วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

อภิธรรม คือ โพธิปักขิยธรรม

เนื่องจากได้ทราบว่า มีการอภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวกับ อภิธรรม โดยอ้างความจาก กระทู้ “PANTIP_COM Y9915529 พุทธทาสชวนฉีกพระไตรปิฎก มุมมองของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)” ซึ่งผมเห็นว่ามีข้อขัดแย้งหลายประการที่น่าสนใจ ดังจะได้อภิปรายดังต่อไปนี้ ....

(๑) ประเด็นแรกก็คือ คำว่า อภิธรรม(ธรรมอันยิ่ง) หรือ อภิธมฺเม มีอยู่ในรูปของพุทธพจน์ หรือไม่ ?

กล่าวสำหรับประเด็นนี้ เห็นว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากปรากฏคำว่า อภิธมฺเม อยู่โดยทั่วไปทั้งในพระสูตรและพระวินัย ตัวอย่างเช่น ....

(๑.๑) ปรากฏความใน อุททานคาถา พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ ข้อ ๑๔๖ ดังนี้ว่า ….

“พระวินัยมีประโยชน์มาก คือนำมาซึ่งความสุขแก่พวกภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ข่มพวกที่มีความปรารถนาลามก ยกย่องพวกที่มีความละอายและทรงไว้ซึ่งพระศาสนา เป็นอารมณ์ของพระสัพพัญญชินเจ้า ไม่เป็นวิสัยของพวกอื่น เป็นแดนเกษม อันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ดีแล้ว ไม่มีข้อที่น่าสงสัย ภิกษุผู้ฉลาดใน ขันธกะ วินัย บริวาร และมาติกา ปฏิบัติด้วยปัญญาอันหลักแหลม ชื่อว่าผู้ทำประโยชน์อันควร ชนใดไม่รู้จักโค ชนนั้นย่อมรักษาฝูงโคไม่ได้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น เมื่อไม่รู้จักศีล ไฉนเธอจะพึงรักษาสังวรไว้ได้ เมื่อพระสุตตันตะ และ พระอภิธรรม เลอะเลือนไปก่อน แต่พระวินัยยังไม่เสื่อมสูญ พระศาสนาชื่อว่า ยังตั้งอยู่ต่อไป”

(๑.๒) ปรากฏความใน โคลิสสานิสูตร เป็นคำของท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า ....

“ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรทำความเพียรในอภิธรรม ในอภิวินัย เพราะคนผู้ถามปัญหา ในอภิธรรมและในอภิวินัย กะภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์มีอยู่ ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ถูกถามปัญหา ในอภิธรรม ในอภิวินัยแล้ว จะให้ความประสงค์ของเขาสำเร็จไม่ได้ จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านผู้นี้ถูกถามปัญหา ในอภิธรรมในอภิวินัยแล้ว ยังความประสงค์ของเขาให้สำเร็จไม่ได้ จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่าแก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ จึงควรทำความเพียร ในอภิธรรม ในอภิวินัย”

(๒) จากหลักฐานที่ปรากฏ ย่อมเป็นที่แน่ชัดว่าคำ อภิธมฺเม มีอยู่จริงทั้งในทั้งส่วนที่เป็นพระวินัยและที่เป็นพระสูตร ดังนั้น ปัญหาที่ควรพิจารณาต่อไปก็คือคำว่า อภิธมฺเม ตามที่ปรากฏอยู่นั้นมีความหมายว่าอย่างไร ?
เพื่อเป็นการป้องกันความสับสน จึงขอกล่าวย้ำอีกครั้งว่า ประเด็นในข้อที่ ๒ นี้ก็คือ อภิธมฺเม ตามที่ปรากฏอยู่ในรูปของพระวินัยและพระสูตรนั้น มีความหมายว่าอย่างไร ?
ด้วยเหตุที่ แม้จะปรากฏคำว่า อภิธมฺเม อยู่จริง แต่นั่นก็ยังมิได้เป็นหลักฐานที่แสดงว่า อภิธมฺเม จะต้องหมายถึง พระอภิธรรมปิฎก เสมอไป นอกเสียจากเราจะพบว่า มีการให้ความหมายเอาใว้ว่าอย่างนั้นจริงๆ ซึ่งในข้อที่ ๒ นี้มีเป้าหมายเพื่อจะพิสูจน์ความข้อนี้นั่นเอง ดังจะได้ปรากฏในลำดับถัดไป ....

(๒.๑) เท่าที่ได้ทำการสอบสวนพบว่า การให้ความหมายของคำว่า อภิธมฺเม ในส่วนที่เป็นพุทธพจน์นั้น ปรากฏอยู่เพียงแห่งเดียวคือใน กินติสูตร ความว่า ....

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นอันว่าพวกเธอมีความดำริในเราอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความอนุเคราะห์แสดงธรรม เพราะฉะนั้นแล ธรรมเหล่าใด อันเราแสดงแล้วแก่เธอทั้งหลายด้วยความรู้ยิ่ง คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เธอทั้งปวงพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาอยู่ในธรรมเหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อพวกเธอนั้นพร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาอยู่ จะพึงมีภิกษุผู้กล่าวต่างกันในธรรมอันยิ่ง เป็นสองรูป ฯ”

แปลความอีกทีก็คือ พระพุทธองค์ตรัสว่า อภิธรรม(ธรรมอันยิ่ง) นั้นก็คือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนั่นเอง โดยที่อรรถกถาจารย์ ได้กล่าวย้ำความข้อนี้ว่า

“พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโพธิปักขิยธรรม ๓๗ประการ มีว่าสติปัฏฐาน ๔ ดังนี้เป็นต้น ทั้งโลกิยะและโลกุตระทีเดียว บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในธรรม ๓๗ ประการนั้น. บทว่า สิยุ แปลว่า พึงเป็น บทว่า อภิธมฺเม ได้แก่ ในธรรมอันวิเศษยิ่ง. อธิบายว่า ในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการเหล่านี้”

