วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552

กินข้าว(ไม่)กินปลา

คำกล่าวที่ว่า “กินข้าวกินปลา” นั้นนับได้ว่าเป็นสำนวนเก่าที่คุ้นหูคนไทยมานาน ซึ่งโดยทั่วไปมักเข้าใจกันว่า ถ้อยคำสำนวนนี้น่าจะเป็นหลักฐานยืนยันในเรื่องของอุปนิสัยการกินของคนไทยได้เป็นอย่างดีว่า แต่เดิมนั้นคนไทยก็กินอาหารที่ค่อนข้างเรียบง่ายและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่อุดมไปด้วยข้าวและปลา อีกทั้งอุปนิสัยการกินของคนไทยแบบดั้งเดิมนี้ น่าที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับคนไทยในปัจจุบัน ในเรื่องของการกินอาการที่ดีมีประโยชน์แทนการบริโภคฟาสต์ฟูดที่เต็มไปด้วยแป้งและไขมันตามสมัยนิยม

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรากลับพบว่า การกินข้าวกินปลานั้นอาจจะเป็นเพียงวัฒนธรรมการกินอาหารของคนไทยในระยะอดีตกาลอันใกล้นี่เอง โดยเมื่อพิจารณาข้อความหลักฐานจากบันทึกของชาวต่างชาติที่ได้มีโอกาสเข้ามาในประเทศสยามในอดีตนั้น ระบุว่า เมื่อราวสามร้อยกว่าปีก่อน คนไทยในสมัยนั้น มีการถกเถียงในประเด็นที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ ว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นจะเป็นบาปหรือไม่ ?

โดย นาย นิโกล่าส์ แชรแวส ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส ได้เดินทางเข้ามาในประเทศสยามเมื่อราวปีพุทธศักราช2230(รัชสมัยของ สมเด็จพระนารายณ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา) และได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม” ในปี2231 หลังจากกลับไปฝรั่งเศสแล้ว โดยมีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงการกินอาหารของคนไทยว่า

“แม้ว่าเนื้องัวในเมืองไทยจะไม่ใช่ชนิดเลว แต่ก็ไม่ค่อยนิยมบริโภคกัน เพราะเขาเชื่อกันมาเป็นประเพณีว่า ในชาติก่อนโน้นพระสมณะโคดมได้เสวยพระชาติเป็นโคผู้หรือนางโค ถือกันว่าการบริโภคเนื้องัวนั้นผิดพุทธบัญญัติและเป็นการละเมิดศาสนาถ้าไปแตะต้องเข้า ความเชื่อนี้ยังกินวงกว้างไปถึงสัตว์สี่เท้าทุกชนิดว่าฆ่าไม่ได้ ด้วยอาจจะบังเอิญไปฆ่าถูกบิดามารดาหรือมิตรสหายของตน ซึ่งวิญญาณได้เข้าไปสิงอยู่ในตัวสัตว์เหล่านั้นเข้าก็ได้ ปัจจุบันนี้(หมายถึง พุทธศักราช 2230)ค่อยคลายความเชื่อในเรื่องกลับชาติมาเกิดกันขึ้นมากแล้ว แม้จะยังมีความเห็นเรื่องจริงหรือไม่จริงขัดแย้งกันอยู่บ้าง ก็หันมาเลือกเอาทางสะดวกสบายมากกว่า .... ฯลฯ”

ข้อมูลจากหนังสือของนายแชรแวสนั้น มีอยู่หลายส่วนเช่นกันที่พอจะเชื่อถือได้ เพราะในพระไตรปิฎกก็มีหลักฐานในลักษณะนี้จริงๆ เช่นในคัมภีร์ ขุททกนิกาย จริยาปิฎก มหิสราชจริยา ได้มีข้อความระบุถึง เมื่อครั้งที่พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญากระบือ ดังต่อไปนี้คือ

“ในกาลเมื่อเราเป็นกระบือ เที่ยวอยู่ในป่าใหญ่มีกายอ้วนพี มีกำลังมากใหญ่โต ดูหน้ากลัวพิลึก ประเทศไรๆ ในป่าใหญ่นี้อันเป็นที่อยู่ของฝูงกระบือ มีอยู่ที่เงื้อมเขาก็ดี ที่ซอกห้วยธารเขาก็ดี ที่โคนไม้ก็ดีที่ใกล้บึงก็ดี เราเที่ยวไปในที่นั้นๆ เมื่อเราเที่ยวไปในป่าใหญ่ ได้เห็นสถานที่อันเจริญเราจึงเข้าไปสู่ที่นั้น แล้วยืนพักอยู่และนอนอยู่ ฯลฯ”

ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมพุทธศาสนิกชนในสมัยโบราณจึงไม่คิดจะกินสัตว์ขนาดใหญ่ เพราะนอกจากพระพุทธเจ้าจะเคยเสวยพระชาติเป็นพญากระบือมาก่อนแล้ว ยังมีความเป็นไปได้อีกว่า อาจมีพระโพธิสัตว์องค์ใดองค์หนึ่งซึ่งจะเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป กำลังเสวยพระชาติเป็นสัตว์เหล่านี้อยู่ก็ได้ และในท้ายที่สุดแล้ว สัตว์เหล่านั้นอาจเคยเป็นญาติพี่น้องของตนในอดีตชาติก็เป็นได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นความเชื่ออันเนื่องมาจากศาสนาอันเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิดในสงสารวัฏทั้งสิ้น พร้อมกันนั้นในคัมภีร์ ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่มเดียวกันนี้เอง ยังได้กล่าวถึงการที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาปลา(มัจฉราชจริยา) หมายความว่า พุทธศาสนิกชนคนไทยในสมัยโบราณจริงๆนั้น แม้แต่ปลา เขาก็ไม่กินกัน ดังได้ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ระบุข้อความเอาใว้ดังนี้ว่า

“ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน(สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่9 ขุนหลวงท้ายสระ พุทธศักราช 2249-2275) ทรงประพฤติเหตุใน อโนตตัปปธรรม(ไม่เกรงกลัว และไม่มีความละอายในการทำบาป) และเสด็จเที่ยวประพาสทรงเบ็ดเหมือนสมเด็จพระราชบิดา แล้วพระองค์พอพระทัยเสวยปลาตะเพียน ครั้งนั้นตั้งพระราชกำหนดห้าม มิให้คนทั้งปวงรับพระราชทานปลาตะเพียนเป็นอันขาด ถ้าผู้ใดเอาปลาตะเพียนมาบริโภคก็ให้มีสินไหมแก่ผู้นั้นเป็นเงินตราห้าตำลึง .... ฯ”

