วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ธรรมะ แมวกินหนู

..ไม่บิดเบือนพุทธพจน์ โดย .... Ritti Janson ..

“แมวเห็นหนูก็จะตะครุบกิน นี่พวกที่เถรตรงก็ว่าแมวบาป แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็บาป อย่างนี้ เราก็มีความเห็นด้วยไม่ได้ แมวไม่มีเจตนาฆ่าหนู มันจะกินเท่านั้น แต่พวกอาจารย์บางพวก บางกลุ่มเขาจัดให้แมวนี้เป็นบาป เป็นเวรตกนรก ผูกพันกันกับหนูกลับไปกลับมา เรียกว่า มันขาดศีล แต่อาตมาเห็นว่า แมวไม่มีเจตนาฆ่า มันมีความรู้สึกแต่จะกินเท่านั้นแหละ เห็นหนูก็คือเห็นอาหาร เป็นอาหารก็กินเท่านั้นแหละ” (อ้างจาก หนังสือดอกโมกข์ ฉบับพิเศษ พุทธทาสวจนา)

ที่จริงแล้ว หากได้อ่านข้อความจาก “เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน” ตามที่กล่าวมาข้างต้น อย่างละเอียดรอบคอบแล้วล่ะก็ ผมก็แทบไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอธิบายขยายความกรณี “แมวกินหนู” เสียด้วยซ้ำไป เนื่องจากว่า คำอธิบายข้างต้น ย่อมสามารถทำให้ท่านทั้งหลายสามารถเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้งแล้วว่า อุปมา แมวกินหนู ตามคำอธิบายของท่านพุทธทาสนั้นย่อมเป็นการกล่าวที่ตรงกับพระธรรมคำสอนของพระศาสดาอย่างมิต้องสงสัย แต่กระนั้น ผมก็ขอเพิ่มเติมคำอธิบายอีกสักเล็กน้อย เพื่อให้ได้ใจความที่ถูกต้องและครบถ้วนตามสมควร ดังต่อไปนี้ ....
สิ่งที่ท่านทั้งหลายควรรับทราบเอาไว้เป็นพื้นฐานเสียก่อนก็คือ สรรพสิ่งทั้งหลาย(สังขตธรรม)ล้วนเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย เรียกว่า กฏธรรมชาติ หรือ นิยาม หมายถึง กำหนดอันแน่นอน แนวทางที่แน่นอน หรือ ความเป็นไปอันมีระเบียบแน่นอน เพราะปรากฏให้เห็นว่า เมื่อมีเหตุปัจจัยอย่างนั้นๆแล้ว ย่อมมีความเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน โดยอรรถกถาจารย์ได้แสดงกฏธรรมชาติสรุปเป็น นิยาม ๕ คือ ....

(๑) พีชนิยาม (ความแน่นอนของพืช) หมายถึง กฏธรรมชาติที่เกี่ยวกับการสืบพันธุ์ พันธุกรรม หรือ ลักษณะทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ
(๒) อุตุนิยาม (ความแน่นอนของฤดูกาล) หมายถึง กฏธรรมชาติของปรากฏการณ์ฝ่ายวัตถุ เช่นเรื่อง ลมฟ้าอากาศ ฤดูกาล เทหวัตถุบนท้องฟ้า ฯลฯ
(๓) กรรมนิยาม (ความแน่นอนของกรรม) หมายถึง กฏธรรมชาติ เกี่ยวกับพฤติกรรม(ของมนุษย์) อันประกอบไปด้วย การกระทำ(กรรม) ผลของการกระทำ(วิบาก) และการกระทำเพื่อความสิ้นไปแห่งกรรม(กัมมักขัย) ซึ่งเป็นกระบวนแห่งเจตจำนง คือ เกิดขึ้นมาจากความคิดปรุงแต่ง(สังขาร)อย่างเกี่ยวพันสอดคล้องกับเหตุและผลตามหลักอิทัปปัจจยตานั่นเอง
(๔) ธรรมนิยาม (ความแน่นอนของธรรม) หมายถึง กฏธรรมชาติ ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลของสรรพสิ่งทั้งหลาย เรียกว่าความเป็นไปตามธรรมดา(ตถตา) เช่น สรรพสิ่งทั้งหลาย มีความเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป(ตามธรรมดา) เป็นต้น
(๕) จิตนิยาม (ความแน่นอนของจิต) หมายถึง กฏธรรมชาติ ที่เกี่ยวกับการทำงานของจิต ฯลฯ

