วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552

ขอทาน กับ ศักดิ์ศรีที่ขายได้

มักจะมีการพูดกันโดยทั่วไปว่า “อาชีพขอทานนั้น เป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยที่ไม่ต้องลงทุนด้วยสินทรัพย์ใดๆ เพียงแต่จะต้องแลกมาด้วยการขายศักดิ์ศรีของตนเองเท่านั้น”

สิ่งที่น่าสงสัยสำหรับผมก็คือ “ศักดิ์ศรี” มันคืออะไร ? แล้วเราสามารถที่จะเอามันมาขายได้จริงๆหรือ ?

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้คำจำกัดความคำว่า “ศักดิ์ศรี” หมายถึง เกียรติศักดิ์ และให้ความหมายคำว่า “เกียรติศักดิ์” หมายถึง เกียรติตามฐานะของแต่ละบุคคล ทั้งนี้คำว่า “ศักดิ์” นั้นย่อมหมายถึง กำลังความสามารถ หรือ ฐานะ สรุปรวมความได้ว่า ศักดิ์ศรี หมายถึง ความมีหน้ามีตาตามฐานะของแต่ละบุคคล ดังนั้นการที่กล่าวกันว่า “คนที่เป็นขอทาน ขายศักดิ์ศรีของตน” ก็น่าที่จะแปลความได้ว่า ขอทานเหล่านั้น ได้ขายความมีหน้ามีตาตามฐานะของตนไปเสียแล้ว แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ ความมีหน้ามีตาตามฐานะของตน นั้นมันหมายความว่าอย่างไร ?

เพราะถ้าพิจารณาคำว่า “ฐานะ” ก็สามารถจับใจความได้ว่าหมายถึง “ลำดับความเป็นอยู่ในสังคม” ซึ่งถ้าเป็นสังคมในสมัยศักดินา คนในสังคมระดับล่างๆ จะมีการจัดลำดับดังต่อไปนี้คือ

ไพร่หัวงาน ศักดินา 25 ไร่
ไพร่มีครัว ศักดินา 20 ไร่
ไพร่ราบ ศักดินา 15 ไร่
ไพร่เลว ศักดินา 10 ไร่
ยาจก(คนจน) ศักดินา 5 ไร่
วณิพก ทาส และ ลูกทาส ศักดินา 5 ไร่ (อ้างจาก พระอัยการเบ็ดเสร็จ(เพิ่มเติม) พศ.1903 )

