วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552

กะทิสอนธรรม

หนังสือเรื่อง “กะทิ สอนธรรม” นี้ มีความหมายโดยนัยว่า เป็นหนังสือ “ธรรมะ” อันเกี่ยวเนื่อง หรือมีความเกี่ยวข้องกับ “หมา(กะทิ)” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งตามหลักฐานในพระไตรปิฎกนั้น ปรากฏว่า ในหลายบทหลายตอนมี “หมา” เป็นตัวละครที่สำคัญ และในหลายๆครั้ง “หมา” ก็ได้กลายเป็นตัวอย่าง ที่พระพุทธองค์ทรงใช้ ตรัสสอนในเชิงอุปมาอุปไมย ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า “หมา” ก็มีบทบาทที่สำคัญ ในการเผยแ ผ่พระธรรมวินัย อย่างไม่น้อยหน้าใครๆเช่นกัน เชื่อว่า หลายๆท่านย่อมคุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมะ” เป็นอย่างดี และเชื่อได้ว่า ท่านทั้งหลาย ก็น่าจะคุ้นเคยกับ “หมา” เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน แต่หนังสือเล่มนี้ จะพาท่านไปพบกับสิ่งที่ท่านคุ้นเคยทั้งสองอย่างนี้ ในแง่มุมใหม่ๆ ซึ่งท่านอาจจะยังไม่เคยมองมาก่อนก็ได้

คำนำ

หนังสือเรื่อง “กะทิ สอนธรรม” นี้ มีความหมายโดยนัยว่า เป็นหนังสือ “ธรรมะ” อันเกี่ยวเนื่อง หรือมีความเกี่ยวข้องกับ “หมา(กะทิ)” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งตามหลักฐานในพระไตรปิฎกนั้น ปรากฏว่า ในหลายบทหลายตอนมี “หมา” เป็นตัวละครที่สำคัญ และในหลายๆครั้ง “หมา” ก็ได้กลายเป็นตัวอย่าง ที่พระพุทธองค์ทรงใช้ ตรัสสอนในเชิงอุปมาอุปไมย ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า “หมา” ก็มีบทบาทที่สำคัญ ในการเผยแ ผ่พระธรรมวินัย อย่างไม่น้อยหน้าใครๆเช่นกัน ผู้เขียนเชื่อว่า หลายๆท่านย่อมคุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมะ” เป็นอย่างดี และเชื่อได้ว่า ท่านทั้งหลาย ก็น่าจะคุ้นเคยกับ “หมา” เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน แต่หนังสือเล่มนี้ จะพาท่านไปพบกับ สิ่งที่ท่านคุ้นเคยทั้งสองอย่างนี้ ในแง่มุมใหม่ๆ ซึ่งท่านอาจจะยังไม่เคยมองมาก่อนก็ได้ อย่างไรก็ดี วิธีการเขียนหนังสือเล่มนี้อาจดูเหมือนประหนึ่งว่า ผู้เขียนกำลังตั้งกระทู้ในการเล่นเว็บบอร์ดอยู่ ดังนั้น วิธีการนำเสนอประเด็น การแตกประเด็นต่างๆ รวมถึงวิธีการนำเสนอข็อมูลหลักฐานต่างๆ จึงอาจจะไม่เหมือนหนังสือทั่วๆไปที่คุ้นเคยกัน เพราะผู้เขียนถือว่าตนเอง เป็นแค่เพียงเพื่อนร่วมสนทนาของผู้อ่านเท่านั้น มิได้คิดว่าเป็นผู้ทรงความรู้ ที่จะมาตั้งตนเป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนใครๆ ซึ่งนั่นก็ย่อมหมายความว่า ท่านผู้อ่านจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเชื่อตามความคิดเห็นของผู้เขียนเสมอไป ผู้อ่านย่อมมีสิทธิ อย่างเต็มที่ในการ คัดค้าน โต้แย้ง หรือแสดงความไม่เห็นด้วย ต่อความความคิดเห็นของผู้เขียนได้อย่างอิสระเสรี สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือ “กะทิ สอนธรรม” เล่มนี้ จะสามารถอำนวยประโยชน์ให้แก่ท่านผู้อ่าน ได้ตามสมควร

Ritti Janson

************************************

ตาเฒ่า “ชูชก” ร้องขอ ความเป็นธรรม (?)