เมื่อทราบหลักการพื้นฐานดังนี้แล้ว เราลองพิจารณาดูว่า การที่คนผู้หนึ่งเกิดมาและยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้นั้น ย่อมประกอบด้วยเหตุปัจจัยอันเนื่องกับนิยามต่างๆทั้งในแง่ของเหตุและผลอย่างมิอาจแยกจากกันไปได้ แต่คนหรือสิ่งชีวิตใดๆก็ตาม จะสามารถเกิดขึ้นและดำรงค์อยู่ได้หรือไม่อย่างไร ก็ย่อมต้องอาศัยเหตุปัจจัยตามนิยามต่างๆมากน้อยแตกต่างกันไป เช่น ในขณะปฏิสนธินั้น สภาวะความเป็นกรดด่างในช่องคลอดย่อมเป็นตัวกำหนด “เพศ” ของตัวอ่อน เนื่องจากความเป็นกรดด่างนั้นจะมีผลต่อพยาธิสภาพของสเปิร์มโครโมโซม x และ y กรณีอย่างนี้ ถือว่าความเป็นไปของมนุษย์(สเปิร์ม) ถูกควบคุมด้วย อุตุนิยาม
ลำดับต่อมาที่ควรทำความเข้าใจก็คือ การที่ธรรมชาติกำหนดว่า ไข่มีแต่โครโมโซม x เท่านั้น ในขณะที่หาก สเปิร์มโครโมโซม y เข้ามาผสมกับไข่ จะได้ตัวอ่อนเพศชาย และถ้า สเปิร์มโครโมโซม x เข้ามาผสมกับไข่ได้สำเร็จ จะได้ตัวอ่อนเพศหญิงนั้น ตรงนี้ถือว่าเป็นไปตาม พีชนิยาม กล่าวคือเป็นกฏทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ ซึ่งจะไม่เป็นอย่างอื่นไปได้เลย
ดังนั้น หากใครผู้ใดก็ตาม อ้างแต่ว่า สภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ล้วนแต่เกิดจากเหตุคือกรรมเก่าแต่เพียงอย่างเดียว คืออ้างแต่ กรรมนิยาม จึงจัดว่าเป็นพวกมิจฉาทิฐิ(ลัทธิกรรมเก่า) เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว ความเป็นไปของสรรพสิ่งล้วนแล้วแต่เกิดจากเหตุปัจจัยได้หลากหลายประการ ตัวอย่างเช่น การที่เราปวดหัว อาจเกิดมาจาก พีชนิยาม คือเป็นอาการของโรคทางพันธุกรรมก็ได้ หรืออาจเกิดจาก อุตุนิยาม คืออากาศร้อนก็เป็นได้ หรืออาจเกิดจาก จิตนิยาม กล่าวคือ ขณะนั้นจิตใจขุ่นมัวด้วย ความโกรธ ความโลภ หรือ ความหลง อย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นได้อีกเช่นกัน ซึ่งปรากฏการณ์อย่างหนึ่งอย่างใด อาจเกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัยจากนิยามใดนิยามหนึ่ง หรือจากหลายๆนิยามรวมกันก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น
ในกรณีของ กรรมนิยาม นั้น ไม่ว่าจะหมายถึง (๑) การกระทำ(กรรม) (๒) ผลของการกระทำ(วิบาก) และ (๓) การกระทำเพื่อความสิ้นไปแห่งกรรม(กัมมักขัย) ย่อมเป็นกระบวนที่ต้องประกอบไปด้วย เจตนา เสมอไป ถ้าปราศจากเจตนาแล้ว ไม่ถือว่าอยู่ในขอบเขตของ กรรมนิยาม กล่าวคือ การกระทำกรรมนั้นจะต้องเกิดขึ้นในขณะที่มี “จิตสำนึก” หากปราศจากจิตสำนึกเสียแล้วย่อมไม่ถือว่ามีเจตนาในการกระทำกรรม เช่น การกระทำด้วยจิตใต้สำนึก หรือ จิตไร้สำนึก ดังนี้เป็นต้น ถ้าท่านทั้งหลายยังมองไม่เห็นภาพ ก็ขอให้พิจารณตัวอย่างจาก มนุสสวิคคหปาราชิก(ปาราชิกสิกขาบท) ซึ่งกล่าวถึงกรณี ภิกษุต้องอาบัติปาราชิก ด้วยเหตุคือฆ่ามนุษย์ ซึ่งแน่นอนว่าองค์ประกอบของปาณาติบาตนั้นก็ย่อมไม่ต่างไปจากที่ระบุไว้ใน วรรณนาจุลศีล กล่าวคือ ....

ปาณาติบาตนั้น มีองค์ ๕ คือ
๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต
๒. ปาณสญญิตา ตนรู้ว่าสัตว์มีชีวิต
๓. วธกจิตตํ จิตคิดจะฆ่า
๔. อุปกกโม มีความพยายาม ( ลงมือทำ )
๕. เตน มรณํ สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

แม้กระนั้นก็ตาม สิ่งที่ท่านทั้งหลายพึงสังเกตก็คือ ในสิกขาบทปาราชิกนี้เองได้ปรากฏความใน อนาปัตติวาร กล่าวถึงกรณีที่ไม่ถือว่าต้องอาบัติ(อนาบัติ) ว่าประกอบไปด้วย ….

