วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ทำไมท่านพุทธทาส จึงกล้า …. (?)

ขออนุญาต “วิพากษ์” กรณีท่านพุทธทาสกับเขาบ้างตามสมัยนิยมของสังคมไทยซึ่งมักตื้นเขินในด้านองค์ความรู้ แต่ก็ชื่นชอบนัก กับการวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งซึ่งตนอาจรู้ไปไม่ถึงด้วยเหตุที่ขาดวิจารณญาณอันรอบคอบแจ่มชัด !!!!



ทำไมท่านพุทธทาสจึงกล้าวิพากษ์วิจารณ์พระไตรปิฎกโดยเฉพาะก็คือพระอภิธรรมปิฎก (?)

ท่านพุทธทาสได้ให้เหตุผลในลักษณะของสมุฏฐาน(ตามหลักฐานที่ปรากฏในกระทู้) มี ๒ ประการคือ

(๑) ใน ๕๐๐ ปีแรกจดจำพระไตรปิฎกด้วยวิธีมุขปาฐะ ย่อมอาจจะเกิดการผิดเพี้ยนตกหล่นได้

(๒) ใน ๒๐๐๐ ปีต่อมาแม้จะใช้วิธีจดจารึกเป็นหนังสือ แต่ก็อาจจะมีการสูญหายหรือเพิ่มเติมเข้ามาใหม่ได้

ด้วยเหตุ ๒ ประการนี้เอง ท่านพุทธทาสจึงกล่าวว่า “ฉะนั้นเรา(ท่านพุทธทาส)จึงกล้าวิจารณ์”

แต่สิ่งหนึ่งที่ท่านทั้งหลายควรทำความเข้าใจให้ดีก็คือ เหตุทั้ง ๒ ประการที่ท่านพุทธทาสกล่าวถึงนั้นเป็นสิ่งที่สมควรเรียกว่า “สมมุติฐาน” เท่านั้น หาใช่สิ่งที่เรียกว่า “เหตุผล” หรือ “หลักการ” แต่อย่างใดไม่

ดังนั้น ก่อนที่ท่านทั้งหลายจะวิพากษ์วิจารณ์ท่านพุทธทาสอย่างสาดเสียเทเสียนั้น จึงควรตั้งสติให้ดีและพิจารณาให้รอบคอบดังนี้ว่า ....



พระไตรปิฎก ตามความเป็นจริง



ก่อนอื่นเราควรยอมรับตามความเป็นจริงก่อนว่า ในไตรปิฎกนั้น มีส่วนที่ถูกเพิ่มเติมขึ้นมา โดยที่มิได้เป็น “ของเก่า” นับแต่สมัยปฐมสังคายนา เช่น ในส่วนของพระอภิธรรมปิฎกคือ คัมภีร์กถาวัตถุ นั้นย่อมเป็นที่แน่ชัดว่าแต่งขึ้นในสมัยตติยสังคายนา โดยท่านพระโมคคัลลีบุตรติสสะ หรือมิใช่ (?)

ไม่เพียงเท่านั้น เพราะแม้แต่พระวินัยปิฎกเองก็มีข้อความบางส่วนซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่าเป็นของเพิ่มเติมขึ้นมาในภายหลัง เช่น สัตตสติกขันธกะ(จากพระวินัยปิฎกเล่มที่ ๗) ซึ่งเป็นข้อความว่าด้วยพระอรหันต์ ๗๐๐ รูปกระทำสังคายนาครั้งที่ ๒ ทั้งนี้ย่อมไม่ต้องกล่าวถึงว่า คัมภีร์ปริวาร(พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๘)ที่ย่อมมิใช่ของเก่าอย่างแน่นอน เนื่องจากข้อความทั้งหมดในคัมภีร์นี้เป็นการย่อหัวข้อ สรุปเนื้อความ และวินิจฉัยปัญหาต่างๆจาก ภิกขุวิภังค์ ภิกขุนีวิภังค์ และขันธกะ ซึ่งเป็นของที่เกิดขึ้นและเพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง

ในส่วนของสุตตันตปิฎกนั้น เราย่อมทราบกันดีอยู่ว่า มหานิทเทส จูฬนิทเทส และ ปฏิสัมภิทามรรค นั้นเป็นภาษิตของท่านพระสารีบุตร ซึ่งไม่ทราบชัดว่ายกขึ้นสู่พระบาลีในสมัยใดแต่ไม่น่าจะใช่เมื่อสมัยปฐมสังคายนาเป็นแน่ !!!!