ข้อความจาก มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์ชูชก(ความวัดสังกระจาย) มีดังนี้คือ“ทีนี้จะกล่าวถึงพราหมณ์พฤฒาทลิทยากยิ่งยาจก อันจะได้ไปยอยกซึ่งพระทานธุระ อันพระองค์เริศร้างละฝั่งใว้นี่ช้านาน เอโกพฺราหฺมโณ ยังมีทลิททาจารย์พราหมณ์ผู้เฒ่า อันบังเกิดแต่ตระกูลล้วนเหล่ายัญญหุตภุชงค์ สืบสันดานสัมพันธพงศ์โภวาทิกชาติ เฒ่ามีสันนิวาสเคหฐาน อยู่ในคามเขตละแวกบ้านทุนวิฐ ติดเนื่องกับเมืองกลิงคราชบุรี ทชีตาแกเป็นคนจนอัปรีย์ไร้ญาติยิ่งสถุล ทุคตะแค้นเคืองขุ่นข้องเข็ญใจ ภิกฺขาจริยาย ตาแกก็เที่ยวภิกขาจารไปปานด้วยเพศสกปรก เปรียบด้วยวณิพกยาจกจัณฑาล เฒ่าค่อยประสมประสานทรัพย์ใว้ทีละน้อย กหาปณสตํ สภิตฺวา ได้ทองถึงร้อยกษาปณ์เป็นลาภตามเข็ญใจ ครั้นจะเอาใว้กับตัวก็กลัวภัยคิดไปเห็นรวนเร เอกสมึ พฺราหฺมณกุเล ตาแกจึงรีบเร็วระรี่เร่อ ไปหาสกุลเกลอแห่งหนึ่ง อันเป็นที่ชอบพึงพอจะใว้ใจกันมาแต่ก่อน ทชีก็ปรับทุกร้อนทางจะอวดมีว่า ออเจ้าเอ๋ยออเจ้า เราค่อยมั่งคั่งขึ้นถึงเพียงนี้มีเสียกว่าออเจ้า แต่ว่าตัวเรานี้แก่เฒ่าเที่ยวไปค้างคืน เกลือกว่าค่ำมืดดึกดื่นพอหลับไหล ปะอ้ายคนจนโจรจัญไรเข้าแก้พก มันก็จะย่องหยิบยกยักเอาไปได้ ก็จะแคบเข็ญใจจนไม่พอที่จะยาก ฐเปตฺวา เฒ่าก็เฝ้าฝากพร่ำแล้วพร่ำเล่า ว่าเรามิให้ท่านเฝ้าเปล่าป่วยการ แล้วเถิดเราจะทดแทนคุณท่านให้ถึงใจเมื่อภายหลัง ปุน ธนํ ปริเยสนตฺถาย คโต เฒ่าโลโภตาแกโลภลาภไม่หยุดหย่อน ก็เที่ยวภิกขาจารกระเจิงจรไปจนจบ ครบคามเขตน้อยใหญ่ ด้วยว่ามันจักใคร่ใด้ให้จงหนักหนา ด้วยโลภเจตนานั้นแล ...... ฯลฯ”

ภิกขาจารไปปานด้วยเพศสกปรก (?)

