วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ตอบกระทู้ “ทำไมท่านพุทธทาส จึงกล้า …. (?)” โดยสังเขป ครั้งที่ ๑

ประเด็นที่ ๑

อ้างจาก ความคิดเห็นที่ 11


ผมมีความเห็นอย่างนี้นะครับ

ถ้าเราเป็นผู้มีความจริงใจ ต่อ พระศาสนาแล้วล่ะก็

พระธรรมทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ในพระไตรปิฎกนี้
จะยกมาจากตรงไหนก็เป็นธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น

ผมจะยกบทหนึ่งขึ้นมาแสดงให้เห็นดังนี้นะครับคือ

จาก คาถาของพระอานนท์ ผู้ทำหน้าที่ตอบปัญหาในที่ปฐมสังคายนา
โดยท่านกล่าวไว้ว่า
--------------------------------------------------------------------

"พระอานนทเถระได้เรียนธรรมจากพระพุทธเจ้ามา ๘๒,๐๐๐ ธรรมขันธ์
ได้เรียนมาจากสำนักภิกษุมีพระธรรมเสนาบดีเป็นต้น ๒,๐๐๐ ธรรมขันธ์"

อานันทเถรคาถา
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=8134&Z=8214

--------------------------------------------------------------------

ในส่วนนี้ผมคงจะยกมาเพียงแค่นี้ ถ้าท่านมีความเชื่อมั่นและจริงใจ
ในพระไตรปิฎก ประโยคเพียงสองบรรทัดนี้ จะตอบคำถามท่านได้ทุกข้อ

จากคุณ : ชาวมหาวิหาร
เขียนเมื่อ : 9 พ.ค. 54 18:02:17


ผมขอแย้งความเห็นดังกล่าวนี้ว่า “ไม่ถูกต้อง” กล่าวคือ พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า ....
“พวกเธอไม่พึงชื่นชม ไม่พึงคัดค้าน คำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วสอบสวน ในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย”
๑) ถ้าสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรไม่ได้ เทียบเคียงในพระวินัยไม่ได้
พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้มิใช่คำของพระพุทธองค์แน่นอน และภิกษุนี้จำมาผิดแล้ว ดังนั้น พวกเธอพึง ทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย
๒) ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรได้ เทียบเคียงในพระวินัยได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำ สั่งสอนของพระพุทธองค์แน่นอน และภิกษุนี้จำมาถูกต้องแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหาปเทสนี้ไว้
สรุปก็คือ มีแต่การ “สอบสวน ในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย” เท่านั้น คุณไม่ควรอ้าง “ความจริงใจ” แล้วละเลยการตรวจสอบ ตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ดีแล้ว นะครับ !!!!




ประเด็นที่ ๒

อ้างจาก ความคิดเห็นที่ 19

ไม่รู้สิ ผมคิดง่ายๆเลยนะ

พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ท่านสำเร็จอรหันต์กันมากมาย ไม่เห็นจะมีท่านไหนออกมาวิจารณ์พระไตรปิฏกว่า ต่อเติม ผิดเพี้ยน บิดเบือน

หลวงตาบัว ท่านเรียนปริยัติก่อน ถึงมาปฏิบัติ ก็ไม่เห็นท่านจะค้านจะขัดอะไร มีแต่บอกว่าลงกันได้หมดจด




อีกประการ ผมว่า มุขปาฐะ นี่แหละ ที่ยากจะผิดเพี้ยน

เพราะ เป็นการสวดโดยคนหมู่มาก สวดโดยพร้อมเพรียงกัน

เหมือน บทสวดมนต์ทำวัตรเย็นนั่นแหละ ไปวัดไหนๆก็สวดตรงกันหมด

พอเราสวดเพี้ยนขึ้นมา แม้แต่พยางค์เดียว ก็รู้ได้จริงไหม


ผ่านมาสองพันปี เอาพระไตรปิฎกเถรวาทแต่ละประเทศมาเทียบกัน มันมีผิดเพี้ยนซะที่ไหน

ผมเชื่อว่า คุณพระรัตนตรัย คุณเทวดาและพรหม ย่อมคุ้มครองพระไตรปิฎกอยู่




และพระสูตรที่ท่านพุทธทาสให้ตัดทิ้ง ไม่ใช่แค่พระสูตรที่คุณฤทธียกมาซะที่ไหน

แต่เป็นพระสูตรเกี่ยวกับโลกหน้า นรกสวรรค์ ภพภูมิอื่นเกือบทั้งหมด >>> แบบนี้ คิดเอาได้ง่ายๆเลยว่า ท่านพุทธทาสปฏิเสธเรื่องชาติภพหน้า (อาจจะคิดตื้นไป ไม่รู้ว่าในใจท่านพุทธทาสคิดอย่างไร)


ทีนี้ คนมันปฏิบัติธรรม มันก็เห็นคาตาอยู่แล้ว ว่า เปรตมี เทวดามี นรกมี สวรรค์มี

มันเลยไม่รู้สึกว่า พระไตรปิฎกมีส่วนไหนที่ค้านที่ขัด



แต่ไม่ใช่ว่า คำสอนของท่านจะไม่มีส่วนที่ดี

ส่วนที่ดีนั้นก็มีมากมาย โดยเฉพาะในชาติภพปัจจุบัน

ผมใช้เตือนใจตัวเองอยู่บ่อย หยิบยกไปบอกต่อก็มาก

จากคุณ : ฮิมาวาริซซัง
เขียนเมื่อ : 9 พ.ค. 54 21:13:59


กรุณาอย่าคิด “ง่ายๆ” สิครับ การอ้างหลวงปู่&หลวงตาฯลฯ เพื่อยืนยันมติ(หรืออคติ)ของตน ย่อมมิใช่หลักการมาตรฐานในการอ้างอิงนี่ครับ เนื่องจากมติหลวงปู่&หลวงตาทั้งหลาย ย่อมจัดอยู่ในชั้น อัตตโนมติเท่านั้น อีกทั้ง คุณและใคร สามารถรู้ได้อย่างไรว่า .... องค์ไหน ? คือ อริยบุคคล ???? หึหึหึหึ
และหากแม้คุณหรือใครก็ตาม อ้างว่าตนสามารถรู้ได้ ผมก็คงมิอาจเชื่อตามได้อยู่ดี จริงไหมครับ ?









ประเด็นที่ ๓

ผมก็ได้กล่าวเอาไว้ชัดเจนแล้วนี่ครับว่า “ตัวอย่างเช่น” อธิบายได้ว่า ยกมาเพียงบางเรื่อง โดยมิได้ยกมาแสดงทั้งหมด อีกทั้งย่อมมิใช่การกล่าวว่า มันมีอยู่แค่เพียงเท่าที่ยกมา นี่ครับ กรณีอื่นๆ คุณก็พิจารณากันเอาเองสิครับ ว่าควรเชื่อตาม(ท่านพุทธทาส) หรือไม่ควรเชื่อตาม ซึ่งนั่นมันเป็นเรื่องของวิจารณญาณส่วนตัวของแต่ละบุคคล มิใช่หรือ (?)
ส่วนเรื่องโลกหน้า นรกสวรรค์ อะไรพวกนี้ ผมทราบว่ามีคนนำหลักฐานมาแสดงมากพอสมควรแล้วนี่ครับ เหตุใดคุณจึงยังกล่าวร้ายต่อท่านพุทธทาสแบบซ้ำๆซากๆอยู่อีก
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะไม่มีผู้ใดซึ่งอ้างตนว่าเป็นพุทธศาสนิกชน ยกกรณีนี้มาโจมตีท่านพุทธทาสอีกนะครับ เพราะจากเหตุผลและหลักฐานเท่าที่ปรากฏอยู่ในเว็บบอร์ดแห่งนี้ .... มันควรจะจบได้แล้ว


อ้างจาก ความคิดเห็นที่ 53 กระทู้ PANTIP_COM Y9907998 ว่าด้วยเรื่อง ท่านพุทธทาส เป็น มิจฉาทิฏฐิ และ เข้าใจธรรมะผิดในหลายๆเรื่อง อยากทราบหลักฐานในเรื่องนี้ครับ
ขอฝากอีกนิดนะครับ
http://www.buddhadasa.com/FAQ/FAQ_14.html
๑๔. ไม่มีนรก-สวรรค์
ปรัศนี: เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า สอนว่า ไม่มีนรกไม่มีสวรรค์ หรือแม้หลังจากตายแล้ว และนิพพานอยู่ที่ เมื่อจิตว่าง ดังนี้เป็นการกล่าวตรงตามที่ท่านอาจารย์กล่าวหรือเปล่าครับ?
พุทธทาส: เราไม่ได้พูดว่า ไม่มีนรก ไม่มีสวรรค์ หรือแม้แต่หลังจากตายแล้ว เราว่ามีทั้งสองอย่าง นรกสวรรค์ต่อตายแล้ว ก็ว่าไปตามเดิม ไม่ไปแตะต้องเขา นรกสวรรค์ที่นี่และเดี๋ยวนี้ นี่ยืนยันมากให้ตรงตามพุทธประสงค์ นรกสวรรค์อยู่ที่อายตนะทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอันว่ามันมีนรกชนิดนี้ก็มี นรกสวรรค์ต่อตายแล้วไม่ได้ไปแตะต้องเขา ไม่ได้ไปวิพากษ์วิจารณ์เขา ขอให้เก็บไว้ แต่ควบคุมได้ โดยที่จัดนรกสวรรค์เดี๋ยวนี้ให้ถูกต้อง มันควบคุมถึงไปได้ถึงสวรรค์ต่อตายแล้ว เป็นอันว่ามีนรกสวรรค์ทั้งสองชนิด ทั้งสองประเภท ไม่ได้ยกเลิกชนิดไหนเลย
ข้อที่พูดว่า นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ เป็นสำนวนพูดให้เกิดความสนใจ นิพพานมีเมื่อจิตว่างจากกิเลส นี่มีหลักมีเกณฑ์ คือเป็นนิพพานตัวอย่าง คำว่า "นิพพาน" ที่เกี่ยวกันอยู่กับจิตนั้นก็คือ จิตนั้นมันว่างจากกิเลส นี้พูดและยืนยันว่า พูด และจะพูดต่อไปว่า นิพพานตัวอย่างมีเมื่อจิตว่างจากกิเลส เป็นความดับแห่งกิเลส นี่เป็นนิพพานถ้าดับชั่วคราวก็เป็นนิพพานชั่วคราว เรียกว่า ตทังคนิพพาน หรือสมยวิมุตติ นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ ขอให้คอยสังเกต เมื่อจิตว่างจากกิเลสโดยเหตุใดๆ ก็ตาม แต่มันยังไม่ใช่นิพพานสมบูรณ์ หรือตลอดกาลหรือนิรันดร นิพพานชั่วขณะ เรียกว่า ตัวอย่างก็ได้ เมื่อใดจิตว่างจากกิเลสน่ะ รีบรู้จักเสียเร็วๆ คอยเฝ้าดูจิตเมื่อไม่ปรุงเป็นกิเลส เป็นจิตเยือกเย็น เป็นนิพพานเพื่อจะได้เป็นตัวอย่าง แล้วจะได้ชอบใจ แล้วจะได้เป็นอุปนิสัยแก่พระนิพพานอันสูงสุด คือ นิพพานเต็มรูปแบบ.
เราสนใจนิพพาน ตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันนี้ เพื่อทำให้คนไม่ต้องปวดหัว ไม่ต้องเป็นโรคประสาท ไว้เรื่อยๆ จะเป็นปัจจัยแก่พระนิพพานอันแท้จริงหรือสูงสุด ที่ว่าอยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ นิพพานตัวอย่างนั้นพูดจริง แล้วก็พูดต่อไปอีกด้วย พระนิพพานนี้แปลว่า เย็น เมื่อใดเป็นจิตเย็น เย็นอกเย็นใจละก็เมื่อนั้น เป็นนิพพาน แต่คำวา เย็น คำนี้ ก็พิเศษอีกแหละ กลัวว่า ผู้ถามคนนี้คงฟังไม่ถูก ผู้ถามรู้จักแต่เย็นที่คู่กับร้อน ถ้าร้อนก็ต้องเปิดพัดลม ถ้าเย็นถ้าหนาวก็ต้องห่มผ้า แต่มีความเย็น อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งมีเมื่อไม่เย็นไม่ร้อน เมื่อไม่เย็นไม่ร้อนชนิดนี้จะเกิดความเย็นชนิดหนึ่งซึ่งเป็นนิพพาน เมื่อไม่รบกวนด้วยความเย็นหรือความร้อนในโลกนี้ มันก็มีความเย็นอย่างโลกุตตระ เป็นนิพพาน ที่ใช้สอนกันในเบื้องต้นว่า เย็นคู่กับร้อน สุขคู่กับทุกข์ สุขที่คู่กับทุกข์ก็ยังเป็นทุกข์เย็นทั้งที่คู่กับร้อนมันก็ยังเป็นทุกข์ ต้องปัดทิ้งไปให้หมดทั้งสุข ทั้งทุกข์ ทั้งอะไรทุกๆ คู่ จึงจะเป็นนิพพาน, กล่าวว่า จิตเย็นเป็นนิพพาน คือเย็นต่อเมื่อไม่มีทั้งร้อนและทั้งเย็นในความหมายของโลกๆ เอ้า มีอะไรอีก.
------------------------------------------------------------------------------
การที่ท่านเน้นให้ปฏิบัติธรรมให้เกิดผลในปัจจุบันขณะ มีความสุข ณ.ที่นี่ เวลานี้ ไม่ได้หมายความว่าท่านปฏิเสธ สังสารวัฏ หรือว่าปฏิเสธการมีอยู่ของนรก - สวรรค์
ถ้าเลือกได้ทำไมเราไม่มีความสุขทั้งในปัจจุบันและในโลกหน้าล่ะครับ