(๑) ภิกษุไม่จงใจ
(๒) ภิกษุไม่รู้
(๓) ภิกษุไม่ประสงค์จะให้ตาย
(๔) ภิกษุวิกลจริต
(๕) ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน
(๖) ภิกษุกระสับกระส่ายเพราะเวทนา
(๗) ภิกษุอาทิกัมมิกะ เหล่านี้ ไม่ต้องอาบัติ ดังนี้แล (อ้างจาก พระวินัยปิฎก เล่ม ๑ มหาวิภังค์ ข้อ ๒๐๓)

ในกรณี ภิกษุอาทิกัมมิกะ นั้นย่อมชัดเจนว่า เมื่อยังไม่มีการบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด ผู้กระทำก็ย่อมไม่มีความผิด ต่อเมื่อมีการบัญญัติ(สิกขาบท , ศีล ฯลฯ)ว่าผิด เมื่อนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิด ซึ่งนี่ก็ย่อมตรงกับหลักการทางกฏหมายที่ระบุว่า ไม่สามารถเอาผิดย้อนหลังได้นั่นเอง
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาหลักฐานทั้งในพระสูตรและพระวินัย ก็ปรากฏชัดอยู่ว่า ศีลกรรมบทนั้น เป็นสิ่งที่บัญญัติไว้สำหรับมนุษย์เท่านั้น หรือถ้าหากท่านผู้ใดพบหลักฐานว่า พระพุทธองค์บัญญัติ ศีลกรรมบท ไว้กับสัตว์เดรัจฉาน ปรากฏอยู่ ณ ที่ใด ก็กรุณานำมาแสดงให้เห็นจริงด้วย จักเป็นพระคุณต่อผู้ศึกษาพระศาสนา เป็นอย่างสูง
ในกรณี ภิกษุไม่จงใจ ภิกษุไม่รู้ และ ภิกษุไม่ประสงค์จะให้ตาย นั้นก็ชัดอยู่ว่าปราศจาก “เจตนา” ซึ่งเมื่อปราศจากเจตนา หรือเจตจำนงเสียแล้ว จึงเป็นอันพ้นไปจากขอบเขตของ กรรมนิยาม ดังนั้น เราจึงจะเอากฏแห่งกรรมมาพิจารณามิได้ ดังปรากฏความในพระวินัยปิฎก ข้อ มนุสสวิคคหปาราชิก(ปาราชิกสิกขาบท) อย่างชัดเจนว่า พระพุทธองค์ได้ทรงยกเว้นโทษปาราชิกให้
ส่วน ภิกษุวิกลจริต ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน และ ภิกษุกระสับกระส่ายเพราะเวทนา เป็นกรณีของการกระทำโดยปราศจาก สัมปชัญญะ(ความรู้ตัวทั่วพร้อม, ความรู้ตระหนัก, ความรู้ชัดเข้าใจชัด ซึ่งสิ่งที่นึกได้) หรือพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นด้วยคำจำกัดความทางจิตวิทยาก็คือ เป็นกรณีของการกระทำการต่างๆภายใต้สภาวะ “จิตใต้สำนึก” หรือ “จิตไร้สำนึก” ซึ่งในกรณีเช่นนี้ ไม่อาจนับว่ามีเจตนาในการทำกรรมตามหลัก กรรมนิยาม ได้เช่นกัน ซึ่งพระพุทธองค์ ก็มิทรงปรับอาบัติ(ปาราชิก)กับบุคคลที่ตกอยู่ในสภาวะดังกล่าว แม้ว่าการกระทำนั้นๆ จะส่งผลให้มีคนตายไปก็ตาม !!!!

คราวนี้ เมื่อเรามาพิจารณาถึงกรณี แมวกินหนู ก็จะพบว่า สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายนั้น ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า สัมปชัญญะ หรือ จิตสำนึก หากแต่ สัตว์เดรัจฉานเหล่านั้น สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วย “สัญชาตญาณ” เท่านั้น โดยคำว่าสัญชาตญาณนั้นก็คือ “จิตใต้สำนึก” หรือ “จิตไร้สำนึก” นั่นเอง หมายความว่า โดยธรรมชาติแล้ว สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายจะแสดงพฤติกรรมต่างๆ ภายใต้กฏ อุตุนิยาม และ พีชนิยาม เป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ….
(๑) สัญชาตญาณแห่งการดำรงชีวิต คือ ความต้องการอาหาร และ การสืบพันธุ์
(๒) สัญชาตญาณแห่งความตาย คือ การแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว และ การทำลายล้าง

ขอให้ท่านทั้งหลายจงพิจารณาให้ดีเถิดว่า ขนาดว่าเป็นมนุษย์แท้ๆ แต่หากกระทำผิดในขณะที่อยู่ภายใต้สภาวะ วิกลจริต ฯลฯ หรือก็คือ เป็นการกระทำไปโดยแรงผลักดันของสัญชาตญาณจิตใต้สำนึก ก็ยังไม่มีการเอาผิดทั้งในทางโลกและทางธรรม
ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เช่นกัน ที่เราจะไปปรับเอาโทษกับสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งแสดงพฤติกรรมต่างๆไปด้วยแรงผลักดันจากสัญชาตญาณของจิตใต้สำนึก ซึ่งอยู่ภายใต้กฏ อุตุนิยาม และ พีชนิยาม โดยไม่เกี่ยวกับหลัก กรรมนิยาม เลยแม้แต่น้อย !!!!

