วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เรื่องของ .... ฉันท์

ช่างน่าสมเพชเป็นอย่างยิ่งที่พบว่า มีกลุ่มบุคคลซึ่งพยายามแสดงตัวว่าเป็นชาวพุทธ แต่กลับมีพฤติกรรม ต่ำช้า กล่าววาจาจาบจ้วงใส่ร้าย “พระมหาเถระ” ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ อีกทั้งยังพบว่า โดยส่วนใหญ่แล้วมีพื้นเพความรู้ทางพระศาสนาที่ “ผิวเผิน” เสียจนแทบจะกลายเป็นพวกที่พูดภาษาคนไม่รู้เรื่อง เอาเลยทีเดียว

ถ้าท่านทั้งหลายจะได้มีโอกาสพิจารณาข้อความจาก พระวินัยปิฎกเล่ม ๗ จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๑๘๐ ซึ่งปรากฏข้อความดังนี้ว่า ....

“สมัยนั้น ภิกษุสองรูปเป็นพี่น้องกัน ชื่อเมฏฐะและโกกุฏฐะเป็นชาติพราหมณ์ พูดจาอ่อนหวาน เสียงไพเราะ เธอสองรูปนั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ ภิกษุทั้งหลายต่างชื่อต่างโคตร ต่างชาติ ต่างสกุลกันเข้ามาบวช พวกเธอจะทำพระพุทธวจนะให้ผิดเพี้ยนจากภาษาเดิม มิฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะขอยกพระพุทธวจนะขึ้นโดยภาษาสันสกฤต
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆะบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า มิฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะขอยกพระพุทธวจนะ ขึ้นโดยภาษาสันสกฤตดังนี้เล่า ดูกรโมฆะบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ...
ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงยกพุทธวจนะขึ้นโดยภาษาสันสกฤต รูปใดยกขึ้น ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เล่าเรียนพุทธวจนะตามภาษาเดิม ฯ”

ทีนี้ เมื่อพิจารณาข้อความจากพระไตรปิฎกแปลไทย ก็จะได้ความว่า พระพุทธองค์ตรัสห้ามมิให้ภิกษุทั้งหลายยกพุทธพจน์ขึ้นโดยภาษาสันสกฤต !!!!

อ้าววววววว แล้ว นาย Ritti Janson มันไปเอาคำว่า “ฉันท์” มาจากไหนล่ะนี่ .... มันมั่วหรือเปล่าวะ (?)

โดยธรรมดานะครับ ถ้าอ่านพระไตรปิฎกแปลไทยแล้ว เกิดความสงสัยไม่แน่ใจ ก็ควรที่จะลองไปดูข้อความในอรรถกถานั้นเสียด้วย นี่ผมแนะนำให้ทำนะครับ ขอให้ท่านทั้งหลายสังเกตด้วยว่า ก็มิใช่ว่า ผมจะรังเกียจเดียดฉันท์ คัมภีร์อรรถกถา เสียเมื่อไร ซึ่งอรรถกถาจารย์ก็ได้ไขความหมายเอาไว้ดังนี้ว่า ....

บทว่า กลฺยาณวากฺกรณา ได้แก่ เป็นผู้มีเสียงไพเราะ.
สองบทว่า ฉนฺทโส อาโรเปม มีความว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะยก
พระพุทธวจนะขึ้นสู่ทางแห่งการกล่าวด้วยภาษาสันสกฤตเหมือนเวท
โวหารที่เป็นของชาวมคธ มีประการอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแล้ว
ชื่อภาษาเดิม ในคำว่า สกาย นิรุตฺติยา นี้.

หวังว่าท่านทั้งหลายคงพอจะเห็นเงื่อนงำแล้วนะครับว่า ผมเอาคำว่า “ฉันท์” มาจากไหน (?)
กรุณาพิจารณาจากพระบาลี นะครับ ....