ก่อนที่จะมีข้อสรุปใดๆออกไป ขอให้ท่านจงทำความเข้าใจให้ดีก็คือ คำว่า อภิธมฺเม หมายถึง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ นั้นเป็นข้อความในส่วนที่เรียกว่า “พุทธพจน์” มิใช่เป็น มติของอรรถกถาจารย์ และย่อมมิใช่ มติของพุทธบริษัทท่านหนึ่งท่านใดเป็นการเฉพาะเจาะจง !!!!
ทั้งนี้ ขอเรียนให้ท่านทั้งหลายทราบว่า เท่าที่ผมทำการตรวจสอบ ก็ยังไม่พบว่า พระพุทธองค์ได้เคยให้ความหมายของคำว่า อภิธมฺเม เป็นอย่างอื่นอีก ดังนั้น ถ้านักศึกษาพระพุทธศาสนาท่านใดสามารถตรวจพบข้อความดังกล่าว กรุณานำมาแสดงให้เป็นที่ประจักษ์ด้วย จักเป็นพระคุณต่อผู้ศึกษา(พระพุทธศาสนา)ทั้งหลายเป็นอย่างสูง

(๒.๒) ปัญหาที่พบว่าเป็นข้อขัดแย้งกันก็คือ ผู้ศึกษา(พระพุทธศาสนา)บางท่าน ได้นำข้อความจากหนังสือ พระไตรปิฎกวิเคราะห์ ของ คุณเสฐียรพงษ์ วรรณปก ซึ่งระบุว่า อภิธมฺเม หมายถึง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ มาแสดง โดยสรุปเป็นใจความได้ว่า พระอภิธรรมปิฏก เป็นคัมภีร์ที่ถูกเรียบเรียงขึ้นในภายหลัง มิได้เป็นพุทธพจน์โดยตรง และ พระพุทธองค์ไม่เคยตรัสถึง พระอภิธรรม(ในความหมายว่า อภิธรรมปิฎก)






แน่นอนว่า ความข้อนี้ของ คุณเสฐียรพงษ์ ย่อมมีผู้กล่าวคัดค้าน ทั้งในส่วนที่เป็นมติความคิดเห็นของตนเอง รวมไปถึงการอ้างอิง มติของพระเถระรูปอื่น ซึ่งในที่นี้คือ หนังสือ “อภิธรรมเป็นพระพุทธพจน์” โดย พระคันธสาราภิวงศ์(วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง)
แต่ก่อนอื่น ผมคงต้องขอให้ท่านทั้งหลาย ได้มีโอกาสทบทวนสติและความทรงจำเสียก่อนว่า วิธีการตรวจสอบพระธรรมวินัย ตามที่พระพุทธองค์ตรัสใว้ นั้นคืออย่างไร ?
หากมีผู้หนึ่งผู้ใดกล่าวอ้างว่า “นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา” พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาใว้เป็นหลักการ คือ “พวกเธอไม่พึงชื่นชม ไม่พึงคัดค้าน คำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วสอบสวน ในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย”
๑) ถ้าสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรไม่ได้ เทียบเคียงในพระวินัยไม่ได้
พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้มิใช่คำของพระพุทธองค์แน่นอน และภิกษุนี้จำมาผิดแล้ว ดังนั้น พวกเธอพึง ทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย
๒) ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรได้ เทียบเคียงในพระวินัยได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำ สั่งสอนของพระพุทธองค์แน่นอน และภิกษุนี้จำมาถูกต้องแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหาปเทสนี้ไว้

ขอพ่วงหลักเกณฑ์ในการจัดลำดับความสำคัญของคัมภีร์ต่างๆ ซึ่งลดหลั่นกันลงมา เป็น 4 ระดับ คือ ….
๑) สุตตะ ได้แก่ พระไตรปิฎก
๒) สุตตานุโลม ได้แก่ มหาปเทส (ยอมรับอรรถกถาด้วย)
๓) อาจริยวาท ได้แก่ อรรถกถา (พ่วงฎีกา อนุฎีกาด้วย)
๔) อัตตโนมติ ได้แก่ มติของบุคคลที่นอกจากสามข้อต้น

ทั้งนี้ ขอเตือนความทรงจำของท่านทั้งหลายเอาใว้ด้วยว่า แม้แต่อรรถกถาจารย์ ท่านยังกล่าวเป็นหลักการเอาใว้เลยทีเดียวว่า “เมื่อค้านสุตตะ ก็คือ ค้านพระพุทธเจ้า” จำเพาะถ้อยคำส่วนนี้ ต้องถือว่าเป็นท่าทีที่สำคัญยิ่งสำหรับชาวพุทธ(เถรวาท) โดยที่ผมยังคงหวังอยู่ว่า ท่านทั้งหลายซึ่งเป็นนักศึกษาพระพุทธศาสนา จะไม่คลาดเคลื่อนไปจากหลักการนี้เป็นอันขาด

(๓) เมื่อเข้าใจในหลักการและวิธีการอันถูกต้องแล้ว ก็ถึงเวลาในการพินิจพิจารณา และ วิเคราะห์หลักฐานทั้งหมดเท่าที่มี เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ถูกต้องหมดจด กันเสียที

(๓.๑) การที่หนังสือ “อภิธรรมเป็นพระพุทธพจน์” กล่าวค้านว่า .... “การยกข้อความในกินติสูตรมาอ้างแล้วปฏิเสธว่า พระอภิธรรม(อภิธมฺเม) มิใช่พระอภิธรรมปิฎก ย่อมไม่เป็นการถูกต้อง เพราะข้อความนั้นเป็นการแสดงความหมายอย่างเฉพาะเจาะจง ฯ .... มีข้อสังเกตดังนี้ว่า ผู้กล่าวคัดค้านพระอภิธรรมได้อ้างคำภีร์อรรถกถามายืนยันมติของตนว่า พระอภิธรรมมิใช่อภิธรรมปิฎก แต่กลับไม่ยอมรับข้อความในคำภีร์อรรถกถาที่กล่าวว่า พระอภิธรรมคือพระอภิธรรมปิฎก” (อ้างจาก อภิธรรมเป็นพระพุทธพจน์ หน้า ๓๑-๓๒)

ความผิดพลาดของผู้กล่าวข้อความข้างต้นมีอยู่ ๒ ประเด็นก็คือ ….
๑) การอ้างว่า ความหมายของ อภิธมฺเม ในกินติสูตรเป็นการแสดงความหมายอย่างเฉพาะเจาะจง และ
๒) การอ้างว่า ผู้กล่าวคัดค้านพระอภิธรรม ได้อ้างคำภีร์อรรถกถามายืนยันมติของตนว่า พระอภิธรรมมิใช่อภิธรรมปิฎก
ซึ่งผมเห็นว่า การกล่าวอ้างทั้ง ๒ ประเด็นนี้ ผิดไปจากข้อเท็จจริงโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ขอให้ท่านทั้งหลาย พิจารณา พุทธพจน์จาก กินติสูตร อีกครั้ง ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสเอาใว้ ดังนี้ว่า ….

