วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552

ความทุกข์โดยเฉพาะของสตรี !!!!

ถึงแม้ว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ส่วนที่2 ว่าด้วยความเสมอภาค มาตรา30 จะกล่าวเอาใว้อย่างชัดเจนว่า “(1)บุคคลย่อมเสมอกันในกฏหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฏหมายเท่าเทียมกัน (2)ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน (3)การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกาย หรือ สุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือ ความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้ฯ”

แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กลับปรากฏว่า สถานภาพของสตรีไทย มีพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก การไม่เคารพในสิทธิของสตรี ตลอดจนการเลือกปฏิบัติต่อผู้เป็นสตรี ก็ยังคงมีปรากฏให้เห็นอยู่โดยทั่วไป แม้ว่าในปัจจุบันนี้ สตรีจะได้รับการศึกษาในระดับสูงมากขึ้น มีความสามารถและบทบาทสำคัญทั้งทางสังคมเศรษฐกิจและการเมืองมากขึ้น แต่อาจเป็นเพราะอิทธิพลของจารีตและธรรมเนียมทางสังคมที่สั่งสมสืบเนื่องกันมาอย่างยาวนานซึ่งถือว่า “ผู้ชายเป็นใหญ่” ย่อมเป็นสาเหตุที่ทำให้ สตรีถูกลดบทบาทการแสดงศักยภาพให้อยู่ในขอบเขตที่จำกัดเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่า กระบวนการในการบังคับใช้กฏหมายอย่างเป็นรูปธรรม และการพัฒนาแนวคิดพื้นฐานของสังคมให้สอดคล้องกับบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ ก็ย่อมที่จะต้องมีต่อไป แต่ถึงกระนั้นก็ตาม แม้ว่าสตรีในอนาคตจะมี สิทธิความเสมอภาคมากขึ้นเพียงใดก็ตาม แต่ก็อาจจะมีบางสิ่งบางอย่างที่สตรีมิอาจจะเรียกร้องความเสมอภาคใดๆได้เลย หรือหากสามารถทำได้แต่ก็ต้องนับว่ายากเต็มที เพราะว่ามันได้ถูกกำหนดเอาใว้แล้วด้วยธรรมชาติแห่งเพศนั้นเอง

พระพุทธองค์ได้ตรัสถึง “ความทุกข์ของสตรี” เอาใว้ว่า
1. สตรีเมื่อเป็นสาวไปสู่สกุลแห่งสามี ย่อมพลัดพรากจากญาติทั้งหลาย
2. สตรีย่อมมีระดู(ประจำเดือน)
3. สตรีย่อมมีครรภ์(ตั้งครรภ์)
4. สตรีย่อม(ต้อง)คลอดบุตร
5. สตรีย่อม(ต้อง)ทำหน้าที่บำเรอบุรุษ โดยพระพุทธองค์ตรัสว่า นี่เป็นความทุกข์โดยเฉพาะของสตรี ซึ่งได้รับต่างหากจากบุรุษ !!!!(อ้างจาก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค)

1) การที่พระพุทธองค์ตรัสว่า การที่หญิงต้องแต่งงานแล้วเข้าไปสู่สกุลของสามี โดยต้องพลัดพรากจากญาติของตน นั้นนับได้ว่าเป็นความทุกข์โดยเฉพาะของผู้หญิง โดยที่ผู้ชายไม่เคยมีความทุกข์อย่างนี้ ก็ด้วยเหตุที่ว่า ตามประเพณีอินเดียในพวกอารยันนับแต่สมัยโบราณนั้น หญิงที่แต่งงานแล้วต้องไปอยู่บ้านของฝ่ายชายเท่านั้น ถ้าฝ่ายชายไปอยู่บ้านฝ่ายหญิงถือว่าผิดจารีตประเพณี ซึ่งนี่อาจแตกต่างจากธรรมเนียมไทย เพราะในเมืองไทยนับแต่อดีตมานั้น เมื่อแต่งงานแล้ว ฝ่ายหญิงไปอยู่บ้านฝ่ายชายก็มี หรือฝ่ายชายไปอยู่บ้านฝ่ายหญิงก็มี ซึ่งก็แล้วแต่ว่าบรรดาญาติๆจะตกลงกันได้อย่างไร ซึ่งก็ไม่ถือว่าเป็นการผิดจารีตประเพณีแต่อย่างใด แต่เท่าที่พบ ก็มักจะเป็นไปในแนวทางที่ฝ่ายหญิงต้องไปอยู่บ้านฝ่ายชายเป็นส่วนใหญ่ จำเพาะประเพณีในอินเดียนั้น จะมีการประกอบพิธี “วิวาห” โดยเขาจัดทำเมื่อเจ้าสาวยังมีอายุน้อย เป็นเด็กอยู่ เมื่อทำพิธีเสร็จแล้ว จะต้องรอจนกว่าเจ้าสาวจะมีอายุตามสมควร ก็จะมีพิธี “อาวาห” คือส่งตัวเจ้าสาวไปให้เจ้าบ่าว จึงเป็นอันเสร็จพิธี แต่ในปัจจุบันนี้ ด้วยเหตุที่สังคมได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ผู้คนในสังคมมีความเป็นอยู่ในลักษณะครอบครัวเดี่ยวกันมากขึ้น ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ก็ล้วนต้องพลัดพรากจากญาติของตนเหมือนๆกัน ฉนั้น ในสภาวะที่เป็นอยู่ปัจจุบัน จำเพาะความทุกข์ในข้อนี้ จึงดูเหมือนว่าจะมีอยู่อย่างเท่าเทียมกันทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โดยที่ฝ่ายหญิงไม่ต้องเสียเวลาไปเรียกร้องสิทธิอะไรอีก !!!!