ที่กล่าวแสดงให้เห็นนี้ ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นเฉพาะในแง่ของหลักฐานที่แจ้งชัดว่า พระไตรปิฎกตามที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ย่อมมีส่วนที่ได้ถูกเพิ่มเติม(เนื้อหา)ขึ้นมา(มาก)พอสมควรเมื่อเทียบกับการสังคายนาครั้งที่ ๑ ที่มีท่านพระมหากัสสปะเป็นประธาน ทั้งนี้ ได้ละเว้นที่จะกล่าวถึงกรณีที่ต่างกันออกไปของพระไตรปิฎกที่รักษากันไว้ในแต่ละชนชาติ เช่น ฉบับพม่านับเอา มิลินทปัญหา เข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎกด้วย โดยที่ฝ่ายไทยของเรามิได้ถือเอาตามนั้น

เมื่อปรากฏหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ดังนี้แล้ว สมมุติฐานของท่านพุทธทาสที่กล่าวว่า “พระไตรปิฎก อาจจะมีการสูญหายหรือเพิ่มเติมเข้ามาใหม่ได้” จึงสมควรนับว่าเป็นสมมุติฐานที่สามารถรับฟังได้ หาใช่เป็นเพียงแค่การ (๑) คิดคาดคะเน อนุมาน หรือ (๒) ตรึกเอาตามอาการที่ปรากฏ ดังที่ใครบางคนพยายามกล่าวหาท่าน(พุทธทาส) เนื่องจาก หลักฐานที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกนั้นเอง ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งอยู่แล้วว่าอะไรเป็นอะไร

ดังนั้น ผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านใดก็ตามที่กล่าวโทษท่านพุทธทาสว่า นำเสนอสมมุติฐานดังกล่าวข้างต้น “โดยไม่ได้มีหลักฐานสนับสนุนแต่อย่างใด” คงจะไม่กล่าวว่า คัมภีร์กถาวัตถุ และ สัตตสติกขันธกะ เป็นของเก่า โดยที่มิได้ถูกเพิ่มเติมเข้ามาในพระไตรปิฎก ในภายหลัง(นับจากปฐมสังคายนา)กระมัง (?)



หลักในการตรวจสอบสมมุติฐาน



เมื่อกล่าวถึงสมมุติฐานของท่านพุทธทาส และหลักฐานแท้ๆจากพระไตรปิฎกแล้ว สิ่งที่ต้องอธิบายต่อไปก็คือ เราจะใช้หลักการอะไรในการพิสูจน์หรือตรวจสอบว่า ข้อความใดในพระไตรปิฎกเป็นพุทธพจน์ดั้งเดิมหรือเป็นสิ่งที่ถูกเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องใช้อ้างอิงในส่วนที่พ้นไปจากคัมภีร์ที่เราทราบได้อย่างแน่นอนอยู่แล้วว่าเป็นของใหม่ที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามา โดยไม่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆอีก อย่างเช่น คัมภีร์กถาวัตถุ และ สัตตสติกขันธกะ

หลักการเบื้องต้นในการพิจารณาว่า ธรรมเหล่าใดเป็นคำสั่งสอนของพระศาสดานั้นก็โดยอาศัยหลักการที่พระพุทธองค์ตรัสไว้แก่ท่านพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี(สังขิตตสูตร) ความว่า ....



“ดูกรโคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้ ….

(๑) เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความกำหนัด

(๒) เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นไปเพื่อประกอบสัตว์ไว้

(๓) เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส

(๔) เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก

(๕) เป็นไปเพื่อสันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อไม่สันโดษ

(๖) เป็นไปเพื่อความสงัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ

(๗) เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ไม่เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน

(๘) เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก

ดูกรโคตมี ท่านพึงทรงจำไว้โดยส่วนหนึ่งว่า นี้เป็นธรรมเป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ฯ”



แต่ยังมีหลักการอีกอย่างหนึ่งซึ่งสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายกว่า และท่านพุทธทาสก็ได้ใช้หลักการนี้นั่นเองในการวินิจฉัยว่า ถ้อยคำใดเป็นคำสั่งสอนของพระศาสดาหรือไม่ นั่นคือ การอ้างพุทธพจน์ ที่ตรัสกับท่านพระอนุราธะ ความว่า “ดูกรอนุราธะ ในกาลก่อนด้วย ในบัดนี้ด้วย เราย่อมบัญญัติทุกข์และความดับแห่งทุกข์ ฯ”(อนุราธสูตร) แปลความได้ว่า ท่านทั้งหลายในฐานะที่เป็นพุทธบริษัทย่อมสามารถพิจารณาได้โดยแยบคายในใจของตนเองว่า ถ้อยคำหรือข้อความใดๆก็ตามที่ปรากฏอยู่ในปิฎกนั้นเป็นคำสั่งสอนของพระศาสดาหรือไม่ โดยที่มิต้องอาศัย “การตรัสรู้ชอบได้ด้วยตนเอง” ตามคำเสียดสีของโมฆบุรุษบางคนแต่อย่างใดเลย หรือมิใช่ (?)