เมื่อพิจารณาข้อความจาก วาเสฏฐสูตร ซึ่งกล่าวถึงการโต้เถียงกันระหว่าง ภารทวาชมาณพ และ วาเสฏฐมาณพ โดย ภารทวาชมาณพกล่าวว่า บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติ(หมายถึง ชาติกำเนิด) ส่วน วาเสฏฐมาณพกล่าวว่า บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม(หมายถึงกรรมบท) ซึ่งเมื่อเขาทั้ง ๒ เข้าไปกราบทูลถามถึงความข้อนี้กับพระพุทธองค์ ก็ได้รับคำตอบ ความว่า พืชและสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายนั้น แม้จะปฏิญาณตนไม่ได้ เพศ(ลักษณะและอาการที่ปรากฏ)ของพืชและสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายนั้น ก็สำเร็จด้วยชาติ เพราะมันมีชาติเป็นคนละอย่างๆ และตรัสสรุปในท้ายที่สุดว่า .... “เพศอันสำเร็จด้วยชาติมีมากมาย ในชาติ (สัตว์) เหล่านี้ฉันใด เพศในมนุษย์ทั้งหลายอันสำเร็จด้วยชาติมากมาย ฉันนั้น หามิได้”
จากนั้นพระพุทธองค์ก็ตรัสอธิบายถึงการจำแนกมนุษย์ว่า .... “เพศอันสำเร็จด้วยชาติ (ของมนุษย์) ย่อมไม่เหมือนในชาติ (ของสัตว์) เหล่าอื่น สิ่งเฉพาะตัวในสรีระ (ในชาติของสัตว์อื่น) นั้น ของมนุษย์ไม่มี ก็ในหมู่มนุษย์ เขาเรียกต่างกันตามชื่อ” กล่าวโดยสรุปก็คือ พระพุทธองค์ตรัสว่า เราสามารถจำแนกสัตว์ออกเป็นประเภทต่างๆได้ด้วยชาติกำเนิด แต่วิธีการแบบนี้ไม่ใช้กับมนุษย์ เนื่องจากแต่เดิมมานั้น มีการจำแนกมนุษย์ออกเป็นพวกๆด้วย “กรรม” แปลความได้ว่า สัตว์เดรัจฉานสามารถแยกแยะกันได้ด้วยชาติกำเนิด มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่สามารถแยกแยะออกจากกันด้วย กรรมบท หรือ ศีล !!!!
หากท่านทั้งหลายยังไม่จุใจ หรือยังไม่อาจปลงใจเชื่อในข้อสรุปดังกล่าวนี้ได้ ก็ขอให้พิจารณาความจาก พระวินัยปิฎก เล่ม ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ในกรณี นาคแปลงกายเป็นมนุษย์มาขอบวช ในประเด็นที่ว่า นาค นั้นคือสิ่งมีชีวิตประเภทไหน ขอยกไว้(เนื่องจากนอกประเด็น) แต่จะชี้ให้พิจารณาพุทธพจน์ตามที่ตรัสกับนาค(ผู้แปลงกายเป็นมนุษย์มาบวช) ดังนี้ว่า ....

“ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วได้ทรงประทานพระพุทธโธวาทนี้แก่นาคนั้นว่า พวกเจ้าเป็นนาคมีความไม่งอกงามในธรรมวินัยนี้เป็นธรรมดา ไปเถิดเจ้านาค จงไปรักษาอุโบสถในวันที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักษ์นั้นแหละ ด้วยวิธีนี้เจ้าจักพ้นจากกำเนิดนาค และจักกลับได้อัตภาพเป็นมนุษย์เร็วพลัน
ครั้นนาคนั้นได้ทราบว่า ตนมีความไม่งอกงามในพระธรรมวินัยนี้เป็นธรรมดา ก็เสียใจหลั่งน้ำตา ส่งเสียงดังแล้วหลีกไป ฯลฯ” (พระวินัยปิฎก เล่ม ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ข้อ ๑๒๗)