ในประเด็นนี้ คงต้องขออนุญาติกล่าวด้วยความเคารพนะครับว่า ดูจะเป็นการแสดงให้เห็นภาพของตาเฒ่าชูชก อย่างไม่ถูกต้องเป็นธรรมนัก และไม่ว่าจะเป็นการกล่าวด้วยเจตนาหรือจะเกิดจากกลอนพาไปก็ตาม แต่การที่ไปวินิจฉัยว่า การดำรงชีพด้วยการภิกขาจาร(ขอทาน)ของเฒ่าชูชก เป็นการกระทำที่ “ต่ำ” หรือเป็นอาชีพ “ชั้นต่ำ” นั้นเป็นความเข้าใจที่ผิดโดยสิ้นเชิง หรืออย่างน้อยก็เป็นการวินิจฉัยด้วยมุมมองแบบชาวบ้านผู้ครองเรือนโดยทั่วไป ที่มองว่า “อาชีพขอทาน” นั้นเป็นอาชีพชั้นต่ำ เป็นการประกอบการงานที่ “น่ารังเกียจ” แต่แท้ที่จริง ตามหลักการที่ถูกต้องแล้ว การเป็นพราหมณ์ที่ดี จะต้องยังชีพด้วยการขอทานเท่านั้น ซึ่งต่อให้พราหมณ์ผู้นั้น มีฐานะร่ำรวย มีทรัพย์สมบัติมากมายปานใดก็ตาม ถ้าหากเขายังคิดจะเป็นพราหมณ์ที่ดีแล้วล่ะก็ เขาจะต้องยังชีพ ด้วยการออกภิกขาจารอยู่นั่นเอง นั่นหมายความว่า การที่ตาเฒ่าชูชก เที่ยวออกภิกขาจารนั้น นับว่าเขาได้กระทำ “กิจ” ตามหลักการที่ถูกต้องของการเป็นพราหมณ์ที่ดีแล้ว หาใช่เป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจแต่อย่างใดไม่ แต่ในทางกลับกัน ถ้าพราหมณ์ผู้ใด ไม่อาจยังชีพด้วยการ “ขอทาน” แต่กลับหันไปประกอบอาชีพอื่นๆ นั่นย่อมนับว่า เขาผู้นั้น มิใช่พราหมณ์ที่ดีอีกต่อไป ที่สำคัญก็คือ มีหลักการอยู่ว่า ถ้าพราหมณ์ผู้ใด ดำรงชีพด้วยการประกอบอาชีพของคนวรรณะอื่น ติดต่อกันถึง 7 ชั่วคน พราหมณ์ก็จะกลายเป็นคนของวรรณะนั้นทันที ตัวอย่างเช่น ถ้ามีพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง ยังชีพด้วยการเป็นคนรับใช้ของผู้อื่น (ซึ่งเป็นงานของพวกวรรณะศูทร) ติดต่อกันถึง 7 ชั่วคนแล้วล่ะก็ พราหมณ์นั้น ก็จะกลายเป็นคนในวรรณะศูทร มิได้เป็นคนในวรรณะพราหมณ์ อีกต่อไป !!!!

ที่สำคัญเหนืออื่นใดก็คือ พุทธศาสนิกชน อาจหลงลืมไปว่า แท้ที่จริงแล้ว พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเองก็เป็นผู้ที่ต้องยังชีพด้วยการ “ขอทาน” เหมือนกัน ก็คำว่า “ภิกษุ” หรือ “ภิกขุ” นั้นหมายถึง ผู้ที่ยังชีพด้วยการ “ภิกขาจาร” ซึ่งก็คือการ “ขอทาน” นั่นเอง และนี่ก็เป็นพุทธบัญญัติเสียด้วย หมายความว่า พระพุทธเจ้ามิทรงอนุญาติให้พระสงฆ์ประกอบอาชีพอื่นใดทั้งสิ้น แต่อนุญาติให้สามารถยังชีพได้ด้วยการ “ขอทาน” ชาวบ้านเขากินเท่านั้น ดังปรากฏอยู่ใน พระวินัยปิฎกดังนี้ว่า

