วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552

สามเกลอหัวแข็ง .... รวมพลคนขายชาติ




คำนำ

มหากาพย์รามายณะนั้น ได้ชื่อว่าเป็นขุมสมบัติทางวัฒนธรรมและวรรณคดีที่สำคัญของโลก อีกทั้งยังได้แพร่หลายไปในหลายๆประเทศในแถบเอเซียอาคเนย์ จนกระทั่งได้กลายมาเป็นรากฐานทางศิลปวัฒนธรรมในประเทศต่างๆเหล่านั้นในที่สุด และแม้ว่าประเทศไทยจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองพุทธ แต่ชาวพุทธทั้งหลายก็มักจะมีความรับรู้ต่อเรื่องราวของมหากาพย์เรื่องนี้อย่างหลับหูหลับตา ให้ความเชื่อถือในเรื่องราวเหล่านั้น ตามๆกันไป ทั้งๆที่เรื่องราวต่างๆในมหากาพย์รามายณะนั้น เป็นการจดบันทึกข้อความโดยพวกที่ได้ชื่อว่า “มิจฉาทิฐิ” ทั้งสิ้น มิหนำซ้ำ แม้ว่าเรื่องราวต่างๆในมหากาพย์รามายณะ จะแสดงให้เห็นถึงความทารุณป่าเถื่อนของพวกอารยัน ที่กระทำต่อชาวทราวิฑ ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองเดิม แต่เราในฐานะชาวพุทธ กลับพลอยเห็นดีเห็นงาม ต่อการกระทำชั่วร้ายเหล่านั้นไปกับเขาด้วย นั่นเพียงเพราะเรามัวแต่มึนเมาอยู่กับมายาคติที่ว่า พวกอารยันนั้นเป็น “ผู้ดี” เป็นผู้ที่อยู่ในศีลในธรรม เป็นฝ่ายที่พระเป็นเจ้าได้ทรงกำหนดใว้ให้เป็นผู้ปกครองโลก ทั้งที่โดยเนื้อแท้แล้ว เมื่อนำเอาความประพฤติและแนวคิดของชาวอารยันที่ปรากฏอยู่ในมหากาพย์รามายณะ มาวิเคราะห์เปรียบเทียบด้วยหลักธรรมในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็จะพบว่า บุคคลเหล่านั้น มักจะอยู่ในขอบข่ายของคนถ่อยสารเลวเสียมากกว่าที่จะเป็น “คนดี” หรือ “ผู้ดี” ตามที่พวกเขาเหล่านั้น พยายามที่จะสร้างภาพบิดเบือนเอาใว้ ดังนั้นผู้เขียนจึงหวังว่า จะสามารถนำเสนอมุมมองและแนวคิดใหม่ๆที่หลากหลาย ต่อท่านผู้อ่าน โดยหวังว่า ในฐานะชาวพุทธ เราจะสามารถข้ามพ้นมายาคติต่างๆที่อาจบดบังสายตาของเราอยู่ จนทำให้ไม่สามารถที่จะมองเห็นและแยกแยะความผิดถูกได้อย่างชัดเจนผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะเขียนหนังสือเล่มนี้ ให้ออกมาในลักษณะของหนังสืออ่านเล่นเท่านั้น มิได้มุ่งหวังให้เป็นหนังสือเชิงสารคดีแต่อย่างใด ฉนั้น มุมมองหรือว่าแนวคิดใดๆก็ตามของผู้เขียน จึงย่อมอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ อีกทั้งยังไม่มีความจำเป็นใดๆเลยที่ผู้อ่านจะต้องเชื่อถือตาม หมายความว่า ท่านผู้อ่านสามารถมีความเห็นแย้งต่อผู้เขียนได้ในทุกๆประเด็น ซึ่งผู้เขียนเองก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า มันก็ควรที่จะเป็นเช่นนั้น เพราะพระพุทธองค์ก็ตรัสสอนอยู่เสมอว่า มิให้หลงเชื่อตามคำ(สอน)ใดๆโดยง่าย ต่อเมื่อใดก็ตาม ที่ท่านทั้งหลายจะพึงรู้ได้ด้วยตนเองว่า สิ่งเหล่านี้เป็นกุศล สิ่งเหล่านี้ไม่มีโทษ สิ่งเหล่านี้เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล ฯลฯ เมื่อนั้นท่านทั้งหลายจึงค่อยเชื่อ สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มนี้ จะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านทั้งในด้านความบันเทิงใจ และในทางสร้างเสริมความคิดอ่านที่แตกฉานหลากหลายยิ่งๆขึ้นไป