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นอันว่าพวกเธอมีความดำริในเราอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความอนุเคราะห์แสดงธรรม เพราะฉะนั้นแล ธรรมเหล่าใด อันเราแสดงแล้วแก่เธอทั้งหลายด้วยความรู้ยิ่ง คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เธอทั้งปวงพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาอยู่ในธรรมเหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อพวกเธอนั้นพร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาอยู่ จะพึงมีภิกษุผู้กล่าวต่างกันในธรรมอันยิ่ง เป็นสองรูป ฯ”

จากหลักฐานที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าท่านทั้งหลาย ก็ย่อมชัดเจนอยู่แล้วว่า คำว่า อภิธมฺเม หมายถึง โพธิปักขิยธรรม ซึ่งนั่นเป็นพุทธพจน์ คือพระพุทธองค์ตรัสแจกแจงความหมายนี้ด้วยพระองค์เอง เป็นแต่อรรถกถาจารย์ ได้กล่าวยืนยันความหมายนี้อีกครั้งหนึ่ง จึงได้ปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในคำภีร์ชั้นอรรถกถา(ก็เท่านั้น)
ดังนั้น ในเบื้องต้น ทุกๆฝ่ายจะต้องยอมรับตามหลักฐานข้อเท็จจริงก่อนว่า จำเพาะความหมายของคำว่า อภิธมฺเม ในชั้นพุทธพจน์นั้น ปรากฏอยู่เพียงแห่งเดียวในกินติสูตร ว่าหมายถึง โพธิปักขิยธรรม แปลความได้ว่า การที่ คุณเสฐียรพงษ์ วรรณปก หรือ ชาวพุทธท่านใดก็ตาม กล่าวว่า อภิธมฺเม หมายถึงโพธิปักขิยธรรม นั้นจึงเป็นการกล่าวตามพุทธพจน์ มิใช่เป็น “มติ” ของท่านผู้พูด(เช่น คุณเสฐียรพงษ์) แต่อย่างใด
การที่หนังสือ “อภิธรรมเป็นพระพุทธพจน์” อ้างว่า ความหมายของ อภิธมฺเม ในกินติสูตรเป็นการแสดงความหมายอย่างเฉพาะเจาะจง จึงเป็นภาระของผู้พูดนั้นเองที่จะต้องแสดงให้เห็นว่า อภิธมฺเม มีความหมายอื่น ซึ่งเป็นความหมายโดยทั่วไป(มิใช่ความหมายอย่างเฉพาะเจาะจง)ในรูปของพุทธพจน์ ปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ ณ. ส่วนใดของพระไตรปิฎก ? เพราะถ้าหาพุทธพจน์มาอ้างอิงมิได้ นั่นก็จะเท่ากับว่า ....

๑) มติดังกล่าวจากหนังสือ “อภิธรรมเป็นพระพุทธพจน์” นั้น มีลักษณะเป็นการกล่าวตู่พุทธพจน์ เนื่องจากพยายามพูดเลียบเคียงให้ผู้อื่นเข้าใจว่า ความหมายของ อภิธมฺเม ในกินติสูตรเป็นความหมายอย่างเฉพาะเจาะจง มิใช่เป็นความหมายทั่วไป ทั้งๆที่ พุทธพจน์ซึ่งแสดงความหมายของ อภิธมฺเม โดยตรง มีอยู่ในกินติสูตรแต่เพียงแห่งเดียว ไม่อาจหาพบได้ในที่อื่น !!!!
๒) การกล่าวว่า “การยกข้อความในกินติสูตรมาอ้างแล้วปฏิเสธว่า พระอภิธรรม(อภิธมฺเม) มิใช่พระอภิธรรมปิฎก ย่อมไม่เป็นการถูกต้อง” นั้นเป็นการสรุปเกินข้อมูล(ตามความเป็นจริง) ด้วยเหตุที่ความไม่ถูกต้องนั้น ควรอยู่ที่ท่าทีการปฏิเสธพุทธพจน์จากกินติสูตร ทั้งๆที่ไม่สามารถนำพุทธพจน์จากแหล่งอื่นมาอ้างอิงได้ นอกจากการอ้างข้อความในอรรถกถา นั้นต่างหาก !!!!
ทั้งนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายจงรำลึกด้วยว่า ตามหลักของการอ้างอิงในพระพุทธศาสนาแล้ว ย่อมต้องถือว่า พุทธพจน์จากพระไตรปิฎก มีความสำคัญที่สุดเป็นอันดับ ๑ โดยมีข้อความจากอรรถกถา เป็นลำดับที่ ๒ ดังนั้น การปฏิเสธพุทธพจน์จากกินติสูตร ด้วยข้อความจากอรรถกถา แม้ว่าหลักฐานจากคำภีร์ชั้นอรรถกถา จะมีจำนวนมากมายเท่าใดก็ตาม นั่นย่อมมิใช่ท่าทีและหลักการที่ถูกต้องของชาวพุทธเถรวาทแต่อย่างใดเลย อีกทั้งท่านทั้งหลาย ไม่ควรลืมเลือนไปว่า แม้แต่อรรถกถาจารย์เอง ท่านก็ยังกล่าวเป็นมติปรากฏอยู่ดังนี้ว่า “เมื่อค้านสุตตะ ก็คือ ค้านพระพุทธเจ้า” เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ยังจะมีชาวพุทธท่านใด หาญกล้าที่จะนำมติของตนเอง หรือ จนแม้แต่มติอรรถกถาจารย์มาคัดค้าน พุทธพจน์จากกินติสูตรซึ่งระบุว่า “อภิธมฺเม หมายถึง โพธิปักขิยธรรม” ได้อีกเล่า ?