ใจความจากพุทธพจน์ย่อมปรากฏชัดว่า ไม่ว่าแท้ที่จริงแล้วนาคนั้นจะเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทใดก็ตาม แต่หากเขาต้องการจะเป็น “มนุษย์” แล้วไซร้ หนทางเดียวที่เป็นไปได้ก็คือ เขาก็จะต้องสมาทานศีล เท่านั้น
ซึ่งเมื่อพิจารณามาถึงขั้นนี้แล้ว ท่านทั้งหลายย่อมสามารถเข้าใจได้ไม่ยากว่า ยักษ์ก็ดี นาคก็ดี ตามที่ปรากฏความอยู่ในพระไตรปิฎกนั้น ที่แท้แล้วก็เป็นมนุษย์จำพวกหนึ่งนั่นเอง หากแต่พวกนี้เป็นมนุษย์ที่ป่าเถื่อนไร้ศีลธรรม จนผู้คนในสังคมสมัยนั้นถึงกับไม่ยอมรับว่าเป็น มนุษย์ เอาเลยทีเดียว กล่าวคือ พวกนาค หรือชนเผ่านาคานั้น เป็นพวกชนเผ่านักล่าหัวคน ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นพฤติกรรมป่าเถื่อนจนไม่อาจยอมรับได้ว่าเป็นมนุษย์ ฉนั้น จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด ที่เมื่อภิกษุทั้งหลายเห็นรอยสักพญานาคบนตัวของนาค(ผู้แปลงกายเป็นมนุษย์มาบวช) แล้วจึงได้เกิดความโกลาหลเป็นการใหญ่(ก็พบว่ามีมนุษย์กินคนนอนอยู่ในกุฏิ จะไม่ให้ตกใจได้อย่างไร) !!!!
ปัญหาที่เราจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมอีกสักนิดก็คือ ท่านทั้งหลายเห็นว่า บรรดาหมู่แมวทั้งหลายในสากลโลกนี้ มันมีศักยภาพมากพอที่จะสามารถ สมาทานศีลอุโบสถ ได้อย่างพวกยักษ์หรือพวกนาค ตามที่ปรากฏความอยู่ในพระไตรปิฎก นั้นหรือไม่ (?)
กล่าวคือ ถ้าท่านทั้งหลายเห็นว่า หรือมีหลักฐานว่า แมว สามารถสมาทานศีลอุโบสถได้ นั่นก็จะมีค่าเท่ากับว่า ข้อสรุปของท่านพุทธทาสผิด แต่หากไม่พบว่ามีหลักการหรือหลักฐานเช่นว่านั้นเลย ก็ย่อมหมายความว่า คำของท่านพุทธทาสถูกต้องดีอยู่แล้ว หลักการและเหตุผลมันก็มีอยู่ง่ายๆ เพียงเท่านี้เอง หวังว่าจะสามารถเข้าใจได้ไม่ยาก !!!!


ความคิดเห็นที่ 45

ท่าน a235

เมื่อพระโพธิสัตว์ บำเพ็ญบารมี เสวยชาติเป็นพญาช้างบ้าง พญาวานรบ้าง เป็นนกคุ่มบ้าง ฯลฯ

รวมว่า กำเนิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

ก็มีการรักษา "สัจจะ" ด้วย

ถ้า ศีล ก็ดี ธรรม ก็ดี ไม่มีความหมายต่อสัตว์เดรัจฉาน

แล้วพระโพธิสัตว์บำเพ็ญอะไร มีความหมายอะไร

หรือเอาง่ายๆ ถ้าไม่มีความหมาย ..

ตัดเรื่องการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ เมื่อกำเนิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ออกไปจากคัมภีร์หรือการอ้างอิงของพุทธศาสนาเสียเลย ดีไหม?

จากคุณ : ระนาดเอก
เขียนเมื่อ : 13 พ.ย. 53 00:34:34


คนที่จะสามารถพูดและสรุปความ ดังที่เห็นอยู่ใน ความคิดเห็นที่ ๔๕ ได้นั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า เขาต้องเป็นบุคคลที่อ่อนด้อยในความรู้ความเข้าใจในส่วนที่เป็นพื้นฐานของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง อีกทั้งยังต้องเป็นคนที่มีนิสัยกลิ้งกะล่อน อย่างนักตีฝีปากเป็นแน่ !!!!
ขอให้ท่านทั้งหลายจงพิจารณาให้ดีว่า ปาณาติบาตนั้นเป็นเรื่องของศีล แต่เผลอแผลบเดียว นายคนนี้ก็ได้โยงไปถึงสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” เสียแล้ว พร้อมทั้งไปลากเอาเรื่อง บารมี ๑๐ (คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา)เข้ามาเกี่ยวพันด้วยอีก ซึ่งย่อมมีความจำเป็นที่จะต้องบอกกล่าวให้ทราบว่า ข้อความที่นายคนนี้กล่าวมาทั้งหมดมิได้เป็นความจริงเลย หากแต่เป็นเพียงแค่ การนึกคิดผูกโยงเอาเองมั่วๆ ตามประสาของคนกะล่อนแต่ก็โง่(เอามากๆ)
ดังที่ได้กล่าวอธิบายมามากพอสมควรแล้วว่า “ศีลกรรมบท” นั้น เป็นสิ่งที่บัญญัติไว้สำหรับมนุษย์หรือผู้ที่ต้องการเป็นมนุษย์ให้ได้ปฏิบัติตาม ซึ่งย่อมต่างกับสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” ซึ่งเป็นสากลแก่สรรพสิ่งและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ดังนั้นการยกเอาเรื่อง สัจจะ ขึ้นมาอ้าง จึงเป็นการอ้างแบบผิดฝาผิดตัวเสียแล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายพิจาณาดังนี้ว่า ในแง่ของศีลขั้นพื้นฐานนั้น เราย่อมรู้จักศีล ๕ กันเป็นอย่างดี ในสมัยต่อมาจึงได้มีการนำเอาธรรมบางข้อที่เข้าคู่กันกับศีลมาจัดวางเป็นหมวดขึ้น เช่น เบญจศีล คู่กับ เบญจธรรม เป็นต้น

