔๙) จำเลยได้ปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชแล้วคือ ....

(๑) จำเลยกับพวก ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนา ตรงตามพระไตรปิฎก และนโยบายของคณะสงฆ์ฯ
(๒) จำเลย กับพวก ได้มอบทรัพย์สินทั้งหมด ซึ่งมีทั้งที่ดินและเงินจำนวน ๙๕๙,๓๐๐,๐๐๐ บาท คืนให้แก่วัดพระธรรมกายแล้ว

สรุปก็คือ จำเลย ได้ปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ครบถ้วนทุกประการแล้ว อีกทั้งในขณะนี้ บ้านเมืองต้องร่วมกันสร้างความสามัคคีของคนในชาติทุกหมู่เหล่า เห็นว่าหากดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองต่อไป อาจก่อให้เกิดความแตกแยกในศาสนจักร โดยเฉพาะพระภิกษุ สามเณร และประชาชนทั้งในและต่างประเทศ ที่นับถือศาสนาพุทธ และไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ ดังนั้น อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งให้ถอนฟ้องคดีนี้

เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๙ ศาลโดยนายสุนพ กีรติยุติ ผู้พิพากษาอาวุโสและองค์คณะ ออกนั่งบัลลังก์ มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องในคดีดำหมายเลขที่ ๑๑๖๕๑/๒๕๔๒ และคดีดำหมายเลข ๑๔๗๓๕/๒๕๔๒ และจำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความของศาลอาญา

จำเพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกรณีธรรมกายนั้น สำหรับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก กระผมขอยกใว้เหนือเศียรเกล้า แต่สิ่งที่ค้างคาใจชาวพุทธเถรวาทก็คือ คณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม กับ ผู้รักษากฏหมายบ้านเมือง คิดทำอะไรกันอยู่ (?)

แน่นอนว่า สำหรับกฏหมายบ้านเมือง คดีฉ้อโกงทรัพย์สามารถยอมความกันได้ เพราะนั่นเป็นเรื่องทางโลก แต่ในทางพระธรรมวินัยนั้น คณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม ควรจะต้องตอบคำถามของชาวพุทธให้ชัดเจนว่า อาบัติปาราชิกนั้น สามารถยอมความกันได้หรือไม่ (?)

การที่อัยการอ้าง พระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชนั้นย่อมเป็นการดีแน่ แต่การอ้างว่าจำเลยได้ทำตามพระลิขิตนั้นแล้ว คงจะยังไม่เพียงพอกระมังครับ เพราะในอันที่จริง อัยการย่อมไม่ควรเผอเรอในข้อความของพระลิขิตที่ตรัสว่า “แต่เมื่อถึงอย่างไร ก็ยังไม่ยอมมอบคืนสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัดก็แสดงชัดแจ้งว่าต้องอาบัติปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะ โดยอัตโนมัติ” ถ้าคิดกันแบบ “โลกๆ” เมื่อคืนทรัพย์(ที่ยักยอก)นั้นแล้ว ความผิดก็น่าจะหมดไป เพราะคดียักยอกทรัพย์สามารถยอมความได้ แต่ในทางพระธรรมวินัยกลับมิได้เป็นอย่างนั้นเลย เพราะเมื่อต้อง “อาบัติปาราชิก” ก็ย่อมขาดจากความเป็นภิกษุโดยอัตโนมัติ ตามที่สมเด็จพระสังฆราชตรัสนั่นแล

“คำว่า เป็นปาราชิก มีอธิบายว่า ใบไม้เหลืองหล่นจากขั้วแล้ว ไม่อาจจะเป็นของเขียวสดขึ้นได้ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแหละ ถือเอาทรัพย์อันเขาไม่ได้ให้ ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย หนึ่งบาทก็ดี ควรแก่หนึ่งบาทก็ดี เกินกว่าหนึ่งบาทก็ดี แล้วไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่า เป็นปาราชิก”
(อ้างจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค ข้อ ๘๙)

ทั้งนี้ขอให้สังเกตให้ดีว่า อันที่จริงแล้ว การปล่อยให้คดีขึ้นไปสู่ชั้นศาลนั้น ก็มิได้เป็นผลดีต่อจำเลยแต่อย่างใดทั้งสิ้น เพราะถ้าปรากฏว่า นายไชยบูลย์ สิทธิผล แพ้คดี เขาก็อาจติดคุก ต้องสึกไปโดยปริยาย และหากเขาชนะคดีนี้ นายไชยบูลย์ สิทธิผล ก็ต้อง “อาบัติปาราชิก” ขาดจากความเป็นภิกษุอยู่ดี !!!!