เตน โข ปน สมเยน เมฏฺโกกุฏฺา ๓ นาม ภิกฺขู
เทฺว ภาติกา โหนฺติ พฺราหฺมณชาติกา กลฺยาณวาจา กลฺยาณวากฺกรณา ฯพ
เต เยน ภควา เตนุปสงฺกมึสุ อุปสงฺกมิตฺวา
ภควนฺต อภิวาเทตฺวา เอกมนฺต นิสีทึสุ ฯ เอกมนฺต นิสินฺนา
โข เต ภิกฺขู ภควนฺต เอตทโวจุ เอตรหิ ภนฺเต ภิกฺขู
นานานามา นานาโคตฺตา นานาชจฺจา นานากุลา ปพฺพชิตา เต
สกาย นิรุตฺติยา พุทฺธวจน ทูเสนฺติ หนฺท มย ภนฺเต พุทฺธวจน
ฉนฺทโส อาโรเปมาติ ฯ วิครหิ พุทฺโธ ภควา กถ หิ นาม
ตุเมฺห โมฆปุริสา เอว วกฺขถ หนฺท มย ภนฺเต พุทฺธวจน
ฉนฺทโส อาโรเปมาติ เนต โมฆปุริสา อปฺปสนฺนาน วา ปสาทาย
ฯเปฯ วิครหิตฺวา ธมฺมึ กถ กตฺวา ภิกฺขู อามนฺเตสิ น
ภิกฺขเว พุทฺธวจน ฉนฺทโส อาโรเปตพฺพ โย อาโรเปยฺย
อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส อนุชานามิ ภิกฺขเว สกาย นิรุตฺติยา พุทฺธวจน
ปริยาปุณิตุนฺติ ฯ

เรื่องของเรื่องก็คือ จริงๆแล้วพระพุทธองค์ตรัสออกมาตรงๆ ด้วยคำว่า “ฉันท์” ซึ่งลักษณะของฉันท์ก็คือ ข้อความที่ถูกแต่งขึ้นมาเป็นกาพย์กลอน เป็นโศลก เหมือน คัมภีร์พระเวทของพราหมณ์ แปลความได้ว่า พระบัญญัติที่ตรัสห้ามมิให้ยกพุทธพจน์ขึ้นสู่ฉันท์นั้น มีองค์ประกอบอยู่ ๒ ประการ คือ ….

(๑) ห้ามแต่งพระธรรมวินัยเป็นบทกวี เนื่องจาก ฉันทลักษณ์ ที่บังคับลักษณะทางคำประพันธ์ชนิดนั้นๆ อาจส่งผลทำให้ พุทธพจน์ ถูกบิดเบือนความหมายไปได้ และยิ่งถ้าผู้แต่ง(บทกวี)ไม่แตกฉานในภาษาเพียงพอ ก็จะเป็นการทำร้ายพุทธพจน์(ไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์)
(๒) ห้ามจดบันทึกพระธรรมวินัยด้วยภาษาสันสกฤต เนื่องจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาของชนชั้นสูงในสมัยนั้น ซึ่งจำกัดอยู่แต่ในกลุ่มอภิสิทธิ์ชน ดังนั้นถ้าปล่อยให้ทำได้ นานวันไป พระธรรมคำสอนของพระองค์ก็จะถูกสงวนไว้สำหรับชนชั้นสูง(กลุ่มน้อย) ซึ่งขัดกับพุทธประสงค์ที่จะตรัสสั่งสอนชาวบ้านรากหญ้าด้อยสิทธิ์ไร้การศึกษา เป็นสำคัญ

ดังนั้น ถ้าจะแปลพระบาลีข้อนี้ให้ตรงต่อความหมายจริงๆแล้ว ควรกล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงยกพุทธวจนะขึ้นโดย “คำฉันท์” รูปใดยกขึ้น ต้องอาบัติทุกกฏ โดยที่พระบัญญัตินี้ จะมีความเข้มงวดมากจำเพาะการแต่งตำราที่ใช้สำหรับศึกษาเล่าเรียน(พระธรรมวินัย)เท่านั้น แต่หากเป็นการแต่งหนังสือในเชิง “สดุดี” เพื่อส่งเสริมศรัทธาปสาทะของศาสนิกชน (ไม่ใช่ตำราสำหรับการศึกษาพุทธพจน์) ก็มักได้รับการผ่อนปรน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยหลัง(มากแล้ว) แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็คือ มีชาวพุทธบางหมู่เหล่า ไม่เข้าใจความข้อนี้ แต่ได้พยายามที่จะนำเอา “ข้อความ” จากคัมภีร์ที่เป็นบทกวีประกอบด้วยฉันทลักษณ์ ซึ่งแต่งขึ้นเพื่อเจริญศรัทธาปสาทะในหมู่พุทธศาสนิกชน มาอ้างอิงเพื่อคัดค้านหลักฐานซึ่งอยู่ในชั้นพุทธพจน์ ได้อย่างหน้าตาเฉย !!!!