เบญจศีล เบญจธรรม

เว้นฆ่าสัตว์ เมตตากรุณา
เว้นลักทรัพย์ สัมมาอาชีวะ
เว้นประพฤติผิดในกาม กามสังวร (สำรวมในกาม)
เว้นพูดปด สัจจะ
เว้นของเมา อัปปมาทะ (ไม่ประมาท)

เมื่อพิจารณาในแง่ของ(เบญจ)ธรรม จะพบว่ามีสิ่งเหล่านี้อยู่แล้วตามสมควรแก่สภาวะของความเป็นสัตว์เดรัจฉาน เช่น ความเมตตากรุณา ที่แม่สัตว์มีต่อลูกสัตว์ ซึ่งเป็นพฤติกรรมในระดับสัญชาตญาณจิตใต้สำนึก ในประเด็นสัมมาอาชีวะและกามสังวรนั้น ขอให้พิจารณาพุทธพจน์จาก โสณสูตร ที่ตรัสเปรียบเทียบ พราหมณ์ในสมัยนั้นกับสุนัข เอาไว้ดังนี้ว่า ....

“ได้ทราบว่าเมื่อก่อนพวกพราหมณ์ย่อมสมสู่เฉพาะพราหมณี ไม่สมสู่กะหญิงที่ไม่ใช่พราหมณี บัดนี้ พวกพราหมณ์ย่อมสมสู่กะพราหมณีบ้าง ย่อมสมสู่กะหญิงที่ไม่ใช่พราหมณีบ้าง บัดนี้ พวกสุนัข ย่อมสมสู่กะสุนัขตัวเมียเท่านั้นไม่สมสู่กะสัตว์ตัวเมียที่ไม่ใช่พวกสุนัข นี้เป็นธรรมของพราหมณ์ที่เก่าแก่ข้อที่ ๑บัดนี้ปรากฏในพวกสุนัข ไม่ปรากฏในพวกพราหมณ์”

“ได้ทราบว่า เมื่อก่อนพวกพราหมณ์ย่อมสมสู่กะพราหมณีที่มีระดูเท่านั้น ไม่สมสู่กะพราหมณีที่ไม่มีระดู บัดนี้พวกพราหมณ์ย่อมสมสู่กะพราหมณีที่มีระดูบ้าง ย่อมสมสู่กะพราหมณีที่ไม่มีระดูบ้าง บัดนี้พวกสุนัขย่อมสมสู่กะสุนัขตัวเมียที่มีระดูเท่านั้น ไม่สมสู่กะสุนัขตัวเมียที่ไม่มีระดู นี้เป็นธรรมของพราหมณ์ที่เก่าแก่ข้อที่ ๒ บัดนี้ปรากฏในพวกสุนัข ไม่ปรากฏในพวกพราหมณ์”

จากข้อความข้างต้นย่อมแสดงให้เห็นธรรมในข้อที่เรียกว่า กามสังวร (สำรวมในกาม) ในสัตว์ทั้งหลาย กล่าวคือ พฤติกรรมใดก็ตามที่ถือได้ว่าเป็นธรรมชาติตามปกติของสัตว์เดรัจฉาน มันก็ยังคงปฏิบัติตามธรรมข้อนั้นอยู่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งต่างจากคนอย่างชัดเจน ฉนั้นแล้ว เมื่อใครก็ตาม เห็นหมาแมวติดสัตว์กันอยู่ ก็ย่อมมิอาจกล่าวตำหนิสัตว์เหล่านั้นว่า “มักมากในกาม” ได้เลย เพราะนั่นเป็น “ธรรม” ของพวกเขา เป็น “ธรรม” ของสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งย่อมเป็นไปตามแรงผลักดันของสัญชาตญาณจิตใต้สำนึก ภายใต้กฏ อุตุนิยาม และ พีชนิยาม ดังที่สัตว์เดรัจฉาน ย่อมทำการผสมพันธุ์กัน ก็แต่เฉพาะในฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น ซึ่งนั่นก็เป็นไปตามกฏธรรมชาติ ต่างจากมนุษย์ที่สามารถเสพเมถุนกันได้อย่างไม่จำกัดกาลเวลาและเงื่อนไขใดๆ(ตามแต่ตัณหาราคะจะจูงไป) แปลความได้ว่า คุณจะเอาศีลกรรมบทในระดับจิตสำนึกมาจับผิด หรือเอาผิดกับสัตว์เหล่านั้นมิได้เป็นอันขาด ถ้าหากคุณยังไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นคนบ้า !!!!