2) ในข้อที่ พระพุทธองค์ ตรัสว่า การมีระดู การตั้งครรภ์ และการคลอดบุตร นี่เป็นความทุกข์โดยเฉพาะของสตรี ซึ่งได้รับต่างหากจากบุรุษ นั้นนับได้ว่า เป็นความจริงแท้ที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลย โดยไม่ว่าโลกนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หรือว่าสังคมนี้จะพัฒนาไปมากแค่ไหน แต่ความทุกข์ของสตรีอันเนื่องมาจาก การมีระดู การตั้งครรภ์ และการคลอดบุตร นั้นย่อมไม่มีทางเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นได้เลย เพราะว่ามันได้ถูกกำหนดเอาใว้ด้วยกฏเกณท์ทางธรรมชาติ พระพุทธองค์ยังได้ตรัสถึงเรื่องการตั้งครรภ์และคลอดบุตรของสตรี เอาใว้อีกว่า

“มารดาย่อมรักษาทารกนั้นด้วยท้องเก้าเดือนบ้าง สิบเดือนบ้าง เมื่อล่วงไปเก้าเดือน หรือสิบเดือนมารดาก็คลอดทารกผู้เป็นภาระหนักนั้น ด้วยความเสี่ยงชีวิตมาก และเลี้ยงทารกผู้เป็นภาระหนักนั้นซึ่งเกิดแล้ว ด้วยโลหิตของตนด้วยความเสี่ยงชีวิตมาก” (อ้างจาก พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์)
หมายความว่า ความทุกข์ของสตรีอันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรนั้น เป็นความทุกข์ที่ต้องเอาชีวิตเข้าเสี่ยงกันเลยทีเดียว ดังนั้น จึงขอให้ระลึกเอาใว้เสมอว่า มนุษย์ทุกผู้ทุกนามในโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็ดี ล้วนแล้วแต่เคยสร้างความทุกข์ยากลำบากต่อสตรีผ่านการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร มาแล้วด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ไม่อาจจะเถียงได้เช่นกัน จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ชาย ในฐานะที่ไม่เคยได้รับความทุกข์ยากอันนี้เลยจนชั่วชีวิต เมื่อได้รับทราบข้อเท็จจริงดังนี้แล้ว ก็คงจะได้เกิดสติรู้สำนึกในบุญคุณแห่งมารดาของตน จนอาจเผื่อแผ่ความกตัญญูกตเวทิตานั้น ด้วยการระงับพฤติกรรมชั่วหยาบต่างๆในอันที่จะมีต่อสตรีอื่นในภายภาคหน้าต่อไป