ตัวอย่างเช่น การที่ท่านพุทธทาสกล่าวว่าท่านไม่ยอมรับว่า มหาสมัยสูตร เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดานั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายจงพิจารณาข้อความทั้งหมดจากมหาสมัยสูตรเอาเองอย่างถี่ถ้วนเถิดว่า มีข้อความใดบ้างหรือไม่ ที่เนื่องกับทุกข์และความดับแห่งทุกข์ ตามที่ตรัสกับท่านพระอนุราธะว่า (พระองค์)ย่อมตรัสแต่เรื่องทุกข์และความดับแห่งทุกข์เท่านั้น !!!!



ทั้งนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายสังเกตให้ดีด้วยว่า ข้อความเริ่มต้นของมหาสมัยสูตรนั้น กล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่ามหาวัน เขตพระนครกบิลพัสดุ์ ในสักกชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ล้วนเป็นพระอรหันต์ ก็พวกเทวดาจากโลกธาตุทั้ง ๑๐ ประชุมกันมาก เพื่อทัศนาพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ ฯ” หลังจากนั้น ก็ปรากฏข้อความอธิบายเกี่ยวกับเทวดาในปริยายต่างๆ โดยไม่เกี่ยวกับเรื่องทุกข์และความดับแห่งทุกข์นั้นเลยแม้แต่น้อย ซึ่งหากท่านผู้ใดยังจะยืนยันว่าข้อความในมหาสมัยสูตรเป็นพุทธพจน์ ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะนั่นย่อมเป็นสิทธิส่วนตัวของท่านเอง(ผมไม่เกี่ยว)



หากแต่เมื่อท่านยืนยันดังนั้นแล้ว ท่านสามารถอธิบายได้หรือไม่ว่า ข้อความในมหาสมัยสูตรเกี่ยวข้องกับทุกข์และความดับแห่งทุกข์อย่างไร อีกทั้งท่านสามารถยืนยันได้หรือไม่ว่า หากแม้ในชาติหนึ่งชาติใด ท่านมีวาสนาได้พบเพียงแต่มหาสมัยสูตรนี้เพียงสูตรเดียวเท่านั้นในชีวิต ท่านจะสามารถนำข้อความจากสูตรนี้ ไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์โดยไม่เหลือ ได้หรือไม่ (?)



ซึ่งหากแม้ท่านทั้งหลายที่กำลังก่นด่าท่านพุทธทาสด้วยความเมามันอยู่นั้น กลับไม่สามารถอธิบายแจกแจงความข้อนี้ให้กระจ่างชัดได้ ก็ย่อมเป็นท่านเหล่านั้นนั่นเอง ที่ต้องตกเป็นจำเลยของผลอันสุกงอมแห่งเจตนา(คือกรรม)ในแง่ที่ว่า ท่านกำลังกล่าวตู่ใส่ร้ายพระเถระรูปหนึ่งอย่างอยุติธรรม และอย่างปราศจากความรู้ความเข้าใจในพระธรรมคำสอนอย่างทั่วถึงแท้จริง !!!!



หรือดังกรณีของ มหาสุทัสสนสูตร ซึ่งท่านพุทธทาสได้ให้ความเห็นเอาไว้ว่า “ท่านไม่ยอมรับ เนื่องจากไม่เกี่ยวกับดับทุกข์ .... เฟ้อ” เมื่อท่านทั้งหลาย ได้พิจารณาข้อความจากมหาสุทัสสนสูตรแล้ว ก็ย่อมทราบได้เองว่า แม้ข้อความในสูตรนี้จะยาวมาก แต่ข้อความส่วนใหญ่กลับเป็นเรื่องราวของ พระเจ้าจักรพรรดิมหาสุทัสสนะแห่งเมืองกุสาวดี(คือเกือบทั้งหมดของพระสูตร) โดยในท้ายที่สุดก็ได้ปรากฏคาถาของพระพุทธองค์สั้นๆเพียงว่า “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีอันเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็น ธรรมดาบังเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป การเข้าไประงับสังขารเหล่านั้นเสียได้เป็นความสุข ดังนี้ ฯ” ในกรณีเช่นนี้ ท่านพุทธทาสย่อมสามารถแยกแยะได้เองว่า ความข้อไหนเป็นพุทธพจน์ หรือมิใช่พุทธพจน์ ซึ่งนั่นก็ย่อมเป็นวิจารณญาณของท่านพุทธทาสเอง โดยที่ท่านก็มิได้บังคับบัญชาว่ากล่าวให้ผู้อื่นจะต้องเชื่อตามมติของท่านดายไป มิใช่หรือ (?)