“(พระพุทธองค์) รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ให้อุปสมบท บอกนิสสัย ๔ ว่าดังนี้นิสสัย ๔
1. บรรพชาอาศัยโภชนะคือคำข้าวอันหาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภ คือ ภัตถวายสงฆ์ ภัตเฉพาะสงฆ์ การนิมนต์ ภัตถวายตามสลากภัตถวายในปักษ์ ภัตถวายในวันอุโบสถ์ ภัตถวายในวันปาฏิบท.
2. บรรพชาอาศัยบังสุกุลจีวร เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภคือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าเจือกัน. (เช่นผ้าด้ายแกมไหม)
3. บรรพชา อาศัยโคนไม้เป็นเสนาสนะ เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิตอดิเรกลาภ คือ วิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น ถ้ำ.
4. บรรพชาอาศัยมูตรเน่าเป็นยา เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภคือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย.”

โดยอรรถกถาจารย์ อธิบายคำว่า “ภิกษุ” เอาใว้ดังนี้ “ ผู้ใดย่อมขอ เหตุนั้น ผู้นั้น ชื่อว่า ผู้ขอ. อธิบายว่า จะได้ก็ตาม ไม่ได้ก็ตาม ย่อมขอด้วยวิธีขออย่างประเสริฐ. ชื่อว่าผู้อาศัยการเที่ยวขอ เพราะเป็นผู้อาศัยการเที่ยวขอ ที่พระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงอาศัยแล้ว. จริงอยู่ บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งละกองโภคะน้อยหรือมาก ออกจากเรือนบวชไม่มีเรือน, บุคคลผู้นั้น ชื่อว่าอาศัยการเที่ยวขอ เพราะละการเลี้ยงชีวิตโดยกสิกรรม และโครักขกรรมเป็นต้นเสีย ยอมรับถือเพศนั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุ.อีกอย่างหนึ่ง แม้ฉันภัตในหาบอยู่ ในท่ามกลางวิหาร ก็ชื่อว่าอาศัย การเที่ยวขอ เพราะมีความเป็นอยู่เนื่องด้วยผู้อื่น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุ.อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอาศัยการเที่ยวขอ เพราะเป็นผู้เกิดอุตสาหะในบรรพชา อาศัยโภชนะ คือคำข้าวอันหาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุ”

เป็นอันว่า นับแต่นี้เราก็สามารถที่จะเข้าใจได้ตรงกันเสียทีนะครับว่า การที่ตาเฒ่าชูชก ยังชีพด้วยการขอทานนั้น มิได้เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ หรือน่าอับอาย แต่อย่างใดเลย แต่นั่นกลับเป็นการแสดงให้เห็นว่า ชูชก ได้ปฏิบัติตนอย่างเข้มงวดต่อหลักการเป็นพราหมณ์ที่ดี เฉกเช่นเดียวกันกับที่ พระสงฆ์ จะเป็นพระภิกษุที่ดีได้ ก็ต้องยังชีพด้วยการ ภิกขาจาร หรือที่เราอาจคุ้นเคยในชื่อว่า “บิณฑบาต” นั่นเอง แต่กล่าวโดยสรุปแล้วก็คือ พราหมณ์ที่ดี และพระภิกษุที่ดี ต้องยังชีพด้วยการขอทานนะครับจะไปประกอบอาชีพอย่างอื่นไม่ได้ ถือว่าผิด นั่นหมายความว่า ถ้าเราเห็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ได้ลาภผลใดๆก็ตาม ในลักษณะที่มิใช่ การขอทานเพื่อยังชีพ ก็เป็นอันว่า ท่านเหล่านั้น “ประพฤติผิด” พุทธบัญญัติ อย่างแน่นอน

เปรียบด้วยวณิพกยาจกจัณฑาล (?)