“ทราบว่าเมื่อก่อนพวกพราหมณ์ย่อมไม่ซื้อไม่ขายพราหมณี ยังการอยู่ร่วมกันให้เป็นไปด้วยความรักผูกพันบัดนี้พวกพราหมณ์ย่อมซื้อบ้าง ย่อมขายบ้างซึ่งพราหมณี ยังการอยู่ร่วมกันให้เป็นไปด้วยความรักความผูกพัน บัดนี้ พวกสุนัขย่อมไม่ซื้อไม่ขายสุนัขตัวเมีย ยังการอยู่ร่วมกันให้เป็นไปด้วยความรักความผูกพัน นี้เป็นธรรมของพราหมณ์ที่เก่าแก่ข้อที่ ๓ บัดนี้ย่อมปรากฏในพวกสุนัข ไม่ปรากฏในพวกพราหมณ์”

หรือในกรณีของ สัมมาอาชีวะ นั้นจะเห็นได้ว่า สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายย่อมทำมาหากินไปตามปกติของตนภายใต้กฏธรรมชาติ คือ อุตุนิยาม และ พีชนิยาม เท่านั้น นอกไปจากการเล็มหญ้าแล้ว คุณย่อมมิอาจเห็นควายกลายมาเป็นสัตว์นักล่าไปได้ การที่เสือสิงห์เป็นสัตว์นักล่า โดยมีแร้งเป็นสัตว์กินซาก ฯลฯ เหล่านี้เป็นกฏธรรมชาติ ที่มิใช่ กรรมนิยาม ดังนั้น ถ้าใครมุ่งแต่ยก กรรมนิยาม เข้ามาจับผิดในทุกๆกรณี จึงเท่ากับเป็นคนไร้สติและขาดปัญญาโดยสิ้นเชิง เนื่องจาก กรรมนิยาม มิใช่ทั้งหมดของกฏธรรมชาติ หากแต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ดังการที่มีการประกอบอาชีพค้าขายสิ่งมีชีวิตพวกเดียวกันเอง ซึ่งเป็นมิจฉาชีพนั้น ย่อมมิอาจพบได้ในสัตว์เดรัจฉานเลย แต่ก็น่าแปลกเช่นกันว่า พฤติกรรมเลวๆเช่นนี้กลับพบอยู่ในหมู่มนุษย์ที่อ้างตนว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ .... หึหึหึหึ !!!!
ฉนั้น หากวันใดที่ท่านพบว่า มีแมวจรจัด เข้ามาคาบปลาทูของท่านไป ก็ขอทำความเข้าใจเอาไว้เสียตรงนี้ว่า อย่าได้จินตนาการเลยเถิดไปว่า แมวนั้นกำลังทำการลักทรัพย์ ซึ่งเป็นการกระทำผิดศีลข้อ ๒ เป็นอันขาด เพราะศีลนั้นมีไว้สำหรับมนุษย์และผู้ที่ต้องการเป็นมนุษย์เท่านั้น การคาบปลาทูไปจากบ้านคนอื่นของแมว ย่อมนับว่าเป็นอาชีพตามธรรมชาติของพวกเขา เนื่องจากสัตว์เหล่านั้น ย่อมไม่อาจทราบ และไม่อาจเข้าใจใน “สิทธิ” เหนือทรัพย์สินของเอกชน ตามหลักการในลัทธิทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย ตามที่ได้สมมุติบัญญัติ ยอมรับและเข้าใจกันเองในหมู่มนุษย์นั้นได้เลย !!!!

อัปปมาทะ (ไม่ประมาท) นั้นเป็น สัญชาตญาณแห่งการดำรงชีวิต ของสัตว์ทั้งหลายอยู่แล้วโดยธรรมชาติ แต่นั่นก็ย่อมมีความแตกต่างกับ อัปปมาทะ ของมนุษย์อยู่บ้างในแง่ที่ว่า สัตว์ไม่มีธรรมข้อนี้ในระดับจิตสำนึก หรือกล่าวอีกแบบก็คือ สัตว์เดรัจฉานไม่มีจิตสำนึก ฉนั้น อัปปมาทะ จึงมิอาจพัฒนาขึ้นมาให้เจริญงอกงามเทียบเท่ามนุษย์ได้ หากแต่ อัปปมาทะ ของสัตว์เดรัจฉานจะปรากฏอยู่คู่กับ สัญชาตญาณแห่งความตาย คือ การแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าว ในลักษณะแห่งการทำลายล้าง(เพื่อเอาชีวิตรอด)เท่านั้นเอง

