วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

แจ้งความ กรณี คำแปล .... วิญญาณํ โหติ ตทุปาทานํ โดยท่านพุทธทาส

ทุกๆ ครั้ง ที่ผมได้มีโอกาสเห็น “การแสดง ความคิดเห็น” ของนายระนาดเอกและพรรคพวก ก็ได้แต่ทอดถอนใจว่า ถ้าเรียน อภิธรรม(เฟ้อ) แล้วมันมีผลทำให้ “โง่เขลาเบาปัญญา” ถึงเพียงนี้ .... ก็เลิกเรียนมันไปเถิดครับ ทิ้งมันไปเสียให้หมด เพราะข้อเท็จจริง มันก็ได้แสดงตัวให้เป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วว่า ยิ่งเรียนยิ่งโง่ ยิ่งโตยิ่งเซ่อ หรือมิใช่ (?)

งวดนี้ นายระนาดเอก ก็ออกมาแสดงความโง่เขลา ด้วยการกล่าวในทำนองว่า ท่านพุทธทาสแปลพระบาลีผิด(อีกตามเคย) โดยพยายามจะอ้างข้อความจากหนังสือของท่านปยุตโต มากล่าวหาและเสียดสีท่านพุทธทาสว่า .... “การแปลนั้น ต้องทำอย่างซื่อตรง พยายามให้ผู้อ่านเข้าถึงข้อมูลจริงของเดิมอย่างแม่นยำชัดเจน ไม่เอาความคิดเห็นหรือข้อสรุป” (อ้างจาก PANTIP_COM Y10558961 ว่าด้วย ท่านพุทธทาส พระไตรปิฏก พระอภิธรรม)

กล่าวโดยสรุปก็คือ นายระนาดเอก แสดงความเห็น(มติ)ส่วนตัวออกมาว่า ....
(เมื่อ) “พิจารณาพระบาลีเดิม ก็ไม่มีลู่ทางให้แปลได้ว่า วิญญาณคืออุปาทาน”

อีกประเด็นหนึ่งที่จำเป็นต้องอธิบายให้ชัดเจน ก็คือ
การที่ท่านพุทธทาสอธิบายเอาไว้ใน “เชิงอรรถ” ความว่า ....

“วิญญาณในที่นี้ หมายถึง มโนวิญญาณ ที่รู้สึกต่อความเพลิดเพลินและความมัวเมาในรูปนั้น ไม่ใช่จักขุวิญญาณ ที่เห็นรูปตามธรรมดา”

โดยที่ นักอภิธรรมขี้เท่อรายนี้ เขาอ้างว่า .... “ซึ่งความตรงนี้ ท่านพุทธทาสกล่าวขัดแย้งกับคำอธิบายของอรรถกถา และที่สำคัญคือ ขัดต่อสภาวธรรม !” เราลองมาพิจารณาดูกันนะครับว่า มันจริง หรือว่าเท็จ (?) …. ขอให้ท่านทั้งหลาย พิจารณาเนื้อความทั้งหมดของ สักกสูตร และ อรรถกถา สักกสูตร ดังนี้

๕. สักกสูตร
ว่าด้วยทรงแก้ปัญหาของท้าวสักกะ
[ ๑๗๗ ] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทวดาทั้งหลาย เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ประทับอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุปัจจัยอะไรหนอ ที่เป็นเครื่องทำให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ไม่ปรินิพพานในปัจจุบัน อนึ่ง เหตุปัจจัยอะไร ที่เป็นเครื่องทำให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ปรินิพพานในปัจจุบัน.
[๑๗๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนท่านจอมเทพ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ หากภิกษุเพลิดเพลินสรรเสริญ หมกมุ่น พัวพันรูปนั้นอยู่ เมื่อเธอเพลิดเพลินสรรเสริญ หมกมุ่น พัวพันรูปนั้นอยู่ วิญญาณอันอาศัยตัณหานั้นย่อมมี อุปาทานอันอาศัยตัณหานั้นก็ย่อมมี ภิกษุยังมีอุปาทาน ยังไม่ปรินิพพาน ฯลฯ ธรรมารมณ์ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา . น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่ ชวนให้กำหนัดมีอยู่ หากภิกษุเพลิดเพลินสรรเสริญ หมกมุ่น พัวพันธรรมารมณ์นั้น เมื่อเธอเพลิดเพลินสรรเสริญ หมกมุ่น พัวพันธรรมารมณ์นั้นอยู่ วิญญาณอันอาศัยตัณหานั้นย่อมมี อุปาทานอันอาศัยตัณหานั้น. ย่อมมี ภิกษุผู้ยังมีอุปาทาน ยังไม่ปรินิพพาน ดูก่อนท่านจอมเทพเหตุปัจจัยนี้แล ที่เป็นเครื่องทำให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ไม่ปรินิพพานในปัจจุบัน.
[๑๗๙] ดูก่อนท่านจอมเทพ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ หากภิกษุไม่เพลิดเพลินไม่สรรเสริญ ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพันรูปนั้น เมื่อเธอไม่เพลิดเพลินไม่สรรเสริญ ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพันรูปนั้น วิญญาณอันอาศัยตัณหานั้นย่อมไม่มี อุปาทานอันอาศัยตัณหานั้นย่อมไม่มี ภิกษุผู้ไม่มีอุปาทาน ย่อมปรินิพพาน ฯลฯ ธรรมารมณ์ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่ ชวนให้กำหนัด
มีอยู่ หากภิกษุไม่เพลิดเพลินไม่สรรเสริญ ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพ้นธรรมารมณ์นั้น เมื่อเธอไม่เพลิดเพลินไม่สรรเสริญ ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้น วิญญาณอันอาศัยตัณหานั้นย่อมไม่มี อุปาทานอันอาศัย ตัณหานั้นย่อมไม่มี ภิกษุผู้ไม่มีอุปาทาน ย่อมปรินิพพาน ดูก่อนท่านจอมเทพ เหตุปัจจัยนี้แล ที่เป็นเครื่องทำให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ ปรินิพพานในปัจจุบัน.
จบ สักกสูตรที่ ๕