ในกรณี อภิธัมเม หมายถึง โพธิปักขิยธรรม นั้นเป็นความหมายจากพระโอษฐ์แท้ๆ แต่บรรดาชาวพุทธ “ขี้เท่อ” ได้มีความพยายามเป็นอย่างมาก ที่จะยัดเยียดให้ อภิธรรมปิฎก เป็นพุทธพจน์โดยตรงให้ได้ ทั้งๆที่ ไม่ว่าอภิธรรมปิฎกจะเป็นพุทธพจน์ที่ตรัสจากพระโอษฐ์จริงหรือไม่ นั่นก็มิได้ทำให้ความสำคัญของอภิธรรมปิฎกด้อยลงไปแม้สักน้อย เพราะถึงอย่างไรก็ตาม พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสหลักการตรวจสอบพระธรรมวินัยเอาไว้ให้พุทธศาสนิกแล้ว กล่าวคือ มหาปเทส ๔ นั่นเอง
โดยหลักในการตรวจสอบและอ้างอิงในพระพุทธศาสนานั้น ย่อมชัดเจนอยู่ว่า มีการเรียงลำดับความสำคัญในการอ้างอิงเอาไว้อย่างชัดเจนว่า อันดับ ๑ คือ พุทธพจน์ โดยมีการลำดับการอ้างอิงเอาไว้ดังนี้คือ ....

๑) สุตตะ ได้แก่ พระไตรปิฎก
๒) สุตตานุโลม ได้แก่ มหาปเทส (ยอมรับอรรถกถาด้วย)
๓) อาจริยวาท ได้แก่ อรรถกถา (พ่วงฎีกา อนุฎีกาด้วย)
๔) อัตตโนมติ ได้แก่ มติของบุคคลที่นอกจากสามข้อต้น

ทั้งนี้ ขอเตือนความทรงจำของท่านทั้งหลายเอาใว้ด้วยว่า แม้แต่อรรถกถาจารย์ ท่านยังกล่าวเป็นหลักการเอาใว้เลยทีเดียวว่า “เมื่อค้านสุตตะ ก็คือ ค้านพระพุทธเจ้า” แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ แม้แต่ในพระไตรปิฎกเอง ก็มิใช่ว่าจะเป็น “สุตตะ” หรือ “พุทธพจน์” ไปเสียทั้งหมด อีกทั้งยังปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนว่า พระไตรปิฎกตามที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน มิใช่ของเก่าเมื่อสมัยปฐมสังคายนาทั้งหมด ซึ่งดูเหมือนว่า บรรดาชาวพุทธ “ขี้เท่อ” ทั้งหลายจะยังมิได้สำเหนียกความจริงข้อนี้กันสักเท่าไร ทั้งๆที่ สัตตสติกขันธกะ(จากพระวินัยปิฎกเล่มที่ ๗) หรือ คัมภีร์ปริวาร(พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๘) ก็ย่อมเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นอยู่ซึ่งๆหน้าอยู่แล้ว แต่ดูเหมือนว่า คนเหล่านั้นจะเป็นพวกตาบอดตาใส หรืออย่างไรก็มิอาจทราบได้ !!!!
จำเพาะ “คัมภีร์อปทาน” นั้นก็ชัดเจนอย่างมิต้องสงสัยเลยว่า เป็นของใหม่ มิใช่เป็นมุขปาฐะที่สืบต่อมาจากปฐมสังคายนา เพราะ อปทาน เป็นคัมภีร์ที่แต่งด้วย “คำฉันท์” ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยว่า พระอรหันตเถระ เมื่อสมัยปฐมสังคายนา จะล่วงละเมิดพระบัญญัติของพระพุทธองค์
ดังนั้น การยกข้อความจาก คัมภีร์อปทาน มาคัดค้านข้อความซึ่งเป็นพุทธพจน์แท้ๆจากพระสูตร จึงย่อมเป็นการกระทำที่โง่เขลาเบาปัญญาโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ ดูเหมือนว่า บรรดาชาวพุทธขี้เท่อเหล่านั้น จะยังไม่ทราบด้วยซ้ำไปว่า ตนเองกำลังทำความผิดอย่างมหันต์ โดยที่ยังหลงนึกฝันไปว่า ตนกำลังปกป้องพระธรรมวินัย(อะไรๆ) ตามความเชื่อของเขาอยู่อย่างสุดกำลัง และสมควรแก่การสรรเสริญ (!)

ทั้งนี้ ขอให้พิจารณา กรณี ท่านพระอานนท์วิสัชนาพระธรรม จาก ปัญจสติกขันธกะ(พระวินัยปิฎก เล่ม ๗ จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๖๑๙) ดังนี้คือ ....

ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรม วาจา ว่าดังนี้:
ญัตติกรรมวาจา
ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ ถึงที่แล้ว
ข้าพเจ้าจะพึงถามธรรมกะท่านพระอานนท์
ท่านพระอานนท์ ประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:
ญัตติกรรมวาจา
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ ถึงที่แล้ว
ข้าพเจ้าอันท่านพระมหากัสสปถามธรรมแล้วจะพึงวิสัชนา
ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปถามท่านพระอานนท์ว่า ท่านอานนท์ พรหม ชาลสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสที่ไหน
อา. ตรัสในพระตำหนักในพระราชอุทยานอัมพลัฏฐิกาในระหว่างกรุงราช คฤห์ และเมือง
นาลันทาต่อกัน ขอรับ
ม. ทรงปรารภใคร
อา. ทรงปรารภสุปปิยปริพาชก และพรหมทัตตมาณพ
ลำดับนั้น ท่านพระมหากัสสป ได้ถามนิทาน และบุคคลแห่งพรหมชาลสูตร กะท่าน
พระอานนท์ แล้วถามต่อไปว่า ท่านอานนท์สามัญญผลสูตร พระผู้มีพระภาค ตรัสที่ไหน
อา. ที่วิหารชีวกัมพวัน เขตกรุงราชคฤห์ ขอรับ
ม. ตรัสกับใคร
อา. กับพระเจ้าอชาตสัตตุ เวเทหิบุตร
ลำดับนั้น ท่านพระมหากัสสป ถามนิทาน และบุคคลแห่งสามัญญผลสูตร กะท่านพระ
อานนท์ แล้วถามตลอดนิกาย ๕ โดยอุบายนั้นแล ท่านพระอานนท์ผู้อัน ท่านพระมหากัสสปถาม
แล้ว ถามแล้ว ได้วิสัชนาแล้ว ฯ

ข้อความจากหลักฐานข้างต้นย่อมเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปในหมู่ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาว่า เมื่อครั้งปฐมสังคายนานั้น การสังคายนา “พระธรรม” หมายความถึง พระสูตร ๕ นิกาย คือ (๑) ทีฆนิกาย (๒) มัชฌิมนิกาย (๓) สังยุตนิกาย (๔) อังคุตตรนิกาย และ (๕) ขุททกนิกาย

พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือ ในหลักฐานชั้นเดิมสุด อันเกี่ยวกับการสังคายนาพระธรรมวินัยนั้นไม่เคยปรากฏคำว่า อภิธรรมปิฎก เลยแม้แต่ครั้งเดียว จนแม้แต่การสังคายนาครั้งที่ ๒ ก็ยังไม่ปรากฏคำๆนี้ หากแต่เพิ่งปรากฏคำว่า อภิธรรมปิฎก เมื่อสังคายนาครั้งที่ ๓ นี่เอง

ทีนี้ บรรดาชาวพุทธขี้เท่อ เขามักจะไม่เข้าใจ และไม่รู้จักแยะแยะว่า การอ้างอิงหลักฐาน ก็ต้องมีลำดับชั้นในการอ้างอิง ตัวอย่างเช่น คุณจะเอาหลักฐานจากอรรถกถา มาค้าน หลักฐานจากพระไตรปิฎก ไม่ได้ หรือถ้าเป็นหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกด้วยกัน คุณจะเอา สาวกพจน์ มาคัดค้าน พุทธพจน์ ไม่ได้
นั่นจึงหมายความว่า เมื่อผมเสนอหลักฐานในชั้นพุทธพจน์มาแสดงว่า อภิธัมเม ที่พระพุทธองค์ตรัส ว่าหมายถึง โพธิปักขิยธรรม เท่านั้น โดยที่พระพุทธองค์ไม่เคยตรัสความหมายอื่นไว้เลย ดังนั้น ถ้าหากใครก็ตาม ต้องการคัดค้านความข้อนี้ ก็มีอยู่ทางเดียวก็คือ ต้องยกข้อความที่อยู่ในชั้นพุทธพจน์มาอ้างอิง เพราะต่อให้คุณยกอรรถกถามาอ้างอิงให้มากสักแค่ไหน ก็ไม่มีผลอะไร เนื่องจากข้อความที่ยกมา เป็นเพียงแค่หลักฐานชั้นอรรถกถา ซึ่งถึงอย่างไรก็ไม่อาจค้านพุทธพจน์ได้ (จะเข้าใจ ไหมนี่)

ครั้นจะยกหลักฐานจาก “คัมภีร์อปทาน” ขึ้นมาอ้าง ก็ยังติดปัญหาข้อขัดข้องอยู่ถึง ๒ ประการ กล่าวคือ