จากคุณ : Uncle-Dave
เขียนเมื่อ : 12 พ.ย. 53 16:12:22








ประเด็นที่ ๔

อ้างจาก ความคิดเห็นที่ 25
คุณเอิงเอยกับคุณชาฯ ชักชวนให้มาร่วมสนุก นิดๆ หน่อยๆ ผมจึงได้อ่านแค่ คคห #6 เท่านั้น พอจับประเด็นร่วมวงด้วย ดังนี้

จาก คคห ที่ 5
กรณีพระอภิธรรมปิฎก
อนุมานเอาว่าสิ่งที่ "ฤทธี" เขียนขึ้นได้ผ่านการตรวจสอบข้อมูลแล้วว่าถูกต้อง..
เช่นบอกว่า มีพุทธพจน์ว่า อภิธรรม หมายถึง โพธิปักขิยธรรม คือ ฯลฯ - ขออนุมานว่า มีแหล่งอ้างอิงถ้อยคำนี้อยู่จริง นั่นคือฤทธีจะรับผิดชอบข้อมูลนั้นเอง
แต่การที่ฤทธีสรุปว่า โดยที่มิได้ตรัสว่ามีความหมายอย่างอื่นอีก(กินติสูตร) หมายความว่า การกล่าวว่าอภิธัมเมหมายถึงพระอภิธรรมปิฎกนั้น เป็นมติในชั้นอรรถกถาเท่านั้น
เป็นการสรุปแบบ ด่วนได้ใจเร็ว (ถ้าเป็นคนอื่น ผมจะใช้คำว่า บ้องตื้น เผอิญฤทธีใช้ร่างทรงเป็นคุณชาล้นถ้วยผู้น่ารัก ไม่ได้มาเอง จึงเห็นว่าจะเป็นการ ชกข้างเดียวเรียลไทม์ ชกโต้กลับเป็นเทป หลบได้ ผมเลยเปลี่ยนคำให้ใหม่)
คือ ฤทธีอ้างเอาแหล่งอ้างอิงพุทธพจน์นั้น (กินติสูตร) มาเพื่อปักธงไว้ว่า อภิธัมเม คือ โพธิปักขิยธรรม แล้วก็ใช้ตรรกะว่า ในเมื่อ โพธิปักขิยธรรม ไม่ใช่ อภิธรรมปิฎก

ดังนั้น อภิธัมเม ก็ต้องไม่ใช่ อภิธรรมปิฎก !

แล้วสรุปเปรี้ยงว่า การกล่าวว่าอภิธัมเม หมายถึงพระอภิธรรมปิฎกนั้น ก็ต้องเป็นมติในชั้นอรรถกถาแหงแซะ !
( ไชโย้ )

การด่วนได้ใจเร็วนั้น มันทำนองเดียวกับที่จะสรุปเอาว่า..
ตรัสสัมมาสมาธิว่าฌาน 4 แสดงสอนภิกษุไว้หลายแห่งในพระสูตร ดังนั้นจึงกำหนดตรรกะว่า สัมมาสมาธิได้แก่ฌาน 4 แล้วสรุปเปรี้ยงว่า ต้องได้ฌาน 4 จึงจะบรรลุมรรคผล เพราะสัมมาสมาธิคือต้องได้ฌาน 4 ถ้าไม่ได้ฌาน 4 ก็ยังไม่เป็นสัมมาสมาธิ ?

ผมขอตอบด้วยเหตุผลและหลักฐานดังนี้

การที่จะสามารถสรุปความว่า อภิธัมเม มีความหมายอย่างอื่นอีกในชั้นพุทธพจน์ มันก็สามารถพิสูจน์ได้ไม่ยากนี่ครับ เพียงแค่คุณยกพุทธพจน์มาอ้างอิงให้ได้ว่า พระพุทธองค์ตรัสว่า อภิธัมเม หมายความถึงอย่างอื่นนอกไปจาก โพธิปักขิยธรรม เอาไว้ที่ไหน แค่นี้ก็หมดเรื่อง .... ยกพุทธพจน์มาอ้างสิครับ !!!!

การที่คุณยกเรื่องฌาน๔ มาอ้างนั้น ผมไม่เห็นว่ามันจะเป็น “เรื่องทำนองเดียวกัน” ที่ตรงไหน (?)

ทั้งนี้เนื่องจากผมได้เคยอธิบายไปแล้ว(บ่อยครั้ง)ว่า สัมมาสมาธิ ไม่จำเป็นจะต้องเป็น “ฌาน” เสมอไป โดยผมได้อ้างถึง “ปุตตสูตร” และ “กามเหสสูตร” ซึ่งท่านพระอานนท์อ้างว่าท่านได้ฟังมาจากพระพุทธองค์ ความว่า .... สัมมาสมาธินับว่าเป็นฌานโดยปริยาย(คือมิใช่โดยตรง)สำหรับโยคาวจรฝ่ายวิปัสสนายานิก ผมอธิบายโดยย่อเช่นนี้หวังว่าคงเข้าใจได้ตามสมควร(กรุณากลับไปค้นกระทู้เก่าๆของผมเอาเองนะครับ)



ประเด็นที่ ๕


ผมเห็นมาหลายครั้งกับวิธีแสดงทัศนะความเห็น “แบบฤทธี” ซึ่งมีลักษณะอยู่อย่างคือ “โมเม” พูดเองเออเอง สรุปเอง และยัดให้ผู้อื่นเป็นตามที่ตนสรุป !
จะยกมาให้ดู

คคห 6

.. กระทู้ PANTIP Y10496205 เหตุผลที่ท่านพุทธทาส วิจารณ์ พระไตรปิฎก ฯ ความคิดเห็นที่ ๒๙ ความว่า
ฯลฯ
ซึ่งเจ้าของความคิดเห็นนั้นได้กล่าวเพิ่มเติมต่อไปว่า

"ไม่ว่าจะเป็นท่านพระพรหมคุณาภรณ์ หรือ อ.เสฐียรพงษ์ แม้ท่านจะกล่าวว่า ภาษาในพระอภิธรรมปิฎก ไม่ได้อยู่ในรูปพุทธดำรัส แต่ท่านก็กล่าวตรงกันว่า เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ควรศึกษา ทั้งสองท่านไม่เคยกล่าวว่าให้ตัดทอนส่วนไหนออกเลย นี่คือท่าทีที่ตรงข้ามกันกับท่านพุทธทาส ชัดเจน"

การที่บุคคลผู้นี้กล่าวว่า ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ หรือ อ.เสฐียรพงษ์ มีมติว่าอภิธรรมปิฎกมิใช่พุทธพจน์โดยตรงนั้น ก็นับว่าถูกต้องชัดเจนสมควรแก่การอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง แต่การกล่าวว่า ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ หรือ อ.เสฐียรพงษ์ ไม่เคยกล่าวว่าให้ตัดทอนส่วนไหนออกเลย ย่อมเป็นท่าทีที่ตรงข้ามกับท่านพุทธทาสอย่างชัดเจนนั้น .... อาจเป็นการสรุปเกิน(ข้อมูล) รวมถึงการกล่าวหาว่าท่านพุทธทาสไม่เคารพพระไตรปิฎกเลยนั้น ย่อมเป็นการกล่าวหาพระเถระด้วยข้อความอันเป็นเท็จอย่างปราศจากความละอาย

ผู้เขียน คคห ๒๙ ที่เขาว่านั้น เมื่อตามไปดูกระทู้ก็พบว่าคือคุณเอิงเอย ได้กล่าวว่า
“ไม่ว่าจะเป็นท่านพระพรหมคุณาภรณ์ หรือ อ.เสฐียรพงษ์ แม้ท่านจะกล่าวว่า ภาษาในพระอภิธรรมปิฎก ไม่ได้อยู่ในรูปพุทธดำรัส..”
ห่างกันแค่ 3 บรรทัดเท่านั้น ต่อหน้าต่อตา ฤทธีก็ “แปลงสาร” ของผู้อื่นหน้าตาเฉย และเป็นการแปลง 2 ชั้น
ชั้นแรก ฤทธีได้ “ยัด” ให้ผู้เขียน คคห ๒๙ กล่าวว่า “ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ หรือ อ.เสฐียรพงษ์ มีมติว่าอภิธรรมปิฎกมิใช่พุทธพจน์โดยตรง..”

“ภาษาในพระอภิธรรมปิฎก ไม่ได้อยู่ในรูปพุทธดำรัส” กับ “อภิธรรมปิฎกมิใช่พุทธพจน์โดยตรง”
ความหมายกลายเป็นคนละเรื่องไปเลยนะครับ !

ผมขอตอบด้วยเหตุผลและหลักฐานดังนี้

ก่อนอื่น ขอให้พิจารณาความหมายของคำศัพท์ต่างๆ เสียก่อน(อ้างจาก พจนานุกรมของท่านปยุตโต) ....