กรณีพระอภิธรรมปิฎก



อภิธรรมปิฎกนั้น เมื่อพิจารณาในแง่ของการอ้างอิงก็ย่อมต้องถือว่าเป็นชั้นที่ ๑ คือ พระไตรปิฎก แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกด้วยกันเอง ก็ย่อมต้องถือเอา พระวินัยและพระสูตรเป็นหลัก ทั้งนี้ ท่านทั้งหลายย่อมทราบเป็นอย่างดีแล้วว่า หลักฐานในชั้นพุทธพจน์นั้นตรัสเอาไว้อย่างชัดเจนว่า อภิธรรม หมายถึง โพธิปักขิยธรรม คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ โดยที่มิได้ตรัสว่ามีความหมายอย่างอื่นอีก(กินติสูตร) หมายความว่า การกล่าวว่า อภิธัมเม หมายถึง พระอภิธรรมปิฎกนั้นเป็นมติในชั้นอรรถกถาเท่านั้น โดยในความข้อนี้ ท่านทั้งหลายจะถือความหมายตามพุทธพจน์หรือตามมติอรรถกถา นั่นก็ย่อมเป็นสิทธิโดยชอบของท่านเองอีกเช่นกัน



เพราะแม้ว่าท่านจะเชื่อถือกันว่าว่า อภิธรรมเป็นข้อความซึ่งพระพุทธองค์ตรัสกับพระพุทธมารดาเมื่อคราวประทับจำพรรษาในดาวดึงส์เทวโลก โดยอ้างข้อความจาก “อัฏฐสาลินี” ซึ่งกล่าวว่า ....



“พระสัมพุทธะพระองค์ใด มีพระทัยอันความกรุณานั้นให้อุตสาหะขึ้นด้วยดีในสัตว์ทั้งหลาย เมื่อประทับจำพรรษาในดาวดึงส์เทวโลก ในคราวที่แสดงยมกปาฏิหาริย์เสร็จแล้ว ได้ประทับนั่งบนศิลาอาสน์ ชื่อว่าบัณฑุกัมพล ณ ควงไม้ปาริชาต ทรงพระสิริโสภาคย์ ดุจพระอาทิตย์อุทัยเหนือขุนเขายุคันธร ผู้อันหมู่แห่งเทพเจ้าทั้งหมื่นจักรวาลได้มาแวดล้อมนั่งประชุมกัน สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ได้ทรงทำสันตุสสิตเทพบุตรซึ่งเคยเป็นพุทธมารดาให้เป็นประธานแก่หมู่เทพยเจ้าทั้งหลาย แล้วตรัสกถามรรค (ประพันธ์) พระอภิธรรมติดต่อกันไปตลอดพรรษากาล ด้วยเดชแห่งพระสัพพัญญุตญาณนั้น ฯ”



แต่กระนั้นก็ตาม ได้ปรากฏความในอัฏฐกถากัณฑวรรณนา กล่าวถึงที่มาของ อัฏฐกถากัณฑ์ ว่าเกิดจากการที่ท่านพระสารีบุตรไม่อาจกำหนดขยายเนื้อความใน นิกเขปกัณฑ์ ให้แก่สัทธิวิหาริกของท่านได้ ท่านจึงพาสัทธิวิหาริกนั้นไปสำนักพระศาสดา แล้วทูลถามต่อพระพุทธองค์ ครั้งนั้น พระพุทธองค์จึงตรัส อัฏฐกถากัณฑ์ ประทานแก่ภิกษุนั้น แปลความได้ว่า เอาเข้าจริงแล้ว พระอภิธรรมปิฎก ก็มิได้หมายถึง อภิธรรมที่เชื่อกันว่า พระพุทธองค์ตรัสกับพระพุทธมารดาในดาวดึงส์เทวโลกไปเสียทั้งหมด เพราะได้ปรากฏหลักฐานในชั้นอรรถกถานั้นเอง ที่กล่าวว่า พระพุทธองค์ตรัส อัฏฐกถากัณฑ์ กับสัทธิวิหาริกของท่านพระสารีบุตร(ธัมมสังคณี ประกอบไปด้วย ๑.มาติกา ๒.จิตตุปบาทกัณฑ์ ๓.รูปกัณฑ์ ๔.นิกเขปกัณฑ์ ๕.อัฏฐกถากัณฑ์)



กรณีของ อัฏฐกถากัณฑ์ ย่อมส่อแสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า มติอรรถกาจารย์นั้นแม้จะสามารถรับฟังได้ แต่เราจะเชื่อไปเสียทั้งหมดโดยปราศจากการพินิจพิเคราะห์มิได้ เพราะเพียงแค่ว่า พระพุทธองค์ตรัสอภิธรรมกับใครและที่ไหนนั้น หลักฐานในชั้นอรรถกถาก็ขัดกันเองเสียแล้ว ทั้งหมดนี้ ย่อมเป็นภาระของท่านทั้งหลายในการพิจารณาด้วยตนเองอย่างรอบคอบ หาใช่การก้มหน้าก้มตาแต่งกระทู้ก่นด่าท่านพุทธทาสอย่างคนขาดสติ หรือมิใช่ (?)