(๑) ข้อความที่อ้างถึงนั้นเป็น คัมภีร์อปทานภาค ๒ พุทธวังสะ โกนาคมนพุทธวงศ์ที่ ๒๓ ว่าด้วยพระประวัติพระโกนาคมนพุทธเจ้า ซึ่งผู้ที่ยกข้อความนี้มาอ้าง ก็สมควรมีความซื่อตรงต่อหลักฐานด้วยว่า นั่นไม่ใช่ข้อความจาก โคตมพุทธวงศ์ที่ ๒๕ ซึ่งว่าด้วยพระประวัติพระโคตมพุทธเจ้า อีกทั้งยังพบว่า นอกจาก โกนาคมนพุทธวงศ์แล้ว ไม่พบข้อความจากพุทธวงศ์ใดๆเลย(จากทั้งหมด ๒๕ พุทธวงศ์)ที่กล่าวถึงการเสด็จไปยังดาวดึงส์เทวโลก และทรงแสดงพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ที่นั่น รวมไปถึง โคตมพุทธวงศ์ ก็ไม่ปรากฏความข้อนี้ด้วยเช่นกัน !!!!

(๒) คัมภีร์อปทาน เป็นคัมภีร์ที่แต่งด้วย “คำฉันท์” จึงมิใช่ “พุทธพจน์ตรัสเองจากพระโอษฐ์” อย่างแน่นอน ดังนั้น ย่อมมิอาจนำมาคัดค้าน ความหมายของ อภิธัมเม(โพธิปักขิยธรรม) ซึ่งเป็นความหมายจากพุทธพจน์ได้ ซึ่งนี่เป็นหลักในการอ้างอิงพระธรรมวินัยตามปกติ ที่ชาวพุทธโดยทั่วไปควรทราบเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ดังนั้น การที่บรรดาชาวพุทธขี้เท่อ พยายามยกข้อความจากคัมภีร์อปทานมาอ้างอย่างไม่ลืมหูลืมตา จึงสมควรเรียกว่า “ดันทุรัง” อย่างขาดสติ มากกว่าที่จะเรียกตัวเองว่า “ปกป้อง” พระธรรมวินัย ดังที่พยายามจะ “ยกหูชูหาง” กันอยู่นั้น

เมื่อหลักฐานจาก ปัญจสติกขันธกะ(พระวินัยปิฎก เล่ม ๗ จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๖๑๙) มันชัดเจนอยู่ดังนี้ ฝ่ายนักอภิธรรม(นิยม) เขาก็อ้างกันดื้อๆ ว่า ในสมัยปฐมสังคายนา อภิธรรมปิฎก ได้ถูกบรรจุอยู่ใน ขุททกนิกาย แต่กระนั้น การอ้างเหตุผลอย่างนี้ มันก็มิได้มีหลักฐานอะไรยืนยัน นอกไปเสียจากการ “สันนิษฐาน”
อีกทั้ง การอ้างว่า อภิธรรมปิฎก เคยได้ถูกบรรจุอยู่ใน ขุททกนิกาย เมื่อสมัยปฐมสังคายนา ก็เท่ากับเป็นการยอมรับโดยปริยายว่า อภิธรรมปิฎก เป็นของที่เพิ่งเกิดขึ้นมาในสมัยหลังนั่นเอง ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปอย่างนี้แล้ว พวกคุณทั้งหลาย จะยอมรับกันได้ไหมล่ะ (?)

วิธีการที่จะตรวจสอบว่า ข้อความใด(น่าจะ)เป็นพระสูตรหรือไม่ ก็มีวิธีการตรวจสอบแบบง่ายๆ กล่าวคือ ในขั้นต้นก็เพียงแค่ตรวจสอบดูว่า เริ่มต้นข้อความด้วยคำว่า เอวมฺเม สุตํ (ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วดังนี้) หรือไม่ กล่าวคือ ถ้าขึ้นต้นด้วยคำๆนี้ ก็พอจะเชื่อได้ในระดับหนึ่งว่า เป็นพระสูตร ซึ่งเมื่อตรวจสอบด้วยวิธีการอย่างนี้ ก็พบว่า ใน ขุททกนิกาย นั้น มีเพียงแต่ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ (ขุททกปาฐะ ธัมมปทคาถา อุทาน อิติวุตตกะ สุตตนิบาต) และ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ (ปฏิสัมภิทามรรค) ที่มีคำว่า เอวมฺเม สุตํ ปรากฏอยู่ โดยสามารถสรุปรูปแบบลักษณะของพระไตรปิฎก แต่ละเล่มในขุททกนิกายโดยย่อได้ดังนี้คือ ....