พุทธพจน์ = พระดำรัสของพระพุทธเจ้า(คือคำว่า พุทธดำรัส นั่นเอง), คำพูดของพระพุทธเจ้า
ปริยาย = การเล่าเรื่อง, บรรยาย; อย่าง, ทาง, นัยอ้อม, แง่
นิปปริยาย = ไม่อ้อมค้อม, ตรง, สิ้นเชิง (พจนานุกรมเขียน นิปริยาย)

จากนั้นจงพิจารณา ....

(๑) “ภาษาในพระอภิธรรมปิฎก ไม่ได้อยู่ในรูปพุทธดำรัส”
= ภาษาในพระอภิธรรมปิฎก ไม่ได้อยู่ในรูปพุทธพจน์
= ภาษาในพระอภิธรรมปิฎก ไม่ได้อยู่ในรูปคำพูดของพระพุทธเจ้า

(๒) “อภิธรรมปิฎกมิใช่พุทธพจน์โดยตรง”
= อภิธรรมปิฎก ไม่ใช่ พระดำรัสของพระพุทธเจ้าโดยตรง
= อภิธรรมปิฎก ไม่ใช่ คำพูดของพระพุทธเจ้าโดยตรง

ในขั้นแรกนั้น กรุณาดูให้ชัดๆว่า ถ้อยคำของผมเป็นการ “แปลงสาร” จริงตามคำกล่าวหา หรือไม่ (?)
ในขั้นที่สอง ขอให้พิจารณาด้วยว่า ผมได้แสดงมติอย่างชัดแจ้งว่า อภิธรรมปิฎก นับเป็นพุทธพจน์โดยปริยาย หมายความว่า แม้พระพุทธองค์จะมิได้ตรัสอภิธรรมปิฎกโดยตรง แต่พระเถระท่านก็ได้นำพุทธพจน์จากพระสูตรพระวินัยนั่นเองมาเรียบเรียงขึ้น(พิจารณาเพิ่มเติมได้จากกระทู้ PANTIP_COM Y10003918 อภิธรรม คือ โพธิปักขิยธรรม) กรุณาทำความเข้าใจในคำว่า ปริยาย และ นิปปริยาย ให้ดีๆนะครับ
ส่วนที่ว่า คำกล่าวของผม จะเป็นการ “แปลงสาร” จริงหรือไม่นั้น ผมเข้าใจว่า วิญญูชนทั้งหลายย่อมสามารถพิจารณาได้เอง .... ชัดเจนแล้วนะครับ !!!!






ประเด็นที่ ๖


ชั้นที่สอง เฉพาะของ อ.เสฐียรพงษ์ ท่านไม่เคยบอกหรือเคยมีมติเลยว่า อภิธรรมปิฎกมิใช่พุทธพจน์ แต่ท่านกลับพูดชัดเป้งเลยว่าพระอภิธรรมเป็นพุทธพจน์แน่ๆ แถมยังอ้างว่าท่านพุทธทาสนับพระอภิธรรมว่าเป็นพุทธพจน์ด้วย (ผมไม่เคยพบว่าท่านพุทธทาสกล่าวตามที่ อ.เสฐียรพงษ์ อ้าง ใครมีหลักฐาน ช่วยแสดงไว้ด้วย) คือเสฐียรพงษ์บอกว่า
“..ที่พูดนี่ไม่ได้หมายความว่าจะปฏิเสธอภิธรรมว่าไม่ใช่พุทธพจน์หรอกนะครับ ต้องเข้าใจนะ ท่านพุทธทาสเคยพูดทำนองนี้ โดนด่าทั่วเมือง ท่านพุทธทาสพูดแต่เพียงว่า พระอภิธรรมปิฎกไม่ได้อยู่ในรูปเป็นพระพุทธพจน์ คือ หมายความว่า ไม่ได้เป็นภาษาพูด เหมือนในพระสูตรเหมือนในพระวินัย ไม่ได้ออกจากปากพระพุทธเจ้า แต่นับว่าเป็นพุทธพจน์คือ มันลงรอยกับหลักตัดสินธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว เป็นพุทธพจน์แน่ๆ แต่ไม่ใช่พุทธดำรัส..”
ดู คคห 159-160
http://topicstock.pantip.com/religious/topicstock/2010/11/Y9915529/Y9915529.html#159

ผู้เขียน คคห ๒๙ (เอิงเอย) ก็ยกคำของเสฐียรพงษ์มาตามนั้น (ฯไม่ได้อยู่ในรูปพุทธดำรัส) แต่ฤทธีก็แปลงสารไปอีกอย่าง
การแปลงสารจะมีเจตนาอย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าเป็นพฤติการณ์ที่น่าตำหนิ หากพัฒนาเรื่อยไป ไม่ช้าจะกลายเป็น การกล่าวหาผู้อื่นด้วยข้อความอันเป็นเท็จอย่างปราศจากความละอาย


ผมขอตอบดังนี้

ขอให้ท่านทั้งหลายจงพินิจพิเคราะห์ถ้อยคำของ “นายระนาดเอก” ผู้นี้ให้ดีๆนะครับ เพราะที่จริงแล้ว ทั้งผม(Ritti Janson) และ คุณเสฐียรพงษ์ ก็ไม่มีใครพูดว่า “อภิธรรมปิฎกมิใช่พุทธพจน์” ตามที่นายระนาดเอกกล่าวอ้างมาเลยนี่ครับ .... หมายความว่าถ้าพบว่าผมพูดถ้อยคำแบบนี้ที่ไหน ก็กรุณาชี้หลักฐานออกมาโดยพลัน เลยนะครับ เนื่องจากโดยข้อเท็จจริงแล้ว ผมเพียงแต่กล่าวว่า “อภิธรรมปิฎกมิได้เป็นพุทธพจน์โดยตรง” ท่านทั้งหลายเห็นความแตกต่างของถ้อยคำที่ผมพูด กับ ข้อความที่นายระนาดเอกยกมาอ้างไหมครับ (?)

(๑) ผมพูดอย่างชัดเจนว่า “อภิธรรมปิฎกมิได้เป็นพุทธพจน์โดยตรง” .... ชัดเจนนะครับ

(๒) แต่เมื่อคำๆนี้ผ่านปากของนายระนาดเอก ทำไมมันจึงหดสั้นลง จนเหลือเพียงว่า “อภิธรรมปิฎกมิใช่พุทธพจน์” …. คำว่า “โดยตรง” มันหายไปไหน ผมงงว่ะ



สรุป

การที่ผมกล่าวว่า “อภิธรรมปิฎกมิได้เป็นพุทธพจน์โดยตรง” นั้นย่อมมีความหมายตรงๆว่า พระพุทธองค์มิได้ตรัสอภิธรรมปิฎกเองโดยตรง แต่เนื่องจาก อภิธรรมปิฎกเป็นสิ่งซึ่งมีพื้นฐานมาจากพระสูตรพระวินัย ดังนั้นผมจึงสรุปว่า แม้มิได้เป็นพุทธพจน์โดยตรงแต่ก็จัดเป็น “พุทธพจน์โดยปริยาย”
สิ่งที่ได้เห็นในกรณีนี้ก็คือ ทั้งๆที่นายระนาดเอกเพิ่งจะใส่ร้ายผมว่าเป็น “นักแปลงสาร” อยู่หยกๆ แต่แล้วนายระนาดเอกผู้นี้ กลับทำในสิ่งที่ตนก่นด่าผู้อื่นเอาไว้อย่างปราศจากความละอายเสียเอง .... หึหึ

ผมกล่าวว่า “อภิธรรมปิฎกมิได้เป็นพุทธพจน์โดยตรง” แต่เมื่อคุณนำมาพูดต่อ แล้วคำว่า “โดยตรง” มันหายไปไหนเสียเล่าครับ (?) การกระทำแบบนี้ของนายระนาดเอก สมควรเรียกว่า “นักแปลงสาร” หรือไม่ ท่านทั้งหลายย่อมสามารถพิจารณากันได้เอง โดยเทียบกับที่นายนั่นกล่าวหาผมนั่นแหละ จริงไหมครับ (?)
ทั้งนี้ ผมก็ขอกล่าวย้ำให้พิจารณาความหมายของคำว่า ปริยาย = นัยอ้อม และ นิปปริยาย = ไม่อ้อมค้อม, ตรง ซึ่งผมใช้ในข้อความของผมอย่างรอบคอบด้วย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า อคติ มันคงจะไม่มากจนถึงกับปิดบังสติปัญญาจนมิอาจแยกแยะ ผิดชอบชั่วดี นะครับ เพราะหลักฐานมันก็เห็นๆกันอยู่ อีกทั้งเราท่านทั้งหลายก็พูด “ภาษาไทย” กันอยู่แท้ๆ .... หรือมิใช่ (?)
คำว่า มิได้เป็นพุทธพจน์โดยตรง มันมิได้มีความหมายเท่า มิได้เป็นพุทธพจน์ .... เสียหน่อย นี่มันแปลงสารเสียจนความหมายถูกบิดเบือนไปไกลเลยนะครับ ฉนั้น หากจะกล่าวหาผม ก็ขอความกรุณา รอบคอบในการอ่านเอาความ(ภาษาไทย)ด้วยนะครับ ..... ชัดเจนนะครับ (?)





















ประเด็นที่ ๗


อย่างเช่น กรณีท่านพุทธทาสกล่าวหาพระพุทธโฆสว่า เผาบาลีพระไตรปิฎกทิ้ง แล้วปลอมปนเนื้อหาของพราหมณ์ ซึ่งเป็นชาติกำเนิดของท่านเข้าไป โดยยัดลงในพระโอษฐ์ !
เมื่อทิ้งปัญหาเรื่องการเผาพระไตรปิฎก ปลอมปนยัดลงในพระโอษฐ์ ฯลฯ ไว้ ก็ไม่เคยปรากฏหลักฐานว่าท่านพุทธทาสออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อคำกล่าวหาพระพุทธโฆสนั้นอย่างไร..
แต่กลับปรากฏต่อมา ว่าท่านพุทธทาสก็ตั้งข้อกล่าวหาท่านพระพุทธโฆสเรื่องใหม่ คราวนี้ว่า เผาอรรถกถา!
ทิ้งเรื่องกล่าวหาพระพุทธโฆสไว้อย่างฉกาจฉกรรจ์ ทั้งเผาพระไตรปิฎก และเผาอรรถกถา
สุดท้ายท่านพุทธทาส ก็แสดงความเห็นพาดพิงกล่าวหาพระพุทธโฆสอีกว่า ทำลายคัมภีร์วิมุตติมรรคเพื่อให้มีเพียงวิสุทธิมรรค

ก็น่ารู้ว่าฤทธีมองพฤติการณ์ของท่านพุทธทาสตรงนี้ว่าเป็น การกล่าวหาผู้อื่นด้วยข้อความอันเป็นเท็จอย่างปราศจากความละอาย หรือไม่?