(๓.๒) ตามที่หนังสือ “อภิธรรมเป็นพระพุทธพจน์” มีการกล่าวอธิบายในประเด็นสำนวนภาษาดังต่อไปนี้ว่า ....
(๓.๒.๑) สำนวนภาษาพูด มีอยู่ใน อภิธรรมปิฎก เช่นใน สติปัฏฐานวิภังค์ และ ปุคคลบัญญัติ
(๓.๒.๒) ภาษาวิชาการแบบอภิธรรม ก็มีอยู่ใน ทั้งพระสูตรและพระวินัย
(๓.๒.๓) จากนั้นจึงสรุปเอาดื้อๆว่า การกล่าวว่า ภาษาในพระอภิธรรมปิฎก เป็นสำนวนภาษารุ่นหลัง เป็นแบบความเรียงลักษณะวิชาการ มิใช่ภาษาพูดสนทนาแบบภาษาในพระสูตรพระวินัย จึงไม่เป็นความจริง

ผมเห็นว่า ข้อสรุปจาก หนังสือ “อภิธรรมเป็นพระพุทธพจน์” ด้วยการใช้เหตุผลดังกล่าว ไม่สมเหตุผลแต่อย่างใดเลย เพราะถ้าพิจารณาในมุมที่ว่า อภิธรรมปิฎก ก็คือคำภีร์ที่สรุปความจากพระวินัยและพระสูตร พร้อมทั้งนำมาเรียบเรียงใหม่ ก็ย่อมไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดเลยที่จะพบว่า ….
๑) มีสำนวนวิชาการปรากฏอยู่ในพระวินัยและพระสูตร เพราะตามธรรมดานั้น พระพุทธองค์ย่อมตรัส สัมมติกถา(คือ กถาที่ว่าด้วย สัตว์ คน เทวดา พรหม เป็นต้น) บ้าง หรือ ตรัส ปรมัตถกถา(คือกถาที่ว่าด้วย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ขันธ์ ธาตุ อายตนะ สติปัฏฐาน เป็นต้น) บ้าง ตามความเหมาะสม ว่าขณะนั้น พระพุทธองค์ กำลังตรัสกับบุคคลประเภทไหน ดังนั้น แทนที่จะกล่าวว่า ในพระสูตรและพระวินัย ก็มีสำนวนแบบอภิธรรมอยู่นั้น ควรกล่าวเสียใหม่ว่า อภิธรรมปิฎก เป็นคำภีร์ที่เรียบเรียงขึ้นใหม่ โดยใช้พระสูตรและพระวินัยนั้นเองเป็นข้อมูลดิบ โดยตัดส่วนที่เป็น เรื่องราว ผู้คน วันเวลา และสถาน ออกไป จะไม่เป็นการสมเหตุผลมากกว่าหรือ ?
๒) การที่มี สำนวนภาษาพูด อยู่ใน อภิธรรมปิฎก เช่น ปุคคลบัญญัติ ก็ไม่เห็นแปลก ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ปุคคลบัญญัติ คือเป็นสัมมติกถา แล้วจะให้หลีกเลี่ยงภาษาพูดไปได้อย่างไร ดังนั้นเหตุผลก็เป็นเช่นเดียวกับข้อ ๑ อยู่นั่นเอง

(๓.๓) การที่ หนังสือ “อภิธรรมเป็นพระพุทธพจน์” มักพยายามอ้างข้อความจากอรรถกถาเป็นหลัก ดังนั้น ขอให้พิจารณา นาถสูตร และอรรถกถานาถสูตร ความว่า ....

“อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ใคร่ในธรรม เป็นผู้ฟังและแสดงธรรมอันเป็นที่รัก มีความปราโมทย์อย่างยิ่งในธรรมอันยิ่ง ในวินัยอันยิ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ใคร่ในธรรมเป็นผู้ฟังและแสดงธรรมอันเป็นที่รัก มีความปราโมทย์อย่างยิ่งในธรรมอันยิ่ง ในวินัยอันยิ่ง นี้เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง ฯ”

ซึ่งอรรถกถาจารย์ ก็ได้อธิบายขยายความ ปรากฏตามที่ หนังสือ “อภิธรรมเป็นพระพุทธพจน์” ได้อ้างมาแล้ว ดังนี้คือ ....

๑) ในคำว่า อภิธมฺเม อภิวินเย นี้ พึงทราบ ๔ หมวด คือ ธรรม อภิธรรม วินัย อภิวินัย. ใน ๔ หมวดนั้น ชื่อว่า ธรรม ได้แก่พระสุตตันตปิฎก ชื่อว่า อภิธรรม ได้แก่ ปกรณ์ทั้ง ๗. ชื่อว่า วินัย ได้แก่วิภังค์ทั้งสอง[ภิกขุวิภังค์ ภิกขุนีวิภังค์] ชื่อว่า อภิวินัย ได้แก่ขันธกะและบริวาร.

ที่จริง อรรถกถาจารย์ได้อธิบายความหมายอีกนัยหนึ่ง เป็นข้อความเนื่องกันอยู่ ดังนี้คือ ....

๒) อีกนัยหนึ่ง ทั้งสุตตันตปิฎก ทั้งอภิธัมมปิฎก ชื่อว่าธรรมทั้งนั้น. มรรคผล ชื่อว่า อภิธรรม วินัยปิฎกทั้งสิ้น ชื่อว่า วินัย การทำการระงับกิเลส ชื่อว่า อภิวินัย อธิบายว่า เป็นผู้มีความปราโมทย์อย่างโอฬารในธรรม อภิธรรม วินัย และอภิวินัยทั้งหมด ด้วยประการฉะนี้.

ท่านผู้เป็นนักศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งหลาย พอที่จะเห็นแนวทางในการพิจารณาไหมครับ ?

กล่าวโดยสรุป อรรถกถาจารย์ได้อธิบายคำว่า อภิธมฺเม ใน นาถสูตร ด้วยความหมาย ๒ นัยดังนี้คือ ….
นัยที่ ๑. อภิธมฺเม หมายถึง ปกรณ์ทั้ง ๗ (คืออภิธรรมปิฎก)
ธรรม หมายถึง พระสุตตันตปิฎก
วินัย หมายถึง วิภังค์ทั้งสอง[ภิกขุวิภังค์ ภิกขุนีวิภังค์]
อภิวินัย หมายถึง ขันธกะและบริวาร.
นัยที่ ๒. อภิธมฺเม หมายถึง มรรคผล
ธรรม หมายถึง พระสุตตันตปิฎก และ อภิธัมมปิฎก
วินัย หมายถึง วินัยปิฎกทั้งสิ้น
อภิวินัย หมายถึง การทำการระงับกิเลส