โดยที่ประชาชนส่วนมากในราชอาณาจักร มักเป็น พวกยาจก(คนจน) วณิพก และทาส ซึ่งคนเหล่านี้ มีศักดินาได้เพียง 5ไร่เท่านั้น พวกไพร่เลว คือพวกที่ได้มีโอกาสทำงานรับใช้เจ้านาย ถ้ามีคนฝากฝังให้เป็น “เลว” ของเจ้านายได้ก็จะมีวาสนา มีศักดินา 10ไร่ ส่วนพวกไพร่ราบนั้น เป็นไพร่ชั้นดี เป็นอิสระแก่ตัว ศักดินา 15ไร่ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีอยู่เพียงส่วนน้อยในสังคม ยังมีไพร่ขั้นสูงอีกสองพวก คือ ไพร่มีครัว หมายถึง ไพร่ที่คุมผู้คนมาตั้งบ้านเรือนทำมาหากินด้วย 20 , 30 หรือ 50 ครัว ก็จะมีความชอบได้ศักดินา 20ไร่เป็นบำเน็จ สุดท้ายคือ พวกไพร่หัวงาน หมายถึง ไพร่ที่รับผิดชอบงานโยธา ให้หลวงได้ศักดินา 25ไร่ ซึ่งนี่ก็คืออัตราสูงสุดสำหรับการเป็นไพร่ แต่ถ้าไพร่หัวงานนี้เป็นห้าสิบ คือคุมครัว50ครัวด้วย จะได้บำเน็จพิเศษอีก 5ไร่ รวมเป็น30ไร่ เมื่อถึงตอนนี้ เขา(ไพร่หัวงาน)ก็จะกลายเป็นข้าราชการ ไม่ได้เป็นไพร่อีกต่อไปแล้ว ทั้งหมดที่แจกแจงมานี้ ก็สามารถที่จะอธิบายได้ว่า ในสมัยศักดินานั้น ขอทานจะมีฐานะหรือลำดับความเป็นอยู่ในสังคม(แบบไทยๆ) เทียบเท่ากับ คนจนยากไร้ วณิพก ทาส และลูกทาส เพราะเหตุที่มีศักดินาเท่ากัน นั่นจึงหมายความว่า ถ้าหากผู้ที่มี “ศักดินา” สูงกว่านี้(ห้าไร่) แต่กลับมาประกอบอาชีพเป็นขอทาน ก็ย่อมถือได้ว่า เขาได้ขาย “ศักดิ์ศรี” หรือ ความมีหน้ามีตาตามฐานะของตนไปเสียแล้วจริงๆ แต่ที่น่าสงสัยก็คือ ถ้าผู้คนซึ่งมีศักดินาต่ำอยู่แล้ว อย่างเช่นพวกทาส ยาจก คนจน ถ้าคนเหล่านี้ประกอบอาชีพขอทาน ยังจะสามารถกล่าวได้อีกหรือไม่ว่า พวกเขาเหล่านั้น ได้ขายความมีหน้ามีตาตามลำดับความเป็นอยู่ของตนในสังคม เพราะผมเองก็ยังมองไม่ออกเลยว่า การเกิดมาเป็นทาส หรือลูกทาสนั้น มันจะ “มีหน้ามีตา” อยู่ที่ตรงไหนกัน ? แต่นี่ก็เป็นเรื่องราวโบร่ำโบราณ ในสมัยที่สังคมบ้านเมืองยังล้าหลังอยู่ ปัญหาที่ควรพิจารณาต่อไปในขณะนี้ก็คือ ในปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นสังคมทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย กลุ่มคนที่ได้ชื่อว่า “ขอทาน” มีลำดับความเป็นอยู่อย่างไรในสังคม ????

ข้อเท็จจริงที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลยก็คือ ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบันนี้ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนจนนั้น ล้วนแล้วแต่มีที่มาจากพวก ไพร่และทาส ในสังคมยุคศักดินานั่นเอง ก็ในสมัยศักดินา ซึ่งถือว่าที่ดินเป็นปัจจัยกำหนดฐานะทางสังคมนั้น คนเหล่านี้จัดว่าเป็นคนจน ก็ด้วยเหตุที่เป็นคนไร้ที่(นา)ทำกิน นั่นย่อมหมายความว่า ไพร่ทาสเหล่านั้น ก็ยังต้องกลายเป็นคนจนในปัจจุบันอยู่ดีด้วยเหตุที่พวกเขาไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ทุน” โดยที่ต้องไม่ลืมว่า ในสังคมทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย นั้นถือว่า “ทุน” เป็นตัวกำหนดฐานะทางสังคม ดังจะเห็นว่า สังคมไฮโซฯในปัจจุบันนี้ล้วนแล้วแต่ประกอบไปด้วย กลุ่มคนที่มี “ทุน” หนาด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้นจึงมิใช่เป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใดเลย ที่ผู้คนในสมัยปัจจุบันนี้ จึงได้พยายามที่จะแสวงหาทุน(ทรัพย์)ให้ได้มากที่สุด เพียงเพื่อที่จะได้มีโอกาสเลื่อนลำดับความเป็นอยู่ในสังคม อันจะก่อให้เกิดความมีหน้ามีตา และได้รับการยอมรับจากสังคมที่มีโลภะจริตเป็นเจ้าเรือน โดยมิได้คำนึงถึง วิธีการในการได้มาซึ่งทุน(ทรัพย์)นั้นเลยแม้แต่น้อย