Ritti Janson

************************************************

** อธิบายเกี่ยวกับ “พระอัยการลักษณะขบถศึก” และ “ริบราชบาทว์” **

พระอัยการลักษณะขบถศึกนี้ ท่านได้ทรงบัญญัติขึ้น ตามมูลคดีในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ดังนี้

1. ผู้ใดใจใหญ่ใฝ่สูงศักดิ์ มันขบถประทุษร้าย จะต่ำองค์พระมหากษัตริย์จากเศวตฉัตร
2. ทำร้ายพระองค์ด้วยโหรายาพิษ และด้วยเครื่องศาสตราวุธสรรพยุทธ ให้ถึงสิ้นพระชนม์
3. พระเจ้าอยู่หัวให้ผู้ใดไปรั้งเมือง ครองเมือง และมิได้เอาสุวรรณบุปผาและพัทยาเข้ามาถวายบังคมและแข็งเมือง
4. ผู้ใดเอาใจไปแผ่เผื่อข้าศึกศัตรู นัดแนะให้ยกเข้ามาเบียดเบียนพระนครขอบขัณฑเสมาธานีน้อยใหญ่
5. ผู้ใดเอากิจการบ้านเมืองแลกำลังเมืองแจ้งให้ข้าศึกฟัง

ถ้าผู้ใดทำดังกล่าวมานี้ เป็นความผิดมีโทษขั้นอุกฤษฎ์ 3 สถานคือ
1. ให้ริบราชบาทว์ ฆ่าเสียให้สิ้นทั้งโคตร
2. ให้ริบราชบาทว์ ฆ่าเสีย 7 ชั่วโคตร
3. ให้ริบราชบาทว์ แล้วให้ฆ่าเสีย โคตรนั้นอย่าให้เลี้ยงสืบไปเลย

เวลาที่ประหารนั้นห้ามท่านมิให้โลหิตและอาสภ ตกลงในแผ่นดิน ให้ใส่แพลอยเสียตามกระแสน้ำ แผ่นดิน 240000 โยชน์ ทรงพระเจ้าได้ถึงห้าพระองค์ และมิอาจทรงผู้อกตัญญูหาความสัจมิได้ ฯลฯนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ในพระอัยการขบถศึกยังบัญญัติการกระทำความผิดฐานขบถอื่นๆอีก เช่น
1. เป็นข้าพระเจ้าอยู่หัวเลี้ยงให้มียศใหญ่ คิดใหญ่ใฝ่สูง ประทุษร้ายต่อรบพุ่งเมืองท่าน
2. รู้ว่าผู้ใดทำขบถ เข้าด้วยพวกขบถ หรือไม่นำความมาเพ็ดทูล
3. ผู้รู้เห็นเข้าด้วยกับข้าศึกศัตรูต่างชาติที่แปลกปลอมเข้ามาคิดร้ายต่อแผ่นดิน
4. ข้าศึกจากต่างประเทศแปลกปลอมเข้ามา ให้อาศัยในบ้านตนเรือนตน
5. เป็นนายหมดนายกอง เวลามีศึกสงคราม กลับอพยพครอบครัวไปเข้าด้วยกับข้าศึก