(๓.๔) ขอตั้งข้อสังเกต จากการอธิบายความหมายของคำว่า อภิธมฺเม โดยอรรถกถาจารย์ นัยที่ ๑ ดังนี้
อรรถกถาจารย์ได้อธิบายว่า อภิธมฺเม ตามที่ปรากฏอยู่ในนาถสูตร นั้นหมายถึง อภิธรรมปิฎก ซึ่งแน่นอนว่า ข้อความนี้ เป็นหลักฐานที่ดูเหมือนจะตรงตามความต้องการของผู้เขียนหนังสือเล่มดังกล่าว แต่สิ่งที่ผมจะชี้ชวนให้ท่านทั้งดูก็คือ ความหมายของคำว่า อภิวินัย ซึ่งอรรถกถาจารย์ กล่าวว่าหมายถึง ขันธกะและบริวาร ขออนุญาตอธิบายเพิ่มความเข้าใจดังนี้ว่า ที่กล่าวว่า วินัย หมายถึง วิภังค์ทั้งสอง(ภิกขุวิภังค์ ภิกขุนีวิภังค์) นั้นหมายถึงศีลในปาฏิโมกข์ ตรงนี้ไม่น่าสนใจอะไร แต่ที่น่าสนใจก็คือ การกล่าวว่า อภิวินัย หมายถึง ขันธกะและบริวาร เพราะการที่อรรถกถาจารย์ระบุว่า บางส่วนของอภิวินัย คือ คัมภีร์ปริวาร นั้นย่อมทำให้สามารถเข้าใจได้ว่า ส่วนหนึ่งของอภิวินัย มิใช่พุทธพจน์โดยตรง เนื่องจาก เป็นที่ทราบกันดีว่า คัมภีร์ปริวาร เป็นคัมภีร์ที่เกิดขึ้นภายหลัง โดยเป็นการย่อหัวข้อ สรุปเนื้อความ และวินิจฉัยปัญหาต่างๆจาก ภิกขุวิภังค์ ภิกขุนีวิภังค์ และขันธกะ ซึ่งเบาะแสที่พบนี้ ย่อมมีความเชื่อมโยงต่อการให้ความหมายคำว่า อภิธมฺเม อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น แทนที่ ข้อความจากอรรถกถาส่วนนี้ จะยืนยันว่า อภิธรรมปิฎก เป็นของเก่า เป็นพุทธพจน์มาแต่เดิม ผมกลับเห็นว่า ด้วยข้อเท็จจริงตามที่ทราบกันโดยทั่วไปอยู่แล้วเกี่ยวกับ คัมภีร์ปริวาร ว่าเป็นของใหม่ มิใช่ของเก่า จะทำให้สามารถเข้าใจได้ว่า อภิธมฺเม ที่ให้ความหมายว่า ปกรณ์ทั้ง ๗ (คืออภิธรรมปิฎก)นั้น ย่อมมีธรรมชาติอย่างเดียวกันกับ อภิวินัย คือ มีทั้งของเก่าและของใหม่ ปะปนกันอยู่ ขอให้ท่านทั้งหลาย หวนกลับไปพิจารณาข้อความใน โคลิสสานิสูตร ใหม่อีกสักครั้ง ดังนี้ ....

“ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรทำความเพียรในอภิธรรม ในอภิวินัย เพราะคนผู้ถามปัญหา ในอภิธรรมและในอภิวินัย กะภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์มีอยู่ ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ถูกถามปัญหา ในอภิธรรม ในอภิวินัยแล้ว จะให้ความประสงค์ของเขาสำเร็จไม่ได้ จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ท่านผู้นี้ถูกถามปัญหา ในอภิธรรมในอภิวินัยแล้ว ยังความประสงค์ของเขาให้สำเร็จไม่ได้ จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่าแก่ท่านผู้นี้ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์แต่ผู้เดียวเล่า จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ จึงควรทำความเพียร ในอภิธรรม ในอภิวินัย”

อรรถกถาของพระสูตรนี้ ก็ให้ความหมาย อภิธมฺเม ว่าหมายถึง อภิธรรมปิฎก เช่นกัน แต่จุดที่น่าสังเกตก็คือ อรรถกถาจารย์ ท่านพ่วง คำภีร์อรรถกถา เข้ามาในความหมายด้วย ปรากฏข้อความดังนี้ คือ ....

“บทว่า อภิธมฺเม อภิวินเย ควรทำความเพียรในอภิธรรมในอภิวินัยคือ ควรทำความเพียรในอภิธรรมปิฎกและในวินัยปิฎก ด้วยบาลีและด้วยอรรถกถา”

แปลความได้ว่า ในทุกครั้งที่ อรรถกถาจารย์ กล่าวว่า อภิธมฺเม หมายถึง อภิธรรมปิฎก ท่านก็จะต้องพ่วงเอา สาวกพจน์เข้าไปรวมในความหมายนั้นด้วยเสมอไม่โดยตรงก็โดยอ้อม คือ มิได้หมายถึง พระบาลี หรือ พุทธพจน์ แต่เพียงอย่างเดียวโดดๆ แต่ถ้าอธิบายว่า อภิธมฺเม หมายถึง โพธิปักขิยธรรม จะหมายถึงพระบาลีแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่พ่วงเอาสาวกพจน์เข้ามาในความหมายเด็ดขาด ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม ความข้อนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายจงสังเกตและพิจารณาดูเอาเองเถิด !!!!

(๓.๕) เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า อภิธมฺเม โดยอรรถกถาจารย์ นัยที่ ๒ ก็จะเห็นข้อเท็จจริงมากยิ่งขึ้น คือ อรรถกถาจารย์ อธิบายว่า อภิธมฺเม หมายถึง มรรคผล ถามว่า อรรถกถาจารย์เอาความหมายอันนี้มาจากไหน ? .... ขอตอบว่า ท่านก็เอามาจากที่พระพุทธองค์ตรัสความหมายของ อภิธมฺเม เอาใว้ในกินติสูตรนั่นเอง ความว่า “ธรรมเหล่าใด อันเราแสดงแล้วแก่เธอทั้งหลายด้วยความรู้ยิ่ง(อภิธมฺเม) คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ฯ” โดยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนี้ ก็คือ มรรค และ ผล(โดยปริยาย) นั่นเอง ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า อรรถกถาจารย์ ได้ให้ความหมายคำว่า อภิวินัย (นัยที่ ๒) นี้ว่า คือ การทำการระงับกิเลส อันหมายถึง สมถะและวิปัสสนา ซึ่งสอดคล้องกันดีกับการให้ความหมายคำว่า อภิธมฺเม ตามที่กล่าวมาแล้ว แปลความได้ว่า อรรถกถาจารย์นั้น แม้ท่านจะอธิบายว่า อภิธมฺเม หมายถึง อภิธรรมปิฎก(นัยที่ ๑) แต่ท่านก็มิได้ละเลยที่จะกล่าวถึงความหมายซึ่งมีที่มาจากพุทธพจน์ด้วยว่า หมายถึง มรรคผล(นัยที่ ๒) หรือก็คือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ตามที่คุณเสฐียรพงษ์ อ้างถึงนั่นเอง

ดังนั้น ผมขออนุญาติสรุปความ โดยอ้างอิงหลักฐาน ตามลำดับความสำคัญ ดังนี้คือ ....