ผมขอตอบดังนี้

(๑) นายระนาดเอก กรุณานำหลักฐานมาแสดงให้เห็นจริงดีไหมครับ กล่าวคือ สแกนหลักฐานมาแสดงว่า ท่านพุทธทาส ได้กล่าวดังนี้ๆ เอาไว้ที่ใด หนังสือชื่ออะไร หน้าที่เท่าไร อย่างครบถ้วนในบริบทของข้อความเหล่านั้น
(๒) กรุณาแสดงหลักฐาน “คัดค้าน” ประกอบมาอย่างชัดแจ้งด้วยว่า อะไร และ อย่างไร เนื่องจากกรณีนี้เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ศาสนา ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการตั้งสมมุติฐานประกอบหลักฐานทางโบราณคดี ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่คุณจะต้อง นำเสนอว่า ใช้ทฤษฎีหรือสมมุติฐานของนักวิชาการท่านใดประกอบการพิจารณา จะมาอ้างใช้แต่ “ความเชื่อ” เพียงอย่างเดียว มิได้นะครับ
(๓) ขอแนะนำเพิ่มเติมว่า กรุณาไปตั้งกระทู้ใหม่ได้เลย เพื่อความชัดเจน และยุติธรรมต่อทุกฝ่าย มิฉนั้น มันก็จะกลายเป็นว่าคุณกำลังกล่าวหาผู้อื่นด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งพ้นไปจากหลักวิชาการ โดยอาศัยเพียง “ความเชื่อ” อย่างปราศจากความละอาย .... ชัดเจนนะครับ !!!!











ประเด็นที่ ๘


การที่ฤทธีบิดคำของเอิงเอย เป็นว่า “อภิธรรมปิฎกมิใช่พุทธพจน์โดยตรง” นั้น อาจจะอ้างว่า ก็หมายความว่าไม่ใช่พุทธดำรัสโดยตรงเพราะไม่ได้เป็นภาษาพูดเหมือนในพระสูตร อย่างที่ อ.เสฐียรพงษ์ ว่าไว้ ก็ได้..
หรืออาจจะหมายความว่า อภิธรรมปิฎกเป็นสิ่งที่แต่งขึ้นมาใหม่ก็ได้
เขาจะเห็นอย่างไร ก็ดูจากสิ่งที่เขาพูดไว้เอง..
ดังปรากฏสิ่งที่น่าตำหนิอย่างยิ่งก็คือ ฤทธีอ้างชื่อพระพรหมคุณาภรณ์เพื่อสนับสนุน “ทฤษฎีซี้ซั้วส่งเดช” ของตน กล่าวคือ ฤทธีอ้างว่า ถ้าใครเชื่อตามพระพรหมคุณาภรณ์ซึ่งมีมติว่าอภิธรรมปิฎกมิใช่พุทธพจน์โดยตรง ก็ย่อมหมายความว่า เขาผู้เชื่อนั้นได้ยอมรับความจริงด้วยว่า (นี่ไง ที่ว่าฤทธีสรุปแบบโมเมแล้วยัดปากคนอื่น) อภิธรรมปิฎก คือการนำเนื้อหาถ้อยคำจากในพระสูตรและพระวินัยมาทำเป็น Brief หรือ Short Note แล้วสรุปเปรี้ยงว่า เขาผู้เชื่อพระพรหมคุณาภรณ์นั้น ก็ต้องยอมรับความจริงด้วยว่า หากข้อความหลักคือพระสูตรพระวินัยอันเป็นต้นฉบับของ Brief หรือ Short Note นั้นยังอยู่ครบถ้วน ดังนั้น การโกยอภิธรรมปิฎกทิ้งทะเล หรือโกย Brief / Short Note ทิ้งทะเล ก็เท่ากับเรายังมิได้สูญเสียอะไรเลย! (Si Sua Song Det Theorem) เพราะเขาผู้เชื่อพระพรหมคุณาภรณ์ (ว่าอภิธรรมปิฎกมิได้เป็นพุทธพจน์โดยตรง แต่เป็นเพียงการนำเนื้อความในพระสูตรพระวินัยมาสรุปเรียบเรียงใหม่) จะต้องยอมรับความเป็นจริงว่า แม้อภิธรรมปิฎกขาดหายไป แต่เนื้อหาในอภิธรรมปิฎกก็มิได้สูญหายไปไหนเลย เพราะข้อความในอภิธรรมปิฎกยังอยู่ในพระสูตรพระวินัยอย่างครบถ้วนนั่นเอง !


ผมขอตอบดังนี้

(๑) ประการแรก ได้อธิบายพร้อมทั้งแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งแล้วว่า ผมมิได้ บิดเบือนคำของใครเลย หากแต่ใครบางคนอาจ “ฉลาดเกิน” จนมิอาจเข้าใจและแยกแยะความหมายของคำว่า ปริยาย(โดยอ้อม) และ นิปปริยาย(โดยตรง) ก็เท่านั้นเอง .... ชัดแล้วนะ
(๒) หากไม่ยอมรับความจริงว่า อภิธรรมปิฎก เป็นของใหม่ โดยอาศัย พระสูตรพระวินัยนั้นเองเป็นพื้นฐานในการร้อยกรองขึ้นมา ก็ย่อมเป็นภาระของนายระนาดเอกนั้นเอง ที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า พระพุทธองค์ ได้ตรัสถึง อภิธรรมปิฎก เอาไว้ที่ใดบ้าง ทั้งในพระสูตรและพระวินัย
เพราะได้ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่า อภิธัมเม ตามที่ปรากฏอยู่ในรูปพุทธพจน์นั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสอธิบายเอาไว้ว่าหมายถึง โพธิปักขิยธรรม(จากกินติสูตร) นี่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งคุณมีสิทธิเถียงได้ เพียงแต่ต้องเถียงด้วยหลักฐานคือพุทธพจน์ หาใช่การอ้างแต่มติอรรถกถาจารย์ หรือ ตีฝีปากแถกแถแบบข้างๆคูๆ ....
เข้าใจประเด็นแล้วนะครับ (?)






ประเด็นที่ ๙


น่าสนใจว่า ถ้าท่านพุทธทาสยังมีชีวิตอยู่ แล้วฤทธีบังอาจไปพูดทฤษฎีซี้ซั้วนี้ให้ท่านพุทธทาสฟัง จะโดนท่านด่าตกทะเลอย่างไร
เพราะท่านพุทธทาสนั่นแหละ ที่ด่าคนเขียนอภิธรรมปิฎกเป็นไอ้พวกอยากจะอวดเบ่ง ในพระสูตรที่ไหนๆ ก็มีแต่ รูปฌาน ๔ แต่ไอ้พวกแต่งอภิธรรมมันเขียนเป็นฌาน ๕ เป็นรูปฌาน ๕ ! 1
ผมล่ะอยากจะรู้ว่า มันจะ Brief & Short Note กันยังไง ที่ทำให้เนื้อหาพระสูตรคือรูปฌาน ๔ กลายเป็นรูปฌาน ๕ !
รวมอรูปฌานเข้าไปด้วยก็เลยกลายเป็น ฌาน ๙ - สมาบัติ ๘ ก็เลยกลายเป็นสมาบัติ ๙
และไม่ใช่แต่เพียงรูปฌาน ๕ เท่านั้น ใน Brief & Short Note ยังแจกแจงด้วยว่า จิตที่ทำหน้าเป็นรูปฌานมีกี่ดวง ปรากฏว่า Brief & Short Note ระบุว่า จิตที่เป็นรูปฌาน มี ๕ ดวง โดยจิตดวงที่เป็นรูปฌาน ๓ นั่นแหละ ตรงกับจิตรูปฌาน ๒ ในพระสูตร
ทีนี้ ถ้าโกย Brief & Short Note ทิ้งไปเสีย เราก็ยังมิได้สูญเสียอะไรเลย คือ ในต้นฉบับบอกว่า รูปฌานมี ๔ พอโกยไอ้ Brief & Short Note ไปทิ้งแล้ว พุทธศาสนาของเราก็ยังมีรูปฌานนับได้ ๕ เหมือนเดิม ?
เพราะว่าพระสูตรบอกว่ารูปฌานนับได้ ๔ แต่ Brief & Short Note บอกว่ามี ๕ เมื่อโกยทิ้งทะเลแล้ว ก็ต้องนับให้มันได้ ๕ (สิโว้ย) นับยังไงก็ไม่รู้หละ แต่ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า แม้อภิธรรมปิฎกขาดหายไป แต่เนื้อหาในอภิธรรมปิฎกก็มิได้สูญหายไปไหนเลย เพราะข้อความในอภิธรรมปิฎกยังอยู่ในพระสูตรพระวินัยอย่างครบถ้วนนั่นเอง เมื่อข้อความของอภิธรรมปิฎกยังอยู่ในพระสูตรอย่างครบถ้วน ..

ดังนั้น พระสูตรบอกว่ารูปฌานมี ๔ เมิงก็ต้องนับให้มันได้ ๕ สิวะ!

ต้องนับให้มันได้อย่างงี้ เข้าใจม้ายย




ผมขอตอบอธิบายเพื่อคลี่คลายความสงสัย ดังต่อไปนี้

(๑) ผมขอสารภาพตามตรงว่า ผมไม่ชอบคนประเภท “พูดมาก เพ้อเจ้อ” เลยแม้แต่น้อย เพราะผมเห็นว่า ในการสนทนานั้น ควรพยายามกล่าวอย่างกระชับ ชัดถ้อยชัดคำ และตรงประเด็นให้มากที่สุด หวังว่าท่านทั้งหลายจะไม่ถือสา ที่ผมกล่าวตรงๆแบบนี้
(๒) ที่จริงแล้ว ไม่น่าอ้างเรื่อง ฌาน ๔ ฌาน ๕ ขึ้นมาเลยด้วยซ้ำ ถ้าหากในความเป็นจริงแล้ว บรรดานักอภิธรรมทั้งหลายจะสามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดแจ้งว่า มีพุทธพจน์ตรัสถึง อภิธรรม หรือไม่ และอย่างไร แต่ในเมื่อยกขึ้นมาอ้างแล้วอย่างนี้ ผมย่อมถือเป็นภาระที่จะต้องอธิบายตามสมควร
(๓) ถ้าพิจารณาในพระสูตรย่อมพบแต่ที่ตรัสว่า ฌาน ๔ โดยมีการแยกองค์(ฌาน) ดังนี้ว่า ....

๑.ปฐมฌาน มีองค์ ๕ (วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา)
๒.ทุติยฌาน มีองค์ ๓ (ปีติ สุข เอกัคคตา)
๓.ตติยฌาน มีองค์ ๒ (สุข เอกัคคตา)
๔.จตุตถฌาน มีองค์ ๒ (อุเบกขา เอกัคคตา)

แต่ได้ปรากฏความในอภิธรรมปิฎกว่ามีการแยกองค์(ฌาน) เป็น ๕ ดังนี้คือ ....

๑.ปฐมฌาน มีองค์ ๕ (วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา)
๒.ทุติยฌาน มีองค์ ๔ (วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา)
๓.ตติยฌาน มีองค์ ๓ (ปีติ สุข เอกัคคตา)
๔.จตุตถฌาน มีองค์ ๒ (สุข เอกัคคตา)
๕. ปัญจมฌาน มีองค์ ๒ (อุเบกขา เอกัคคตา)

ทั้งนี้ หากท่านทั้งหลาย ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ ก็จะพบความแตกต่างอยู่เพียงว่า ในกรณี ฌาน ๕ ของฝ่ายอภิธรรมนั้น ท่านเพียงแต่แบ่งซอยละเอียดออกไปจากฌาน ๔ โดยแทรกฌานที่ ๒ เพิ่มขึ้นมาอีกข้อหนึ่ง ระหว่าง ปฐมฌานและทุติยฌาน(ตามแบบพระสูตร)
แต่ถ้าสังเกตให้ดีก็จะพบว่า เมื่อนับองค์ฌานดูแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจำแนกฌานแบบพระสูตรหรือแบบอภิธรรม ก็ยังมีองค์ฌานเหมือนกัน ๕ อย่างอยู่นั่นเอง
ดังนั้น การนายระนาดเอกกล่าวว่า “ผมล่ะอยากจะรู้ว่า มันจะ Brief & Short Note กันยังไง ที่ทำให้เนื้อหาพระสูตรคือรูปฌาน ๔ กลายเป็นรูปฌาน ๕” ผมได้อธิบายให้ฟังแล้วนะครับ ....