ริบราชบาทว์ นั้นหมายถึง ริบทั้งหมดตั้งแต่ ลูกเมีย บ่าวไพร่ เอาเข้าบัญชีเป็นของกษัตริย์ทั้งหมด โดยธรรมดาแล้ว ผู้คนลูกเมียบ่าวไพร่ทั้งหมดก็จะกลายไปเป็น“ทาสหลวง”ไม่มีโอกาสไถ่ตัว ต้องเป็นทาสอยู่อย่างนั้นไปตลอดชีวิต

**** ใครผิดใครถูกอย่างไร ก็ต้องดูกันที่หลักการและกฏหมาย ****

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว สุครีพ อ้างว่าโกรธ พาลี ด้วยเหตุที่ถูกเนรเทศออกจากเมืองด้วยข้อหา “ขบถ” ส่วนพระราม ก็โกรธ พาลี เพราะเห็นว่า พาลี “บังอาจผิดเมีย(ของสุครีพ)” แต่เมื่อพิเคราะห์กันตามหลักการและข้อเท็จจริงแล้ว ดูเหมือนว่าจะเป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผลด้วยกันทั้งคู่ !!!!การที่รามายณะจดเอาใว้ว่า พาลี ต่อสู้กับ อสูรมายาวี อยู่ในถ้ำนานถึงหนึ่งปีนั้น เป็นการพูดที่รับฟังไม่ได้เอาเสียเลย ในรามเกียรติ์ของไทย ดีขึ้นมาหน่อยที่กล่าวว่า สุครีพเฝ้าอยู่หน้าถ้ำ 7 วัน แต่ไม่ว่าจะเป็นหนึ่งปี หรือเจ็ดวัน สุครีพก็ยังส่อแสดงให้เห็นเจตนาอยู่นั่นเองว่า เขาต้องการ ครองกรุงกีษกินธ์ เสียเอง เพราะนอกจาก สุครีพ จะไม่คิดแก้แค้นแทนพี่ต่างพ่อของตนแล้ว เขายังไม่แม้แต่จะคิดปลงศพของพี่ชาย ซึ่งเป็นถึงกษัตริย์แห่งกรุงกีษกินธ์ กลับมุ่งแต่จะตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์ และก็นั่งเมืองอยู่อย่างนั้น โดยมิได้อินังขังขอบ หรือใส่ใจกับศพของ “พี่ชาย” นั้นอีกเลย ด้วยพฤติการณ์ดังกล่าวมานี้ ถ้าไม่กล่าวว่า สุครีพ มีเจตนาฆ่าพี่ชายเพื่อชิงเมือง แล้วจะให้อธิบายว่าอย่างไร ?ฉนั้น เมื่อพิจารณาด้วยมุมมองของพาลี โดยมี “พระอัยการลักษณะขบถศึก” เป็นบรรทัดฐานแล้วล่ะก็ สุครีพและเหล่าขุนนางที่ร่วมกันยกสุครีพขึ้นเป็นกษัตริย์ ก็ย่อมมีความผิดฐานขบถอย่างมิต้องสงสัย ซึ่งโทษฐานขบถนั้น มีแต่ฟันคอริบราชบาทว์แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่น แต่การที่ สุครีพ ยังสามารถลอยนวลอยู่ได้ โดยโดนโทษเพียงแค่เนรเทศนั้น ย่อมนับได้ว่า เป็นพระมหากรุณาธิคุณ ของ “พาลี” อย่างหาที่สุดมิได้แล้ว แต่ สุครีพ“ลิงเนรคุณ” ผู้นี้ก็หาได้มีความสำนึกไม่ อีกทั้งข้อหา “บังอาจผิดเมีย” ที่พระรามอ้างเป็นเหตุว่าโกรธพาลีนั้น ก็ยิ่งรับฟังมิได้เลย เพราะที่จริงแล้ว ทั้งพระรามและสุครีพ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้นเขาทั้งสองก็น่าที่จะเข้าใจได้เป็นอย่างดีว่า การที่พาลีรับภรรยาของสุครีพมาเป็น “สนม” ของตนนั้น มิใช่เป็นเพราะตัณหาหน้ามืด แต่นี่เป็นเพียงวิธีเดียวที่จะช่วยมิให้ ภรรยาของสุครีพซึ่งเป็น “ผู้ดี” นั้นจะต้องมาตกระกำลำบาก หากจะต้องกลายเป็น “ทาสหลวง” อันเนื่องมาจากการริบราชบาทว์ สุครีพ ในข้อหาขบถนั่นเอง ส่วนในรามเกียรติ์ของไทยนั้น แก้ความข้อนี้ว่า พาลีแย่ง “นางดารา” ซึ่งพระอิศวรได้ฝากมาให้สุครีพ ตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว แต่โดยข้อเท็จจริง น่าจะเป็นการรับ ภรรยาของสุครีพ มาเป็นสนม เพื่อป้องกันการริบราชบาทว์ ในภายหลังเสียมากกว่า ฉนั้น สิ่งที่สุครีพและพระรามกล่าวออกมานั้น จึงยังมิใช่เหตุผลที่แท้จริง แต่ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรนั้น เราคงจะต้องพิจารณากันต่อไปข้างหน้า