(๑) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ คือ ขุททกปาฐะ ธัมมปทคาถา อุทาน อิติวุตตกะ สุตตนิบาต
(๒) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ คือ วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา
(๓) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗ คือ ชาดก ภาค ๑
(๔) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๘ คือ ชาดก ภาค ๒
(๕) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ คือ มหานิทเทส ใจความทั้งหมดก็คือ การอธิบายพระสูตรจาก สุตตนิบาต วรรค ๔ จำนวน ๑๖ สูตร อย่างละเอียดทีละตัวอักษร (ซึ่งก็คือต้นแบบของคัมภีร์อรรถกถานั่นเอง)
(๖) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๐ คือ จูฬนิทเทส ใจความทั้งหมดก็คือ การอธิบายพระสูตรจาก สุตตนิบาต อีกจำนวน ๑๗ สูตร อย่างละเอียดทุกตัวอักษรเช่นกัน (ซึ่งก็คือต้นแบบของคัมภีร์อรรถกถานั่นเอง)
(๗) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ คือ ปฏิสัมภิทามรรค
(๘) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒ คือ คัมภีร์ อปทาน ภาค ๑ ปรากฏข้อความในลักษณะที่เป็นคำฉันท์
(๙) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๓ คือ คัมภีร์ อปทาน ภาค ๒ ปรากฏข้อความในลักษณะที่เป็นคำฉันท์
จำเพาะ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ (ขุททกปาฐะ ธัมมปทคาถา อุทาน อิติวุตตกะ สุตตนิบาต) และ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ (ปฏิสัมภิทามรรค) ที่มีคำว่า เอวมฺเม สุตํ ปรากฏอยู่นั้น ก็ยังสามารถพิจารณาถึงความแตกต่างได้ดังนี้ว่า ที่ได้ปรากฏ เอวมฺเม สุตํ ใน ปฏิสัมภิทามรรค ก็เนื่องจาก มีการนำ “พุทธภาษิต” มาเป็นบทตั้งแล้ว (ท่านพระสารีบุตร) อธิบายขยายความอีกต่อหนึ่ง ซึ่งลักษณะของ คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค นี่เองที่เป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณาข้ออ้างของฝ่าย อภิธรรมปิฎก ว่ามีเงื่อนงำที่น่าสงสัย ในคำอธิบายซึ่งอ้างข้อความจาก คัมภีร์ อปทาน ภาค ๒ พุทธวังสะ โกนาคมนพุทธวงศ์ที่ ๒๓ ว่าด้วยพระประวัติพระโกนาคมนพุทธเจ้า ความว่า ....

“ .... ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๒ ได้มีแก่สัตว์สองหมื่นโกฏิ ต่อแต่นั้น พระมุนีสัมพุทธชินเจ้าทรงแผลงฤทธิ์
ต่างๆ เสด็จไปยังดาวดึงส์เทวโลก ประทับเหนือบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ทรงจำพรรษาอยู่ ณ ดาวดึงส์นั้น ทรงแสดงพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ .... ฯลฯ”

ประเด็นปัญหา มันก็ติดอยู่ที่คำว่า พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ นี่แหละ ทั้งนี้ เพราะเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๗ ชื่อ กถาวัตถุ นั้นแต่งโดยพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระ เมื่อสังคายนาครั้งที่ ๓ โดยมีแต่เพียงการ “กล่าวอ้าง” ของคัมภีร์ชั้นอรรถกถาว่า พระพุทธองค์ทรงกล่าวถึงบทตั้ง หรือคำเริ่มต้นไว้เพียงเล็กน้อย จากนั้นพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระ จึงได้เรียบเรียงขึ้นจนจบ (!)
ถึงแม้จะอ้างว่ามีพุทธพจน์เป็นบทตั้ง แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ปรากฏ บทตั้งเหมือนดังที่ปรากฏอยู่ใน คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค ซึ่งถือว่าเป็น ภาษิตของท่านพระสารีบุตรนั้นเลย และสภาพตามความเป็นจริงของ คัมภีร์กถาวัตถุ ก็คือการจดบันทึก รายละเอียดกระบวนการหรือแนวทางในการสอบสวนพระธรรมวินัย เมื่อสมัยสังคายนาครั้งที่ ๓ โดยท่านพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระ .... ซึ่งนี่เป็นข้อเท็จจริง ทั้งในแง่ของตัวคัมภีร์และประวัติศาสตร์โบราณคดี
ประเด็นที่จะต้องพิจารณาให้ดีด้วยสติ ก็คือ แม้ว่า คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค จะมีบทตั้งเป็น “พุทธภาษิต” แต่เราก็ยังมีความเข้าใจและกล่าวกันโดยทั่วไปว่า คัมภีร์นี้เป็น ภาษิตของท่านพระสารีบุตร
แต่ คัมภีร์กถาวัตถุ กลับไม่ปรากฏว่ามีบทตั้งอย่างเป็นทางการเหมือนกับ คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค นั้นเลย ลักษณะที่แท้จริงของคัมภีร์กลับเป็นแค่เพียง การจดบันทึก รายละเอียดกระบวนการหรือแนวทางในการสอบสวนพระธรรมวินัย ซึ่งแน่นอนว่า ต้องทำการ การตรวจสอบตามหลักการ(มหาปเทส ๔) กล่าวคือ ....