ในประเด็นที่ผมสรุปว่า อภิธรรมปิฎกมิใช่พุทธพจน์โดยตรง กล่าวคือ เป็นเพียงการนำพุทธพจน์จากพระสูตรและพระวินัยมาสรุปและจัดหมวดหมู่เสียใหม่ จึงสมควรกล่าวได้ว่าเป็นพุทธพจน์โดยปริยาย ซึ่งเพื่อความไม่ประมาทก็ควรตรวจสอบข้อความจากอภิธรรมปิฎกด้วยพระสูตรและพระวินัย ตามหลักมหาปเทส ๔ นั้น ผมได้กล่าวอธิบายเหตุผลและหลักฐานมากพอสมควรแล้วในบทความชื่อ อภิธรรม คือ โพธิปักขิยธรรม ซึ่งจะไม่ขอกล่าวซ้ำอีกในที่นี้(กรุณาไปหาอ่านเอาเอง)



ท่านพุทธทาสไม่เคารพพระไตรปิฏกเลย …. หรือ (?)



ทีนี้ก็มาถึงข้อกล่าวหาที่ว่าท่านพุทธทาสกับการ “โกย” พระไตรปิฎก ซึ่งมีใครบางคนพยายามกล่าวหาท่านพุทธทาสว่า ไม่เคารพพระไตรปิฎก โดยอ้างถึงข้อความจากหนังสือ อภิธรรมคืออะไร ของท่านพุทธทาส หน้า 15(ปรากฏในกระทู้ PANTIP_COM Y10496205 เหตุผล ที่ท่านพุทธทาส วิจารณ์ พระไตรปิฏก อรรถกถา ของเถรวาท ความคิดเห็นที่ ๒๙) ความว่า ....



“ทีนี้เรามาเปรียบเทียบกันอย่างนี้ ให้โกยอภิธรรมทิ้งให้หมด อภิธรรมที่รู้กันอยู่นั่นแหละ อภิธรรมปิฏก อภิธัมมัตถสังคหะ อภิธรรมอะไรก็ตามที่ระบุไปที่อภิธรรมเฟ้อนี้โกยทิ้งไปเสียให้หมด เราก็ไม่ขาดอะไร เพราะเรามีสุตตันตะเหลือไว้เป็นข้อปฏิบัติเพื่อพระนิพพานได้โดยเร็ว ไม่ลังเลไม่เฉื่อยชาเสียอีก ....”



ซึ่งเจ้าของความคิดเห็นนั้นได้กล่าวเพิ่มเติมต่อไปอีกว่า ….



“ไม่ว่าจะเป็นท่านพระพรหมคุณาภรณ์ หรือ อ.เสฐียรพงษ์ แม้ท่านจะกล่าวว่า ภาษาในพระอภิธรรมปิฎก ไม่ได้อยู่ในรูปพุทธดำรัส แต่ท่านก็กล่าวตรงกันว่า เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ควรศึกษา ทั้งสองท่านไม่เคยกล่าวว่าให้ตัดทอนส่วนไหนออกเลย นี่คือท่าทีที่ตรงข้ามกันกับท่านพุทธทาส ชัดเจน”



การที่บุคคลผู้นี้กล่าวว่า ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ หรือ อ.เสฐียรพงษ์ มีมติว่าอภิธรรมปิฎกมิใช่พุทธพจน์โดยตรงนั้น ก็นับว่าถูกต้องชัดเจนสมควรแก่การอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง แต่การกล่าวว่า ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ หรือ อ.เสฐียรพงษ์ ไม่เคยกล่าวว่าให้ตัดทอนส่วนไหนออกเลย ย่อมเป็นท่าทีที่ตรงข้ามกับท่านพุทธทาสอย่างชัดเจนนั้น .... อาจเป็นการสรุปเกิน(ข้อมูล) รวมไปถึงการกล่าวหาว่าท่านพุทธทาสไม่เคารพพระไตรปิฎกเลยนั้น ย่อมเป็นการกล่าวหาพระเถระด้วยข้อความอันเป็นเท็จอย่างปราศจากความละอายโดยแท้



ขอให้สังเกตให้ดีว่า ในเบื้องต้น ท่านพุทธทาสได้กล่าวว่า “ทีนี้เรามาเปรียบเทียบกันอย่างนี้ ....” ซึ่งด้วยข้อความสั้นๆเพียงเท่านั้น ข้อกล่าวหาทั้งหลายก็กลายเป็นเรื่อง โอละพ่อ ไปเสียแล้ว เนื่องจากท่านพุทธทาสก็ได้กล่าวเอาไว้ในเบื้องต้นอย่างชัดเจนแล้วนี่ครับว่า เป็นการกล่าวโดยเปรียบเทียบ และขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาอย่างรอบคอบต่อไปอีกว่า จำเพาะการเปรียบเทียบนั้น ท่านพุทธทาสหมายถึงว่า ....



หาก “โกย” .... อภิธรรมปิฎก อภิธัมมัตถสังคหะ ทิ้งไป เราก็ไม่ขาดอะไร .... ????



ประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาก็คือ การที่ท่านพุทธทาสกล่าว “เปรียบเทียบ” ว่าหากโกยอภิธรรมปิฎกทิ้งไปเราก็ไม่ขาดอะไรนั้น

(๑) คำกล่าวนี้เป็นความจริงหรือไม่ และ

(๒) การกล่าวเช่นนี้เป็นการไม่เคารพพระไตรปิฎกหรือไม่ (?)