************************************************

คดีฆาตกรรมนางสีดา

ในประเด็นที่กล่าวหาว่า พระรามแต่งงานกับนางสีดาด้วยเหตุผลในทางการเมืองนั้น ข้อกล่าวหานี้ จะมีความเด่นชัดขึ้นไปอีก ถ้าเราจะได้สังเกตพฤติกรรมของพระรามที่มีต่อนางสีดา หลังจากเสร็จศึกลงกาแล้ว ดังนี้

1. เมื่อเสร็จศึกลงกาแล้ว พระราม พระลักษมณ์ และนางสีดา จึงได้คืนกลับกรุงอโยธยา แต่ก่อนที่จะกลับนั้น นางสีดาได้ลุยไฟแสดงความบริสุทธิ์ของตน โดยมีบรรดาทวยเทพ พระอิศวร พระพรหม และท้าวทศรถ(ตายไปเป็นเทวดา)มาร่วมเป็นสักขีพยาน แต่หลังจากอยู่ในกรุงได้ไม่นาน เมื่อพระรามก็ได้ทราบถึงเสียงโจทก์ขานของชาวเมืองอโยธยาว่า เหตุใดพระรามจึงไม่ตั้งข้อรังเกียจนางสีดา ที่ไปอยู่กับยักษ์มานานสองนาน แต่ยังพากลับเข้าเมืองมาอีก และต่อไป ถ้าเมียใครประพฤติตนเช่นนี้บ้างก็ไม่ต้องรังเกียจกัน เพราะพระราชาได้ทรงทำเป็นตัวอย่างเอาใว้แล้ว พระรามได้อ้างว่า เพื่อรักษาเกียรติของตน แม้แต่ชีวิตก็สามารถสละได้ ดังนั้น พระรามจึง “เนรเทศนางสีดา”ออกจากเมือง โดยให้พระลักษมณ์หลอกว่าจะพาไปนมัสการ ฤษีชีไพรต่างๆในป่า