๑) คำว่า อภิธมฺเม หรือ ธรรมอันยิ่ง ปรากฏอยู่จริง ทั้งในพระสูตรและพระวินัย ซึ่งความข้อนี้ ย่อมมิอาจมีผู้หนึ่งผู้ใดคัดค้านได้ ....จะเป็น ผม หรือ คุณเสฐียรพงษ์ หรือ ชาวพุทธท่านใด ก็ย่อมมิอาจคัดค้านได้ทั้งนั้น

๒) คำว่า อภิธมฺเม หรือ ธรรมอันยิ่ง ตามที่ปรากฏอยู่ทั้งในพระสูตรและพระวินัย นั้นมีความหมายว่า

๒.๑) ความหมายในชั้นพุทธพจน์ อภิธมฺเม หมายถึง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ นี้เป็นความหมายหลัก หรือความหมายทั่วไป มิใช่ความหมายเฉพาะเจาะจง(คือใช้ได้เฉพาะในกินติสูตร) ตามที่หนังสือ “อภิธรรมเป็นพระพุทธพจน์” กล่าวอ้างแต่อย่างใด ทั้งนี้ ขอให้ท่านทั้งหลาย พิจารณา พระบาลีจาก สุตฺต ม. อุปริปณฺณาสก (หน้าที่ ๔๒ ข้อที่ ๔๔) ซึ่งเป็นพุทธพจน์แท้ๆ และตรัสถึงความหมายของ อภิธมฺเม เอาใว้อย่างชัดเจน ดังนี้คือ ....

“เอวฺจ กิร โว ภิกฺขเว มยิ โหติ อนุกมฺปโก ภควา
หิเตสี อนุกมฺป อุปาทาย ธมฺม เทเสตีติ ตสฺมาติห ภิกฺขเว เย โว
มยา ธมฺมา อภิฺา เทสิตา เสยฺยถีท จตฺตาโร สติปฏฺานา
จตฺตโร สมฺมปฺปธานา จตฺตาโร อิทฺธิปาทา ปฺจินฺทฺริยานิ ปฺจ
พลานิ สตฺต โพชฺฌงฺคา อริโย อฏฺงฺคิโก มคฺโค ตตฺถ สพฺเพเหว
สมคฺเคหิ สมฺโมทมาเนหิ อวิวทมาเนหิ สิกฺขิตพฺพ ฯ เตสฺจ โว
ภิกฺขเว สมคฺคาน สมฺโมทมานาน อวิวทมานาน สิกฺขต สิยุ ๑ เทฺว
ภิกฺขู อภิธมฺเม นานาวาทา ฯ”

โดยอรรถกถาจารย์ ได้อธิบายศัพท์ ดังนี้ว่า ....

“พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ มีว่าสติปัฏฐาน ๔ ดังนี้เป็นต้น ทั้งโลกิยะและโลกุตระทีเดียว. บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในธรรม ๓๗ ประการนั้น. บทว่า สิยุ แปลว่า พึงเป็น. บทว่า อภิธมฺเม ได้แก่ ในธรรมอันวิเศษยิ่ง. อธิบายว่า ในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการเหล่านี้.”

สรุปความก็คือ ที่กล่าวว่า อภิธมฺเม หมายถึง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ นี้เป็นพุทธพจน์ อย่าได้เผลอเข้าใจผิดไปว่า นี่เป็นมติอรรถกถาจารย์เป็นอันขาด เพราะในกรณีนี้ อรรถกถาจารย์เพียงแต่อธิบายคำศัพท์และรูปประโยค เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจต่อพุทธพจน์ได้อย่างถูกต้องตรงธรรมเท่านั้นเอง

๒.๒) ความหมายในชั้นสาวกพจน์ คือในระดับอรรถกถา อภิธมฺเม หมายถึง (๑) อภิธรรมปิฎก (๒) มรรคผล(คือโพธิปักขิยธรรม) แปลความได้ว่า อภิธมฺเม ที่หมายถึง อภิธรรมปิฎก นั้นพบความหมายนี้ได้เฉพาะในระดับอรรถกถาเท่านั้น ไม่พบความหมายนี้ในระดับพุทธพจน์
ขอให้สังเกตว่า เมื่อใดก็ตามที่อรรถกถาจารย์ระบุว่า อภิธมฺเม หมายถึง อภิธรรมปิฎก ก็มักให้ความหมายโดยพ่วงเอาสาวกพจน์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของความหมายนี้ทุกครั้งไป นี่ย่อมเป็นเบาะแสที่ชี้ให้เห็นว่า อภิธรรมปิฎก ไม่ได้อยู่ในฐานะพระบาลี คือมิได้อยู่ในรูปของพุทธพจน์ล้วนๆ แต่มีลักษณะปะปนกันระหว่างพุทธพจน์กับสาวกพจน์