ในแง่ของการพิจารณาข้อเท็จจริง ถ้าหากผู้กล่าวหาท่านพุทธทาสเชื่อตาม ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ และ คุณเสฐียรพงษ์ ซึ่งมีมติว่าอภิธรรมปิฎกมิใช่พุทธพจน์โดยตรง ก็ย่อมมีความหมายว่า ท่านยอมรับตามความจริงด้วยว่า แท้ที่จริงแล้ว อภิธรรมปิฎก ก็คือการนำ ปรมัตถกถา จากพระสูตรและพระวินัย มาสรุปและเรียบเรียงขึ้นใหม่นั่นเอง พูดให้ง่ายเข้าไปอีกก็คือ อภิธรรมปิฎก อาจกล่าวได้ว่าเป็นทั้ง Brief หรือ Short note และ Key ของพระสูตรและพระวินัย ซึ่งเมื่อพิจารณาตามหลักเหตุผลพื้นฐานแล้ว แม้ว่าส่วนของตำราที่เป็น Brief หรือ Short note จะขาดหายไป แต่ถ้าหากส่วนที่เป็นข้อความหลักแท้จริงอันเป็นที่มาของ Brief หรือ Short note นั้นยังอยู่ครบ ก็ย่อมเท่ากับว่า เรายังมิได้สูญเสียอะไรไปเลย หรือมิใช่ (?)



เพราะในแง่ของความเป็นจริงก็คือ ทั้ง Brief หรือ Short note หรือ Key นั้นย่อมเป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาสามารถ วิเคราะห์และสังเคราะห์ขึ้นมาได้ใหม่ทุกเมื่อ ตราบเท่าที่ยังมีข้อความหลักของหนังสือนั้นอยู่อย่างครบถ้วน ฉันใดก็ฉันนั้น หากผู้กล่าวหาท่านพุทธทาส มีความเชื่อถืออย่างสนิทใจว่า อภิธรรมปิฎกมิได้เป็นพุทธพจน์โดยตรง หากแต่เป็นเพียงการนำปรมัตถกถาจากพระสูตรและพระวินัย มาสรุปและเรียบเรียงขึ้นใหม่ นั่นก็ย่อมต้องหมายความว่า แม้อภิธรรมปิฎกขาดหายไป แต่ใจความสำคัญทั้งหมดที่เคยปรากฏอยู่ในอภิธรรมปิฎกย่อมมิได้สูญหายไปด้วย เนื่องจากข้อความเหล่านั้น ย่อมบริบูรณ์ดีอยู่ตามเดิมในพระสูตรและพระวินัยนั่นเอง .... ซึ่งความข้อนี้ท่านจะสามารถเข้าใจในเหตุและผลได้อย่างถ่องแท้หรือไม่ ก็ยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่ (?)



ดังนั้น คำอุปมาของท่านพุทธทาสที่ว่า หาก “โกย” อภิธรรมปิฎก อภิธัมมัตถสังคหะ ทิ้งไป เราก็ไม่ขาดอะไร จึงย่อมเป็นคำพูดที่บริสุทธิบริบูรณ์ด้วยเหตุและผลอย่างเต็มภาคภูมิ มิได้เป็นความเท็จเลยแม้แต่น้อย เว้นเสียแต่ว่า ผู้กล่าวหาท่านพุทธทาส จะเข้าใจไปว่า อภิธรรมปิฎก เป็นคัมภีร์ที่เกิดขึ้นมาอย่างเอกเทศ โดยที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ พระสูตรและพระวินัยเลยไม่ว่าจะโดยปริยายใดๆ ซึ่งนั่นอาจหมายรวมไปถึงการปฏิเสธมติของ ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ และ คุณเสฐียรพงษ์ ตามที่ได้อ้างกันมาตั้งแต่ต้นนั้นด้วย



ส่วนประเด็นที่กล่าวร้ายว่า การกล่าวอุปมาดังกล่าวเท่ากับเป็นการแสดงออกซึ่งความไม่เคารพพระไตรปิฎกนั้นผมก็เห็นว่า เป็นการกล่าวหาที่ไม่สมควรแก่เหตุและผล เพราะนอกจากจะเห็นได้อย่างชัดแจ้งแล้วว่า นั่นเป็นเพียงการกล่าวอุปมา อีกทั้งยังเป็นอุปมาที่สมด้วยเหตุผล และมีหลักฐานรองรับอยู่อย่างชัดแจ้ง ปราศจากข้อกังขาใด(หากจะพิจารณาความเหล่านั้นอย่างรอบคอบด้วยใจที่เป็นธรรม)



ดังนั้น การกล่าวหาว่าผู้กล่าวถ้อยคำและข้อความอันเป็นสัจจะความจริง(ท่านพุทธทาส) ว่าเป็นผู้ไม่เคารพพระไตรปิฎกนั้น จึงเป็นเพียงแค่คำกล่าวร้ายของอคติบุคคล ผู้มืดบอดด้วยสติปัญญา และไร้ซึ่งหิริโอตตัปปะ ที่หาคุณค่าใดๆมิได้ เท่านั้นเอง !!!!