ทั้งนี้ ผมก็ยังหวังอยู่ว่านายระนาดเอกคงจะไม่แสดงภูมิเพื่อมากดขี่ผมว่า เมื่อBrief & Short Noteแล้ว สิ่งที่ได้มันก็ควรจะสั้นลง มิใช่ว่า ยิ่งBrief ก็ยิ่งได้ใจความมากขึ้นหลากหลายปริยาย ทั้งนี้ก็เพราะผมกล่าวถึง Brief ด้วยลักษณะของการ “อุปมา” เพื่อให้สามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นเท่านั้น เพราะเมื่อถึงบทสรุป ผมได้กล่าวเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ....

เพราะในแง่ของความเป็นจริงก็คือ ทั้ง Brief หรือ Short note หรือ Key นั้นย่อมเป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาสามารถ วิเคราะห์และสังเคราะห์ขึ้นมาได้ใหม่ทุกเมื่อ ตราบเท่าที่ยังมีข้อความหลักของหนังสือนั้นอยู่อย่างครบถ้วน

ซึ่งการกล่าวถึงคำว่า วิเคราะห์และสังเคราะห์ พร้อมๆกับคำว่า Brief หรือ Short note หรือ Key นั้นย่อมมิได้หมายความผมสับสนในความหมายของคำเหล่านี้หรอกนะครับ มันเป็นแต่เพียงแค่อุปนิสัยการพูดแบบรวบรัดของผมเท่านั้นเอง(หวังว่าจะไม่ถือสาหาความกัน)
ที่กล่าวถึง การวิเคราะห์(analysis) และการสังเคราะห์(synthesis) ขึ้นมานั้น ก็เพื่ออธิบายให้เข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้ว ส่วนหนึ่งของ อภิธรรมปิฎก ก็คือการ วิเคราะห์และสังเคราะห์ พุทธพจน์จาก พระสูตรและพระวินัยนั่นเอง และนั่นจึงเป็นตอบที่ว่า ทำไมฌาน ๔ จากพระสูตร จึงได้กลายเป็น ฌาน ๕ เมื่อปรากฏอยู่ในอภิธรรมปิฎก กล่าวคือ นั่นเป็นผลจากการวิเคราะห์(analysis) และการสังเคราะห์(synthesis) ฌาน ๔ในพระสูตรโดยผู้แต่งอภิธรรมปิฎกนั่นเอง !!!!

อ้างความจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๔ ธรรมสังคณีปกรณ์ ....

ธรรมไม่มีวิตกแต่มีวิจาร เป็นไฉน?
ทุติยฌานในรูปาวจรปัญจกนัย ฝ่ายกุศล ฝ่ายวิบาก และฝ่ายกิริยา ทุติยฌานในโลกุตตรปัญจกนัย ฝ่ายกุศล และฝ่ายวิบาก เว้นวิจารที่บังเกิดในจิตตุปบาทเหล่านี้เสีย สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่า ธรรมไม่มีวิตกแต่มีวิจาร.

ทีนี้ เราท่านทั้งหลาย เมื่อพบการจำแนกฌานแบบอภิธรรมเป็นฌาน ๕ ดังนี้แล้วเราควรทำอย่างไร (?)

ดังที่ผมกล่าวไว้(จนบ่อย)แล้วว่า หากมีผู้หนึ่งผู้ใดก็ตามกล่าวอ้างว่า “นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา” พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาใว้เป็นหลักการ คือ “พวกเธอไม่พึงชื่นชม ไม่พึงคัดค้าน คำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วสอบสวน ในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย”
๑) ถ้าสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรไม่ได้ เทียบเคียงในพระวินัยไม่ได้
พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้มิใช่คำของพระพุทธองค์แน่นอน และภิกษุนี้จำมาผิดแล้ว ดังนั้น พวกเธอพึง ทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย
๒) ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรได้ เทียบเคียงในพระวินัยได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำ สั่งสอนของพระพุทธองค์แน่นอน และภิกษุนี้จำมาถูกต้องแล้ว

ในกรณี ฌาน ๕ นี้ก็เช่นกัน เราในฐานะที่เป็นพุทธบริษัทก็ย่อมที่จะไม่เชื่อหรือคัดค้านในทันที หากแต่ควรทำการ สอบสวน ในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ดูว่า เข้ากันได้ ลงกันได้ หรือไม่ (?)
ซึ่งในกรณีนี้ ผมได้ทำการตรวจสอบแล้วพบว่า แท้ที่จริงพระเถระผู้รจนาพระอภิธรรมปิฎก ก็ได้อาศัยเค้าความจากพุทธพจน์นั่นเอง ดังปรากฏความซึ่งพระพุทธองค์ตรัสกับท่านพระอนุรุทธ ดังนี้ว่า ....

“ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้เจริญสมาธิมีวิตกมีวิจารบ้าง ได้เจริญสมาธิไม่มีวิตกมีแต่วิจารบ้าง ได้เจริญสมาธิไม่มีวิตกไม่มีวิจารบ้าง ได้เจริญสมาธิมีปีติบ้าง ได้เจริญสมาธิไม่มีปีติบ้าง ได้เจริญสมาธิสหรคตด้วยสุขบ้าง ได้เจริญสมาธิสหรคตด้วยอุเบกขาบ้าง ฯ” (อ้างจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ข้อ ๔๖๖ )

เมื่อได้ทำการสอบสวนมาถึงขั้นนี้ เราในฐานะที่เป็นพุทธบริษัทก็ย่อมที่จะ “ปลงใจเชื่อ” ได้อย่างแน่นอนว่า ฌาน ๕ ตามนัยอภิธรรม นับได้ว่าเป็นพุทธพจน์ สามารถเชื่อถือได้ ซึ่งนี่ก็คือการพิจารณาความต่างๆในกรอบของพระพุทธศาสนาด้วยหลักมหาปเทส ๔ นั่นเอง ....
สรุปก็คือ ผมไม่เห็นว่า กรณี ฌาน ๕ จะเป็นประเด็นปัญหาอะไรนี่ครับ กล่าวคือ แม้ข้อความในอภิธรรมปิฎก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๔ ธรรมสังคณีปกรณ์ ข้อ ๖๖๘ จะหายไป แต่ข้อมูลพื้นฐานอันเป็นที่มาของ ฌาน ๕ ในอภิธรรมปิฎก ก็ยังปรากฏอยู่อย่างครบถ้วนในพระสูตรและพระวินัย ดังที่ผมแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วข้างต้น
ฉนั้น ถ้าใครก็ตาม ต้องการจะเสวนาโต้แย้งกับผม ก็ขอความกรุณาว่า ไม่ต้องโอ้อวดภูมิรู้ให้มากนักก็ได้ แต่ขอให้โต้แย้งด้วยการ แสดง เหตุผลและหลักฐานที่ชัดแจ้ง โดยถือเอาพุทธพจน์เป็นหลักนั้นจะเหมาะกว่า

หรือท่านทั้งหลายจะว่าอย่างไร (?)















ประเด็นที่ ๑๐

นี่แค่เรื่องมหัคคตจิตเรื่องเดียว โกยทิ้งทะเลยังไง จิตก็ยังอยู่ครบเห็นปานนี้
ถ้าไปกล่าวถึง หสิตุปฺปาทจิต หรือจิตแย้มของพระอรหันต์เมื่อประสบ อโนฬาริการมณ์ หรือ มหากิริยาโสมนัสจิต ที่พระอรหันต์ยิ้มเมื่อประสบ โอฬาริการมณ์ ซึ่งไม่มีคำอธิบายความแตกต่างสองอย่างนี้อยู่ในพระสูตรพระวินัยที่แห่งใดเลย มีแต่เล่าว่าพระสาวกไปพร้อมกับพระโมคคัลลาน์ เห็นพระโมคคัลลาน์ “แย้ม” ก็ถามว่าท่านแย้มอะไร พระโมคคัลลาน์ก็เล่าว่าเห็นเปรตลอยผ่านไป ฯลฯ
หรือพระสูตรเล่าว่าพระภิกษุไปฉันที่บ้านนิมนต์ เดินผ่านเณรก็ลูบหัวเอ็นดูเณร เณรนั้นก็ “ยิ้ม” ไม่ว่าอะไร พระพุทธเจ้าถามภิกษุว่า เห็นพระอรหันต์มั้ย ภิกษุว่าไม่เห็น ฯลฯ ที่แท้ก็เณรนั้นนั่นเอง พระอรหันต์
ยิ้มกับแย้มของพระอรหันต์นี้ มี “จิต” ที่ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจง แสดงไว้ละเอียดชัดในพระอภิธรรม !
ต้องรวมจิต ๕ ดวงของพระอรหันต์ไว้ จึงจะนับจำนวนจิตในพระพุทธศาสนาได้ ๘๙ หรือ ๑๒๑
หสิตุปฺปาทจิต ไม่ปรากฏในพระสูตรใดๆ เลย
แต่ถ้าโกย Brief & Short Note ทิ้งทะเลเสียให้หมด เราก็ยังนับจำนวนจิตได้ ๘๙ หรือ ๑๒๑ ?!
ก็ปราชญ์ท่านกล่าวว่า แม้อภิธรรมปิฎกขาดหายไป แต่เนื้อหาในอภิธรรมปิฎกก็มิได้สูญหายไปไหน เมื่อข้อความของอภิธรรมปิฎกยังอยู่ในพระสูตรอย่างครบถ้วน แม้ว่าจะไม่มีการกล่าวรายละเอียดจิตยิ้มจิตแย้มของพระอรหันต์ ว่ามีเจตสิกประกอบเท่าไร ฯลฯ อยู่ในพระสูตรพระวินัยเลย ก็ไม่รู้หละ เดี๋ยวสรุปเอาจากพระสูตรพระวินัย ก็จะนับได้จำนวนจิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ จนได้แหละ เพราะข้อความในอภิธรรมปิฎกยังอยู่ในพระสูตรพระวินัยอย่างครบถ้วนนั่นเอง

โมเมตัวพ่อเลยมั้ยล่ะ !!


ผมขอตอบอธิบายโดยสังเขปว่า ....