อรรถกถาสักกสูตรที่ ๕
ในสักกสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า ทิฏฺเว ธมฺเม ได้แก่ ในอัตภาพนี้เอง.
บทว่า ปรินิพฺพายนฺติ ได้แก่ ย่อมปรินิพพาน ด้วยการดับสนิทซึ่งกิเลส.
บทว่า ต นิสฺสิต วิญฺาณ โหติ ได้แก่ กรรมวิญญาณที่อาศัยตัณหา.
จบ อรรถกถาสักกสูตรที่ ๕


จากพระบาลี .... ตํ นิสฺสิตํ วิญฺาณํ โหติ ตทุปาทานํ

ท่านพุทธทาสแปลว่า
วิญญาณ อันตัณหาในอารมณ์(คือรูปฯ) อาศัยแล้วย่อมมีแก่เธอ วิญญาณนั้นคือ อุปาทาน

พระไตรปิฎกภาษาไทย แปลว่า
วิญญาณอันอาศัยตัณหานั้นย่อมมี อุปาทานอันอาศัยตัณหานั้นก็ย่อมมี

อรรถกถา อธิบายว่า
บทว่า ตํ นิสฺสิตํ วิญฺญาณํ โหติ ได้แก่ กรรมวิญญาณที่อาศัยตัณหา

ถ้าเราใช้คำแปลของอรรถกถาเป็นหลัก จำต้องแปลไทยเป็นไทยอีกที ก็จะได้ความว่า “วิญญาณที่เกิดจากการกระทำ(กรรมวิญญาณ) ซึ่งอาศัยความทะยานอยาก(ตัณหา)” ถามว่า เมื่อเทียบกับอีก ๒ สำนวนแล้วเป็นอย่างไรบ้างครับ .... อ่านแล้ว เกิดความเข้าใจ ขึ้นมาบ้างไหม (?)
ผมบอกได้เลยว่า อ่านอย่างไรก็ไม่มีทางรู้เรื่อง และที่นักอภิธรรมขี้เท่อมันทำเป็นสู่รู้วิพากษ์วิจารณ์ไปนั่นน่ะ จริงๆแล้ว มันก็ไม่รู้เรื่องหรอก .... มันก็ทำเป็นวางมาด เห่าหอนส่งเดชไปอย่างนั้นแหละ .... เชื่อสิ (หึหึหึหึ)
ถ้าอ่านพระบาลีตรงนี้ แล้วยังไม่เข้าใจ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายลองไปพิจารณา พุทธพจน์จาก อุปายสูตร (พระสูตรที่ว่าด้วย ว่าด้วยสิ่งที่เป็นความหลุดพ้นและไม่หลุดพ้น) ความว่า ....

“ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเข้าถึง ด้วยอำนาจตัณหา มานะ ทิฏฐิ เป็นความไม่หลุดพ้น ความไม่เข้าถึง เป็นความหลุดพ้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เข้าถึงรูปก็ดี เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ วิญญาณที่มีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ฯลฯ วิญญาณที่มีสังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักบัญญัติการมา การไป จุติ อุปบัติ หรือความเจริญงอกงามไพบูลย์แห่งวิญญาณ เว้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าความกำหนัดในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นอันภิกษุละได้แล้วไซร้ เพราะละความกำหนัดเสียได้ อารมณ์ย่อมขาดสูญ ที่ตั้งแห่งวิญญาณย่อมไม่มี วิญญาณอันไม่มีที่ตั้ง ไม่งอกงาม ไม่แต่งปฏิสนธิ หลุดพ้นไป เพราะหลุดพ้นไป จึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่ จึงยินดีพร้อม เพราะยินดีพร้อม จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี”

ท่านทั้งหลายจะเห็นว่า ใจความจากพุทธพจน์นี้ ย่อมทำให้เราสามารถทราบถึงกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาทได้อย่างแจ่มชัดขึ้น กล่าวคือ หากละ “ตัณหา” เสียได้ “อารมณ์” ย่อมขาดสูญ เพราะที่ตั้งแห่งวิญญาณ ที่เกิดจากการกระทำซึ่งอาศัยตัณหา ย่อมไม่มี !!!!
แปลความได้ว่า ในขั้นแรก จาก รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ .... ตรงนี้เป็น จักขุวิญญาณ จริงครับ หากแต่ถ้า ละ “ตัณหา” ไปเสียได้ “อารมณ์” (ในกรณีนี้หมายถึงรูป) ก็ย่อมขาดสูญ จักขุวิญญาณดับไป ไม่มีการสืบต่อ แต่ถ้าเป็นไปในทางตรงข้าม ความประชุมของ รูป+จักษุ+จักขุวิญญาณ ย่อมเกิดเป็น ผัสสะ .... >>> เวทนา .... >>> ตัณหา ซึ่งเป็นความเกิดแห่งทุกข์ ดังนี้ ....

“พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์เป็นไฉน. เพราะอาศัยจักษุและรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ ความประชุมแห่งธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เพราะอาศัยหูและเสียง . . . เพราะอาศัยจมูก และกลิ่น . . . เพราะอาศัยลิ้นและรส . . . เพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพะ เพราะอาศัยใจและธรรม จึงเกิดมโนวิญญาณ ความประชุมแห่งธรรม ๓
ประการเป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์”(อ้างจาก ทุกขนิโรธสูตร)

แต่สิ่งที่ท่านทั้งหลายจำต้องทำความเข้าใจให้ดีก็คือ ในขณะ ผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา และ เวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา นั้น ที่แท้มันมีรายละเอียดซับซ้อนกว่าที่เห็นจากตำราตามที่ท่องจำกันมาว่า ปฏิจจสมุปบาท มี ๑๒ อาการ นะจ๊ะ ....

“เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ฯ”

ทั้งนี้เพราะถ้าเราเอาแต่ท่องตามตำราเท่าที่เห็นกันอยู่โดยทั่วไป ก็อาจทำให้เข้าใจผิดไปได้ว่า “กรรมวิญญาณที่อาศัยตัณหา” ในกรณีของ “รูป ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ” จาก สักกสูตร นั้นหมายถึง จักขุวิญญาณ มิใช่ มโนวิญญาณ (ตามคำของท่านพุทธทาส)
แต่ถ้าหากท่านทั้งหลาย ได้มีโอกาสพิจารณาพุทธพจน์จาก สฬายตนวิภังคสูตร ก็จะได้ความว่า ในขั้นตอน “เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา” นั้นมิได้เกิดขึ้นลอยๆ และก็มิได้มีเพียงขั้นตอนเดียว ดังที่เห็นอยู่และท่องจำกันอย่างผิวเผินเหมือนพวกนักอภิธรรม(เฟ้อ)ทั้งหลาย หากแต่ ปฏิจจสมุปบาท กลับมีความซับซ้อนลุ่มลึกยิ่งกว่านั้น ดังที่ พุทธพจน์ ตรัสว่า เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา ก็มิได้หมายความว่า ในขั้นตอนนี้ มีแต่เพียง ผัสสะ และ เวทนา เท่านั้น เพราะในความเป็นจริงกลับปรากฏว่า การที่จะเกิดเวทนาขึ้นมาได้นั้น ย่อมต้องอาศัย “มโนปวิจาร” เป็นเหตุปัจจัยร่วม (โดย)เป็นที่ตั้งแห่ง เวทนา ดังนี้

“ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบความนึกหน่วงของใจ ๑๘ นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว คือ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ ใจย่อมนึกหน่วงรูปเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส นึกหน่วงรูปเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส นึกหน่วงรูปเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา.
เพราะฟังเสียงด้วยโสต...
เพราะดมกลิ่นด้วยฆานะ...
เพราะลิ้มรสด้วยชิวหา...
เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย...
เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโน ใจย่อมนึกหน่วงธรรมารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส นึกหน่วงธรรมารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส นึกหน่วงธรรมารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา. ฉะนั้น เป็นความนึกหน่วงฝ่ายโสมนัส ๖ ฝ่ายโทมนัส ๖ ฝ่ายอุเบกขา ๖. ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบความนึกหน่วงของใจ ๑๘ นั้น เราอาศัยความนึกหน่วงนี้ กล่าวแล้ว” (สฬายตนวิภังคสูตร)

หากท่านทั้งหลายยังระลึกได้ ย่อมไม่ลืมว่า เมื่อแรกเริ่มนั้น “จักขุวิญญาณ” พร้อมทั้ง รูป และ จักษุ เป็นเหตุปัจจัยให้เกิด ผัสสะ จากนั้นมีคำอธิบายว่า เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา ขอให้ท่านทั้งหลายจงสังเกตให้ดีๆที่เดียวว่า เวทนาในขั้นตอนนี้ เป็นเพียงแค่เวทนาทางกาย อันเนื่องมาจาก “จักขุวิญญาณ” ที่ประกอบกับ รูปและจักษุ(เกิดเป็นผัสสะ) แต่หากบุคคลผู้เห็นรูปนั้นเป็นพระอรหันต์ กระบวนการของปฏิจจสมุปบาท จะจบวงจรแต่เพียงเท่านั้น ไม่มีการสืบต่อ สมดังพุทธพจน์จาก อุปายสูตร ความว่า “ถ้าความกำหนัดในรูปธาตุ เป็นอันภิกษุละได้แล้วไซร้ เพราะละความกำหนัดเสียได้ อารมณ์ย่อมขาดสูญ ที่ตั้งแห่งวิญญาณย่อมไม่มี ฯ” กรณีอย่างนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า พระอรหันต์นั้น มีแต่เพียงเวทนาทางกาย แต่ไม่มีเวทนาทางใจ
แต่ในกรณีของปุถุชนทั่วไป วงจรปฏิจจสมุปบาท มิได้ขาดตอนลงเพียงเท่านี้ เพราะด้วยความนึกหน่วงในอารมณ์(คือรูปในกรณีนี้) ย่อมเป็นที่ตั้งแห่ง เวทนา(ทางใจ) ซึ่งถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว ย่อมเห็นได้อย่างชัดเจนว่า มโนปวิจาร(ความนึกหน่วง) นี้ย่อมมิใช่ จักขุวิญญาณ ซึ่งเป็นความรับรู้ทางกาย หากแต่เป็น มโนวิญญาณ คือความรับรู้ทางใจ นั้นต่างหาก และเมื่อพิจารณาพุทธพจน์จาก สักกสูตร ที่ตรัสว่า ....