“ภิกษุฟ้องร้องยังโรงศาล ยังเจ้าของให้แพ้ ต้องอาบัติปาราชิก”
(อ้างจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค ข้อ ๑๐๙)

กล่าวโดยสรุปก็คือ สำหรับชาวพุทธเถรวาทโดยทั่วไปแล้ว ไม่ว่าคดีความในโรงศาลจะเป็นอย่างไรก็ตามนั่นเป็นเรื่องทางโลก ก็ดำเนินการกันไปอย่าง “โลกๆ” แต่ในทางพระธรรมวินัยนั้น คณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม จะต้องตอบชาวพุทธให้ได้ว่า ตามหลักการของพุทธเถรวาทนั้น นายไชยบูลย์ สิทธิผล ขาดจากความเป็นภิกษุแล้วหรือไม่ (?)

ด้วยในบัดนี้ ได้ปรากฏหลักฐานการสารภาพความผิดของ นายไชยบูลย์ สิทธิผล อย่างชัดแจ้ง ตามคำแถลงขอถอนฟ้องของอัยการความว่า “สำหรับในด้านทรัพย์สินนั้น ปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ กับพวก ได้มอบทรัพย์สินทั้งหมด ซึ่งมีทั้งที่ดินและเงินจำนวน ๙๕๙,๓๐๐,๐๐๐ บาท คืนให้แก่วัดพระธรรมกาย การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ ๑ กับพวก จึงเป็นการปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ครบถ้วนทุกประการแล้ว”

การที่อัยการอ้างว่า นายไชยบูลย์ สิทธิผล ได้มอบทรัพย์คืนแก่วัดไปแล้ว นั่นก็เท่ากับว่า นายไชยบูลย์ สิทธิผล ยอมรับออกมาเองโดยมิได้มีผู้ใดบีบบังคับว่า เขาได้ยักยอกทรัพย์ไปจริง เพราะถ้าเขามิได้ยักยอกทรัพย์ไป แล้วเขาจะไปเอาทรัพย์ที่ไหนมาคืน(ประมาณหนึ่งพันล้านบาท) ให้กับวัด (?)

และในเมื่อจำเลย คือ นายไชยบูลย์ สิทธิผล ได้กล่าวยอมรับแล้วว่า เขาได้ยักยอกทรัพย์ไปจริง คณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร จึงจะถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัยฝ่ายเถรวาท นี่เป็นเรื่องที่ชาวพุทธทั้งหลายล้วนต้องการทราบบทสรุปที่ชัดเจน

การ(แอบ)อ้างความสมานฉันท์ในหมู่พุทธบริษัท แล้วยกเลิกกระบวนการนิคคหกรรม โดยอ้างอิงถึงการยุติกระบวนการยุติธรรมในทางโลก อีกทั้งคืนตำแหน่งพระสังฆาธิการ(เจ้าอาวาส)ให้กับ นายไชยบูลย์ สิทธิผล ดังที่ปรากฏอยู่จนถึงบัดนี้ จะสามารถนับได้ว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัยฝ่ายเถรวาทแล้วหรือ (?)

และถ้าคณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม เข้าใจเอาเองว่า การที่ นายไชยบูลย์ สิทธิผล ได้รับตำแหน่งพระสังฆาธิการ(เจ้าอาวาส)คืนมาจากคณะสงฆ์ จะทำให้ชาวพุทธทั่วไป(หลง)เชื่อว่า นายไชยบูลย์ สิทธิผล เป็นผู้บริสุทธิ์และพ้นจากข้อกล่าวหาทั้งปวงแล้ว ก็คงจะเป็นการเข้าใจที่ผิดไปจากความเป็นจริงมากทีเดียว เพราะแทนที่เรื่องราวต่างๆจะสามารถยุติลงได้ด้วยดี แต่กลับกลายเป็นว่า การกระทำอันขาดความชอบธรรม และเบี่ยงเบนไปจากพระธรรมวินัยทั้งหลายเหล่านี้ ยิ่งตอกย้ำถึงความไม่ใยดีต่อพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม มากยิ่งขึ้น เพราะชาวพุทธในปัจจุบันย่อมมิอาจสามารถเชื่อถือได้ว่า ผู้ที่มีตำแหน่งเป็นพระสังฆาธิการ(เจ้าอาวาส)ตามประกาศของคณะสงฆ์ไทย จะเป็นผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตรงตามพระธรรมวินัยเสมอไป