2. ในรามายณะ อุตตรกัณท์ กล่าวว่า หลังจากที่นางสีดาอยู่ในป่ามานานหลายปี ก็ได้หวนกลับเข้ามาในกรุงอโยธยาอีกครั้ง โดยอ้างว่าเป็นรับสั่งของพระรามว่า ถ้าหากนางบริสุทธิ์จริงก็ขอให้มาแสดงความบริสุทธิ์ต่อหน้าเหล่ากษัตริย์และพราหมณ์ทั้งหลาย (ทั้งๆที่นางสีดาก็เคยลุยไฟแสดงความบริสุทธิ์มาแล้วครั้งหนึ่ง ที่กรุงลงกาหลังเสร็จศึกลงกาใหม่ๆ) และแม้ฤษีวาลมีกิจะกล่าวยืนยันความบริสุทธิ์ของนางสีดาอย่างไรก็ตาม แต่พระรามก็ไม่ยอมเชื่ออยู่นั่นเอง สุดท้ายพระรามก็ยังยืนยันที่จะให้นางสีดาแสดงความบริสุทธิ์ให้ปรากฏแก่สายตาคนทั้งปวง โดยนางสีดาได้กล่าวคำปฏิญาณว่า “นางยังมิได้เคยนึกถึงผู้ใดนอกจากพระราม ด้วยอำนาจความสัตย์อันนี้ ขอให้แม่พระวสุนทรารับนางไปเถิด” กล่าวกันว่า ทันใดนั้นก็มีบัลลังก์ผุดขึ้นมาจากใต้พื้นดิน นางเทวีวสุนทราก็รับนางสีดาขึ้นนั่งบนบัลลังก์ แล้วบัลลังก์นั้นก็จมลงสู่พื้นดินเป็นที่อัศจรรย์ ทุกคนต่างพากันสรรเสริญนางสีดา

3. กล่าวโดยสรุปก็คือ หลังจากเสร็จศึกลงกาแล้ว ดูเหมือนว่านางสีดาจะไม่เป็นที่ต้องการของพระรามอีกต่อไป แต่จะเป็นด้วยเหตุผลกลใดนั้น ก็ยังมิอาจยืนยันได้ สาเหตุอาจจะเป็นเพราะ พระรามหมดรักหมดเยื่อใยต่อนางสีดา หรือเป็นเพราะเกิดความรังเกียจว่านางสีดาเคยต้องมือชายอื่น หรือจะด้วยเหตุผลที่ว่า นางสีดาหมดผลประโยชน์ในทางการเมืองแล้ว ทั้งหลายทั้งปวงนั้น ก็เป็นเหตุที่อาจคาดเดาไปได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ แม้ว่านางสีดาจะเคยลุยไฟพิสูจน์ความบริสุทธิ์มาแล้ว แต่นางก็ยังถูกพระรามเนรเทศออกจากกรุงอโยธยาอยู่ดี และหลายปีหลังจากนั้น พระรามก็เรียกนางสีดาเข้าเมืองมา “เพื่อแสดงความบริสุทธิ์” ต่อหน้าผู้คนทั้งปวง ขอให้สังเกตนะครับว่า พระรามยืนยันอย่างหนักแน่นทีเดียวว่า นางสีดาจะต้องแสดงความบริสุทธิ์ของตนต่อหน้าผู้อื่นเท่านั้น ฉนั้น ถ้าเราจะลอกเอาสิ่งที่เป็น “กาก” หรือ “เปลือก” ออกไปให้หมด เราก็จะเข้าใจในทันทีว่า ที่แท้แล้ว พระรามกำลังพยายามบีบบังคับให้นางสีดา “ฆ่าตัวตาย” เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์นั่นเอง ซึ่งเมื่อพิจารณาตามเนื้อความที่ปรากฏแล้ว ก็ย่อมหมายความว่า การที่นางสีดาจะสามารถแสดงความบริสุทธิ์ของตนเองได้นั้น มีอยู่เพียงหนทางเดียวนั่นคือ นางสีดาจะต้องยอมที่จะถูก “ฝังทั้งเป็น” นั่นจึงหมายความว่า นิยายปรำปราเรื่อง “บัลลังก์ผุดขึ้นมาจากใต้ดิน” โดยมีนางเทวีวสุนทรา มารับนางสีดาลงไปโลกบาดาลนั้น เป็นเพียงการเสกสรรปั้นเรื่องของพวกฤษีชีพราหมณ์ผู้จดคัมภีร์ เพื่อกลบเกลื่อน “คดีฆาตกรรมนางสีดา” เท่านั้นเอง !!!!