ผมไม่ได้โมเมอะไรหรอก ดังที่ได้อธิบายมาให้ฟังตามสมควรแล้วว่า ส่วนหนึ่งของ อภิธรรมปิฎก ก็คือการ วิเคราะห์และสังเคราะห์ พุทธพจน์จาก พระสูตรและพระวินัยนั่นเอง ดังนั้นขอกล่าวเพิ่มเติมว่า อีกส่วนหนึ่งของอภิธรรมปิฎกก็คือ คำอธิบาย “ปฏิเวธ” อย่างละเอียดพร้อมด้วยศัพท์บัญญัติ ซึ่งมักไม่พบข้อความในลักษณะนี้จากพระสูตรและพระวินัย
ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจว่า หากมีใครสักคนมาถามผมว่า เขาจะเริ่มต้นศึกษาพระพุทธศาสนาด้วยคัมภีร์เล่มใดจึงจะเหมาะสม ผมก็ย่อมบอกกล่าวแก่เขาว่า ควรศึกษาพระสูตรและพระวินัย โดยเว้น อภิธรรมปิฎก(เอาไว้ก่อน) ในกรณีที่ ถ้าหากเขาผู้นั้นเห็นว่า ทุกข์และความดับทุกข์เป็นเรื่องเร่งด่วนในชีวิตของเขา !!!!
ถามว่าทำไม จึงต้องบอกเขาอย่างนั้น เหตุผลข้อหนึ่งที่สำคัญก็คือ ข้อความใน อภิธรรมปิฎก มีบางส่วนที่เป็นการอธิบายปฏิเวธ ซึ่งไม่เหมาะ(สม)เลยสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติ ที่จะไปสอดรู้สอดเห็น ฯ ฉนั้น ใครที่ชอบอวดอ้างตัวว่าเป็นนักปฏิบัติ ก็ลองพิเคราะห์ดูเถิดว่า .... เหตุผลที่แท้จริงในประเด็นนี้ คืออะไร (?)
ขออนุญาตตอบย่อๆแค่นี้ ....

ประเด็นที่ ๑๑



นั่นก็แปลว่า ท่านพุทธทาสจะด่าไอ้พวก Brief & Short Note อวดเบ่งยังไงก็ไม่รู้แหละ ถ้าโกยอภิธรรมปิฎกทิ้งทะเลซะแล้ว นับจำนวนจิตจนทั่วทั้งพระสูตรพระวินัย ก็ยังนับได้ ๘๙ หรือ ๑๒๑ เหมือนเดิมจนได้แหละวะ เหตุผลก็คือ ปราชญ์ท่านบอกว่า อะไรๆ ในอภิธรรมมันยังอยู่ในพระสูตรพระวินัยครบถ้วน

นี่เพียงแค่เรื่อง จำนวนจิต เรื่องเดียว

คคห นี้ กล่าวถึงเรื่อง ฌาน จึงน่าสนใจว่า การจะแยกแยะว่า บุคคลที่สำคัญตนว่าได้ฌาน เขาได้ฌานจริงหรือไม่ ตัดสินได้อย่างไร
ย้อนกลับไปถามผู้ที่คิดว่า พระอภิธรรมเป็น Brief & Short Note ของพระสูตรพระวินัยว่า ถ้าไม่อาศัยพระอภิธรรมปิฎกเสียแล้ว ให้ยกพระสูตรพระวินัยมาแสดงให้ดูซิว่า ที่ว่าได้ฌานนั้น สภาวะเป็นอย่างไร อยู่ตรงไหนในพระสูตรพระวินัย
ถ้าท่านไม่เคยศึกษาพระอภิธรรม ถ้ามีคนมาขอให้ท่านสอบอารมณ์ให้ทีว่า เขาได้ฌานจริงมั้ย ท่านจะอาศัยอะไร? ท่านจะสอบสวนอย่างไร? ท่านจะตัดสินยังไง?
ผู้ได้ฌานอภิญญานอกพุทธศาสนามีมากมายทุกยุคสมัย แต่ไม่เคยมีปรากฏในลัทธิศาสนาใดๆ มาก่อน เรื่องหลักการในการ "สอบ" อารมณ์ฌาน ว่าเป็นของจริงของเก๊
ไหนล่ะครับ ต้นฉบับของ Brief & Short Note อยู่ตรงไหนล่ะครับ หลักการอยู่ไหนครับ ตรงไหนครับ พระสูตรพระวินัย อยู่ไหนครับ ยกมาเลย


ผมขอตอบอธิบายโดยสังเขปว่า ....

เรื่อง จิต ๘๙ หรือ จิต ๑๒๑ นั่นเป็นเรื่องของบัญญัติ โดยการจำแนกด้วย การวิเคราะห์(analysis) และการสังเคราะห์(synthesis) ซึ่งที่จริงแล้ว ก็เกินจำเป็น(เฟ้อ) ถ้าเป็นผู้มีปัญญาดี ก็ย่อมทำได้ไม่ยากอะไร แต่ถ้าเป็นผู้ด้อยปัญญา ก็ใส่ใจเอาแต่เรื่องทุกข์และความดับทุกข์นั้นเถิด จะได้ไม่ต้องเกิดมาตายเปล่า ในชาตินี้ ....
เรื่องฌานนั้น ผมได้อธิบายไปมากแล้วนะครับ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นายระนาดเอก จะเข้าใจได้ถึงวิธีการศึกษาพระธรรมวินัยโดยเฉพาะก็คือพุทธพจน์ อย่างถูกต้องตามหลักการได้อย่างไร ผมคงไม่ต้องอธิบายซ้ำอีกนะครับ !!!!

ปล. ผมล่ะขำจริงๆ ด้วยเหตุที่เพิ่งทราบจากนายระนาดเอกผู้นี้ว่า ....เขาใช้ “นักอภิธรรม” ในการสอบอารมณ์ (พระ)โยคาวจร เฮอะ เฮอะ ๆๆๆๆๆ
ถ้าหากทำกันอย่างนี้จริง วงกรรมฐาน มิฉิบหาย กันหมดแล้วหรือครับ (?) .... เฮ้ออออออออ


ประเด็นที่ ๑๒


พระอภิธรรมปิฎกนั้นแหละ คือพุทธพจน์ ถ่ายทอดจากพระโอษฐ์โดยตรง

ใครมันจะไปมีปัญญา Brief & Short Note ได้รายละเอียดครบถ้วนปานนั้น ในเมื่อต้นฉบับไม่มีแสดงไว้เลย ?

ก็เพราะอย่างนี้ไง ท่านถึงได้จัดให้ เนื้อหากระบวนการทำงาน จิต เจตสิก ฌาน ญาณ ลำดับการทำงานของจิตในขณะบรรลุมรรคผล ฯลฯ แยกไว้เป็นปิฎกต่างหาก

อาศัยตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่ยกมา ผมก็ขอบอกว่า
การโต้แย้งกระทู้ http://www.pantip.com/cafe/religious/topic/Y10496205/Y10496205.html
เหตุผล ที่ท่านพุทธทาส วิจารณ์ พระไตรปิฏก อรรถกถา คัมภีร์ ของเถรวาท{แตกประเด็นจาก Y10483111} นั้น..
เป็นทัศนะ ความเห็น เหตุผล ตรรกะ ฯลฯ ที่ยังใช้ไม่ได้เลย เสียเวลาอ่าน! (สรุปอย่างนี้ ผมโมเมเก่งมั้ยล่ะ)

เรื่องฤทธีโมเมผู้อื่น ยังมีให้เห็นอยู่ประปราย ที่จำได้คือไปพาดพิง พระคันธสาราภิวงศ์ ผู้เขียน พระอภิธรรมเป็นพระพุทธพจน์ ว่าจะไปรื้อมาดูกันใหม่ แต่ปัญหาคือ นี่มันหกโมงเช้าแล้ว แดร็กคูล่าจะกลับโลง ดังนั้นก็ตัวใครตัวมัน

ผมขอตอบอธิบายโดยสังเขปว่า ....

การที่นายระนาดเอกกล่าวว่า “พระอภิธรรมปิฎกนั้นแหละ คือพุทธพจน์ ถ่ายทอดจากพระโอษฐ์โดยตรง” นั้นจะต้องชี้ให้ชัดเจนด้วยว่า
(๑) ผมไม่ได้บอกนี่ครับว่า อภิธรรม มิใช่พุทธพจน์
(๒) หากแต่การอ้างว่า อภิธรรม(ปิฎก) ถ่ายทอดมาจากพระโอษฐ์โดยตรงนั้น คุณยังมิได้แสดงหลักฐานให้เห็นจริงนะครับว่า พระพุทธองค์ตรัสว่า อภิธัมเม หมายถึง อภิธรรมปิฎก เอาไว้ที่ไหน (?)

ประเด็น พระคันธสาราภิวงศ์ ผู้เขียน พระอภิธรรมเป็นพระพุทธพจน์ นั้น ผมเห็นว่าไม่ใช่เรื่องยากนี่ครับ ผมขออนุญาตแสดงหลักฐานเกี่ยวกับวิธีการใช้เหตุผลของ พระคันธสาราภิวงศ์ โดยย่อ ดังนี้ว่า ....

การที่พระคันธสาราภิวงศ์ สรุปเอาเองว่า พระพุทธองค์ได้ตรัสอภิธรรมปิฎกที่ดาวดึงส์ โดยอ้างข้อความจาก โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร กรณี จันทนเทวบุตร ได้กล่าวกับท่านพระโลมสังกังคิยะ ความว่า ....

“ดูกรภิกษุ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ที่ควงไม้ปาริจฉัตตกะ ในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ ณ ที่ นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญแก่เทวดาชั้นดาวดึงส์ว่า .... ฯลฯ” (อ้างจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ข้อ ๕๖๗ )

ที่จริงแล้ว “อุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ” เป็นสูตรที่พระพุทธองค์ตรัสเอาไว้หลายครั้งปรากฏอยู่ใน มัชฌิมนิกาย (๑.ภัทเทกรัตตสูตร ๒.อานันทภัทเทกรัตตสูตร ๓.มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร และ ๔.โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร) เพียงแต่ กรณีที่ตรัสกับ ท่านพระโลมสังกังคิยะ พิเศษกว่ากรณีอื่นตรงที่ จันทนเทวบุตร อ้างว่าเคยฟังสูตรนี้แล้วครั้งหนึ่ง เมื่อคราวที่ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ที่ควงไม้ปาริจฉัตตกะ ในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์
ซึ่งผมก็มิได้เห็นว่าเป็นปัญหาอะไร ก็ในเมื่อมีข้อความปรากฏอยู่ในพระสูตรดังนี้ว่าพระพุทธองค์ได้เคยแสดงธรรมที่ดาวดึงส์จริง เราก็ต้องยอมรับว่ามีหลักฐานนี้อยู่จริง
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ในพระสูตรดังกล่าวได้ระบุอย่างชัดเจนว่า พระธรรมที่ตรัสนั้นคือ “อุเทศและวิภังค์ ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ” มิได้ระบุว่าตรัส “อภิธรรมปิฎก” ดังนั้น ถ้าหากว่าเราซื่อสัตย์ต่อหลักฐานชั้นต้นคือพุทธพจน์จริง ในกรณีนี้เราย่อมต้องสรุปว่า ....

ในชั้นพุทธพจน์ กล่าวคือ ข้อความในพระสุตตันตปิฎก(พระสูตร) ปรากฏหลักฐานว่า ครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์ได้ตรัสแสดง “อุเทศและวิภังค์ ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ” ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จริง !!!!
แต่ท่านพระคันธสาราภิวงศ์(วัดท่ามะโอ) มิได้สรุปแค่นี้นี่ครับ ท่านกลับอ้างว่า เมื่อพบหลักฐานในพระสูตรว่าพระพุทธองค์เสด็จดาวดึงส์จริง นั่นย่อมหมายความว่า มติอรรถกถาจารย์ที่กล่าวว่า พระพุทธองค์ตรัสอภิธรรมปิฎกที่ดาวดึงส์เป็นความจริงเช่นกัน
เมื่อมีคนแย้งว่า แล้วเหตุใดจึงไม่พบข้อความจาก ภัทเทกรัตตสูตร อยู่ในอภิธรรมปิฎกเลย (?) ท่านพระคันธสาราภิวงศ์(วัดท่ามะโอ) ให้เหตุผลเอาไว้ดังนี้ว่า ....