๓) การกล่าวว่า อภิธมฺเม ที่หมายถึง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เป็นความหมายเฉพาะเจาะจง นั้นจะต้องหมายความว่า ผู้พูดสามารถแสดงพุทธพจน์ที่กล่าวอธิบายความหมายของ อภิธมฺเม ว่าหมายถึงอย่างอื่น หรือ โดยนัยอื่นได้ และความหมาย(อื่น)นั้น จะต้องเป็นความหมายที่พบว่าใช้อยู่ทั่วไปโดยมาก จนอาจกล่าวได้ว่าเป็น ความหมายทั่วไป แต่ถ้าไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานในระดับพุทธพจน์ในลักษณะดังกล่าวนี้ นั่นย่อมหมายความว่า การแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการกล่าวปฏิเสธ ความหมายหลักของคำ อภิธมฺเม ที่หมายถึง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ตามที่ปรากฏหลักฐานอยู่ในพระสูตร ก็จะมีค่าเท่ากับ การปฏิเสธพระพุทธองค์ ดังที่อรรถกถาจารย์ มีมติว่า “เมื่อค้านสุตตะ ก็คือ ค้านพระพุทธเจ้า”
ความพยายามในการอ้างความหมายในระดับสาวกพจน์(จากอรรถกถา) โดยให้น้ำหนักมากกว่า พุทธพจน์(จากพระสูตร) อีกทั้งยังพยายามสื่อให้ผู้อื่นเข้าใจว่า ความหมายจากพุทธพจน์เป็นเพียง(แค่)ความหมายเฉพาะ แต่ความหมายจากอรรถกถา มีลักษณะเป็นความหมายทั่วไป ทั้งนี้ ก็เพียงเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายของตนก็คือ อภิธมฺเม ต้องหมายถึง อภิธรรมปิฎก และ อภิธรรมปิฎก เป็นพุทธพจน์ โดยที่มิได้ใส่ใจต่อหลักการขั้นพื้นฐานในการอ้างอิงคำภีร์ ซึ่งจะใช้คำภีร์ในระดับรอง ไป ขัด หรือ แย้ง คำภีร์ในระดับที่สูงกว่ามิได้ สำหรับในกรณีนี้ การถือเอาความหมายจากอรรถกถาเป็นหลักโดยถือเอาความหมายจากพุทธพจน์เป็นรองนั้น ย่อมเป็นท่าทีที่ไม่ถูกต้อง(ตามหลักการอ้างอิง) ทั้งๆที่ คำอธิบายของอรรถกถาจารย์ ก็มีทั้งส่วนที่เอามาจากพุทธพจน์(กินติสูตร) รวมไปถึงส่วนที่ขยายความออกมา คือเป็นมติของท่าน(อรรถกถาจารย์)เอง ดังนั้น จึงควรสรุปความตามหลักฐานข้อเท็จจริงว่า อภิธมฺเม ที่หมายถึง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ นั้นเป็นพุทธพจน์ แต่ อภิธมฺเม ที่หมายถึง อภิธรรมปิฎก นั้นเป็นมติอรรถกถาจารย์ จึงจะนับว่า ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด

(๔) การอ้างเรื่องสำนวนภาษาโดยหนังสือ “อภิธรรมเป็นพระพุทธพจน์” นั้นผมเห็นว่ายังไม่สมเหตุผล เนื่องจาก การอ้างว่า ....
๑) สำนวนภาษาพูด มีอยู่ใน อภิธรรมปิฎก เช่นใน สติปัฏฐานวิภังค์ และ ปุคคลบัญญัติ และ
๒) ภาษาวิชาการแบบอภิธรรม ก็มีอยู่ใน ทั้งพระสูตรและพระวินัย
นั้นสามารถใช้เป็นเหตุผลในการโต้แย้งคำกล่าวที่ว่า “ภาษาในพระอภิธรรมปิฎก เป็นสำนวนภาษารุ่นหลัง เป็นแบบความเรียงลักษณะวิชาการ มิใช่ภาษาพูดสนทนาแบบภาษาในพระสูตรพระวินัย”ได้ แต่ไม่อาจใช้เป็นเหตุผลในการสรุปว่าอภิธรรมปิฎกเป็นพุทธพจน์ได้ เพราะถ้ามองในมุมกลับ ก็จะกลายเป็นว่า เหตุผลทั้ง ๒ ข้อนั้นเอง เป็นการยอมรับว่า อภิธรรมปิฎก มีที่มาจากพระสูตรและพระวินัย คือ ….
๑) การอ้างว่า สำนวนภาษาพูด มีอยู่ใน อภิธรรมปิฎก นั้นสามารถตอบโต้ผู้กล่าวว่า “ภาษาในอภิธรรมปิฎก เป็นแบบความเรียงลักษณะวิชาการ มิใช่ภาษาพูดสนทนาแบบภาษาในพระสูตรพระวินัย” ได้ก็จริง แต่ความข้อนี้จะเป็นหลักฐานชี้ให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้ว อภิธรรมปิฎก มีพื้นฐานข้อมูลมาจาก พระสูตรและพระวินัย คือหมายความว่า อภิธรรมปิฎก มิได้เป็นคำภีร์ที่เกิดขึ้นมาอย่างเอกเทศนั่นเอง
๒) การอ้างว่า ภาษาวิชาการแบบอภิธรรม ก็มีอยู่ใน ทั้งพระสูตรและพระวินัย นั้นสามารถตอบโต้ผู้กล่าวว่า “ภาษาในพระอภิธรรมปิฎก เป็นสำนวนภาษารุ่นหลัง”ได้ แต่ที่จริงแล้ว สิ่งที่เห็นอยู่นี้ก็มิใช่ปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดอะไร เนื่องจากเป็นที่ทราบกันอยู่ว่า พุทธพจน์ที่ปรากฏอยู่ในพระสูตรและพระวินัยนั้น มีทั้งที่เป็น สัมมติกถา และ ปรมัตถกถา ดังนั้น การอ้างความข้อนี้ กลับจะกลายเป็นเหตุผลผูกมัดว่า ที่แท้แล้ว อภิธรรมปิฎก ก็คือการนำ ปรมัตถกถา จากพระสูตรและพระวินัย มาสรุปและเรียบเรียงขึ้นมาใหม่นั่นเอง
๓) จากเหตุผลดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงควรสรุปว่า อภิธรรมปิฎก มิใช่พุทธพจน์โดยตรง(นิปปริยาย) แต่อาจนับได้ว่าเป็นพุทธพจน์โดยปริยาย เนื่องจาก อภิธรรมปิฎก ก็คือการนำ ปรมัตถกถา จากพระสูตรและพระวินัย มาสรุปและเรียบเรียงขึ้นใหม่นั่นเอง ดังที่ คำภีร์ปริวารในพระวินัยปิฎก ก็มีลักษณะเป็นการย่อหัวข้อ สรุปเนื้อความ และวินิจฉัยปัญหาต่างๆจาก ภิกขุวิภังค์ ภิกขุนีวิภังค์ และขันธกะ นั่นเอง แต่ทั้งนี้ นักศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งหลาย ย่อมควรสอบสวนข้อความจาก อภิธรรมปิฎก ด้วยพระสูตรและพระวินัย เพื่อความไม่ประมาท ตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสหลักการเอาใว้แล้ว คือ มหาปเทส ๔ นั่นเอง !!!!