(๑) รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก อาศัยความใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ หากภิกษุเพลิดเพลินสรรเสริญ หมกมุ่น พัวพันรูปนั้นอยู่ เมื่อเธอเพลิดเพลินสรรเสริญ หมกมุ่น พัวพันรูปนั้นอยู่
(๒) วิญญาณอันอาศัยตัณหานั้นย่อมมี อุปาทานอันอาศัยตัณหานั้นก็ย่อมมี

ขอให้ท่านทั้งหลายจงพิจารณาให้ดีว่า ความในข้อที่ ๑ นั้น กินใจความทั้งเวทนาทางกายและทางใจเอาไว้พร้อมแล้ว ซึ่งถ้าเป็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาทอย่างผิวเผิน ก็ย่อมไม่ทราบความข้อนี้ อันอาจนำมาสู่การ กล่าววาจาจาบจ้วงพระมหาเถระ(ท่านพุทธทาส) อย่างโง่เขลาและไม่สมควร
ทั้งนี้ เวทนาทางกายอันเนื่องมาจาก จักขุวิญญาณ นั้นย่อมดับไปแล้วเสียแต่แรก ถ้าเป็นกรณีของพระอรหันต์ ก็ย่อมไม่มีการสืบต่อ เนื่องจากขาด ความกำหนัดเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ แต่ในกรณีของปุถุชน ย่อมมี มโนปวิจาร เป็นเหตุปัจจัยเพิ่มเข้ามา ซึ่งการกระทำทางใจ(กรรมวิญญาณ) โดยการนึกหน่วงอารมณ์คือรูป(ในกรณีนี้) ย่อมเป็นที่ตั้งแห่ง เวทนา(ทางใจ) และ เวทนา อันนี้ต่างหาก ที่เป็นเหตุปัจจัยแก่ “ตัณหา” ตัวจริงเสียงจริง อันจะก่อให้เกิด อุปทาน ภพ ชาติ ฯลฯ
ดังนั้น พุทธพจน์ จากสักกสูตร ข้อ ๒ ที่แปลไว้ว่า “วิญญาณอันอาศัยตัณหานั้นย่อมมี อุปาทานอันอาศัยตัณหานั้นก็ย่อมมี” (พระไตรปิฎกแปลไทย) นั้นแปลถูกเพียงแค่ครึ่งเดียวในความข้อหลังที่ว่า อุปาทานอันอาศัยตัณหา(ก็ย่อมมี) แต่การแปลพุทธพจน์จาก สักกสูตร ความว่า วิญญาณอันอาศัยตัณหานั้น(ย่อมมี) ตรงนี้ยังแปลไม่ครบถ้วนนัก เพราะพุทธพจน์จาก สฬายตนวิภังคสูตรได้อธิบายเอาไว้ชัดเจนทีเดียวถึง มโนปวิจาร อันเป็นเหตุปัจจัยของ เวทนา(ทางใจ)
แต่รูป อันเป็นอารมณ์ของ มโนปวิจาร นี้ย่อมตั้งอยู่มิได้เลยหากขาดซึ่ง ความกำหนัดพอใจ ตามความจาก อุปายสูตร ดังนั้น จึงสามารถแปลความได้ว่า ความกำหนัดพอใจในอารมณ์นั้นๆ กับ มโนปวิจารเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน และเพราะมี ความกำหนัดพอใจ นี้เอง มโนวิญญาณในอารมณ์คือรูป จึงยังสามารถตั้งอยู่ได้ เมื่อมโนวิญญาณมีอยู่ ความกำหนัดพอใจในอารมณ์คือรูปก็มีอยู่ นี่จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิด อุปาทาน ในอารมณ์คือรูปนั้น
กล่าวโดยสรุปก็คือ ความจากพระไตรปิฎกแปลไทย มีความมุ่งหมายที่จะอธิบายว่า ตราบเท่าที่ยังมี วิญญาณและตัณหา ก็ย่อมต้องมี อุปาทาน อยู่ตราบนั้น ที่นี้ท่านผู้แปล(พระไตรปิฎก) กล่าวถึงแต่เพียงว่า วิญญาณอันอาศัยตัณหา โดยเข้าใจไปว่า ผู้อ่านย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า ตัณหานั้นเองก็ต้องอาศัยวิญญาณ(คือ มโนปวิจาร หรือ ที่อรรถกถาเรียกว่า กรรมวิญญาณ) เป็นเหตุปัจจัย
แต่ในอันที่จริงแล้ว เมื่อได้พิจารณา ข้อความคำอธิบายจากอรรถกถา ความว่า …. “บทว่า ตํ นิสฺสิตํ วิญฺญาณํ โหติ ได้แก่ กรรมวิญญาณที่อาศัยตัณหา” โดยคำว่า กรรมวิญญาณ ก็น่าจะสามารถทำให้เข้าใจในกระบวนการที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว และถ้าเข้าใจในความข้อนี้เป็นอย่างดี ก็ไม่น่าที่จะต้องมาก่นด่าท่านพุทธทาส ให้เปลืองพื้นที่นรก แบบโง่ๆอย่างนี้เลย เพราะในอันที่จริง การที่ท่านพุทธทาส ซึ่งแปลพุทธพจน์นี้ว่า .... “วิญญาณ อันตัณหาในอารมณ์(คือรูปฯ) อาศัยแล้วย่อมมีแก่เธอ วิญญาณนั้นคือ อุปาทาน” ก็ย่อมเป็นการแปลความ ที่สามารถอธิบายกระบวนการที่แท้จริงของวงจรปฏิจจสมุปบาท ได้อย่างถูกต้องและครบถ้วนดีอยู่แล้ว
และถ้าผมอธิบายมาจนถึงป่านนี้แล้ว ยังไม่อาจเข้าใจได้อีกว่า วิญญาณอันประกอบด้วย ตัณหาในอารมณ์คือรูปนี้เองที่เป็น อุปาทาน ก็ขอให้ไปลาหมาตายเสียเถิด อย่าได้ เสนอหน้ามาวิพากษ์วิจารณ์ ท่านพุทธทาส โดยเนื่องกับ ปฏิจจสมุปบาท ให้บาปปากไปมากกว่านี้เลย .... เห็นแล้ว น่าสมเพชเวทนา จริงๆ
ขอให้ท่านทั้งหลายจงพิจารณาดูทีเถิดว่า ความตั้งมั่นแห่ง วิญญาณ อันเนื่องกับ กรรมวิญญาณ หรือ มโนปวิจาร นั้นเอง เมื่อประกอบด้วย ความกำหนัดยินดี ความเพลิดเพลิน ก็ย่อมหมายถึง ตัณหา และ อุปาทาน มิได้เป็นอย่างอื่นเลย ....

“พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมจงใจ ย่อมดำริ และครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอารัมมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่อมีอารัมมณปัจจัย ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงมี เมื่อวิญญาณนั้นตั้งมั่นแล้ว เจริญขึ้นแล้ว ความบังเกิดคือภพใหม่ต่อไปจึงมี เมื่อมีความบังเกิดคือภพใหม่ต่อไป ชาติ ชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส จึงมีต่อไป ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่จงใจ ไม่ดำริ แต่ยังครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอารัมมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่อมีอารัมมณปัจจัย ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงมี เมื่อวิญญาณนั้นตั้งมั่นแล้ว เจริญขึ้นแล้ว ความบังเกิดคือภพใหม่ต่อไปจึงมี เมื่อมีความบังเกิดคือภพใหม่ต่อไป ชาติ ชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงมีต่อไป ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้.(ปฐมเจตนาสูตร)

ความกำหนัดยินดีใน มโนวิญญาณ อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทานนี้เอง ที่เราเรียกกันว่า “อุปาทาน” สมดังที่พระพุทธองค์ตรัสกับภิกษุทั้งหลาย ดังนี้ว่า ….

“ดูกรภิกษุ ความกำหนัดพอใจ ในอุปาทานขันธ์ ๕ นั่นแล เป็นตัวอุปาทานในอุปาทานขันธ์ ๕ นั้น ฯ” (อ้างจาก มหาปุณณมสูตร)

เมื่อเราทราบแล้วว่า มโนวิญญาณ ตามคำของท่านพุทธทาส ก็คือคำว่า กรรมวิญญาณ ตามคำของอรรถกถา ประเด็นที่จะต้องพิจารณาก็คือ กรรมวิญญาณที่อาศัยตัณหา นั้นคืออย่างไร (?)

ถ้าให้ตอบ สั้นๆง่ายๆ แบบกำปั้นทุบดิน ก็คือ .... อุปาทาน

ต่อไปนี้ ขอให้ท่านทั้งหลาย ได้มีโอกาสร่วมกันพิจารณา พุทธพจน์จาก สมาธิสูตร(ว่าด้วยสมาธิเป็นเหตุเกิดปัญญา) ความว่า ....

“ .... ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลในโลกนี้ ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มด่ำอยู่ ก็บุคคลย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มด่ำอยู่ ซึ่งอะไร. ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป ฯลฯ .... ย่อมเพลิดเพลินซึ่งเวทนา ฯลฯ .... ย่อมเพลิดเพลินซึ่งสัญญา ฯลฯ ย่อมเพลิดเพลินซึ่งสังขาร ฯลฯ .... ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มด่ำอยู่ซึ่งวิญญาณ เมื่อเพลิดเพลิน พร่ำถึง ดื่มด่ำอยู่ซึ่งวิญญาณ ความยินดีย่อมเกิดขึ้น ความยินดีในวิญญาณ นั่นเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานของบุคคลนั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ”

พุทธพจน์ในส่วนนี้ เกิดจากการที่พระพุทธองค์ ตรัสสอนให้ภิกษุเจริญสมาธิ ความว่า …. เมื่อมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงของความเกิดและความดับแห่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ และการที่จิตไม่อาจตั้งมั่นได้ ก็เนื่องจาก ความปรารถนายินดีในอารมณ์ (คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ด้วยอำนาจของตัณหา ซึ่งความปรารถนายินดีนั้นเอง ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า นั่นเป็นอุปาทาน !!!!

ทั้งนี้ อรรถกถาจารย์ได้อธิบายศัพท์ ตทุปาทานํ เอาใว้ดังนี้ว่า ....

บทว่า ตทุปฺปาทานํ คือ ชื่อว่าอุปาทานเพราะอรรถว่ายึดมั่นอารมณ์นั้น.

ดังนั้น การที่ท่านพุทธทาสกล่าวว่า วิญญาณนั้นคือ อุปาทาน จึงต้องอยู่ภายในเงื่อนไขที่ว่าเป็น วิญญาณ อันตัณหาในอารมณ์(คือรูปฯ) อาศัยแล้ว เท่านั้น มิใช่เป็นการยก “วิญญาณ” ขึ้นมาพูดลอยๆเสียเมื่อไร ซึ่งความข้อนี้ ก็สอดคล้องต้องกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพุทธพจน์จาก สักกสูตร มหาตัณหาสังขยสูตร หรือ สมาธิสูตร

คำศัพท์ ตทุปาทานํ นั้น อรรถกถาจารย์ได้อธิบายว่าหมายถึง อุปาทานเพราะอรรถว่ายึดมั่นอารมณ์นั้น (สมาธิสูตร) หรือก็คือ ตัณหานั้นเอง(มหาตัณหาสังขยสูตร) ทั้งนี้ขอให้ทราบเอาใว้ด้วยว่าการเข้าไปถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ ด้วยอาการถือมั่นและยึดมั่นในธรรมเหล่านั้น(อุปาทานและอภินิเวส) มี ๒ คือ ตัณหาและทิฏฐิ(อ้างจาก กัจจานโคตตสูตร) โดยความยึดมั่นในอารมณ์ นอกจากจะหมายถึง ตัณหาและอุปาทานแล้ว ยังหมายรวมไปถึง ความยึดมั่นใน องค์ฌาน จนแม้แต่ความยึดมั่นในอารมณ์วิปัสสนานั้นด้วย สมดังที่ตรัสเอาใว้ดังนี้ว่า ....

“ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปฏิบัติแล้วอย่างนี้ ย่อมได้อุเบกขาโดยเฉพาะด้วยคิดว่า สิ่งที่ไม่มีก็ไม่พึงมีแก่เรา และจักไม่มีแก่เราเราจะละสิ่งที่กำลังมีอยู่ และมีมาแล้วนั้นๆเสีย เธอยินดี บ่นถึง ติดใจอุเบกขานั้นอยู่ เมื่อเธอยินดี บ่นถึง ติดใจ อุเบกขานั้นอยู่ วิญญาณย่อมเป็นอันอาศัยอุเบกขานั้น ยึดมั่นอุเบกขานั้น ดูกรอานนท์ ภิกษุผู้มีความยึดมั่นอยู่ ย่อมปรินิพพานไม่ได้”

อรรถกถาจารย์ได้อธิบายเพิ่มเติมเอาใว้ดังนี้ว่า ....

บทว่า ตทุปาทานํ ความว่า วิญญาณนั้น ชื่อว่าถือเอาด้วยการยึดมั่นวิปัสสนานั้น.
บทว่า น ปรินิพฺพายติ ความว่า ภิกษุผู้มีอาลัยในวิปัสสนา ย่อมไม่ปรินิพพานในศาสนาของเรา.

หมายความว่า พุทธพจน์ ต นิสฺสิตวิญฺาณ โหติ นี้เมื่อแปลโดยอรรถ ก็ได้ความหมายว่า อุปาทาน คำเดียวเท่านั้นเอง !!!!
การที่ท่านพุทธทาสแปลพระบาลีนี้ว่า “วิญญาณ อันตัณหาในอารมณ์(คือรูปฯ) อาศัยแล้วย่อมมีแก่เธอ วิญญาณนั้นคือ อุปาทาน” ก็ควรถือได้ว่า ท่านแปลด้วยความเมตตาต่อผู้อ่านเป็นอย่างยิ่ง โดยที่ท่านอุตส่าห์อธิบายขยายความ(ซึ่งอาจพบเห็นได้ในพระสูตรอื่นๆ) เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจถึงกระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งหมด ได้อย่างถูกต้องครบถ้วน
ทั้งนี้ ถ้าหากเราอ่านจากพระไตรปิฎกแปลไทย ความว่า .... “วิญญาณอันอาศัยตัณหานั้นย่อมมี อุปาทานอันอาศัยตัณหานั้นก็ย่อมมี” อย่างนี้แทบจะฟังไม่รู้เรื่องว่าอะไรเป็นอะไร และเมื่อเข้าไปอ่านเพื่มเติมจากอรรถกถา ก็ได้ความว่า “กรรมวิญญาณที่อาศัยตัณหา” ซึ่งถ้าท่านทั้งหลาย ไม่มีความรู้ความเข้าใจอะไรเลย ขอถามว่า ท่านทั้งหลายจะสามารถนึกถึงคำว่า “อุปาทาน” จากคำอธิบายของอรรถกถานี้ได้หรือไม่ (?) .... นี่เป็นคำถาม ที่ท่านจะต้องตอบกับตัวเอง ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต นะครับ !!!!

กล่าวโดยสรุปก็คือ ถ้อยคำดังกล่าวของท่านพุทธทาส ย่อมมิได้เกิดจากการแปลผิด หรือ มีเจตนาสอดแทรกความคิดเห็นของตน(หมายถึงท่านพุทธทาส)เข้าไปโดยพลการแต่อย่างใด ซึ่งก็ย่อมเป็นที่ชัดเจนอยู่ว่า “อรรถ” ของข้อความเหล่านั้น ล้วนแล้วแต่สอดคล้องกับพุทธพจน์จากพระสูตร(อื่นๆ) ซึ่งแน่นอนว่า คนที่มีความรู้น้อยอย่างนายระนาดเอกและพรรคพวก ก็ย่อมที่จะ “รู้” ไปไม่ถึงเป็นธรรมดา แปลความได้ว่าปัญหาที่สำคัญที่สุดอันนำมาสู่ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับท่านพุทธทาสนั้น มักเกิดขึ้นมาจากว่า เหล่าบรรดาผู้คัดค้านโจมตีท่านพุทธทาสเหล่านั้น มิได้เป็น ผู้ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท เสมอเหมือนดังที่ท่านพุทธทาสเป็นอยู่(โดยอนัตตภาวะ) นั่นเอง !!!!
ดังนั้น จึงไม่เป็นการแปลกประหลาดแต่อย่างใดเลย ที่คนเหล่านี้จะศึกษาคำสอนของท่านพุทธทาสแล้วไม่เข้าใจ แต่มันน่าสมเพชเวทนาก็ตรงที่ เมื่อโง่แล้วไม่รู้ตนเองว่าโง่ ดันมาทำอวดฉลาดโดยการใส่ร้ายกล่าวหาท่านพุทธทาส ด้วยข้อความอันเป็นเท็จไร้สาระ ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่อย่างเกลื่อนกล่นในปัจจุบันนี้ ....
ผมได้อธิบายมามากจนเกินพอดีแล้ว หวังว่าท่านทั้งหลายจะสามารถเข้าใจได้ตามสมควร ส่วนที่ว่า ใครคนใดจะยังดันทุรัง โจมตีกล่าวร้ายท่านพุทธทาสด้วยประเด็นนี้(ทั้งๆที่น่าจะยุติได้แล้ว) นั่นต้องถือว่า เป็นเวรเป็นกรรมของเขาเอง ซึ่งเราก็คงไปทำอะไร(เขา)มิได้ สมดังที่พระพุทธองค์ได้เคยตรัสเอาไว้ว่า .... “บุคคลใด เมื่อพระตถาคตบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้นอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่รู้ ไม่เห็น เราจะกระทำอะไรได้กะบุคคลนั้น ผู้เป็นปุถุชนคนพาล บอด ไม่มีจักษุ ไม่รู้ ไม่เห็น” (อ้างจาก ปุปผสูตร)