คำว่า “ยาจก” นั้นหมายถึงขอทาน ส่วนคำว่า “วณิพก” นั้นหมายถึง คนขอทานโดยใช้การร้องเพลง หรือการเล่นดนตรีเข้าแลกเปลี่ยน เมื่อกล่าวสำหรับ พราหมณ์เฒ่าชูชกแล้ว ย่อมถูกต้องเฉพาะคำว่า “ยาจก” แต่ไม่ถูกต้อง ถ้าจะเรียกชูชกว่า “วณิพก” ที่ซ้ำร้ายก็คือ ตาเฒ่าชูชก ไม่มีทางที่จะเป็น “จัณฑาล” ไปได้เลย ไม่ว่าจะด้วยกรณีใดๆก็ตาม !!!!ระบบวรรณะของอินเดียนั้น มีกฏเกณท์ที่ค่อนข้างจะเข้มงวดชัดเจน แม้ว่าจะมี วรรณสังกร(การแต่งงานข้ามวรรณะ) เกิดขึ้นมาในภายหลังก็ตาม แต่วรรณสังกรนั้นก็มีกฏเกณท์ที่ชัดเจนของมันอยู่เหมือนกัน และโดยเฉพาะกับเรื่องที่เกี่ยวกับ “จัณฑาล” โดยที่ วรรณะหลักๆ มีอยู่สี่วรรณะ ดังนี้คือ
1. กษัตริย์
2. พราหมณ์
3. แพศย์
4. ศูทร

ส่วนในเรื่องของ “วรรณสังกร” ขออธิบายโดยสังเขปดังนี้ คือ

(1) ถ้าบิดาเป็น กษัตริย์ มารดาเป็น พราหมณ์ ลูกที่เกิดมาเป็น วรรณะสูตะ มารดาเป็น แพศย์ ลูกที่เกิดมาเป็น วรรณะมาหิษยะ มารดาเป็น ศูทร ลูกที่เกิดมาเป็น วรรณะอุตระ
(2) ถ้าบิดาเป็น พราหมณ์มารดาเป็น กษัตริย์ ลูกที่เกิดมาเป็น วรรณะมูรธาวติกตะ มารดาเป็น แพศย์ ลูกที่เกิดมาเป็น วรรณะอัมพัษฐะ มารดาเป็น ศูทร ลูกที่เกิดมาเป็น วรรณะนิษาทะ(ปารศวะ)
(3) ถ้าบิดาเป็น แพศย์มารดาเป็น พราหมณ์ ลูกที่เกิดมาเป็น วรรณะไวเทหกะ มารดาเป็น กษัตริย์ ลูกที่เกิดมาเป็น วรรณะมาคธะ มารดาเป็น ศูทร ลูกที่เกิดมาเป็น วรรณะกรณะ
(4) ถ้าบิดาเป็น ศูทรมารดาเป็น พราหมณ์ ลูกที่เกิดมาเป็น วรรณะ “จัณฑาล” มารดาเป็น แพศย์ ลูกที่เกิดมาเป็น วรรณะอาโยควะ มารดาเป็น กษัตริย์ ลูกที่เกิดมาเป็น วรรณะกษัตตฺฤหมายความว่า คนในสังคมอินเดีย จะเป็นคนในวรรณะจัณฑาลได้นั้น มีอยู่กรณีเดียว นั่นคือ มีมารดาเป็นนางพราหมณี และมีบิดาเป็นคนในวรรณะศูทร ซึ่งคนในวรรณะจัณฑาล จะถูกกีดกันออกจากสังคม นั่นจึงหมายความว่า ถ้าคนเหล่านี้มีลูก ลูกของเขาก็จะเป็นคนรรณะจัณฑาลอยู่นั่นเอง ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นได้เลย ฉนั้น การที่เราไประบุว่า ตาเฒ่าชูชก เป็นพวกจัณฑาล จึงเป็นการพูดที่ไม่มีความถูกต้องเลยแม้แต่น้อย จนแม้แต่จะถือว่า นี่เป็นคำบริภาษที่ใช้ในภาษาไทย ก็ยังต้องนับว่า เป็นการ “บริภาษ” ที่เกินเหตุไปอยู่ดี !!!!