“พวกเธอไม่พึงชื่นชม ไม่พึงคัดค้าน คำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วสอบสวน ในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย”

๑) ถ้าสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรไม่ได้ เทียบเคียงในพระวินัยไม่ได้
พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้มิใช่คำของพระพุทธองค์แน่นอน และภิกษุนี้จำมาผิดแล้ว ดังนั้น พวกเธอพึง ทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย
๒) ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรได้ เทียบเคียงในพระวินัยได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำ สั่งสอนของพระพุทธองค์แน่นอน และภิกษุนี้จำมาถูกต้องแล้ว

และเมื่อมีการสอบสวนเทียบเคียงในพระสูตรและพระวินัย ก็ย่อมต้องมีการอ้างถึงพุทธพจน์อย่างมิต้องสงสัย แต่นั่นก็มิได้เป็นเหตุผลที่ดีพอในการอ้างว่า คัมภีร์กถาวัตถุ เป็นพุทธพจน์จากพระโอษฐ์ สมดังพุทธศาสนิกชนทั้งหลายต่างก็เข้าใจและยอมรับตรงกันว่า พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ (มหานิทเทส) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๐ (จูฬนิทเทส) และ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ (ปฏิสัมภิทามรรค) เป็นภาษิตของท่านพระสารีบุตร โดยที่ไม่เคยมีใครอ้างว่า นี่เป็นพุทธพจน์โดยตรงจากพระโอษฐ์ เลยแม้สักครั้ง !!!!
ดังนั้น เพราะเหตุที่ปรากฏว่ามีข้อความ “พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์” ใน คัมภีร์ อปทาน ภาค ๒ พุทธวังสะ โกนาคมนพุทธวงศ์ที่ ๒๓ นั่นเอง จึงทำให้ทราบว่า คัมภีร์เล่มนี้ต้องเป็นของใหม่ที่แต่งขึ้นในสมัยหลัง เนื่องจาก ....
(๑) เมื่อพิจารณาในแง่มุมทางประวัติศาสตร์โบราณคดี เรามิอาจกล่าวได้เลยว่า คัมภีร์กถาวัตถุ ซึ่งแต่งโดย ท่านพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระ(สมัยพระเจ้าอโศก) จะเป็นส่วนหนึ่งของ “พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์” ในสมัยของ พระโกนาคมนพุทธเจ้า ซึ่งเป็นเรื่องของอดีต ที่ไกลจนเกินกว่าจะลากความมาเชื่อมโยงถึงกันได้
(๒) เมื่อพิจารณาในแง่มุมทางพระวินัย จะพบว่า คัมภีร์อปทาน แต่งขึ้นด้วยคำฉันท์ ซึ่งผิดพระบัญญัติ จึงเป็นไปไม่ได้ที่พระอรหันตเถระกว่า ๕๐๐ รูป เมื่อสมัยปฐมสังคายนาจะเป็นผู้ร้อยกรองขึ้นมา และหากแม้ จะดึงดันว่า เป็นข้อผ่อนปรนในแง่ที่เป็นคัมภีร์สำหรับเจริญศรัทธาปสาทะซึ่งอนุญาตให้สามารถร้อยกรองเป็นคำฉันท์ได้ แต่ผลที่ตามมาจากการอ้างเหตุข้อนี้ก็คือ คัมภีร์อปทานทั้ง ๒ เล่ม จะไม่สามารถใช้ อ้างอิงได้อย่างคัมภีร์ทั่วไปที่ใช้สำหรับการศึกษาพระธรรมวินัย ซึ่งนี่เป็นเงื่อนไขสำคัญ สำหรับพระบัญญัตินี้
(๓) เมื่อพิจารณาในแง่มุมทางพระคัมภีร์ กลับพบคำว่า “พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์” หรือข้อความที่คล้ายคลึงกันนี้ ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา แต่ไม่เคยพบเลยใน พระสูตรและพระวินัย ซึ่งนั่นย่อมสื่อความหมายให้เห็นว่า คัมภีร์อปทานทั้ง ๒ เล่ม มีธรรมชาติที่ใกล้เคียงกับคัมภีร์รุ่นอรรถกถา มากกว่าที่จะเป็นคัมภีร์ที่สืบทอดมาแต่ครั้งปฐมสังคายนา