ในกรณีของ สัจจะ ตามที่อ้างถึงนั้น ประการแรกที่ควรทราบก็คือ สัจจะ เป็น ธรรม มิใช่ ศีล ซึ่งตามหลักการก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า ศีลกรรมบท เป็นของมนุษย์เท่านั้น แต่ ธรรม เป็นของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ดังนั้น การที่ปรากฏว่ามี (โพธิ)สัตว์ บำเพ็ญบารมีธรรม จึงย่อมมิได้เป็นการกระทำที่ผิดหลักการแต่อย่างใด พูดง่ายๆก็คือ สัตว์เดรัจฉาน ประพฤติธรรมได้ครับ หากแต่ไม่สามารถ สมาทานศีลอุโบสถ ได้เท่านั้นเอง ในความเป็นจริงก็คือ เราไม่อาจกล่าวได้เลยว่า สัตว์เดรัจฉานไม่มีสัจจะ และคงไม่มีมนุษย์คนใด บ้าบอจนถึงขนาดกล่าวว่า มีสัตว์ตัวหนึ่งตัวใดในโลกนี้ “พูดปด” กระมัง นกแก้วนกขุนทองมันก็พูดไปตามประสานกแก้วนกขุนทอง คุณจะไปจับผิดจับเท็จเอากับมันไม่ได้หรอก เพราะถ้าคุณทำเช่นนั้น ก็เท่ากับการประจานตนเองต่อสาธารณชนว่า คุณเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา หรือไม่ก็เป็นคนบ้าใบ้ ไร้สติ เท่านั้นเอง
ในเมื่อสัตว์เดรัจฉาน ไม่มีศักยภาพมากพอที่จะสมาทานศีลได้ เราก็ไม่สามารถเอาบุญบาป เวรกรรมเข้าไปจับพฤติกรรมของสัตว์เดรัจฉานได้ เพราะภพภูมิของสัตว์เดรัจฉาน เป็นภพภูมิแห่งวิบาก(การแสดงผลของกรรม) โดยที่ไม่เอื้อต่อการกระทำกรรม(โดยเจตนา) หรือ และการกระทำเพื่อความสิ้นไปแห่งกรรม(กัมมักขัย) ได้เหมือนกับภพภูมิของมนุษย์ ทั้งนี้ ท่านทั้งหลายย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า สภาพที่ไม่เอื้อต่อการกระทำกรรม(โดยเจตนา) ฯลฯ มิใช่มีแค่เพียง ภพภูมิของสัตว์เดรัจฉานเท่านั้น หากแต่สภาวะเช่นนี้ เป็นเหมือนกันหมดในสังสารวัฏ ยกเว้นอยู่เพียงแห่งเดียวคือ มนุษยโลก ดังที่เหล่าเทวดาทั้งหลายย่อมถือกันว่า ภพภูมิมนุษย์เป็น สุคติภูมิ ของพวกเขา เนื่องจากสามารถทำกรรม(บท) คือทำบุญทำทานได้ สามารถปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ได้

กล่าวโดยสรุปก็คือ การบำเพ็ญสัจจะบารมีของ(พระโพธิ)สัตว์ มิได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของ บุญบาป อันเนื่องกับ ศีลกรรมบท แต่อย่างใดเลย การที่นายคนนั้นยกขึ้นมาอ้าง จึงย่อมเท่ากับเป็นการประจานตนเองว่า เป็นคนโง่อวดฉลาด ซึ่งดีแต่ตีฝีปากไปวันๆ อย่างที่หาสาระอะไรมิได้ ซ้ำร้ายยังมีพฤติกรรมกล่าวตู่พระธรรมวินัย และกล่าววาจาจาบจ้วงพระมหาเถระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อย่างปราศจากหลักฐานและเหตุผลที่ถูกต้องชอบธรรม กล่าวคือ โจมตีกล่าวร้ายต่อท่านพุทธทาส ด้วยความคิดความอ่านของตน(อัตตโนมัติ)แต่เพียงอย่างเดียว โดยที่มิได้มีการสอบสวนกับพระสูตรพระวินัยตามหลักมหาปเทส ๔ เลยแม้แต่น้อย ซึ่งถือได้ว่า เป็นการกระทำที่ไร้หิริโอตตัปปะ และขาดความยุติธรรมต่อผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นอย่างยิ่ง

อธิบายขยายความมามากพอสมควรแล้ว ก็ได้แต่หวังว่า ท่านทั้งหลายจะสามารถเข้าใจได้ตามสมควร ส่วนใครผู้ใดก็ตามที่ยังไม่ยอมรับคำอธิบายนี้ ก็ขอให้บุคคลผู้นั้น จงกล่าวคัดค้านคำของผม โดยยกพุทธพจน์ขึ้นอ้าง อย่างปราศจากการพูดเองเออเองในลักษณะการตีฝีปากตามที่เคยเป็นมาแต่กาลก่อน .... ก็แล้วกัน !!!!



Ritti Janson



http://www.oknation.net/blog/SiamBhikhunis

http://rittijanson.blogspot.com/