ความคิดเห็นที่ 53

ทีนี้ พระไตรปิฎกภาษาไทย แปลพระบาลีว่า วิญญาณอาศัยตัณหา อุปาทานอันอาศัยตัณหา(นั้นก็ย่อมมี)

แต่ ท่านพุทธทาสแปลว่า ตัณหาอาศัยวิญญาณ วิญญาณนั้นคืออุปาทาน

ไม่ต้องสนใจว่า คุณจะมีความรู้บาลีหรือไม่ ไม่จำเป็น ผมเองก็ไม่รู้ภาษาบาลี

ผมจะขอถามคุณบุญเรือง หรือคุณจันทร์สุขสดใส หรือใครก็ตามที่คิดหรือมีเหตุผลว่า ท่านพุทธทาสไม่ได้แปลพระบาลีเอาเอง โดยใส่ความคิดเห็นส่วนตัวลงไป

คำถามคือ..

เด็กทารกแรกเกิด ครั้งแรกที่ร้องไห้จ้า .. อากัปกิริยาของเด็กทารก (แน่ล่ะ ต้องอาศัยวิญญาณ หรือจิต)

ถ้า วิญญาณคืออุปาทาน อย่างที่ท่านพุทธทาสแปลพระไตรปิฎกไปอย่างนั้น

ในเมื่อเด็กทารกยังไม่เคยเรียนรู้อะไรเลย แล้ว..

อุปาทานของเด็ก มาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

จากคุณ : ระนาดเอก
เขียนเมื่อ : 18 พ.ค. 54 04:33:52







คำถามข้างบนนี้ นายระนาดเอก เขาถามเอากับ คุณ บุญเรือง และ คุณจันทร์สุขสดใส แต่ผมก็ถือโอกาส “เสือก” ตอบไปเสียในคราวเดียวกันนี้เลย เพื่อให้มัน “จบ” กันเป็นเรื่องๆ ไป

ที่จริงแล้ว ปัญหาข้อนี้ มิได้มีความยุ่งยากซับซ้อนอะไรเลย ถ้าหากว่า นายระนาดเอก และพรรคพวก(ที่เห่อเหิมหนุนหน้าหนุนหลังกันอยู่) จะไม่ไปเสียเวลาอยู่กับ อภิธรรม(เฟ้อ) โดยเอาเวลาเท่าที่มีอยู่ไปศึกษาพุทธพจน์โดยตรงจากพระสูตรพระวินัย เพื่อประกอบการพิจารณาโดยแยบคายในใจ อย่างปราศจาก “อคติ” ทั้งปวง อันอาจนำมาซึ่งความคิดปรุงแต่ง ที่เลยเถิดออกไปจากพระธรรมวินัย จนอาจกลายเป็น มิจฉาทิฐิไปในที่สุด .... หึหึหึหึ

ขอให้ท่านทั้งหลาย จงพิจารณาพุทธพจน์จาก มหามาลุงกโยวาทสูตรสูตร ดังต่อไปนี้ ....

“ดูกรมาลุงกยบุตร นักบวช พวกอัญญเดียรถีย์จักโต้เถียง ด้วยคำโต้เถียงอันเปรียบด้วยเด็กนี้ได้ มิใช่หรือว่า
แม้แต่ความคิดว่า กายของตน ดังนี้ ย่อมมีแก่เด็กกุมารอ่อนผู้ยังนอนหงายอยู่ ก็สักกายทิฏฐิจักเกิดขึ้นแก่เด็กนั้นแต่ที่ไหน ส่วนสักกายทิฏฐิอันเป็นอนุสัยเท่านั้น ย่อมนอนตามแก่เด็กนั้น
แม้แต่ความคิดว่า ธรรมทั้งหลายดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เด็กกุมารอ่อนผู้ยังนอนหงายอยู่ ก็ความสงสัยในธรรมทั้งหลาย จักเกิดขึ้นแก่เด็กนั้นแต่ที่ไหน ส่วนวิจิกิจฉาอันเป็นอนุสัยเท่านั้น ย่อมนอนตามแก่เด็กนั้น
แม้แต่ความคิดว่า ศีลทั้งหลายดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เด็กกุมารอ่อนผู้ยังนอนหงายอยู่ สีลัพพตปรามาสในศีลทั้งหลาย จักเกิดขึ้นแก่เด็กนั้นแต่ที่ไหน ส่วนสีลัพพตปรามาสอันเป็นอนุสัยเท่านั้น ย่อมนอนตามแก่เด็กนั้น
แม้แต่ความคิดว่า กามทั้งหลาย ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เด็กกุมารอ่อนยังนอนหงายอยู่ ก็กามฉันทะในกามทั้งหลาย จักเกิดขึ้นแก่เด็กนั้นแต่ที่ไหน ส่วนกามราคะอันเป็นอนุสัยเท่านั้น ย่อมนอนตามแก่เด็กนั้น
แม้แต่ความคิดว่า สัตว์ทั้งหลาย ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เด็กกุมารอ่อนผู้ยังนอนหงายอยู่ ก็ความพยาบาท ในสัตว์ทั้งหลายจักเกิดขึ้นแก่เด็กนั้นแต่ที่ไหน ส่วนพยาบาทอันเป็นอนุสัยเท่านั้น ย่อมนอนตามแก่เด็กนั้น ฯลฯ”