ข้อความส่งท้าย

บทความนี้ มิได้มีเป้าประสงค์ที่จะปกป้องท่านผู้หนึ่งผู้ใดเป็นการเฉพาะ แต่ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชนคนหนึ่งนั้น หากจะคิดถึงการปกป้องให้ได้แล้วล่ะก็ สิ่งที่ควรปกป้องมากที่สุดก็คือ พระธรรมวินัย ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า คือพระศาสดาของเราท่านทั้งหลายหลังจากพุทธปรินิพพาน(ไปแล้ว)
ในส่วนตัวของผมนั้น ย่อมไม่มีเหตุผลอันใดที่จะต้องไปโจมตี ผู้แต่งหนังสือ “อภิธรรมเป็นพระพุทธพจน์” เนื่องจากมิได้มีอคติใดๆ ทั้งต่อท่านผู้นั้น รวมไปถึงกับ “อภิธรรม” ในทุกๆความหมายนั้นด้วย หมายความว่า ผมมิได้แย้งในตัวของท่านพระคันธสาราภิวงศ์ (วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง) อีกทั้งมิได้ปฏิเสธหลักฐานที่ท่านนำมาแสดง ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานในรูปของพุทธพจน์หรืออรรถกถาก็ตาม แต่สิ่งที่ผมเห็นแย้งกับท่านก็คือ หลักการพิจารณา หรือ วิธีคิดวิเคราะห์ หลักฐานต่างๆที่มีอยู่นั้นต่างหาก(โดยที่บทความนี้ก็มิได้มีจุดประสงค์เพื่อกล่าวแก้ หนังสือ “อภิธรรมเป็นพระพุทธพจน์” ในทุกๆประเด็นแต่อย่างใดทั้งสิ้น)
แต่สิ่งที่ต้องการสื่อ(สาร)ไปถึงท่านทั้งหลายในฐานะที่เป็นชาวพุทธก็คือ ท่าทีที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการลดความสำคัญของพุทธพจน์ โดยให้ความสำคัญกับอรรถกถามากกว่า ย่อมเป็นท่าทีที่ไม่ถูกต้อง อีกทั้ง การแสดงความคิดเห็นต่อพุทธพจน์ในลักษณะที่เป็นมติส่วนตน(อัตโนมติ) โดยที่มิอาจอ้างอิงถึงพุทธพจน์ได้ ย่อมเป็นมติที่ไม่ชอบธรรมและไม่อาจยอมรับได้เช่นกัน ซึ่งผมเห็นว่า นี่เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นเรื่องของหลักการในกระบวนวิธีพิจารณาว่าสิ่งใดใช่หรือมิใช่สัตถุศาสน์(คำสอนของพระศาสดา)
ก็ด้วยเหตุที่พุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป ไม่ซื่อตรงต่อหลักการเหล่านี้นั่นเอง จึงได้ปรากฏให้เห็นจนเจนตาว่า ชาวพุทธหลายหมู่เหล่า มัวเมาเหนียวแน่นอยู่กับการอ้างอิง “สาวกพจน์” โดยละเลย “พุทธพจน์” ไปเสียสิ้น ซ้ำร้าย ในหลายๆกรณี กลับยึดถืออัตโนมติของอาจารย์ตน จนเลยเถิดไปถึงขั้นปฏิเสธพุทธพจน์ ก็มีให้เห็นอยู่ดาษดื่น ดังเช่นกรณีธรรมโกยนั้น เป็นที่ชัดเจนว่า เขาให้ความสำคัญแก่คำสอนของอาจารย์ โดยไม่ใยดีว่า คำสอนเหล่านั้น จะวิปริตผิดเพี้ยนไปจากพุทธพจน์มากเพียงใดก็ตาม หรือ ดังกรณีท่านปราโมชโชนั้น ก็มีการตั้งป้อมตอบโต้โจมตีกันอย่างขาดสติ จนเลยเถิดไปถึงขั้นปฏิเสธพุทธพจน์ ก็มีให้เห็นอยู่ .... หรือมิใช่ ?
ถ้าหากท่านทั้งหลายพิจารณากรณีท่านปราโมชโช ให้ถี่ถ้วนอีกสักหน่อย ก็จะพบว่า กระบวนการตรวจสอบคำสอนเหล่านั้น ก็มิได้ดำเนินไปตามหลักการที่พระพุทธองค์ตรัสเอาใว้เลย ดังที่มักอ้างสาวกพจน์คืออัตโนมติของหลวงปู่หลวงตาทั้งหลายเป็นหลักในการตรวจสอบ โดยมิได้ใส่ใจเลยว่า วิธีการเหล่านั้นมันไม่ถูกต้อง และแม้หากจะมีการยกพุทธพจน์ขึ้นมาอ้างอยู่บ้าง ก็มักเป็นไปอย่างกึ่งดิบกึ่งดี คือเป็นการนำพุทธพจน์มาตีความตามใจชอบโดยถือเอาทิฐิของตนเป็นที่ตั้ง อย่างขาดโยนิโสมนสิการในพุทธพจน์นั้นๆ และปราศจากความรับผิดชอบต่อพระธรรมคำสอนเป็นอย่างยิ่ง(ทั้งนี้ มิได้เกี่ยวกับว่า ท่านปราโมชโช เป็นฝ่ายถูกหรือว่าผิด)
สุดท้ายนี้ ผมขอกล่าวย้ำอีกครั้งว่า ความคิดเห็นตามที่ปรากฏในบทความนี้ หาใช่ข้อยุติแต่อย่างใดไม่ หากแต่เป็นเพียง “มติ” ส่วนตัวของผมเท่านั้น หมายความว่า ท่านทั้งหลายไม่จำเป็นต้องเชื่อตามโดยปราศจากการสอบทานกับพระสูตรและพระวินัย เฉกเช่นเดียวกับ มติของ อรรถกถาจารย์ หรือ ท่านพระคันธสาราภิวงศ์ หรือ คุณเสฐียรพงษ์ รวมไปถึง หลวงปู่หลวงตาทั้งหลาย นั้นก็ยังไม่จำเป็นต้องเชื่อตามในทันที แต่ขอให้ปฏิบัติตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาใว้ดังนี้ว่า “พวกเธอไม่พึงชื่นชม ไม่พึงคัดค้าน คำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วสอบสวน ในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย”
๑) ถ้า ลงในพระสูตรไม่ได้ เทียบเคียงในพระวินัยไม่ได้ .... พึงทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย !!!!
๒) แต่ถ้า ลงในพระสูตรได้ เทียบเคียงในพระวินัยได้ .... ย่อมแสดงว่านี้เป็นคำสอนของพระพุทธองค์

ขอให้ท่านทั้งหลายมีความสุขตามสมควร(แก่การปฏิบัติธรรม)


ฤทธี



http://www.oknation.net/blog/SiamBhikhunis

http://rittijanson.blogspot.com/