ในขณะที่ ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมคนขอทาน กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในขณะนี้นั้น อีกด้านหนึ่งของสังคม กลับพบว่า การประกอบอาชีพขอทาน กำลังเป็นค่านิยมใหม่ของคนยากจนในต่างจังหวัดไปเสียแล้ว สาเหตุก็เป็นเพราะการขอทานนั้น สามารถสร้างรายได้ให้กับคนยากคนจนเหล่านี้ มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่พวกเขาจะได้รับจากการทำงานกรรมกรหลายเท่าตัว พิจารณาอย่างง่ายๆดังนี้คือ คนเหล่านี้จะใช้วิธีเดินทางโดยขบวนรถไฟจากต่างจังหวัด มาลงที่สถานีรถไฟ(บางซื่อ) จากนั้นก็มาเช่าบ้านที่ไม่มีเลขที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆในราคา หัวละ 20 บาทต่อคืน โดยส่วนใหญ่จะอยู่กันประมาณ 2-3 สัปดาห์ จากนั้นจะเดินทางกลับบ้านเพื่อเอาเงินไปเก็บ แล้วกลับมาใหม่เป็นรอบ ๆ ไปโดยในแต่ละรอบ พวกเขาจะได้เงินมากถึง 1-2 หมื่นบาทต่อหัวเลยทีเดียว เห็นตัวเลขอย่างนี้แล้ว ก็คงจะไม่ต้องแปลกใจว่าทำไม คนยากจนจากต่างจังหวัดเหล่านี้ จึงได้ตกลงปลงใจที่จะมาเป็นขอทาน มากกว่าที่จะมาทำงานกรรมกรซึ่งต้องทำงานหนักแต่ค่าแรงถูก อันเป็นผลที่เกิดจากแนวคิดของพวกทุนนิยม ที่มุ่งหวังแต่เพียง “กำไรสูงสุด” เท่านั้น และแน่นอนว่า “กำไรสูงสุด” ของนายทุนก็ย่อมเกิดมาจากการเอารัดเอาเปรียบ “กรรมกร” ซึ่งก็คือ คนยากคนจน คนส่วนใหญ่ของประเทศนั่นเอง

การที่ภาครัฐพยายามที่จะกวาดล้างพวกมาเฟียขอทาน เพื่อนำมาดำเนินคดีในข้อหาค้ามนุษย์ เนื่องจากมีการทรมานคนแก่และเด็ก ก็ย่อมเป็นสิ่งที่สมควรอยู่แล้ว แต่การที่จะพยายามแก้ไขปัญหาขอทาน ด้วยการจับไปฝึกอาชีพนั้น เห็นว่าจะเป็นการเสียเวลาไปเปล่า เพราะที่แท้แล้ว มิใช่ว่า เขาเหล่านั้น จะประกอบอาชีพอย่างอื่นไม่เป็น แต่เหตุมันเกิดจาก เขาทนต่อการเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนที่พยายามกดค่าแรงจนพวกเขาไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขต่างหาก หมายความว่า ถ้าหากภาครัฐต้องการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังแล้วล่ะก็ สิ่งที่ควรจะได้รับการแก้ไขมากที่สุดก็คือ การจ้างงานด้วยอัตราค่าจ้างที่เป็นธรรมต่อผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม มิใช่ปล่อยให้มีการเอารัดเอาเปรียบคนยากจนโดยที่มีกฏหมายและคณะบุคคลผู้บังคับใช้กฏหมาย รองรับและรับรองกันอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ก็ในเมื่อสังคมทุนนิยมนั้นถือกันว่า “ทุน” คือสิ่งที่สำคัญที่สุด และ “ทุน” นั้นเองจะเป็นตัวกำหนด “ฐานะ” หรือ “ลำดับ” ทางสังคม หมายความว่า ด้วยมาตรฐานทางสังคมในยุคทุนนิยม เราก็ไม่น่าที่จะเห็นว่า ความร่ำรวยทุน(ทรัพย์) อันเกิดจากการประกอบอาชีพขอทานนั้น จะเป็นการขายศักดิ์ศรี หรือ เสื่อมศักดิ์ศรี แต่อย่างใดเลย เพราะในขณะนี้เวลานี้ “ศักดิ์” ของคนนั้นอยู่ที่ “ทุน” มิได้อยู่ที่ “นา” เมื่อมีทุนมากก็ย่อมมีศักดิ์มาก ต่างจากสมัยศักดินา ซึ่งผู้ที่มีสิทธิในที่นามากย่อมมีศักดิ์มาก ฉนั้น การกล่าวว่า การขอทาน คือการขายศักดิ์ศรี อาจเป็นคำที่ถูกต้องได้ ก็แต่ในยุคสมัยศักดินาเท่านั้น แต่ไม่อาจเป็นจริงได้ในยุคสมัยทุนนิยม ทำไปทำมา ความรู้สึกนึกคิดที่ว่า การขอทานเป็นการขายศักดิ์ศรี นั้นอาจเป็นเพียงแค่ เล่ห์ลมปาก ที่พวกนายทุนใช้สำหรับ “กล่อม” พวกกรรมกรใจซื่อ ให้หลงเชื่อไปกับแนวคิดศักดินาตกยุค เพื่อที่จะได้มีความอดทนต่อการกดขี่ค่าแรงของพวกนายทุนต่อไป โดยมี “ศักดิ์ศรี” ลมๆแล้งๆ เป็นบำเน็จรางวัล !!!!