“คาดว่าไม่ได้รับการบันทึกไว้ เพราะปรากฏในพระสุตตันตปิฎกแล้ว จึงไม่บันทึกเอาไว้อีกตามวิธีการสังคายนาซึ่งรวบรวมธรรมที่ซ้ำกันไว้เป็นหมวดหมู่ในที่แห่งเดียว”

ในเมื่อ นายระนาดเอก แสดงความเป็นห่วงเป็นใย ท่านพระคันธสาราภิวงศ์(วัดท่ามะโอ) มากนัก ดังนั้นขอให้ช่วยอธิบายความแทนพระรูปนี้ให้ทีว่า ไอ้ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น .... มันสมเหตุผล ตรงไหน (?)

(๑) จากข้อความในพระสูตรซึ่งระบุชัดว่า พระพุทธองค์ตรัสแสดง “อุเทศและวิภังค์ ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ” ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แล้วความข้อนี้มันจะกลายเป็นพระพุทธองค์ตรัส อภิธรรมปิฎก ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ไปได้อย่างไร แบบนี้แปลว่า ท่านพระคันธสาราภิวงศ์(วัดท่ามะโอ) โมเมตัวพ่อเลยมั้ยล่ะ !!!!

(๒) การที่ท่านท่านพระคันธสาราภิวงศ์ อ้างว่า ที่ไม่ปรากฏภัทเทกรัตตสูตร อยู่ในอภิธรรมปิฎก เพราะมีอยู่ในพระสูตรแล้ว จึงไม่บันทึกไว้อีก ตามวิธีการสังคายนา (!) ซึ่งคำกล่าวนี้ .... ไม่เป็นความจริง !!!!
ตัวอย่างเช่น ในพระสูตร(อังคุตตรนิกาย) มี ปุคคลวรรค ในอภิธรรมปิฎก(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๖) ก็ปรากฏว่ามี ปุคคลบัญญัติปกรณ์ .... อ้าววววววว แล้วอย่างนี้ไม่เรียกว่า “จดซ้ำ” หรือพระคุณท่าน (?)
ตัวอย่างการจดข้อความซ้ำกันในพระไตรปิฎกมีอีกเยอะแยะไปหมด เช่น ครุธรรม ๘ ประการที่ตรัสกับท่านมหาปชาบดีโคตมี ก็ปรากฏอยู่ทั้งในพระวินัยปิฎกและพระสุตตันตปิฎก กล่าวโดยสรุปก็คือ หลักการที่ ท่านพระคันธสาราภิวงศ์(วัดท่ามะโอ) อ้างขึ้นมานั้น ไม่เคยมีอยู่จริง แบบนี้แปลว่า ท่านพระคันธสาราภิวงศ์(วัดท่ามะโอ) โมเมตัวพ่อเลยมั้ยล่ะ !!!! ระนาดเอกก็อธิบายมาให้ชัดเจนด้วยก็แล้วกัน ....



ประเด็นที่ ๑๓

ความคิดเห็นที่ 42

วันนี้ขอยกอีกบทหนึ่ง จาก ขุททกนิกาย อปทาน
มาให้หลายๆท่านได้มีความเลื่อมใสในพระไตรปิฎก
รวมทั้งพระอภิธรรมปิฎกดังนี้นะครับ

----------------------------------------------------------------

"พระมุนีสัมพุทธชินเจ้าทรงแผลงฤทธิ์
ต่างๆ เสด็จไปยังดาวดึงส์เทวโลก ประทับเหนือบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์
ทรงจำพรรษาอยู่ ณ ดาวดึงส์นั้น ทรงแสดงพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์"


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕
ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
ว่าด้วยพระประวัติพระโกนาคมนพุทธเจ้า link

----------------------------------------------------------------

จะเห็นได้ว่า ในพระสูตรเองก็แสดงเรื่องนี้ไว้ชัดเจนอยู่แล้ว
ว่าการแสดงพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดาในดาวดึงส์นั้น
เป็นธรรมเนียมและเกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้าทุกพระองค์

ถ้าเรามีความเชื่อมั่นและจริงใจในพระไตรปิฎก ทุกบทก็จะ
สอดคล้องและรับเข้ากันได้หมด

จากคุณ : ชาวมหาวิหาร
เขียนเมื่อ : 10 พ.ค. 54 14:27:55


ผมขอตอบอธิบายโดยสังเขปว่า ....

ข้อความที่สมาชิกท่านนี้นำมาอ้างอิงนั้น ถือว่าใช้ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่อาจนำมาคัดค้านพุทธพจน์ที่ตรัสว่า อภิธัมเม หมายถึง โพธิปักขิยธรรม ได้อยู่ดี !!!!
บางท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมผมจึงกล่าวเช่นนั้น .... (?)
ขออธิบายให้ฟังดังนี้ว่า แท้ที่จริงแล้ว ข้อความทั้งหมดใน คัมภีร์อปทาน ล้วนแล้วแต่อยู่ในรูปแบบของคำฉันท์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สามารถสรุปได้อย่างง่ายดายว่า นี่เป็นคัมภีร์รุ่นหลังปฐมสังคายนา เนื่องจากพระพุทธองค์ได้รับสั่งกับภิกษุทั้งหลาย ปรากฏความใน พระวินัยปิฎกเล่ม ๗ ข้อที่ ๑๘๐ ความว่า ….
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงยกพุทธวจนะขึ้นโดยฉันท์(ภาษาสันสกฤต) รูปใดยกขึ้น ต้องอาบัติทุกกฏ”
ซึ่งย่อมเป็นที่แน่นอนเช่นกันว่า พระอรหันตสาวก ๕๐๐ รูปเมื่อครั้งปฐมสังคายนา ย่อมมิอาจล่วงละเมิดพระพุทธบัญญัตินี้(รวมทั้งพระบัญญัติอื่นด้วย)อย่างแน่นอน เนื่องจากท่านมีมติอย่างชัดแจ้งว่า ....

“สงฆ์ไม่พึงบัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่พึงถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว”

จึงเป็นอันสรุปได้ว่า ข้อความจาก คัมภีร์อปทาน เป็นคัมภีร์รุ่นหลัง มิใช่พุทธพจน์แน่ๆ ขอย้ำชัดๆนะครับว่า ข้อความในคัมภีร์อปทานนี้ มิใช่พุทธพจน์แท้ๆ และได้ถูกนำเข้ามาภายหลังปฐมสังคายนา แน่นอน !!!!








ประเด็นที่ ๑๔

ความคิดเห็นที่ 42


----------------------------------------------------------------

หลายท่านอาจจะสงสัยว่า พระอภิธรรมนั้นแสดงแก่ใครกันแน่
ในอัฏฐสาลีนีนั้นได้อธิบายว่า เมื่อทรงแสดงอภิธรรมบนดาวดึงส์นั้น
ก็ได้มาแสดงแก่พระสารีบุตรด้วย หลังจากนั้นพระสารีบุตรก็ได้
สอนต่อๆแก่พระสาวกทั้งหลายเป็นลำดับๆ

ส่วนบทที่ว่าพระอานนท์นั้นได้เรียนพระธรรมขันธ์ ๘๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
จากพระพุทธเจ้า และได้เรียนที่เหลืออีก ๒๐๐๐ จากพระมหาสาวกมี
พระสารีบุตรเป็นต้นนั้น ก็แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่า
พระอานนท์ก็ได้เรียน พระอภิธรรมปิฎกจากพระพุทธเจ้าโดยตรงเช่นกัน
ข้อนี้โปรดให้นึกถึง พรที่พระอานนท์ได้ขอจากพระพุทธเจ้าว่า
เมื่อทรงแสดงธรรมที่ไหนแล้ว ขอให้ได้มาแสดงธรรมนั้นแก่
พระอานนท์ทุกบท เพื่อที่พระมหาอุปัฏฐากพระอานนท์จะได้ไม่เป็น
ที่ครหาว่าเป็นผู้ใกล้ชิดพระองค์แต่กลับไม่รู้ธรรมบางข้อ

บางท่านอาจจะสงสัยว่า คัมภีร์กถาวัตถุนั้น เกิดขึ้นในการสังคายนา
ครั้งที่สามมิใช่หรือ แล้วเช่นนี้จะกล่าวว่า พระอภิธรรมเป็นพุทธพจน์ได้อย่างไร
ข้อนี้ตอบว่า กถาวัตถุนั้น แม้พระโมคคัลลีปุตตติสสเถระ เมื่อจะแสดงปกรณ์นี้
ท่านก็มิได้แสดงด้วยญาณของตน แต่แสดงตามมาติกาที่ตั้งไว้โดยนัย
ที่พระศาสดาประทาน ประมวลพระสูตรมาพันหนึ่ง คือ พระสูตร ๕๐๐ สูตร
ในฝ่ายสกวาที พระสูตร ๕๐๐ สูตรในฝ่ายปรวาที ซึ่งนัยแห่งมาติกานี้
ก็ได้ถูกแสดงโดยพระผู้มีพระภาคมาแต่ก่อนในพุทธกาลแล้ว ประดุจดัง
มธุปิณฑิกสูตร นั่นแล โปรดศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องนี้ได้ใน

อัฏฐสาลินีอรรถกถา หน้า 13 ถึง 17


จากคุณ : ชาวมหาวิหาร
เขียนเมื่อ : 10 พ.ค. 54 14:27:55


ประเด็นนี้ ขอแสดงข้อคัดค้าน ด้วยหลักฐานในชั้นอรรถกถา จากอัฏฐสาลินี(เล่มเดียวกันนั่นแหละ)
ซึ่งระบุว่า พระพุทธองค์ ตรัสอัฏฐกถากัณฑ์กับสัทธิวิหาริกของท่านพระสารีบุตรโดยตรง
ดังนั้น ผมจึงได้กล่าวอยู่เสมอว่า ข้อมูลในชั้นอรรถกถานั้น ต้องฟังหูไว้หูเสมอ .... ชัดเจนแล้วนะครับ (?)

ถามว่า ก็อัฏฐกถากัณฑ์นี้ เกิดแต่ใคร ?
ตอบว่า เกิดแต่พระสารีบุตรเถระ.
จริงอยู่ พระสารีบุตรเถระได้กล่าวอัฏฐกถากัณฑ์ให้สัทธิวิหาริกของ
ท่านรูปหนึ่ง ซึ่งไม่อาจกำหนดขยายเนื้อความในนิกเขปกัณฑ์ได้ แต่อัฏฐกถา
กัณฑ์นี้ ท่านกล่าวคัดค้านไว้ในมหาอรรถกถาว่า ธรรมดาพระอภิธรรมไม่ใช่
เป็นวิสัยของพระสาวก ไม่ใช่เป็นโคจรของพระสาวก พระอภิธรรมนี้เป็น
พุทธวิสัย เป็นโคจรของพระพุทธเจ้า แต่พระธรรมเสนาบดีถูกสัทธิวิหาริก
ถามแล้ว จึงพาสัทธิวิหาริกนั้นไปสำนักพระศาสดา แล้วทูลถามต่อพระสัมมา-
สัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสอัฏฐกถากัณฑ์ประทานแก่ภิกษุนั้น. ฯลฯ















ประเด็นที่ ๑๕

ความคิดเห็นที่ 73

ระหว่างที่ผมยังค้นกระทู้เก่าที่จะนำมาอ้างอิงไม่พบ
เพื่อแสดงว่า "ทฤษฎีโมเม" นั้น สร้างความเสียหายให้แก่ท่านพุทธทาสอย่างไร
เผอิญได้อ่านเนื้อความที่คุณชาฯ อุตส่าห์เรียบเรียง text ให้ใหม่..
ได้เห็นฤทธีกล่าวถึง กาลามสูตร
ก็ขอเชิญสมาชิกคุยกันอภิปรายไปพลาง ว่า

กาลามสูตร มีเนื้อหาอย่างไร?
เกี่ยวข้องกับการดับทุกข์ เป็นไปเพื่อการดับทุกข์หรือไม่?