เรื่องของความไม่เชื่อ



ดูเหมือนจะเกิดความสับสนเล็กน้อยในกรณีของ ความเชื่อ หรือ ความไม่เชื่อ โดยอ้างถึง ปุพพโกฏฐกสูตร และ กาลามสูตร ทั้งนี้ขออ้างถึงข้อความของคุณปล่อย(ความคิดเห็นที่ ๓๖) ซึ่งกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า



“ขออนุญาตแชร์ความเห็นนิดนึงนะครับ

-----------------------------------------------
ปุพพโกฏฐกสูตร ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าอมตะมีจริงแท้ ทางนี้เป็นทางไป เพราะฉะนั้น คนที่ยังไม่เคยไป "ควรเชื่อ" เถอะ ว่ามีจริงและไปทางนี้ จะได้ไม่พลาดอมตะ(พระสารีบุตรเข้าถึงแล้ว จึงพ้นจากขั้นเชื่อว่าจริงหรือไม่จริง คือรู้ว่าจริง)

กาลามสูตร ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า ถ้าคุณยังไม่รู้หรือยังไม่เลือกว่าจะเชื่อทางไหน ก็ระวังอย่าเชื่อง่ายจนกว่าจะรู้ด้วยตนว่าทำแล้วมีประโยชน์หรือโทษ และที่สำคัญคือ ระหว่างยังไม่รู้ ให้ถือหลักอุ่นใจไว้ ทำอย่างไม่ให้เสียประโยชน์ทั้งสองด้าน”



ขออนุญาตกล่าวเสริม คุณปล่อย ดังนี้ว่า กาลามสูตร นับเป็นขั้นที่ ๑ ส่วน ปุพพโกฏฐกสูตร ควรนับเป็นขั้นที่ ๒ ทั้งนี้ผมเห็นด้วยในประเด็นที่คุณปล่อยกล่าวว่า เราควรใช้หลักกาลามสูตรในกรณีที่เรายังไม่ทราบแน่ชัดในทางเลือกที่แตกต่างกันเหล่านั้นว่าทางใดเป็นไปเพื่อกุศล จนกว่าเราจะสามารถพิจารณาได้อย่างแยบคาย(ในใจ)แล้วว่า “ทางนั้น” เป็นไปเพื่อประโยชน์เป็นไปเพื่อกุศล เมื่อนั้นเราจึงจะ “ปลงใจเชื่อ” ซึ่งกว่าจะพัฒนามาจนถึงขั้น ปลงใจเชื่อได้อย่างสนิทใจนั้น ย่อมหมายความว่าบุคคลผู้นั้นได้ผ่านการเรียน การสอบสวน การฟัง การทรงจำ และการพิจารณาในขันธ์ ธาตุ และอายตนะฯ มาแล้วอย่างยิ่งยวด ทั้งในขั้นสุตมยปัญญาและจินตมยปัญญา ดังที่เรียกกันว่า กัลยาณปุถุชน



ซึ่งเมื่อบุคคลได้พัฒนามาจนถึงขั้นนี้แล้วย่อมมี “ความเชื่อ” ในอมตะ(คือความดับทุกข์) และอินทรีย์(คือหนทางแห่งความดับทุกข์) โดยคำว่า ชนเหล่าอื่น ในปุพพโกฏฐกสูตรนั้นหมายถึงกัลยาณมิตร หรืออาจกล่าวอีกแบบหนึ่งก็ได้ว่า ข้อความในปุพพโกฏฐกสูตร หมายถึง การเชื่อในอริยสัจ ๔ เพราะอินทรีย์ในพระสูตรนั้นย่อมหมายถึง ธรรมในโพธิปักขิยธรรม คือ ธรรมอันยิ่ง(อภิธรรม) ดังนั้น การที่ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่าท่านไม่ถึงซึ่งความเชื่อนั้นแล้ว จึงหมายความว่า ด้วยเหตุที่ท่านรู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว กระทำให้แจ้งแล้ว พิจารณาเห็นแล้วด้วยปัญญา (ท่าน)จึงหมดความเคลือบแคลงสงสัยในความดับทุกข์(อมตะ)และทางดับทุกข์(มรรค) คือพ้นไปจากทิฐิ(ความเชื่อ)ทั้งปวงแล้วนั่นเอง