อันที่จริงแล้ว นับแต่โบราณมา อาชีพขอทาน ก็มิใช่ว่าจะเป็นอาชีพที่ต่ำต้อยไร้เกียรติแต่อย่างใดเลย อาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นอาชีพของคนชั้นสูงเสียด้วยซ้ำไป โดยอรรถกถาจารย์ ได้กล่าวใว้มีหลักฐานปรากฏอยู่ดังนี้ว่า “ภิกษุ หมายถึง บุคคลผู้อาศัยการเที่ยวขอ เพราะละการเลี้ยงชีวิตโดยกสิกรรม และโครักขกรรมเป็นต้นเสีย” หมายความว่า แท้ที่จริงแล้ว พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเองก็เป็นผู้ที่ต้องยังชีพด้วยการ “ขอทาน” เหมือนกัน ก็คำว่า “ภิกษุ” หรือ “ภิกขุ” นั้นหมายถึง ผู้ที่ยังชีพด้วยการ “ภิกขาจาร” ซึ่งก็คือการ “ขอทาน” นั่นเอง และนี่ก็เป็นพุทธบัญญัติเสียด้วย โดยพระพุทธเจ้ามิทรงอนุญาติให้พระสงฆ์ประกอบอาชีพอื่นใดทั้งสิ้น แต่อนุญาติให้สามารถยังชีพได้ด้วยการ “ขอทาน” ชาวบ้านเขากินเท่านั้น โดยที่พวกพราหมณ์ในสมัยแรกเริ่มเดิมทีนั้น ก็ยังชีพด้วยการขอทานเช่นกัน ก่อนที่จะแหวกธรรมเนียมออกมาประกอบอาชีพอื่นๆในภายหลัง ที่กล่าวมาดังนี้ มิได้มีเจตนาที่จะส่งเสริมสนับสนุน ให้ผู้คนออกไปประกอบอาชีพขอทานกันมากขึ้น เพราะเชื่อว่า หากมีโอกาสเลือกที่ดีกว่า ย่อมไม่มีใครอยากเลือกที่จะเป็นขอทาน อีกทั้งก็มิได้หมายใจที่จะยกย่องขอทาน ว่าสูงส่งเทียบเท่ากับภิกษุสงฆ์ เพราะการเป็น “ผู้ขอ” ของพระสงฆ์องค์เจ้านั้น ถือได้ว่าเป็นการขอที่ประเสริฐ คือผู้ขอนั้น เป็นผู้ทรงใว้ซึ่ง ศีล สมาธิ และปัญญา จึงเป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐของเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย อีกทั้ง “การขอ” ของพระสงฆ์นั้น เป็นเพียงการขอเท่าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพเท่านั้น มิได้เป็นการขอที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของโลภะจริต อย่างที่เป็นกันอยู่ในสังคมเวลานี้ ...