"..ท่านสามารถอธิบายได้หรือไม่ว่า ข้อความใน กาลามสูตร เกี่ยวข้องกับทุกข์และความดับแห่งทุกข์อย่างไร อีกทั้งท่านสามารถยืนยันได้หรือไม่ว่า หากแม้ในชาติหนึ่งชาติใด ท่านมีวาสนาได้พบเพียงแต่กาลามสูตรนี้เพียงสูตรเดียวเท่านั้นในชีวิต ท่านจะสามารถนำข้อความจากสูตรนี้ ไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์โดยไม่เหลือ ได้หรือไม่ (?)

โดยตรรกะเดียวกับที่ฤทธีอ้างใช้กับ มหาสมยสูตร ..
ถ้ากาลามสูตรไม่มีเนื้อหาประโยชน์เกี่ยวข้องกับการดับทุกข์โดยไม่เหลือ
กาลามสูตรนี้ก็ควรจะเสมอภาคกับมหาสมยสูตร คือ เป็นสิ่งที่ "ยอมรับไม่ได้" !!

และเราก็ควรเห็นตามและปฏิบัติตามข้อเสนออันแสดงถึงความเคารพพระไตรปิฎกอย่างเหลือล้นของท่านพุทธทาส ..
และเป็นข้อเสนอที่จะนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคลต่อพระไตรปิฎกอย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์ ..

คือสมควร "เอาออกทั้งหมด" ใช่หรือไม่ ?!

จากคุณ : ระนาดเอก
เขียนเมื่อ : 11 พ.ค. 54 02:39:41



ผมขอตอบอธิบายโดยสังเขปว่า ....

สิ่งแรกที่ผมเห็นว่าควรกล่าวให้เข้าใจตรงกันเสียก่อนว่า มันไม่ใช่การเอาออก หรือไม่เอาออก แต่มันควรเป็นว่า เอาใจใส่ หรือ ไม่ควรเอาใจใส่ ต่อข้อความนั้นๆ เสียมากกว่า .... ชัดเจนนะครับ (?)
ในกรณีของ กาลามสูตรนั้นย่อมชัดเจนอยู่แล้วว่า พระพุทธองค์ตรัสสอนครบทั้ง ศีล สมาธิ และ ปัญญา ถ้าท่านทั้งหลายอ่านพระสูตรนี้อย่างครบถ้วนนะครับ .... หึหึหึหึ

(๑) กรณี ศีล พระพุทธองค์ตรัสอย่างนี้ว่า ….
“ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้โลภ ผู้โกรธ ผู้หลง ถูกความโลภ ความโกรธ ความหลงครอบงำ มีจิตอันความโลภ ความโกรธ ความหลง กลุ้มรุมนี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เพื่อทุกข์ สิ้นกาลนาน บุคคลผู้โลภ ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้ ฯ” .... ท่านทั้งหลายเห็นศีลชัด ใช่ไหมครับ (?)

(๒) กรณี สมาธิ พระพุทธองค์ตรัสอย่างนี้ว่า ….
“ดูกรกาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้น ปราศจากความโลภ ปราศจากความพยาบาท ไม่หลงแล้วอย่างนี้ มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกข์เหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีใจประกอบด้วยกรุณา ... มีใจประกอบด้วยมุทิตา ... มีใจประกอบด้วยอุเบกขาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกันตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประโยชน์มิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ฯ” …. นี่คือตรัสสอน อัปปมัญญา ๔ ชัดเจนนะครับ !!!!

(๓) กรณี ปัญญา พระพุทธองค์ตรัสอย่างนี้ว่า ….
“ดูกรกาลามชนทั้งหลายอริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิตไม่มีความเบียดเบียนอย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้มีจิตผ่องแผ้วอย่างนี้ย่อมได้รับความอุ่นใจ ๔ ประการในปัจจุบันว่า
ก็ถ้าปรโลกมีจริง ผลวิบากของกรรมทำดีทำชั่วมีจริง เหตุนี้เป็นเครื่องให้เราเมื่อแตกกายตายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ ความอุ่นใจข้อที่ ๑ นี้ พระอริยสาวกนั้นได้แล้ว
ก็ถ้าปรโลกไม่มี ผลวิบากของกรรมทำดีทำชั่วไม่มี เราไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์เป็นสุข บริหารตนอยู่ในปัจจุบันนี้ ดังนี้ ความอุ่นใจข้อที่ ๒ นี้ พระอริยสาวกนั้นได้แล้ว
ก็ถ้าเมื่อบุคคลทำอยู่ ชื่อว่าทำบาป เราไม่ได้คิดความชั่วให้แก่ใครๆ ไหนเลยทุกข์จักมาถูกต้องเราผู้ไม่ได้ทำบาปกรรมเล่า ดังนี้ ความอุ่นใจข้อที่ ๓ นี้ พระอริยสาวกนั้นได้แล้ว
ก็ถ้าเมื่อบุคคลทำอยู่ ไม่ชื่อว่าทำบาป เราก็ได้พิจารณาเห็น ตนว่าเป็นคนบริสุทธิ์แล้วทั้งสองส่วน ดังนี้ ความอุ่นใจข้อที่ ๔ นี้ พระอริยสาวกนั้นได้แล้ว
ดูกรกาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้มีจิตไม่มีความเบียดเบียนอย่างนี้ มีจิตไม่มีเศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตผ่องแผ้วอย่างนี้ ย่อมได้รับความอุ่นใจ ๔ ประการนี้แลในปัจจุบัน ฯ” .... นี่คือตรัสสัมมาทิฐิ กรุณาไปตรวจสอบเปรียบเทียบกับ พุทธพจน์จาก มหาจัตตารีสกสูตร เอาเองนะครับ

สรุปก็คือ ผมได้บอก “หลักการ” ที่สำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชน อีกทั้งยังอธิบายขยายความออกไปมากพอสมควรแล้วนะครับ ซึ่งนับจากนี้ไป ผมเห็นว่า ท่านผู้มีสติปัญญาทั้งหลายย่อมสามารถพิจารณาผิดชอบชั่วดีได้ด้วยตนเอง นะครับ
แต่ถ้าหากท่านผู้ใดต้องการ อภิปรายกับผมต่อไปอีก ก็ขอความกรุณาดังนี้ว่า ควรโต้แย้งทีละประเด็น ด้วยหลักฐานคือพุทธพจน์ที่ชัดแจ้งอย่างไร้ข้อกังขา โดยอธิบายขยายความเพียงเล็กน้อยก็พอ อย่าได้พยายามมาอวดภูมิรู้อะไรๆกับผมเลย เพราะผมเหม็นเบื่อ ขี้เกียจอ่านขี้เกียจฟังเต็มที และไม่ต้องการเสียเวลาในการอธิบายขยายความเพื่อแก้ “ความเห็นผิด” ที่มีอยู่มากมายตามที่ปรากฏอยู่นี้ ซึ่งไม่ค่อยเกี่ยวกับเนื้อหาหลักสักเท่าใดเลย
ดังนั้น ขอความกรุณาว่า อย่ามากล่าวอารัมภบทยาวๆ และไม่ต้องชักแม่น้ำทั้ง ๕ เพียงแค่เอาหลักฐานมาแสดงตรงๆก็พอแล้ว อีกทั้งไม่จำเป็นต้องมาตั้งคำถามอวดภูมิอวดฉลาด น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหลงเหลงอะไรอีกแล้วนะครับ ผมขี้เกียจอธิบาย(แก้) มันเสียเวลามาก !!!!

ฉนั้น ประเด็นหลัก ก็มีอยู่เพียงว่า ผมเห็นว่าในกรณี อภิธรรมปิฎกนี้ ท่านพุทธทาสมิได้ทำอะไรผิด ซึ่งได้อธิบายหลักฐานและเหตุผลต่างๆ ซึ่งน่าจะมากพอสมควรแก่การทำความเข้าใจแล้วนะครับ ดังนั้น ถ้าหากใครต้องการค้านความข้อนี้ ก็เพียงแต่ ….
(๑) หาหลักฐานมาแสดงว่า พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาไว้ที่ไหนหรือไม่ว่า อภิธัมเม หมายถึง อภิธรรมปิฎก ผมขอหลักฐานในชั้นพุทธพจน์นะครับ การอ้างข้อความจาก อปทาน นั้นยังใช้ไม่ได้นะครับ ผมอธิบายให้ฟังแล้วว่าเพราะอะไร คงไม่ต้องมาพูดซ้ำอีก
(๒) ประเด็นเรื่อง ทุกข์และความดับทุกข์นั้น ผมได้อธิบายตัวอย่างมามากพอสมควรแล้วนะครับ นั่นจึงหมายความว่า ห้ามใช้มุขปัญญาอ่อนประเภท ยกพระสูตรมาให้ผมวินิจฉัยไปเรื่อยๆไม่รู้จบรู้สิ้น อย่างนี้ไม่เอานะครับ ขอห้ามขาดเลยนะครับ กรุณาอย่ามาอวดฉลาดกันด้วยวิธีนี้เลย
(๓) ผมหวังว่า ท่านทั้งหลายจะสามารถเข้าใจหลัก ในการโต้แย้งนะครับ ถ้าผมยกพุทธพจน์จากพระสูตรขึ้นอ้าง คุณก็ต้องยกพุทธพจน์ขึ้นมาแย้งนะครับ คุณจะยกอรรถกถามาแย้งไม่ได้ คุณจะยกคำของพระเถระมาแย้งไม่ได้ .... หลักการเป็นอย่างนี้ เข้าใจไม่ยาก ใช่ไหมครับครับ (?)
(๔) กรณีอื่น ที่นอกเหนือไปจากเรื่อง อภิธรรมปิฎก และเรื่องทุกข์กับความดับทุกข์ ไม่ต้องนำมายัดทะนานในที่นี้เสียทั้งหมดนะครับ ถ้าอยากจะเสวนาอะไรกัน ก็กรุณานำไปตั้งกระทู้ใหม่นะครับ มิฉนั้น มันจะกลายเป็นว่า เมื่อจนด้วยเหตุผลและหลักฐาน มันก็แตกประเด็นออกไปเรื่อยๆไม่จบสิ้น ผมไม่มีเวลามากขนาดนั้น หวังว่าจะสามารถเข้าใจได้ตามสมควรนะครับ !!!!


ขอให้มีความสุขตามสมควร

Ritti Janson



http://www.oknation.net/blog/SiamBhikhunis

http://rittijanson.blogspot.com/