เมื่อย้อนมาพิจารณาในกรณีของท่านพุทธทาส ย่อมจะเห็นว่า ในขั้นต้นท่านได้อ้างถึง กาลามสูตร ซึ่งเป็นหลักการขั้นต้น(๑)ในการสอบสวนพิจารณาเพื่อให้ถึงซึ่งผล คือการปลงใจเชื่อ “ข้อความในพระไตรปิฎก” แต่ครั้นเมื่อถึงขั้นตอนการพิจารณา ท่านได้อ้างพุทธพจน์ ที่ตรัสกับท่านพระอนุราธะ ความว่า “ดูกรอนุราธะ ในกาลก่อนด้วย ในบัดนี้ด้วย เราย่อมบัญญัติทุกข์และความดับแห่งทุกข์ ฯ” มาใช้เป็นหลักการในการตรวจสอบ ซึ่งก็คือการใช้หลักความเชื่อในอริยสัจ ๔ ตามแนวทางในปุพพโกฏฐกสูตรซึ่งนับเป็นขั้นที่ ๒



โดยเมื่อพิจารณาความมาจนถึงขั้นนี้แล้ว กลับยิ่งพบว่า ท่านพุทธทาสได้พิจารณาธรรมโดยสมควรแก่ธรรม ถูกต้องตรงตามหลักการและแนวทางของพระธรรมวินัยอย่างน่ายกย่อง อีกทั้งผลแห่งการพิจารณาธรรมนั้นของท่านพุทธทาส ก็มิได้ก่อให้เกิดข้อสรุปที่ผิดไปจากสัจจะความจริง อันพ้นไปจากพระธรรมวินัยซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ดีแล้วแต่อย่างใด ดังนั้น ความพยายามกล่าวร้ายต่อท่านพุทธทาสในกรณีนี้ จึงเป็นการกระทำที่อยุติธรรมต่อท่านพุทธทาสอย่างไม่สมควร อันเป็นเหตุให้(ผม)จำต้องเขียนข้อความ “แย้ง” โดยสังเขปและตามสมควรแก่การอธิบายเพื่อความยุติธรรม



ทั้งนี้ ท่านทั้งหลายย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า ข้อความที่ผมแสดงมาทั้งหมดนั้น ย่อมมีค่าเพียง “อัตตโนมติ” ของผมแต่เพียงผู้เดียว หาใช่ข้อสรุปแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น ท่านทั้งหลายจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเชื่อตาม ด้วยเหตุที่ หากมีผู้หนึ่งผู้ใดก็ตามกล่าวอ้างว่า “นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา” พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาใว้เป็นหลักการ คือ “พวกเธอไม่พึงชื่นชม ไม่พึงคัดค้าน คำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วสอบสวน ในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย”



๑) ถ้าสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรไม่ได้ เทียบเคียงในพระวินัยไม่ได้

พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้มิใช่คำของพระพุทธองค์แน่นอน และภิกษุนี้จำมาผิดแล้ว ดังนั้น พวกเธอพึง ทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย

๒) ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรได้ เทียบเคียงในพระวินัยได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำ สั่งสอนของพระพุทธองค์แน่นอน และภิกษุนี้จำมาถูกต้องแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหาปเทสนี้ไว้



ผมอาจมิได้กล่าวอธิบายครบทุกประเด็น หรือในบางประเด็นก็กล่าวอย่างย่นย่อเกินไป นั่นย่อมนับได้ว่าเป็นความบกพร่องของผมเอง หาได้เกี่ยวกับพุทธพจน์แต่อย่างใดไม่ อีกทั้งต้องสารภาพตามตรงว่า ผมมิได้เป็นศิษย์ของท่านพุทธทาส จึงมิได้มีหน้าที่ต้องมาแก้ต่างให้กับท่าน และยังเห็นอีกด้วยว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องแก้ต่างให้กับท่าน เพราะท่านพุทธทาสย่อมมิได้มาเดือดร้อนอะไรกับเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว หากแต่การกล่าวอธิบายในครั้งนี้ ผมย่อมถือเอาผลประโยชน์ของผู้กล่าวร้ายต่อท่านพุทธทาสนั้นเองเป็นที่ตั้ง ด้วยความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บรรดานักโจมตีท่านพุทธทาสนั้น จะได้สามารถพัฒนาตนให้เป็นผู้ซึ่งประกอบไปด้วยสติและปัญญาอย่างบริบูรณ์ ด้วยการเรียน การสอบสวน การฟัง การทรงจำ และการพิจารณาในขันธ์ ธาตุ และอายตนะฯ มาแล้วอย่างยิ่งยวด ทั้งในขั้นสุตมยปัญญาและจินตมยปัญญา อันจะเป็นบาทฐานที่สำคัญในการโต้แย้งท่านพุทธทาสได้อย่างสมเหตุสมผล ประกอบไปด้วยวิจารณญาณและหลักฐานที่ชัดแจ้ง อย่างปราศจากอคติทั้งปวงอันอาจชักนำไปสู่ทุคติอบายโดยไม่จำเป็น จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านทั้งหลายจะสามารถเข้าใจในความปรารถนาดีนี้ ได้ตามสมควร





Ritti Janson





http://www.oknation.net/blog/SiamBhikhunis



http://rittijanson.blogspot.com/