3) ข้อสุดท้ายที่พระพุทธองค์ ตรัสถึงว่า เป็นความทุกข์โดยเฉพาะของสตรี ซึ่งได้รับต่างหากจากบุรุษ นั้นก็คือ “สตรีย่อม(ต้อง)ทำหน้าที่บำเรอบุรุษ” ขอให้สังเกตเอาใว้ด้วยว่า ในข้อก่อนหน้านี้ ซึ่งเกี่ยวกับการมีระดู การตั้งครรภ์ และการคลอดบุตร นั้นแม้จะเป็นความทุกข์ แต่นั่นก็ยังถือได้ว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติอันเกี่ยวข้องกับการดำรงเผ่าพันธุ์มนุษย์ แต่ในข้อที่ว่า หญิงนั้นได้รับความทุกข์ด้วยเหตุที่ต้องทำหน้าที่บำเรอบุรุษนั้น ย่อมมิได้เกิดจากข้อจำกัดของธรรมเนียมประเพณีทางสังคมซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา และย่อมมิได้เกิดจากสาเหตุทางธรรมชาติที่ไม่มีใครสามารถบังคับควบคุมได้ แต่มันเป็นผลอันเกิดจากการกระทำของ “ผู้ชาย” ล้วนๆ นั่นจึงหมายความว่า ความทุกข์ของสตรีในข้อนี้ จะมากหรือน้อยก็ตาม ล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับความคิดและการกระทำของ “ผู้ชาย” ที่จะมีต่อผู้หญิงนั่นเอง แต่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในสังคมปัจจุบันนี้ กลับกลายเป็นว่า ผู้ชายมักจะมีความพยายามเป็นอย่างยิ่งในอันที่จะเพิ่มความทุกข์ให้แก่สตรี ด้วยการสนองกิเลสตัณหาของตนอย่างไม่มีขีดจำกัด เห็นผู้หญิงเป็นเพียงแค่อุปกรณ์บำบัดความใคร่ของตนเองเท่านั้น โดยผู้ชายเหล่านี้ได้อาศัยความได้เปรียบทางเศรษฐกิจสังคมและตำแหน่งหน้าที่การงาน พยายามเอารัดเอาเปรียบล่วงละเมิดสตรีที่ด้อยโอกาสกว่าตนทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งการกระทำต่างๆเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นการเพิ่มพูนความทุกข์ให้แก่สตรีทั้งสิ้น ซึ่งปัญหาในประเด็นนี้ ไม่มีทางที่จะแก้ไขเยียวยาได้ด้วยข้อกฏหมาย แต่จะต้องแก้ไขกันในระดับจิตวิญญาณเลยทีเดียว เพราะถ้าตราบใดที่ผู้ชายในสังคมยังมีทัศนคติที่เลวร้าย ขาดมโนธรรมสำนึก ขาดหิริโอตัปปะ และขาดความเมตตากรุณาต่อผู้อื่นแล้วไซร้ เราก็จะไม่มีทางแก้ปัญหาเหล่านี้ได้เลย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้หญิงเองก็ควรที่จะตระหนักเอาใว้ด้วยว่า แท้ที่จริงแล้ว “ผู้ชายที่ดี” ในโลกนี้จะสามารถเกิดมีขึ้นมาได้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับตัวของผู้หญิงเองด้วยเช่นกัน เพราะใช่ว่าผู้หญิงจะมีหน้าที่เพียงแค่ตั้งครรภ์และคลอดบุตรออกมาเท่านั้น แต่ก็เป็นผู้หญิงนั่นเอง ที่เป็นผู้ให้การอบรมเลี้ยงดูจนเด็กนั้นเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ ฉนั้น สังคมจะได้มีผู้ใหญ่ที่ดีหรือเลว นั่นก็ย่อมขึ้นอยู่กับ “หญิง” ซึ่งเป็นผู้ให้การอบรมสั่งสอนเลี้ยงดู ซึ่งถ้าหญิงนั้น เป็นผู้ที่มีความมั่นคงทางคุณธรรมจริยธรรมสูง เธอก็ย่อมที่จะสามารถสร้าง “ผู้ชายที่ดี” ขึ้นมาบนโลกใบนี้ได้ แต่ในทางกลับกัน ถ้าหญิงนั้นเป็นผู้ที่มีความอ่อนแอในคุณธรรมจริยธรรม เธอก็จะสร้าง “ผู้ชายที่เลว” ขึ้นมาอีกคนหนึ่ง ซึ่ง“ผู้ชายที่เลว” เพียงคนเดียวนี้ ย่อมที่จะสามารถสร้างความทุกข์ให้กับผู้หญิงในโลกใบนี้ได้เป็นร้อยเป็นพันเลยทีเดียว
นั่นจึงหมายความว่า แท้ที่จริงแล้ว ผู้ที่จะสามารถบรรเทาทุกข์ให้แก่สตรีได้นั้น ก็คือสตรีด้วยกันนั่นเอง เพราะว่า โดยข้อเท็จจริงแล้ว คนทุกผู้ทุกนามในโลกใบนี้ จะดีหรือเลว ก็ขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดูของสตรีด้วยกันทั้งสิ้น ฉนั้น การแก้ปัญหาสังคมที่แท้จริงและยั่งยืน จึงไม่ใช่การเรียกร้องสิทธิสตรี และย่อมไม่ไช่การพยายามแก้ไขข้อกฏหมายต่างๆ แต่เป็นการร่วมมือร่วมใจกันของสตรีในทุกๆภาคส่วนในอันที่จะอบรมเลี้ยงดู บุตรหญิงชายของตน ด้วยความเข้มแข็งทางคุณธรรมจริยธรรม เพื่อที่จะให้เด็กเหล่านั้นเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคมในอนาคต ซึ่งนั่นก็จะเท่ากับเป็นการแก้ไขปัญหาให้กับสังคมไปโดยปริยาย .....