สรุปในสรุป

ประเด็นที่ผมพยายามสื่อสารมาตั้งแต่ต้นก็คือ ….
สมมุติฐานของท่านพุทธทาสที่ว่า “พระไตรปิฎก อาจจะมีการสูญหายหรือเพิ่มเติมเข้ามาใหม่ได้” อันทำให้ท่านพุทธทาสถึงกับกล่าวว่า “ฉะนั้นเรา(ท่านพุทธทาส)จึงกล้าวิจารณ์” นั้นจริง หรือว่าเท็จ (?)
และเพื่อการพิสูจน์สมมุติฐานนี้ ผมได้เสนอหลักฐานว่า ในพระไตรปิฎก มีข้อความซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าเป็นของที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาในภายหลังจริงอย่างแน่นอน ตัวอย่างเช่น สัตตสติกขันธกะ(จากพระวินัยปิฎกเล่มที่ ๗) หรือ คัมภีร์ปริวาร(พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๘) จนแม้แต่ คัมภีร์อปทานทั้ง ๒ เล่ม รวมไปถึง คัมภีร์กถาวัตถุ นั้นด้วย ทั้งนี้ ด้วยความหวังว่า ท่านทั้งหลายจะสามารถพิจารณา สมมุติฐานของท่านพุทธทาส ด้วยใจที่เป็นธรรมอย่างปราศจากอคติ และด้วยสติปัญญาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ที่ประกอบไปด้วยเหตุผลที่ยอมรับได้
แต่ปฏิกิริยาที่ได้รับ กลับกลายเป็นเพียงแค่ “ขยะทางความคิด” ที่หาประโยชน์อะไรมิได้เอาเสียเลย เพราะตังแต่ต้นจนจบ ผมพบแต่เพียงข้อความของ “นักตีฝีปาก” ที่เอาแต่พล่ามเรื่องส่วนตัวที่ไร้สาระ หรือไม่ก็เอาแต่พูดจาเลียบเคียง วกวนไปมา ไม่ตรงประเด็นสักที
พ้นไปจากนี้ ก็เป็นข้อความของมนุษย์จำพวก ชาวพุทธ “ขี้เท่อ” ที่เอาแต่ตัดแปะข้อความ อย่างไม่ลืมหูลืมตา ซึ่งคนพวกนี้ไม่รู้แม้กระทั่งว่า ผมตั้งคำถามอะไรกับพวกเขา ตัวอย่างเช่น ผมถามหาหลักฐานชั้นพุทธพจน์ แต่คนเหล่านี้ กลับเพียรพยายามในการนำเสนอหลักฐานชั้นอรรถกถา แบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า พร้อมๆกับการกล่าวสำทับว่า หลักฐานชัดเจนยิ่งนักๆๆๆ (!)
และที่ขาดไปเสียมิได้เลยก็คือ การกล่าวข่มขู่ผู้อื่นด้วยนรกจกเปรตอย่างปราศจากความละอาย อีกทั้งยังมีการกล่าวหาผู้อื่นว่าเป็นอัญญเดียรถีย์ เอาเสียดื้อๆ ก็ยังมี .... บ้าบอ ดีไหมล่ะ (?)

คำอธิบายตามที่ปรากฏอยู่นี้ ผมขอสารภาพตามตรงว่า ไม่คาดหวัง ว่าจะมีใครผู้ใดที่อ่านข้อความของผมแล้วจะเกิดความเข้าใจในแง่ของ เหตุผล อย่างจริงจัง เพราะได้เป็นที่ประจักษ์แก่ใจตนเองแล้วว่า คนที่(อยาก)ด่าท่านพุทธทาสนั้น เขาก็สักแต่ด่าว่าโจมตีไปตามกำลัง(เจตนา)ของเขา โดยที่คนเหล่านี้มักเป็นมนุษย์ประเภทที่หลงผิดคิดว่าตนเองนั้น “รู้” เสียเต็มประดา ทั้งๆที่เอาเข้าจริงแล้ว ความรู้น้อย & อคติมาก ลำพังเพียงแค่หลักการเหตุผลง่ายๆขั้นพื้นฐาน มันยังไม่มีปัญญาที่จะทำความเข้าใจได้เลย นับประสาอะไรกับเรื่องของพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องอุตสาหะเป็นอย่างมาก ทั้งในการศึกษา และการทำความเข้าใจ ....

สุดท้ายนี้ขอกล่าวสั้นๆ แต่เพียงว่า .... (สัตว์)โลกย่อมเป็นไปตามกรรม



Ritti Janson



http://www.oknation.net/blog/SiamBhikhunis

http://rittijanson.blogspot.com/