ดังกรณีของ นาย นรินทร์ ทองหยุด หรืออดีตพระครูวินัยธรนรินทร์ อคฺควีโร (อดีต)เจ้าวาสวัดปากบึง เขตลาดกระบัง ถูกจับ “คาหนังคาเขา” ขณะมั่วสีกาอยู่ภายในกุฏิ เมื่อเดือน พฤษภาคม ๒๕๕๒ แต่แล้ว เรื่องกลับมิได้จบแต่เพียงเท่านี้ เนื่องจากพบว่า แท้ที่จริง นาย นรินทร์ ทองหยุด ได้เคยกระทำความผิดจนต้อง “อาบัติปาราชิก” มาก่อนหน้านี้แล้วถึง ๒ ครั้ง ด้วยข้อหาร่วมกันปลอมแปลงเอกสารแต่งตั้งพระอุปัชฌาย์(พ.ศ. ๒๕๓๒) และข้อหาเสพเมถุน(พ.ศ. ๒๕๔๑)

แปลความได้ว่า อลัชชีผู้นี้ ได้กระทำในสิ่งที่เหลือวิสัยของชาวพุทธเถรวาทจะสามารถทำความเข้าใจได้ว่าทำไม คณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม จึงได้ปล่อยปละละเลยจนเขาสามารถต้อง “อาบัติปาราชิก” ได้ถึง ๓ ครั้ง และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ เมื่ออลัชชีผู้นี้ถูกจับสึกไปแล้ว เขาก็ยังสามารถกลับเข้ามาบวชใหม่ และรับตำแหน่งพระสังฆาธิการ(เจ้าอาวาส)ได้อย่างหน้าตาเฉย หรือเพราะว่า คณะสงฆ์ไทย(มหาเถรสมาคม) มีมาตรฐานในการบริหารงานคณะสงฆ์แบบนี้(นี่เอง) จึงทำให้ นายไชยบูลย์ สิทธิผล ซึ่งก็ต้อง “อาบัติปาราชิก” เช่นเดียวกัน แต่เขาก็ยังสามารถลอยหน้าลอยตา รับการแต่งตั้งจาก คณะสงฆ์ไทย(มหาเถรสมาคม) ให้เป็นพระสังฆาธิการ(เจ้าอาวาส) ได้ใหม่อีกครั้ง เฉกเช่นเดียวกับ กรณีของ นาย นรินทร์ ทองหยุด ผู้เก้อยาก ตามที่ปรากฏอยู่ดังนี้ !!!!

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ คณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม จะต้องตระหนักถึงความสำคัญในการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยฝ่ายเถรวาทอย่างเคร่งครัด ตามมติของพระอรหันตเถระ เมื่อครั้งปฐมสังคายนา โดยการพิสูจน์ให้ชาวพุทธโดยทั่วไปได้เห็นว่า คณะสงฆ์ไทย(มหาเถรสมาคม) มีความซื่อตรงต่อพระธรรมวินัยอย่างแท้จริง มิได้กระทำการใดๆในลักษณะ “ลูบหน้าปะจมูก” หรือมี “อคติ” อย่างหนึ่งอย่างใดทั้งสิ้น

เพราะมิเช่นนั้นแล้ว ชาวพุทธบางหมู่บางเหล่า ก็อาจเกิดความเข้าใจผิดไปได้ว่า การที่คณะสงฆ์ไทย มีมติชัดเจนในการประกาศ “ห้ามบวชภิกษุณี” โดยอ้างอิงถึงความเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัยตามแบบอย่างของพุทธเถรวาทนั้น แท้ที่จริงก็เป็นเพียงแค่ข้ออ้าง ที่ใช้กลบเกลื่อน “อคติทางเพศ” เท่านั้นเอง เพราะเมื่อถึงคราวที่ คณะสงฆ์ไทย อันหมายถึง มหาเถรสมาคม จะต้องจัดการกับ ผู้ล่วงละเมิดพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นฝ่ายชายแล้วกลับพบว่า มีการปล่อยปละละเลย ไม่เอาจริงเอาจังเสมือนประหนึ่งว่า ไม่เห็นพระธรรมวินัยอยู่ในสายตาฉนั้น !!!!



บางส่วนจากหนังสือ ภิกษุณี วิกฤต ฤๅ โอกาส By Ritti Janson