จากหลักฐานที่ปรากฏ จะเห็นได้ว่า ที่ชาวบ้านเขาไม่พอใจกันนั้น มิใช่เกิดจากว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงออกพระราชกำหนดห้าม มิให้พวกเขากินปลาตะเพียน เพราะถึงอย่างไรก็ยังมีปลาชนิดอื่นๆให้กินอยู่อีกมากมาย(ถ้าพวกเขาคิดจะกิน) แต่ที่ชาวบ้านเขานินทานั้น ก็เป็นเพราะเขาเห็นว่า พระเจ้าอยู่หัวจะต้องทรงเป็นแบบอย่างให้กับประชาชนในฐานะที่ทรงเป็นหน่อพุทธางกูร เป็นพระโพธิสัตว์ ผู้ปรารถนาพุทธภูมิ ดังนั้นการที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงเบ็ด จึงเป็นสิ่งที่ค้านกับความรู้สึกและความเชื่อของชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็คงจะจริงตามที่นายแชรแวสกล่าวคือ จนแม้แต่ในสมัยนั้น(หมายถึง พุทธศักราช 2230) ชาวพุทธก็ค่อยๆคลายความเชื่อในเรื่องกลับชาติมาเกิดกันขึ้นมากแล้ว โดยที่แม้จะยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่บ้าง แต่สุดท้ายแล้ว พวกเขาเหล่านั้น ก็หันมาเลือกเอาทางสะดวกสบาย(ในการกิน)กันเสียมากกว่า หมายความว่า ในระยะหลังๆมาเมื่อชาวพุทธเริ่มคลายความเชื่อในเรื่องเวียนว่ายตายเกิดลงไป พวกเขาก็เริ่มหันมากินเนื้อสัตว์กันมากขึ้น ทั้งนี้ การที่ชาวสยามได้มีโอกาสไปคบค้าสมาคมกับคนต่างชาติต่างศาสนาที่บริโภคเนื้อสัตว์ ซึ่งเข้ามาทำมาหากินในเมืองสยามกันมากขึ้นนั้น ก็อาจจะเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกอันหนึ่งด้วย ที่ทำให้ชาวสยามหันมาบริโภคเนื้อสัตว์กันมากขึ้น
ในปัจจุบันนี้มีการค้นพบว่า ภายในเนื้อของสัตว์ มีสารพิษอยู่ชนิดหนึ่ง โดยสัตว์ได้รับความเจ็บปวดทรมานในขณะถูกฆ่า ก็จะผลิตสารพิษมากขึ้นเป็นลำดับ แล้วก็จะแผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย ซึ่งถ้าหากเรากินเนื้อในลักษณะนี้เข้าไปแล้ว ก็จะได้รับอันตรายเป็นอย่างมาก โดยสถาบันโภชนาการแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า “เนื้อของสัตว์ที่ถูกฆ่าตาย จะเต็มไปด้วยเลือดที่เป็นพิษและสารพิษอื่นๆมากมาย” ข้อมูลนี้จึงเป็นเหตุให้ คนที่รักสุขภาพทั้งหลาย หลีกเลี่ยงที่จะบริโภคเนื้อสัตว์ขนาดใหญ่ทั้งหลาย โดยหันมาบริโภคเนื้อปลาแทน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า เนื้อปลาเป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพสูงและปราศจากสารพิษอย่างที่พบจากเนื้อของสัตว์ขนาดใหญ่ ทั้งนี้ชาวพุทธก็สามารถบริโภคเนื้อปลา(หรือเนื้อสัตว์อื่นๆ) ได้โดยที่ไม่ผิดพุทธบัญญัติใดๆเลย เพราะที่แท้แล้ว พระพุทธองค์ไม่เคยมีข้อห้ามเหล่านี้กับชาวบ้าน(พุทธศาสนิกชน)โดยทั่วไป จนแม้แต่พระภิกษุ พระพุทธองค์ก็มิได้ทรงมีข้อห้ามอย่างเด็ดขาดแต่อย่างใด

โดยครั้งหนึ่ง พระเทวทัต ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ แล้วกราบทูลว่า “ขอให้ภิกษุทั้งหลายไม่พึงฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต รูปใดฉันปลาและ เนื้อ รูปนั้นพึงต้องโทษ” แต่พระพุทธองค์ รับสั่งว่า “อย่าเลย เทวทัต เราอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์โดยส่วนสาม คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รังเกียจ” หมายความว่า แม้แต่กับพระภิกษุผู้ทรงศีล พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาติให้ฉัน(กิน)เนื้อสัตว์ได้ ด้วยเงื่อนไขดังต่อไปนี้คือ1. ไม่เห็นว่า เขาฆ่าเนื้อและปลาเหล่านั้น มาเพื่อประโยชน์แก่ตนโดยเฉพาะ 2. ไม่ได้ยินว่า เขาฆ่าเนื้อและปลาเหล่านั้น มาเพื่อประโยชน์แก่ตนโดยเฉพาะ 3. ไม่ได้รังเกียจ(เนื้อและปลาเหล่านั้น) ด้วยการเห็น ได้ยิน และที่รังเกียจพ้นจากเหตุทั้งสองนั้น

สรุปก็คือ แม้ว่าในระยะหลัง ชาวพุทธจะเสื่อมคลายความเชื่อถือในเรื่องเวียนว่ายตายเกิดไปมาก จนหันมาบริโภคเนื้อสัตว์กันมากขึ้น แต่ด้วยองค์ความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงทำให้ ชาวพุทธเริ่มที่จะปฏิเสธการบริโภคเนื้อสัตว์โดยเฉพาะสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กันมากขึ้น และแม้ว่าชาวพุทธจะหันมาบริโภคเนื้อปลาหรือเนื้อสัตว์ขนาดเล็กเป็นการทดแทน แต่นั่นก็มิได้หมายความว่า ชาวพุทธเหล่านั้นได้ทำผิดหลักการทางพระพุทธศาสนาแต่อย่างใดเลย ดังนั้นสุดท้ายนี้ จึงขอให้พุทธศาสนิกชนผู้รักสุขภาพทั้งหลายจง “กินข้าวกินปลา” ให้อร่อยนะครับ ......