สรุปความก็คือ ท่านพระมาลุงกยบุตร มีความเห็นผิดไปว่า บุคคลจะประกอบไปด้วยกิเลสก็เฉพาะตอนที่ถูกกิเลสครอบงำเท่านั้น ในขณะอื่นๆ ย่อมไม่ได้ชื่อว่าประกอบไปด้วยกิเลส พระพุทธองค์จึงตรัสแสดงให้เห็นว่า เด็กไม่มีกิเลสจริงหรือไม่ โดยตรัสว่า “มีกิเลสที่เป็นอนุสัย แฝงตัวนอนเนื่องอยู่” นั่นจึงหมายความว่า อุปาทาน ตามหลักการอธิบาย ปฏิจจสมุปบาท แบบ ตัณหามูล ที่ท่านพุทธทาสกล่าวว่า หมายถึง วิญญาณ อันตัณหาในอารมณ์(คือรูปฯ) อาศัยแล้ว นั้นแม้ยังไม่ปรากฏในชั้นเด็กทารกที่ยังไม่ประสา แต่เหตุปัจจัยของ ตัณหา อุปาทาน ฯ ล้วนแล้วแต่ได้แฝงตัวนอนเนื่องเป็นอนุสัย อยู่ในเด็กนั้นแล้ว ซึ่งนี่เป็นการกล่าวตามพุทธพจน์ จะเชื่อหรือไม่ ย่อมเป็นภาระที่ท่านทั้งหลายจะต้องพิจารณาโดยแยบคายในใจเอาเอง
ขออธิบายซ้ำอีกทีว่า ตามหลักการอธิบาย ปฏิจจสมุปบาท แบบ ตัณหามูลนั้น วงจรปฏิจจสมุปบาท จะเริ่มต้นขึ้น เมื่อตอนที่เริ่มรู้จัก โลภโกรธหลง แล้ว ซึ่งก็เป็นการกล่าวอธิบายตามแนวพุทธพจน์จาก มหาตัณหาสังขยสูตร หาได้เป็นการพูดเอาเองตามใจชอบแต่อย่างใดไม่ กล่าวคือ ....

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย น้ำนมของมารดานับเป็นโลหิตในอริยวินัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุมารนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ย่อมเล่นด้วยเครื่องเล่นสำหรับกุมาร คือ ไถเล็ก ตีไม้หึ่ง หกขะเมน จังหัน ตวงทราย รถเล็ก ธนูเล็ก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุมารนั่นนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย พรั่งพร้อมบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ คือ รูปที่รู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดและความรัก เสียงที่รู้แจ้งด้วยโสต ... กลิ่นที่รู้แจ้งด้วยฆานะ ... รสที่รู้แจ้งด้วยลิ้น ... โผฏฐัพพะที่รู้แจ้งด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดและความรัก กุมารนั้น เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมกำหนัดในรูปที่น่ารัก ย่อมขัดเคืองในรูปที่น่าชัง ย่อมเป็นผู้มีสติในกายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นอกุศลอยู่ ย่อมไม่ทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งเหล่าอกุศลธรรมอันลามก ตามความเป็นจริง เขาเป็นผู้ถึงพร้อมซึ่งความยินดียินร้ายอย่างนี้ เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้ กุมารนั้น ได้ยินเสียงด้วยโสต ... ดมกลิ่นด้วยฆานะ ลิ้มรสด้วยลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมกำหนัดในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ย่อมขัดเคืองในธรรมารมณ์ที่น่าชัง ย่อมเป็นผู้มีสติในกายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นอกุศลอยู่ ย่อมไม่ทราบชัดเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งเหล่าอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง เขาเป็นผู้ถึงพร้อมซึ่งความยินดียินร้ายอย่างนี้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดีมิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจ เวทนานั้นอยู่ เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัสและอุปายาส ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้ อย่างนี้”


สรุปก็คือ การที่ท่านพุทธทาส เน้นการสอนปฏิจจสมุปบาทแบบตัณหามูล โดยเว้นการอธิบายแบบคร่อมภพชาติ เนื่องจาก ….
(๑) อาจเป็นเหตุนำมาสู่ สัสสตทิฐิ ในหมู่คนโง่
(๒) ไม่ควรเสียเวลากับเรื่องชาตินี้ชาติหน้า ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงได้
โดยวงจรปฏิจจสมุปบาทแบบตัณหามูล จะเริ่มต้นขึ้นเมื่อตอนที่เริ่มรู้จัก โลภโกรธหลง แล้วเท่านั้น แต่นั่นก็มิได้หมายความว่า วงจรปฏิจจสมุปบาทแบบอวิชชามูล จะไม่มีอยู่ กล่าวคือมันมีอยู่ แต่ก็ไม่สามารถอธิบายโดยการพิสูจน์ให้เห็นจริงได้เท่านั้น หมายความว่า ถ้าหากจะดึงดันอธิบาย ปฏิจจสมุปบาทแบบอวิชชามูลให้ได้ ก็ไม่มีปัญหาอะไรกับตัวผู้สอนหรอก แต่ปัญหามันจะเกิดกับตัวผู้ฟังเอง กล่าวคือ ตราบใดที่ยังไม่พ้นวิสัยปุถุชน คุณก็ต้องรับฟัง ปฏิจจสมุปบาทแบบอวิชชามูล โดยอาศัย “ความเชื่อ” แต่เพียงถ่ายเดียว(สุตมยปัญญา) โดยที่มิอาจพัฒนาความรู้ความเข้าใจขึ้นไปสู่ “จินตมยปัญญา” อย่างถูกต้องสมบูรณ์ไปได้เลย(ส่วนภาวนามยปัญญา ไม่ต้องพูดถึง) ดังที่ นายระนาดเอกและพรรคพวก ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วถึง มิจฉาทิฐิ ของพวกเขาเอง อันเกิดจากความคิดฟุ้งซ่าน ที่เลยเถิดไปจาก พุทธพจน์ ซึ่งตรัสไว้ดีแล้ว ดังที่ปรากฏอยู่ในพระสูตรและพระวินัย นั่นเอง



หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านทั้งหลายจะสามารถทำความเข้าใจได้ตามสมควร

Ritti Janson




http://www.oknation.net/blog/SiamBhikhunis

http://rittijanson.blogspot.com/